เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
อ่าน: 32184 สยามใหม่ ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 04 เม.ย. 13, 18:55

เรื่องส่งเสริมความเป็นไทยตามนโยบายของคุณแปลก  (เรียกอย่างนี้ก็แล้วกัน) ออกมาแปลกๆสมชื่อท่าน      เพราะบางอย่างมันก็สวนทางกันอย่างที่สมัยนี้เรียกว่าสองมาตรฐานก็คงจะได้     เช่นชื่อตำบลอำเภอต่างๆจะบ่งบอกถึงเชื้อชาติอื่นไม่ได้      แต่พอถึงการแต่งกายกลับสนับสนุนให้แต่งแบบฝรั่ง ห้ามนุ่งโจงกระเบนแบบไทย    กินหมากก็ถือว่าเป็นข้อเสีย     อาหารประจำชาติกลายเป็นก๋วยเตี๋ยว ไม่ใช่น้ำพริก หรือแกงเผ็ด
แม้ว่ามีการส่งเสริมให้รำไทย    แต่ก็ไม่ใช่อย่างที่คนไทยพื้นบ้านรำกันมา   ต้องเอามาปรับระดับให้เป็นมาตรฐาน  กลายเป็นรำวงมาตรฐาน ผู้ชายสวมชุดสากลรำวง  ผู้หญิงนุ่งกระโปรง    ส่วนรำโทนอันเป็นที่มาของรำวงมาตรฐานกลับถูกห้ามรำในกรุงเทพ   รำได้เฉพาะในอีสานอันเป็นที่มาดั้งเดิม

ส่วนเรื่องดนตรี ก็อยู่ในความสนใจของคุณแปลก  ไม่น้อยกว่าศิลปะสาขาอื่นๆ   แต่ก็นั่นแหละ  ไม่วายมีอะไรแปลกๆอยู่บ้างเหมือนกัน    เช่นคุณแปลกมีบัญชาให้กรมศิลปากรตั้งวงจุลดุริยางค์หญิง 45 คนขึ้นเพื่อแสดงวัธนธัมทางดนตรีของไทย     ทั้งๆวงจุลดุริยางค์มีลักษณะเป็นดนตรีตะวันตก   ข้อนี้ท่านเห็นว่าไม่เป็นไร      แต่พอมาถึงเครื่องดนตรีไทยที่เล่นกันมานานแล้ว เช่นกลองยาว ซอด้วง และซออู้   กลับถูกห้ามนำเข้ามาเล่นในวงดนตรีไทย  เพราะถือว่าไม่ใช่เครื่องดนตรีไทยแต่ดั้งเดิม  ส่วนจะเป็นของชาติไหนมาก่อน ดิฉันไม่ทราบเหมือนกัน  เดาว่ากลองยาวน่าจะมาจากพม่า เพราะเคยได้ยินเพลง "พม่ากลองยาว"

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 04 เม.ย. 13, 19:13

การละเล่นของไทยที่รู้จักกันดีมานับร้อยปี อย่างลิเก  ละครชาตรี และหุ่นกระบอก  ถูกสั่งห้ามเช่นกัน    เพราะถือว่าไม่ใช่ของไทยมาแต่ดั้งเดิม 
ละครที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีคือละครปลุกใจของหลวงวิจิตรวาทการ  ซึ่งเป็นละครรูปแบบใหม่  เนื้อหาดัดแปลงจากประวัติศาสตร์ไทยตอนใดตอนหนึ่ง   เน้นว่าความรักใดๆก็ไม่เท่ากับความรักชาติ    ตัวเอกของเรื่องสามารถสละชีวิต พลีชีพเพื่อชาติได้เสมอ     
ด้วยเหตุที่ละครแบบนี้ไม่เหมือนละครที่เคยมีมาก่อน คนทั้งหลายจึงเรียกว่า "ละครหลวงวิจิตรวาทการ"  แต่ดูลักษณะแล้ว คล้ายละครพันทาง   มีทั้งพูด ร้องและรำ หรือระบำต่างๆ อยู่ในเรื่อง  เพลงก็มีทั้งเพลงไทยเดิมและเพลงไทยสากล   แทรกด้วยการแสดง  เช่น การรำอาวุธ การประลองอาวุธ การฟ้อนรำ และระบำต่างๆประกอบเพลง 
นอกจากนี้ละครหลวงวิจิตรวาทการยังมีลักษณะแปลก คือจะชวนเชิญให้ผู้ชมร้องเพลงในละครเรื่องนั้น   คนดูได้รับแจกเนื้อเพลง สามารถนำมาร้องให้ลูกหลานฟังต่อไป

ชื่อละครเหล่านี้คือ คือ  ราชมนู พระเจ้ากรุงธน ศึกถลาง เจ้าหญิงแสนหวี พระมหาเทวี เบญจเพส น่านเจ้า อนุสาวรีย์ไทย พ่อขุนผาเมือง ดาบแสนเมือง ชนะมาร เจ้าหญิงกรรณิการ์ สีหราชเดโช ตายดาบหน้า ลานเลือดลานรัก เพชรรัตน์ - พัชรา ลูกพระคเณศ ครุฑดำ โชคชีวิต อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง อานุภาพแห่งความเสียสละ อานุภาพแห่งความรัก อานุภาพแห่งศีลสัตย์ และเลือดสุพรรณ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 04 เม.ย. 13, 20:10

ราชมนู 
อาจารย์หมอศานติน่าจะเคยดู ตอนเด็กๆ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 04 เม.ย. 13, 20:49

ขอออกตัวหน่อยว่า ถ้าหมู่นี้หายไปก็เพราะเหตุผลอีกอย่างคือ เข้าเว็บเรือนไทยไม่ได้ค่ะ     เกิดอะไรไม่ทราบ  เดี๋ยวก็เข้าได้ เดี๋ยวก็เข้าไม่ได้    บางทีพิมพ์ๆอยู่   พอส่งเกิดเว็บขัดข้องขึ้นมาเสียแล้ว    ต้องรออีกพักใหญ่กว่าจะเข้าได้ตามปกติ    สักพักก็หลุดอีก

พยายามแกะรอยแนวคิดของคุณแปลก ในเรื่องสยามใหม่     บางเรื่องก็ยังสับสนอยู่หาคำตอบไม่ได้    บางเรื่องก็พอดูออก  จึงเรียบเรียงคำตอบออกมาตามนี้
1   จอมพลป. เป็นคนที่นิยมแฟชั่นตะวันตก  (หมายถึงยุโรปและสหรัฐอเมริกา)   ฝรั่งในยุค 1930s จนถึง1940s แต่งกายเป็นทางการกว่าฝรั่งสมัยนี้มาก   ใครดูหนังขาวดำเก่าๆคงนึกออกว่า ออกจากบ้านหรือแม้แต่อยู่ในบ้านก็ตาม  นักแสดงฝ่ายชายสวมเสื้อนอกเรียบร้อย   ออกนอกบ้านก็สวมหมวก สวมสูท รองเท้าหุ้มส้น     ผู้หญิงออกนอกบ้านก็สวมหมวก ถุงมือ และมีเสื้อโค้ตสวมทับเสื้อกระโปรงด้วย   
    ในเมื่อจอมพลป. นิยมแฟชั่นแบบนี้ ท่านจึงไม่เห็นว่าการแต่งกายแบบฝรั่ง  แสดงถึงเชื้อชาติอื่น   ผิดกับชื่อถนนหนทางและตำบลของไทยที่มีคำว่าจีน ญวน ลาว ฯลฯ  ที่ต้องเปลี่ยนหมด

2   จอมพลป.  คงไม่นิยมชมชื่นประเทศในเอเชียด้วยกันเท่าใด    แม้แต่ญี่ปุ่นเอง ซึ่งท่านเชื่อมั่นว่าจะชนะสงครามและกลายเป็นมหาอำนาจของเอเชีย      เห็นได้จากท่านไม่เคยสนับสนุนให้คนไทยรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันเลย

     ความนิยมชมชื่นตะวันตก  นอกจากแฟชั่นแล้วยังขยายไปถึงวิธีปฏิบัติตัวของชายหญิงด้วย      เช่นมีข้อกำหนดให้สามีจูบลาภรรยาก่อนออกจากบ้านไปทำงาน    แต่ข้อนี้  รัฐเห็นจะไม่กวดขันเท่าเรื่องห้ามกินหมาก   เพราะไม่เห็นบอกว่าจะต้องตักเตือนหรือลงโทษอย่างใด ถ้าหากว่าสามีไม่ร่วมมือ
บันทึกการเข้า
ศานติ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 190

อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 04 เม.ย. 13, 20:51

อ้างถึง คห. ๙๒  โชคไม่ดี ไม่ได้ดูครับ โทรทัศน์ยังไม่มี แม่คงฟังรู้เรื่องน้อย พ่อไม่สนใจ เลยต้องอยู่บ้านหาความสำราญโดยการรังแกน้องสาวแฝด ๕๕๕  มีวิทยุ ได้ฟังนายมั่นนายคงเป็นประจำ รู้สึกว่าพ่อจะแอบฟังสถานีอื่นนอกจากสถานีกรมโฆษณาการอยู่ แต่เปิดไม่ดัง จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าการฟังสถานีต่างชาติมีความผิด
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 05 เม.ย. 13, 07:32

มีวิทยุ ได้ฟังนายมั่นนายคงเป็นประจำ รู้สึกว่าพ่อจะแอบฟังสถานีอื่นนอกจากสถานีกรมโฆษณาการอยู่ แต่เปิดไม่ดัง จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าการฟังสถานีต่างชาติมีความผิด

ชะตากรรมของนายมั่น-นายคง

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระราชธรรมนิเทศ (เพียร  ไตติลานนท์) กล่าวถึงคดีอาชญากรววงครามไว้ว่า  คุณพระฯ ตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามร่วมกับจอมพล ป.  พิบูลสงคราม และนายสังข์  พัธโนทัย  โดยคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสามมีใจความว่า สมัครใจเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น และโฆษณาชักชวนให้ประชาชนเห็นชอบกับการทำสงครามรุกรานสันติภาพของภูมิภาคระหว่างวันที่  ๑๖  กรกฎาคม ถึงวันที่  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๘๖  ขอให้ลงโทษริบทรัพย์และเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย  

บทบาทของคุณพระฯ กับนายสังข์  พัธโนทัย ที่ถูกกล่าวหานั้นคือ บทบาทของ "นายมั่น - นายคง" ที่ออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อในระหว่างสงคราม


บันทึกการเข้า
ศานติ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 190

อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 05 เม.ย. 13, 08:50

พูดถึงนายสังข์ พัธโนทัย ทำให้ผมนึกถึงหนังสือเล่มหนึ่งที่ท่านแต่ง แล้วผมได้อ่านตอนอายุ ๑๐ ขวบ ชื่อ ศึกไทยในร้อยปี จำได้ว่าน่าสนใจดี
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 05 เม.ย. 13, 09:51

         เคยค้นหาประวัติ พระราชธรรมนิเทศ ตอนตั้งกระทู้เก่า ร้อยกรองวันแม่

http://www.reurnthai.com/index.php?topic=2284.30

ได้ประวัติของท่านในเน็ทน้อยมาก ปีนี้ มีประวัติของท่านเพิ่มเติมจากคุณ คีตา พญาไท แห่งเว็บผู้จัดการ

http://www.manager.co.th/Entertainment/ViewNews.aspx?NewsID=9560000007247&CommentReferID=22696641&CommentReferNo=1&


        พระราชธรรมนิเทศ (เพียร ไตติลานนท์) เป็นบุตรของ นายเปลี่ยน นางจัน ไตติลานนท์
เกิดที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ เรียนหนังสือที่
โรงเรียนวัดทรงธรรม พระประแดง และโรงเรียนฝึกหัดครู บ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้รับทุนไปศึกษาต่อ
ที่ประเทศอังกฤษ ต่อมาได้รับราชการเป็น ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย และ เป็นเลขานุการประจำ
พระองค์ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในสมัยรัชกาลที่ ๗ เคยเป็น
รองอธิบดีกรมโฆษณาการ และ อธิบดีกรมธรรมการ
       
         เป็นผู้มีบทบาทด้านการเมืองในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม เคยเป็น คณะกรรมการส่งเสริม
วัฒนธรรมไทย ที่แก้ไขปรับปรุงภาษาไทย และ ชำระปทานุกรมแห่งราชบัณฑิตยสถาน ในการปรับปรุง
อักษรไทย เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ให้เหลือเพียง ๓๑ ตัว โดยมี พระยาอนุมานราชธน (เสฐียรโกเศศ)
เป็นประธาน จนได้ชื่อว่า เป็น ๑ ใน ๔ ปุโรหิตประจำตัวของจอมพล ป.พิบูลสงคราม คือ ยง เถียร เพียร นวล
อันได้แก่ ยง (พระยาอนุมานราชธน) เถียร(หลวงวิเชียรแพทยาคม) เพียร(พระราชธรรมนิเทศ)
นวล(หลวงสารานุประพันธ์)


บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 05 เม.ย. 13, 09:53

          เป็นผู้เขียนบทสนทนา นายมั่น นายคง ทางวิทยุกระจายเสียง ที่โด่งดังมากในยุคเชื่อผู้นำ
จะพ้นภัย เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร์ จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๑ และได้รับการเลือกตั้ง
ให้เป็น ประธานสภาผู้แทนราษฎรในสมัยรัชกาลที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๗๗ – ๒๔๗๘)
       
        เป็นนักเขียน นักพูด คนสำคัญคนหนึ่ง โดยเฉพาะ หนังสือ รัฐธรรมนูญคำกลอน พ.ศ. ๒๔๗๘
และ มีชื่อเสียงมากจากบทกลอน ที่แปลมาจากภาษาอังกฤษ ได้แก่
       
    ถึงชายได้ กวัดแกว่ง แผลงจากอาสน์
ซึ่งอำนาจ กำแหง แรงยิ่งกว่า
อันมือไกว เปลไซร้ แต่ไรมา
คือหัตถา ครองพิภพ จบสากล
       
        จาก บทกลอน อะไรครองโลก? ของ William Ross Wallace ที่ว่า
       
    But a mightier power and stronger Man from his throne has hurled,
   And the hand that rocks the cradle, Is the hand that rules the world.
       
และ บทกลอน แม่ของฉัน ที่ว่า

        เมื่อล้มกลิ้ง ใครหนอวิ่ง เข้ามาช่วย
และปลอบด้วย นิทาน กล่อมขวัญให้
หรือจูบที่ เจ็บชะมัด ปัดเป่าไป
ผู้นั้นไซร้ ที่แท้ แม่ฉันเอง

      Who ran to help me when I fell,
And would some pretty story tell,
Or kiss the place to make it well ?
My Mother.
        จากบทกลอน My Mother ของ Ann Taylor
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 05 เม.ย. 13, 11:25

                 จนได้ชื่อว่า เป็น ๑ ใน ๔ ปุโรหิตประจำตัวของจอมพล ป.พิบูลสงคราม คือ ยง เถียร เพียร นวล
อันได้แก่ ยง (พระยาอนุมานราชธน) เถียร(หลวงวิเชียรแพทยาคม) เพียร(พระราชธรรมนิเทศ)
นวล(หลวงสารานุประพันธ์)

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพกล่าวถึง "สี่ปุโรหิต" ในยุควัธนธัมนำไทยไว้ว่า

"ในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น  กล่าวกันว่า พระราชธรรมนิเทศนั้นได้เป็นหนึ่งใน “สี่ปุโรหิต” คู่บารมีจอมพล ป. พิบูลสงคราม  ซึ่งที่มาของชื่อเรียกนี้มาจากการที่จอมพล ป. มักพูดอยู่เสมอว่า ในมโหสถชาดกนั้น  มีปุโรหิตอยู่สี่คนที่ช่วยว่าราชการงานต่าง ๆ ให้กับมโหสถ  และโดยส่วนตัวท่านเองนั้นก็มี “ปราชญ์” สี่คนคอยช่วยงานการด้วยเช่นกัน คือ  “ยง  เถียร  เพียร  นวล”  อันหมายถึง พระยาอนุมานราชธน (ยง  เสฐียรโกเศศ)  หลวงวิเชียรแพทยาคม (เถียร  ตูวิเชียร)  พระราชธรรมนิเทศ (เพียร  ไตติลานนท์) และหลวงสารานุประพันธ์ (นวล  ปราจิณพยัคฆ์)
 

ข้อที่คุณแปลกว่า ปราชญ์ทั้งสี่คอยช่วยงานให้กับมโหสถนั้น คงจะพลาดไป ที่ถูกต้องแล้ว ผู้ที่ปราชญ์ทั้งสี่ช่วยราชการคือ พระเจ้าวิเทหราช  ส่วนมโหสถเป็นปราชญ์คนทีห้าที่จะมาช่วยราชการ แลดูจะเป็นคู่แข่งปราชญ์สี่คนแรกเสียด้วย

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 05 เม.ย. 13, 11:44

ชะตากรรมของนายมั่น-นายคง

ในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ เสวกเอก พระราชธรรมนิเทศ (เพียร  ไตติลานนท์) กล่าวถึงคดีอาชญากรววงครามไว้ว่า  คุณพระฯ ตกเป็นจำเลยในคดีอาชญากรสงครามร่วมกับจอมพล ป.  พิบูลสงคราม และนายสังข์  พัธโนทัย  โดยคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ยื่นฟ้องบุคคลทั้งสามมีใจความว่า สมัครใจเข้าร่วมสงครามกับญี่ปุ่น และโฆษณาชักชวนให้ประชาชนเห็นชอบกับการทำสงครามรุกรานสันติภาพของภูมิภาคระหว่างวันที่  ๑๖  กรกฎาคม ถึงวันที่  ๓๑  ธันวาคม  พ.ศ. ๒๔๘๖  ขอให้ลงโทษริบทรัพย์และเพิกถอนสิทธิออกเสียงเลือกตั้งด้วย  

บทบาทของคุณพระฯ กับนายสังข์  พัธโนทัย ที่ถูกกล่าวหานั้นคือ บทบาทของ "นายมั่น - นายคง" ที่ออกอากาศโฆษณาชวนเชื่อในระหว่างสงคราม


ผลของคดี

ศาลฎีกาโดยพระยาลัดพลีธรรมประคัลภ์ ผู้ซึ่งเป็นทั้งประธานศาลฏีกาและเป็นเจ้าของสำนวน ร่วมวินิจฉัยกับองค์คณะประกอบด้วยพระยาเลขวณิชธรรมวิทักษ์ พระยาธรรมบัณฑิตสิทธิศฤงคาร และพระชัยประชา ได้ชี้ขาดว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. 2488 เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังว่าการกระทำก่อนวันประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ คือวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๔๘๘ เป็นความผิดด้วยนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ และเป็นโมฆะ อันจะทำให้ลงโทษจำเลยทั้ง ๓ ไม่ได้

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 07 เม.ย. 13, 17:34

พบประวัติของพระราชธรรมนิเทศ อีกนิดหน่อยค่ะ

 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตแล้ว มีการจัดระเบียบราชการภายในพระราชสำนักโดยยุบกรมมหาดเล็กรวมเข้ากับกระทรวงวัง และมีการยุบส่วนราชการในกรมมหาดเล็กบางส่วนลง เช่น ยุบเลิกกรมมหรสพ และกรมโรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ที่บังคับบัญชาโรงเรียนทั้ง ๔ แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ พระยาบรมบาทบำรุง (พิณ ศรีวรรธนะ) ผู้บังคับการโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชธรรมนิเทศ เพียร ไตติลานนท์) ผู้บังคับการโรงเรียนราชวิทยาลัย ต่างก็ถวายฎีกาคัดค้าน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนราชวิทยาลัยมารวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง และพระราชทานนามให้ใหม่ว่า “โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย” เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๖๙ ส่วนโรงเรียนพรานหลวงนั้นถูกยุบเลิกไปในคราวนั้น

พบว่าพระราชธรรมนิเทศ (เพียร ราชธรรมนิเทศ)ได้เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร  ระหว่าง๑๕ มิถุนายน ๒๔๙๒ - ๒๙  พฤศจิกายน ๒๔๙๔ ค่ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 07 เม.ย. 13, 17:43

  ถ้าเป็นสมัยนี้อาจมีคำถามว่า ความเป็นไทยของคุณแปลกคืออะไรกันแน่    ทำไมเดี๋ยวฝรั่งเดี๋ยวไทย    ในสมัย "วัธนธัม"   การดำเนินงานทุกอย่างของจอมพลป. เพื่อให้ไทยเป็นอารยประเทศ ตามความคิดของท่าน เป็นไปอย่างราบรื่นไม่มีสะดุด    ทั้งราชการและเอกชนไม่มีใครคัดค้าน  ประชาชนทุุกคนขานรับและปฏิบัติตาม ไม่มีปัญหาว่าเต็มใจหรือไม่เต็มใจ    ทุกคนก็เดินตามทางที่ "ท่านผู้นำ" เดินนำอยู่  อย่างพร้อมเพรียงทั่วกัน

   ศ.ม.ล.บุญเหลือ เทพยสุวรรณ เขียนไว้ในอัตชีวประวัติของท่าน ชื่อ "ความสำเร็จและความล้มเหลวของข้าพเจ้า" ตอนหนึ่ง ว่า

   " ข้าพเจ้ายังเชื่อไม่ได้จนทุกวันนี้   ว่าบุคคลคนเดียวสามารถทำให้มีเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในสมัยสงคราม ในด้านนิสัยชีวิตของคนไทยได้...ข้าพเจ้ายังเชื่อไม่ได้ว่าคนสูงสุดคนเดียวทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เกิดแล้ว    ข้าพเจ้าว่าผู้มีอำนาจคนนั้นมีมิตรโง่  และมีศัตรูฉลาด    มิตรโง่ตามใจเรื่อยไป   ศัตรูฉลาดก็ตามใจให้เหลิง   จนกระทั่งให้ดูเหมือนคนบ้าได้เหมือนกัน"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 07 เม.ย. 13, 20:49

      อย่างไรก็ตาม   ความฝันอันรุ่งโรจน์เพื่อนำไทยไปสู่อารยประเทศดับวูบลง ในวันที่ 24 กรกฎาคม  2487   เมื่อจอมพลป. พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   เนื่องจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่รับหลักการร่างพระราชบัญญัติอนุมัติพ.ร.ก. จัดตั้งนครบาลเพ็ชรบูรณ์และพุทธบุรีมณฑล      นายกรัฐมนตรีคนใหม่คือพันตรีควง อภัยวงศ์ แถลงในวันแรกที่ได้รับตำแหน่งว่า

        " ข้าพเจ้ามิได้เป็นผู้นำ    ข้าพเจ้าเป็นนายกฯ"

         ผลงานแรกๆของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ก็คือออกคำสั่งยกเลิกนโยบายสร้างสยามใหม่ในหลายๆเรื่องที่นายกฯคนเก่าริเริ่มไว้   อย่างหนึ่งก็คือสั่งให้ข้าราชการตามกระทรวงต่างๆเลิกหัดรำวง   เพราะเอาเวลาราชการไปเสียโดยเปล่าประโยชน์    ผ่อนผันเรื่องสวมหมวกและรองเท้า      จากนั้นคำสั่งต่างๆที่ยกเลิกระเบียบปฏิบัติต่างๆก็ทยอยกันตามออกมา  เช่นเลิกใช้ตัวอักษรแบบใหม่  เลิกระเบียบการตั้งชื่อบุคคล  เลิกการห้ามกินหมาก   เรื่องขายก๋วยเตี๋ยว ฯลฯ 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 07 เม.ย. 13, 20:50

     สรุปว่าคำสั่งอะไรต่อมิอะไรของจอมพลป. ที่บังคับให้คนไทยทำโน่นทำนี่   ผิดไปจากชีวิตประจำวันเมื่อก่อนของพวกเขา  ถูกยกเลิกหมด    ใครจะไม่สวมรองเท้า นุ่งโจงกระเบน กินหมาก ก็ได้   ผู้หญิงจะชื่อนางสาวประกอบ หรือผู้ชายชื่อนายเพ็ญชมพูก็ทำได้ไม่มีใครห้าม เว้นแต่เจ้าตัวเขาจะสมัครใจไม่ใช้ชื่อแบบนี้เอง

     นโยบายสร้างชาติของจอมพลป. ที่ดูภายนอก ทำท่าเหมือนว่าสถาปนาอย่างมั่นคงมาหลายปี โดยไม่มีประชาชนผู้ใดต่อต้าน   เอาเข้าจริงก็พิสูจน์ให้เห็นว่าอะไรก็ตามที่ไม่ได้หยั่งรากลึกลงไปในวัฒนธรรมไทย  และไม่ได้ค่อยๆพัฒนาชนิดค่อยเป็นค่อยไปด้วยตัวของมันเอง   ย่อมเกิดขึ้นง่ายและดับลงไปง่ายด้วยเช่นกัน  ไม่ต่างอะไรกับพลุที่สว่างเพียงชั่วครู่เดียว   
    วัฒนธรรมในสังคมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามความเหมาะสม   ไม่จำเป็นต้องบีบบังคับ  จะเห็นได้ว่าจอมพลป. เองก็ดูจะยอมรับความเป็นจริงข้อนี้   ดังนั้นเมื่อกลับมาเสวยอำนาจอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ท่านจึงไม่ได้รื้อฟื้น 'วัธนธัม' ไทยขึ้นมาอีกเลย   
   
    เอวังของสยามใหม่ก็มีด้วยประการฉะนี้
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.189 วินาที กับ 20 คำสั่ง