สำหรับผู้ที่ไม่เคยได้ยินเรื่องพิเรนท์นะครับ มีผู้เล่าเอาไว้ดังนี้
เมื่อเกิดเหตุการณ์ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาคุกคามไทย ครั้งนั้นตำรวจหลวงผู้หนึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระพิเรนทร์เทพ ฝึกบ่าวไพร่และอาสาสมัครให้ดำน้ำทน เพื่อไปเจาะเรือรบฝรั่งเศสให้จม บางคนดำน้ำแล้วทนไม่ไหวก็โผล่ขึ้นมา คุณพระพิเรนทร์ฯ คนนี้ก็ใช้ไม้ถ่อคอยค้ำคอกดน้ำไว้ ถึงกับมีคนตายจึงต้องเลิกฝึก ตั้งแต่นั้นมา ถ้าใครทำเรื่องประหลาดก็จะพูดกันว่า"เล่นอย่างพิเรนทร์" หรือเล่นอย่างพระพิเรนทร์เทพผู้นั้นเอง
คำว่า พิเรนทร์ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในกฎหมายตราสามดวง พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ปรากฏราชทินนามระบุไว้ว่า "หลวงพิเรณเทพบดีศรีสมุหะ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา ตราคนถือหวายมือขวา นา ๒๐๐๐"
ผู้เล่าเรื่องพระพิเรนทร์ฯ กับหน่วยจู่โจมสมัย ร.ศ. ๑๑๒ คือพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) บุตรชายของท่านคือนายแพทย์นวรัต ไกรฤกษ์ เขียนตามคำบอกเล่าเอาไว้ในหนังสือปกิณกะในรัชกาลที่ ๕ พิมพ์ในการทำบุญฉลองอายุครบ ๘๐ ปี ของมหาเสวกเอก พระยาบุรุษรัตนราชวัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) จัดพิมพ์เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๗ ดังนี้
เมื่อไทยเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสใน ร.ศ. ๑๑๒ (พ.ศ. ๒๔๓๖) นั้น มีพลเมืองที่นิยมทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับการอยู่ยงคงกระพันล่องหนหายตัวได้ คิดอาสาสมัครออกรบกับฝรั่งเศส มีพระตำรวจหลวงผู้หนึ่งราชทินนามว่า พระพิเรนทรเทพ ออกความคิดจะจัดตั้งและฝึกหัดหน่วยจู่โจมพิเศษ โดยให้ดำน้ำไปเจาะเรือรบฝรั่งเศสให้จม พระพิเรนทร์ฯ ได้จัดการฝึกหัดบ่าวไพร่และผู้อื่นที่อาสาสมัครในคลองหน้าบ้านของท่านทุกวัน เพื่อให้เกิดความชำนาญและดำน้ำได้ทนเป็นพิเศษ แต่บางคนดำน้ำได้ไม่นานก็โผล่ขึ้นมา พระพิเรนทร์ฯ ต้องใช้ไม้ถ่อค้ำคอไว้ไม่ให้โผล่ขึ้นมาเร็วเกินไปจนเกิดมีการตายขึ้นจากการกระทำดังนั้น ความคิดที่จะจัดตั้งหน่วยจู่โจมพิเศษจึงต้องล้มเลิกไป พวกชาวบ้านจึงพากันเรียกการกระทำของพระพิเรนทร์ฯ ว่า "เล่นอย่างพิเรนทร์" ซึ่งเป็นคำพูดติดปากกันต่อมา เมื่อมีใครทำสิ่งใดแผลง ๆ อุตรินอกลู่นอกทางในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่ควรกระทำ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ "เล่นพิเรนทร์" หรือเป็น "คนพิเรนทร์"
