เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 9153 สมัยรัชกาลที่๕ เขาไปเที่ยวกันที่ไหนคะ
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 07 เม.ย. 13, 21:54

ก็ท่องเที่ยวตามงานเทศกาลงานบุญครับ เช่น ถึงเทศกาลก็จะไปงานพระพุทธบาท สระบุรี

ในส่วนของที่ไม่สะดวกไปพระบาท สระบุรีก็มีงานพระบาทฯ ในกรุงเทพ หลายที่เช่น ที่วัดอัมรินทรฯ-วัดสามปลื้ม เป็นที่สนุกสนาน, งานรื่นเริงออกร้านค้าที่วัดเบญจมบพิตรก็จัดในฤดูหนาว, งานวัดภูเขาทอง วัดสระเกศ ครับ

ขอพาไปงานออกร้านวัดเบญจมบพิตร ค่ะ
งานออกร้านที่นี่ มีตั้งแต่ร้านของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ   ร้านของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน  ขุนนางใหญ่น้อยจนถึงนายห้างฝรั่ง   ตั้งเรียงรายอยู่ในเขตรั้วเหล็ก   เป็นร้านจัดประณีตเรียบร้อย   มีเสียงดนตรีไทยเบาๆ ไม่มีเสียงเอะอะอึกทึก   ผู้คนแต่งกายกันสวยงามประดับเพชรนิลจินดา โดยไม่ต้องกลัวขโมยขโจรจะเข้ามาฉกชิงวิ่งราว      ร้านของใครเจ้าของร้านก็พาลูกเมียไปนั่งเฝ้าร้าน เป็นเหตุให้หนุ่มๆสาวๆมีโอกาสพบกันได้   
ร้านสมัยนั้นทันสมัยเหมือนงานกาชาด  มีร้านตกเบ็ด ทำเป็นสระ  ใช้เบ็ดแม่เหล็กตกของขวัญที่ห่อเป็นสัตว์น้ำต่างๆ  ตกได้ตัวไหนก็ได้ตัวนั้นเป็นของขวัญกลับบ้านไป  เสียค่าตกเบ็ด 1 บาท    มีแล่นเรือเข้าไปในถ้ำ แล้วแล่นลอดออกมาได้โดยไม่ต้องพาย   มีร้านจีนขายอาหารจีนเหมือนภัตตาคาร ฯลฯ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 07 เม.ย. 13, 22:39

ถ้าจะให้สนุกยิ่งขึ้น ต้องตามเสด็จหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุลท่านเข้าไปเที่ยว

งานที่สนุกที่ ๑ ในวัดเบญจมบพิตร คืองานออกร้านในวัดนี้ อันเป็นงานประจำปีในฤดูหนาว เพื่อเก็บเงินบำรุงวัดซึ่งยังไม่แล้วเรียบร้อยดี เรียกกันในสมัยนั้นว่า “งานวัด” ร้านต่าง ๆ มีตั้งแต่ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้านายทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย สุดแต่ใครมีกำลังจะทำได้ จนถึงชาวต่างประเทศผู้เป็นนายห้างใหญ่ ๆ บริเวณร้านอยู่ในเขตรั้วเหล็กแดงเท่านั้น ต่อมาทางตัวพระอุโบสถก็มีแต่พวกร้านขายธูปเทียนดอกไม้และทองเปลว สำหรับผู้จะไปบูชาพระและทำบุญ พวกเราเด็ก ๆ มิได้เคยไปทางนั้นเลย ซ้ำกลัวว่ามืดอีกด้วย เราพากันวิ่งวุ่นอยู่แต่ทางร้านต่าง ๆ ซึ่งเห็นในเวลานั้นว่าใหญ่โตมโหฬารสุดหล้าฟ้าเขียวซ้ำยังมีสถานที่ที่เรียกว่า สำเพ็ง อยู่นอกรั้วแดงทางถนนราชดำเนินอีกเมืองหนึ่ง มีทั้งโรงโขนชักรอกและเขาวงกฎที่เข้าไปแล้วออกไม่ได้ จนกว่าจะเดินถูกทาง ร้านในแถวสำเพ็งอย่างเดียวกับงานภูเขาทอง ผิดกับข้างในวัดอย่างเทียบไม่ได้ เพราะความเป็นระเบียบเรียบร้อย และความนิยมผิดกัน

ทุกคนที่ก้าวเข้าประตูเหล็กแดงเข้าไปแล้ว จะรู้สึกเหมือนเมือง ๆ หนึ่งที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ผู้คนแต่งตัวสวยๆ งามๆ ร้านจัดกันอย่างประณีตและเรียบร้อย ไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครม นอกจากเสียงดนตรีเบา ๆ พอได้ยินพูดกันไม่ต้องตะโกน ไม่มีคนแน่นจนถึงเบียดเสียดกัน ไม่มีใครมาถ่มขากปล่อยเชื้อโรคข้าง ๆ ตัว และสิ่งที่วิเศษยิ่งก็คือ ไม่มีขโมยเลย ฉะนั้นทุกคนที่มีเพชรนิลจินดาก็แต่งกันได้วุบวับ (ที่ไม่มีอาจจะยืมเขามาบบ้างก็คงมี) ทุกคนหน้าตาเบิกบาน เสียงทักทายกันแต่ว่า “ร้านอยู่ไหน เดี๋ยวไป” เพราะร้านของใครก็พาครอบครัวไปนั่งเป็นเจ้าของร้าน เป็นผู้ชาย ทั้งนี้ก็เพราะทุกคนจะได้เฝ้าในหลวงของเขาทั่วกัน ใครอยากเฝ้าก็นั่งอยู่หน้าร้าน เวลาเสด็จผ่านทางหยุดทอดพระเนตรและทักทายเจ้าของร้าน ทั้งครอบครัวก็ได้เฝ้า ใครอยากทูลอะไร อยากถวายอะไรก็ถวายได้

อีกอย่างหนึ่งในสมัยนั้นพวกนักเรียนเมืองนอก กำลังเรียนจบทยอยกันมาทุกปี ท่านพวกนี้เปรียบเสมือนเทวดาตกลงมาจากสวรรค์ ความคิดของท่านไม่ยอมให้ คลุมถุงชน นั้นเป็นแน่ ฉะนั้น “งานวัด” นี้ จึงเป็นที่หนุ่มสาวเขาเลือกคู่กันเอง แต่เขาไปนั่งคุยกันตามร้าน ไม่มีไปไหนด้วยกันได้ พวกเราเด็ก ๆ ขนาด ๑๑-๑๒ ขวบอยู่นอกเกณฑ์ ก็วิ่งเล่นสนุกแทบตาย ความสนุกนั้นคือ ไปเที่ยวตามเด็กรุ่นเดียวกัน ไปเที่ยวดูตุ๊กตา แม้จะแพงซื้อไม่ได้ เพียงไปนั่งดูก็สนุก ออกจากร้านตุ๊กตาไปร้านตกเบ็ด เขาทำเป็นสระและห่อสลากเป็นรูปสัตว์น้ำต่าง ๆ อยู่ในนั้น มีเบ็ดแม่เหล็กไว้ตรงปลาย ใครจะตกเบ็ดก็เสีย ๑ บาท แล้วยื่นเบ็ดลงไปในสระ ห่อสัตว์เหล่านั้นมีเหล็กอยู่ข้างใน ก็กระโดดขึ้นมาติดเบ็ดเรา ชอบเสียจริง ๆ จัง ๆ

อีกแห่งหนึ่งก็คือร้านที่มีกลไกต่าง ๆ เช่น มีร้านหนึ่งจัดเป็นถ้ำและมีลำธาร พาเรือลำเล็กขนาดนั่งคนเดียวลอยเข้าไปในถ้ำ แล้วพากลับออกมาเอง เราไปยืนดูเห็นประหลาดหนักหนาว่าทำไมเรือมันไปเองได้ และในน้ำมีอะไรบ้าง อยากรู้เสียจริง ๆ ตกลงนักกันว่าเราจะลงกันคนละลำ (มีอยู่ ๓ ลำ) ถ้าเขาเป่านกหวีดให้เรือออก เราจะเอามือสาวฝั่ง ๒ ข้างให้มันไปเร็วเข้า จนเห็นว่าทำไมเรือมันไปเองได้ เมื่อซื้อตั๋วใบละบาทและลงนั่งในเรือแล้ว พอเขาป่านกหวีดปล่อยเรือ เราก็สาวฝั่งเข้าไปในถ้ำ พอโผล่ก็เจอผู้ชายคนหนึ่งกำลังยกโพงสังกะสีพุ้ยน้ำดังโพล่ง ๆ เราตะโกนพร้อมกันว่า “นั่นแน่!” ตาพุ้ยน้ำหดตัวกลับเข้าไปหลังหิน หายเงียบ เราภาคภูมิใจเสียจริง ๆ ว่าจับได้แล้วว่าทำไมเรือมันไปเองได้ กลับออกมาคุยโมง จนเจ้าของร้านต้องมากระซิบว่า อย่าเอะอะไป

ที่ที่สนุกอีกแห่งหนึ่ง ก็คือในเมืองจีนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช มีประตูตีตั๋วเข้าไปข้างใน แล้วมีร้านเป็นห้องๆ รอบสี่เหลี่ยมขายอาหารจีน ขายน้ำชา ขายจันอับ และอะไรต่างๆ ที่เป็นจีน มียกพื้นเล็ก ๆ อยู่ตรงกลางเมืองให้พวกตลกเล่น พวกเราติดละครตลก การเข้าเมืองนั้นเป็นอันไม่ได้ตีตั๋ว เพราะเราคุ้นเคยกับพวกขายตั๋วเสียแล้ว เราวิ่งเข้าวิ่งออกได้สบาย ส่วนเงินที่ใช้จ่ายบ้างนั้น ถ้าไม่มีหรือหมดก็เที่ยวขอพวกผู้ใหญ่ ซึ่งโดยมากเขาให้เพราะไม่ต้องการให้กวน

บางส่วนจาก ความสนุกในวัดเบญจมบพิตร พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 08 เม.ย. 13, 08:32

ชวนไปดูงานโล้ชิงช้าค่ะ  บอกแค่นี้พอ   
คุณเพ็ญชมพูเจอในอินทรเนตร ก็คงมาขยายความเอง


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 08 เม.ย. 13, 08:45

ทางศาสนาพราหมณ์  เชื่อว่าพระอิศวรเป็นเจ้าเสด็จลงมาเยี่ยมโลกมนุษย์ปีละครั้ง  จึงเป็นโอกาสแก่มนุษย์ที่ได้ทูลบนขอประทานความปรารถนาของตัวไว้ในเวลาเจ็บไข้ก็ดี ตกทุกข์ได้ยากอย่างไรก็ดี  เมื่อได้สมปรารถนาคือพ้นภัยพิบัติมาได้แล้ว  ก็เตรียมตัวที่จะแก้บนถวายและรับพระพรทุกปีไป  พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นสมมติเทพ  คือเสด็จแบ่งภาคมาจากพระเป็นเจ้าเพื่อปกครองโลกมนุษย์  จึงถือว่าเป็นผู้แทนพระองค์พระเป็นเจ้า  และทรงเป็นประธานในพิธีต่างๆ  เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชธุระมาขึ้น  จึงพระราชทานให้ขุนนางผู้มีความชอบเป็นผู้แทนพระองค์ในพิธี  เช่น งานโล้ชิงช้าและแรกนาขวัญ เป็นต้น  ฝรั่งเรียกว่า ดี มอค คิง The mock King ถึงกำหนดพิธีนี้ก็มีแห่พระยาผู้แทนพระองค์ เข้ามาในเมืองทางถนนมหาชัยเลี้ยวเข้าถนนเสาชิงช้า

กระบวนแห่นั้นมีสิ่งต่าง ๆ ที่น่าดูน่าชม  ตามฐานะของพระยาผู้ยืนชิงช้านั้นๆ  เช่นเมื่อพระยาศรีสหเทพ กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ยืนชิงช้า  ก็มีหมู่ชนต่าง ๆ พวกมาเข้ากระบวนจากหัวเมืองต่างๆ  เมื่อเจ้าพระยาพระเสด็จยืนชิงช้า  กระบวนแห่ก็เต็มไปด้วยการศึกษาต่างๆ เพราะท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงการศึกษา  มีทั้งรถการเล่นและตกแต่งเป็นรูปต่าง ๆ  เช่นมีรถหนึ่งแต่งเป็นห้องเรียนมีพวกตลกเป็นครูและลูกศิษย์สอนกันอย่างสนุกสนาน  โดยเฉพาะเราเด็ก ๆ ชอบรถนี่นัก  แม้ผู้ใหญ่ก็สนุกด้วยทั่วกัน  ถ้าจะเล่าถึงกระบวนเต็มที่ก็มีในหนังสือราชกิจจานุเบกษา  เมื่อเจ้าพระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ยืนชิงช้าใน พ.ศ. ๒๔๓๗ ดังนี้

"กระบวนแห่คราวนี้  มีกระบวนเกวียนเทียมโค  กระบวนเทียมกระบือ  กระบวนพลเดินเท้าถือธงต่าง ๆ ๙ สี  มีรถตั้งรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้พระราชทานทุกดวง  มีขลุ่ยเชียงใหม่สลับไปทุกกอง  มีกระบวนทหารอย่างเก่าใหม่ต่าง ๆ แทบทุกอย่าง   มีแตรวง มีรถภาพหุ่น  รถโขน  รถรูปมหาดเล็กเชิญเครื่องรถมีรูปม้า รถโรงเรียนราชกุมาร  ตำรวจดาบเขนดาบโล่  ดาบดั้ง  ดาบ ๒ มือ  พร้าแป๊ะกัก  ดาบเชลย  สาระวัด  บโทน  ขุนหมื่น  กลองชนะ  จ่าปี่  มีกันฉิ่ง ๔  สัปทน ๑  บังตะวัน ๑  มีคู่เคียง ๘  กระบวนหลังมีกระบวนปีไสถือง้าวถือตะบอง  มีขุนหมื่นทนายถืออาวุธถือเครื่องยศ  มีคนถือภาพหนัง  ถือทิว ๙ สี  ยี่เก  สิงโต  มังกร  เล่าโก๊"   เป็นจบกระบวนแห่  จะเห็นได้ว่าเป็นกระบวนยาวมิใช่เล่น

เมื่อพระยาเข้าที่นั่งเรียบร้อยแล้ว  ผู้ที่ทูลบนไว้แต่งตัวเหมือนกัน เรียกว่า นาลิวัน ก็ขึ้นโล้ชิงช้า  พยายามเอาปากคาบห่อเงินที่ผูกอยู่บนยอดไม้ไผ่  ถวายทอดพระเนตรเป็นการแก้บน  รุ่งขึ้นเช้าก็มีการรำเขนง  สาดน้ำมนต์แก่ประชาชนทั่วไป  พิธีแก้บนนี้ในเกาะปีนังก็ทำกันอยู่  เขาเรียกว่า ไตปุซัม  แต่เขาแก้บนด้วยการแทงลิ้น เจาะปาก เกี่ยวหลังด้วยเบ็ด อย่างขนหัวลุก  ข้าพเจ้าก็เคยได้เห็นและต้องหลับตาทุกครั้งที่ผ่านไป  จะเห็นได้ว่าเราเป็นพุทธจึงไม่ชอบทำการอันใดให้รุนแรง  แม้การแก้บนก็ให้เป็นเพียงโล้ชิงช้าถวาย  แต่ที่ไม่เลิกเสียก็เพราะเป็นความสุขใจอันหนึ่งของประชาชน  เพราะธรรมดาคนที่ตกทุกข์มักจะหันไปบนบานสิ่งที่ตัวนึกว่าจะช่วยได้อยู่เป็นธรรมดา

บางส่วนจาก เสาชิงช้า พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 08 เม.ย. 13, 08:53

เที่ยวงานภูเขาทองด้วยค่ะ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 08 เม.ย. 13, 11:06

ในกรุงเก่านั้น มีวัดภูเขาทองอยู่วัดหนึ่งทางเหนือพระราชวัง สมเด็จพระราเมศวรพระราชโอรสของพระเจ้าอู่ทองเป็นผู้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๑๙๓๐ ภายหลังสร้างกรุงเก่าแล้ว ๒๗ ปี ถึงกรุงเทพฯ พระมหานครนี้ ในรัชกาลที่ ๓ ทรงพระราชปรารภจะสร้างพระปรางค์อีกองค์หนึ่งทางฝั่งพระนคร จึงโปรดให้พระยาศรีพิพัฒย์รัตนราชโกษาเป็นแม่กอง ก่อฐานถมดินและลงรากเข็ม แต่ดินทางแถววัดสระเกศเป็นที่ลุ่ม ไม่ตั้งรากฐานให้แน่นหนาได้ จึงรับงานนั้นไว้ด้วยพูนดินไว้ก่อน

ถึงรัชกาลที่ ๔ โปรดให้ก่อพระเจดีย์บนเนินนั้น และเรียกว่าพระบรมบรรพต-ในทางราชการ แต่สามัญชนเรียกว่า ภูเขาทอง ยังไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาล รัชกาลที่ ๕ จึงโปรดเกล้าให้เจ้าพระยาพิพัฒน์รัตนโกษา(แพ บุนนาค) ซึ่งเป็นผู้ทำการก่อสร้างค้างมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ ให้ทำการก่อสร้างต่อไปให้สำเร็จได้ในพงศ. ๒๔๒๑ แล้วโปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุโดยกระบวนแห่จากพระบรมมหาราชวัง ไปตั้งพิธีมณฑลแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงบรรจุพระบรมธาตุนั้น ในพระเจดีย์องค์ใหญ่บนยอดภูเขาทอง ในวันพฤหัสบดี เดือนอาย แรม ๑๐ ค่ำ ปีฉลู ตรงกับทางสุริยคติคือวันที่ ๑๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๑

การเล่นฉลองในงานสมโภชภูเขาทองนี้มีหลายอย่าง ดังมีรายละเอียดอยู่ในราชกิจจานุเบกษาดังนี้

๑. ละครของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสิงหนาทราชดุรงคฤทธิ์
๒. หุ่นจีนของพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง
๓. พิณพาทย์ของเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง วง ๑
๔. พิณพาทย์ของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา วง ๑
๕. พิณพาทย์ของเจ้าพระยามหามนตรีศรีองครักษ์ วง ๑
๖. พิณพาทย์ของพระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง วง ๑
๗. พิณพาทย์ของพระยาพิไชยบุรินทรา วง ๑
๘. พิณพาทย์ของจมื่นสรรเพชญ์ภักดี วง ๑

ทำให้เห็นว่าข้าราชการในสมัยก่อนนั้น ได้เอาใจใส่ในศิลปะอยู่มิใช่น้อย หรือจะเป็นการครองชีพไม่สูงจึงเลี้ยงผู้คนได้เป็นจำนวนมากก็เป็นได้

บางส่วนจาก ภูเขาทอง พระนิพนธ์หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 08 เม.ย. 13, 11:24

การฉลองพระบรมสารีริกธาตุ ที่บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ร.ศ. ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)   ยิงฟันยิ้ม

ภูเขาทองในปี ๒๔๓๓





บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 20 คำสั่ง