เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 30970 โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานครยุคไทยพัฒนา กวีนิพนธ์ ของ จิตร ภูมิศักดิ์
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 16 พ.ค. 13, 21:37

แล้วนางงามในทัศนะของจิตร ภูมิศักดิ์ (ในนามปากากา "ศรีนาคร") เป็นอย่างไร

สหายเอย                                          วานเฉลยว่าสตรีสวยที่ไหน
สวยที่ตาซึ้งงามหวามหัวใจ                       สวยที่แก้มอำไพผ่องชมพู

สวยที่โอษฐ์เต็มอิ่มยิ้มน่าจูบ                      สวยที่รูปร่างระหงทรงเพรียวหรู
สวยที่อกอันชายต้องร้องอู้ฮู้                      สวยตะโพกชวนดูเดินแนบเนียน

บ้างว่าสวยพร้อมพรายยามอายเหนียม          บ้างว่าเยี่ยมก็ตรงตอนงอนปวดเศียร
บ้างว่าสวยพร้อมสรรพเมื่อดับเทียน             บ้างว่าสวยเพราะเธอเพียรให้ชมเชย

สวยเพราะแสนรักผัวจนกลัวหงอ                 สวยเพราะรอเป็นเท้าหลังฟังเฉยเฉย
สวยเพราะผัวมีเมียน้อยปล่อยตามเคย           สวยเพราะเป็นทาสเชลยเสมอไป

สหายเอย                                         คำเฉลยต่อไปนี้เข้าทีไหม
สวยเพราะทำงานแข็งกร้านแกร่งไกร            เพื่อช่วยมวลชนไทยที่มืดมน

เพื่อช่วยให้เขาได้มีที่เรียนร่ำ                     มีงานทำมีเงินจ่ายหายขัดสน
มีบ้านอยู่อย่างเป็นสุขทั่วทุกคน                  งานเพื่อชนทั้งสิ้นอยู่กินดี

สวยเพราะเป็นเท้าหน้าขวาหรือซ้าย             เทียมเท่าชายเชิดความรักในศักดิ์ศรี
ใช่แขวนชีพไว้กับผัวชั่วตาปี                      ใช้ความสามารถที่มีกอบกิจกรรม

จงตื่นเถิดรู้ตนว่าตนสามารถ                      จงองอาจอย่ายอมให้ใครเหยียบย่ำ
แม่แห่งลูก แม่แห่งโลก แม่แห่งธรรม            สองมือแม้นแม่แรงค้ำโลกและคน

เธอจักสวยเพราะคำนึงซึ่งในสิทธิ์               ที่ควรมีเสมอมิตรทุกแห่งหน
สิทธิ์..หะหา..จงเธอปองสิทธิ์ของตน           สวยด้วยศักดิ์ “เสรีชน” ใช่เชลย




บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 17 พ.ค. 13, 22:22

จิระนันท์  พิตรปรีชา ขานรับทัศนะของจิตร ในพ.ศ. ๒๕๑๖ ด้วยบทกวีชื่อ  "อหังการของดอกไม้"

สตรีมีสองมือ                       มั่นยึดถือในแก่นสาร
เกลียวเอ็นจักเป็นงาน             มิใช่ร่านหลงแพรพรรณ

สตรีมีสองตีน                       ไว้ป่ายปีนความใฝ่ฝัน
ยืนหยัดอยู่ร่วมกัน                  มิหมายมั่นกินแรงใคร

สตรีมีดวงตา                        เพื่อเสาะหาชีวิตใหม่
มองโลกอย่างกว้างไกล           มิใช่คอยชม้อยชวน

สตรีมีดวงใจ                        เป็นดวงไฟมิผันผวน
สร้างสมพลังมวล                   ด้วยเธอล้วนก็คือคน

สตรีมีชีวิต                           ล้างรอยผิดด้วยเหตุผล
คุณค่า "เสรีชน"                    มิใช่ปรนกามารมณ์

ดอกไม้มีหนามแหลม              มิใช่แย้มคอยคนชม
บานไว้เพื่อสะสม                   ความอุดมแห่งแผ่นดิน



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 22 พ.ค. 13, 06:36

เธอจักสวยเพราะคำนึงซึ่งในสิทธิ์               ที่ควรมีเสมอมิตรทุกแห่งหน
สิทธิ์..หะหา..จงเธอปองสิทธิ์ของตน           สวยด้วยศักดิ์ “เสรีชน” ใช่เชลย

สตรีมีชีวิต                           ล้างรอยผิดด้วยเหตุผล
คุณค่า "เสรีชน"                    มิใช่ปรนกามารมณ์

สฤษดิ์และนางงาม ตัวอย่างของ "เสรีชน"

คุณพ่อได้รับการติดต่อจากผู้ใหญ่ ที่ชื่อว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีสมญาว่า ‘จอมพลผ้าขาวม้าแดง’ (เป็นคำเรียกเมื่อสมัยก่อนว่าขาวม้าแดง) ว่าชอบเธอมาก ถึงขนาดเชิญคุณพ่อไปพบเพื่อจะขอแต่งงานกับเธอ โดยจะให้ที่ดินแถวสุขุมวิท และเงินอีกจำนวนนับสิบล้าน ตอนนั้นจอมพลสฤษดิ์ซึ่งเราก็รู้ว่าท่านมีภรรยาอยู่แล้วหลายคน ด้วยความที่เรายังเป็นสาวก็นึกอยู่ตลอดเวลาว่า ไม่อยากเป็นเมียน้อยใคร คุณพ่อก็เรียกเราไปถาม ว่าอยากจะกินเกลือกับคุณอังกูร หรือ อยากจะมีทุกสิ่งทุกอย่าง

เเต่เมื่อเธอบอกไปว่าชีวิตนี้ไม่ได้รักท่าน คนเราจะแต่งงานไปใช้ชีวิตครอบครัวด้วยกันก็อยากจะให้มีความรักอยู่บ้าง พ่อก็ถามว่า ทำเพื่อพ่อได้ไหม แต่เราไม่ยอม ทะเลาะกับคุณพ่อจนทำให้ท่านตบหน้า ทำให้ช่วงเวลานั้นจะเดินทางไปเมืองนอกเพื่อหลีกหนีก็ไม่ได้

"จอมพลสฤษดิ์สัญญาว่าจะให้ทุกอย่างเว้นเดือนกับดาว พี่บอกว่าไม่รักท่าน เพราะท่านหน้าเหมือนหมู แต่ถ้าจะให้อยู่ด้วยกันต้องขอเป็นหนึ่งเดียวไม่ใช่มีคนอื่นแบบนี้ ช่วงท้ายที่ท่านป่วยหนักเป็นโชคดีของพี่ ดังนั้นจึงใช้จังหวะช่วงนี้แอบไปจดทะเบียนกัน และแต่งงานกันหลังจากท่านตายแล้ว"


อมรา อัศวนนท์  หนังสือพิมพ์แนวหน้า ฉบับวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 24 พ.ค. 13, 18:47

แท้จริงแล้ว คุณอมรา อัศวนนท์ มาจากครอบครัวที่มีฐานะดีทีเดียว   ยิ้ม

หลวงประเจิดอักษรลักษณ์ มีธิดาที่ถือว่าสวยที่สุดในประเทศไทยท่านหนึ่ง คือคุณอมรา อัศวนนท์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงนางงาม และเป็นนางเอกภาพยนตร์ที่โด่งดังในช่วงต้น พ.ศ. ๒๕๐๐ ความงามและความโด่งดังของคุณอมราได้เป็นที่ครองใจชาวปากน้ำเป็นอย่างมาก ถึงกับตั้งชื่อที่ดินริมชายทะเลปากแม่น้ำเจ้าพระยาแถบตำบลท้ายบ้าน ที่ครอบครัวท่านเป็นเจ้าของตามชื่อท่านว่า หาดอมรา  ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ เมื่อทางกระทรวงศึกษาธิการ เริ่มโครงการก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่บนที่ดิน ซึ่งครอบครัวท่านบริจาคไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๐๔ ทางผู้บริหารโรงเรียนใหม่แห่งนี้ จึงได้ขออนุญาตใช้ชื่อของ คุณอมรา และราชทินนามบิดามารวมกัน จนเป็นที่มาของชื่อ โรงเรียนหาดอมราอักษรลักษณ์วิทยา มาจนปัจจุบัน

http://www.mypaknam.com/paknam.php?menu=showpaknam&cont_id_get=61



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 29 พ.ค. 13, 22:14

แล้วนางงามในทัศนะของจิตร ภูมิศักดิ์ (ในนามปากกา "ศรีนาคร") เป็นอย่างไร

บทกวีนี้ชื่อว่า "เพื่อเธอสวยเหมือนชนใช่เชลย"  จิตร ภูมิศักดิ์ ในนามปากกา "ศรีนาคร" ตั้งคำถามและให้คำตอบไว้บัญชร "ลำนำเพื่อชีวิต" ในวารสารเสียงนิสิต (Voice of Students) ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓ ปักษ์แรก ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

ถ้ดมาอีกหนึ่งเดือน จิตรเขียนบทโคลงชื่อว่า "จึ่งหมู่เขาเอ่ยอ้า โอษฐ์พร้องพธูไทย" เพื่อต้อนรับลมหนาวและการประกวดนางงาม ในนามปากกา "ขวัญนรา"  ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์สามัคคี ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๓   ๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๙  

เสียงสนหวิววู่ล้อ                 ลมหนาว เหนือเฮย
เสมอเปรตกู่เกรียวฉาว           โฉบเนื้อ
งอตีนซุกมือราว                  มวนร่าง
โขลงลูกก่ายกันเอื้อ              อุ่นให้โดยผิว

ใจหวิวเจียนแม่ม้วย               เมินหนึ
อกเหี่ยวบ่อวบพี                   พ่างบ้า
โอบกอดลูกคลุกคลี               ฤๅอุ่น เจ้าเอย
อกบ่เหมือนโพ้นอ้า               อวบช้อยชูชัน


สองสตันโฉมช้อยง่าน         งอนงาย
อัดอวบเอิบอาบกามฉาย         เฉิดท้า
ตาวาววะวาบประกาย             ไกวกวาด
ยิ้มยิ่งยิ้มเยาะฟ้า                  ยั่วฟ้ายอเยิน

ดำเนินทวยระทดแท้              เทียวหนอ
ผายสะโพกสองเพลาคลอ        คลั่งเคล้น
ขดานดือ เพล็ดแพล็มรอ       รัดรูป โอยแม่
ทวยระทึกสะท้านเต้น             ตุบเต้นติวตัว

เขาหัวหรรษ์หื่นห้า              โหเห
จุบปากบ้างเล็งคะเน               แน่งเนื้อ
แสนหนาวสั่นโผเผ                ผาดเหือด หายพ่อ
ร้อนระอุอบอาบเชื้อ               โชติเชื้อกามเกลียว

เธอเจียวโฉมเฉิดแท้               พธูไทย  แม่ฮา
ขวัญราษฎร์ทุกทวยใน             เทศนี้
ฝูงเขาขุกเข็ญใจ                   เจียนขาด  จริงแม่
เหงื่อหยาดเป็นมกุฎกี้              ก่องแก้วกินขวัญ

ทุกขวัญเขาฝากไว้                วางพธู จริงฤๅ
จริง...แต่หากใส่สู                 สรากหน้า
สองมือเพื่องานชู                  ชาวราษฎร์  นั้นฮา
จึ่งหมู่เขาเอ่ยอ้า                   โอษฐ์พร้องพธูไทย


สตัน (น.) เต้านม

ขดานดือ (น.) ส่วนของร่างกายนับจากสะดือถึงหัวเหน่า

หื่นห้า ความใคร่ในกามคุณทั้งห้าคือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 03 มิ.ย. 13, 11:30

จิตร ภูมิศักดิ์ ในนามปากกา "ทีปกร" ได้เขียนอธิบายถึงโคลงชิ้นนี้ในหนังสือ "ศิลปเพื่อชีวิต ศิลปเพื่อประชาชน" ไว้ตอนหนึ่งว่า

คราวนี้ขอให้เราหันมาพิจารณาโคลงของ "ขวัญนรา" เรื่อง "จึ่งหมู่เขาเอ่ยอ้า โอษฐ์พร้องพธูไทย" ดูบ้าง  โคลงเรื่องนี้ "ขวัญนรา" เขียนเพื่อต้อนรับลมหนาวและการประกวดนางงาม เขาบรรยายให้เห็นภาพของแม่ลูกที่นอนเกลือกดินหนาวสั่นอยู่ภายใต้สายลมที่พัดวู่หวิวราวกับเสียงเปรตที่กู่มาโฉบฉาบกินเนื้อ เขาบรรยายให้เห็นภาพของงานประกวดนางงามในอีกด้านหนึ่ง เขาสะท้อนให้เห็นอย่างเย้ยหยันเสียดสีว่า ผู้เข้าดูได้เกิดความรู้สึกอย่างในบ้างกับนางงาม บ้างก็ดูอกอันอวบอัด ท้าทาย บ้างก็ดูสะโพกอันผายผึ่ง บ้างก็ดูดินแดนสามเหลี่ยมน้อยที่รัดเป็นรูป บ้างก็วัดบ้างก็คะเนสัดส่วนที่ตรงนั้นตรงนี้ ทุกคนดูแล้วก็พากันสูดปากด้วยความหื่นกระหายที่จะเข้าชิมลิ้มรส ในท้ายที่สุดเขาได้ให้แง่คิดแก่ "ยอดพธูไทย" ว่า ยอดพธูไทยที่แท้จริงนั้น มิใช่ผู้ที่มาเดินตากหน้าอวดความโป๊เช่นนั้น มิใช่ผู้ที่มาแย่งชิงมงกุฎอันสร้างด้วยเงินของประชาชนผู้ทำงานเหงื่อหยดย้อยเช่นนั้น หากได้แก่ผู้ซึ่งใช้มือทั้งสองทำงานเพื่อรับใช้มวลประชาชนเพื่อช่วยให้ประชาชนมีสภาพชีวิตดีขึ้น

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 05 มิ.ย. 13, 18:46

ชลธิรา สัตยาวัฒนา (กลัดอยู่) วิจารณ์โคลงชิ้นนี้ไว้ในหนังสือ "วรรณคดีของปวงชน" พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๗ หน้า ๑๗๔-๑๗๕

งานประพันธ์ของเขาใช้รูปแบบเก่ามาพัฒนาเป็นเนื้อหาที่แปลกแหวกแนวทั้งในด้านความคิด การแสดงออก และวิธีเสนอที่ก้ำกึ่งระหว่างความรักของเก่ากับการท้าทายของเก่าอย่างอหังการ รวมทั้งสอดแทรกความรู้ทางด้านวิชาการลงไปด้วย ลักษณะเช่นนี้ดูเหมือนจะไม่มีกวีในสมัยเดียวกันกระทำเช่นนี้ หรือแม้กวีสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันก็ตาม





บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 25 พ.ย. 21, 17:06

สฤษดิ์และนางงาม ตัวอย่างของ "เสรีชน"

อีกเวอร์ชั่นหนึ่งจาก จาก ๘๔ ปี อมรา อัศวนนท์ ย้อนอดีต กับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มติชนรายสัปดาห์

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งอยู่ในอำนาจช่วงปี ๒๕๐๒-๒๕๐๖ อยากได้มาเป็นอนุภรรยา ในขณะที่คุณอมรา อัศวนนท์รักกับนายตำรวจชื่อ “อังกูร บุรานนท์”

คุณอมราเล่าเหตุการณ์ช่วงสำคัญในชีวิตให้ฟังว่า “เคยคุยทางโทรศัพท์กับท่านว่า หนูเกิดมาทั้งที มีความหวังไม่อยากจะเป็นเมียน้อยใคร ท่านก็บอกว่า เดี๋ยวอยู่กับฉันเป็นคนสุดท้ายในชีวิต ตอนนั้นท่านแก่มาก ๕๐ กว่าแล้ว จะให้ใช้นามสกุลด้วย เลยตอบไปว่าหนูมีคู่รักแล้ว มีคุณอังกูร ตอนนั้นกลัวมากเลย หนีมาจากบ้าน กลัวมากเลย โทรศัพท์บอกกับคุณอังกูรที่อยู่อังกฤษว่า ถ้าเธอไม่กลับมาก่อน ฉันก็จะไม่ได้แต่งงานกับเธอแน่นอน เพราะไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับฉัน มันเครียดมากตอนนั้น ออกไปไม่ได้ จะออกไปแต่งงาน เขาก็ไปยึดพาสปอร์ตที่สนามบินหาว่าเราเป็นคอมมิวนิสต์ คือไม่ให้ออก และส่งแฟนไปอยู่เมืองนอก เพราะรู้ว่าชอบกันอยู่”

เหตุการณ์นี้ผ่านมาแล้วกว่าครึ่งศตวรรษ แต่คุณอมรายังจดจำรายละเอียดได้หมด เหมือนถูกบันทึกไว้ในสมอง

“ช่วงนั้นกลัวก็กลัว แต่ท่านยังดี ความดีท่านก็มี ท่านไม่ได้บังคับ ท่านได้แต่วอน แบบอยากได้อะไร ทำไมไม่ชอบนายกอ นี่คำพูดติดหูติดมาจนทุกวันนี้ เลยถามไปว่า…ใครคะนายกอ ท่านตอบนายกฯ ยังไงล่ะ จะเอาอะไร นอกจากเดือนกับดาว เลยบอกหนูไม่เอาเดือน ไม่เอาดาว แล้วก็ไม่เอาคุณด้วย ให้เท่าไหร่หนูก็ไม่เอา รถยนต์ เครื่องเพชร อะไรต่ออะไร”

“ตอนหลังได้ไปคุยกับลูกน้องจอมพลสฤษดิ์เลยได้รู้ว่า ท่านชอบใจมาก บอกว่าดิฉันเหมือนม้าพยศ”

คุณอมราให้คำอธิบายเพิ่มเติมที่กล้าปฏิเสธจอมพลผ้าขาวม้าแดงว่า “เราเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ ๑๙-๒๐ ก็อยากจะได้เด็กรุ่นราวคราวเดียวกับเรา แต่ท่านแก่มากเลย แล้วหน้าตาก็ไม่ได้หล่อ หน้าตาเหมือนหมู แก้มห้อย (หัวเราะ)”

ย้อนกลับไปยุคนั้น เรื่องราวของคุณอมราเป็นข่าวใหญ่โตในหน้าหนังสือพิมพ์นานนับเดือน อย่างที่เธอเล่า “มีข่าวดาราหนังไม่ได้เสียภาษีเล่นหนัง ตอนนี้เป็นคอมมิวนิสต์ ต้องสืบสวนสอบสวน ดิฉันก็ต้องไปโรงพักทุกวัน ยังโชคดีที่รอดมาได้ อย่างนั้นคงไม่มีครอบครัวที่อบอุ่นกับคุณอังกูร บุรานนท์ ที่สำคัญโชคดีที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้บังคับให้ไปเป็นอนุของท่าน”

ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้รู้จักตัวตนของ “อมรา อัศวนนท์” อดีตนางงามและนางเอก ซึ่งห้วงหนึ่งของชีวิตต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้นำประเทศยุคนั้น
บันทึกการเข้า
กะจังว่า
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 07 ม.ค. 22, 19:04

ตอนที่ ๑ สรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานคร
เจ็บแสบสุดๆ

ดู ไม่เหมือนสรรเสริญ เลย
คนแต่งตั้งชื่อเอง หรือ ใครตั้ง

ไม่ว่า อัปลักษณ์นคร ซะ
ชอบไหม
ชอบอารมณ์กลอน สำนวน อยากลองแต่งบ้าง
ไม่ใช่นักวิชาการ กะจังว่า เว่าซืซื
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 07 ม.ค. 22, 20:51

ลองฟังอาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ อ่านและอธิบายเนื้อหาของ ตอนที่ ๑ สรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานคร และตอนที่ ๒ หิรัณยักษ์ม้วนแผ่นดิน ซึ่งแท้จริงเป็นการ “สรรเสริญ” เผด็จการสฤษดิ์ และสถานการณ์ในยุคนั้น

เริ่มตั้งแต่นาทีที่ ๑๐.๔๕

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 25  เมื่อ 08 ม.ค. 22, 20:57

ตอนที่ ๓ หนุมานอมพลับพลา

เริ่มตั้งแต่นาทีที่ ๘.๓๕


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 26  เมื่อ 09 ม.ค. 22, 20:52

ตอนที่ ๔ เศรษฐกิจรัดเข็มขัด

ตั้งแต่นาทีที่ ๙.๑๕

บันทึกการเข้า
กะจังว่า
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 27  เมื่อ 11 ม.ค. 22, 10:07


ไม่ลอง ไม่รู้

จิตร ภูมิศักดิ์ หนึ่งเดึยวไม่มีสอง

ลองแต่งจึงรู้ อยากแต่งกลอนแบบอารมณ์เกี้ยวกราดบ้าง พอแต่งไปได้พอเริ่มๆ เครื่องร้อน เกิดชะงักแต่งไม่ได้ กลอนไม่ใช่ ...  ที่เห็นบทกวี จิตร ว่าเป็นอารมณฺ์กลอนนั่นคิดผิด จิตร แต่งด้วยสัญชาตญาณต่อสู้  บทกวีแห่งการต่อสู้ ไม่ใช่แต่งด้วยสำนวนโวหาร หากเกิดด้วยสำนึกฮึกหาญ
เท่าที่เห็นมาบ้างไม่มาก ที่ร้องๆกัน บนถนน ก็ คิดว่าไมใช่เช่นกัน จะมีบ้างก็ไม่รู้
ยิ่งที่เจ้าของหวง  "สู้เข้าไปอย่าได้ถอย..รวมพลัง…."
เชียร์บอล ปะครับ 
ตัวเองลองแล้ว แต่งไปคิดไปกลัว แต่งไงไม่ให้ติดคุก รู้ตัวคิด อย่างนั้นก็ เลิกแต่งดีกว่า เราไม่ใช่ 
ก็ไม่สงสัย จิตร แต่งไป ติดคุกไป

กะจังว่า

หลักฐาน ว่าลองแต่งแล้ว ไม่ได้



 หะ…ผไทประชา  ก้าวหน้าฤาไฉน  ก้าวไกลยังฉงน ผู้ทนมิเผยหน้า ผู้ท้ามิอาจสู้ หลบอยู่หลังดรุณ กระสุนปราบกระแส ต่อแต่เยาว์กร้าวกลุ้ม หนุ่มสาวมือเปล่า เหย...เฒ่าเปล่าเปลืองเกลือ       วะ...เถือเชือดเลือดภัยเภท

บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.069 วินาที กับ 20 คำสั่ง