เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
อ่าน: 32399 ผมได้อ่านเรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ มีเรื่องตอนนึงที่สงสัยเกี่ยวกับ CIA
เด็กชายน้อย
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


 เมื่อ 13 เม.ย. 13, 13:39

บทความที่อ่านมาบอกแต่เพียงว่าจิตร เป็นผู้แปลเอกสารอะไรซักอย่างให้ซีไอเอ เลยสงสัยว่าทำไมจิตร ถึงไปทำงานให้ซีไอเอได้
แล้วทำไมตอนหลังซีไอเอ ต้องฆ่าจิตร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 13 เม.ย. 13, 13:59

เมื่อสมัยจิตร ภูมิศักดิ์ยังศึกษาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สนิทชิดเชื้อกับดร.วิลเลียม จอห์น เก็ดนีย์ ดุษฏีบัณทิตทางอักษรศาสตร์ฝ่ายภาษาโบราณตะวันออก ชาวอเมริกัน ที่ได้รับทุนรัฐบาลสหรัฐให้มาศึกษาวรรณกรรมไทย เป็นเวลาสองปี ซึ่งเมื่อหมดทุน ดร.เก็ดนีย์ ก็ไม่ยอมกลับประเทศ อาศัยความสามารถทางภาษาทำมาหาเลี้ยงตนเองโดยการรับแปลเอกสารต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานของอเมริกาในไทย

จิตรจึงได้มาอยู่กับ ดร.เก็ดนีย์ กินฟรีอยู่ฟรี โดยแลกกับการทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ และช่วย ดร. เก็ดนีย์ ทำมาหากินแปลเอกสาร เป็นการตอบแทน ตั้งแต่เรียนปีหนึ่งที่จุฬาฯ  มีงานแปลเอกสารงานหนึ่งซึ่งว่ากันว่าซีไอเอว่าจ้างผ่านทาง ดร. เก็ดนีย์คือ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์ (The Communist Manifesto) โดยมีจุดประสงค์จะนำไปให้เจ้าหน้าที่และนักการเมืองไทยศึกษา เพื่อประโยชน์ด้านการต่อต้านคอมมิวนิสต์

บันทึกการเข้า
เด็กชายน้อย
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 13 เม.ย. 13, 14:02

แล้วเรื่องทำให้กำนันไปฆ่าจิตร แล้วซีไอเอให้รางวัลไปอเมริกาล่ะครับ ทำไมซีไอเอถึงต้องฆ่าจิตรล่ะครับ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 13 เม.ย. 13, 14:03

ใจเย็น ๆ เด็กน้อย ขออนุญาตเล่าต่อ

จิตร ภูมิศักดิ์ เคยเล่าถึงประวัติตนเองที่มีประสบการณ์กับพวกจักรวรรดินิยมอเมริกาไว้ตอนหนึ่งสมัยที่เขารับทำงานแปลร่วมกับ ดร.วิลเลียม จอห์น เก็ดนีย์ (William John Gedney) ว่า

ต่อมาก็มีการแปลสุนทรพจน์ของผู้ยิ่งใหญ่หลายคนในเมืองไทย เช่น ครั้งหนึ่ง อเมริกามอบหัวรถจักรดีเซลให้การรถไฟไทย จะจัดพิธีมอบ ในพิธีนั้นทางอเมริกากล่าวมอบ และทางไทยกล่าวตอบรับขอบใจ องค์การร่วมมือของอเมริกาก็จะส่งสำเนาคำปราศรัยของทั้งสองฝ่ายมาให้แปล ต้นฉบับเป็นภาษาอังกฤษ คำปราศรัยกล่าวมอบของฝ่ายอเมริกานั้น ต้องแปลออกเป็นภาษาไทย เพื่อเอาไปให้ รมต.คมนาคมไทยอ่านล่วงหน้าจะได้รู้ว่าผู้มอบจะพูดว่าอย่างไร ส่วนคำตอบรับของ รมต.ไทยนั้น ฝ่ายอเมริกาก็เขียนให้เสร็จเรียบร้อยแต่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ข้าพเจ้าเป็นผู้แปลออกเป็นภาษาไทยที่ไพเราะสละสลวย ซึ่งองค์การร่วมมือของอเมริกาจะนำไปพิมพ์ดีดเรียบร้อยใส่ซองเตรียมไว้ใน รมต.ไทยอ่านตอบรับตามนั้น พูดง่าย ๆ ว่าอเมริกาต้องการจะให้ รมต.ไทยพูดสรรเสริญบุญคุณอย่างไรให้ประชาชนไทยฟัง ก็เขียนลงไป รมต.ไทย ต้อง อ่านตามนั้น ทำท่าเหมือนว่าตนเขียนมาอ่านเอง หรือเหมือนว่า ครม.ไทย ลงมติกันมาให้พูดเช่นนั้นเอง

อีกตัวอย่างหนึ่งคือคำปราศรัยของท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ซึ่งจะปราศรัยเกี่ยวกับปัญหาวัฒนธรรมในนามของสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง ในโอกาสวันฉลองรัฐธรรมนูญ คำปราศรัยนั้นไม่เกี่ยวข้องกับอเมริกาเลย เป็นเรื่องของวัฒนธรรมไทยล้วน ๆ แต่ร่างคำปราศรัยกลับเขียนเป็นภาษาอังกฤษ องค์การ่วมมือของอเมริกาเป็นผู้ร่างและส่งมาให้สำนัก  ดร.เก็ดนีย์แปลออกเป็นภาษาไทย ข้าพเจ้าก็แปลและใช้ถ้อยคำให้สละสลวยสำหรับท่านผู้หญิงละเอียดเอาไปอ่านในวันงาน

เอกสารทำนองนี้มีอีกมาก แม้บริการข่าวสาร เช่น บทบรรยายภาพยนตร์ ข่าวเสด็จพระราชดำเนิน ต้นบทก็เป็นภาษาอังกฤษส่งมาจากองค์การร่วมมือของอเมริกา ข้าพเจ้าเป็นผู้แปลออกเป็นภาษาไทย หรือบางครั้งก็มีเจ้าหน้าที่ในสำนักวัฒนธรรมแปลออกเป็นภาษาไทยแล้ว แต่องค์การร่วมมือของอเมริกาก็ยังส่งทั้งฉบับอังกฤษและไทยมาให้สำนักดร.เก็ดนีย์ตรวจสอบว่าแปลตรงตามภาษาอังกฤษอย่างแท้จริงหรือไม่ จนที่สุดแม้จดหมายติดต่อบางฉบับ ก็ส่งมาให้แปล ทั้ง ๆ ที่อัตราค่าแปลสูงมาก (ชั่วโมงละ ๗๕ บาท)

ประสบการณ์เช่นนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกถึงการแทรกแซงและเป็นเจ้าเป็นใหญ่ของอเมริกาที่มีต่อไทย รู้สึกว่าอเมริกาไม่วางใจวงการรัฐบาลไทยเลย ไม่ว่าอะไรก็ต้องขีดเส้นให้เดินทั้งสิ้น อีกด้านหนึ่งก็รู้สกว่าพวกคณะรัฐบาลของไทยมีแต่คนโง่ และบ้านเมืองถ้าอยู่ในมือของคนพวกนี้ไปเรื่อย ๆ ก็คงจะหายนะสักวันหนึ่ง ความจริงข้าพเจ้าน่าจะมองเห็นทีเดียวว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้แสดงว่าไทยเป็นเมืองขึ้นของอเมริกาชัด ๆ แต่ในขณะนั้นความรู้สึกของข้าพเจ้ายังไม่พัฒนาถึงขั้นนี้ และยังไม่รู้สึกตรง ๆ อย่างจังเช่นนี้

บันทึกการเข้า
เด็กชายน้อย
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 13 เม.ย. 13, 14:21

รอฟังต่อครับ  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 13 เม.ย. 13, 14:43

ว่ากันว่าซีไอเอผู้เป็นเกลียดชังคอมมิวนิสต์อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติของสฤษดิ์ ธนะรัชต์

ความเคลื่อนไหวอย่างผิดสังเกตดังกล่าวมิได้รอดพ้นจากสายข่าวของซีไอเอไปได้ การคิดกบฏของจอมพลป.ต่ออเมริกาในครั้งนี้ถือว่าเป็นโทษอุฉกรรจ์ เอาไว้ไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้นการปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จึงเกิดขึ้น และหลังจากนั้นอเมริกาก็ใช้อิทธิพลบีบให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่กำลังชื่นมื่นกลับตึงเครียดขึ้นมาอีก เพราะจอมพลสฤษดิ์ดำเนินนโยบายต่อต้านและปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง

และแล้ววาระสุดท้ายก็มาถึง

เขาตายในชายป่า เลือดแดงทาดินเข็ญ ยากเย็นข้นแค้นอับจน
ถึงวันพรากเขาลงมาจากยอดเขา ใต้เงามหานกอินทรี
ล้อมยิงโดยกระหยิ่มอิ่มในเหยื่อตัวนี้ โชคดีสี่ขั้นพันดาว....

สองพันห้าร้อยแปดเมฆดำปกคลุมฟ้า ด้วยฤทธามหาอินทรี
ร้างเมืองไร้บ้าน ออกทำการป่าเขา เสี่ยงเอาชีวีมลาย
พฤษภาห้าร้อยเก้า แดดลบเงาจางหาย เขาตายอยู่ข้างทางเกวียน...

ศพคนนี้ นี่หรือ คือจิตร ภูมิศักดิ์
ตายคาหลักเขตป่ากับนาคร

เขาตายในชายป่า เลือดแดงทาดินอีสาน อีกนาน อีกนาน อีกนาน
เขาตายเหมือนไร้ค่าแต่ต่อมาก้องนาม ผู้คนไถ่ถามอยากเรียน

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 13 เม.ย. 13, 14:47

ถึงวันพรากเขาลงมาจากยอดเขา ใต้เงามหานกอินทรี
ล้อมยิงโดยกระหยิ่มอิ่มในเหยื่อตัวนี้ โชคดีสี่ขั้นพันดาว....


คนที่ตายเป็นหัวหน้าใหญ่ มันเป็นการตัดเหง้าคอมมิวนิสต์แถวนี้เลยครับ เขามาจากกรุงเทพฯ มีความรู้ด้วย จบอักษรศาสตร์มั้ง ผมมารู้ทีหลังว่า เขาโกหกแม่ว่าจะมาทำงานก่อสร้างทางสายพังโคนถึงวาริชภูมิ เป็นงานปราบปรามชิ้นโบแดงของผม พอดีทางรัฐบาลรู้ข่าวจึงสั่งให้เปลี่ยนตัวกำนันภาคอีสานที่จะเดินทางไปดูงานที่อเมริกา จากนายกลึง ทิพย์ทอง กำนันตำบลช้างมิ่ง อำเภอพรรณานิคม เป็นนายคำพล แล้วให้จังหวัดนำตัวผมไปทำพาสปอร์ตที่กรุงเทพฯทันที ผมไม่คิดไม่ฝันมาก่อนเลยว่าจะได้ไปอเมริกา

คำพล อำพน (กำนันแหลม) ผู้ลั่นกระสุนสังหาร จิตร ภูมิศักดิ์

บันทึกการเข้า
เด็กชายน้อย
อสุรผัด
*
ตอบ: 15


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 13 เม.ย. 13, 14:53

คนที่ให้กำนันมาฆ่าจิตร คือ รัฐบาลไทย แล้วเกี่ยวกับซีไอเอด้วยมั๊ยครับ
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 13 เม.ย. 13, 15:53

CIA อาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวก็ได้ครับ

คุณจิตร เป็นปัญญาชนคนหนึ่งที่มีผลงานเผยแพร่ ซึ่งมีส่วนในการชี้นำสังคมและเปลี่ยนแปลงความคิดของผู้คนและสังคม และมีแนวคิดทางการเมืองที่ในขณะนั้นถือว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐบาล รัฐบาลในที่นี้คือเหล่าชนชั้นสูงที่ครองอำนาจ เพราะประชาธิปไตยของเราในขณะนั้นมันเป็นประชาธิปไตยของคนชั้นสูง ไม่ใช่ของประชาชน ไม่ต่างกับสมัยนี้เท่าไหร่ แต่สมัยนี้ดีกว่าเล็กน้อย


ดังนั้นการมีชีวิตอยู่ของคุณจิตร จึงเป็นหนามยอกกลุ่มผู้มีอำนาจ ดังนั้นจึงถูกกำจัดไป  การสั่งกำจัดคุณจิตรไม่จำเป็นต้องให้ CIA สั่ง ผู้มีอำนาจในสังคมไทยยุคนั้นก็สามารถเห็นความอันตรายเหล่านี้เองได้ และสามารถใช้กลไกในมือจัดการได้โดยไม่ต้องรอคำสั่ง CIA หรอกครับ การกำจัดศัตรูทางการเมืองโดยการฆ่ามีมาตั้งแต่ช่วงต้นๆ ของการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้มีอำนาจสมัยนั้นทำกัน โดยไม่มีกลไกของรัฐใดๆ กล้าขัดขวาง    ไม่เหมือนกับยุคนี้ที่การกระทำแบบนี้ทำได้ยากกว่า


สำหรับผม แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับบางแนวคิดและรู้สึกว่าคุณจิตรมองโลกออกจะสีขาวสีดำไปนิด  แต่ผมนับถือในอุดมการณ์และผลงานวิชาการของคุณจิตมากๆ ความตายของคุณจิตรเป็นเรื่องน่าเสียดายมากกว่าการตายหรือหล่นจากอำนาจของนายแปลก นายสฤษดิ์ นายถนอม นายตุ๊มากๆๆๆๆๆๆๆๆ   ถ้าคุณจิตยังมีชีวิตอยู่ถึงปัจจุบัน มีประสบการณ์เห็นโลกเข้าใจโลกมองโลกได้กว้างกว้างมากกว่าในช่วงวัยหนุ่ม คุณจิตรจะสามารถชี้นำสังคมไทยไปในทางที่สร้างสรรค์และสร้างคุณประโยชน์ได้อีกมาก
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 14 เม.ย. 13, 14:00

ซีไอเอคงไม่มีคำสั่งโดยตรงเจาะจงว่าจะต้องสังหารจิตร ภูมิศักดิ์ แต่น่าจะเป็นการสนองนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ของอเมริกาโดยรัฐบาลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และต่อเนื่องมาจนถึงสมัยถนอม กิตติขจร

เมื่อจิตร ภูมิศักดิ์ถูกสังหาร ยังไม่มีใครทราบด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร

พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ จิตร ภูมิศักดิ์ถูกยิงจนถึงแก่ความตายที่สกลนคร จังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ใกล้ ๆ กับเทือกเขาภูพาน ซึ่งขณะนั้นมีที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งอยู่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔  พ.ค.ท. ได้ประกาศการจับอาวุธขึ้นทำการปฏิวัติเพื่อตอบโต้ระบอบเผด็จการของสฤษดิ์ และในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ ก่อนที่จิตรจะเข้าป่าได้ไม่นานนัก กองกำลังของ พ.ค.ท. กับกองทหารของรัฐบาลก็เกิดสู้รบกันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นับเป็นการปะทะกันด้วยอาวุธเป็นครั้งแรก  อย่างไรก็ดี การตายของจิตรก็มิได้บรรจุอย่างลงตัวอยู่ในประวัติศาสตร์ของสงครามประชาชนต่อต้านรัฐบาลไทย  กำนันคนหนึ่งเคยโอ้อวดให้นักเรียนไทยในต่างประเทศฟังว่า เขาเป็นคนลั่นกระสุนสังหารนัดนั้นเอง และพวกอเมริกันที่สำนึกในบุญคุณนี้ ก็ให้รางวัลตอบแทนเขาด้วยการให้ไปเที่ยวฮาวาย  

จิตรและนักรบอีกคนหนึ่งต้องการอาหาร จึงลงมายังหมู่บ้านที่พวกเขาคิดว่าปลอดภัย พวกเขาขอข้าวจากหญิงชราคนหนึ่ง แต่เธอกลับแจ้งเรื่องผู้ชายสองคนนี้กับเจ้าหน้าที่ประจำหมู่บ้าน ซึ่งออกตามล่าจิตรและยิงเขาบาดเจ็บทีขา เขาพยายามที่จะหนีเข้าป่า  ชาวบ้านติดตามเขาไป และในที่สุดก็ฆ่าเขาตาย เขามีเงินติดตัวอยู่บ้างเล็กน้อย มีบัตรประจำตัว และสมุดบันทึกจดค่าใช้จ่าย กระนั้นก็ดี ยังมีข่าวลือแพร่สะพัดออกมาว่าสภาพศพไม่อยู่ในวิสัยที่จะชี้ตัวได้แน่ชัดว่าเป็นใคร และมือข้างหนึ่งยังถูกตัดส่งมายังกรุงเทพฯ เพื่อพิสูจน์ลายนิ้วมือ อาสาสมัครป้องกันหมู่บ้านไม่แน่ใจว่าพวกเขาทำถูกหรือไม่ ข่าวดังกล่าวถูกส่งเป็นโทรเลขแจ้งมายังกรุงเทพฯ  ทางการมิได้ประกาศเรื่องการเสียชีวิตนี้ออกมา

ต่อมาการตายได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ในการสร้าง “จิตร ภูมิศักดิ์” ขึ้นมา และสร้างปริศนาเรื่องความสัมพันธ์ของเขากับ พ.ค.ท. ให้เกิดขึ้น ดูเหมือนว่า พ.ค.ท. จะละเลยไม่ใส่ใจด้วยการยอมให้สมาชิกผู้อ่อนหัดถูกตัดขาดไปจากพรรค ช่วงเวลานี้ถูกตีความว่าเป็นเสมือนข้อยืนยันต่อมาสำหรับจิตสำนึกทางสังคมนิยม และทางมนุษยธรรมของเขา นั่นคือ วางชะตากรรมของตนเองไว้กับคนยากจนและคนที่ถูกเหยียบย่ำ จิตรได้ไว้วางใจหญิงชาวนาวัยชราผู้หนึ่ง


เรื่องข้างบนนี้เป็นข้อสรุปและบทวิเคราะห์ ความตายของจิตร ภูมิศักดิ์ ของ Craig J. Reynolds แปลโดย อัญชลี สุสายัณห์ จาก “Jit Poumisak in Thai History”


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 15 เม.ย. 13, 08:05

......... และศพของปรีชาหรือ จิตร ภูมิศักดิ์ อยู่ที่ไหนล่ะ ? จะเป็นมูลดินแห่งใดแห่งหนึ่งที่ชายหมู่บ้านหนองกุงหรือ ? รึว่าถูกเผาไปแล้ว ณ ที่ใดที่หนึ่ง การฌาปนกิจที่ปราศจากญาติมิตร ไร้พิธีการหรือสุสานนิรนาม ลางทีสำหรับนักกวี นักประพันธ์ นักภาษา นักประวัติศาสตร์ คนแปลกหน้าที่ยากจน หัวหน้าชั้นนำของขบวนการมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ หัวหน้ากองโจร และนักปฏิวัติแห่งอุดมการณ์บนเส้นขนาน ฌาปนกิจศพไร้จิตกาธานหรือสุสานนิรนามจะเหมาะสมกับคนอย่างเขาที่สุด

แต่เป็นไปได้ไหมว่า ? เมื่อเขาถูกกระสุนปืนนัดวิกฤติก่อนสิ้นลม ปรีชาอยากจะบอกแก่ใคร ๆ ว่า

"ใช่ ผมเอง ผมคือ จิตร ภูมิศักดิ์ ผมมีค่าต่อคุณในการจับเป็นมากกว่าจับตาย"


จากเรื่อง จุดจบที่ไม่มีวันจบ ของ พ.ต.อ. จินดา ดวงจินดา เพื่อนรุ่นพี่อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งแรกในหนังสือ ปากไก่ วันนักเขียน ๕ พฤษภาคม ๒๕๒๒   เจ๋ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 15 เม.ย. 13, 20:09


ครบรอบวันตาย จิตรภูมิศักดิ์ .. ไปเยี่ยมคารวะที่โคนไม้แดง ชายป่าภูพาน

 ขึ้นภูพาน... ไปเยี่ยมจิตร ภูมิศักดิ์

จิตร ภูมิศักดิ์ คือผู้ที่ถือได้ว่าอยู่ในชั้นแถวแนวหน้าของนักคิดนักเขียนไทย ทั้งในแง่ของวิชาการด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ชีวิตและผลงานของ จิตร ภูมิศักดิ์ มีความหลากหลายและล้ำลึกจนกล่าวได้ว่าเป็นสหวิทยาการ ทั้งภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ทฤษฎีการเมือง งานวิจารณ์ งานแปล วรรณคดี ศาสนา บทกวี บทเพลง เป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่มอบไว้ให้กับสังคมไทย ที่ยังไม่มีนักคิดนักเขียนคนคนไหนเคยพิชิตความกว้างใหญ่ไพศาลขององค์ความรู้ว่าด้วยสังคมไทยได้เท่า และยังคงมีบทบาทต่อสังคมรวมทั้งส่งอิทธิพลอย่างทรงพลังให้กับขบวนการนักศึกษาในเวลาต่อมา

ในท้องถิ่นจังหวัดสกลนคร มีเบื้องหลังความเคลื่อนไหวและวาทกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมายซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นลอยๆ แต่เป็นวาทกรรมที่สมควรมีการวิพากษ์วิจารณ์ เช่นอาจสืบสาวไปได้ถึงสมัยเสรีไทย ที่เคลื่อนไหวในแถบนี้ก่อนที่จะแปรเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของทหารป่าหรือที่ฝ่ายรัฐบาลเรียกว่า ผกค. รวมทั้งอาวุธที่ใช้เกิดจากอดีตเสรีไทย เพราะครูครอง จันดาวงค์ ผู้ฝึกอาวุธให้กับเสรีไทยแถบนี้ทั้งหมด ต่อมาสภาพการเมืองที่กดดันระหว่างสายทหารและเสรีไทย ทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่างพลเรือนสายปัญญาชนกับทหารที่ไม่อาจประณีประณอมกันได้ กดดันให้ครูครอง จันดาวงค์ และสมาชิกอีกหลายคนต้องตาย อาวุธของเสรีไทยที่สะสมไว้จึงถูกแปรมาใช้เป็นอาวุธของทหารประชาชน

ประวัติศาสตร์การเมืองบทนี้ยังโยงไปถึงแนวคิดของ "ขุนพลภูพาน" หรือครูเตียง ศิริขันธ์ ในเรื่องการต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกา ด้วยแนวคิดการรวมตัวอาเซียน การต่อต้านญี่ปุ่นและผลประโยชน์ของญี่ปุ่นที่ฝ่ายทหารได้รับและยังคงอยู่แม้หลังสงคราม ทำให้ทหารต้องล้างขุมกำลังของเสรีไทยให้หมด บทบาทของจิตร ภูมิศักดิ์ จึงได้ปรากฏขึ้นมาสืบสานการต่อสู้ในภาคอีสาน และการเคลื่อนไหวของนักศึกษาจนถึงช่วงเหตุการณ์ตุลาคม 2519 เครือข่ายวาทกรรมการเมืองท้องถิ่น สามารถเชื่อมโยงเข้าด้วยกันและพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ที่เชื่อมโยงถึงกันกับวาทกรรมชุดอื่นๆได้อีก

ดังนั้นแนวคิดการพัฒนา "เครือข่ายวาทกรรมการเมืองท้องถิ่น" จึงได้ถูกจุดประเด็นขึ้น เพราะเบื้องหลังของวาทกรรมต่างๆ ไม่ใช่มีเพียงแค่คำพูดแต่แฝงความคิดที่เชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย ที่ทำให้มองเห็นความสืบเนื่องกันของวาทกรรมแต่ละชุดแต่ละช่วงเวลา เชื่อมโยงสอดคล้องต่อเนื่องเป็นเหตุเป็นผลกัน

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจในช่วงเวลานั้นได้ใช้นโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ด้วยวิธีเหวี่ยงแห ประมาณว่าจับมา 10 คนได้ตัวคอมมิวนิสต์จริงๆแค่ 1คนก็ถือว่าโอเคแล้ว ผู้ที่ถูกจับกุมในครั้งนั้นมีทั้งนักการเมืองแนวสังคมนิยม นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา ปัญญาชน ในข้อหายัดเยียดว่า"มีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์" และ "สมคบกันกระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายใน และภายนอกราชอาณาจักร" ซึ่งรวมทั้ง "จิตร ภูมิศักดิ์" ถูกจับ 21 ต.ค. พ.ศ.2501
หลังถูกคุมขังอยู่นานกว่า 6 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ ก็ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2507 เนื่องจากศาลกลาโหมยกฟ้อง ซึ่งระหว่างถูกจองจำอยู่ก็มีผลงานเด่นที่เกิดขึ้นในคุกคืองานแปลนวนิยายเรื่อง "แม่" ของแมกซิมกอร์กี้ , โคทาน,และ "ความเป็นมาของคำสยาม ไทย ลาวและขอม และลักษณะทางสังคม ของชื่อชนชาติ"

"วันเสียงปืนแตก" คือการเริ่มต้นของสงครามประชาชน เมื่อเกิดการยิงปะทะกับฝ่ายรัฐบาลนัดแรกที่บ้านนาบัว อ.นาแก จ.นครพนม เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2508 และเดือนต่อมาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)เริ่มตอบโต้รัฐบาลด้วยกำลังอาวุธ และถือกำเนิดกองกำลังพลพรรคประชาชนไทยต่อต้านอเมริกา หรือ พล.ปตอ.

จิตร ภูมิศักดิ์ เดินทางสู่ภาคอีสานในเดือนตุลาคม พ.ศ.2508 เข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมีชื่อจัดตั้งว่า "สหายปรีชา" เขามาในฐานะคนผ่านทางซึ่งจะถูกส่งตัวไปศึกษาที่ประเทศจีน ตามคำขอของ "สหายไฟ" อัศนี พลจันทร หรือนายผี ผู้ซึ่งจิตร ภูมิศักดิ์ เชิดชูว่าเป็นมหากวีของประชาชนที่ตีแผ่ความยากเข็นของชีวิตและปลุกเร้าวิญญาณการต่อสู้ของประชาชนได้อย่างมีพลังและเพียบพร้อม

จุดหมายปลายทางของสหายปรีชา ยังไปไม่ถึงประเทศจีน แต่ต้องมาจบชีวิตลงบนผืนแผ่นดินอีสานเพราะเขาขออยู่เรียนรู้การปฏิวัติในชนบท โดยในเดือนต่อมาได้เดินทางเข้าสู่ที่มั่นกลางดงพระเจ้า รับหน้าที่ปฏิบัติงานด้านมวลชน แต่อยู่ในดงพระเจ้าได้ไม่นานกำลังทหารฝ่ายรัฐบาลเข้ากวาดล้างมาถึง พวกเขาจึงต้องถอยทัพเดินนทางรอนแรม ผ่านป่าเขาลูกแล้วลูกเล่าทั้งภูผาเหล็ก,ภูผาดง ผ่านไปถึงภูผาลม สถานที่ซึ่ง สหายปรีชา แต่งเพลงชื่อ"ภูพานปฏิวัติ" และต่อมาเป็นเพลงต่อต้านอันโดดเด่นของขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย

วันที่ 4 พ.ค. 2509 สหายปรีชา และพลพรรคอีก 5 คน เข้าไปทำงานมวลชนที่บ้านหนองแปน และบ้านคำบ่อ วันรุ่งขึ้นได้ถูกกองกำลังฝ่ายรัฐบาลล้อมปราบ ทำให้ต้องแยกกันหลบหนีเป็นสองกลุ่ม สายปรีชา,สหายสวรรค์,สหายวาริช แตกไปทางเขาภูอ่างศอแต่เกิดหลงลงทาง จนถึงตอนค่ำมาโผล่ที่บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ด้วยความหิว สหายปรีชา อาสาเข้าไปขอข้าวในหมู่บ้านและได้ข้าวเหนียวมาหนึ่งปั้นจากนางคำดี อำพล ขณะที่รีบเดินกลับออกมาหาเพื่อสหายซึ่งรออยู่ นางคำดี ให้คนไปแจ้งกำนันแหลม หรือ นายคำพล อำพน จึงได้นำกำลัง อส.ออกติดตามไปทันที่ชายป่า

กระสุนนัดแรกพุ่งออกมาจากปากกระบอกปืนของ อ.ส.นายหนึ่ง โดนเข้าที่บริเวณขาของจิตร ภูมิศักดิ์ และอีกหลายนัดตามมาทำให้เขาจบชีวิตลงที่โคนต้นแดง ชายป่าท้ายหมู่บ้าน และศพถูกเผาทันที เมื่อตอนค่ำวันที่ 5 พฤาภาคม 2509 แต่สำหรับกำนันแหลม หรือนายอำพล คำพน ยังคงมีชีวิตอยู่ที่บ้านหนองกุง ในสภาพวัยชรา ส่วน "อ.ส." ซึ่งเป็นชาวบ้านหนองกุง คนที่เปิดฉากยิงนัดแรกพึ่งจะจบชีวิตลงเมื่อไม่นานด้วยโรคมะเร็ง

เวลาผ่านล่วงมานานมีผู้สนใจใคร่รู้เรื่องราวของจิตร ภูมิศักดิ์ มีนักศึกษา ปัญญาชน ลงพื้นที่ติดต่อขอสัมภาษณ์พูดคุยกับกำนันแหลม แต่ยังไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเต็มใจนัก ลูกสาวของกำนันแหลม เคยตัดพ้อพ้อมกับตั้งคำถามกลับมาว่า "ทำไมเรื่องนี้มันยังไม่จบไม่สิ้น จนป่านนี้แล้วยังไม่จบไม่สิ้นอีกเหรอ..."

ผ่านพ้นไปถึง 30 ปีถัดมาความรู้สึกของคนในครอบครัวของกำนันแหลม ยังไม่พร้อมต้อนรับผู้คนที่เดินทางมาเยี่ยมจิตร ภูมิศักดิ์ เพราะผู้ใคร่รู้ที่ดั้นด้นมาถึงหมู่บ้านแห่งนี้ ห้วงเวลานั้นแสดงออกทางสายตาดูจะไม่เป็นมิตร เคยมีคณะทัศนศึกษาเดินทางมาที่หมู่บ้าน เมื่อมาหยุดรถที่หน้าบ้านของกำนันแหลม นอกจากจะไม่ลงไปถามไถ่แล้ว ยังส่งสายตามองมาพร้อมกับเสียงซุบซิบ ..หลังนี้เหรอบ้านกำนันแหลมคนที่ยิงจิตร ภูมิศักดิ์..."

เข้าสู่ยุค 2540 เป็นต้นมา บรรยากาศเริ่มคลี่คลายขึ้นและดูเหมือนชาวบ้านหนองกุง รวมทั้งกำนันแหลม ต่างเข้าใจในวิถีแห่งการต่อสู้ในอดีตระหว่างซ้ายกับขวา ชาวบ้านจะร่วมกันจัดงานทำบุญในวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปี ภาพถ่ายและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งถูกรวบรวมเก็บไว้อย่างดีบนศาลาวัดบ้านหนองกุง ทั้งประวัติและผลงาน ประวัติการต่อสู้ บทความที่เคยปรากฏตามสื่อสิ่งพิมพ์ ก็จะถูกนำออกมาปัดฝุ่นอีกครั้งเพื่อการจัดแสดงนิทรรศการ และมีการจัดสร้างอนุสรณ์สถานจิตร ภูมิศักดิ์ ขึ้นในบริวณที่เขาจบชีวิตลง

พระอธิการ โสภา กิตติโสภโณ เจ้าอาวาสวัดประสิทธิสังวรณ์ (วัดบ้านหนองกุง) บอกว่า อนุสรณ์สถานนี้พึ่งจะเสร็จสมบูรณ์และจัดงานฉลองไปหมาดๆพร้อมกับงานทำบุญปีที่ผ่านมา มีปฏิมากรรมหินทรายแกะสลักรูปของจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บนแท่นแวดล้อมด้วยสวนหย่อม บนที่ดินขนาด 100 ตรว.ซึ่งคุณภิรมย์ฯ พี่สาวของจิตร ภูมิศักดิ์ ได้ขอซื้อจากเจ้าของเดิมและมอบถวายโอนกรรมสิทธิ์ให้กับวัดประสิทธิ์สังวรณ์ นายปานชัย บวรรัตนปาน ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร ในขณะดำรงค์ตำแหน่ง เป็นผู้จัดหางบประมาณสร้างอนุกรณ์สถาน ได้ติดต่อขอซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายพื้นที่ แต่ทางเจ้าของทีดินข้างเคียงไม่ขาย

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=435311
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 15 เม.ย. 13, 20:18

วรรณคดีมีคำว่า irony of life   หมายถึงว่าบางครั้งโชคชะตาก็กลับตาลปัตร เล่นตลกกับชีวิตอย่างไม่น่าจะเป็น  แต่ก็เป็นได้จริงๆ   ทิ้งไว้แต่ความเศร้าสลดหดหู่แก่ผู้พบเห็น

อุดมการณ์ของจิตร ภูมิศักดิ์คือเสียสละชีวิตเพื่อชาวไร่ชาวนาในชนบท  ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นผู้ด้อยโอกาส ยากไร้ และไม่เท่าเทียมผู้อยู่ในเมือง      แต่เขาก็ต้องมาจบชีวิตด้วยฝีมือของกลุ่มคนที่เขาหวังจะเสียสละให้นั่นเอง
คนเหล่านี้เข้าไม่ถึงอุดมการณ์ของจิตร แน่นอน   แล้วจิตรล่ะ เข้าถึงคนเหล่านี้หรือเปล่า
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 15 เม.ย. 13, 21:28

   แล้วจิตรล่ะ เข้าถึงคนเหล่านี้หรือเปล่า


ลึกซึ้งจริงๆ ครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 15 เม.ย. 13, 23:24

คนเหล่านี้เข้าไม่ถึงอุดมการณ์ของจิตร แน่นอน

เรื่องบางเรื่องต้องใช้เวลาเพื่อให้เข้าถึง  ยิ้มเท่ห์

ลมหอบกลิ่นแป้งร่ำรำเพยแผ่ว ฝ่าเปลวแดดเดือนห้า จากลานวัดมาถึงบ้านหลังใหญ่ เหมือนจะบอกเจ้าของเรือนที่นั่งอยู่บนแคร่ไม้ขนาดใหญ่ว่าอารามบ้านหนองกุง ถึงคราวรุ่งเรืองอีกครั้งหลังจากตกอยู่ในสภาพที่ไร้เจ้าอาวาสหรือร้างพระ-เณรมานาน นับจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นบุญเข้าพรรษา บุญวันสารท บุญออกพรรษา บุญกฐิน...หรือบุญสงกรานต์ที่กำลังจะผ่านพ้นไป วัดแห่งนี้จะไม่เหงาร้างอย่างที่เป็นมาอีกแล้ว

๒-๓ ปีที่ผ่านมานี้ เจ้าของเรือนหลังใหญ่วัย ๖๐ ต้น ๆ สุขภาพไม่สู้จะแข็งแรงมากนัก โรคภัยเบียดเบียนตลอดปี เหมือนสงครามอันยืดเยื้อยาวนาน สีผมที่ดูดำขลับกลับขาวโพลน เนื้อหนังอันอ้วนท้วนกลับซูบผอม ราวกับคนตรอมใจหรืออมทุกข์ตลอดปีตลอดชาติ

"เห็นมั้ย บาปไม่แพ้บุญ"

ปากคำลูกบ้านบางคนที่เสียดแทงความรู้สึก มีหรือกำนันเก่าจะไม่รับรู้ มีหรืออดีตมือปราบผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์จะไม่ฉุกคิด

มันเริ่มจากมีคนกลุ่มหนึ่งมาขุดเอากระดูก "คอมมิวนิสต์" ที่ถูกยิงตายตั้งแต่ไป  ๒๕๐๙ มาบรรจุไว้ในธาตุ มี "พี่สาว" ของคนตายมาทำบุญทอดกฐิน และมีสำนักพิมพ์ใหญ่มาสร้าง 'โรงเลี้ยงเด็ก' ให้ทางวัด

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสืบเนื่องมาจากการตายของชายหนุ่มคนนั้น ที่หัวไร่ปลายนาด้านทิศตะวันออกของหมู่บ้าน

และเป็นความตายที่นำมาสู่การเกิดใหม่...นามของจิตร  ภูมิศักดิ์ คุ้นหูค้นปากชาวหนองกุงเพิ่มขึ้น ซึ่งมันเป็นการรู้จักอย่างเข้าใจและถูกต้อง

ตรงกันข้ามนามของ กำนันคำพล อำพนกำลังจะถูกลืม??

ซึ่งในวันนี้อดีตมือปราบคอมฯ พอจะทำใจได้ เพราะไม่มีสิ่งใดจีรังยั่งยืน เมื่อ 'คนป่า' หรือพวกคอมมิวนิสต์บนภูซากลาก ทิ้งป่าทิ้งปืนกลับคืนสู่หมู่บ้านจนหมดสิ้น ก็เหมือนพรานไพรไร้ค่า เมื่อป่านั้นไม่มีสิงสาราสัตว์

แต่ลึก ๆ ลงไป อดีตพรานล่าหัวคอมฯ ก็ไม่รู้ว่าเหตุใดจึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันบนภูสูง ด้วยระหว่างที่การต่อสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ดำเนินไปอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบลงโดยง่าย แล้วจู่ ๆ วันหนึ่ง ฝ่ายคนป่าก็วางปืนเข้ามอบตัวกันเป็นทิวแถว เหมือนนักมวยที่ชกไม่สมศักดิ์ศรี

และกำนันเก่าก็อยากรู้เหมือนกันว่า นับตั้งแต่วันที่ชายหนุ่มถูกยิงตายกลายเป็นผีไร้ญาติไปแล้ว ในขบวนการนั้นมีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้าง??

จากเรื่อง "หลัง 'วาระสุดท้ายแห่งชีวิต' จิตร ภูมิศักดิ์" โดย แคน สาริกา นิตยสาร WRITER MAGAZINE ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๓๖

บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 5
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.08 วินาที กับ 20 คำสั่ง