เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 7062 จดหมายเหตุกรุงเสีย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 01 พ.ค. 13, 13:12


โลกโซเชียลเน็ตเวิร์คสร้างปรากฎการณ์สั่นสะท้านสังคมอีกครั้ง

เมื่อเด็กหนุ่มคนหนึ่งสร้างสื่อการสอนเป็นคลิปวิดิโอมาเป็นปีไม่มีใครรู้จัก

มีคนเห็นแล้วนำขึ้นยูทูป ไม่กี่วันสั่นสะท้านโซเชียลยอดคลิกพุ่งกระฉูด…

เดลินิวส์เปิดครึ่งหน้าสัมภาษณ์วันอาทิตย์ ยอดพุ่งจาก 60,000 เป็น 250,000

วันนี้ “ลมเปลี่ยนทิศ สะกิดแรงๆ เอาคลิป “เสียกรุงครั้งที่ 2″ จิตสำนึกของคนรุ่นใหม่ มาด่าคนแก่หัวดำหัวหงอกที่กำลังทำลายขื่อแปบ้านเมืองว่า...

"คุณกีรติ บอกว่า คลิปนี้อาจไม่ถึงขนาดทำให้คนต่างขั้วต่างสี กลับมาปรองดองกัน แต่หวังว่าเมื่อคนกลุ่มต่างๆได้ดูคลิปนี้แล้ว จะหยุดคิดสักนิดหนึ่ง สิ่งที่เราทำอยู่ เราทำเพื่ออะไร เพื่อตัวเอง เพื่อฝ่ายของเราเท่านั้น หรือเพื่อทุกคน ถ้าคุณทำให้ชาติบ้านเมืองอ่อนแอ สุดท้ายมันก็นำภัยมาสู่ตัวคุณ และพวกเราทุกคน

ผมก็ได้แต่ชื่นชม คุณกีรติ แม้จะเป็นเด็กหนุ่มวัย 23 แต่กลับมี ความคิดสูงส่ง ยิ่งกว่าพวกหัวหงอกดำมากมาย ผมเชื่อว่าคนพวกนั้นคงรู้ตัวเองดี กำลังร่วมกันทำลายกฎกติกาขื่อแปบ้านเมืองเพื่ออะไร นี่คือเรื่องเศร้าอันแท้จริงของประเทศไทย

ก็ได้แต่หวัง สถาบันศาล จะอยู่รอดปลอดภัย “ไม่ต้องเลือกพวก” เหมือนคนในสภาและรัฐบาล มิฉะนั้น ความยุติธรรม  ก็คงจะไม่เหลือ."

“ลม เปลี่ยนทิศ” ปิดท้ายคอลัมน์

ก็ไม่รู้ว่าลงแส้แรงๆ ขนาดนี้ พวกกำลังจะล้มหลักการบ้านเมืองมันจะมีสำเหนียกเรียกสำนึกและสติปัญญากลับมาไดด้หรือเปล่า

หรือเราจะรอกันอีกนิด รอวันที่ประชาชนทั้งประเทศทนดูพวกมันล้มหลักการบ้านเมืองไม่ไหว ออกมาทำอะไรให้มันได้สำนึก

เฮ้ยไอ้หงอกที่สอนประวัติศาสตร์ เอ็งดูเด็กๆ เค้าทำให้ดูแล้ว สอนประวัติศาสตร์ยังไงจึงจะเป็นการสอนที่สร้างสรรค์

ใช้หัวโตๆ สมองน้อยๆ คิดเอาเองบ้าง ไม่อายเด็กมันหรือไงวะ

แคน ไทเมือง

เดลินิวส์สัมภาษณ์ เจ้าของคลิป “สื่อการสอน” ไว้ดังนี้…

ส่งต่อกันในโลกออนไลน์ ทั้งแชร์ ทั้งไลค์ ด้วยเนื้อหาโดนใจที่พูดถึงการเสียกรุงครั้งที่ 2 เสียดสีเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เจ็บจี๊ดโดนใจ จนทำให้ “จดหมายเหตุกรุงเสีย” กลายเป็นคลิปฮอตขึ้นมา

“จดหมายเหตุกรุงเสีย” เป็นผลงานของ “กิ้น-กีรติ วรรณเลิศศิริ” อายุ 23 ปี ปัจจุบันเพิ่งเริ่มทำงานในตำแหน่งกราฟิกดีไซเนอร์ ในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งผลงานชิ้นนี้เป็นศิลปะนิพนธ์ช่วงที่กำลังศึกษา ปี 4 ภาควิชานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และเขาได้นำขึ้นไปโพสต์ไว้ที่เว็บไซต์หนึ่งเมื่อเดือนเมษายนปีที่แล้ว

เนื้อหาในคลิปวิดีโอได้พูดถึงประวัติศาสตร์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ที่มีสาเหตุทั้งการแก่งแย่งชิงดี การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การฉ้อฉลคอร์รัปชั่นของบรรดาขุนนาง และนำมาเปรียบเทียบกับการเมืองในปัจจุบันได้อย่างลงตัว แม้จะมีความยาวเพียง 7 นาที แต่หลายคนที่ได้ดูต่าง “คอมเมนต์” เป็นเสียงเดียวกันว่า ทำให้ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย มากกว่าการเรียนกับคุณครูในห้องเรียนเสียอีก

กิ้น บอกว่า เดิมตั้งใจจะทำเป็นสื่อการสอน และที่เลือกประวัติศาสตร์เพราะวิชาที่เรียนส่วนใหญ่มักจะมีสื่อการสอนอยู่แล้ว แต่วิชาประวัติศาสตร์แทบไม่มีสื่อเลย ส่วนที่เลือกเหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 มาทำ เพราะเห็นว่าเหตุการณ์ในตอนนั้นรุนแรงมาก แทบทำให้เราล่มสลาย พอเลือกเรื่องได้ก็เริ่มค้นหาข้อมูล ทั้งจากอินเทอร์เน็ต หนังสือประวัติศาสตร์หลาย ๆ เล่ม ทั้งที่เขียนโดยฝั่งไทยและฝั่งพม่า หนังสือจดหมายเหตุ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและตรงกับเหตุการณ์มากที่สุด

“พวกเราเรียนประวัติศาสตร์ไปเพื่ออะไร เรียนเพื่อจำวันเดือนปี หรือต้องมานั่งท่องชื่อของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ จริง ๆ แล้วประวัติศาสตร์มีความสำคัญอย่างมาก เพราะประวัติศาสตร์ได้ทำให้เราเรียนรู้อดีต เพื่อทำให้ปัจจุบันดียิ่งขึ้น”

ข้อความเริ่มต้นคลิปเป็นสิ่งที่กิ้นบอกว่าเป็น “คีย์เวิร์ด” ที่ต้องการสื่อออกไป เพราะประวัติศาสตร์มีไว้ศึกษาเพื่อเราจะได้นำสิ่งที่เป็นจุดบกพร่อง จุดด้อย มาพัฒนาเพื่อจะทำให้ปัจจุบันดีขึ้น แต่ถึงแม้เวลาจะผ่านมานานแสนนาน แต่ประเทศไทยก็ยังมีปัญหาเดิม ๆ ความยากจน ปัญหาคอร์รัปชั่น แบ่งพรรคแบ่งพวก และแย่งเก้าอี้กัน ซึ่งเหมือนกับอดีต เท่ากับเราไม่ได้เรียนรู้อดีตเพื่อมาใช้ในปัจจุบันเลย และเมื่อบ้านเมืองเราอ่อนแอ มันก็จะกลับมาสร้างปัญหาให้เราเหมือนในอดีตเช่นกัน

“ตอนแรกคลิปจะมีความยาวกว่านี้ ที่วางไว้คือ 15 นาที แต่เมื่อไปปรึกษาอาจารย์ท่านบอกว่ายาวไป เพราะความสนใจของคนที่เข้ามาดูไม่น่าจะเกิน 10 นาที และหลังจากทำออกมาก็ยังเกิน 7 นาที อาจารย์ก็แนะนำให้ตัดบางส่วนออกจนมาลงตัวที่ 7 นาที”

กิ้นบอกว่า เขาใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลมากพอสมควร แต่ขั้นตอนที่ยากที่สุดคือ การเรียบเรียงลำดับข้อมูลเพื่อให้เป็นกลางที่สุด เพราะไม่ต้องการสื่อให้เห็นว่าใครถูกใครผิด จากนั้นก็เริ่มทำโมชั่น และลงเสียง และเมื่อนำไปให้อาจารย์ที่ปรึกษาดู ท่านแนะนำว่าเนื้อหาแรงไป จึงให้ปรับเปลี่ยนข้อความบางข้อความ ตัดคลิปบางส่วนออก แต่ยังคงเนื้อหาที่ครบถ้วน และด้วยเนื้อหาที่เป็นเชิงเปรียบเทียบ จากสื่อการสอนธรรมดาในตอนแรก กลายเป็นสื่อสร้างสรรค์ รณรงค์ และย้ำเตือน ซึ่งกิ้นบอกว่า ก็เป็นเรื่องดีหากคลิปนี้จะช่วยสะกิดใจ หรือกระตุ้นจิตสำนึกให้เกิดขึ้นได้ โดยไม่ได้มีเป้าหมายที่จะเสียดสี หรือเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่ง

“ตอนแรกตกใจครับเมื่อเพื่อนโทรฯมาบอกว่ามีแชร์คลิปของผมเมื่อประมาณวันที่ 20 เมษายนนี้เอง ทั้งที่ผมโพสต์มาประมาณ 1 ปีได้ มาทราบทีหลังว่ามีคนเห็นคลิปและนำไปโพสต์ในยูทูบ และมีคนเข้ามาดูเป็นจำนวนมาก จากนั้นก็นำมาแชร์ในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และเริ่มแชร์ต่อไปเรื่อย ๆ ครับ”

คลิปนี้ของกิ้นมียอดแชร์ในเฟชบุ๊กกว่า 60,000 ครั้ง ยอดไลค์และคอมเมนต์อีกนับไม่ถ้วน ส่วนในยูทูบมีการนำไปโพสต์ในหลายเพจ ยอดวิวรวม ๆ แล้วก็หลักแสน ใครสนใจและอยากให้ประวัติศาสตร์ช่วยปรับปรุงให้ปัจจุบันดีขึ้น ลองค้นหาดู แค่เซิร์ท “จดหมายเหตุกรุงเสีย” และคลิกเท่านั้น!!

นภาพร พานิชชาติ
napapornp@dailyners.co.th

http://www.oknation.net/blog/canthai/2013/04/30/entry-3


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 01 พ.ค. 13, 13:32

วิธีสอนอย่างนี้จะดีไหม    ยิ้มเท่ห์



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 01 พ.ค. 13, 13:41

ยกเป็นกระทู้ดีกว่า


บันทึกการเข้า
One
อสุรผัด
*
ตอบ: 10


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 02 พ.ค. 13, 21:51


[/center]
เฮ้ยไอ้หงอกที่สอนประวัติศาสตร์ เอ็งดูเด็กๆ เค้าทำให้ดูแล้ว สอนประวัติศาสตร์ยังไงจึงจะเป็นการสอนที่สร้างสรรค์

ใช้หัวโตๆ สมองน้อยๆ คิดเอาเองบ้าง ไม่อายเด็กมันหรือไงวะ

แคน ไทเมือง

ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 03 พ.ค. 13, 15:16

ด้วยความเคารพนะครับ

งานชิ้นนี้เป็นวิธีการนำเสนอที่ดีครับ ผู้สร้างเลือกตัดทอนเนื้อหาลง ให้เหลือเฉพาะใจความสำคัญ แล้วคัดเฉพาะส่วนที่ไม่มีปัญหาข้อถกเถียงกันแล้วเอามานำเสนอ จึงทำให้สื่อสารง่ายเข้าใจง่าย ผู้ชมก็เข้าใจได้ง่าย
แต่แนวทางนี้สามารถทำได้เพียงการนำเสนอสั้นๆ เท่านั้นนะครับ ถ้าต้องลงเนื่อหา ทำแค่นี้ถือว่าไม่เพียงพอหรอกครับ ประวัติศาสตร์คราวเสียกรุง ไม่ได้มีแง่มุมเพียงเท่านั้น

ด้านความเป็นสื่อสร้างสรรค์ ผมเห็นว่า การนำเสนอในเรื่องนี้ แม้จะนำเสนอด้วยเทคนิคทันสมัย คือคอมพิวเตอร์กราฟฟิค แต่เนื้อหาก็ยังเป็นเนื้อหาตามข้อสันนิษฐานเก่า คือ เพราะเราอ่อนแอ เราจึงแพ้ ซึ่งก็คือสิ่งที่เราเรียนกันอยู่ในห้องเรียนนั่นเองครับ ไม่ได้ให้แง่มุมที่แปลกใหม่ในสงครามคราวเสียกรุงแต่อย่างใด ปัจจุบันมีเอกสารหลายเรื่องที่นำเสนอว่า การเสียกรุงอาจเกิดจากความผิดพลาดในนโยบายและยุทธศาสตร์ ไม่ใช่การพ่ายแพ้เพราะอ่อนแอ เอกสารทางฝ่ายพม่าเองก็ให้ภาพการต่อต้านที่เข็มแข็งของอยุธยา แต่เราก็ยังคงสอนเด้กกันอย่างเก่าๆว่า เพราะเราอ่อนแอ เราจึงแพ้กันอยู่

อีกประการ งานนี้เป็นการนำเสนอมีธงอยู่แล้ว คือเจตนาที่จะ "กระทบชิ่ง" มาถึงสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน คือการเอาเหตุการณ์ในอดีต มาเปรียบเทียบกับความไม่ดีต่างๆ ในสังคม ซึ่งเหตุการณ์คราวเสียกรุงครั้งที่ 2 นี้ ก็มักจะถูกนำมาเทียบกับความเละเทะในวงการการเมืองไทยบ่อยๆ อยู่แล้ว งานนี้จึงไม่แปลกใหม่ ในเชิงการเปรียบเทียบเลย ทำไมจึงมองกันว่า งานครั้งนี้ เป็นงานที่สร้างสรรค์เป็นอย่างมากถึงขนาดนั้น

และถ้าจะเอาคลิปนี้ไปเป็นสื่อการเรียนการสอนเด็กจริงๆ งานชิ้นนี้ ก็มีเนื่อหาที่ไม่เพียงพอ เป็นเพียงตอนเดียว ของเรื่อง "ประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา" ตอนอื่นๆก็คงต้องกลับไปสอบอย่างเก่าอยู่ดี งานนี้อาจช่วยให้นักเรียนตื่นเต้นได้เพียงคาบเดียวเท่านั้น นอกจากนี้ ท่อนกระทบกระเทียบสังคมตอนท้าย ก็ยังต้องคิดว่า ควรนำไปสอนเด็กด้วยหรือไม่ และถ้าสอนจะสอนให้เด็กคิดเรื่องนี้อย่างไร? เพราะคลิปก็ไม่ได้สอนให้ถึงที่สุด คือ ไม่ได้บอกข้อสรุปไว้

โดยส่วนตัว ผมชื่นชมงานชี้นนี้ ในฐานะสื่อชิ้นหนึ่ง ที่ทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องง่ายขึ้น แต่ถ้าพิจารณากันจริงๆ แล้ว งานชิ้นนี้ก็มีข้อจำกัดมากมาย ในฐานะที่เป็นสื่อการสอน แม้จะเป็นของดี แต่ผมยังไม่สามารถให้น้ำหนักความชื่นชมได้ถึงขนาดว่าเป็นการสอนที่สร้างสรรมาก มากถึงขนาดสามารถยกขึ้นด่าว่า หรือถอนหงอกบรรดาครูบาอาจารย์รุ่นเก่า ให้ต้องอายเด็กได้ถึงขนาดนั้นเลยครับ
 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 03 พ.ค. 13, 15:27

ที่คุณแคน ไทเมือง ผู้วิจารณ์คนหนึ่ง ใช้คำว่า "หงอก" เห็นทีต้องการ "กระทบชิ่ง" ใครบางคนกระมังหนอ

งานนี้มีหลายชิ่ง  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 04 พ.ค. 13, 11:03

ขอแลกเปลี่ยนความเห็นด้วยคยครับ

ขอชื่นชมกับความตั้งใจที่ดีเพื่อสังคมและฝีมือครับ

แต่มีข้อติงบางประการในงานชิ้นนี้ที่ทำให้งานนี้อ่อนลงไปมาก รวมทั้งอาจแสดงให้เห็นว่า ระดีบการมองปัญหาของผู้สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ยังมีโอกาสพัฒนา
ข้อติงคือการสรุปตอนท้ายที่ดูเหมือนผู้สร้างสรรค์จะสรุปว่า ปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้เป็นการทะเลาะเบาะแว้งกันของคนสองฝ่ายคือเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ทำให้บ้านเมืองวุ่นวายและอาจเสียกรุง ประมาณขอให้เลิกทะเลาะ ขอให้สามัคคีกัน

สมมุตินะครับว่า มีหมู่บ้านหนึ่งในอดีตและอยู่ไกลจากสังคมศิวิไลซ์ทั่วไป มีผูใหญ่บ้านที่มีคุณธรรมและมีความยุติธรรมคนหนึ่งเป็นหัวหน้า ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ก็อยู่กันอย่างมีความสุข ถ้าชาวบ้านมีปัญหากระทบกระทั่งกันจนเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งสองฝ่ายก็จะไปพบผู้ใหญ่บ้านท่านนั้นเพื่อให้ชทำหน้าที่ตัดสินว่าใครผิดใครถูก

อยู่มาวันหนึ่ง มีนักเลงกลุ่มหนึ่งเกิดขึ้นในหมู่บ้านนั้น เที่ยวระรานข่มเหงคนในหมู่บ้าน ชกต่อยชาวบ้านไปทั่วตามอารมณ์ ยึดควายของคนอื่นมาเป็นของตนโดยพลการ ทำตัวเป็นโจรปล้นบ้านคนอื่นเขา ข่มขืนสาวๆตามชอบใจ
ชาวบ้านผู้เสียหายก็ไปร้องเรียนกับผู้ใหญ่บ้านท่านนั้นซึ่งเป็นคนมีคุณธรรมและยุติธรรม ผู้ใหญ่ก็ตัดสินว่านักเลงกลุ่มนั้นมีความผิด นักเลงกลุ่มนั้นก็ไม่พอใจ ยกพวกมาปิดล้อมบ้านผู้ใหญ่บ้านและลงมือเผา โดยป่าวร้องว่าที่ทำไปเพราะตัดสินไม่เป็นธรรม
มีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งทนกับพฤติกรรมของนักเลงเหล่านั้นไม่ไหว ก็รวมกลุ่มกันเพื่อต่อต้านการกระทำของนักเลงโจรเหล่านั้น มีการติดประกาศบอกเรื่องราวที่เกิดเพื่อให้ชาวบ้านคนอื่นที่หาชาวกินค่ำและยังไม่ถูกกระทำได้รับรู้ได้ระมัดระวัง
ฝ่ายนักเลงก็ติดประกาศป่าวร้องว่า พวกตนไม่ได้ทำ พวกตนถูกใส่ร้าย ขอให้ชาวบ้าน(ที่ไม่รู้อโหน่อิเหน่) มาเข้ากับพวกตน
หมู่บ้านนั้นก็วุ่นวาย

มีชาวบ้านคนหนึ่งที่ยังไม่เคยถูกกระทำเป็นชาวบ้านในกลุ่มที่หาชาวกินค่ำคนหนึ่ง เห็นว่า ในหมู่บ้านชักจะมีเรื่องราวไม่เหมาะสมเกิดมากมายกว่าแต่ก่อน มีทั้งข่มขืน ปล้นบ้าน มีติดประกาศเลอะเทอะไปหมด รวมทั้งการเผาบ้านของผู้ใหญ่บ้าน
ชาวบ้านคนนั้นก็เลยบอกว่า "เลิกทะเลาะกันเถอะ สามัคคีกันไว้"

คำถามคือ จะสามัคคีในรูปแบบไหนครับ ต่างฝ่ายต่างไม่ต้องปิดประกาศเรื่องมันก็เงียบแล้ว หรือพวกโจรก็ปล้นให้น้อยลง (แต่ห้ามมาปล้นบ้านฉัน) พวกต่อต้านโจรก็ปิดประกาศให้น้อยลง หรือ ผู้ใหญ่บ้านก็ตัดสินให้พวกโจรแพ้คดีครึ่งหนึ่งชนะคดีครึ่งหนึ่ง ?
และถ้าคุณเป็นชาวบ้านที่ถูกพวกโจรกระทำ คุณจะสามัคคีอย่างไร?  ถ้าคนที่ถูกกระทำเป็นคนในครอบครัวของคุณ และมีคนมาช่วยป่าวร้องให้ทุกคนต่อสู้กับโจร คุณจะบอกให้คนที่มาป่าวร้องเหล่านั้นว่า "เบาๆเถอะพี่ เรื่องมันแล้วไปแล้ว สามัคคีกันไว้"

ลองถามตัวเองต่อไปว่า ถ้าทุกเรื่องทุกราวสามารถจบด้วยสามัคคีได้ แล้วทำไมประเทศทุกประเทศแม้แต่ประเทศที่เจริญมากๆ (ประเทศไหนก็ได้ในมุมมองของคุณ) จึงต้องมีศาลสถิตยุติธรรม

เราคงต้องแยกแยะให้ออกจากการทะเลาะเพราะความเห็นที่แตกต่างในเรื่องอื่นๆ หรือความสามัคคีเพื่อให้งานของส่วนรวมสำเร็จลุล่วง

นี่มันโจรนะครับ โจรที่ใช้กำลัง โจรที่ทำร้ายผู้คนที่ไม่มีทางต่อสู้
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 04 พ.ค. 13, 22:52

เป็นการแสดงถึงความล้มเหลวของการศึกษาไทยครับ ที่ไม่สามารถทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ได้ ต้องมาเรียนผ่านคลิปแบบนี้ และที่สำคัญข้อมูลก็ไม่ได้ถูกต้องเลย หลาย ๆ ประเด็นคนทำคลิปก็ทำผิดแบบไม่น่าให้อภัย เช่นเรื่องกรณีศึกของเจ้าต่างกรมในยุคอยุธยาตอนปลาย ที่ของจริงกว่าเรื่องจะจบก็เข้าไปรัชสมัยพระเจ้าอุทุมพรแล้ว

กลายเป็นว่า เจ้าของคลิปลดบทบาทของ กรมหมื่นเทพพิพิธ และเจ้าอีกสามกรมให้หายไปเลย ซึ่งจะต้องมีคนจำนวนหนึ่งไม่รู้ และอาจจะเข้าใจผิดไปได้แน่นอน

คำถามก็คือ เจ้าของคลิปจะรับผิดชอบอย่างไร ?

 ส่วนตัวคิดว่าคงไม่ต่างจากกรณีหนังแห่งสยามประเทศ ที่ทำให้คนเข้าใจผิดไปในหลาย ๆ เรื่องเช่นกัน

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 05 พ.ค. 13, 21:22

   สิ่งที่ดิฉันให้ความสำคัญต่อเจ้าของคลิปนี้ คือ "ความคิดเห็น" ที่เขาพยายามโยงประวัติศาสตร์เข้ามากับเหตุการณ์ปัจจุบัน   เป็นการเรียนประวัติศาสตร์แบบใช้ความคิดเห็น  ไม่ใช่ใช้ความจำ    อย่างน้อยเขาก็ให้คำตอบเราข้อหนึ่งว่า เรียนประวัติศาสตร์เอาไปทำไม     สำหรับเขา เขาเห็นว่าเรียนเพื่อจะเอาเรื่องในอดีตมาเปรียบเทียบกับปัจจุบัน   เพื่อดู "เหตุ" และ "ผล "
  ถ้าหากว่า "เหตุ" สำหรับเขา มันเหมือนกัน เขาก็ให้คำตอบว่า ผลมันน่าจะออกมาเหมือนกัน     ดังนั้น ถ้าเราไม่ต้องการให้ผลเหมือนกัน   เราก็ต้องแก้ที่เหตุ   
  วิธีคิดแบบนี้คือการกระตุ้นให้เด็กนักเรียนได้ใช้ความคิดเห็น  มากกว่าความจำ       ระบบการเรียนในชั้นมัธยมศึกษาของเราใช้ความจำกันมากมายเหลือเกิน     ส่วนการใช้ความคิดเห็นมีน้อยกว่า    ด้วยเหตุนี้การเรียนจึงกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายสำหรับเด็กที่สมองท่องจำได้ไม่แม่นยำพอ    ส่วนเด็กที่จำแม่นก็รอดตัวไป    ทั้งๆที่เราก็รู้ว่าเมื่อเรียนจบมาถึงเวลาทำงาน   มันจะต้องใช้อะไรอีกมากนอกจากความจำที่แม่นยำ  จึงจะพาชีวิตรอดจากความล้มเหลวได้     อย่างน้อยเราต้องใช้ความคิดเห็นในการเลือกทางชีวิตและการตัดสินใจทุกขั้นตอน     เอาแต่ความจำอย่างเดียวคงช่วยแก้ปัญหาชีวิตไม่ได้

   ท่านทั้งหลายที่ไม่เห็นด้วยกับเจ้าของคลิปนี้   ดิฉันไม่ถือเป็นเรื่องแปลก  เพราะนี่แสดงว่าท่านกำลังแสดงความคิดเห็นอยู่   ซึ่งเป็นสิ่งที่ดิฉันอยากเห็น
   ส่วนคุณ samun007  ที่ท้วงเรื่องข้อมูลผิดพลาด   ดิฉันก็ไม่ทราบว่าเจ้าของคลิปเขาไปได้มาจากหนังสือเล่มไหน  เพราะหลักฐานประวัติศาสตร์ในยุคนี้ มีตำราหลายเล่มที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน     อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่ามันผิดในรายละเอียด  เจ้าของคลิปจะแก้ไขก็คงไม่ยากอะไร   สิ่งสำคัญสำหรับคลิปนี้คือ เจ้าของคลิปมีสมมุติฐาน และมีการให้เหตุผลตามที่เขาเชื่อ     ข้อนี้สำคัญกว่าค่ะ
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 05 พ.ค. 13, 23:33

   
   ส่วนคุณ samun007  ที่ท้วงเรื่องข้อมูลผิดพลาด   ดิฉันก็ไม่ทราบว่าเจ้าของคลิปเขาไปได้มาจากหนังสือเล่มไหน  เพราะหลักฐานประวัติศาสตร์ในยุคนี้ มีตำราหลายเล่มที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน     อย่างไรก็ตาม ถ้าหากว่ามันผิดในรายละเอียด  เจ้าของคลิปจะแก้ไขก็คงไม่ยากอะไร   สิ่งสำคัญสำหรับคลิปนี้คือ เจ้าของคลิปมีสมมุติฐาน และมีการให้เหตุผลตามที่เขาเชื่อ     ข้อนี้สำคัญกว่าค่ะ

สำหรับส่วนตัวผม เข้าใจในเจตนาของท่านผู้ทำคลิปครับ จริง ๆ แล้วในหน้าประวัติศาสตร์ไทยแต่โบราณ ก็มีเหตุการณ์แตกความสามัคคีกันมาตั้งหลายรอบ บางครั้งก็ถึงกับเสียอาณาจักร เสียอิสระภาพ      บางครั้งก็ไม่เสียอาณาจักร ไม่เสียอิสระภาพ

ไม่ว่าจะอย่างไรก็คือ มีการแตกความสามัคคีแน่นอน

ซึ่งเหตุการณ์แตกความสามัคคีเหล่านี้ ส่วนตัวผมมองว่า ก็เรียนกันมาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาแล้ว ไม่ว่าครูผู้สอนจะโน้มน้าวให้เด็กนักเรียนเชื่ออย่างไรก็ตามที แต่เนื้อหาเหล่านี้น่าจะต้องผ่านตา ผ่านการเรียนรู้ของเด็กแล้ว

ปัญหาก็คือ..........ทำไมคนไทยก็เรียนรู้ประวัติศาสตร์ตรงนี้มาตั้งเยอะ ทำไมถึงไม่ค่อยจดจำ..................... ตรงนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่ชวนให้คิดมากกว่าครับ

เพราะฉะนั้น ส่วนตัวผม จึงให้น้ำหนักไปที่ข้อมูลของเนื้อหามากกว่า จุดประสงค์ในการนำเสนอ เพราะส่วนตัวผมมองว่า การตีความ หรือวิเคราะห์นั้น ย่อมต้องมาจากพื้นฐานของข้อมูลที่ถูกต้อง หากข้อมูลผิดพลาด การตีความทั้งหลายก็จะผิดเพี้ยน

และเรื่องข้อมูลที่ผมยกตัวอย่างไปนั้น ถ้าน้องที่ทำคลิปนี้ เพิ่มความพยายามอีกสักนิด หาข้อมูลให้มากขึ้น ผมเชื่อว่าไม่ยากเกินที่น้องเขาจะทำครับ



 
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 06 พ.ค. 13, 00:15

ผมเห็นด้วยว่าคลิปนี้ขาดความถูกต้องในข้อมูลในประเด็นสำคัญๆ หลายประเด็น แต่ก็เข้าใจว่าวัตถุประสงค์ในการทำคลิปนี้คือเพื่อเป็นงานส่งอาจารย์ในเรื่องการทำ animation ซึ่งผมเห็นว่าเขาทำในส่วนนี้ได้ดีครับ

หากคลิปนี้จะจุดประกายเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ เรามาช่วยกันชี้และแก้ไขข้อผิดพลาด ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์นะครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
BLUECOLOR
อสุรผัด
*
ตอบ: 20


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 06 พ.ค. 13, 17:53

มีบางข้อความที่เขาเอ่ยถึงในตอนท้ายๆ  ถึงกลุ่มต่างๆ ที่แตกแยก  ดิฉันอาจจะจุกจิกเกินไปที่รู้สึกว่าเขาไม่ได้เอ่ยถึงบางกลุ่มเลย 
ซึ่งก็หวังว่าขอให้เป็นการละไว้ในฐานที่ไม่ตั้งใจ  คือ เอ่ยถึงได้ไม่หมดทุกกลุ่ม

ที่กลัวมากๆ ก็คือ การนำเสนอจะเป็นการทำเพื่อการตลาด (ตรงนี้เป็นความเห็นส่วนตัวและมองโลกแง่ลบมากๆ )
ที่กลัวกว่านั้น จะเป็นเครื่องมือของกลุ่มใดหรือเปล่า

ดิฉันไม่ค่อยนิยมการใช้สื่อทางอินเทอร์เน็ต ของคนในปัจจุบันนี้มากนัก   มันเป็นการเกาะกับกระแสมากเกินไป
เป็นความคิดเลียนแบบ คนดัง กระทู้ดัง   ในขณะที่มีคนชื่นชม การนำเสนอของคลิปนี้ว่าเป็นแนวสร้างสรรค์ และดูจะดีเอามากๆ
ดิฉันก็เกิดคำถามว่า  หลายๆ เรื่องในคลิปนี้  รวมทั้งในชีวิตประจำวันของเรา  เอาง่ายๆ  แค่การไม่เห็นแก่ตัว  การรู้จักผิดชอบ ชัว่ดี กลายเป็นสิ่งที่เข้าใจและทำได้ยากเสียแล้ว
ต้องรอให้มีการสะกิด  กระทุ้งจึงหันมาคิดกันได้

การใช้เครื่องมือสมัยใหม่ๆ      กลายเป็นสิ่งที่ทำให้คนติดกระแส ไม่เชย ว่ามีอะไรใหม่ในสังคม  เรื่องฉาวของคนดังมีอะไร จะได้มีเรื่องคุย
เรามองข้ามความสำคัญของเครื่องมือพวกนี้ไป  แล้วก็กลายเป็นเหยื่อทางการตลาดของพ่อค้า  ที่เขาหลอกขายของ แล้วเราก็เต็มใจให้เขาหลอกเสียด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 06 พ.ค. 13, 18:36

ทำไมคุณถึงคิดไปว่าเขาอาจทำการตลาดล่ะคะ  การตลาดด้านไหน  เรื่องอะไร
มีตรงไหนที่ทำให้คิดไปได้เช่นนั้น
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.096 วินาที กับ 20 คำสั่ง