เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
อ่าน: 17367 แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ ในวงการสงฆ์สมัยพุทธกาล
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


 เมื่อ 09 มี.ค. 13, 16:21

ในกระทู้ที่แล้ว ผมกล่าวถึงบุคคลที่เป็นอาทิกัมมิกะ คือ บุคคลที่กระทำผิดเป็นคนแรกก่อนมีข้อห้าม ถือว่าไม่ผิด เลยนึกถึงเรื่องตามชื่อกระทู้นี้ อยากนำมาเล่าต่อสู่กันฟัง

ชาวพุทธระดับที่เข้ามาในเรือนไทย คงไม่มีใครไม่รู้จักพระปัญจวัคคีย์ หรือกลุ่มพระภิกษุ๕องค์ ซึ่งทำให้บังเกิดสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนา ครบเป็นองค์๓ของพระรัตนตรัย อันประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

ความจริงแล้วในสมัยพุทธกาล มีพระภิกษุถูกจัดให้เป็นกลุ่มๆ เรียกว่า“วัคคีย์”ปรากฏในพระไตรปิฎกหลายกลุ่มอยู่ ปัญจวัคคีย์เป็นกลุ่มสงฆ์ที่ควรแก่การเคารพคารวะ ทว่าในหมวดพระวินัยนั้น มีกลุ่มพระแสบที่เข้ามาบวชเป็นเหลือบในพระพุทธศาสนา เรียกว่าพวกฉัพพัคคีย์ หรือแก๊ง๖คน และพวกสัตตรสวัคคีย์ หรือแก๊ง๑๗คน รวมอยู่ด้วย

๑๗ บาลีว่า สัตตรส อ่านว่า สัด-ตะ-ระ-สะ ไม่ใช่ "สัด-ตะ-รด” อันจะกลายเป็นแปลว่ารสชาติทั้ง๗ไป
สัตตรสวัคคีย์  อ่านว่า สัด-ตะ-ระ-สะ-วัค-คี คือกลุ่มบุคคลที่รวมกันได้๑๗

ทั้งพระฉัพพัคคีย์ และพระสัตตรสวัคคีย์ นับว่าเป็นอาทิกัมมิกะ ในศีลของพระภิกษุสงฆ์มากมายหลายสิบข้ออย่างน่าเหลือเชื่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 09 มี.ค. 13, 16:23

สมัยที่พระพุทธเจ้ายังมิได้ทรงมอบภารกิจการบวชกุลบุตรเข้ามาเป็นพระภิกษุในศาสนาของพระองค์นั้น สังฆสาวกที่เป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ เป็นสงฆ์เมื่อพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตโดยออกพระโอษฐ์ว่า ขอท่านจงเป็นภิกษุแต่บัดนี้เถิด นั้น ท่านเหล่านี้มิได้เคยสร้างปัญหาให้คณะสงฆ์ด้วยกันแต่อย่างใด ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาเริ่มแผ่ไป สุดวิสัยที่พระองค์แต่ผู้เดียวจะทรงเป็นผู้อนุญาตการบวช จึงมอบภาระนี้แก่หมู่สงฆ์ เมื่อเป็นดังนี้ หน้าที่รับผิดชอบในการกลั่นกรองคนจึงขึ้นอยู่กับพระอุปัชฌาย์ หรือสงฆ์ผู้อนุญาตและคอยดูแลเอาใจใส่ แนะนำพรำเตือนศิษย์ของตน

เพราะเหตุที่มิได้มีกฎเกณฑ์ใดๆกำกับไว้ หวังให้ขึ้นอยู่กับการใช้วิจารณญาณของแต่ละท่าน การกลั่นกรองของพระอุปัชฌาย์บางองค์ ถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์ก็ยังมีพลาด ทำให้บุคคลที่มิได้ตั้งใจจะแสวงหาความหลุดพ้นเข้ามาป่วนวงการสงฆ์ จนพระพุทธเจ้าต้องทรงแก้ไข ด้วยการบัญญัติข้อห้ามที่เรียกว่าศีล ตามมาทุกครั้งที่ความผิดบังเกิด กว่าจะปรินิพพาน ศีลของพระภิกษุจึงมีถึง๒๒๗ข้อ และแน่นอนว่า ถ้าพระชนมายุยืนยาวกว่านั้น ศีลของพระภิกษุคงมีมากกว่าที่เห็นแน่ๆ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 09 มี.ค. 13, 16:26

ผมขอแนะนำให้รู้จักภิกษุฉัพพัคคีย์ ที่มีฉายาว่าแก๊งแสบก่อน

นี่ว่ากันตามสำนวนพระไตรปิฎก

ได้ยินว่าชน๖คน๑ ในกรุงสาวัตถีเป็นสหายกัน ปรึกษากันว่าการกสิกรรมเป็นต้นเป็นการงานที่ลำบาก เอาเถิดสหายทั้งหลายพวกเราจะพากันบวช และพวกเราเมื่อจะบวช ควรบวชในฐานผู้ช่วย สลัดออกเสียในเมื่อมีกิจการเกิดขึ้น     
ดังนี้แล้วได้บวชในสำนักแห่งพระอัครสาวกทั้งสอง
……………

ชน๖คน๑ ตามสำนวนนี้หมายถึงคนจำนวน๖คนกลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วยผู้ที่มีรายนามดังนี้คือ   ปัณฑกะ๑ โลหิตกะ๑  เมตติยะ๑ ภุมมชกะ ๑ อัสสชิ ๑ ปุนัพพสุกะ ๑  เมื่อบวชแล้วเรียกว่า  ภิกษุฉัพพัคคีย์
 
พระอัสสชิในกลุ่ม๖นี้ ไม่ใช่พระอัสสชิในกลุ่มภิกษุปัญจวัคคีย์นะครับ องค์นั้นท่านเป็นอรหันตสาวกอันควรแก่การกราบไหว้ด้วยเศียรเกล้า ชื่อแขกก็เป็นชื่อโหลอย่างนี้แหละ ในพระไตรปิฏกปรากฎชื่อพระอัสสชิตั้งหลายองค์

ภิกษุฉัพพัคคีย์นี้บวชเรียนเข้ามาอยู่ในสำนักของพระโมคคัลลาน์และพระสารีบุตรทีเดียวเชียวนะท่าน

ในอินเดียนั้น ไม่ว่าสมัยไหนๆ คนจนมีมากกว่าคนไม่จน เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว มีผู้เลื่อมไสศรัทธามาทำบุญทำทานมากมาย จนคนกลุ่มหนึ่งมองว่าเป็นพระในพุทธศาสนานี่สบายดี วันๆคงกินกับนอนไม่ต้องทำอะไร เลยกะจะเข้ามาบวชเพื่อที่จะเช้าเอน เพลนอน บ่ายพักผ่อน กลางคืนจำวัด อาศัยผ้าเหลืองไปวันๆ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 09 มี.ค. 13, 16:29

เมื่อแก๊งฉัพพัคคีย์บวชเข้ามานั้น ในวัดมีแก๊งสัตตรสวัคคีย์ หรือกลุ่มเด็กโจ๋๑๗คนบวชอยู่ก่อนแล้ว

ขอแนะนำภิกษุสัตตรสวัคคีย์ ว่ากันตามสำนวนพระไตรปิฎก

ก็สมัยนั้นแล ในพระนครราชคฤห์มีเด็กชายพวกหนึ่ง ๑๗ คน เป็นเพื่อนกันเด็กชายอุบาลีเป็นหัวหน้าของเด็กพวกนั้น

ครั้งนั้น มารดาบิดาของเด็กชายอุบาลีได้หารือกันว่าด้วยวิธีอะไรหนอ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลีจะอยู่เป็นสุข และจะไม่ต้องลำบาก ครั้นแล้วหารือกันต่อไปว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจะพึงเรียนหนังสือ ด้วยวิธีอย่างนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลี จะพึงอยู่เป็นสุข และจะไม่ต้องลำบาก
แล้วหารือกันต่อไปอีกว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียนหนังสือ นิ้วมือก็จักระบม ถ้าเจ้าอุบาลีเรียนวิชาคำนวณ ด้วยอุบายอย่างนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลีจะพึงอยู่เป็นสุข และไม่ต้องลำบาก
ครั้นต่อมาจึงหารือกันอีกว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียนวิชาคำนวณเขาจักหนักอก ถ้าจะพึงเรียนวิชาดูรูปภาพ ด้วยอุบายอย่างนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลีก็จะพึงอยู่เป็นสุข และจะไม่ต้องลำบาก
ครั้นต่อมาจึงหารือกันอีกว่า ถ้าเจ้าอุบาลีจักเรียนวิชาดูรูปภาพ นัยน์ตาทั้งสองของเขาจักชอกช้ำ พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเหล่านี้แล มีปกติเป็นสุข มีความประพฤติเรียบร้อย ฉันอาหารที่ดี นอนในห้องนอนอันมิดชิด ถ้าเจ้าอุบาลีจะพึงบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร ด้วยวิธีนี้แหละ เมื่อเราทั้งสองล่วงลับไปแล้ว เจ้าอุบาลีก็จะอยู่เป็นสุข และจะไม่ต้องลำบาก

เด็กชายอุบาลีได้ยินถ้อยคำที่มารดาบิดาสนทนาหารือกันดังนี้ จึงเข้าไปหาเพื่อนเด็กเหล่านั้น ครั้นแล้วได้พูดชวนว่า มาเถิดพวกเจ้า พวกเราจักพากันไปบวชในสำนักพระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตรเด็กชายเหล่านั้นพูดว่า ถ้าเจ้าบวช แม้พวกเราก็จักบวชเหมือนกัน

เด็กชายเหล่านั้นไม่รอช้า ต่างคนต่างก็เข้าไปหามารดาบิดาของตนๆ แล้วขออนุญาตว่าขอท่านทั้งหลายจงอนุญาตให้ข้าพเจ้า ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตเถิด
มารดาบิดาของเด็กชายเหล่านั้นก็อนุญาตทันที ด้วยคิดเห็นว่า เด็กเหล่านี้ต่างก็มีฉันทะร่วมกัน มีความมุ่งหมายดีด้วยกันทุกคน เด็กพวกนั้นเข้าไปหาภิกษุทั้งหลายแล้วขอบรรพชา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 09 มี.ค. 13, 16:31

ยังไงไม่ทราบได้ ภิกษุทั้งหลายก็บรรพชาอุปสมบทให้เด็กแก๊งนี้ ในคืนนั้นเอง พระเด็กเหล่านั้นก็หิว ร้องไห้คร่ำครวญจะขอกินข้าว พวกที่หลับแล้วก็ปัสสาวะ อุจจาระรดที่นอน ด่าทอกันเองอึงอยู่ จนเสียงดังไปถึงพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถามพระอานนท์ว่านั่นเสียงเด็กหรือ พระอานนท์จึงกราบทูลเรื่องที่เกิดขึ้น

เช้าวันนั้น พระพุทธเจ้าจึงรับสั่งถามต่อคณะสงฆ์ว่า มีใครบวชให้เด็กอายุต่ำกว่า๒๐ปีจริงหรือ ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลว่าจริงพระพุทธเจ้าข้า พระพุทธเจ้าจึงทรงติเตียนว่า ไฉนโมฆบุรุษพวกนั้นรู้อยู่ จึงได้ให้บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ ปี อุปสมบทเล่า
 
คำว่าโมฆบุรุษแปลตามศัพท์บาลีว่าบุคคลที่ว่างเปล่าไม่มีอะไรในตน อธิบายตามภาษาปัจจุบันเรียกว่าพวกสมองกลวง

ทรงตรัสต่อว่า โมฆบุรุษพวกนั้นก็รู้อยู่ว่าคนที่มีอายุน้อยกว่ายี่สิบปี เป็นผู้ไม่อดทนต่อเย็น ร้อน หิวกระหาย ไม่อดทนต่อเหลือบ ยุง ลม แดด สัตว์เลื้อยคลาน ไม่อดทนต่อการถูกกล่าวร้าย ต่อทุกขเวทนาจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ การกระทำของโมฆบุรุษดังนั้น จึงไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติข้อห้ามว่า ภิกษุรู้อยู่ ไม่พึงให้บุคคลมีอายุหย่อน ๒๐ปีอุปสมบท ภิกษุผู้ใดเป็นอุปัชฌายะให้อุปสมบท ผู้นั้นต้องอาบัติปาจิตตีย์
ส่วนพระอุปัชฌาย์ที่บวชให้ครั้งนี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ ไม่ต้องอาบัติ

ส่วนพระเด็กทั้ง๑๗องค์ เมื่อบวชเข้ามาแล้วก็โชคดีถือว่าแล้วไปแล้ว ยังดำรงสมณเพศได้ต่อไป แต่ต้องปฏิบัติตามพระวินัยเช่นพระภิกษุทั่วไป รู้จักกันในนามว่า พระสัตตรสวัคคีย์ 
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 09 มี.ค. 13, 16:36

เด็กก็คือเด็ก วันหนึ่งแก๊งโจ๋พวกนี้ได้ไปเล่นน้ำในแม่น้ำอจิรวดี บังเอิญพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระมเหสีได้เสด็จไปเจอเข้า เห็นพระว่ายน้ำเล่นกันอย่างคึกคะนองผิดสมณะสารูปก็สลดพระทัย ทำอย่างไรจะให้พระพุทธเจ้าได้ทรงรับรู้ จึงทรงออกอุบายฝากงบน้ำอ้อยไปถวายพระพุทธเจ้า ครั้นพระพุทธเจ้าถามว่าใครถวายมา และซักเรื่องราวต่างๆก็ทรงทราบว่า พระโจ๋แก๊งนี้ไปเล่นน้ำกันมา จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุว่ายน้ำเล่น ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งโจ๋กระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 09 มี.ค. 13, 16:38

และแล้วแก๊งแสบกับแก็งโจ๋ก็โคจรมากัน


ครั้งนั้นพระนครราชคฤห์มีมหรสพบนยอดเขา พระสัตตรสวัคคีย์ได้ไปดูมหรสพบนยอดเขา ประชาชนเห็นพระเด็กๆมาก็เอ็นดู จึงนิมนต์ให้สรงน้ำ ลูบไล้ของหอม ให้ฉันอาหารแล้วได้ถวายของขบเคี้ยวไปด้วย พระสัตตรสวัคคีย์นำของเคี้ยวมาถึงวัดแล้วไปจ๊ะเอ๋กับแก๊งพระฉัพพัคคีย์เข้า เลยแก้เกี้ยวนิมนต์ให้ฉันด้วย พระฉัพพัคคีย์ถามว่านี่พวกท่านฉันอาหารในเวลาวิกาลหรือ ว่าแล้วก็ติเตียน โพนทะนาเพ่งโทษแก๊งโจ๋ว่าฉันอาหารในเวลาวิกาล ในที่สุดเรื่องก็ไปถึงพระพุทธเจ้า ทรงสอบถามแล้วพระสัตตรสวัคคีย์ทูลรับว่าจริง
 
จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุฉันอาหารในเวลาวิกาล ตั้งแต่เที่ยงไปจนรุ่งอรุณ ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งโจ๋กระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 09 มี.ค. 13, 16:40

ครั้งนั้น พระสัตตรสวัคคีย์กำลังช่วยกันซ่อมแซมวิหารหลังหนึ่งที่อยู่สุดเขตวัด หมายใจว่าจะได้เข้าครอบครอง พระฉัพพัคคีย์ได้เห็นแก๊งโจ๋กำลังทำงานง่วนอยู่ก็พูดกันว่า อย่ากระนั้นเลย พวกเราจักไล่พวกเธอไปเสีย สมาชิกในแก๊งแสบบางท่านเสนอให้รออยู่ก่อน จนกว่าพวกเธอจะปฏิสังขรณ์เสร็จ เมื่อเธอปฎิสังขรณ์เสร็จแล้วพวกเราจงค่อยไล่ไป

ครั้นเสร็จแล้ว  แก๊งแสบก็ยกพวกไปลุยโดยกล่าวกับแก๊งโจ๋ว่าพวกท่านจงย้ายไป วิหารนี้เป็นของพวกเรา แก๊งโจ๋ตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย พวกท่านควรจะบอกล่วงหน้ามิใช่รึ   พวกเราจะได้ปฏิสังขรณ์วิหารหลังอื่น เถียงกันไปมา สุดท้ายแก๊งแสบขัดใจ ทำเป็นโกรธเข้าจับคอจับคอพวกแก๊งโจ๋ฉุดคร่าออกไป พระสัตตรสวัคคีย์ถูกฉุดคร่าออกไปก็ร้องให้ ภิกษุทั้งหลายเห็นเข้าก็พากันถามว่าพวกท่านร้องไห้ทำไม พระสัตตรสวัคดีย์ก็เล่าเรื่องให้ฟัง ในที่สุดเรื่องก็ถึงพระพุทธเจ้า

ลำดับนั้น ทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า พวกเธอโกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าภิกษุทั้งหลายออกจากวิหารของสงฆ์จริงหรือ พระฉัพพัคคีย์ทูลรับว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าจึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุทำร้ายกัน ภิกษุใดโกรธ ขัดใจ ฉุดคร่าก็ดี ให้ฉุดคร่าก็ดี  ซึ่งภิกษุจากวิหารของสงฆ์ ต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 09 มี.ค. 13, 17:44

ต้องโทษพ่อแม่ของเด็กชายอุบาลีเป็นอันดันแรก ที่หวังให้ลูกบวชเพื่อเป็นกาฝากในศาสนา    อาศัยความเลื่อมใสของประชาชนบันดาลได้นั่งๆนอนๆ กินสบายอยู่สบาย ไม่ต้องประกอบอาชีพ      โดยไม่ได้ใส่ใจเลยว่าพุทธศาสนามีจุดมุ่งหมายอย่างใด   เมื่อพ่อแม่ไม่เห็นลูกจะเห็นอย่างไรได้

อ่านๆจากข้างบนนี้ พวกแก๊งค์สองแก๊งค์นี่ก็น่าเอ็นดูอยู่อย่าง  ถูกจับได้ทีไรก็ยอมรับสารภาพทุกที  ไม่ตะแบงไปข้างๆคูๆ ให้ผู้จับได้ปวดหัวกันอย่างสมัยนี้    และไม่มีเส้นมีสายมาคอยช่วยเหลือ  ทำให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยได้ง่ายขึ้นมาก 
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 09 มี.ค. 13, 20:06

แก๊งโจ๋ของพระอุบาลีนี่เข้าใจว่าเป็นคนละอุบาลีกับพระอุบาลีเถระ  เพราะพระอุบาลีเถระก่อนบวชเป็นช่างภูษามาลาออกบวชพร้อมกับพระราชกุมารอีก 6 พระองค์ คือพระเจ้าภัททิยศากยราชา, เจ้าชายอนุรุทธะ, เจ้าชายอานนท์, เจ้าชายอนุรุทธะ, เจ้าชายกิมพิละ และเจ้าชายเทวทัต โดยนายอุบาลีภูษามาลาบวชก่อนเพื่อเป็นการลดทิฐิของเหล่าราชกุมาร เพราะเมื่อบวชก่อนท่านจะมีพรรษามากกว่าเหล่าพระราชกุมาร ทำให้เหล่าราชกุมารทั้งหลายต้องกราบไหว้ท่าน  พระอุบาลีเถระเป็นพระอรหันต์ เป็นหนึ่งในพระภิกษุสาวกเอตทัคคะของพระพุทธเจ้าเป็นเลิศในด้านผู้ทรงวินัย

ในการสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งแรก พระอุบาลีเถระเป็นผู้วิสัชชนาพระธรรมวินัยที่แถวๆ เมืองราชคฤห์

ข้อมูลลอกเอามาจากแถวๆ wiki ครับ
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 10 มี.ค. 13, 07:31

ข้อความโดย: เทาชมพู
อ้างถึง
อ่านๆจากข้างบนนี้ พวกแก๊งค์สองแก๊งค์นี่ก็น่าเอ็นดูอยู่อย่าง  ถูกจับได้ทีไรก็ยอมรับสารภาพทุกที  ไม่ตะแบงไปข้างๆคูๆ ให้ผู้จับได้ปวดหัวกันอย่างสมัยนี้    และไม่มีเส้นมีสายมาคอยช่วยเหลือ  ทำให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติพระวินัยได้ง่ายขึ้นมาก

ครับ
พระภิกษุสมัยนั้น ไม่ว่าจะพยศอย่างไรก็ตามก็ยังรักและเคารพพระพุทธเจ้า นอกจากเทวทัตเท่านั้นที่กล้าทำร้ายพระพุทธองค์

ทั้งพระฉัพพัคคีย์และพระสัตตรสวัคคีย์ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักษาศีล ในความหมายว่า"ข้อห้าม"ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติแล้วอย่างเคร่งครัด ท่านจะไม่มุสา หรือเอาสีข้างเข้าถูจนสีข้างไม่มีหนังกำพร้าเหมือนพวกนักการเมือง แม้ท่านจะชอบทำอะไรผิดๆวิสัยพระ จนพระพุทธเจ้าต้องทรงบัญญัติศีลเพิ่มตาม ท่านก็จะไม่ละเมิดศีลข้อเดิมนั้นอีก แต่จะไปหาเรื่องแผลงๆใหม่ๆทำไปได้เรื่อยๆ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 10 มี.ค. 13, 07:59

ข้อความโดย: ประกอบ
อ้างถึง
แก๊งโจ๋ของพระอุบาลีนี่เข้าใจว่าเป็นคนละอุบาลีกับพระอุบาลีเถระ.....ฯลฯ

ครับ

ผมแจงไว้แล้วว่า ชื่อคนอินเดียสมัยพุทธกาลมีชื่อโหลแยะมาก แต่บางครั้งจะใช้ว่าเป็นลูกใครเป็นชื่อด้วย เช่นพระสารีบุตรเมื่อแรกเกิดมีชื่อว่า"อุปติสสะ"เป็นบุตรของนางพราหมณีชื่อ"สารี" คนทั้งปวงขนานนามท่านว่า"สารีบุตร" แปลว่าบุตรของนางสารีเพื่อไม่ให้ซ้ำกับอุปติสสะอื่นๆ หรือ พระโมคคัลลานะ ชื่อเดิมของท่านคือ "โกลิตะ" มาได้ฉายาใหม่ซึ่งแปลว่าผู้มีเชื้อสายของนางโมคคัลลี เป็นต้น

การพ่วงท้ายคำว่า"เถระ"ก็บ่งบอกฐานะของพระภิกษุเช่นกัน พระอุบาลีเฉยๆกับพระอุบาลีเถระ มีความแตกต่างกันแน่นอนครับ

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 10 มี.ค. 13, 08:22

ต่อมา พระฉัพพัคคีย์ก็หาวิธีแย่งที่อยู่ของภิกษุอื่นอีก โดยให้อุบายเข้าไปนอนเบียดพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่ ด้วยคิดว่าท่านอึดอัดเข้าก็จะหลีกไปเอง ปกติพระเถระนั้นท่านรักความสงบวิเวกอยู่แล้ว ท่านยินดีนอนที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นหลืบถ้ำหรือโคนต้นไม้ แก๊งแสบจึงชิงที่นอนนั้นได้สำเร็จ พระภิกษุอื่นๆทราบเข้าก็พากันตำหนิติเตียน แล้วนำความไปกราบทูลพระพุทธเจ้า ทรงตรัสถาม พระฉัพพัคคีย์ก็รับสารภาพ

จึงทรงติเตียนโฆษบุรุษทั้งหลาย แล้วบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุใดรู้อยู่  สำเร็จการนอนแทรกแซงภิกษุผู้เข้าไปก่อน ในวิหารของสงฆ์ ด้วยหมายว่าผู้ใดมีความคับใจ ผู้นั้นจักหลีกไปเอง ทำความหมายอย่างนี้เท่านั้นให้เป็นปัจจัย หาใช่อย่างอื่นไม่  ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์

ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 10 มี.ค. 13, 08:34

แก๊งแสบกับแก๊งโจ๋ โดยธรรมชาติของผู้ชายที่วุฒิภาวะยังไม่ถึงขั้นจะเป็นผู้ใหญ่ ตัวใหญ่ก็ย่อมเล่นแกล้งตัวเล็กเพื่อความสนุกสนานอยู่แล้ว

ภิกษุพวก๖ ซ่อนบาตรบ้าง จีวรบ้าง ของภิกษุพวก๑๗ ซึ่งไม่ค่อยเก็บบริขาร(เครื่องใช้ของพระ)ของตนให้เรียบร้อย เรื่องไปถึงพระพุทธเจ้า ทรงสอบถาม พระฉัพพัคคีย์ทูลรับสารภาพ

จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุซ่อนบาตร จีวร กล่องเข็ม ประคดเอวของภิกษุอื่น แม้เพื่อจะหัวเราะเล่น ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์
ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 10 มี.ค. 13, 08:58

ขอรับพระเจ้าข้า ไม่เล่นซ่อนหาก็ได้ เล่นไอ้นี่ดีกว่า

ภิกษุพวก๖ หลอกภิกษุพวก๑๗ ให้กลัวผี พวกเธอถูกหลอกจึงร้องไห้ ภิกษุทั้งหลายถามแก๊งโจ๋ว่าพวกท่านร้องไห้ทำไม พระสัตตรสวัคคีย์ตอบว่า พระฉัพพัคคีย์พวกนี้หลอกผีพวกผมขอรับ

เรื่องไปถึงพระพุทธเจ้า พระผู้มีพระภาคทรงสอบถามพระฉัพพัคคีย์ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข่าวว่า พวกเธอหลอนภิกษุทั้งหลายจริงหรือ พระฉัพพัคคีย์ทูลรับสารภาพว่าจริงพระเจ้าข้า

จึงทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามภิกษุใดหลอนซึ่งภิกษุอื่น ภิกษุใดละเมิดต้องอาบัติปาจิตตีย์
ข้อห้ามนี้ หมายรวมไปถึงหลอกให้เกิดความกลัวทั้งหมด ไม่เฉพาะหลอกเรื่องผีเท่านั้น

ส่วนแก๊งแสบกระทำก่อนบัญญัตินี้ ถือเป็นอาทิกัมมิกะ จึงรอดตัวไป
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 6
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง