เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 57108 สถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร จริงหรือ ?
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 10:10

ยืมภาพจาก อ. ปฏิพัฒน์ มาให้ชมกัน เป็นภาพลายเส้นสัตว์หิมพานต์ ที่เขียนไว้บนพานแว่นฟ้า ที่รองรับบาตรดินเผาครับ


บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 11:57

จดหมายข่าวมูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์ ตีพิมพ์บทความเรื่องสถูปเจ้าฟ้าอุทุมพรและลูกหลานชาวโยดะยา ในพม่า โดย "คุณหมอ ทิน มอง จี"


www.lek-prapai.org/download.php?file=newsletter96

เนื้อหาบทความสัมภาษณ์คุณหมอ และเรื่องราวชาวอยุธยาและประเพณีวัฒนธรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่ที่พม่า


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 12:09

เรื่องสถูปและอัฐิสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรนี้เป็นเรื่องที่มีทั้งกระแสสนับสนุนและคัดค้าน     ขอนำความเห็นด้านค้านมาลงให้อ่านกันบ้างค่ะ

คอลัมน์การเมือง
เส้นใต้บรรทัด
จิตกร บุษบา

พม่าจะทุบสถูปเจ้าฟ้าอุทุมพร?

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า  สังคมออนไลน์ เฟซบุ๊คได้เผยแพร่ข่าวจากสื่อ THE IRRAWADDY (http://www.irrawaddy.org/archives/9398#.UAZXkxuSKwk.facebook)ว่า รัฐบาลพม่ากำลังจะทุบพระสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร ซึ่งบรรจุพระบรมอัฐิของสมเด็จพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) พระมหากษัตริย์ยุคเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ที่ถูกควบคุมพระองค์ ไปยังพม่าและสิ้นพระชนม์ที่เมืองมัณฑะเลย์ใน พ.ศ.2339

โดยรัฐบาลพม่าจะล้างป่าช้าอันเป็นที่ตั้งของสถูปเพื่อพัฒนาพื้นที่  โดยสำนักข่าวอิศราอ้างสังคมโซเชี่ยลมีเดียว่า มีความเห็นว่า นับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้รัฐบาลไทย  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ไทยควรให้ความสนใจเรื่องนี้  และยับยั้งการทุบทำลายพระบรมสถูปสมเด็จพระเจ้าอุทุมพรดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่ามีคุณทางทางประวัติศาสตร์ไทย

ต่อมา 27 ก.ค. 2555 นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า เพิ่งทราบเรื่องนี้จากสื่อ ขอรวบรวมข้อเท็จจริง ก่อนหารือผู้เกี่ยวข้อง หากพบเป็นความจริง จะขอให้กระทรวงการต่างประเทศประสานไปยังทางการพม่า ขอพูดคุยว่า จะทำอย่างไรกับพระสถูปดังกล่าวแทนทุบทิ้งได้บ้าง

“คงต้องขอเวลาให้ข้าราชการรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอมายังดิฉันก่อน หากเป็นความจริงก็ต้องหาทางพูดคุยกับทางการพม่าเพื่อดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง”

ผมติดตามข่าวนี้ตั้งแต่สังคมออนไลน์เริ่มแตกฮือและวิพากษ์โจษจันด้วยความเป็นห่วง ทั้งได้เขียนท้วงติงในเฟซบุ๊ค“ปู จิตกร บุษบา” ตลอดจนโพสความคิดเห็นในหน้าเพจ “สายตรงภาคสนาม” ซึ่งมีความแตกตื่นเรื่องนี้มากที่สุดว่า เท่าที่ผมเคยไปดูมา พร้อมบรรดานักวิชาการจากกรมศิลปากรเมื่อสัก 2 ปีมาแล้ว ข้อสรุปของพวกเราตรงกันว่า ไม่มีอะไรบ่งชี้เลยว่า จะเป็นสถูปบรรจุพระบรมอัฐิเจ้าฟ้าอุทุมพร ทั้งรูปแบบสถูป ก็ไม่มีอะไรที่ดูเป็นสยาม บันทึกก็ไม่มี มีแต่คำบอกเล่าเคล้าธุรกิจการท่องเที่ยว

ก่อนอื่น มาเรียนรู้กันสักนิดดีไหมครับ ว่าเจ้าฟ้าอุทุมพรเป็นใคร?

ทรงเป็นพระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีพระเชษฐาธิราชคือ พระเจ้าเอกทัศน์  พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงมีพระราชโอรสหลายพระองค์ มิใช่เพียง 2 พระองค์นี้เท่านั้น ทรงมีความระแวงระวังเรื่องถูกแย่งชิงราชสมบัติอยู่ไม่น้อย  ความที่ไม่โปรดพระเจ้าเอกทัศน์ ก็ทรงบังคับให้ไปผนวชเสีย แล้วทรงกำหนดเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ ภายหลังพระองค์สวรรคต  เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงครองสิริราชสมบัติได้สัก 2เดือนกระมัง  พระเจ้าเอกทัศน์ก็เสด็จมาประทับบนบัลลังก์ พาดพระแสงดาบไว้บนพระเพลา พระเจ้าอุทุมพรในเพลานั้นจึงยกราชสมบัติให้ แล้วท่านก็ต้องไปผนวชเพื่อตัดกรรมทางการเมือง   

พระเจ้าเอกทัศน์ครองราชย์ได้สักพัก ก็เกิดศึกสารพัด  บางตำราจึ่งว่า พระองค์ต้องไปนิมนต์พระภิกษุผู้เป็นอนุชามาช่วยรบ ครั้นเสร็จศึก ก็ทรงประพฤติดังเดิม จนพระอนุชาต้องไปผนวชใหม่ เลยได้นาม“ขุนหลวงหาวัด” มาเป็นชื่อที่เรียกขานกันมากกว่า เจ้าฟ้าอุทุมพรเสียอีก

ครั้นปลายรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ พม่ายกทัพใหญ่ประชิดเมือง หมายเผด็จศึกกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าเอกทัศน์ยันศึกไว้ได้นานทีเดียว แต่ในที่สุดถูกทัพพม่าตีแตก กรุงศรีอยุธยาถูกเผาผลาญจนไม่อาจฟื้นกลับได้อีกเลย พระเจ้าเอกทัศน์ถูกทำให้เข้าใจว่าเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ หลงในนารี ไม่มีความสามารถบริหารบ้านเมือง ซึ่งถึงวันนี้ สมควรจะต้องศึกษา รื้อฟื้น ถกเถียงกันให้นานทีเดียว เพราะกลยุทธ์การศึกของพระองค์ เช่น การส่งคนไปยันพม่าถึงเมืองกุยบุรี จนเกิดวีรกรรมของ“ขุนรองปลัดชู”แห่งบ้านสี่ร้อย เมืองวิเศษชัยชาญ การตั้งค่ายบางกุ้ง รับมือกับพม่าที่อัมพวา และการยันข้าศึกได้เป็นปีๆ ย่อมมิใช่ภาพสะท้อนของพระเจ้าแผ่นดินที่อ่อนแอ  แต่เอาเถอะ เรื่องนี้ค่อยว่ากันในโอกาสต่อไป

เมื่อกรุงแตก พระเจ้าเอกทัศน์ถูกสังหารที่ค่ายโพธิ์สามต้น บ้างว่าถูกสังหารที่ประตูเมืองขณะจะทรงหลบหนี แต่เอกสารพม่าบางฉบับกลับบอกว่า ทรงสู้รบอย่างกล้าหาญจนสวรรคตในสนามรบ (เห็นไหมล่ะ) ขุนหลวงหาวัด (เจ้าฟ้าอุทุมพร) ถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลย และทรงถูกสอบสวนจนกลายเป็น “คำให้การขุนหลวงหาวัด”

เมืองที่ท่านและคน “โยเดีย” หรืออยุธยาถูกกวาดต้อนไปในเวลานั้น คือ เมืองสะกาย (หรือจักกาย) อยู่นอกพระนครอังวะ

ทุกวันนี้ เวลาที่ผมชักชวนคนไปเที่ยวมัณฑะเลย์ มักพาไปวัดมหาเตงดอว์จี เพื่อไปดูจิตรกรรมอยุธยาในโบสถ์โบราณ และนักวิจัยก็พบหลักฐานชุมชนชาวโยเดีย ภาพเขียนแบบอยุธยาหรือโยเดีย งานช่าง งานปูนปั้น งานไม้แกะสลักตามวัดต่างๆหลายวัดในสะกายและเมืองใกล้เคียง เจือเคล้าไปด้วยการค้นพบร่องรอยศิลปวัฒนธรรมล้านนา(เชียงใหม่) ซึ่งมีชุมชนอยู่ใกล้หรือปะปนอยู่ด้วยกันกับชาวโยเดีย

เป็นอันว่า ชาวอยุธยาอยู่เมืองสะกายนั้นแน่  แต่ขุนหลวงหาวัดหรือเจ้าฟ้าอุทุมพรจะอยู่ด้วยหรือไม่ ไม่มีใครทราบ

แต่หากเทียบเคียงกับสมัยพระนเรศไปอยู่เมืองหงสาวดี หรือสมัยเจ้าอนุวงศ์มาอยู่สยาม หลังจากสยามไปตีเมืองเขา และภายหลังไปตีเวียงจันทน์อีกครั้งสมัยรัชกาลที่ 3  เราก็เผาเมืองเขาแทบจะเหลือแต่ขี้เถ้า ไม่ต่างจากพม่าเผาอยุธยา แต่เราก็หาพูดความจริงเรื่องนี้ให้เข้มข้นและเท่าเทียมกับที่พม่าเผาเมืองเราไม่ ทำให้คนเรียนประวัติศาสตร์สำเร็จรูป เห็นโลกอย่างคับแคบ เห็นแต่ความเลวคนอื่นเขา ไม่เห็นของเรา      ในเวลานั้นเชื้อวงศ์พงศ์กษัตริย์ ก็จะได้รับการรับรองแกมควบคุมความเคลื่อนไหว อยู่ในภูมิลำเนาย่านเจ้าฟ้าเจ้านาย มิใช่ไปเกลือกอยู่กับชาวบ้านร้านตลาด

พ้นไปจากเฝ้าประณามพระเจ้าเอกทัศน์แล้ว ประวัติศาสตร์ไทยแบบสำเร็จรูปที่สอนกันอย่างง่ายๆทั่วไป ก็มิได้พูดถึง ให้ความสำคัญหรือสนใจในเจ้าฟ้าอุทุมพรอีกเลย กลับมาสนใจกันอีกครั้ง ก็เพราะเรื่อง “สถูป” นี่เอง

 สถูปนี้อยู่ในป่าช้าไพร่ ในเขตเมืองเก่าอมระปุระติดกับเมืองสะกาย  ตอนที่ผมไป สภาพป่าช้าแห่งนี้สกปรกเน่าหนอนมาก ป่าช้าดังกล่าวชื่อ“ซินลินกอง” บ้างก็เล่ากันต่อๆ มาว่า เป็นป่าช้าล้านนามาก่อน แต่เวลามันผ่านมาเป็นร้อยๆปีแล้วนี่ครับ อะไรๆ มันก็ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว ศพใหม่ๆของใครต่อใคร เผาบ้าง ฝังบ้าง จนกลายเป็นชุมชนแออัดหลังความตาย

เรื่องมันโยงถึงเจ้าฟ้าอุทุมพรได้ ก็เพราะสมัยที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านเสด็จเมืองพม่าและทรงเขียนเรื่อง“เที่ยวเมืองพม่า” ท่านทรงปรารภเรื่องข่าวการพบสถานที่เก็บอัฐิพระเจ้าแผ่นดินสยามที่แพร่เข้ามาในสยามราวรัชกาลที่ 5 ซึ่งนึกมานึกไป ก็ไม่มีใครตกค้างในพม่า นอกจากเจ้าฟ้าอุทุมพรนี้เท่านั้น แต่ท่านก็มิได้ไปเห็น แม้จะทรงสอบถามตลอดการเดินทางจากย่างกุ้งไปอมระปุระและมัณฑะเลย์ แต่ก็ไม่มีใครทราบเรื่องดังกล่าวเลย

 จนสิบกว่าปีมานี้ มีหมอพม่าคนหนึ่งชื่อ “ทิน เมือง คยี” แกสนใจทางโบราณคดี หลังเกษียณแล้วก็ลองศึกษาค้นคว้าแบบ“มือสมัครเล่น” และเขียนเป็นบทความเกี่ยวกับสถูปที่อ้างว่า เก็บอัฐิเจ้าฟ้าอุทุมพรของสยามไว้ ลงในนิตยสารทูเดย์ ซึ่งเป็นนิตยสารด้านธุรกิจท่องเที่ยวในพม่า ฉบับเดือนมีนาคม พ.ศ.2538 ก่อนนำไปพิมพ์ซ้ำในหนังสือของแกเองชื่อ The Various Facets of Myanmar  เรื่องก็แพร่เข้าสู่ปากมัคคุเทศก์พม่า ก่อนเข้าสู่ปากของมัคคุเทศก์ไทย และนำไปสู่กระแสการ“ตื่นเที่ยว” เหมือนตอนที่ตื่น “พระสุพรรณกัลยา” ที่พระราชวังกัมโพชธานี เมืองหงสาวดีไม่มีผิดเพี้ยน แต่ด้านที่ดีก็คือ เรื่องนี้ได้ชักนำนักวิชาการหลายท่าน เดินทางไปดูและกลับมาแลกเปลี่ยนความเห็นกันอย่างคึกคัก

นักวิชาการที่นำเสนอเป็นหลักเป็นฐานที่สุดท่านหนึ่งคือ อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ นำเสนอบทความผ่านนิตยสารศิบปวัฒนธรรม ฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2545 มีใจความสำคัญโดยสรุปได้ว่า

     1.ที่ตั้งสถูปในสุสานซินลินกองนี้ ขัดแย้งกับหลักฐานของฝั่งไทยที่ระบุว่าเชลยอยุธยาอยู่ที่เมืองสะกาย ไม่ใช่อมระปุระ เพราะตอนนั้น เมืองหลวงพม่าอยู่ที่อังวะ ต่อมาพระเจ้าปดุงย้ายมาสร้างเมืองอมระปุระขึ้นทีหลัง ในปี 2325 (กรุงศรีอยุธยาแตก ปี 2310) ซึ่งไม่มีหลักฐานระบุเลยว่า มีการย้ายเชลยอยุธยามาอยู่ที่อมระปุระ

     2.ข้อมูลที่ทำให้เขื่อกันว่า สถูปดังกล่าวเป็นสถูปบรรจุอัฐิเจ้าฟ้าอุทุมพร เป็นเพียงข้อมูล “คำบอกเล่า”ของชาวบ้านในท้องถิ่น ที่พูดกันปากต่อปากว่า เป็นที่ฝังพระศพของกษัตริย์นอกราชบัลลังก์พระองค์หนึ่ง โดยไม่ได้ระบุด้วยซ้ำว่าเป็นกษัตริย์ของชาติไหน

     3. สภาพของสถูปทั้งรูปทรงและลวดลาย ไม่มีความเกี่ยวโยงกับศิลปะอยุธยาเลย

     4. ในข้อเขียนของทิน เมือง คยี อ้างรูปจากการคัดลอกที่หอสมุดบริติชมิวเซียมรูปหนึ่ง ว่าเป็นรูปของพระเจ้าอุทุมพรนั้น ขัดแย้งกับหลักฐานทั้งฝ่ายไทยและพม่า ที่ระบุตรงกันว่า พระเจ้าอุทุมพรทรงถูกกวาดต้อนไปในขณะที่บวชเป็นพระ  แต่รูปที่ว่ากลับแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นกษัตริย์

      5.ข้อเขียนจากการสืบค้นของทิน เมือง คยี นั้น ค่อนข้างคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในหลักฐานที่ได้รับการยอมรับ เช่น คำให้การขุนหลวงหาวัด พงศาวดารของฝ่ายพม่าและไทยอีกหลายฉบับ อยู่หลายประการ จนมิอาจรู้สึกถึงความหนักแน่น น่าเชื่อได้

      อาจารย์พิเศษท่านจึงได้สรุปว่า ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการที่น่าเชือ่ได้ว่า สถูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระอัฐิของเจ้าฟ้าอุทุมพร

      ดังนั้น เมื่อเห็นภาพสถูปที่ป่าช้าซินลินองปลิวว่อนในเฟซบุ๊ค และเห็นหลายคน“ตกหลุม”ไปกับข่าวนี้อย่างมาก บ้างด่ารัฐบาล บ้างด่ากรมศิลปากร บ้างด่ากระทรวงวัฒนธรรม แต่ส่วนมากด่าพม่า (ฮา...) ก็อยากจะชวนมาตั้งหลักทาง“ความรู้” กันเสียก่อนว่า เรื่องนี้ไปยังไงมายังไง

      ดีใจนะครับ ที่รัฐมนตรีท่านใจเย็น ไม่ตื่นเต้นไปกับสังคมโซเชียลมีเดียว่า  “คงต้องขอเวลาให้ข้าราชการรวบรวมข้อเท็จจริงเสนอมาก่อน หากเป็นความจริงก็ต้องหาทางพูดคุยกับทางการพม่าเพื่อดูว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง”
      ดีครับ รีบๆประสานและรีบๆศึกษาเข้า และควรถือโอกาสให้นักวิชาการลงมือทำงานวิจัยทางวิชาการ“ตามหาเจ้าฟ้าอุทุมพรและเชลยอยุธยาหลังเหตุการณ์เสียกรุงครั้งที่ 2” ไปเลยสิครับ บ้านเมืองจะได้ประโยชน์ สังคมจะได้ปัญญา
     และไหนๆก็ไหนๆแล้ว ให้ทุนศึกษาวิจัยเรื่องพระเจ้าเอกทัศน์กับเจ้าฟ้าอุทุมพรด้วยเสียเลย  คนไทยจะได้ไม่ถูกประวัติศาสตร์สำเร็จรูปครอบงำ ทำให้ตำหนิติฉินพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งอย่างน่าเวทนา
     ตอนแตกตื่นเรื่อง“พระสุพรรณกัลยา” กิฟฟารีนยังออกทุนให้ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ไปศึกษาจนได้คำตอบว่าพระสุพรรณกัลยานั้นไม่มี แต่เจ้าหญิงอยุธยาที่ไปอยู่หงสาวดีนั้นมีแน่ เห็นไหมครับ สังคมก็ได้ปัญญาขึ้นมาในทันที
     ผมคิดว่า หน้าที่ของกระทรวงวัฒนธรรมนี่ นอกจากต้องหารัฐมนตรีที่มีปัญญามานั่งบริหารแล้ว ก็ต้องเพิ่มบทบาทในการสร้างปัญญาให้แก่สังคมเข้าไปด้วย     
       
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 12:10

หยิบวารสารข่าวกรมศิลปากร จากสื่อมวลชน ฉบับวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ เรื่องใช่หรือมิใช่ สถูปพระเจ้าอุทุมพรที่อมรปุระ ?

ในบทความเจาะประเด็นไปที่สถูปทรงโกศ และตีความออกมา จึงนำมาให้อ่านกันที่ลิงค์นี้ครับ

http://www.finearts.go.th/system/files/news22feb56.pdf

หยิบยกประเด็นฝ่ายที่เห็นด้วยและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยมาคุยกัน ผู้อ่านกระทู้จะได้ข้อมูลที่หลากหลายเพิ่มขึ้นนะครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 12:57

ในห้องสมุดของ pantip ก็เคยพูดถึงสถูปและอัฐิพระเจ้าอุทุมพรเช่นกัน

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/07/K12394952/K12394952.html
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 16:52

บทความนี้ฟันธงลงไปเลยว่าไม่ใช่


อัฐิพระเจ้าอุทุมพร ในสถูปที่พม่า สร้างกระแสท่องเที่ยว
วันเสาร์ที่ 26 มกราคม 2013 เวลา 03:20 น. | แก้ไขล่าสุด ใน วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ 2013 เวลา 02:26 น. |
เขียนโดย สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
     สถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) เคยเป็นข่าวเกรียวกราวเมื่อหลายปีมาแล้ว ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์โบราณคดี กรมศิลปากร เคยตรวจสอบแล้วสรุปผลว่าเลื่อนลอย
     แต่เมื่อเร็วๆ นี้กลับมาเป็นข่าวอีกอย่างน่าสงสัย

     เมื่อปี 2538 อาจารย์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่งไปทัศนาจรพม่า เมื่อกลับมาแล้วได้นำความตื่นเต้นออกเผยแพร่ให้คนไทยรู้ด้วยว่ามัคคุเทศก์พม่าได้พาไปชมสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2310 ได้ถูกจับไปเป็นเชลยและสิ้นพระชนม์ที่นั่น

     เรื่องสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพร มีที่มาจากบทความในนิตยสารทูเดย์ อันเป็นนิตยสารเพื่อธุรกิจท่องเที่ยวพม่า (Dr.Tin Maung Kyi.A Thai King’s Thomb?, TODAY The Magazine Tourism Business In Myanmar, March, 1995) อาจารย์มาเผยแพร่ได้มอบสำเนาให้แก่เจ้าหน้าที่กรมศิลปากร
      ครั้งนั้น พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ (ขณะรับราชการกรมศิลปากร) ได้แปลทั้งหมด รวมทั้งรายชื่อเอกสารอ้างอิงในบทความ และภาพประกอบเป็นรูปวาดบุคคลในฉลองพระองค์แบบกษัตริย์ กับภาพสถูปทรงแปลกองค์หนึ่งในสุสานลินซินกอง เมืองอมรปุระ แล้วนำเสนอตามลำดับราชการ ต่ออธิบดีกรมศิลปากร จนถึงปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สมัยนั้นกรมศิลปากรขึ้นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ)
     มีบทรายงานลงพิมพ์เผยแพร่ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2545 หน้า 100-107 จะสรุปย่อๆที่สุด ดังนี้

     ความคิดเกี่ยวกับสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรในเมืองพม่า มิใช่ความคิดใหม่ เคยมีมานานแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2479 (หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง) โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงประทับอยู่ที่ปีนัง ในปีนั้นได้เสด็จไปประเทศพม่า
     ตอนหนึ่งในพระนิพนธ์เรื่อง เที่ยวเมืองพม่า ทรงเล่าว่า

     ...ด้วยได้เคยทราบแต่รัชกาลที่ 5 ว่า เขาพบที่บรรจุพระบรมอัฐิพระเจ้าแผ่นดินสยาม (คือพระเจ้าอุทุมพร หรือที่เรามักเรียกกันว่า “ขุนหลวงหาวัด”) ซึ่งไปสวรรคตในเมืองพม่า ฉันเชื่อใจว่าที่บรรจุพระบรมอัฐินั้นคงเป็นพระเจดีย์มีจารึกและสร้างไว้ที่เมืองอังวะ เพราะเมืองอังวะเป็นราชธานีอยู่ในเวลาที่พม่ากวาดไทยไปครั้งเสียพระนครศรีอยุธยา ฉันไปครั้งนี้หมายจะพยายามไปบูชาพระเจดีย์องค์นั้นด้วย
     ได้สืบถามตั้งแต่ที่เมืองร่างกุ้งไปจนถึงเมืองมัณฑเลก็ไม่พบผู้รู้ว่ามีพระเจดีย์เช่นนั้น ทั้งพวกกรมตรวจโบราณคดี ก็ยืนยันว่าที่เมืองอังวะเขาตรวจแล้วไม่มีเป็นแน่ ฉันก็เลยทอดธุระ
     ครั้นกลับมาถึงเมืองปีนังมีกิจไปเปิดหนังสือพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา จึงได้ความว่าพม่าให้ไทยที่กวาดไปครั้งนั้น ไปตั้งบ้านเมืองอยู่ที่เมืองจักกาย (คือเมืองสะแคง) ขุนหลวงหาวัดคงไปสวรรคตและบรรจุพระบรมอัฐิไว้ที่เมืองสะแคง
     ในเมืองนั้นพระเจดีย์ยังมีมาก ถ้าฉันรู้เสียก่อนเมื่อไปถึงเมืองสะแคงถามหาเจดีย์ “โยเดีย” ก็น่าจะพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมอัฐิขุนหลวงหาวัดสมประสงค์ แต่มารู้เมื่อสิ้นโอกาสเสียแล้วก็จนใจ

     ปีการท่องเที่ยวพม่า

     ไม่ทราบว่าข่าวการพบสถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพรในสมัย ร.5 นั้นมีที่มาจากอะไร     แต่ที่พระองค์ทรงสืบถามตั้งแต่เมืองย่างกุ้งไปจนถึงมัณฑะเลย์นั้นเป็นเส้นทางที่ผ่านเมืองอังวะ ถัดไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตร ก็ผ่านเมืองอมรปุระ ถัดไปอีกประมาณ 10 กิโลเมตรเศษ ก็ถึงเมืองมัณฑะเลย์ แล้วทำไมถึงทรงไม่ได้ข่าวคราวอะไร
     เรื่องสุสานลินซินกองที่อมรปุระ ที่บทความในนิตยสารทูเดย์ กล่าวว่า มีสถูปบรรจุอัฐิกษัตริย์นอกราชบัลลังก์พระองค์หนึ่ง และมัคคุเทศก์พม่าระบุว่าเป็นพระเจ้าอุทุมพรนั้น เหตุใด สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงไม่ทรงทราบเลย
     จึงน่าเป็นไปได้ว่าเรื่องสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรที่สุสานลินซินกองในนิตยสารทูเดย์นี้ เพิ่งเป็นตำนานที่เริ่มขึ้นเมื่อบทความในนิตยสารทูเดย์พิมพ์เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.  2538 นี้เอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในแผนปีการท่องเที่ยวของพม่าซึ่งได้เริ่มขึ้นในปีถัดมา (พ.ศ. 2539)
   
     สร้างกระแสท่องเที่ยว

     ในประเทศที่กำลังพัฒนา วัฒนธรรมการท่องเที่ยว ที่มุ่งเพื่อการขายแต่เพียงอย่างเดียว มักจะก่อปัญหาแก่ข้อเท็จจริงทางวิชาการเป็นอย่างมาก
     เรื่องการพบสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรที่เมืองอมรปุระพม่า เมื่อวิเคราะห์หลักฐานที่มาจากนิตยสารเพื่อธุรกิจทางท่องเที่ยวของพม่า เขียนโดยนายแพทย์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นที่พยายามประมวลเรื่องที่นักวิชาการคนอื่นๆ เขียนขึ้น แล้วเลือกหยิบเฉพาะส่วนที่อาจนำมาปะติดปะต่อเรื่องขึ้นมาใหม่โดยมิได้เจาะลึกเข้าสู่ส่วนที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จริงๆ เพื่อการตรวจสอบเสียก่อน

     การอ้างอิงเรื่องที่มาจึงมีลักษณะคลุมเครือ ซ่อนเร้น ปิดบังเป็นบางครั้ง มีการอ้างเอกสารหลายเรื่องทั้งๆที่ไม่มีความจำเป็นและบางเรื่องก็น่าจะรู้จักแต่ชื่อเอกสาร โดยมิได้ทราบเนื้อหาภายในเอกสารนั้นอย่างแท้จริง
     ดังนั้นจึงอาจกล่าวโดยสรุปในประเด็นการตรวจสอบหลักฐานเรื่องการพบสถูปบรรจุอัฐิพระเจ้าอุทุมพรที่สหภาพพม่าได้ว่า ยังไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์สนับสนุนเพียงพอ
     ส่วนหลักฐานทางโบราณคดี นั้น เมื่อได้พิจารณาภาพของสถูปทั้งที่เป็นภาพถ่ายและภาพวาด สามารถยืนยันได้ว่าเป็นสถูปที่สร้างขึ้นในแบบศิลปะพม่า มิใช่ศิลปะไทย
     ส่วนข้อมูลที่เป็นคำบอกเล่าของชาวบ้านนั้นก็ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะมิใช่มาด้วยเทคนิคการสัมภาษณ์อย่างแท้จริง

     ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม 2556 หน้า 20
   http://haab.catholic.or.th/web/index.php?option=com_content&view=article&id=927:2013-01-26-03-22-43&catid=128:2012-07-27-08-28-55&Itemid=54
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 19:10

เวลาเปลี่ยนไป ข้อมูลปรับปรุง ข้อสรุปอาจเปลี่ยนแปลง

ความเห็นของคุณปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ นักโบราณคดี หนึ่งในคณะสำรวจขุดค้น



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 20:22

คุณวิกี้บอกว่าพระเจ้าอุทุมพรเสด็จสวรรคตในพ.ศ. 2339  ในรัชกาลที่ 1 ของเรานี่เอง ตามที่พงศาวดารพม่าบันทึกไว้      ถ้ามีการบันทึกก็น่าจะบันทึกหลักฐานอื่นๆที่ชัดเจนพอสมควร   เพราะเวลาก็ไม่ห่างจากปัจจุบันนัก แค่สองร้อยกว่าปี   
แต่ดูเหมือนว่านักโบราณคดีเดินหน้าขุดค้นไปมากแล้ว  นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันยังไม่ได้ตรวจสอบหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาโชว์กันเลยว่า  มีอะไรตรงกับนักโบราณคดีเจอบ้าง    นักโบราณคดีจึงได้แต่เพียงคำบอกเล่าต่อๆกันมาจากชาวบ้านว่าเป็นเจดีย์บรรจุพระอัฐิเจ้าชายโยเดีย    เจ้าชายองค์ไหนก็ไม่มีการระบุพระนามไว้ชัดเจน     
ตอนกรุงแตก   ถ้าชาวอยุธยาถูกกวาดต้อนไปพม่านับแสน   เจ้านายอยุธยาเห็นจะต้องไปอยู่พม่ากันนับร้อย หลายร้อยด้วยไม่ใช่ร้อยเดียว     เจ้าชายก็ต้องมีเป็นสิบๆองค์  จะเป็นองค์หนึ่งในจำนวนนี้ที่มีพระอัฐิในเจดีย์ดังกล่าวได้ไหม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 21:14

   
     สร้างกระแสท่องเที่ยว

     ในประเทศที่กำลังพัฒนา วัฒนธรรมการท่องเที่ยว ที่มุ่งเพื่อการขายแต่เพียงอย่างเดียว มักจะก่อปัญหาแก่ข้อเท็จจริงทางวิชาการเป็นอย่างมาก
     เรื่องการพบสถูปบรรจุอัฐิของพระเจ้าอุทุมพรที่เมืองอมรปุระพม่า เมื่อวิเคราะห์หลักฐานที่มาจากนิตยสารเพื่อธุรกิจทางท่องเที่ยวของพม่า เขียนโดยนายแพทย์ที่เป็นนักประวัติศาสตร์สมัครเล่นที่พยายามประมวลเรื่องที่นักวิชาการคนอื่นๆ เขียนขึ้น แล้วเลือกหยิบเฉพาะส่วนที่อาจนำมาปะติดปะต่อเรื่องขึ้นมาใหม่โดยมิได้เจาะลึกเข้าสู่ส่วนที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์จริงๆ เพื่อการตรวจสอบเสียก่อน

บริเวณใกล้ ๆ กับสุสานล้านช้างนี้มีสถานที่ที่เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วไปทั้งชาวพม่าและต่างประเทศอยู่แล้วคือ สะพานอูเบ็ง ซึ่งเป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก โดยยาวถึง ๒ กิโลเมตร ทอดข้ามทะเลสาบตองตะมาน  ยิงฟันยิ้ม

การมองว่าที่คุณหมอทินหม่องจีจุดกระแสเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อการท่องเที่ยว ดูจะเป็นการมองในด้านลบมากเกินไป



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 21:25

ต้นไม้ใหญ่ริมทะเลสาบก็ดูร่มรื่นเป็นจุดขายนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ภาพสะพานอูเบ็งและต้นไม้ใหญ่ ถ่ายโดย คุณป้าฟูแห่งพันทิป



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 22 มี.ค. 13, 21:30

ต้นไม้ใหญ่ริมทะเลสาบก็ดูร่มรื่นเป็นจุดขายนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

ภาพสะพานอูเบ็งและต้นไม้ใหญ่ ถ่ายโดย คุณป้าฟูแห่งพันทิป



ต้นไม่ใหญ่สวยมาก ๆ
บันทึกการเข้า
hobo
พาลี
****
ตอบ: 324


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 23 มี.ค. 13, 02:51

หากเป็นของพระเจ้าอุทุมพรจริง ทำไมไม่บรรจุพระอัฐิในปรางค์/ปราสาท/เจดีย์ประทาน องค์กลางครับ ทำไมมาบรรจุในเจดีย์ราย มันดูขัดๆ กันอย่างไรก็ไม่รู้
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 23 มี.ค. 13, 20:26

ดนตรีไทย ในราชสำนักพม่า


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 24 มี.ค. 13, 13:27

ยืมภาพจาก อ. ปฏิพัฒน์ มาให้ชมกัน เป็นภาพลายเส้นสัตว์หิมพานต์ ที่เขียนไว้บนพานแว่นฟ้า ที่รองรับบาตรดินเผาครับ



กินนร



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 24 มี.ค. 13, 20:05

กินนร หุ่นชักพม่า

ช่างคล้ายนัก ๆ





บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.105 วินาที กับ 20 คำสั่ง