เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
อ่าน: 47230 รอยสักของไทย
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
 เมื่อ 18 มี.ค. 13, 13:48

จะเล่าสิ่งละอันพันละน้อย สั้นๆ  เกี่ยวกับรอยสักของไทยค่ะ
เปิดประตูให้เข้ามานั่งกันก่อนจะเปิดชั้นเรียนภาคค่ำ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 18 มี.ค. 13, 20:41

รอยสักบนร่างกายของคนไทย เกิดจากเหตุผลหลายอย่าง    อย่างแรกคือเป็นค่านิยมในท้องถิ่น อย่างพวกทางเหนือ นิยมสักเพราะเห็นว่าเป็นความงาม   และใช้แสดงความเป็นลูกผู้ชาย   เพราะการสักร่างกาย ต้องทนเจ็บปวดมาก   ผู้ชายกล้าหาญและอดทนความเจ็บปวดได้เท่านั้นจึงจะสักลวดลายถี่ยิบลงบนร่างกายได้   ดังนั้น หนุ่มๆที่ไร้รอยสักจะไม่เป็นที่เหลียวแลของหญิงสาว 
ธรรมเนียมนี้เป็นที่แพร่หลายทั่วไป จนยากที่จะหาชายไหนที่ไม่ได้สักร่างกาย     เพิ่งจะมาเลิกกันเมื่อประมาณ 60 ปีมานี้เอง

ชายเหนือนิยมสักลวดลายตั้งแต่พุงลงไปจนถึงขา ด้วยหมึกดำ เป็นรอยเต็มพรืดบนร่างกายราวกับนุ่งกางเกงขาสามส่วน     คนภาคกลางที่ขึ้นไปเห็น จึงเรียกกันชายเหล่านี้ว่า "ลาวพุงดำ"


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 19 มี.ค. 13, 14:07

สำหรับชายไทยภาคกลาง  ถ้าหากว่าเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดา ที่สมัยอยุธยาเรียกว่า "ไพร่" พอโตขึ้นเป็นหนุ่ม อยากสักหรือไม่อยากสักก็ต้องเจอรอยสักทุกคน   เพราะทุกคนต้องขึ้นทะเบียนเป็นไพร่หลวงที่มีสังกัดกรมกอง    วิธีรู้ว่าใครเป็นไพร่หลวงก็คือ ต้อง  "สักเลก"
คำว่า "เลก" หรือเลข หมายถึงชายฉกรรจ์ โตเป็นหนุ่มวัดส่วนสูงได้ถึง 2.5  ศอก หรือตั้งแต่ 150 ซ.ม. ขึ้นไป ก็ต้องเป็นเลกไปจนถึงอายุ 70 ปี   มีหน้าที่เข้ามารับใช้ราชการ ปีละกี่เดือนก็ว่ากันไป    วิธีรู้ว่าใครเป็นใคร สังกัดไหน   ทางการใช้สักคือการเอาเหล็กแหลมแทงตามเส้นหมึกที่เขียนไว้  ทำให้ผิวหนังเป็นรอยตัวอักษร  บอกชื่อเมือง ชื่อมูลนายที่สังกัด โดยสักที่ข้อมือด้านหน้า คือด้านหลังมือ   
รอยนี้ติดแน่นไม่ลบเลือน เอาออกไม่ได้  จะหนีไปไหนทางการบ้านเมืองก็ตามตัวพบเพราะรอยสักนี้เอง

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 19 มี.ค. 13, 14:09

การเป็นไพร่ หมายถึงแรงงานที่ต้องทำฟรีให้บ้านเมือง    ในยามสงบก็ถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานต่างๆ   ในยามรบก็ถูกเกณฑ์ไปรบ  ไม่มีทางหลีกเลี่ยง   รอยสักข้อมือจึงเป็นเครื่องหมายของความลำบากตรากตรำ   หาทางให้พ้นได้ก็ดี   
ถ้าเป็นเจ้าขุนมูลนายไม่ได้เพราะเกิดมาเป็นชาวไร่ชาวนาเสียแล้ว  หนทางหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงได้คือไปบวช  เพราะพระสงฆ์แม้เป็นชายฉกรรจ์ก็ถือว่าพ้นจากทางโลกไปแล้ว  ไม่ถูกเกณฑ์แรงงานใดๆ

ในขุนช้างขุนแผน  พอเณรแก้วร้อนผ้าเหลือง อยากมีเมีย  คิดจะสึก  ท่านสมภารคงก็เตือนไว้ว่าอย่าหาเรื่องถูกสักข้อมือเลย

ฆราวาสชาตินี้มันชั่วนัก                      จะสึกไปให้เขาสักเอ็งหรือหวา
ข้อมือดำแล้วระกำทุกเวลา                  โพล่กับบ่าแบกกันจนบรรลัย
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 19 มี.ค. 13, 14:44

ขุนช้างขุนแผน พูดถึงเรื่องการสักไว้เพิ่มอีกดังนี้ครับ

อันแม่ทัพคนนี้มีศักดา            อยู่คงศาสตราวิชาดี
แขนขวาสักรงเป็นองค์นารายณ์   แขนซ้ายสักชาดเป็นราชสีห์
ขาขวาหมึกสักพยัคฆี            ขาซ้ายสักหมีมีกำลัง
สักอุระรูปพระโมคคลา           ภววัมปิดตานั้นสักหลัง
สีข้างสักอักขระนะจังงัง          ศีรษะผังพลอยนิลเม็ดจินดา


แสดงว่าสักเกือบทั้งตัวเลยนะนี่ครับ จะเห็นว่ามีการใช้ "สักชาด" สีแดงในการสักผิวหนังด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 19 มี.ค. 13, 15:01

แม่ทัพคนนี้เป็นแม่ทัพเชียงใหม่ ชื่อแสนตรีเพชรกล้า   รูปร่างหน้าตาน่ากลั๊ว ไม่ได้หล่ออย่างหนุ่มเหนือโดยมาก  แค่เห็นหน้าตาฝ่ายตรงข้ามก็ระย่อเสียแล้ว

“สูงใหญ่รูปร่างเหมือนเสือ              กำลังเหลือเนื้อหนังก็แน่นเหนียว
หนวดโง้งฟั่นพันเป็นเกลียว             ฟันขาวปากเขียวดังปลิงควาย
นัยน์ตาดำคล้ำคล้ายกับตาเสือ         ขอบตาแดงเรื่อดังชาดป้าย
คิ้วกระหมวดหนวดแดงดูแรงร้าย       ผมมุ่นมวยคล้ายกับโยคี”

    วิธีสักของท่านแม่ทัพไม่แน่ใจว่าเป็นการสักแบบล้านนาหรือว่าแบบไทยภาคกลางกันแน่  เพราะสักทั้งแขนทั้งขา หน้าอก แผ่นหลังและสีข้าง  ลายพร้อยไปทั้งตัว  ไม่ได้สักเฉพาะพุงลงไปถึงขาอย่างลาวพุงดำ
    รอยสักแบบนี้อยู่ในหัวข้อสักไสยศาสตร์  ซึ่งตั้งใจว่าจะพูดต่อไปหลังจากพูดถึง "สักประจาน"    พอดีคุณหนุ่มสยามยกขึ้นมาตอนนี้ ก็เลยเลื่อนมาพูดเสียตอนนี้ก็ดีเหมือนกันค่ะ  ไม่ขาดตอน


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 19 มี.ค. 13, 15:17

    ท่านแม่ทัพแสนตรีเพชรกล้า ไม่ได้สักสีเขียวครามอย่างรอยสักธรรมดา  แต่เล่นสีสันทั่วตัวด้วย   
    แขนขวาที่บอกว่าสักสีรงนั้นคือสีเหลือง  เป็นรูปพระนารายณ์ซึ่งเป็นเทพเจ้าอิทธิฤทธิ์ยิ่งใหญ่  อวตารลงมาปราบปรามฝ่ายอธรรมเมื่อโลกเกิดความเดือดร้อน    แขนซ้ายสักสีแดงเป็นรูปราชสีห์ เจ้าแห่งสัตว์หิมพานต์ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีอำนาจสุด    ขาขวาสักหมึกเป็นรูปเสือ  ขาซ้ายสักเป็นรูปหมี  ล้วนแต่ยอดสัตว์ป่า     ตรงอกสักเป็นพระโมคคัลลาน์ซึ่งเป็นเอตทัคคะด้านอิทธิปาฏิหาริย์  ข้างหลังสักเป็นพระภัควัมปิดตา ก็คือพระปิดทวารทั้งเก้า ยอดแห่งความเหนียวแน่น  สีข้างสักเป็นคาถานะจังงัง  เป็นคาถาตวาดศัตรูให้นิ่งงันไปไม่อาจจะเข้ามาทำร้ายได้

    จนใจไม่รู้จะหารูปตัวอย่างมาจากไหน  ซายาเพ็ญพอจะมีบ้างไหม

   ลายสักแบบนี้ เกิดจากความเชื่อว่าลวดลายของขลังต่างๆเหล่านี้สามารถบันดาลความคงกระพันชาตรีแก่เนื้อหนังได้     ใช้สำหรับคนที่ต้องเสี่ยงอันตรายเช่นออกรบทัพจับศึกเป็นประจำ      แต่ในเรื่องนี้แสนตรีเพชรกล้าก็ไม่ได้ใช้แต่รอยสักอย่างเดียว ยังเพิ่มความเหนียวด้วยวิธีฝังด้วย 
   ฝังเข็มเล่มทองไว้สองไหล่                   ฝังเพชรเม็ดใหญ่ไว้แสกหน้า
ฝังก้อนเหล็กไหลไว้ในอุรา                      ข้างหลังฝังเทียนคล้าแก้วตาแมว
เป็นโปเปาปุบปิบยิบทั้งกาย                     ดูเรี่ยรายรอยร่องเป็นถ่องแถว
แต่เกิดมาอาวุธไม่พ่องแพว                     ไม่มีแนวหนามขีดสักนิดเดียว”
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 19 มี.ค. 13, 15:23

หาภาพรอยสักอย่างล้านนาไทยมาให้ชม เป็นภาพที่โด่งดังมากในนามปู่ย่าแห่งเมืองน่าน จะเห็นรอยสักหมึก และ ชาดแดง ครับ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 มี.ค. 13, 15:25

ชาวล้านนาโบราณกับรอยสัก ดูไปก็งามดีนะครับ


บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 มี.ค. 13, 17:47

เดิมชาวล้านนาก็ไม่ได้สักขาเหมือนชาวสยามและล้านช้าง  แต่ก่อนที่พม่าจะยกลงมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งหลัง  พระเจ้ากรุงอังวะได้มีตรามาบังคับให้ชาวล้านนาสักขา  การสักขาลายนี้จึงเป็นที่มาของคำเรียกชาวล้านนาว่า "ลาวพุงดำ"  และ "ลาวพุงขาว" คือพวกลาวล้านช้างที่มิได้สักขา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 มี.ค. 13, 21:30

ชาวล้านนาในอดีต 
ชายล้านนานิยมการสักขาลายมาก เมื่อมีอายุย่างเข้าสู่วัยรุ่นจะทำการสักแทบทุกคน  การสักชนิดนี้ใช้หมึกสีดำ  ไม่มีการเสกคาถากำกับแต่อย่างใด เพราะเป็นการสักเพื่อความสวยงามตามจารีตประเพณีนิยม  เป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเข้มแข็งของลูกผู้ชาย  ทั้งนี้เนื่องจากในอดีตคนส่วนใหญ่จะนิยมอาบน้ำในแม่น้ำหรือลำห้วย  โดยแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มผู้ชายและกลุ่มผู้หญิง ในสมัยนั้นผู้ชายที่มีรอยสักหมึกตามร่างกาย  โดยเฉพาะที่ขาต้องสักขาลายด้วยจึงถือว่าเป็นผู้ชายเต็มตัว  หากชายคนใดไม่ได้สักขาลาย  ถ้าไปอาบน้ำก็จะถูกล้อเลียนว่าขาขาวเหมือนผู้หญิงควรจะไปอยู่กับกลุ่มผู้หญิง  ทำให้ชายผู้นั้นได้รับความอับอายมากและผู้หญิงก็ไม่ชอบผู้ชายขาขาวถือว่าเป็นคนอ่อนแอไม่สมควรเอามาเป็นคู่ครอง ด้วยเหตุนี้ผู้ชายในสมัยนั้นจึงนิยมสักขาลายแทบทุกคน   
ส่วนความเชื่ออื่นๆ ที่เกี่ยวกับการสักหมึก  ตัวอย่างเช่น  ความมั่นใจ อยู่ยงคงกระพัน  ให้โชคลาภหรือรักษาโรคภัยไข้เจ็บ  เป็นต้น  จะพบน้อยมากเป็นเพราะว่าเป็นความเชื่อเฉพาะบุคคล ไม่ได้เป็นเหตุผลสำคัญ  จึงไม่มีอิทธิพลต่อผู้สักเท่าไหร่ จะพบเพียงไม่กี่คนที่สักเพื่อจุดมุ่งหมายเฉพาะตัว
การสักขาลายทุกครั้งนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาและความอดต่อความอดทนต่อการเจ็บปวดที่ได้รับ
จากการสัก บางคนบอกว่าเจ็บพอทนได้ บางคนบอกว่าเจ็บเหลือประมาณ    โดนหลักสักแทงไม่กี่ครั้งก็บอกเลิกกลางคันก็มี  การสักนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะใช้หลักสักซึ่งเป็นเหล็กแหลม ทำจากเหล็กทั้งแท่งตรงปลายแหลมมาก และข้างในเป็นรูกลวงมาตามยาวเพื่อใส่สี ซึ่งมีความยาวตั้งแต่ 30-50 เซนติเมตรส่วนหัวหล่อทองเหลืองเป็นรูปต่างๆ เทวดาบ้าง สิงห์บ้าง แตกต่างกันออกไป เพื่อให้มีน้ำหนักในการกระแทกเหล็กสัก จิ้มให้เป็นลวดลายต่างๆ ลงไปใต้ผิวหนังในเนื้อขาซึ่งมีความเจ็บปวดมาก ฉะนั้นผู้ที่ถูกสัก  จะต้องดื่มเหล้า สูบฝิ่น หรือสูบกัญชา เพื่อให้เมาและมึนเสียก่อน เพื่อระงับความเจ็บปวด   ลักษณะการสักหมึกบนร่างกาย มีชื่อเรียกที่แตกต่างกันไปดังนี้

หมึกขาตัน  คือการสักหมึกที่สักจนดำเป็นพืดทั้งขา
หมึกขาลาย คือสักลายสัตว์ต่างๆ ในกรอบไว้ห่างๆ พอเห็นเนื้อหนังได้บ้าง
หมึกขายาว คือสักลายจากเอวถึงกลางน่อง
หมึกขาก้อม คือสักลายจากเอวถึงต้นขา
 ซึ่งการสักลายในแต่ละแบบนั้น ก็เป็นการแสดงถึงความอดทน เข้มแข็งทั้งกายและใจด้วย
จนในบางครั้งอาจจะได้ยินคำหยอกล้อกันในหมู่ชายล้านนาว่า... ?น้ำหมึกขายาว เอาไว้แป๋งฮาวผ้าอ้อม น้ำหมึกขาก้อมเอาไว้กล่อมแม่ญิงนอน?
 ลวดลายส่วนใหญ่มักจะสักเป็นรูปสัตว์ต่างๆ คือ เสือ แมว ลิง ค้างคาว ช้าง มอม ที่เด่นอยู่ในบรรดาสัตว์ร้ายทั้งหลายก็คือ ราชสีห์ในนิยาย  แต่มีบางพื้นที่ในแถบลุ่มน้ำโขง เช่นเมืองลื้อสิบสองปั้นนา เมืองหลวงพระบาง  มักจะสักเป็นลายเกล็ดนาค เพราะเชื่อว่าพวกตนเป็นลูกหลานของพญานาค ซึ่งการสักลายดังกล่าว ก็เพื่อให้พญานาคที่ตนนับถือ มาปกป้องคุ้มครองตน  นอกจากนี้ก็ยังมียันต์ต่างๆ  ซึ่งเชื่อกันว่าจะทำให้อยู่ยงคงกะพัน โดยส่วนใหญ่จะสักเฉพาะขาถึงเข่า แต่บางคนก็สักทั้งตัว  ชายล้านนารวมไปถึงพื้นที่ใกล้เคียงนิยมสักหมึกกันอย่างแพร่หลาย และกลายเป็นเอกลักษณ์ของคนแถบนี้  โดยเห็นได้จากตอนที่สยามเข้ามามีบทบาทการปกครองหัวเมืองเหนือ โดยเรียกล้านนาว่า มณฑลพายัพ เมื่อข้าหลวงของสยามเข้ามามีบทบาทในพื้นที่แถบนี้ ก็พบเห็นการสักของชายล้านนา จนเป็นที่สนใจของข้าหลวงชาวสยามและเรียกชาวมณฑลพายัพว่า ลาวพุงดำ เพราะชายชอบสักมอม ตั้งแต่พุงไปถึงเข่า
http://www.bp.or.th/webboard/index.php?topic=7595.0;wap2


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 20 มี.ค. 13, 21:10

สักเนื้อตัวเพื่อเป็นยันตร์กันเหนียว เป็นที่นิยมของลูกผู้ชายที่ชอบตีรันฟันแทง อย่างพวกหนุ่มนักเลงลูกทุ่งทั้งหลาย    แม้แต่นักเลงลูกกรุงก็สักด้วย     กลุ่มหนึ่งที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คือนักเลง"เก้ายอด"   เพราะสักยันตร์เก้ายอดบนแผ่นหลังด้านบนขึ้นมาจรดหลังคอ

นักเลงเก้ายอดเป็นการรวมกลุ่มของหนุ่มไทย  เพื่อต่อต้านนักเลงจีนในกรุงเทพ  ที่ตั้งแก๊งค์อันธพาลข่มขู่รีดไถ เก็บส่วยเอากับคนจีนที่มาทำมาหากินในประเทศไทย  ตั้งแก๊งค์ของตัวเองขึ้นมาเรียกว่า "ลั้กกั้ก"  พวกนี้แผ่อิทธิพลได้รวดเร็วมาก นักเลงของไทยทนไม่ได้ก็เลยรวมตัวกันขึ้นมา บุกนักเลงจีนในเยาวราช  ตีรันฟันแทงกันบาดเจ็บล้มตาย   มีตำรวจไทยหนุนหลังอีกทีหนึ่ง ทำให้นักเลงเก้ายอดกลายเป็นคนดังขึ้นมา   ต่อมา พลต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เลี้ยงพวกนักเลงเก้ายอดไว้เป็นลูกน้อง  ทำให้หนุ่มๆพวกนี้เดินเข้าออกกองปราบเป็นว่าเล่น     นักเลงเก้ายอดพร้อมรอยสักก็เลยเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เป็นนักเลงระดับ "บิ๊ก" สมัยนั้น
 
การสักในช่วงนี้จึงกลายเป็นแฟชั่นของหนุ่มๆ ที่อยากจะเป็นลูกผู้ชายมาดนักเลงอย่างพวกเก้ายอดบ้าง  มาหายไปก็เมื่อหมดยุคอันธพาลผยอง   จอมพลสฤษดิ์กวาดนักเลงกลุ่มเล็กกลุ่มใหญ่เข้าคุก ขังลืมเสียหลายปี 


บันทึกการเข้า
ศานติ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 190

อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 20 มี.ค. 13, 21:38

ภริยาเขาเตือนไว้ว่าถ้าสักเมื่อไหร่เขาจะหย่าเมื่อนั้น ถ้าคงต้องรอชาติหน้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 20 มี.ค. 13, 21:58

สักแบบนี้ก็ชวนให้หย่าได้มากๆ   ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 21 มี.ค. 13, 20:34

ขอต่อที่รอยสักอีกแบบหนึ่ง คือสักเพื่อเป็นการลงโทษ

สักแบบนี้คือสักหน้าผาก    ไม่ได้สักเป็นลวดลายดำพรืดไปหมด แต่สักเป็น 3 จุดเล็กๆพอให้สังเกตได้    อีกแห่งคือสักท้องแขนใช้กับผู้กระทำผิด  ถึงขั้นลงโทษ จำคุก แต่ยกเลิกในปี พ.ศ. 2475   
ตัวอย่างคนที่ถูกสักหน้าผากสามจุด  คือคุณป้าแท้ๆของม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ชื่อคุณป้าชุ่ม     ท่านหัดละครรำเป็นตัวพระมาตั้งแต่เด็ก   รำละครเป็นตัวพระได้สวยงาม  จนได้เป็นครูละคร   ท่านคิดท่าเจ้าเงาะของตัวเองขึ้นมา ถ่ายทอดท่ารำให้ลูกศิษย์ลูกหาจนขึ้นชื่อเป็นที่เลื่องลือ  เรียกว่า"ท่าเงาะครูชุ่ม"
 
ในรัชกาลที่ 5  เมื่อเจ้าคุณพระประยูรวงศ์หรือเจ้าจอมมารดาแพหัดละครผู้หญิงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง   ครูชุ่มก็เข้าไปสอนละครอยู่ในวังให้พวกฝ่ายใน    ในเมื่อรำเป็นตัวพระ  ก็มีแฟนคลับสาวๆจากบรรดาชาววังติดกันเกรียว     
คุณป้าชุ่มเกิดมาผิดเพศ คือตัวเป็นหญิงแต่ใจเป็นชาย   รำเป็นตัวพระอย่างเดียวไม่พอ   ท่านตัดผมสั้นและแต่งตัวเหมือนผู้ชายคือนุ่งผ้าพื้นผ้าม่วงชักชายพกให้ใหญ่   ใส่เสื้อมิสกรีผ้าป่าน สูบบุหรี่สะพานโพ       
วาดภาพตามที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บรรยายไว้ในเรื่อง "โครงกระดูกในตู้"  เห็นภาพว่าครูชุ่มคงเป็น "สาวหล่อ" เอาการอยู่ทีเดียว
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 4
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง