บี.เจ. เทอร์วีล อธิบายถึงการสักในระบบราชการของชนชาติไท ต่ออีกว่า
ในการปกครองบ้านเมืองของชนชาติไทกลุ่มอื่น ๆ เช่น ไทอาหม เป็นต้น ไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้ใช้การสักเพื่อกำหนดหน้าที่และฐานะของคนในสังคม ดูจะเป็นไปได้อย่างมาทีเดียวที่การสักชนิดนี้คงมีแต่ชาวสยามเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้นที่ถือปฏิบัติมาแต่ครั้งอดีตกาล
ในภูมิภาคนี้ นอกจากชาวสยามแล้ว พบว่ามีแต่ชาวเวียดนามเท่านั้นที่มีการสักในระบบราชการ มีหลักฐานบันทึกไว้ว่า ในศตวรรษที่ ๑๑ (นับแบบเวียดนาม) ทหารรักษาพระองค์จะได้รับการสักที่หน้าผาก ซึ่งนับเป็นรอยสักแห่งเกียรติยศของอาชีพที่น่าภาคภูมิใจ และในศตวรรษที่ ๑๓ (นับแบบเวียดนาม) ทหารที่จงรักภักดีต่อชาติจะมีรอยสักที่แขนเป็นข้อความว่า
"มงโกลจงพินาศ" กล่าวโดยสรุป การสักร่างกายให้มีเครื่องหมายซึ่งลงไม่ได้เพื่อแสดงสถานะของคนในสังคม ที่มีปรากฏในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมิใช่กิจกรรมที่เป็นของวัฒนธรรมเดียว คือของชาวสยามเท่านั้น จากหลักฐานต่าง ๆ ที่มีอยู่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ชาวสยามได้ยืมแนวคิดเรื่องการสักชนิดนี้มาจากชาวเวียดนามกระนั้นหรือ? หรือชนสองกลุ่มนี้ต่างก็คิดวิธีการนี้ขึ้นมาเอง?
อย่างไรก็ตาม การสักทางราชการดูเหมือนจะไม่ใช่ลักษณะร่วมของวัฒนธรรมไทโบราณซึ่งแพร่กระจายทั่วภาคพื้นี้ และจากหลักฐานต่าง ๆ ก็มิได้สนับสนุนความเกี่ยวพันระหว่างการสักชนิดนี้กับวัฒนธรรมออสโตรเอเชียติค
