เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
อ่าน: 17362 แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 12 มี.ค. 13, 21:36

อ้างถึง
ทำไมคนปกติ ต้องห้ามไม่ให้ถืออะไรทั้งหมด ถ้าจะฟังธรรม

ท่านถือว่าธรรมะเป็นของสูง ไม่ใช่ของตลาดที่จะต้องไปเที่ยวเร่ขาย พระพึงแสดงธรรมต่อผู้ที่พร้อมจะฟัง ผู้ที่ไม่พร้อม ไม่ให้ความเคารพ ท่านห้ามมิให้แสดงธรรมต่อคนเหล่านั้น
คนที่ถือร่มในขณะที่พระอยู่ในแดดแผดเผา แสดงว่าเขาไม่ได้ให้ความเคารพนับถืออะไร แสดงธรรมไปก็เท่ากับตักน้ำรดหัวตอ อย่าว่าแต่พระเลย คนธรรมดาคุยกันอย่างนั้นเดี๋ยวเดียวก็ต้องเลิก
ส่วนคนที่ถืออาวุธ จะเป็นไม้พลองมีดดาบธนูปืนอะไรก็ตาม หากมิวางลงเพื่อแสดงอาการพร้อมที่จะรับฟัง พระก็ไม่พึงแสดงธรรมใดๆโปรด

ข้อนี้พระพุทธเจ้ายังทรงบอกองคุลีมาลให้วางอาวุธลง แล้วนั่งฟังพระองค์ เมื่อองคุลิมาลถึงพร้อมด้วยกายและใจ ฟังธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่นานก็เข้าใจธรรมนั้น ถึงกับขอออกบวช
ถ้าองคุลิมาลยังถืออาวุธวิ่งไล่พระพุทธองค์อยู่ ก็คงหาสมาธิมิได้ที่จะน้อมนำธรรมะนั้นเข้าถึงจิตถึงใจ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 12 มี.ค. 13, 21:40

อ้างถึง
ทำไมคนไม่ปกติ ถึงอนุโลมยอมให้ฟังธรรมได้หมดล่ะคะ ไม่ว่าจะถืออะไรก็ตาม แม้แต่ถือสิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจเช่นอาวุธ
ตรรกะข้างบนนี้ฟังดูเหมือนพระจะเปิดการแสดงธรรม แล้วคัดเลือกคนให้เข้าฟัง คนปกติโอเคให้ผ่านประตู ผู้ที่ถืออาวุธไม่ให้เข้า ผู้ถืออาวุธแต่มีใบรับรองแพทย์ว่าป่วย อนุโลมให้เข้าได้
ไม่ใช่นาครับ
 
ตอนองคุลิมาลถือดาบวิ่งไล่กวดพระพุทธเจ้า ร้องบอกพระพุทธองค์ให้หยุด ตอนนั้นองคุลิมาลถือว่าเป็นคนป่วยทางจิต ทรงตรัสตอบว่า “ตถาคตหยุดแล้ว ท่านสิมิได้หยุด” ตรงนี้ถือว่าทรงแสดงธรรมแล้ว เพราะทรงหมายความว่า ทรงหยุดปาณาติบาตทั้งปวง ส่วนองคุลิมาลยังไล่ล่าจะฆ่ามนุษย์อยู่ แต่พระพุทธองค์ก็ทรงหยุดพระโอษฐ์ไว้เพียงเท่านั้น ต่อเมื่อองคุลิมาลวิ่งไล่จนเหนื่อย ยอมแพ้ และยอมวางอาวุธแล้วนั่งลง จึงทรงโปรดองคุลิมาลด้วยธรรมะแบบยาวๆ และได้ผล

พระพุทธเจ้าท่านทรงอนุญาตให้พระแสดงธรรมให้คนป่วยแม้จะถืออาวุธฟังได้เฉยๆ ไม่ได้บอกให้ต้องแสดงด้วย คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับวิจารณญานของพระสิครับ ว่าพึงจะโปรดคนป่วยนั้นๆหรือไม่ อย่างไร อย่างสั้นหรืออย่างยาว หรือเลือกที่จะอุเบกขาอยู่เงียบๆก็ได้ ไม่ผิดศีล
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 12 มี.ค. 13, 21:41

ชนกันกลางอากาศ เลยต้องแก้ข้อความใหม่ค่ะ

มันจะไม่รัดกุมกว่าหรือ ว่าถ้าห้ามต้องห้ามทั้งหมด       คือไม่ว่าคนมีไข้หรือไม่มีไข้   ห้ามถืออะไรอยู่ในมือทั้งนั้น  พระท่านถึงจะแสดงธรรมให้ฟัง       ถ้ายังถือร่ม ถือไม้พลองกระบองยาว ไปจนเอ็มสิบหกและอาก้า    ไม่ยอมวาง   พระท่านไม่แสดง  เป็นข้อบังคับ ไม่ใช่ให้พระเลือกเอาว่าจะแสดงก็ได้ไม่แสดงก็ได้
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 13 มี.ค. 13, 08:17

อ้างถึง
มันจะไม่รัดกุมกว่าหรือ ว่าถ้าห้ามต้องห้ามทั้งหมด คือไม่ว่าคนมีไข้หรือไม่มีไข้ ห้ามถืออะไรอยู่ในมือทั้งนั้น พระท่านถึงจะแสดงธรรมให้ฟัง ถ้ายังถือร่ม ถือไม้พลองกระบองยาว ไปจนเอ็มสิบหกและอาก้า ไม่ยอมวาง พระท่านไม่แสดง เป็นข้อบังคับ ไม่ใช่ให้พระเลือกเอาว่าจะแสดงก็ได้ไม่แสดงก็ได้
ที่ผมเอาสำนวนจริงๆตามโบราณมาให้วิเคราะห์ก็เพื่อให้เห็นว่า ศีลถูกบัญญัติขึ้นต่างกรรมต่างวาระ

[๘๕๗] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ) บรรดาภิกษุที่เป็นผู้มักน้อย ... ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระฉัพพัคคีย์จึงได้แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)เล่า แล้วกราบทูลเรื่องนี้แก่พระผู้มีพระภาค.

ทรงสอบถาม

พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)จริงหรือ?
พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษทั้งหลาย ไฉนพวกเธอจึงได้แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)เล่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ...

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ
๒๐๒. ๕๗. ก. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลมีร่มในมือ(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)
ก็สิกขาบทนี้ ย่อมเป็นอันพระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติแล้วแก่ภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการฉะนี้


กรรมนี้วาระนี้ เกิดเพราะพระไปแสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม ผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา และผู้ถืออาวุธ

เมื่อมีศีลสี่ข้อนี้ (๔ข้อ แต่เกิดทีละข้อ) พระเลยไม่แสดงธรรมแก่บุคคลผู้กั้นร่ม ผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา และผู้ถืออาวุธทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคนปกติหรือเจ็บไข้ได้ป่วยดังที่ท่านอาจารย์เทาชมพูเสนอ

คราวนี้ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่าทำไมพระจึงไม่เอื้อเฟื้อต่อคนเจ็บไข้ได้ป่วยบ้างเล่า เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ ก็ทรงดำรัสถึงเหตุอันเป็นเค้ามูล(ที่พระฉัพพัคคีย์สร้างขึ้น) และเหตุอันเป็นแรกเกิด ตรงนี้ไม่ได้ระบุว่าภิกษุใดสร้าง และสร้างเรื่องใด สมมติก็แล้วกัน สมมติว่าตาแก่คนหนึ่งเป็นลมล้มลงกลางท้องทุ่งเพราะทนแดดไปไหว ชาวบ้านเห็นก็เอาร่มมากั้นให้ แต่กำลังทำท่าจะขาดใจตาย พอดีพระเดินผ่านมา ชาวบ้านจึงนิมนต์พระว่า โอ้โชคดีจริงพระคุณเจ้าผ่านมา เมตตาเทศน์โปรดชายชราผู้นี้ฟังเป็นครั้งสุดท้ายด้วยเถิด เผื่อว่าเขาจะได้ไปสู่สุขคติ พระตอบว่า โชคร้ายน่ะซีโยม พระพุทธเจ้าเพิ่งจะทรงบัญญัติห้ามมิให้พระแสดงธรรมแก่ผู้ที่กั้นร่ม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 13 มี.ค. 13, 08:20

ความก็ถึงพระพุทธเจ้า

[๘๕๘] ก็โดยสมัยนั้นแล ภิกษุทั้งหลายรังเกียจเพื่อจะแสดงธรรมแก่คนเป็นไข้มีร่มในมือ(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ) ชาวบ้านพากันเพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรจึงไม่แสดงธรรมแก่คนเป็นไข้ซึ่งมีร่มในมือ(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)เล่า ภิกษุทั้งหลายได้ยินชาวบ้านพวกนั้นเพ่งโทษ ติเตียนโพนทะนาอยู่ จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ทรงอนุญาตให้แสดงธรรมแก่คนไข้

ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมิกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งแก่ภิกษุทั้งหลายว่า เราอนุญาตให้แสดงธรรมแก่คนเป็นไข้มีร่มในมือ(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)ได้.

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระอนุบัญญัติ
๒๐๒. ๕๗. ข. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่บุคคลไม่ใช่ผู้เจ็บไข้(และผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ)มีร่มในมือ.

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 13 มี.ค. 13, 08:30

นั่นร่ม เป็นของที่มิได้ไว้ใช้ทำร้าย แล้วศาสตราวุธเล่า

อ่ะ เอาอีกสมมตินึง ช่างกลกับช่างก่อสร้างในหมู่บ้านประจัตคามแห่งหนึ่งตีกันเละเทะจนบาดเจ็บด้วยกันทั้งคู่ แต่ไม่ยอมแยกย้าย ถอยกำลังไปตั้งประจันกันคนละฟากถนนทำท่าจะเข้าทำร้ายกันอีก ผู้เห็นเหตุการณ์กำลังเกลี้ยกล่อมให้กลับบ้านกลับช่องไปเสียจนเด็กเหล่านั้นใจอ่อนลงมากแล้ว หลวงปู่เดินโผล่มาพอดี ชาวบ้านเห็นพระเข้าก็นิมนต์ว่า โอ้โชคดีจริงพระคุณเจ้าผ่านมา เมตตาเทศน์โปรดเด็กหนุ่มผู้หลงผิดเหล่านี้ด้วยเถิด เผื่อว่าพวกเขาจะสำนึกได้เลิกก่อกรรมทำเข็ญ หลวงปู่ตอบว่า โชคร้ายน่ะซีโยม พระพุทธเจ้าเพิ่งจะทรงบัญญัติห้ามมิให้พระแสดงธรรมแก่ผู้ที่มีมีดมีไม้อยู่ในมือเมื่อก่อนพรรษานี้เอง

อย่างนี้ พระจะโดนท่านผู้ชมโห่ไหมล่ะพี่น้อง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 13 มี.ค. 13, 08:52

หากพิจารณาสำนวนข้อบัญญัติเดิม จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าอนุโลมให้พระแสดงธรรมโปรดคนผู้ถือพลอง ผู้ถือศาสตรา ผู้ถืออาวุธ เฉพาะผู้ที่เจ็บไข้ได้ป่วยได้ เท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นมิได้เป็นการบังคับ จึงขึ้นอยู่กับสถานะการณ์

สมมติชายชุดดำถืออาก้าอยู่ในมือ ถูกยิงบาดเจ็บสาหัสหนีเข้าไปซุกตัวอยู่ในซอกกำบัง แสดงอาการคุ้มคลั่ง ใครโผล่เข้าไปเป็นยิงสาดออกมาก่อน ตำรวจก็เลยบอกหลวงพี่ที่บังเอิญผ่านมาว่า นิมนต์ท่านมหาเทศน์โปรดไอ้หมอนี่หน่อยได้ไหมครับ เผื่อมันจะเชื่อ ตรงนี้ท่านมหาสามารถเลี่ยงได้ เช่น เชิญท่านผู้กำกับแสดงก่อนก็แล้วกันนะโยม

พระพุทธเจ้ามิได้ทรงห้ามพระภิกษุตรงนี้ ท่านมหาจึงไม่อาบัติ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 13 มี.ค. 13, 21:31

ชักสนใจ   ลองไปหาอ่านดูบ้างเรื่องพระแสบ   ก็พบว่าผลงานท่านแสบสันต์ไม่เบาเลยสักเรื่อง    เรื่องที่เป็นเหตุให้เข้าข่ายปาราชิกคือไปขโมยของเขาก็มี  แต่รอดตัวไปได้ตามเคยเพราะเป็นอาทิกัมมะ

เรื่องมีอยู่ว่าแก๊งค์พระฉัพพัคคีย์คบคิดกันไปที่ลานตากผ้าของช่างย้อม ไปฉกห่อผ้าของช่างย้อมนำกลับมากุฏิ แล้วแบ่งปันกันเป็นจีวรใหม่เพลิดเพลินไปเลย      ภิกษุอื่นๆสังเกตเห็นก็เลยปรารภว่า พวกท่านเป็นผู้มีบุญมาก เพราะมีผ้าเกิดขึ้นให้ใช้มากมาย
แต่พระฉัพพัคคีย์ก็ไม่ได้พลิ้วในเรื่องมุสา   อาจจะพลิ้วไม่ทัน  จึงยอมรับตรงๆว่าเปล่า ไม่ใช่มีบุญ แต่ไปฉกของช่างย้อมมาเขามา
พระภิกษุอื่นๆก็ร้องว่า อ้าว  พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้วมิใช่หรือ ห้ามลักขโมย  เหตุไรพวกท่านจึงได้ลักห่อผ้า ของช่างย้อมมา
พระแสบก็ตอบหน้าตาเฉยว่า  จริงขอรับ พระผู้มีพระภาคทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แล้ว แต่สิกขาบทนั้น  พระองค์ทรงหมายถึงในเขตหมู่บ้านตะหาก   มิได้ทรงบัญญัติรวมไปถึงในป่า
พระภิกษุทั้งหลายก็แย้งว่า พระบัญญัตินั้นย่อมเป็นได้เหมือนกันทั้งนั้นมิใช่หรือ   แล้วก็ติเตียนพระแสบกันขนานใหญ่ จากนั้นก็นำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 13 มี.ค. 13, 21:32

เรื่องก็เลยถึงต้องให้ประชุมภิกษุสงฆ์     ทรงสอบสวนเรื่องราว  พระฉัพพัคคีย์ก็ทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนพระฉัพพัคคัย์   แล้วทรงบัญญัติว่า

 อนึ่ง ภิกษุใด ถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้ด้วย ส่วนแห่งความ เป็นขโมย จากบ้านก็ดี จากป่าก็ดี พระราชาทั้งหลาย จับโจรได้แล้ว ประหารเสียบ้าง จองจำไว้บ้าง เนรเทศเสียบ้าง ด้วยบริภาษว่า เจ้าเป็นโจร เจ้าเป็นคนพาล เจ้าเป็นคนหลง เจ้าเป็นขโมย ดังนี้ ในเพราะถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็น ปานใด    ภิกษุถือเอาทรัพย์อันเจ้าของไม่ได้ให้เห็นปานนั้น     แม้ภิกษุนี้ ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้

พระฉัพพัคคีย์ก็อาศัยอาทิกัมมะ รอดมาทำเรื่องให้เป็นข้อบัญญัติในพระวินัยได้อีกหลายสิบเรื่อง      นอกจากนี้ก็ยังมีพระโลลุทายี ซึ่งแสบไม่แพ้กัน   
รอซายาท่านมาเล่าต่อ  ขอปั่นเรตติ้งแค่นี้ค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 14 มี.ค. 13, 06:35

คะแนนที่ได้จากการปั่นเรตติ้ง เอาไปแลกของแถมได้ก็คงดี

โทษของการลักทรัพย์ผู้อื่นของพระภิกษุเป็นอาบัติแรงถึงขั้นปาราชิก คือต้องสึกสถานเดียว ถ้าไม่ยอมสึกเองก็จะโดนสงฆ์จับสึกโดยการจับเปลื้องจีวรออก ถือว่าหนักมาก จึงเคยมีคำถามว่า ทรัพย์มีมูลค่าเท่าไรจึงจะสมควรแก่ความผิดนั้น เรื่องนี้ พระพุทธเจ้าทรงทรงถามภิกษุผู้เคยเป็นมหาอำมาตย์ผู้พิพากษามาก่อนบวชว่า พระเจ้าพิมพิสารทรงจับโจรได้แล้วประหารชีวิต จองจำหรือเนรเทศ ด้วยกำหนดทรัพย์เท่าไร ก็ได้รับคำตอบว่า ๕ มาสก รอยอินอธิบายไว้ว่า มาตราเงินในครั้งโบราณ ๕ มาสก มีค่าเท่ากับ ๑ บาท จึงทรงบัญญัติสิกขาบท มิให้ภิกษุถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ให้ ผู้ใดทำเช่นนั้น ตีราคาได้เท่ากับที่พระราชาจับโจรได้ประหารชีวิต จองจำหรือเนรเทศ ต้องอาบัติปาราชิก

เรื่องนี้เคยมีผู้หัวหมออภิปรายว่าบาทหนึ่งในสมัยโน้นซื้อควายได้ตัวนึง สมัยนี้ซื้อลูกชิ้นปิ้งได้เม็ดเดียว มันก็ไม่แฟร์น่ะซี๊ ก็ว่ากันไป

เรื่องนี้จะเห็นว่า พระพุทธเจ้าทรงเอากฎหมายบ้านเมืองเข้าเทียบ กฎหมายอาญาของไทยในปัจจุบัน มาตรา๓๓๔ ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่น หรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ผู้นั้นกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท
มิได้กำหนดด้วยซ้ำว่าทรัพย์ราคาเท่าไหร่ ถึงจะตีราคาไม่ได้แต่เจ้าของหวง ก็เข้าความผิดกระทงนี้เหมือนกัน

ความจริงนั้น ตัวเป็นพระ เพียงแค่คิดจะโขมยก็ผิดแล้ว ถึงจะไม่มีโทษ แต่ก็ภาวนาไม่เป็นมรรคเป็นผลทั้งสิ้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 14 มี.ค. 13, 07:32

ปาราชิกในข้อบัญญัติสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือการฆ่าคนตาย เรื่องนี้แก๊งแสบก็มีเอี่ยวกับเขาด้วย

ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงอสุภกถา โดนใจพวกที่รักสวยรักงาม หลงรูปโฉมตัวเองราวกับว่ามันจะเป็นอย่างนั้นถาวรไปตลอดชาติ ทรงสอนพวกที่รู้สึกอย่างนี้ให้พิจารณาร่างกาย  จนมีปัญญาเห็นว่าโดยแท้แล้วไม่มีอะไรงามจริง อุปมาดังถุงหนังบรรจุของโสโครก มีรอยรั่วน้อยใหญ่นับไม่ถ้วน มีปฏิกูลรั่วและซึมออกตลอดเวลา
ครั้นแล้วรับสั่งว่า ทรงพระประสงค์จะปลีกวิเวกอยู่ตามลำพังพระองค์ตลอดกึ่งเดือน ใครๆไม่พึงเข้าไปเฝ้า เว้นแต่ภิกษุผู้นำอาหารเข้าไปถวายเพียงรูปเดียว
 
ภิกษุบางพวกปฏิบัติอสุภกรรมฐานแล้ว ถึงขั้นผิดหวังเบื่อหน่ายเกิดรังเกียจกายของตนเองขึ้นมา มีความรู้สึกเหมือนชายหนุ่มหญิงสาวที่อาบน้ำแต่งตัวสวยงามแล้ว แต่ยังมีซากศพตัวอะไรสักตัวคล้องอยู่ที่คอ กำจัดเท่าไรก็ไม่ออก แทนที่จะเข้าหาครูบาอาจารย์ให้แก้กรรมฐานให้ กลับฆ่าตัวตายเองบ้าง ฆ่ากันและกันบ้าง เข้าไปหานายมิคลัณฑิกะผู้แต่งตัวเหมือนสมณะ จ้างด้วยบาตรจีวรให้ฆ่าบ้าง นายมิคลัณฑิกะก็รับจ้างฆ่าภิกษุทั้งหลายวันละหนึ่งรูปบ้าง สองรูป สามรูป สี่รูป ห้ารูป จนถึงหกสิบรูปบ้าง
 
อรรถกถาตั้งคำถามว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงทราบหรือว่าพระเหล่านั้นจะฆ่าตัวตาย หรือจ้างเขาฆ่าแล้วเฉลยว่า ทรงทราบ เพราะภิกษุนั้นในชาติก่อนเคยเป็นพรานล่าเนื้อ ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมามากมาย ต้องชดใช้กรรมที่ตนก่อไม่มีใครจะแก้ไขได้ พระองค์จึงทรงหลีกเร้นเสียตลอดกึ่งเดือน เรื่องของวิบากกรรมนั้น ถ้าไม่ตายอย่างนี้ ก็ต้องตายอย่างอื่น

เมื่อครบกำหนดแล้วเสด็จกลับมา จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ แล้วทรงสั่งสอนอานาปานสติสมาธิ คือการทำใจให้ตั้งมั่นแล้วตามรู้ตามดูลมหายใจ หายใจเข้าก็รู้ หายใจออกก็รู้ ซึ่งเป็นกรรมฐานที่มีแต่คุณไม่มีโทษ แล้วทรงปรารภเรื่องภิกษุฆ่าตัวตาย ฆ่ากันและกัน รวมทั้งจ้างผู้อื่นให้ฆ่าตน ทรงติเตียน แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามมิให้ภิกษุฆ่ามนุษย์หรือใช้ให้คนอื่นฆ่า ทรงปรับอาบัติปาราชิกแก่ผู้ล่วงละเมิด
 
อนุบัญญัติ (ข้อบัญญัติเพิ่มเติม)
 
สมัยนั้น อุบาสกคนหนึ่งไม่สบาย ภิกษุฉัพพัคคีย์เกิดพอใจในภริยาของอุบาสกนั้น จึงพูดพรรณนาคุณแห่งความตาย อุบาสกนั้นเชื่อ ก็ตั้งหน้ารับประทานแต่ของแสลง เป็นเหตุให้โรคกำเริบและตายด้วยโรคนั้น ภริยาของอุบาสกจึงยกโทษภิกษุฉัพพัคคีย์เหล่านั้นขึ้นติเตียน ความทราบถึงพระพุทธเจ้า ทรงเรียกประชุมสงฆ์ ไต่สวน ได้ความเป็นสัตย์แล้ว จึงทรงติเตียนพวกโฆษบุรุษเหล่านั้น แล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติม ห้ามการพรรณนาคุณของความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตาย ผู้ใดละเมิด ต้องอาบัติปาราชิกด้วย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 14 มี.ค. 13, 08:30

นอกจากละเมิดศีลสำคัญทั้งสองข้อที่อยู่ในศีล๕ ในสมัยที่พระพุทธเจ้ายังมิได้บัญญัติโทษทางวินัยนั้น แก๊งแสบยังละเมิดศีลที่เป็นสมณะศีลในข้อที่แปด คือ เว้นจากการนอนที่นอนสูงใหญ่ ภายในยัดด้วยนุ่นและสำลีอีกด้วย จนทำให้พระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติโทษ

ครั้งนั้น พระฉัพพัคคีย์ให้ทำเตียงบ้าง ตั่งบ้าง ยัดด้วยนุ่น พวกชาวบ้านเที่ยวไปทางวิหารเห็นเข้าแล้วต่างพากันเพ่งโทษติเตียน โพนทะนาว่า ไฉนพระจึงทำตัวเหมือนพวกคฤหัสถ์ผู้บริโภคกามเล่า กามนี้มีความหมายครอบคลุมถึงความสุขความสบายทั้งหลายทั้งปวงที่มนุษย์ในโลกแสวงหานะครับ

สุดท้ายพระพุทธเจ้าจึงต้องทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุให้ทำเตียงหรือตั่งที่หุ้มด้วยนุ่น ต้องอาบัติปาจิตตีย์  ที่ทำแล้วให้รื้อเสียจึงแสดงอาบัติตก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 14 มี.ค. 13, 08:32

ในบทเดียวกันนี้ ยังมีอีกสามสิกขาบทคือ

ห้ามทำผ้าปูนั่งมีขนาดเกินประมาณ
ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าปูนั่งไม่มีประมาณ ผ้าย้อยไปข้างหน้าข้างหลังของเตียงแลตั่ง พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำผ้าปูนั่ง พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๒ คืบ กว้างคืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้นไป ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก) ภายหลังทรงอนุญาตชายผ้าปูนั่งอีก ๑ คืบ
 
ห้ามทำผ้าปิดฝีมีขนาดเกินประมาณ
ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าปิดฝีไม่มีประมาณ ลากผ้าไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เที่ยวไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะทำให้ผ้าปิดฝี พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๔ คืบ กว้าง ๒ คืบ ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้น ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก)
 
ห้ามทำผ้าอาบน้ำฝนมีขนาดเกินประมาณ
ภิกษุฉัพพัคคีย์ใช้ผ้าอาบน้ำฝนไม่มีประมาณ ลากผ้าไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง เที่ยวไป พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุจะให้ทำผ้าอาบน้ำฝน พึงทำให้ได้ประมาณ คือ ยาว ๖ คืบ กว้าง ๒ คืบครึ่ง ด้วยคืบสุคต ถ้าทำให้เกินประมาณนั้น ต้องปาจิตตีย์ ที่ให้ตัดเสีย (จึงแสดงอาบัติตก)

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 14 มี.ค. 13, 08:49

ผมตั้งใจจะเขียนเฉพาะเรื่องแก๊งแสบและแก๊งโจ๋ตามหัวเรื่องให้จบ และมีฉันทะจะเขียนนำหรือเขียนตอบผู้ข้องใจสงสัยเฉพาะในขอบเขตนี้เท่านั้น มิได้ตั้งใจจะเขียนพระไตรปิฎกฉบับง่ายๆสไตล์navarat.c ทั้งฉบับ เอาแต่เรื่องของแก๊งแสบก็ยังมีให้เล่าสู่กันฟังได้อีกพอสมควรทีเดียว

โปรดติดตาม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 14 มี.ค. 13, 11:07

ห้ามหล่อเครื่องปูนั่งเจือด้วยไหม

ภิกษุฉัพพัคคีย์เข้าไปหาช่างทำไหม ขอให้เขาต้มตัวไหม, และขอใยไหมบ้าง เพื่อจะหล่อสันถัต (เครื่องลาด, เครื่องปูนั่ง) เจือด้วยไหม, เขาหาว่าเบียดเบียนเขาและเบียดเบียนตัวไหม พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุหล่อสันถัต เจือด้วยไหม ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้ล่วงละเมิด

ห้ามหล่อเครื่องปูนั่งด้วยขนเจียมดำล้วน


เอาละซีครับพระคุณท่าน ขนเจียมเป็นอย่างไรล่ะนั่น ผมอ่านอรรถกถาจารย์อธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจ เครื่องปูนั่งทำด้วยขนก็เข้าประเภทสิ่งทอ แล้วไหง๋ถึงผลิตด้วยการหล่อ ซึ่งแปลว่าทำให้ของเหลวเป็นของแข็งในรูปทรงที่กำหนดแม่แบบบังคับ ขนเจียมหมายถึงกรรมวิธีผลิตขน(คล้ายๆคำว่าขนัก ขนทอ)หรือแปลว่าขนของตัวที่ชื่อเจียม ผมก็ไม่เคยทราบ

ต้องตามไปอ่านภาคภาษาอังกฤษที่ฝรั่งแปลจากบาลี เขาใช้คำว่าfelt blanket/rug entirely of black wool ขะรับ เลยพอจะเข้าใจ
felt คือผ้าสักหลาด(อ่านว่าสัก-กะ-หลาด) ซึ่งคนอินเดียผลิตมานานจนมีความชำนาญ ทำจากขนสัตว์ โดยนำขนสัตว์มาโปรยลงบนแท่น แล้วกระแทกด้วยแผ่นที่มีตะปูปลายแหลมมีเงี่ยงคล้ายเบ็ดถี่ยิบขึ้นๆลงๆซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนขนสัตว์ขึ้นมาพันกันเป็นผืน ในลักษณะคล้ายๆกับทอเข้าด้วยกัน แต่ไม่ใช่ การทอจะมีลวดลายเป็นระเบียบกว่า ท่านที่มีผ้าสักหลาดลองเอาแว่นขยายส่องดู จะเห็นขนสัตว์ที่ประสานกันเป็นเนื้อเดียวอย่างไม่มีระเบียบ ผิดกับผ้าทั่วไป ภาษาไทยไม่มีบัญญัติศัพท์นี้ ท่านจึงไปใช้ว่าหล่อ

อ่ะ คราวนี้ตัวเจียมคือตัวอะไร ผมก็ตามรอย black wool ของอินเดียไป เจอเจ้าตัวนี้ออกมาเต็มหน้าจอ เขาเรียกว่าตัวyak ไทยเราเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจามรี ปกติจะมีขนสีขาว แต่สีดำก็มี และเป็นของหายาก ขนจามรีดำจึงมีราคาแพง

ก็ยังตอบไม่ได้อยู่ดีว่า เจียมหมายถึงจามรี หรือต้องกล่าวว่าขนเจียม เพราะแปลว่าผ้าสักหลาดที่ส่วนใหญ่ทำจากขนแกะหรือแพะ
แต่เอาเป็นว่าท่านคงเข้าใจแล้วว่าอะไรเป็นอะไร ผมก็ขอคงศัพท์เดิมไว้ก็แล้วกัน

ภิกษุฉัพพัคคีย์หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน คนทั้งหลายติเตียนว่า ใช้ของอย่างคฤหัสถ์ จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามหล่อเองหรือใช้ให้หล่อสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วน ทรงปรับอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ผู้ล่วงละเมิด


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.215 วินาที กับ 19 คำสั่ง