เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 5050 ขออนุญาตเรียนถามความหมายของคำว่า "งาย" เพิ่มเติมครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 05 เม.ย. 13, 12:36

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู และท่านสมาชิกเรือนไทยผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านครับ

   อ่านเพียงหัวข้อกระทู้ บางท่านอาจจะคิด ไม่เห็นต้องถามเลย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็บอกอยู่ชัดๆว่า งาย เป็นคำนาม หมายถึง เวลาเช้า วงเล็บไว้ด้วยว่า เป็นคำยืมจากภาษาเขมร
   ครับ ข้อนี้ผมทราบอยู่แต่เดิมแล้ว ทว่าที่พบใหม่นี่สิ ทำให้สงสัยครับ ผมเจอคำ “งาย” ปรากฏในบริบทซึ่งมิน่าจะแปลว่า “เวลาเช้า” อย่างน้อยๆก็สองแห่ง หนึ่งคือ สรรพสิทธิ์คำฉันท์
พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ข้อความปรากฏดังนี้ครับ

   “เสือเหลืองเยื้องย่องมองทราย
ครุบคร่าเอางาย
ตระบัดบทันทฤษฎี”

   จากกาพย์บทดังกล่าว แปลความได้ว่า เสือเหลืองเดินเยื้องย่องมองเนื้อทราย พอสบจังหวะเหมาะก็ตะครุบ (ครุบ) ฉุดกระชากลากตัว (คร่า) เอาไปอย่าง..... จนดูไม่ทัน
    ครับ วิสัยเสือ จัดอยู่ในจำพวก พาฬมฤค คือสัตว์กินเนื้อ แต่มันจะออกล่าเหยื่อเฉพาะเวลาเช้าเท่านั้นหรือ? จากประสบการณ์การอ่านนวนิยายผจญภัยในป่าของผมช่วงระยะหนึ่ง ได้ความว่า เสือย่อมออกล่าเหยื่อทุกเวลา ถ้ามันหิว ก็แล้วเช่นนั้น งาย ควรแปลว่าอะไร?

   อีกตัวอย่างหนึ่ง จากสมุทรโฆษคำฉันท์ตอนปลาย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า 
กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เช่นกันครับ ทรงกล่าวถึงกิริยาของช้างว่า

   “พลางเมิลมาตงคคณา
แลหลามเหลือตรา
สระพรั่งทั้งพังพลายหลาย

   ลงสู่สระสินธุ์สนานกาย
งวงสูบชลงาย
แลเสียงซะแซ่แปร๋แปร๋น”

นี่ก็อีกครับ ช้างลงอาบน้ำในสระ (ฉัททันต์) ใช้งวงสูบน้ำ ซึ่งอากัปเช่นนี้ย่อมไม่เลือกเวลา สุดแต่ความพอใจของมัน อนึ่ง คำว่า “งาย” ก็มาอยู่ใกล้กับ “ชล” ถ้าจะแปล “ชลงาย” ว่า “น้ำเช้า” ก็ฟังพิลึกๆ แล้ว “งาย” แปลว่าอะไรเล่า

   ต่อไปนี้ คือข้อสันนิษฐานของคนปัญญาเขลาอย่างผมครับ

   ว่าด้วยหลัก “กวียานุโลม” ผู้นิพนธ์กาพย์กลอน สามารถแปลงคำได้ตามปรารถนา มีบางกรณี เติมวรรณยุกต์ให้คำที่แต่เดิมไม่มีรูปวรรณยุกต์ แหละก็บางหน ตัดวรรณยุกต์ออกเสียจากคำเดิม ขอยกลิลิตตะเลงพ่าย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มาแสดง ดังนี้ครับ

   “เบื้องนฤบาลบดินทร์ นรินทร์นเรศวรราช ปางเถลิงอาสน์เกยชัย ในฉายาไม้ประดู่ เร่งพยู่ห์ตั้งค่าย ฝ่ายหน้าหลังซ้ายขวา ดากันดูดาษเดียร พลางธระเมียรหมู่ม้า ฝ่ายข้าศึกรามัญ ผันผายชายท่งทิว  ลิวแล่นกลับฉับเฉียว เหลียวลับเนตรตระบัด”

ร่ายบทนี้ กล่าวว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเสด็จประทับอยู่ณ เกยชัยภายใต้เงาไม้ประดู่ ทรงเร่งประดาทวยทแกล้วทหารให้ตั้งค่าย ขณะนั้น ทอดพระเนตรเห็นกองม้าฝ่ายข้าศึกโลดแล่นอยู่ชายทุ่ง แล้วลิ่วลับไปจากพระเนตรในทันใด คำว่า “ลิว” นี้ก็คือ “ลิ่ว” นั่นเอง เพราะถ้าจะแปล “ลิว” ตามความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ย่อมไม่ได้ความแน่ครับ

   ลิว
ก. เอามีดเฉือนหนังทั้งแผ่นให้เป็นเส้นเพื่อทําเชือกหนัง; ร่อน,
 
ขว้าง, ปา.

   อีกแห่งในลิลิตตะเลงพ่ายเช่นกัน กวีผู้ทรงพระนิพนธ์ ทรงบรรยายว่า ขณะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงคอยมหาพิชัยฤกษ์เพื่อกรีธาทัพหลวงอยู่นั้น หมู่เมฆอันมืดครึ้ม ณ ทิศพายัพ (ตะวันตกเฉียงเหนือ) ก็
“มลักแลกระลายกระลับ ลิวล่ง ไปเฮย” กลับลิ่วโล่ง กระจายสลายไป เผยให้เห็นพระอาทิตย์ส่องแสงจ้า ท้องฟ้างดงามไร้มลทิน ดุจนำแก้วอินทนิลมาดาษไว้นั่นเทียว ลิวล่ง คือ ลิ่วโล่ง

   อาศัยหลักฐานทั้งสองแห่งนี้ เป็นไปได้ไหมครับ ที่ “งาย” อาจแปลว่า “ง่าย” ในกรณีที่กวี ประสงค์จะแปลงคำ ตามหลัก “กวียานุโลม”

   เสือเหลืองจ้องมองเนื้อทราย พอได้โอกาสก็ตะครุบฉุดคร่าเอาไปได้อย่างง่ายดาย รวดเร็วจนดูไม่ทัน และ
เหล่าช้างลงเล่นน้ำ ใช้งวงสูบน้ำได้อย่างง่ายดาย  (เพราะงวงมันใหญ่อยู่แล้ว)

   อาจมีบางท่านแย้งว่า ไม่เห็นจำเป็นจะต้องแปลงเสียงจาก “ง่าย” เป็น “งาย” เลย ในเมื่อกาพย์มิได้บังคับเรื่องวรรณยุกต์เคร่งครัดอย่างโคลงกับร่าย ก็จริงครับ แต่ถ้าท่านลองพิจารณากาพย์จากกวีชั้นครู (กระทู้นี้ ขอกล่าวจำเพาะกาพย์ฉบัง ๑๖) จะพบว่า เสียงท้ายวรรค ท่านนิยมเล่นเพียงสองเสียงเท่านั้น คือสามัญ กับจัตวา สลับกัน ลองท่องบทนมัสการพระธรรมคุณ กับบทนมัสการพระสังฆคุณ อันท่านพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) นิพนธ์ไว้ดูเถิดครับ

เสียงท้ายวรรคของฉบังนั้น ถ้าใช้เสียงวรรณยุกต์โทซึ่งลากลงต่ำ  ความเสนาะจะลดลง
โบราณาจารย์กวีท่านจึงนิยม ใช้เสียงกลาง (สามัญ) กับเสียงลากขึ้นสูง (จัตวา) เล่นล้อกันไปมาเพื่อให้ไพเราะโสตดุจสำเนียงดนตรี เวลาขับทำนองเสนาะก็ฟังละเมียดละไมนัก

   โดยสมมุติฐานดังสาธยายมา ผมจึงอนุมานในชั้นต้นก่อนว่า “งาย” อาจแปลว่า “ง่าย” กระนั้น ก็ยังมิแน่ใจครับ ว่า ความคิดจากมันสมองสะตึๆของตนพอจะมีเค้าบ้างหรือไม่ ขอท่านผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่าน โปรดแสดงความเห็น เอื้อวิทยาทานปัญญาประทีปให้ผมคนโฉดเฉาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

เว็ปไซต์อ้างอิง ลิลิตตะเลงพ่าย

http://www.reurnthai.com/wiki/%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%9E%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2



   พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน

http://rirs3.royin.go.th/
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 05 เม.ย. 13, 16:49

เสียใจจริงๆที่ดิฉันยังค้นศัพท์ความหมายของคำว่า "งาย" ในพระนิพนธ์ ทั้ง 2 แห่งนี้ไม่พบ   แล้วก็ยังนึกไม่ออกว่าจะถามใคร  รู้แต่ว่ามีราชบัณฑิตเข้ามาอ่านเว็บนี้เป็นประจำ แต่ไม่เคยแสดงตัวและไม่เคยตอบ  ก็คงจะหวังพึ่งท่านไม่ได้

อ่านจากบริบท   
“เสือเหลืองเยื้องย่องมองทราย
ครุบคร่าเอางาย
ตระบัดบทันทฤษฎี”

แปลได้ความว่าเสือเหลืองย่องเข้ามาเล็งเนื้อทราย  ตะครุบลากตัวไป "เอางาย"  ส่วนวรรคสุดท้ายแปลว่า พริบตาเดียวไม่ทันมองด้วยซ้ำ 
คำว่า งาย ในที่นี้ อาจแปลว่าง่าย ก็น่าจะมีน้ำหนักรับฟังได้  เอางาย = โดยง่าย

ส่วนข้อที่ 2 ที่ว่า
ลงสู่สระสินธุ์สนานกาย
งวงสูบชลงาย
แลเสียงซะแซ่แปร๋แปร๋น”
คำว่า งาย ในที่นี้ดูจากรูปประโยคเป็นคำวิเศษณ์ประกอบคำนาม คือ ชล    ถ้าไม่ได้พิมพ์ผิดจากคำว่า สาย    ก็คงแปลเป็นอะไรอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ได้แปลว่า ง่าย
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 05 เม.ย. 13, 17:43

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นอย่างสูงยิ่งครับ ที่กรุณาเมตตา

   ขออนุญาตเรียนชี้แจงอาจารย์ครับ ว่า โดยปรกติ ผมจะเข้าเว็บไซต์พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นหลักครับ คำใดที่ในเว็บไซต์ไม่มี เปิดในพจนานุกรมเล่มใหญ่ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ก็ไม่พบเช่นกันครับ

   ส่วน “งวงสูบชลงาย” ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครับ ในข้อที่ว่า อาจพิมพ์ผิดจาก “ชลสาย” พิจารณาความก็ชัดเจน หรือจะดูข้างลีลากาพย์ฉบัง อันเป็นท่วงทำนองเฉพาะของสมเด็จพระมหาสมณะเจ้า
กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็งามตามคตินิยมของพระองค์ท่าน คือนอกจากจะเล่นสัมผัสพยัญชนะภายในวรรคแล้ว บ่อยครั้ง ยังทรงเชื่อมเสียงพยัญชนะของคำสุดท้ายในวรรคก่อนให้สัมผัสกับคำแรกของวรรคต่อมาอีกด้วยครับ ตัวอย่างนี้คือพยานยืนยันครับ

   “พลางพระชี้ชวนชายา
ยลสัตว์คณา
อเนกมฤครายเรียง

   โคเพลาะเลาะกล้ำแกลเกลียง
ตฤปตฤณคลอเคียง
คณานิกรแกมกระทิง

   กาษรกำเหลาะลองสิงห์
เสื้องสองเสนงชิง
เข้าขวิดเข้าเสี่ยวสู้กัน

   กวางทรายหลายเหล่าแจจรร
หมีหมูหมู่ฉมัน
ชะมดแลเม่นเร้นตน

   เสือคร่งส่งศัพท์คำรน
ร้องก้องพนสณฑ์
สำนานสนั่นพรรลาย

   กุญชรชักโขลงไคลคลาย
คัดไค้ไล่หลาย
แลเล็มเป็นพักษ์พอแรง ฯลฯ”
(สรรพสิทธิ์คำฉันท์)
 
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 05 เม.ย. 13, 19:59

งาย ที่พบในอภิธานศัพท์ ของบาทหลวงปาเลอกัวซ์ ที่แต่งพจนานุกรมภาษาไทย สมัยรัชกาลที่ ๓ จำกัดคำนิยามของคำว่า งาย เหมือนกับปัจจุบันนี้เลยว่า หมายถึงเวลา

เช่น เช้างาย และ เพรางาย ทั้งคู่แปลว่า เวลาเช้า
และคำว่า บ่ายงาย แปลว่า เวลาบ่าย
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 06 เม.ย. 13, 09:05

เรียนคุณหนุ่มสยามที่เคารพครับ

ผมยอมรับครับ ว่า การอ่านวรรณคดี หลายคราก็งงกับโบราณิกศัพท์อยู่เหมือนกัน ถ้าเปิดพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานไม่พบ บางทีก็ต้องคาดเดาจากบริบท ซึ่งยอมรับว่า ในบางขณะก็มั่วเหมือนกันครับ
 
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 06 เม.ย. 13, 14:40

   “เสือเหลืองเยื้องย่องมองทราย
ครุบคร่าเอางาย
ตระบัดบทันทฤษฎี”

ขอเสนอว่า กวีใช้ "กวียานุโลม" เลือกคำว่า "งาย" ในความหมาย "หงาย" เป็นไปได้หรือไม่ (หงาย-งาย)

คำที่มี ห นำ เมื่อไม่มี ห ก็ยังคงความหมายเดิมอยู่ก็มีหลายคำเช่น หนา-นา (ดีหนา-ดีนา, จริงหนา-จริงนา), หรือ-ฤๅ (รือ)

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 เม.ย. 13, 16:21

เรียนคุณเพ็ญชมพูที่เคารพครับ

หลังจากอ่านคำสันนิษฐานของคุณเพ็ญฯ ตั้งแต่เมื่อวาน ผมก็กลับไปคิดครับ

ก็มีความเป็นไปได้อยู่ครับ ที่ "งาย" อาจจะแปลงจาก "หงาย" แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรื่องซึ่งควรนำมาพิจารณาร่วมด้วย คือ วิธีกินเหยื่อของเสือ

ผมไม่แน่ใจครับ ว่า ในกรณีตะครุบเหยื่อได้จังๆ มันจะจัดการกับเหยื่ออย่างไร

กาพย์วรรคที่ว่า
"ตระบัดบทันทฤษฎี" ท่านอาจารย์เทาชมพูกรุณาให้ความรู้ แปลว่า รวดเร็วจนแทบมองไม่ทันเสียด้วยซ้ำ

ผมเกรงว่า เสือเหลือง (ในบทพระนิพนธ์) จะตะครุบเนื้อทราย แล้วกระโจนแผล็วผ่านพงรกไปเลย บางทีอาจเร็วจนไม่ทันเห็นสภาพของเนื้อทรายก่อนถูกลากก็ได้ครับ

เอ ผมชักลังเลเสียแล้ว คงต้องขอความรู้จากท่านผู้ชำนาญป่าเพิ่มเติมด้วยครับ
 
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 เม.ย. 13, 18:53

ถ้าหากว่า งาย แปลว่าเวลา  ตามที่คุณ siamese ไปค้นศัพท์มาให้
ลองแปลใหม่ จากข้างล่างนี้   
“เสือเหลืองเยื้องย่องมองทราย
ครุบคร่าเอางาย
ตระบัดบทันทฤษฎี”

เสือเหลืองย่องเข้ามาเล็งเนื้อทราย   ครุบคร่าเอางาย  แปลจากข้างหลังมาข้างหน้า  คือ เวลามันตะครุบ คร่าเอา(ตัว)
ก็ทำได้ในพริบตาเดียวไม่ทันมองด้วยซ้ำ 

ข้อที่ว่า
ลงสู่สระสินธุ์สนานกาย
งวงสูบชลงาย
แลเสียงซะแซ่แปร๋แปร๋น”

(ช้าง)ลงในสระน้ำเพื่ออาบชำระล้างกาย
แปลวรรคที่สองจากข้างหลังมาข้างหน้า   = เวลาใช้งวงสูบน้ำ
มันก็ร้องเสียงแปร๋แปร๋นกันเซ็งแซ่

พอฟังขึ้นไหมคะ  คุณชูพงศ์
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 เม.ย. 13, 20:19

เอาคลิปนี้มาเป็นหลักฐานว่า เวลาเสือไล่ล่ากวางนั้น ถึงตอน "ครุบคร่าเอางาย" กวางหงายลงไปจริง ๆ



ป.ล. สำหรับ ชลงาย เชื่อที่คุณเทาชมพูสันนิษฐานตอนต้นว่าพิมพ์ผิด น่าจะเป็น ชลสาย ตามเหตุผลของคุณชูพงศ์


บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 10 เม.ย. 13, 09:15

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู แหละคุณเพ็ญชมพูครับ

   ถ้ายึดตามนิยามศัพท์ที่คุณหนุ่มสยามค้นได้ คือ งาย หมายถึง เวลา ผมเห็นด้วยกับ
ท่านอาจารย์เทาชมพูครับ ในกรณีเสือเหลืองตะครุบเนื้อทราย

 แต่ในสมุทรโฆษคำฉันท์ ตรง “งวงสูบชลงาย” นี่ ผมอ่านทวนดูอาจจะเป็นการพิมพ์ผิดก็ได้ครับ ผมใช้
สมุทรโฆษคำฉันท์ของโรงพิมพ์แห่งหนึ่ง ซึ่งถ้าจะตรวจสอบกันจริงๆคงต้องขอความเมตตาการุณย์จากท่านนักสะสมหนังสือเก่า ผู้มี “สมุทรโฆษคำฉันท์” หลายฉบับจากหลายแหล่งช่วยปรานีให้ข้อมูลเสริมด้วย บางที อาจจะได้คำตอบ ข้อพิสูจน์แน่นอนลงไปว่า ฉบับที่ผมถือครองอยู่ พิมพ์พลาดไปหรือไม่ครับ
     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 เม.ย. 13, 09:21

ฝากท่านที่มีหนังสือ เช็คอีกทีค่ะ ว่าพิมพ์ผิดหรือไม่
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 19 คำสั่ง