เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 38613 แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 11:17

    โค้ทส์มีนิสัยและพฤติกรรมละโมบสมกับที่ไวท์เลือกมาเป็นมือขวา     คือพอได้ไฟเขียวจากหัวหน้าก็ไม่ยั้งคิดว่าถูกว่าผิด    คิดแต่จะเอาให้ได้มากที่สุด    จึงจัดแจงตระเตรียมเสบียงอาวุธและหากลาสีมาเป็นกำลังให้เต็มลำเรือ  แล่นใบตรงไปที่เมืองมาดาโพลัม
    ที่เมืองนั้นมีคลังสินค้าของบริษัทอีสต์อินเดียตั้งอยู่   มีหัวหน้าคลังสินค้าที่ส่งมาประจำชื่อ เวลส์    นายเวลส์เห็นโค้ทส์เป็นชาวอังกฤษด้วยกัน   พูดกันรู้เรื่อง  แถมยังอ้างว่ามาในนามของราชการสยาม ก็ต้อนรับด้วยไมตรี     โค้ทส์ก็วางท่าภูมิฐาน สั่งต่อเรือ 3 ลำในนามพระเจ้ากรุงสยาม    ทางฝ่ายอู่ต่อเรือก็ต้อนรับขับสู้แข็งขัน มิได้ระแวงอันใด    จากนั้น โค้ทส์ก็พักอยู่ที่มาดาโพลัม เที่ยวทำความรู้จักกับใครต่อใครจนกลายเป็นไฮโซอยู่ในเมือง   ในจำนวนพ่อค้าวาณิชและชาวเมืองที่โค้ทส์ตีสนิทด้วยมีพ่อค้าชาวโปรตุเกสอยู่คนหนึ่งชื่อดอน โจเซฟ ดะ เรียรเดีย (Don Joseph De Heredia) มีเรือสินค้าของตนเอง  และมีอาวุธประจำเรือด้วย  
    สองคนเกิดถูกอัธยาศัยชอบใจกัน จนสนิทสนม    นายเรียรเดียคนนี้ก็เลยกลายเป็นพวก เข้าข้างสนับสนุนโค้ทส์เมื่อป่วนเมืองขึ้นมาตามแผนที่ไวท์วางไว้

   ในช่วงนั้นเองก็มีอ้อยวิเศษลำหนึ่งลอยมาเข้าปากช้าง  ในนามของเรือสินค้าชื่อนิวเจรูซาเล็ม  (New Jerusalem)  เป็นเรือของพ่อค้าชาวอาร์เมเนียชื่อจอห์น ดีมาคอร่า (John Demarcora) มาจากเมืองมัทราส เข้ามาแวะจอดที่ท่าเรือเมืองนี้พอดี    เรือลำนี้บรรทุกสินค้ามีค่า ล้วนแล้วไปด้วยทับทิมและพลอยจากพะโค ซึ่งดีมาคอร่าได้ค้าขายอยู่กับพม่ารามัญ จนได้รับยศขุนนาง     พอโค้ทส์รู้ว่าสินค้าในเรือมีมูลค่ามหาศาลประมาณ 500,000 ปอนด์  (เป็นสมัยนี้จะกี่พันล้านปอนด์ก็ไม่อาจทราบได้)  ก็น้ำลายหกทันที
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 12:23

ตรงนี้ก็น่าสงสัยไม่น้อยนะครับ พะโคคือเมืองหลวงของมอญ เอาละ กษัตริย์อาจจะมีทับทิมพม่าข้าศึกมาขายให้ฝรั่งได้ แต่ฝรั่งซื้อพลอยราคาสูงขนาดนั้นแล้วน่าจะรีบมุ่งกลับไปยุโรปอย่างด่วน เพราะตลาดที่มีกำลังซื้อมหาศาลอยู่ที่นั่น แต่นี่ออกจากพะโคก็มุ่งไปมัทราช จะไปขายให้กับบริษัทอินเดียตะวันออก(East India Company)ของอังกฤษก็พอจะฟังได้อยู่ แต่ไม่ใช่ นี่กลับเพียงแต่แวะแล้วย้อนศรขึ้นไปเมืองมาดาโพลัม ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆซึ่งบริษัทอินเดียตะวันออกไปตั้งสถานีรับซื้อผ้าลินิน ที่ใช้แรงงานราคาถูกของคนอินเดียทอขึ้นด้วยมือเอากลับไปขายในอังกฤษ ไม่รู้ว่ากัปตันจอห์น ดีมาคอร่าจะไปที่นั่นทำไม
 
และก็แปลกที่นายไวท์ สั่งลูกน้องให้ไปต่อเรือที่เมืองนี้


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 12:41

ตอนที่หนังสือเล่าถึงเรือ "นิวเจรูซาเล็ม" ขนเพชรพลอยมาเต็มเพียบเรือแล้วแวะเอ้อระเหยอยู่ที่เมืองต่อเรือแห่งนี้  ยังหวาดเสียวแทนเจ้าของเรือที่ไม่ยักกลัวโดนปล้น     ทั้งๆแกก็มาลำเดียวเดี่ยวโดด       ไม่ต้องอะไรมาก    แค่จอดเรือที่นี่ตั้งหลายวัน   อย่างน้อยเจอหัวขโมยแขก ปีนเข้าเรือไปลักพลอยสักกล่องสองกล่อง ก็น่าเสียดายแทบแย่แล้ว      
หรือจะเป็นอย่างที่คุณ NAVARAT.C ว่า  ว่านายดีคอมาร่าอาจไปรับซื้อผ้าลินินส่วนที่ไม่ได้ส่งให้บริษัทอีสต์อินเดีย เอาไปขายที่บ้านเมืองตัวเองละกระมัง  
นี่คือความเห็นแบบเอาใจช่วยนายคอลลิสเจ้าของเรื่องสุดๆ

กลับมาที่เนื้อเรื่อง
ตามแผนเดิม โค้ทส์จะต้องยึดเรือสินค้าของเจ้าถิ่น เป็นการชดเชยค่าเสียหายที่ต่อเรือไม่ทันกำหนด  จะจริงหรือไม่จริง  อย่างน้อยก็พออ้างได้       แต่เรือนิวเจรูซาเล็มเป็นเรือของคนนอก  ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วย      โค้ทส์จะไปยึดเรือของพ่อค้าอาร์มาเนียนมาดื้อๆ ได้ไงจะเอาเหตุผลอะไรไปอ้างกับชาวเมืองและคนโดยรอบ
ไปๆมาๆ โค้ทส์ก็นึกถึงนิทานอีสปเรื่องหมาป่ากับลูกแกะขึ้นมาได้    ว่าถึงแม้นายดีมาคอร่าไม่ได้เกี่ยวอะไรกับอาลี บีค  หรืออู่ต่อเรือมาดาโพลัม    แต่นายดีมาคอร่าก็ค้าขายกับพม่ารามัญซึ่งถือว่าเป็นศัตรูของอยุธยามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง    เพราะฉะนั้นถ้าจะยึดเรือนิวเจรูซาเล็ม  เพราะพ่อเอ็งกวนน้ำให้ขุ่น..เอ๊ย..เพราะถือว่าสังกัดฝ่ายศัตรู  ก็ไม่ผิดกติกาที่นายโค้ทส์แกกำหนดขึ้นมาเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 13:47

     พอใกล้กำหนดที่เรือ 3 ลำจะต่อเสร็จ   โค้ทส์ก็ชิงลงมือด้วยการโวยวายไปที่ผู้บริหารอู่ต่อเรือ  หาว่าทำงานล่าช้า  แกล้งดึงงานไม่ให้แล้วเสร็จ ก่อความเสียหายแก่ราชการของพระเจ้าแผ่นดินสยาม  บลา บลา บลา     ทางอู่ต่อเรือไม่รู้เท่าทันก็ได้แต่ขอโทษขอโพยตามมารยาท แล้วรับรองว่าเรือใกล้เสร็จเรียบร้อยแล้ว  ไม่ต้องห่วง   แต่โค้ทส์ก็เล่นบทฮึดฮัดไม่ยอมฟัง แถมยังถอยเรือพรอสเพอรัสของสยามไปจอดนอกสันดอนของเมือง      ส่วนสายตาก็เล็งไปที่เรือกำปั่นนิวเจรูซาเล็มซึ่งจอดลึกเข้ามาในแม่น้ำของเมืองนาร์สะปอร์ (Narsapore)

    วันที่ 21 พฤศจิกายน 1685    พอตกดึก      โค้ทส์ก็ส่งต้นหนและลูกเรือเดนตายทั้งหลายที่จ้างมา พกอาวุธเพียบ  ลงเรือเล็กล่องเข้าแม่น้ำตรงไปจู่โจมเข้ายึดเรือนิวเจรูซาเล็มในตอนเที่ยงคืน    โดยคนในเรือฝ่ายนั้นมัวแต่หลับสนิท ไม่รู้ตัว จึงไม่มีโอกาสต่อสู้    ก็ได้แต่ยอมจำนนอย่างงงๆ  ว่าพวกนี้เล่นอะไรของมัน  
   จากนั้นขบวนการมิชชั่น อิมพอสสิเบิ้ลของโค้ทส์ก็ยังไม่หยุดอยู่แค่นี้    ใกล้ๆกันนั้นมีเรือกำปั่นของพระราชาผู้ครองแคว้นกอลคันดาชื่อเรือเบดโคลฟ (Bedclove) จอดอยู่แบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่อีกเหมือนกัน    ลูกน้องของโค้ทส์ก็เลยยึดไว้อีกลำหนึ่ง  
    จากนั้นหน่วยจู่โจมของโค้ทส์ก็ถอยเรือสินค้าทั้งสองลำนี้ออกจากแม่น้ำ เพื่อจะพาออกไปสู่ทะเล    ระหว่างถอยนั้นก็ยิงกราดเข้าไปที่ฝั่ง จะเพื่อข่มขวัญหรือป้องกันมิให้คนในเมืองแห่กันออกมาต่อสู้ก็ไม่รู้ละ   แต่ก็ทำเอาชาวเมืองขวัญกระเจิงไปตามๆกัน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 13:58

พอสงสัยนายคอลลิสแล้วครั้งหนึ่งก็ให้สงสัยเรื่อยไป

ที่ว่าดีมาคอร่าเป็นชาวอาร์มาเนียนั้นนั้นก็สงสัยอีก อาร์มาเนียนั้นถือว่าโนเนมในประวัติศาสตร์การค้าขายทางทะเล เข้าไปหาแผนที่แล้วกลับพบความจริงที่หนักหนาสาหัสกว่าเข้าไปอีก อาร์มาเนียเป็นประเทศเล็กๆอยู่ระหว่างตุรกีกับรัสเซียที่ไม่มีทางออกทะเล เหมือนสวิตเซอร์แลนด์(จะเขียนว่าเหมือนลาวก็เกินไป)

ใช้อินเนตรหาแผนที่สมัยศควรรษที่๑๗ ประเทศนี้ตอนนั้นแม้จะใหญ่กว่าปัจจุบันนิดนึง ก็ไม่มีทางออกทะเลเช่นกัน แล้วมันแปลกไหมเล่าครับที่คนอาร์มาเนียจะเป็นเจ้าของเรือเดินสมุทรมาหากินโพ้นทะเลถึงถิ่นเอเซีย สมัยนั้นจะมีก็แต่เรือของมหาอำนาจเท่านั้นที่จะไปลอยลำอยู่ได้ กระนั้นก็เถอะ เผลอเมื่อไหร่เห็นชักธงต่างกันก็ยิงใส่ก่อนแล้ว ไม่แน่จริงก็ไม่รอด

ดีมาคอร่าถ้าเป็นอาร์เมเนียนจริงเป็นเจ้าของเรือสำเภาค้าขายโพ้นทะเลจริง ชีวประวัติของเขาก็น่าจะเหมือนนวนิยายที่ตื่นเต้นอีกเรื่องหนึ่งเหมือนกัน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 14:25

แถมข้อสะดุดใจให้อีกเรื่อง เกี่ยวกับนายดีมาคอร่าผู้เป็นชาวอาร์มาเนีย
เรือของแกชื่อ New Jerusalem  เป็นภาษาอังกฤษสุดๆ   ค่ะ

อย่างไรก็ตาม  เรื่องราวที่โค้ทส์ก่อขึ้น  มีบอกเล่าไว้ในหนังสืออีกเล่มหนึ่งนอกเหนือจากของคอลลิส  คือเรื่อง English Intercourse with Siam in the Seventeenth Century   ผู้เรียบเรียงคือนายแพทย์ JOHN ANDERSON, M.D.   พิมพ์ที่ลอนดอนเมื่อค.ศ. 1890.
รายละเอียดในเรื่องก็อย่างที่ลงในกระทู้ตอนนี้ละค่ะ คือกัปตันจอห์น โค้ทส์ไปยึดเรือของพ่อค้าชาวอาร์เมเนียนไว้ด้วย     แต่ค้นๆไปคงได้คำตอบว่า  เรื่องราวอันน่าเคลือบแคลงสงสัยตามที่คุณ NAVARAT ตั้งปุจฉาขึ้นมานั้น  มันจริง หรือใส่สีใส่ไข่มาจากไหน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 15:15

     บรรดากำนันผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านที่โดนหางเลขเข้าแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ก็ยกพวกแห่กันไปฟ้องหัวหน้าคลังสินค้าชาวอังกฤษ  ตอนนั้นเวลส์หัวหน้าตัวจริงไม่อยู่  ไปธุระที่เมืองมาสุลิปะตัม   เหลือแต่ผู้ช่วยชื่อชาร์สล์   ฟอนส์   เท่านั้นยังไม่พอ  เมื่อไม่ได้คำตอบเป็นที่พอใจเพราะโค้ทส์ตอบมาอย่างโอหังว่า ที่ยึดเรือและกราดกระสุนเข้าใส่ชาวบ้านผู้นอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น  เพราะอู่ต่อเรือให้ชักช้า     ถ้อยคำนี้ฟังแล้วก็ไม่น่าจะเรียกได้อย่างอื่นนอกจากอันธพาล    พวกชาวเมืองก็เลยร้องทุกข์ต่อไปถึงอาลีบีค เจ้าเมือง  ขอให้ส่งกำลังมาปราบปรามด่วน

     โค้ทส์ค่อนข้างกำแหงเพราะทำการได้ง่ายดาย  บวกกับได้คู่หูคนใหม่คือนายเรือชาวโปรตุเกสที่มาเข้าข้าง   ช่วยบีบคอ บังคับให้ฟอนส์ผู้ช่วยหัวหน้าคลังสินค้าอังกฤษให้จำยอมส่งปืนใหญ่มาให้ถึง 8 กระบอก    เมื่อเห็นว่าเมืองนี้ไม่มีทางป้องกันตัว   โค้ทส์ก็กำเริบเสิบสานถึงที่สุด ถึงกับประกาศว่าถ้าพระราชาแห่งกอลคันดาไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องโดยปราศจากเงื่อนไขทุกประการแล้วละก็     ก็อย่ามาหาว่าโค้ทส์ใจร้ายทำรุนแรงก็แล้วกัน    เพราะเขามีอุดมการณ์ว่าจะต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาประโยชน์และพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดินสยาม

     ฟอนส์เห็นเรื่องราวลุกลามไปกันใหญ่ก็ตกใจ   ส่งภรรยาของเวลส์มาเกลี้ยกล่อมโค้ทส์ให้เห็นแก่ชาวคลังสินค้าของบริษัทด้วย  เพราะพวกอังกฤษมาตั้งสาขาอยู่ที่เมืองนี้ก็เพื่อเป็นตัวกลางรับส่งสินค้าเท่านั้น   ไม่มีอาวุธยุทธภัณฑ์ตลอดจนกำลังทหารจะป้องกันตัวเอง หากว่าชาวเมืองเกิดโกรธแค้นฝรั่ง   ลุกฮือกันขึ้นมาจับฝรั่งฆ่า   เผาโรงสินค้าวายวอดกันหมด  ก็จะกลายเป็นเรื่องร้ายแรงกันไปใหญ่โต   ขอให้โค้ทส์ยับยั้งชั่งใจไว้ก่อน      
      โค้ทส์ฟังคุณนายเวลส์อ้อนวอนแล้วก็กลับหัวเราะเยาะ    ตอบเหมือนผู้ร้ายในหนังว่า
      "มันไม่ใช่กงการอะไรของผมนะ   คุณนาย   ในเมื่อบริษัทมาตั้งโรงสินค้าอยู่ที่นี่   ก็เป็นเรื่องของบริษัท  ต้องรับผิดชอบปัญหากับชาวพื้นเมืองเอาเอง     ส่วนผมเป็นข้าราชการของพระเจ้ากรุงสยาม  ทำทุกอย่างลงไปนี้ก็ในนามของสยาม เพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้เจ้านายตามหน้าที่"
      นับเป็นคำแก้ตัวที่แถอย่างหน้าด้านสุดๆ  คุณนายเวลส์ฟังแล้วคงจะกลืนขนมปังไม่ลงไปอีกหลายมื้อ
    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 15:18

ดิฉันพยายามหาชื่อ John Demarcora  ชาวอาร์มาเนียน  เจ้าของเรือสินค้า New Jerusalem  เพื่อดูประวัติของเขาในเรื่องอื่นๆ แต่ยังหาไม่พบ   พบแต่ในเรื่องนี้
ต้องขอแรงนักเรียนโค่งทั้งหลายที่นั่งหลับกันอยู่หลังห้อง  ให้ช่วยหาอีกแรงด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 15:45

  เวลส์หัวหน้าคลังสินค้าซึ่งขณะนั้นอยู่ที่เมืองมาสุลิปะตัมส่งคำตอบมาด่วนในวันที่ 27  ว่าข้อเรียกร้องของโค้ทส์นั้น บริษัทจัดการอะไรให้ไม่ได้  แต่บริษัทจะผ่อนปรนตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่โค้ทส์ก่อขึ้นกับชาวเมือง เพราะถือว่าโค้ทส์ได้ติดต่อกับบริษัทมาแต่แรก       แต่ถ้าโค้ทส์จะประกาศสงครามกับแคว้นกอลคันดาในนามของสยาม     ก็ควรจะทำตามขั้นตอนคือเรียกร้องค่าเสียหายกรณีต่อเรือล่าช้า  ถ้าไม่ได้ผลอย่างไรก็ประกาศสงคราม รบพุ่งเอาชัยกันให้เห็นจะจะกันไป   ตามเยี่ยงอย่างประเพณีสงครามระหว่างอาณาจักร    ไม่ใช่มาลักลอบตีชิงเรือเหมือนโจรปล้มสะดม แถมยังทำอยู่ใกล้ๆจมูกบริษัทแค่นี้เอง
  
   คำตอบแกมตำหนิของเวลส์มีผลอย่างไร ก็ดูได้จากโค้ทส์อ่านจดหมายจบ   ก็สั่งลูกน้องยิงปืนประจำเรือกราดเข้าไปในหมู่บ้านนาร์ซาปอร์ทันที    จะถูกใครตายมั่งก็ช่างหัวมัน    จากนั้นโค้ทส์ก็สั่งให้ถอยเรือที่ยึดมาได้ทั้งสองลำออกไปลอยลำพ้นสันดอนนอกเมือง   ลอยอยู่กลางทะเล พ้นวิสัยชาวเมืองจะโจมตีได้จากทางบก

   จากนั้น  โค้ทส์ก็กระทำการที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่าปล้มสะดมอย่างอุกอาจ   แต่ตัวโค้ทส์เองตะแบงเรียกว่าประกาศสงครามกับเมืองนี้อยู่ฝ่ายเดียว  คือเอาเรือติดอาวุธของตัวเองไปลอยลำ ดักทางเข้าออกอยู่นอกเมือง   เรือสินค้าลำไหนไม่รู้เรื่อง แล่นเข้าเมืองมาตามปกติ    โค้ทส์ก็ดักจับเรือ ยึดเอาสินค้ามีค่าในเรือ   ขนถ่ายลงเรือตัวเองซะให้หมด แล้วเผาเรือหรือจมเรือทิ้งเสียหลายลำ  โดยไม่เลือกว่าเป็นเรือของแคว้นกอลคันดาหรือเรือของที่อื่น

   เทวดาย่อมไม่เข้าข้างคนผิด    เมื่อไม่มีใครฮึดสู้  โค้ทส์ก็ฮึกเหิม   ยึดเรือเผาเรือเพลินไปหน่อย   จนเผลอไปทำลายเรือสินค้าของประธานบริษัทอีสต์อินเดียสาขามาสุลิปะตัมเข้า    ทั้งๆไวท์เคยกำชับนักหนาแล้วว่าอย่าไปแตะต้องกับผลประโยชน์ของบริษัทอีสต์อินเดียเข้าเป็นอันขาด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 16:15

   การกระทำของโค้ทส์คือแหย่เสือหลับให้ตื่นขึ้นมาทันที   ก่อนหน้านี้ สิ่งที่โค้ทส์ทำคือรังควานและปล้นสะดมชาวเมือง  ทำความเดือดร้อนหวั่นวิตกให้เจ้าหน้าที่พนักงานของบริษัทอีสต์อินเดียที่ประจำการอยู่ที่นั่น      แต่ในเมื่อเขาไม่ได้ทำอะไรบริษัทโดยตรง   บริษัทอีสต์อินเดียก็พอจะหุบปากนิ่งอยู่ได้   เพราะไม่อยากมีเรื่องกับใครเกินจำเป็น     
  แต่พอโค้ทส์กำแหงไปปล้นเรือสินค้าของประธานสาขาของบริษัทเข้า   อีสต์อินเดียก็เต้นเป็นเจ้าเข้าขึ้นมาทันที     ถือว่านี่คือการเหยียบจมูกบริษัทโดยตรง   ก่อความเสียหายให้เกินกว่าจะนิ่งเฉยให้ถูกรังแกมากกว่านี้     นอกจากนี้ เหตุร้ายที่โค้ทส์ก่อยังลุกลามต่อจนมีผลกระทบอย่างหนักต่อบริษัทอีกด้วย     บริษัทอีสต์อินเดียก็นิ่งเฉยต่อไปไม่ได้อีก
   เรื่องนี้ถูกแจ้งไปที่บริษัทอีสต์อินเดียสำนักงานใหญ่ที่เมืองมัทราส      คณะกรรมการบริษัททางโน้นก็ตัดสินส่งเรือรบ "โทมัส" พร้อมอาวุธปืนใหญ่กระสุนดินดำเต็มเพียบ   กางใบแล่นมารบกับเรือของโค้ทส์ทันที   
   โค้ทส์สดับตรับฟังข่าวนี้ด้วยความวิตก  เพราะเรื่องเริ่มลุกลามเกินกว่าตัวเองจะแก้ไขได้อีกแล้ว   แต่ก็ยังใจชื้นว่ากินเวลาอีกหลายวันกว่าเรือโทมัสจะมาถึง   ยังพอหาทางหนีทีไล่กลับไปอยุธยาได้ทัน
 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 16:45

คนอินเดียไม่ได้ล้าหลังในเรื่องเรือรบและสงครามทางทะเล มิฉะนั้นคงจะเดินทางมาเผยแพร่อารยธรรมในสุวรรณภูมิก่อนหน้านั้นหลายร้อยปีมิได้
ตามประวัติศาสตร์  ทหารเรืออินเดียยุคนั้นสามารถชนะทหารเรือดัทช์ในยุทธนาวีที่โคลาเชล(The Battle of Colachel in 1742 CE.)เป็นชาติแรกของเอเซียที่เอาชนะฝรั่งได้ด้วยเรือรบแบบที่เอามาให้ดูข้างล่าง แม้จะเป็นครั้งเดียวเท่านั้นก็ตาม แต่ก็ทำเอาดัทช์เสียมวย ไม่บังอาจมาล่าเมืองขึ้นบนแผ่นดินชมพูทวีปได้เลย
 
จึงเป็นไปได้ยากที่เรือรบไทยที่โจรสลัดอังกฤษบังคับบัญชาอยู่ลำสองลำ จะไม่มีเรือรบของเจ้าถิ่นเข้าปะทะ ทั้งที่ในเรื่องนี้ระบุว่าเมืองดังกล่าวเป็นแหล่งต่อเรือสำเภาที่สำคัญในย่านนั้นด้วย ถ้าจริงก็ต้องมีเรือลอยลำอยู่ให้ครึ่ดไปในทะเล
 
นี่ทำไฉนจึงปล่อยให้นักเลงโตที่เพิ่งเอาเรือไปซื้อปืนและกระสุนมาจากมัทราช และรวมรวมจิ๊กโก๋แถวนั้นมาเป็นลูกเรือ จะเคยซ้อมยิงบ้างหรือยังก็ไม่ทราบ แต่บ้าบิ่นได้เกินขนาดถึงกับไปยิงถล่มบ้านเรือนชาวบ้าน แล้วประกาศสงครามกับเขาด้วยข้อพิพาทกระจิ๊ดเดียว แถมหยามน้ำหน้าคนอังกฤษชาติเดียวกับตนแบบไม่เกรงใจอะไรเลย
คิดว่าถ้าไม่ได้ปล้นเรืออังกฤษแล้ว เรื่องจะไม่ไปถึงบริษัทหรือไง


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 17:28

ข้อสังเกตของท่านนวรัตนน่าสนใจมาก  ชวนให้คิดถึงประวัติของแซมมวล ไวท์   ว่าเรื่องที่เล่าเกี่ยวกับโค้ทส์และเมืองมาสุลิปะตัม   เป็นส่วนหนึ่งของคำให้การของไวท์ต่อศาลอังกฤษเมื่อเขากลับไปบ้านเกิดเมืองนอกแล้ว ใช่หรือไม่      
ถ้าเรื่องเล่าของคอลลิสและแอนเดอร์สันใช้คำให้การของไวท์ต่อศาลอังกฤษเป็นเอกสารอ้างอิง  ก็เป็นได้ว่านายสยามขาวพระเอกประจำกระทู้  อาจจะกลายเป็นผู้ร้ายมากกว่าพระเอก    เพราะแกอาจจะแต่งนิยายมาเล่าให้ศาลฟังเสียเพลิดเพลินไปเลยก็ได้ค่ะ

เชิญติดตามออกพระศรีนวรัตน ท่านตั้งข้อสงสัยต่อไป  อาจจะน่าสนุกกว่าเรื่องของโค้ทส์ที่กำลังเล่นบทแข่งกับ Pirates of the Caribbean  เสียอีก

มันก็น่าคิดเหมือนกันว่าเมืองที่เป็นอู่ต่อเรือแห่งนี้ ช่างไม่มีปากมีเสียงอะไรเลย   โค้ทส์ควงปืนก๋าอยู่บนเรือพรอสเพอรัส  ปล้นสะดมเรือต่างๆอย่างสนุกมือในเวลาหลายวัน   ชาวเมืองก็กลัวตัวสั่นงันงก เก็บตัวกันอยู่ในบ้านหมด   รวมทั้งพนักงานอังกฤษในบริษัทสินค้าที่นี้ด้วยก็ไม่มีใครกล้าออกมาต่อกร

จนวันที่ 2 ธันวาคม   เวลส์หัวหน้าคลังสินค้าจึงเดินทางจากเมืองมาสุลิปะตัมมาถึงพร้อมกับกรรมการบริษัทอีกคนหนึ่ง    ก็ลงเรือไปเจรจาเชิงสันติกับโค้ทส์ที่เรือใหญ่     โค้ทส์ก็ท่องคาถาเดิมกล่าวหาทางฝ่ายเจ้าถิ่น คราวนี้ขยายพื้นที่จากอู่ต่อเรือไปถึงอาลี บีคศัตรูเก่าของไวท์ว่าเป็นมือชักใยอยู่เบื้องหลัง       เวลส์และกรรมการบริษัทก็ชี้แจงว่า โค้ทส์กระทำเช่นนี้เรื่องลุกลามออกไปมากกว่าที่คิด   เพราะอาลี บีค นอกจากไม่ครั่นคร้ามแล้ว ยังใช้ไม้แข็งตอบโต้   สั่งบอยค็อตต์ชาวอังกฤษทั้งหมดรวมบริษัทอีสต์อินเดียในเมืองและที่อื่นๆทั้งหมดด้วย      เรื่องมันน่าจะไปกันใหญ่ เดี๋ยวเป็นศึกกันทั้งอังกฤษ กอลคันดาและสยาม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 19:17

  เมื่อโค้ทส์รู้ว่าเรื่องกำลังจะไปกันใหญ่ก็ตกใจ     ก็ยอมขึ้นฝั่งไปเจรจา  เจอจอห์น ดีมาคอร่าซึ่งรออยู่ในออฟฟิศของคลังสินค้า  ดีมาคอร่าก็ขอให้คืนสินค้าในเรือนิว เจรูซาเล็มให้เขาเสึย เพราะเขาไม่ใช่คนในบังคับของพระเจ้าแผ่นดินมอญ  แต่มีภูมิลำเนาอยู่ในมัทราส   กำลังเจรจากันยังไม่ทันตกลง  ลูกน้องก็มากระซิบว่าพวกทหารแขกกำลังจะมุ่งหน้ามาที่คลังสินค้า   โค้ทส์จึงเลิกเจรจาทั้งหมด ตะลีตะลานกลับเรือ  จึงรอดมือแขกไปได้หวุดหวิด   
  จากนั้น  เรื่องก็บรรยายต่อว่าทางฝ่ายชาวอังกฤษในคลังสินค้าก็พยายามเกลี้ยกล่อมโค้ทส์  โดยสัญญาว่าโค้ทส์จะได้เรือที่สั่งต่อเอาไว้แน่นอน  พวกเขาขอรับประกัน    เพื่อแลกเปลี่ยนกับการที่โค้ทส์ยอมคืนสินค้าที่ยึดมา ให้ทางบ้านเมืองเอากลับไป    การเจรจาได้ผลดี    จะด้วยโค้ทส์อยากกลับบ้านเต็มทีก่อนเรือโทมัสจะมาจับตัว  หรือว่าได้รับสินบนจากคู่เจรจาอัดฉีดเข้าไปจนแน่นกระเป๋าก็ไม่ทราบ       ผลสรุปว่าโค้ทส์ยอมคืนสินค้าที่ยึดมาได้   แต่ไม่วายยักยอกทับทิมพม่าเอาไว้ห่อหนึ่ง มูลค่าประมาณ 4000 ปอนด์    โดยเจ้าของทับทิมคือนายดีมาคอร่าเกิดนับไม่ถ้วน   เลยรอดหูรอดตาแกไปได้
   ถ้าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริง     โค้ทส์ยอมคายอ้อยออกจากปากช้าง ก็มีทางเดียวคือได้เงินค่าไถ่สินค้าเข้ากระเป๋าจนพอใจน่ะละค่ะ   ขนเงินกลับไปย่อมดีกว่า  และสะดวกง่ายดายกว่าขนสินค้ากลับไปเป็นไหนๆ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 20:00

มาสุริปาตัมอยู่ในรัฐอานธรประเทศทางใต้ฝั่งตะวันออกของอินเดีย เป็นเมืองท่าที่ชาวอังกฤษมาตั้งสถานีการค้าในอ่าวเบงกอลเป็นแห่งแรกในปี1611 ตามประวัติศาสตร์ของเมืองนี้กล่าวว่าในระหว่างปี1686ถึง1756 ฝรั่งเศสและดัตช์ผลัดกันเข้ามายึดครอง สุดท้ายอังกฤษสามารถเข้ามาแย่งชิงกลับมาจากฝรั่งเศสได้อีกในปี1759 และผนวกอยู่ในเครือจักรภพจนกระทั่งอินเดียได้รับเอกราช ประวัติศาสตร์ของเมืองนี้ไม่ได้กล่าวถึงไวท์และลูกน้องมาประกาศสงครามในนามของสยามกับที่นี่ ซึ่งระบุว่าเป็นปี1685เลย

เมืองกอลคันดายิ่งหนักเข้าไปใหญ่ ด้วยอยู่ลึกจากมาสุริปาตัมเข้าไปในแผ่นดินใหญ่กว่า๓๒๐กิโลเมตร เรือรบลำเดียวจะมีสิทธิ์ไปข่มขู่อะไรเขาได้


มะสุลีปะตัมเป็นเมืองท่านานาชาติของราชอาณาจักรกอลกอนดา ปกครองโดยข้าหลวงหรือนิชามซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากกุตาบ ชาฮีร์แห่งไฮเดอราบัด (Qutab Shahi of Hydarabad) ประมุขของกอลกอนดา ข้าหลวงแห่งมะสุลีปะตัมจะมีกองเรือค้าขายของตนเองเพื่อประกอบการค้าระหว่างสยามกับกอลกอนดา นอกจากนี้ราชสำนักสยามก็ยังว่าจ้างเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเมืองมะสุลีปะตัม ทำหน้าที่นายหน้าคอยจัดหาสินค้าที่สยามต้องการและระบายสินค้าของสยามสู่ตลาดฝั่งตะวันตกด้วย จากมะสุลีปะตัมสินค้าจะถูกลำเลียงไปยังรัฐข้างเคียงทางแม่น้ำกฤษณา ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ที่มีสาขาแยกออกไปอีกหลายสายโดยไหลผ่านไปจนถึงพิชปูรทางฝั่งตะวันตกของอินเดีย มะสุลีปะตัมจึงเป็นเมืองท่าระบายสินค้าต่าง ๆ ของสยามรวมทั้งช้างไปสู่อินเดียภาคใต้และตะวันตกเฉียงใต้

จากบทความเรื่อง ช้างเป็นสินค้า ค้าช้าง ในสมัยอยุธยา  ของ ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 29 เม.ย. 13, 20:26

ตามเข้าไปอ่านบล็อคของดร.จุฬิศพงศ์ตามลิ้งค์ของคุณเพ็ญชมพู      เลยเจอย่อหน้านี้

ฟอลคอนสนับสนุนการค้าของชาวอังกฤษและฝรั่งเศส โดยขัดขวางการค้าของพวกมุสลิม จนเป็นเหตุให้พ่อค้าแขกไม่พอใจ และได้ร่วมกันต่อต้านการค้าของสยามที่ผ่านทางพ่อค้ายุโรปโดยไม่ยอมช่วยเหลือกระจายสินค้าของสยามในตลาดฝั่งตะวันตกเหมือนเมื่อก่อน ทั้งยังขัดขวางการค้าของสยามไม่ให้ได้รับความสะดวกต่างๆ ด้วยเหตุนี้สมเด็จพระนารายณ์ภายใต้การถวายคำแนะนำของฟอลคอนจึงตอบโต้ด้วยการยึดเรือสินค้าของมุสลิมในแถบเมืองท่าของสยาม นอกจากนี้ฟอลคอนยังจัดตั้งกองเรือเพื่อปล้นสะดมสินค้าของพ่อค้าแขกและยังส่งกองเรือไปเผาทำลายเมืองท่าหลายแห่งของอาณาจักรกอลกอนดา ความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นทั้งสองอาณาจักรประกาศสงครามแก่กัน ส่งผลให้การค้าระหว่างสยามกับรัฐต่างๆ ในอินเดียประสบภาวะชะงักงัน

ในนี้บอกว่ามีหลายเมือง   หนึ่งในนั้นน่าจะเป็นศึกของกัปตันโค้ทส์กับเมืองมาดาโพลัม  ที่กำลังถึงพริกถึงขิงอยู่ในค.ห.ข้างบน   แต่ว่าหลักฐานที่ดร.จุฬิศพงศ์ไปหามาได้  ยกความเลวให้ฟอลคอน  ไม่ใช่ไวท์
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.086 วินาที กับ 19 คำสั่ง