เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 38646 แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 120  เมื่อ 09 พ.ค. 13, 20:07

นโยบายตีสองหน้าเป็นสิ่งไวท์ถนัดอยู่แล้ว    ในสถานการณ์หน้าสิ่วหน้าขวาน ไม่มีอะไรดีกว่าผูกมิตรกับเวลเดนเอาไว้   เพราะถ้าหักหาญกับเวลเดนก็เท่ากับเป็นศัตรูกับบริษัทอีสต์อินเดีย   ถึงไวท์โกรธขนาดไหนที่เวลเดนยึดเรือเรสโซลูชั่นเอาไปจอดไว้เคียงเรือ  ไวท์ก็คลั่งขึ้นมาประเดี๋ยวประด๋าว  แล้วก็ระงับอารมณ์ได้   เริ่มพูดจากับเวลเดนด้วยดีต่อไป

ไวท์ยังมองการณ์ไกลอีกว่าถ้าเวลเดนทำหักหาญกับเมืองมะริดจนชาวเมืองทนไม่ได้ขึ้นมา   เกิดสู้รบกันขึ้น  จนล้มตายกันไปทั้งสองฝ่าย    บริษัทอีสต์อินเดียก็เอาผิดกับไวท์ไม่ได้ เพราะไวท์แสดงตัวว่าเป็นมิตรกับเวลเดนมาตลอด       ในขณะเดียวกันไวท์ก็เหยียบเรือสองแคมคือสั่งทางมะริดและตะนาวศรีให้เตรียมพร้อมหากอังกฤษบุกมะริดขึ้นมาง่ายๆ    ถ้าหากว่าเวลดอนเล่นไม้แข็งกับมะริด    ไวท์ก็ยังมีข้อแก้ตัวกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์ได้ว่ามิได้รู้เห็นเป็นใจกับเวลเดน

เกมทั้งหมดนี้คนที่พอจะดูออกไม่มากก็น้อย คือดาเวนพอร์ทซึ่งตอนนั้นพักอยู่ในเรือของเวลเดน      ดาเวนพอร์ทจึงพยายามเตือนเวลเดนว่าอย่าไว้ใจนายท่าเขี้ยวลากดินอย่างไวท์       แต่เวลเดนนอกจากฉลาดน้อยแล้ว ก็ยังพอใจง่ายๆกับสินบนที่ไวท์แอบเสนอให้    ดาเวนพอร์ทเตือนเท่าไหร่ เวลเดนก็ทำหูทวนลมเสีย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 121  เมื่อ 10 พ.ค. 13, 23:07

   ต่อมาอีกไม่กี่วัน  เรือติดอาวุธลำที่สองชื่อเจมส์ก็มาสมทบกับเรือของเวลเดนที่เมืองมะริด     ไวท์ก็ต้อนรับขับสู้ตามเคย     ทั้งๆตอนนั้น ชาวบ้านไม่ว่าอังกฤษไม่ว่าไทยในเมืองมะริดเริ่มจะอกสั่นขวัญหายกันแล้ว   เกรงว่าวันร้ายคืนร้ายจะถูกเรืออังกฤษถล่มเมืองขึ้นมาโดยไม่มีใครป้องกันทัน
   ในเมื่อไม่ได้เอ่ยถึงชาวบ้านชาวเมืองมาก่อน    ก็อาจจะทำให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่าชาวเมืองมะริดถ้าไม่ใจเย็นเหลือขนาดก็คงงี่เง่านอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็น ปล่อยให้ฝรั่งทำต้มยำกันตามใจชอบ     ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น   เหตุการณ์ตั้งแต่เวลเดนพาเรือเข้ามาข่มขู่  แสดงอำนาจตามใจชอบ  ถูกจับตามองด้วยความปริวิตกจากคณะกรมการเมืองมะริดมาแต่แรก    แต่ยังไม่สบโอกาสจะทำอะไร เพราะท่านเจ้าท่าออกหน้าไปต้อนรับขับสู้อยู่เสียก่อน  
  คณะกรมการเมืองมะริดคือใคร ( ในภาษาอังกฤษ ใช้คำว่า Council  of   Mergui)   ในการปกครองเมืองมะริด ประกอบด้วยเจ้าเมืองซึ่งเป็นชาวอังกฤษชื่อบาร์นาบี้    ไม่ได้เอ่ยถึงเพราะพี่แกไม่ค่อยจะมีบทบาทอะไรนัก จึงถูกปลดเป็นตัวประกอบ   รองลงมาคือเจ้าท่าไวท์พระเอกผู้ร้ายของเรา  นอกจากนี้มีคนไทยอีก 5 คนเรียกว่ากรมการเมืองมะริดช่วยกันปกครอง    ใน 5 คนแบ่งเป็น 3 คนประจำการอยู่ตะนาวศรี ก็เหลือแค่ 2 คนอยู่ที่เมืองมะริด      ซึ่งแน่ละว่ามีแค่ 2 เสียง   ก็คงทำตาปริบๆ ค้านไวท์ไม่ได้อยู่ดี    ก่อนหน้านี้ พวกนี้ก็ต้องหยวนๆกันเรื่อยมาตราบใดที่ไวท์ยังไม่ได้ข่มเหงรังแกชาวเมืองโดยตรง     ไวท์ก็คงรู้ข้อนี้ดี จึงเลือกแต่ข่มเหงรังแกพ่อค้าวาณิชต่างเมืองแทน  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 122  เมื่อ 11 พ.ค. 13, 09:38

  ตอนนี้ กรมการเมืองมะริดชาวไทยมองสถานการณ์แล้วเห็นเป็นอื่นไปไม่ได้ นอกจากกัปตันเวลเดนพาเรือติดอาวุธเข้ายึดเมืองมะริด  โดยมีไวท์ เจ้าท่าเป็นผู้อ่อนน้อมยอมให้เขายึดเมืองไปอย่างง่ายดาย      กรมการเมืองที่มะริดจึงส่งข่าวไปบอกพรรคพวกอีก 3 คนตะนาวศรี   กรมการเมืองที่ตะนาวศรีรู้ข่าว  ก็รวบรวมผู้คน   ยกพลมาที่มะริดอย่างเงียบๆ    แล้วคบคิดกับกรมการเมืองมะริดเริ่มซ่องสุมผู้คน ตั้งค่ายรบในป่ารอบเมือง ที่เหลือก็ลงเรือเพื่อเข้าจู่โจมทางปากอ่าว      เตรียมปืนผาหน้าไม้   จัดเตรียมอาวุธระยะไกลด้วยการใช้ขวดบรรจุดินปืน เพื่อขว้างใส่แทนระเบิด       ทั้งหมดนี้ไวท์คงไม่มีกองสอดแนมอยู่ในมือ จึงไม่ได้เฉลียวใจ

 ไม่มีใครรู้ว่าจริงๆแล้วไวท์คิดอย่างไรกันแน่กับเวลเดน    ในหนังสือของคอลลิส  ได้แจกแจงความเห็นเอาไว้หลายหน้ากระดาษ (ขอบอกว่าหนังสือเล่มนี้น้ำท่วมทุ่งจริงๆ  ช้อนผักบุ้งขึ้นมาได้ยากมาก) ว่ายังไงไวท์ก็สัญชาตินักเลงจริง   ไม่ยอมแพ้แก่เรือรบอังกฤษให้เสียหน้าตัวเอง เพราะจะต้องกลับไปขึ้นศาลอังกฤษอยู่ดีเรื่องปล้มสะดมเรือ       แต่กรมการเมืองซึ่งไม่มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ และมองเข้าไปไม่เห็นหัวใจนายสยามขาว     ก็เห็นแต่พฤติกรรมตำตาเช่นไวท์ก็เอาแต่เลี้ยงดูปูเสื่อกัปตันไวท์กันเป็นที่รื่นเริงอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า   กัปตันเวลเดนก็เดินระรื่นจากเรือ   มารับเลี้ยงในบ้านพักท่านเจ้าท่าโดยไม่ถืออาวุธป้องกันตัวเองสักอย่าง    แสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างแน่นแฟ้น     ยังงี้ถ้าไม่ให้กรมการเมืองลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า "มันก็ไอ้พวกเดียวกัน"  แล้วจะให้คิดยังไงได้อีก

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 123  เมื่อ 11 พ.ค. 13, 12:24

  ถ้ามองย้อนไปถึงความเป็นมาของไวท์ เขาก็เช่นเดียวกับวิชเยนทร์ คือเริ่มต้นชีวิตอย่างนักแสวงโชค   มือเปล่ามาจากบ้านเกิดเมืองนอน   ตุหรัดตุเหร่มาถึงดินแดนเอเชียอันไกลโพ้นโดยไม่รู้แน่ว่าตัวเองจะได้อะไรกลับไปมากน้อยแค่ไหน     แต่โชคก็ส่งให้พวกเขามาตั้งหลักได้ในพระราชอาณาจักรเล็กๆที่กษัตริย์และพลเมืองมีนิสัยโอบอ้อมอารี    ไม่รังเกียจชาวต่างชาติที่แตกต่างทั้งหน้าตาผิวพรรณและศาสนา  ผิดกับบางอาณาจักรที่เห็นคนต่างถิ่นก็ไม่ไว้ใจเสียแล้ว     ไล่ได้เป็นไล่  ฆ่าได้เป็นฆ่า  เพื่อป้องกันภัยไว้ก่อน

  แต่ทั้งวิชเยนทร์และไวท์ผู้ได้อำนาจวาสนาทำอะไรกับคนในอาณาจักรที่ให้โอกาสเขาสร้างตัว     คำตอบก็คือเขาไม่คิดเป็นมิตรกับชาวเจ้าของดินแดนเลยแม้แต่น้อย     ที่ปักหลักอยู่ ก็เพื่อกอบโกยแสวงหาความมั่งคั่งให้ตัวเอง   ไวท์แตกต่างจากวิชเยนทร์ตรงที่ไม่ทะเยอทะยานใฝ่สูงถึงขั้นกุมอำนาจในประเทศไว้     ไวท์ขอแค่วิ่งเต้นมีเส้นสายมาเป็นนายท่าเมืองท่าริมทะเลก็พอแล้ว    เพราะรู้ว่าทรัพย์สินมาจากทะเลมากกว่าบนบก   แต่เรื่องปกครองมากกว่านั้น  ไม่เอา

  ดังนั้นชาวเมืองมะริดก็ดี ชาวเมืองอื่นๆตั้งแต่ตะนาวศรีไปจนอยุธยาก็ดี   เป็นแค่"ชาวพื้นเมือง" หรือ native ในสายตาฝรั่งอย่างไวท์     คำนี้มีความหมายแฝงความดูถูกว่าเจ้าของประเทศด้อยพัฒนาป่าเถื่อนกว่าตน      จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ปรากฏว่าวิชเยนทร์ผูกมิตรกับขุนนางไทยอื่นๆ  หากแต่หันไปผูกมิตรกับฝรั่งโดยไม่เลือกเชื้อชาติ       และก็ไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมไวท์จึงไม่เคยคิดสร้่างมิตรภาพกับกรมการเมืองมะริด    
  ผลคือเขาไม่รู้เลยว่า ดาบของชาวเมืองกำลังจ่อคอหอยเขาอยู่แล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 124  เมื่อ 11 พ.ค. 13, 22:09

   ในเมื่อฝรั่งไม่มีจิตคิดปรารถนาดีกับชาวสยาม  ก็ไม่ต้องหวังว่าชาวสยามจะมีไมตรีจิตตอบทั้งวิชเยนทร์และไวท์ ตลอดจนฝรั่งอื่นๆในเมืองมะริด      ตรงกันข้าม  การที่ไวท์กับบาร์นาบี้ข้ามหัวมาเป็นนายของชาวบ้านเจ้าของท้องถิ่นในเมืองนี้ก็เป็นสิ่งที่ชาวเมืองทั้งหลายกลืนได้ยากอยู่แล้ว   แต่จะค้านก็ไม่ได้ในเมื่อเป็นพระบรมราชโองการของสมเด็จพระนารายณ์แต่งตั้งมา    
    ทุกคนรู้ว่าการแต่งตั้งครั้งนี้มีวิชเยนทร์หนุนหลังอยู่     บัดนี้ไวท์ก็เข้าไปสมคบกับฝรั่งอังกฤษที่เอาเรือติดอาวุธมายื่นคำขาดกับสยามให้จ่ายค่าเสียหายมากมายแก่พวกเขา   ทั้งๆอะไรที่ไปทำความเสียหายตามอ้างนั้นชาวบ้านก็ไม่ได้ก่อขึ้นเลยสักนิด        ชาวเมืองมะริดจึงมองอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า ขืนปล่อยทิ้งเอาไว้ฝรั่งพวกนี้มันฮุบเมืองไปแน่นอน     มิใช่แต่มะริด  กรุงศรีอยุธยาก็คงเสียแก่ฝรั่งเป็นลำดับต่อไป    พวกเราจะต้องกลายเป็นขี้ข้าฝรั่งตาน้ำข้าวกันทั้งอาณาจักรเป็นแน่

    ระหว่างนี้ ไวท์หาได้เฉลียวใจไม่ว่าวันดีเดย์ที่ชาวบ้านจะยกพลขึ้นเล่นงานนั้นใกล้เข้ามาแล้ว   มีแต่ดาเวนพอร์ทที่เริ่มรู้สึกรำไรว่าสถานการณ์ไม่สู้ดี     ก็เตือนเวลเดนและไวท์ว่า...เรือชาวบ้านมันมาลอยลำอยู่เต็มแถวๆหน้าเรือนท่านเจ้าท่านะท่าน   ตอนดึกๆทุกคืน  มันดูผิดปกติ     ยังไงก็อย่าชะล่าใจ  ขนชาวอังกฤษมาลงเรือให้หมดซะก่อนเถอะ ปลอดภัยกว่า
    ไม่ต้องบอกก็รู้ว่า  คำเตือนของดาเวนพอร์ทก็ blowing in the wind   ลอยหายไปกับสายลมตามระเบียบ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 125  เมื่อ 11 พ.ค. 13, 22:26

   ในวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 1687(พ.ศ. 2230 ) เวลเดนไปกินอาหารค่ำที่บ้านของไวท์ตามเคย  โดยหนีบเอาทหารติดตามไปด้วยกลุ่มหนึ่ง    เหลือแต่ต้นหนเฝ้าเรืออยู่  จนสามทุ่มเศษกินเสร็จก็จะกลับ   พอเดินลงบันไดบ้านมา มีไวท์เดินมาส่งอย่างมารยาทดี   ก็สะกิดใจนิดหน่อยว่าทุกคืนมีบ่าวถือไต้จุดไฟลุกโพลงคอยส่องทางให้     เพื่อจะไปลงที่ท่าน้ำ      แต่คืนนั้นไม่รู้บ่าวหายตัวไปไหน  ไต้ก็ไม่มี     เจ้าของบ้านก็ไม่รู้จะทำยังไง   ได้แต่ส่งแขก ให้เวลเดนก็เดินดุ่มฝ่าความมืดจะไปลงเรือ

   ฉับพลันเหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเหมือนในหนังฮอลลีวู้ด   คนกลุ่มหนึ่งโผล่ออกมาจากเงามืดราวกับปีศาจ   ตรงเข้ากลุ้มรุมทำร้ายทหารเรืออังกฤษทั้งกลุ่มชนิดไม่ให้ตั้งตัว     คนหนึ่งพุ่งมาที่กัปตัน ใช้กระบองหรือไม้พลองอะไรสักอย่างหวดลงไปบนหัว  เวลเดนล้มฟุบลงไปทันที      พวกทหารติดตามก็ระส่ำระสายตั้งตัวไม่ติด  ใช้ปืนยิงส่งเดชเข้าไปในหมู่คนที่ตะลุยกันเข้ามา    ส่วนไวท์นั้นยืนตะลึงทำอะไรไม่ถูก   พอได้สติหันกลับเผ่นหนีเข้าบ้านก็เห็นคนออกันเต็มหน้าประตูบ้าน  ก็รู้ว่าคับขัน   ไม่มีทางอื่นนอกจากหนีลงเรือ    ก็โกยแน่บไปลงเรือพายอีกลำที่ริมน้ำ ให้ทหารฝรั่งในเรือพายออกไปส่งที่เรือโดโรธีซึ่งขณะนั้นจอดอยู่กลางทะเล

    กลุ่มทหารติดตามเวลเดนตะลุมบอนกับชาวเมืองที่จู่โจมเข้ามา    แบบน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ    จึงถูกฝ่ายที่มีกำลังเหนือกว่ารุมฟันแทง ฆ่าตายจนหมด   มีรอดไปได้คนเดียวคือเวลเดนซึ่งล้มสลบไป   ใครๆนึกว่าตายแล้ว    พอฟื้นขึ้นมาก็ค่อยๆคลานหลบใช้ความมืดกำบังออกไปจนถึงหลังบ้าน    แล้วเลาะริมฝั่งลุยโคลนไปจนพบกับเรือพายของไวท์ซึ่งถูกน้ำพัดลอยไปตามริมฝั่ง     คนบนเรือเห็นเงาตะคุ่มโซเซมาก็พายเรือมาใกล้   แล้วฉุดเวลเดนขึ้นเรือไปได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 126  เมื่อ 12 พ.ค. 13, 12:35

    ทางชาวเมืองคงไม่ได้วางกำลังสะกัดจับทางเรือเอาไว้     เรือเล็กของไวท์จึงเล็ดรอดไปจนถึงเรือเรสโซลูชั่นที่จอดอยู่บนสันดอนปากอ่าว     ไวท์พาเวลเดนขึ้นเรือไป   ตัวเองก็รีบส่งคนไปเรือเคอร์ตานาของเวลเดนที่จอดทอดสมอห่างออกไป  บอกว่าเกิดเหตุร้ายขึ้นแล้วในเมืองมะริด   ให้หมอจากเรือเคอร์ตานารีบมารักษากัปตันด่วน     แล้วถอนสมอเรือเรสโซลูชั่นออกไปพ้นสันดอน  ไปจอดเคียงเรือเคอร์ตาน่า เพื่อให้พ้นรัศมีการยินจากเมือง
   คืนนั้นเต็มไปด้วยความโกลาหลของพวกอังกฤษที่ไม่ทันตั้งตัว   เรือเคอร์ตานาเองก็ถูกยิงจากป้อมปืนใหญ่บนฝั่งในเวลา 3 ทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาลงมือของชาวเมือง แต่กระสุนไม่ถูกเรือ    บ้านของไวท์เริ่มถูกไฟเผา  เช่นเดียวกับเรือเจมส์ถูกยิงจนชำรุดเสียหาย  ลูกเรือตายไปหลายคน แต่กัปตันหนีรอดมาสมทบกับไวท์ได้    
   ฝรั่งอังกฤษทุกคนลงความเห็นว่าสภาพในตอนนั้นเสียเปรียบ    ไม่พร้อมจะต่อสู้กับชาวเมืองมะริด   ไหนกัปตันจะบาดเจ็บ  ไหนเรือเจมส์จะเสร็จไปแล้วลำหนึ่ง     เพราะฉะนั้นก็ต้องล่าถอย      เรือเรสโซลูชั่นและเคอร์ตาน่าจึงกางใบออกนอกอ่าวไปไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพื่อปลอดภัยไว้ก่อน
   ปัญหาที่ทุกคนยังแก้ไม่ตกก็คือ   ในเมื่อหนีรอดกันออกมาได้ไม่กี่คนแค่นี้   คนอังกฤษที่เหลือตกค้างอยู่ในมะริด จะมีชะตากรรมอย่างไรกับชาวเมืองที่บ้าคลั่งบุกเข้าฆ่าฟันฝรั่งอย่างไม่ยั้ง       ไวท์เป็นห่วงคนอังกฤษในเมืองมาก  แต่มิได้คิดเลยว่าสาเหตุที่ชาวเมืองถึงจุดระเบิดนี้เกิดมาจากใครและเรื่องอะไร
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 127  เมื่อ 12 พ.ค. 13, 13:33

   ไวท์ออกความเห็นว่าจะส่งเรือเล็กแอบเข้าไปสอดแนมดูข่าวคราวในเมือง  เพราะคิดว่าคนอังกฤษในเมืองอาจจะถอยไปรวมกันที่บ้านของไวท์ซึ่งแข็งแรงมั่นคง พอจะต้านทานชาวเมืองได้สักระยะ      แต่ว่าบรรดาพวกลูกเรือและกัปตันที่มาสมทบก็ชี้แจงว่า บ้านของไวท์ถูกไฟเผาวอดวายไปแล้ว   คงไม่มีคนอังกฤษเหลืออยู่แถวนั้นอีก     ระหว่างนั้นศพฝรั่งก็เริ่มลอยมาติดเรือ ทำให้ความคิดจะกลับไปสอดแนมต้องล้มเลิกไป
   วันต่อมา ไวท์ให้แขกในเรือถือสารเข้าไปในเมือง เพื่อยอมแพ้และประนีประนอมด้วยการยอมเสียค่าไถ่ชีวิตคนอังกฤษในเมืองตามแต่อีกฝ่ายจะเรียกร้องมา     ไม่มีหลักฐานว่าชาวเมืองตอบไวท์หรือไม่ อย่างไร  แต่มีคำบอกเล่าจากผู้ถือสารซึ่งเข้าไปในเมือง กลับมารายงานว่าผู้ชายอังกฤษที่มีอยู่ในเมืองราว 60 คนถูกสังหารเรียบวุธ    บาร์นาบี้เจ้าเมืองเองก็ถูกฆ่าตายในบ้านพัก   มือขวาของไวท์ที่ชื่อเลสลี่ก็ถูกฆ่าตาย  แต่ชาวเมืองเว้นชีวิตพวกผู้หญิงและเด็กเอาไว้
   ก็มองได้อย่างหนึ่งว่า กรรมที่ไวท์ก่อให้มะริดมาแต่แรกด้วยความละโมบตัวเดียวแท้ๆ  กลับไปตกหนักอยู่กับชาวอังกฤษที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่อะไร   ต้องมาสังเวยชีวิตให้กับความเจ้าเล่ห์เจ้ากลของนายท่าผู้นี้
   ส่วนไวท์เองก็ใช่ว่ารอดได้แล้วจะถือว่าแคล้วคลาด   ดวงที่รุ่งมาตั้งแต่ออกจากอังกฤษมาทำมาหากินอยู่ในสยาม ก็เริ่มตก     เพราะพวกกลาสีชาวเรือสงสัยว่าไวท์อาจมีส่วนรู้เห็นกับชาวเมือง ก็อยากให้คุมขังไวท์ไว้ในฐานะนักโทษ  และยังมีเรื่องคดีกับบริษัทอีสต์อินเดียที่เป็นชนักปักหลัง ถอนไม่หลุดอีกด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 128  เมื่อ 12 พ.ค. 13, 16:57

  เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ก็นึกถึงภรรยาของไวท์ขึ้นมา ว่าคุณนายแมรี่ ไวท์ที่พบกันในเรือโดยสารเที่ยวแรก   หายไปไหนก็ไม่รู้    ไม่มีการเอ่ยถึงในเหตุร้ายครั้งนี้เลย      ไวท์เองก็ไม่มีตอนไหนแสดงว่าห่วงลูกเมีย    เป็นไปได้ว่าภรรยาของไวท์อาจจะกลับไปอังกฤษนานแล้วก่อนหน้านี้ หรือไม่ก็ตายตั้งแต่ยังสาวด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ    ซึ่งเป็นเหตุที่เกิดได้บ่อยมากกับหญิงผิวขาวที่มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองร้อน     ไวท์จึงอยู่ในมะริดโดยไม่มีครอบครัว
   เห็นได้อีกอย่างว่า ทายาทของไวท์คือพี่ชาย จอร์ช ไวท์ ทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกของไวท์     จึงเป็นได้ว่าไวท์ไม่มีลูกเมีย   หรือถ้าหากว่ามีภรรยาซึ่งเดินทางกลับไปอยู่อังกฤษ และมีลูก   ก็คงมีแต่ลูกสาว  ไม่มีลูกชายเป็นทายาทสืบมรดกทรัพย์สินที่ดินต่อไป  เหลือแต่พี่ชายซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดที่สุดเป็นทายาท ตามหลักการที่เรียกว่า primogeniture  ซึ่งให้ฝ่ายชายเท่านั้นรับมรดกที่ดินบ้านช่องห้องหอของผู้ตายได้
    เรื่องนี้ตั้งข้อสังเกตเฉยๆ จนกว่าใครจะกรุณาหาหลักฐานมาบอกกล่าวกันได้ว่าคุณนายไวท์หายไปไหน     ตอนนี้ขอเชิญชมฉากต่อไปก่อนนะคะ

   กัปตันเวลเดนผู้เป็นพันธมิตรของไวท์มาแต่แรก เพราะประทับใจกับการต้อนรับขับสู้ และเงินใต้โต๊ะที่ไวท์อัดฉีดยัดเข้ากระเป๋าให้ก่อนหน้านี้   โดดออกมาปกป้องไวท์   คงจะบวกด้วยสำนึกบุญคุณที่รอดตายมาได้เพราะไวท์รับขึ้นเรือด้วยอีกอย่าง      เวลเดนยืนกรานว่าไวท์ไม่ได้เข้าร่วมกับชาวเมืองต่อต้านพวกอังกฤษแน่นอน   ตัวไวท์เองก็แทบเอาชีวิตไม่รอดเช่นกัน   
   เมื่อกัปตันเข้าข้างไวท์ ลูกเรือก็จำต้องราข้อ  ไวท์ก็อยู่ในเรือได้อย่างผู้โดยสารแทนที่จะเป็นนักโทษ   นับว่านรกยังอุ้มชูนายสยามขาวต่อไปทั้งๆก็เกิดเรื่องขนาดนี้แล้ว
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 129  เมื่อ 12 พ.ค. 13, 17:29

    ตามจุดมุ่งหมายเดิม   กัปตันเวลเดนจะเดินทางไปเมืองมัทราสในอินเดีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทอีสต์อินเดีย    แล้วส่งไวท์ขึ้นฝั่งที่นั่น    แต่ไวท์ก็ชาติเสือไว้ลาย  รู้ดีว่าบริษัทอีสต์อินเดียเตรียมเปิดประตูกรงขังเสือเอาไว้ที่นั่นแล้ว    เหยียบเมืองมัทราสเมื่อไร ความผิดที่เคยปล้นสะดมเรือของบริษัท ทั้งด้วยตัวเองและด้วยกัปตันโค้ทส์ผู้เป็นลูกน้องก็ต้องฉาวโฉ่ขึ้นมา     ยังไงบริษัทก็ไม่ปล่อยมือแน่นอน    หลักฐานปลอมมั่งจริงมั่งที่เตรียมไว้ก็ถูกเผาวอดวายไปพร้อมบ้านพักของนายท่า  เหลือแต่ตัวรอดมาได้     เรื่องอะไรไวท์จะเดินเข้ากรงของบริษัทง่ายๆ
    เวลเดนเป็นผู้อยู่ในอุ้งมือไวท์มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว      ไวท์จึงเกลี้ยกล่อมให้เรือเรสโซลูชั่นแวะที่เมืองท่าเล็กๆชื่อเมืองปูลิกัต (Pulicat) ใกล้กับมัทราสนิดเดียว    บอกว่าขอแวะขึ้นฝั่งไปซื้อข้าวของจำเป็นประเดี๋ยวประด๋าวแล้วก็จะตามไป  พร้อมกับฝากจดหมายไปถึงประธานบริษัทอีสต์อินเดียให้เวลเดนนำไปให้อีกด้วย    เวลเดนก็ว่านอนสอนง่าย ไม่ว่าไวท์พูดอะไรเชื่อหมด   ก็ปล่อยไวท์ลงที่เมืองนี้  แล้วพาเรือเดินทางต่อไปที่มัทราส
   ในหนังสือของคอลลิสบอกว่าพอไวท์ลงที่เมืองปูลิกัตได้ก็รีบจำหน่ายข้าวของที่ไม่จำเป็นต้องเอาไปอังกฤษ เปลี่ยนเป็นเงินสดพกง่าย      ฟังๆแล้วดูเหมือนไวท์ก็ยังมีสมบัติติดตัวอยู่มิใช่น้อย   ไม่สมกับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไวท์รอดตายมาจากหน้าบ้านตัวเอง  ซึ่งไม่น่าจะมีอะไรเหลือนอกจากเสื้อกางเกงที่สวม    เมื่อหนีลงเรือออกปากอ่าวไปแล้วจะย้อนกลับไปขนสมบัติที่บ้านก็คงเอาชีวิตไปทิ้งแน่นอน   ถ้างั้นไวท์เอาเงินที่ไหนมาอัดฉีดเวลเดนให้ปล่อยตัวลงง่ายๆ      เราต้องมาปะติดปะต่อกันเอง
   การที่เวลเดนเกิดเชื่อไวท์อย่างปัญญาอ่อนขนาดนี้ ก็แน่ๆว่าจะต้องมีเงินทองค่อนข้างมากเป็นตัวช่วยฉุดไอคิวให้ต่ำถึงขั้น       ถ้าไวท์ทำได้จริง   ก็มีทางเดียวคือสินค้าในเรือเรสโซลูชั่นที่ใช้โดยสารมานี่แหละ เป็นสินค้าเดิมของไวท์ที่แอบแฝงเข้าไปในเนื้อที่สินค้าของพระคลังหลวง   และไวท์ก็คงประเคนให้นายเรือไปเกือบหมด    เหลือติดตัวไว้พอขายเป็นค่าโดยสารกลับอังกฤษ     เวลเดนจึงยอมโดยดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 130  เมื่อ 12 พ.ค. 13, 17:50

  พอได้เงินสดมา   ไวท์ก็ไม่รอช้า ปร๋อออกจากเมืองปูลิกัตลงใต้ไปเมืองพอนดิเชอรี่ซึ่งเป็นเมืองที่ตั้งคลังสินค้าของฝรั่งเศส   จากนั้นก็ซื้อตั๋วโดยสารเดินทางจากพอนดิเชอรี่ไปฝรั่งเศส   เมื่อถึงฝรั่งเศสเมื่อไรจะเดินทางต่อไปอังกฤษก็ง่ายแล้วทีนี้     ไวท์ก็คงนอนยิ้มไปในเรือโดยสาร ที่รอดตายจากมะริดยังไม่พอ   ยังรอดคุกอิสต์อินเดีย  นับคืนวันเวลากลับไปเสวยสุขที่บ้านเกิด     ส่วนเรื่องคดีความ เมื่อถึงอังกฤษแล้วมีสตางค์เสียอย่างก็จ้างทนายความเก่งๆ เอาไว้สู้คดีได้  ไม่ต้องวอรี่

  ส่วนทางกัปตันเวลเดนก็เดินทางต่อไปยังมัทราส เข้าไปรายงานตัวกับประธานบริษัทอีสต์อินเดียที่สำนักงานใหญ่       แต่ประธานบริษัทไม่ได้กินสินบาทคาดสินบนกับเขาด้วย  ก็เดือดดาลว๊ากเวลเดนเป็นการใหญ่ที่ปล่อยนักโทษหลุดมือไปง่ายๆ     อุตส่าห์ส่งไปยึดมะริดเพื่อเรียกค่าเสียหายจากสยาม    ผลสุดท้ายถูกชาวเมืองไล่เปิดแน่บกลับมา  พร้อมด้วยเรือเรสโซลูชั่นซึ่งก็ไม่ใช่เรือสินค้าเอกชน   ดันเป็นเรือของหลวงของสยามเสียอีก     ที่สำคัญคือปล่อยผู้ต้องหาสำคัญอย่างไวท์หลุดมือไปง่ายๆ     ประธานบริษัทก็ยื่นคำขาดว่า จะต้องเอาเวลเดนขึ้นศาลของทหารเรือเพื่อลงโทษต่อไป  
  
   เวลเดนเองรู้ตัวดีว่าทำแบบนี้คงไม่พ้นผิด    ความผิดอื่นๆ สามารถแก้ตัวได้ว่าเป็นเรื่องสุดวิสัย    ที่แก้ตัวไม่ได้มีเรื่องเดียวคือทำไวท์หลุดมือไป  ความผิดแค่นี้ก็อาจจะแค่ถูกไล่ออกจากอาชีพทหารเรือ     ตราบใดที่ยังมีเงินของไวท์รองรังอยู่ เวลเดนก็ไม่วิตกนัก    
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 131  เมื่อ 14 พ.ค. 13, 21:05

      ย้อนกลับมาทางเมืองมะริด   เมื่อเรือเรสโซลูชั่่นพาไวท์และเวลเดนหนีตายออกจากเมืองไปได้แล้ว    เหตุร้ายในเมืองก็เริ่มสงบลงเพราะทางฝ่ายผู้ชนะจัดการประหัตประหารฝรั่งเสียเหี้ยนเตียน    กรมการเมืองฉลองชัยชนะหมาดๆได้อึดใจเดียวก็นึกขึ้นได้ว่า สิ่งที่พวกตัวทำลงไปนี้ทางผู้หลักผู้ใหญ่ในเมืองหลวงหาได้รู้เรื่องด้วยไม่     เป็นการกระทำโดยพลการ       มิหนำซ้ำไวท์ก็มีเส้นขนาดใหญ่อยู่ในกรุงศรีอยุธยาคือเจ้าพระยาวิชเยนทร์   ซึ่งยังมีอำนาจเต็ม สามารถสั่งประหารใครโดยอ้างพระราชโองการขึ้นมาเมื่อใดก็ได้
      ความดีอกดีใจของกรมการเมืองก็เปลี่ยนเป็นฝ่อลงกว่าเก่า   หันหน้าเข้าปรึกษากัน  ลงมติกันว่ายังไงเรื่องนี้ก็ปิดบังไม่อยู่   ก็ต้องทำเรื่องแจ้งไปที่เมืองหลวงตามระเบียบ     แต่เพื่อความปลอดภัยของตนเอง ก็ต้องเขียนเสียใหม่ให้ผู้ชนะเป็นฝ่ายถูกต้อง  คือแต่งเรื่องว่าไวท์เป็นฝ่ายก่อเรื่องขึ้นก่อน   เพราะหันไปเข้าข้างนายเรืออังกฤษที่นำเรือเข้ามายึดเมือง   จนในที่สุด ใช้ปืนระดมยิงกรมการเมืองก่อน  เพื่อขู่มให้ยอมแพ้     เผอิญว่าไปเจอกรมการเมืองใจเด็ดยอมสู้ตายดีกว่ายอมแพ้ ก็เลยฮึดสู้สุดชีวิต     ผลปรากฏว่าชาวอังกฤษเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เสียเอง    จึงถูกฆ่าตายไปหลายสิบคน  ที่เหลือก็หนีรอดออกทะเลไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 132  เมื่อ 15 พ.ค. 13, 20:48

     ใบบอกของกรมการเมืองมะริด  ถือเป็นหนังสือราชการที่มีอย่างเป็นทางการไปถึงรัฐบาลสยาม คือสมเด็จพระนารายณ์และมหาเสนาบดีวิชเยนทร์     ดังนั้นตามระเบียบราชการ รัฐบาลก็ต้องฟังรายงานนี้เป็นหลัก   ว่าสาเหตุของเหตุร้ายเกิดจากฝรั่ง ไม่ใช่ไทย   ใครจะไปสอบสาวราวเรื่องของจริงได้  เพราะคนที่จะให้การแบบตรงกันข้ามได้ก็ถูกฆ่าตายไปหมดแล้ว

     ในตอนนั้นอำนาจของอังกฤษในสยามน่าจะสูญสิ้นไปพร้อมกับชีวิตชาวอังกฤษในมะริด    วิชเยนทร์มองเห็นข้อนี้   แล้วก็รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่บริษัทอีสต์อินเดียคงไม่นิ่งนอนใจอยู่เฉยๆ   แต่ต้องเกิดศึกขึ้นมาแน่นอน   อย่างน้อยก็ต้องส่งเรือรบมาเรียกร้องค่าเสียหาย    วิชเยนทร์ก็เลยหันไปเอาใจฝรั่งเศส เพื่อหวังจะขอกำลังมาช่วยเหลือหากรบกับอังกฤษ      อย่างแรกคือส่งผู้ว่าฯ คนใหม่มาว่าราชการในมะริด เป็นหนุ่มชาวฝรั่งเศสอายุแค่ 20 ปี     
     เมื่อวิชเยนทร์เตรียมรับมือถึงขนาดนี้   ประวัติศาสตร์จึงบันทึกว่าในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์   สยามประกาศศึกกับบริษัทอีสต์อินเดียอย่างเป็นทางการ      แต่มิได้ประกาศศึกกับรัฐบลอังกฤษ
     
    ความโกลาหลเหล่านี้ไวท์ไม่ได้รู้เรื่องด้วยเลย   เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่เจ้าตัวลอยนวลออกจากอินเดีย  เดินทางไปยุโรปเตรียมไปเสวยสุขที่บ้านแล้ว
    ไวท์คงไม่รู้เช่นกันว่า การเมืองในสยามปั่นป่วนถึงขีดสุดเมื่อสมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนัก   ในตอนนั้นมะริดที่เพิ่งสงบลงไปหยกๆ  เจอฝรั่งเศสเข้ามาเป็นนายอีกหลังจากอังกฤษเพิ่งถูกกวาดล้าง    ข้าราชการและชาวเมืองก็ทนไม่ไหวที่จะให้ฝรั่งมาเป็นนายอีก    จึงพร้อมใจกันไปเข้าข้างขุนนางสำคัญชื่อพระเพทราชา  ผู้มีนโยบายแอนตี้ฝรั่ง และเกลียดชังวิชเยนทร์เข้าไส้ ด้วยเชื่อว่าฝรั่งตาน้ำข้าวนี้จะพาอาณาจักรศรีอยุธยาไปเป็นเมืองขึ้นของชาวยุโรป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 133  เมื่อ 15 พ.ค. 13, 21:17

      พงศาวดารไทยในช่วงนี้คงเป็นที่รู้ๆกันแล้ว  ว่าในที่สุดพระเพทราชาก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์บ้านพลูหลวง    เจ้าพระยาวิชเยนทร์ถูกประหาร และฝรั่งเศสก็ถูกขับออกจากอาณาจักรไปตามระเบียบ      ศึกระหว่างอิสต์อินเดียกับสยามก็เจ๊ากันไป    ซึ่งจะไม่ขอเล่าในกระทู้นี้  เพราะจะออกนอกเรื่องของนายสยามขาวไปไกลค่ะ

      กลับมาที่นายสยามขาว ซึ่งหนังเหนียวและดวงดีอย่างเหลือเชื่อ      เขาเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนโดยสวัสดิภาพ ใช้เวลาเดินทางราว 8 เดือน    ไปถึง ไวท์ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ  หรือลงนั่งกินนอนกินบนกองเงินกองทองอยู่เฉยๆ    เพราะยังมีห่วงผูกคออีกห่วงใหญ่เหลืออยู่      
      ไวท์ขอให้พี่ชายหาทนายความมาปรึกษาเรื่องคดีกับบริษัทอีสต์อินเดีย  เพื่อเตรียมรับมือให้พร้อมในฐานะจำเลย     ทนายความบอกให้ไวท์ใจชื้นขึ้นมากว่า   ไม่ต้องห่วง   สถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษเป็นประโยชน์แก่ทางฝ่ายไวท์     เพราะบัดนี้ อังกฤษเปลี่ยนแผ่นดินใหม่แล้ว    พระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองวิค(Whig)  ซึ่งมีนโยบายต่อต้านการผูกขาด     บริษัทอีสต์อินเดียซึ่งได้สัมปทานผูกขาดจากพระเจ้าเจมส์กษัตริย์องค์เก่า มีแววว่าจะดวงตกกันในรัชสมัยใหม่นี้ละ      เพราะฉะนั้น บริษัทคงต้องดูทิศทางลมมากหน่อย   ไม่กล้าทำกร่าง เอาคดีอะไรๆขึ้นฟ้องได้ตามใจชอบ   โดยเฉพาะคดีอย่างไวท์ซึ่งทนายความดูแล้ว  เห็นว่าไวท์หาหลักฐานสู้ไว้เต็มเพียบ จึงเห็นว่าย.ห. อย่าห่วง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 134  เมื่อ 16 พ.ค. 13, 11:31

   ถ้าหากว่าเป็นคนอื่น  ฟังทนายความตอบอย่างนี้ก็คงโล่งใจยิ้มออก       จากนั้น ตราบใดที่บริษัทอีสต์อินเดียยังเงียบอยู่  ไม่ฟ้องร้องขึ้นมา    ก็พอจะถือได้ว่าฝ่ายนั้นไม่เอาเรื่อง นับว่าเจ๊ากันไป    ถึงเวลาใช้ชีวิตสบายๆอย่างเศรษฐีเสียให้คุ้มเหนื่อย หลังจากผจญภัยแทบจะเอาชีวิตไม่รอดมาหลายครั้ง

   แต่ไวท์ก็ประหลาดเอาการ  ไม่ยักเหมือนชาวบ้านทั่วไป     ในหนังสือไม่ได้บอกว่าความคิดนี้ใครริเริ่มขึ้นก่อน ทนายความหัวหมอหรือว่านายลูกความสยามขาว   แต่ผลคือสองคนนี้เห็นพ้องต้องกันว่า แทนที่จะอยู่เฉยๆ ก็น่าจะทำคดีให้เป็นตัวอย่างสักคดีหนึ่ง ให้แสบสันต์แก่บริษัทอีสต์อินเดีย  เอาให้ลือลั่นไปทั่วอังกฤษ ว่าเอกชนนายหนึ่งกล้าฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทบิ๊กระดับอินเตอร์บริษัทนี้อย่างไม่มีใครกล้าทำมาก่อน    เป็นการล้มยักษ์ใหญ่ทางการค้า ประเดิมนโยบายต่อต้านการผูกขาด ซึ่งพรรควิค  พรรคการเมืองเสียงข้างมากในอังกฤษกำลังชูป้ายส่งเสริมอยู่    ถ้าทำได้สำเร็จ  นอกจากจะได้เงินทองไหลมาเทมาจากการฟ้องร้องแล้ว   เผลอๆไวท์จะได้เป็นฮีโร่ คนรู้จักกันทั่วประเทศอีกต่างหาก ในฐานะแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์
     
   นายสยามขาวแกคงลืมสนิทว่า  บรรดาคนอังกฤษที่ตายไปตั้ง 60 คนในเมืองมะริด  เกิดจากต้นเหตุคือใคร      จนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครเหลียวแลลูกเมียพวกเขาที่ถูกทิ้งอยู่ในเมืองนั้นเลย
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 7 8 [9] 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.122 วินาที กับ 19 คำสั่ง