เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 11
  พิมพ์  
อ่าน: 38635 แซมมวล ไวท์ : การเมืองเรื่องฝรั่ง สมัยสมเด็จพระนารายณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 04 พ.ค. 13, 12:35

คุณฟอลคอน นี่เรื่องเยอะมาก ๆ นะขอรับ  ยิ้มเท่ห์

ตั้งใจจะเล่าเฉพาะเรื่องวิชเยนทร์ที่เกี่ยวกับไวท์  ไม่งั้นจะกลายเป็นมหากาพย์ข้ามปีเล่าไม่จบ
ถ้าคุณหนุ่มสยามหรือท่านอื่นๆจะแยกกระทู้เป็นกระทู้วิชเยนทร์  หรือจะเล่าแทรกในกระทู้นี้  ก็ยินดีทั้งนั้นค่ะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 04 พ.ค. 13, 12:37

     ความเขี้ยวลากดินของเจ้าพระยาวิชเยนทร์  เห็นได้จากจดหมายตอบที่ปฏิเสธไม่รับรู้โดยสิ้นเชิงเรื่องทำท่าเย็นชากับไวท์   กลับย้อนว่า  เขาก็ปฏิบัติกับไวท์เหมือนปฏิบัติต่อคนอื่นๆ  นั่นแหละ    ไม่มีใครหน้าไหนมายุแยงตะแคงรั่ว  ไวท์พูดอย่างนี้ก็เหมือนกล่าวหาว่าเขาเป็นคนหูเบาเชื่อคำใส่ร้ายเอาง่ายๆ   วิชเยนทร์ยังลำเลิกอย่างเจ็บแสบด้วยว่า เขาเองเป็นคนตั้งไวท์เอาไว้ในตำแหน่งสูงด้วยความไว้วางใจ     เขาไม่เห็นไวท์มีศัตรูที่ไหนนอกจากตัวไวท์เองน่ะแหละ  ที่รู้ก็เพราะไวท์แสดงออกมาให้เห็นเอง

     เมื่อเริ่มต้นด้วยหมัดแย็บขนาดเบาๆแล้ว     ย่อหน้าต่อๆมา วิชเยนทร์ก็เริ่มรัวหมัดหนักขึ้นเป็นลำดับ    เขาเอ่ยถึงอาการป่วยไข้ของไวท์เหมือนจะปลอบโยน แล้วก็ตวัดปลายแส้ลงไปว่า ด้วยความห่วงใยจึงขอเตือนว่าอย่าใจร้อน  อย่าเอาแต่ใจ   ขอให้ใจเย็นๆ กระทำทุกอย่างด้วยสติจะดีที่สุด

    ส่วนเรื่องที่ไวท์พล่ามถึงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนารายณ์  วิชเยนทร์ฟันกลางแสกหน้าว่า คนที่อ้างแบบนี้มีแยะ  อ้างว่าทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติ แต่ที่แท้ก็ทำเพื่อกระเป๋าตัวเอง    ฉันเห็นมานักต่อนักแล้ว   แต่โปรดเข้าใจว่าที่พูดนี้พูดทั่วๆไป ไม่ได้เหมาว่าท่านเป็นตัวพยาธิสูบเลือดประเทศชาติแต่อย่างใด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 04 พ.ค. 13, 12:39

    ส่วนเรื่องไต่สวนนั้น ถ้าไวท์เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตัวเอง  หายจากไข้เมื่อใดก็ได้มีโอกาสพิสูจน์ตัวเองแน่นอน   ตอนนี้ที่ยังไม่มีความคืบหน้าก็เพราะยังรอให้ไวท์หายป่วยไข้อยู่เท่านั้น    และขอเตือนว่าเมื่อถึงเวลาให้การแล้ว ก็ให้การไปอย่างชัดเจนอย่าแก้ตัว   อย่าใช้อารมณ์ เพราะไม่มีประโยชน์  มีแต่จะนำความหายนะมาสู่ตัวเอง
    ตอนท้าย วิชเยนทร์ก็หยอดว่า  ถ้าไต่สวนแล้วปรากฏว่าท่านไม่มีความผิด ฉันก็จะยินดีด้วยมาก       เพราะฉันก็ไม่อยากจะเขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า กับบุคคลที่ฉันอุ้มชูทะนุบำรุงขึ้นมาเอง      แต่ในทางตรงข้าม  หากว่าสิ่งที่ฉันก่อสร้างมากับมือเริ่มทรุดเอียง ทำท่าจะนำความวิบัติมาสู่เจ้าของ   ก็ต้องชิงรื้อลงไปเสียก่อนที่มันจะพังทลายลงมาทับเจ้าของบ้าน  ทั้งหมดนี้ขอให้เข้าใจว่าเป็นนัยเปรียบเทียบตามที่ท่านได้เป็นผู้ใช้ขึ้นก่อน  แล้วก็ลงท้ายตามมารยาทว่าขอให้ไวท์หายป่วยในเร็ววัน

   ไวท์อ่านจดหมายของเพื่อนซี้จบแล้วก็ลงนอนกายหน้าผาก   เพราะข้อความในนั้นชัดเจนว่าไวท์ถูกเรียกมาเข้าเฝ้าฯ เพื่อจะถูกไต่สวนความผิดแน่นอนแล้ว       แต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังใจชื้นขึ้นนิดหนึ่งว่าจดหมายของวิชเยนทร์ไม่ถึงกับประกาศตัดหางปล่อยวัดเสียทีเดียว    ก็คงจะหาทางช่วย ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้       แต่วิชเยนทร์ก็ไม่ลืมเตือนให้ไวท์ตระหนักว่า เขาเป็นถึงเจ้าพระยาผู้มีเกียรติยศสูง   ยังไงก็ไม่ลดตัวลงมาล่มจมไปกับไวท์ด้วย     มองในแง่นี้ก็แปลว่าไวท์จะต้องดิ้นรนช่วยตัวเองเพื่อให้โทษหนักเป็นเบาลงเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 04 พ.ค. 13, 20:23

     ในที่สุด วันที่ไวท์ถูกไต่สวนก็มาถึง    คณะลูกขุนล้วนเป็นชาวสยาม    วิชเยนทร์จึงฉวยโอกาสนี้พลิกแพลงให้เป็นผลดีแก่ไวท์ เพราะเอกสารที่ใช้ประกอบล้วนเป็นภาษาอังกฤษ     ในเมื่อวิชเยนทร์เป็นคนรู้ภาษาต่างประเทศจึงสามารถเลือกเฉพาะเอกสารที่เป็นประโยชน์แก่คำให้การของไวท์    เอกสารไหนเอาขึ้นมาถามแล้วไวท์จะเสียเปรียบ วิชเยนทร์ก็ไม่เลือกมาถาม     ผลก็เลยออกมาตามที่คาดไว้ คือคณะลูกขุนตัดสินกันว่า ไวท์ไม่มีความผิด
     เมื่อเสร็จสิ้นการไต่สวน    ไวท์ตั้งใจจะขอบอกขอบใจวิชเยนทร์ให้ถึงขนาดที่ช่วยเหลือตนไว้ได้  แต่วิชเยนทร์ก็สะกัดเสียด้วยความจริง   โดยบอกว่า ที่ทำไปทั้งหมดนี้เพื่อตอบแทนบุญคุณของจอร์ช พี่ชายของไวท์ที่เคยช่วยเกื้อหนุนมาก่อน      จากนั้นก็หยิบคำสั่งของไวท์ที่มีไปถึงกัปตันโค้ทส์ ที่สั่งให้เมินเฉยไม่ทำตามสารตราของหลวงที่เรียกให้เอาเรือกลับ       แสดงว่าโค้ทส์เองก็เผาหัวหน้าไว้เต็มที่ เพื่อเอาตัวรอด
    วิชเยนทร์สำทับว่า  จะช่วยเหลือไวท์ครั้งนี้เพียงครั้งเดียว    ถ้าไปก่อเรื่องขึ้นมาอีกก็อย่าหวังเลยว่าจะรอดแบบครั้งนี้อีก     นอกจากนี้บัญชีเรื่องเงินๆทองๆของพระคลังสินค้า ที่ไวท์ทำส่งมาให้นั้น  วิชเยนทร์ปล่อยให้ผ่านก็จริง แต่ก็บอกว่า ถ้ามีการตรวจสอบขึ้นมาเมื่อไหร่ละก็     คงจะเจอขยะซุกอยู่ใต้พรมอีกกองโต     สรุปว่าเพื่อนซี้ของไวท์ช่วยเพื่อนไว้ได้ก็จริง แต่ก็หวดแส้เต็มเหนี่ยวให้รู้ว่า...ถ้าทำอีกก็ไม่เลี้ยงละนะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 04 พ.ค. 13, 20:33

   เราคงจะจำได้ว่ากัปตันโค้ทส์จอมกร่างถูกเรียกตัวมาไต่สวนก่อนหน้าไวท์      เอกสารต่างๆที่จะเอาผิดไวท์ วิชเยนทร์ก็กลบเกลื่อนให้ร้ายกลายเป็นดี     ดังนั้นเพื่อไม่ให้ไวท์ต้องตกที่นั่งทำผิด   โค้ทส์ก็ต้องไม่ผิดเหมือนกัน    วิชเยนทร์ก็เลยช่วยให้โค้ทส์กลายเป็นผู้ประกอบวีรกรรม  นำแสนยานุภาพ (เรือ 1 ลำ  ยิ้มเท่ห์)ของสยามไปแสดงให้ต่างชาติประจักษ์  เหยียบจมูกเมืองมาดาโพลัมได้ชัยชนะกลับมา     แทนที่จะเจอคุกหรืออย่างเบาก็ถูกปลด  โค้ทส์ก็เลยได้รับปูนบำเหน็จอย่างงาม เลื่อนเป็นนายพลเรือแถมยังมีเครื่องยศ   ในหนังสือบอกว่าโค้ทส์ได้แต่กล่อง   ไม่ได้เงิน เพราะเงินทองของมีค่าที่ยึดมาได้ก็ต้องส่งส่วยให้ไวท์    แต่ข้าพเจ้าคิดว่าโค้ทส์คงไม่โง่ถึงกับยอมจนกรอบ   ไหนๆอุตส่าห์ปิดเมืองปล้นมาทั้งที เรื่องอะไรจะไปให้คนอื่น    ยังไงก็ต้องสำรองเอาไว้ให้ตัวเองอยู่แล้ว
     สรุปว่าด้วยความเจ้าเล่ห์ของวิชเยนทร์   ผู้ร้ายสองคนก็กลายเป็นพระเอก  ได้ดิบได้ดีไป      ส่วนผลเสียก็ตกอยู่กับราชการคือถูกฉ้อราษฎร์บังหลวงไปเต็มๆ      ทั้งนี้สมเด็จพระนารายณ์มิได้ทรงรู้อีโหน่อีเหน่ด้วยเลย      เมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์นำความขึ้นกราบทูลว่าตั้งลูกขุนไต่สวนแล้ว   ลงมติว่าไวท์ไม่มีความผิด      พระองค์ก็ทรงรับผลสรุปมาตามนั้น มิได้ระแวงสงสัยอันใด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 04 พ.ค. 13, 21:10

   เมื่อไวท์พ้นผิดไปแล้ว   วิชเยนทร์คงเห็นว่าเอาไว้ที่มะริดเห็นทีจะก่อเรื่องขึ้นมาอีกเป็นแน่   คราวหน้าก็คงช่วยเหลือไม่ไหวแล้ว  ดีไม่ดีไฟจะลามมาถึงตัวลูกพี่คือตัววิชเยนทร์เองด้วย      จึงพูดดีกับไวท์ เกลี้ยกล่อมชวนให้เข้ามารับราชการเสียในเมืองหลวง ทำหน้าที่ผู้ช่วยของวิชเยนทร์เอง โดยมีเบี้ยหวัดจูงใจอย่างงาม      
   ส่วยไวท์ตระหนักถึงเขี้ยวลากดินของอีกฝ่าย  ว่าห่างไกลจากเป็นหมูให้ตัวเองต้มได้ง่ายๆ    ประกอบกับแว่วมาว่า วิชเยนทร์หันไปคบกับพวกฝรั่งเศสที่เป็นทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับสยาม  อี๋อ๋อกันดี  จนอาจจะเลือกเอาทหารฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อเชวาลิเยร์เดอฟอร์แบง ไปเป็นนายท่าเมืองมะริดแทน    ถ้าเป็นเช่นนั้นการอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ก็มีแต่เสี่ยงให้วิชเยนทร์เหม็นหน้าขึ้นมาเมื่อใดก็ได้  อนาคตไวท์ก็คงไปอยู่ในคุกไม่มีข้อสงสัย    ไวท์จึงเกิดเบื่อหน่ายชีวิตในสยามขึ้นมาด้วยใจจริง แล้วปฏิเสธคำชวนอย่างไม่ลังเล     ใจก็คิดว่ารวบรวมเงินทองได้ก้อนโต พอจะกลับไปเป็นเศรษฐีอยู่ในอังกฤษได้สบายๆ     ก็ไม่รู้จะอยู่เสี่ยงคมหอกคมดาบในสยามต่อไปอีกทำไม     ส่วนเรื่องพล่ามถึงความจงรักภักดีอะไรนั่น บัดนี้หมดเรื่องหมดราวที่จะต้องพร่ำรำพันแล้ว   ไวท์ก็ลืมคำพูดตัวเองเสียสนิท
   เหตุผลอีกข้อหนึ่งคือ  ไวท์ยังมองออกว่า อนาคตของวิชเยนทร์เองก็ง่อนแง่นไม่แพ้ตน     ทุกวันนี้แม้ว่าเป็นขุนนางที่มีอำนาจมากล้นเหลือ เพราะเป็นคนโปรดของสมเด็จพระนารายณ์  แต่วิชเยนทร์เองก็เข้ากับขุนนางไทยไม่ได้เลย  คบได้แต่กับฝรั่งซึ่งไม่มีกำลังมากพออยู่ดี     เมื่อใดที่สิ้นสมเด็จพระนารายณ์ วิชเยนทร์ก็หมดอำนาจ แล้วก็จะไปไม่รอด     เมื่อรู้อย่างนี้แล้วไวท์จะรอพึ่งลูกพี่อยู่ทำไม    เอาตัวรอดไปก่อนไม่ดีกว่าหรือ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 05 พ.ค. 13, 21:52

   อย่างไรก็ตาม ไวท์ก็ไม่ลืมที่จะประเคนของตอบแทนบุญคุณของวิชเยนทร์ที่ช่วยให้ตัวเองรอดจากคณะลูกขุนสั่งลงโทษ   ชนิดเจ้าบุญทุ่มได้อายเลยก็ว่าได้    ในหนังสือบอกว่า มีแหวนทับทิมน้ำดีชั้นเลิศ 6 วง  นิลน้ำพิเศษอีก 2 เม็ด   ม้าอาหรับพร้อมเครื่องอีก 2 ม้า   และไม่ลืมเอาใจท่านผู้หญิงวิชเยนทร์ด้วยทับทิมงามๆ 2 เม็ด แหวนเพชร 1 วง  นาฬิกาพกชั้นดี 1 เรือน     ของทั้งหมดนี้ถึงไม่บอกก็คงเดาได้ว่าไม่ได้ซื้อหามาแน่นอน    และทับทิมบางเม็ดนั้นอาจจะบีบเค้นคอกัปตันโค้ทส์มาได้ด้วย   แต่ก็เรียกได้ว่า ไวท์ยอมสละทรัพย์ไปก้อนมหึมาทีเดียวในเรื่องนี้    

    แต่ไวท์ก็ไม่ได้ยอมเข้าเนื้อเปล่าๆปลี้ๆ   เมื่อไอให้หมูไป  ยูก็ต้องให้ไก่มา    จึงตื๊อวิชเยนทร์ให้เซ็นคำสั่งให้ตัวเองในฐานะนายท่ามะริดมีอำนาจมากขึ้นอีก  หากสามารถโยนความรับผิดชอบไปให้คณะกรมการเมืองได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือสามารถบังคับให้พวกนั้นต้องยอมลงนามในคำสั่งอะไรก็ได้ แล้วแต่นายท่าประสงค์    นอกจากนี้ ไวท์ยังเกลี้ยกล่อมของบประมาณค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอีก 4000 ปอนด์  แม้วิชเยนทร์สั่งเป็นคำขาดมิให้ไวท์เก็บภาษารีดนาทาเร้นจากชาวเมืองมะริดได้เกินปีละ 20,000 ปอนด์ก็ตาม   ข้อหลังนี้ไวท์ไม่ค่อยเดือดร้อนอะไร เพราะจะเก็บได้มากน้อยแค่ไหน  ไวท์ก็ชักภาษีเข้ากระเป๋าได้ตามใจชอบอยู่แล้ว

   ไวท์ลอยนวลกลับเมืองมะริด     จากนั้นก็รอจังหวะจะกลับอังกฤษ  เพราะว่าสมัยนั้นการออกจากสยามไม่ได้ง่ายดายเหมือนนั่งเครื่องบินหนีออกนอกประเทศอย่างสมัยปัจจุบัน       ในช่วงสุดท้ายที่ไวท์คิดว่าจะอยู่ในเมืองมะริดก่อนกลับไปเป็นเศรษฐีอยู่บ้านเกิด    เขาก็เลยไม่ปล่อยให้เวลาล่วงไปเปล่าๆ  แต่ว่ากอบโกยคอรัปชั่นแบบทิ้งทวนเลยทีเดียว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 06 พ.ค. 13, 12:46

   อย่างแรกคือ ไวท์เอาสินค้าของหลวงที่โอนมาเป็นสินค้าส่วนตัวของตัวเองก่อนหน้านี้แล้ว   ขายคืนกลับไปให้ราชการอีก  ด้วยวิธีอัฐยายซื้อขนมยายแบบนี้ ไวท์ก็ได้กำไรฟรีๆมาถึง 22400 บาท  โดยไม่ต้องลงทุนสักบาท   ส่วนรายจ่ายที่จำต้องมีเพื่อแสดงแก่ราชการ  ไวท์ก็สร้างชื่อบุคคลผู้ไม่มีตัวตนอีกจำนวนมากมาเป็นผู้รับ ปนไปกับบุคคลจริงๆ   เงินส่วนต่างนั้นก็เข้ากระเป๋าไวท์ไปอีกเกือบเท่าตัว  
   พฤติกรรมฉ้อราษฎร์บังหลวง อย่างหน้าด้านไม่แคร์อะไร ทำเอาดาเวนพอร์ทสมุห์บัญชีของไวท์ถึงกับเหงื่อแตกนอนก่ายหน้าผาก    เพราะรู้ตื้นลึกหนาบางเกินจำเป็น    หากความแตกเมื่อใด   เขาเองก็ติดร่างแหไปด้วยอย่างไม่มีทางเลี่ยง     เขาจึงขอลาออกจากงานจะกลับไปอังกฤษ แต่ไวท์ก็หน่วงเหนี่ยวเอาไว้ไม่ยอมให้กลับไป  โดยผัดผ่อนทอดระยะเวลากลับทีละเดือนสองเดือนไปเรื่อยๆ ทำให้ดาเวนพอร์ทอึดอัดใจมาก

   อย่างที่สองก็คือ ไวท์เคยปล้นสะดมเรือสินค้าได้ผลมาก่อนหน้าแล้ว   พบว่าเป็นจ๊อบที่ทำเงินให้มากที่สุด  ไหนๆจะต้องอำลางานด้านนี้กลับไปบ้านอังกฤษ  ก็หวังโกยเงินให้หายเสียดาย   เลยตะลุยจ๊อบนี้ไม่ยั้ง   เรือสินค้าจากอินเดียลำไหนผ่านมาทางนี้ ก็สั่งลูกน้องให้จู่โจมเข้ายึดเอาสินค้าทันที   นอกจากนั้นยังส่งเรือของตัวเองอีกสองลำไปลาดตระเวนทางตอนใต้ของมอญ คอยไล่จับเรือสินค้า   ถ้าพบว่าเป็นของชาติอื่นไม่ใช่กอลคันดาคู่ปรับเก่า  ไวท์ก็ปล่อยไป โดยไม่ลืมจะเรียกค่ารีดไถตามระเบียบ  
    ด้วยความรอบคอบไวท์ก็บังคับให้นายเรือเหล่านั้นเซ็นหนังสือรับรองว่า  พวกเขาไม่ได้รับความเสียหาย  และไม่ได้ถูกกดขี่ข่มเหงใดๆ      หากว่าพวกนี้ไปร้องเรียนต่อทางกรุงศรีอยุธยาขึ้นมาทีหลัง   ไวท์ก็มีหนังสือรับรองเหล่านี้เอาไว้ยืนยันความบริสุทธิ์อันแสนโสโครกของตน   แสดงว่าบทเรียนจากการตักเตือนของวิชเยนทร์ทำให้นายสยามขาวของเราเขี้ยวงอกขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 07 พ.ค. 13, 08:52

      ระหว่างรอจังหวะจะหาทางกลับอังกฤษอย่างเนียนๆ   ไวท์ก็ทำแบบเดียวกับนักการเมืองขี้ฉ้อทั้งหลาย คือรวบรวมสมบัติที่คอรัปชั่นมาจากพระราชอาณาจักรที่ให้โอกาสเขาอย่างดีมาโดยตลอด    ไปฝากไว้นอกประเทศ   ด้วยการเอาใส่หีบสั่งลูกน้องที่ไว้ใจได้ให้เอาลงเรือขนไปฝากไว้ที่เมืองมัทราส   ที่นั่นที่พนักงานของบริษัทอีสต์อินเดียคนหนึ่งที่เป็นเพื่อนฝูงกัน พอจะขอให้นำส่งไปให้พี่ชายที่อังกฤษได้อย่างปลอดภัย 
    ไวท์ได้ข่าวที่ทำให้หนาวๆร้อนๆว่า บริษัทอีสต์อินเดียเริ่มไม่พอใจพฤติกรรมของไวท์ที่ทำตัวเป็นโจรสลัดปล่้นสะดมไปหลายแห่ง   และกำลังจะส่งเรือรบมาปราบอย่างจริงจัง     ที่ใช้คำนี้เพราะผู้ติดตามอ่านกระทู้มาคงจำได้ว่า ตอนกัปตันโค้ทช์ไปอาละวาดปล้นสะดมอยู่ที่เมืองมาดาโพลัม    บริษัทอีสต์อินเดียก็ส่งเรือชื่อ "โทมัส" ติดอาวุธพร้อมมาจะปราบ   แต่เรือเจ้ากรรมไปหลงทางหรือจมเสียที่ไหนก็ไม่รู้     ในหนังสือไม่ได้เอ่ยถึงไว้อีก
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 07 พ.ค. 13, 10:39

  พฤติกรรมของไวท์ที่รังควานเรือใหญ่น้อยไปทั่วในทะเลแถบใต้มะริดและในมหาสมุทรอินเดีย กระทบกระเทือนผลประโยชน์ของบริษัทอีสต์อินเดียหลายครั้งหลายหนแล้ว     ทางบริษัทก็ทนไม่ไหวอีกต่อไป      จึงส่งเรือสินค้าขนาดใหญ่ติดอาวุธดัดแปลงเป็นเรือรบชื่อเรือเคอร์ตาน่า  มีกัปตันเป็นคนอังกฤษชื่อเวลเดิน มาที่มะริดเพื่อจะเรียกค่าเสียหายจากไวท์และราชอาณาจักรสยาม    ถ้าพบว่าหนุนหลังไวท์อยู่
   ส่วนทางนี้ไวท์รู้แล้วว่าตัวเองจะต้องเป็นคู่กรณีของบริษัทอีสต์อินเดียอย่างไม่มีทางเลี่ยง     ซ้ำร้ายคือต่อให้หนีจากสยามกลับอังกฤษได้  คดีความเรื่องนี้ก็ต้องติดตามเป็นเงาตามตัวไปขึ้นศาลอังกฤษอยู่ดี   เพราะบริษัทนี้เป็นบริษัทของอังกฤษ     ไวท์จึงตระเตรียมเอกสารเท็จไว้หลายแผ่นด้วยกัน   เพื่อเอาไว้สู้คดี

   จริงอย่างที่ไวท์คิด  ในขณะที่ยังอยู่ในมะริด   เรือเคอร์ตาน่าก็มาถึง  พร้อมด้วยกัปตันเวลเดนซึ่งไม่ได้เป็นคู่ปรปักษ์อะไรกับไวท์มาก่อน    ไวท์ก็ทำใจดีสู้เสือ  ต้อนรับเวลเดนด้วยดี    จัดการเลี้ยงรับกันใหญ่โตที่บ้านพัก   เวลเดนก็คลี่เอกสารราชการออกอ่านว่า บัดนี้มีพระบรมราชโองการจากกษัตริย์อังกฤษมาสั่งให้ชาวอังกฤษทุกคนที่มารับราชการในสยาม ได้ถอนตัวจากสยามเดินทางจากอังกฤษ  เพราะสยามก่อความเสียหายแก่บริษัทอีสต์อินเดีย     พูดง่ายๆคือให้อพยพชาวอังกฤษ(เป้าหมายคือไวท์) ออกจากมะริดกลับไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 07 พ.ค. 13, 21:55

    จุดมุ่งหมายของไวท์คืออยากออกจากมะริดใจจะขาด เพื่อจะกลับไปเสวยสุขที่อังกฤษ      ดังนั้นประกาศที่เวลเดนอ่านจึงเข้าทางของไวท์    แต่ก็มีก้างชิ้นสำคัญติดคออยู่  คือเวลเดนมีหน้าที่ต้องเรียกค่าเสียหายที่บริษัทอีสต์อินเดียเรียกร้องมายังราชอาณาจักรสยาม และจะต้องส่งเรื่องนี้ให้เจ้าพระยาวิชเยนทร์รับรู้     ไวท์จึงออกจากมะริดไปไม่ได้อยู่ดี     ระหว่างนี้ไวท์ก็ใช้นโยบายใจดีสู้เสือ  ต้อนรับขับสู้กัปตันเวลเดนอย่างดี  เอาอกเอาใจ จัดงานเลี้ยงให้เป็นเกียรติ   กินอยู่อิ่มหนำสำราญ  จนเวลเดนซึ่งชั้นเชิงอ่อนกว่าไวท์มาก  เกิดความไว้วางใจ มิได้ระแวงอย่างใดเลย

    เวลเดนขอให้กรมการเมืองนำหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายไปส่งที่เมืองหลวง     เพื่อให้แน่ใจว่าพวกนี้จะต้องทำตามแน่ๆ เวลเดนก็ทำสิ่งที่คิดว่าฉลาดที่สุดคือยึดเรือในอ่าวเอาไว้เป็นประกัน     เจ้ากรรมว่าในตอนนั้นก็ไม่มีเรืออะไรให้ยึดได้เลย นอกจากเรือสินค้าชื่อ "เรสโซลูชั่น" เพราะเรืออื่นๆไวท์เอาไปเก็บไว้ที่ตะนาวศรีหมดแล้ว     และเจ้ากรรมซ้ำสองคือสินค้าเต็มเพียบในเรือเรสโสลูชั่นหาใช่สินค้าของหลวงอย่างที่เวลเดนคิดไม่   แต่เป็นสินค้าส่วนตัวเข้ากระเป๋าของท่านเจ้าท่าไวท์เอง
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 08 พ.ค. 13, 03:49

นั่งหลบเงียบๆ มาหลายวันมันชักจะเปรี้ยวปาก  จะผิวปากวี้ดวิ้วเรียกร้องความสนใจก็กลัวจะถูกไม้เรียว  เลยเอาเรื่องบริษัทอีสต์อินเดียมาขยายความซะหน่อยเพื่อความครึกครื้นของกระทู้


บริษัทอิสต์อินเดียคัมปะนี เป็นบริษัทที่ก่อตั้งขึ้นในราวๆ สมัยราชินีอลิซาเบธที่  1 โดยกลุ่มพ่อค้าลอนดอนที่ต้องการทำการค้ากับทางตะวันออกและอินเดียได้มีการรวมตัวกันจัดตั้งบริษัทขึ้นมาผูกขาดตั้งกองเรือทำการค้าไปทางตะวันออกโดยได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เป็นทางการจากราชสำนัก แรกเริ่มเพื่อการค้าเครื่องเทศแข่งกับพวกโปนตุเกสและดัชท์เป็นหลัก   ต่อมาบริษัทขยายตัวมีผู้ถือหุ้นเป็นทั้งพ่อค้าและคนชั้นสูงในสังคมอังกฤษ    สินค้าหลักของบริษัทก็พวกสินค้าจากทางตะวันออกเช่นผ้าไหม ผ้าฝ้าย เครื่องเทศ ดินประสิว เกลือ คราม ฝิ่น ชา ฯลฯ


บริษัทเริ่มตั้งสถานีการค้าในอินเดียและรุกคืบขยายอำนาจมากขึ้น   ช่วงรุ่งเรืองของบริษัทนั้นบริษัทอีสต์อินเดียถึงกับมีกองทัพของตัวเองเพื่อทำสงครามและควบคุมอาณานิคมต่างๆ ในตะวันออกไกล   จนกลายเป็นครองครองพื้นที่กว้างขวางในอินเดียและปกครองอินเดียในฐานะเจ้าอาณานิคมในปี 1757 และปกครองอินเดียเรื่อยมาจนในปี 1858 อำนาจการปกครองอินเดียถูกผ่องถ่ายให้อยู่ภายใต้รัฐบาลอังกฤษแทน จนกระทั่งบริษัทล้มเลิกไปในปี 1874  


ภาพเหรียญมูลค่า 1 รูปีออกโดยบริษัทในปี 1835 บริษัทนี้เจ๋งขนาดออกเงินตราของตัวเอง



บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 08 พ.ค. 13, 09:04

พักครึ่งเวลา  มีขนมมาส่งให้เด็กชายประกอบ ที่ทำการบ้านดีมาก   แบ่งให้เพื่อนๆด้วยนะคะ


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 08 พ.ค. 13, 16:12

งวดหน้าขอข้าวเหนียวทุเรียน ข้าวเหนียวมะม่วงน้ำดอกไม้ แล้วก็ปลากริมไข่เต่าครับ  อยากกินมาหลายปีแล้ว  ร้องไห้


นอกจากบริษัทบริทิชอีสต์อินเดียคัมปะนีแล้ว ทางฮอลันดายังมีบริษัทดัชท์อีสต์อินเดียด้วยเช่นกัน (Vereenigde Oost-Indische Compagnie, VOC ) บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1602 ไล่เลี่ยกับบริทิชอีสต์อินเดีย บริษัทของดัชท์นี้ได้รับสัมปทานผูกขาดการค้ากับอาณานิคมต่างๆ ของฮอลแลนด์  เป็นบริษัทแรกของโลกที่มีการขายหุ้น บริษัทดัชท์อีสต์อินเดียนี่ที่จริงใหญ่กว่าบริทิชอีสต์อินเดียมาก  เพราะในช่วงการค้าระหว่างเกือบสองร้อยปีระหว่างปี 1602 - 1796 บริษัทส่งคนไปทำงานยังตะวันออกไกลเกือบหนึ่งล้านคน เรือสินค้ามากกว่าสี่พันลำ ขนส่งสินค้ามากกว่า 2.5 ล้านตัน   ในขณะที่บริทิชอีสต์อินเดียคู่แข่งในช่วงราวๆ สองร้อยปีเดียวกันมีกองเรือราวสองพันกว่าลำและมีการขนส่งสินค้าแค่ประมาณ 1 ใน 5 ของดัชท์เท่านั้น


ในขณะที่สำนังงานใหญ่ภูมิภาคของบริทิชอีสต์อินเดียอยู่ที่อินเดีย  แต่ของดัชท์จะอยู่ที่ปัตตาเวียหรือจาการ์ต้าในปัจจุบัน บริษัทนี้ล้มเลิกไปในปี 1800 เพราะล้มละลายเนื่องจากการคอร์รัปชั่นแบบสะบั้นหั่นแหลกจนรัฐบาลดัชท์เข้ามาครอบครองทรัพย์สินและเมืองท่าอาณานิคมต่างๆ ที่เดิมเป็นของบริษัทแทน


ในปลายสมัยพระนารายณ์มีสาขาของบริษัทอยู่ในอยุธยาด้วย  ในปลายรัชสมัยพระนารายณ์จนถึงสมัยพระเพทราชา ในขณะที่ฝรั่งเศสถูกขับไล่ไป ทางดัชท์ไม่กระทบกระเทือนเท่าไหร่ยังคงทำการค้าขายได้เพราะพวกดัชท์มุ่งเน้นการค้าขาย ไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแทรงการเมืองในอยุธยามากเท่าไหร่ เลยไม่โดนหางเลขมาก

เงินเหรียญของบริษัทที่พะยี่ห้อ VOC ไว้ด้วย
 


บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 09 พ.ค. 13, 20:04

เด็กชายประกอบทำการบ้านมาดีมาก    เลยได้รับอนุญาตให้กินขนมในชั้นเรียนได้


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.041 วินาที กับ 19 คำสั่ง