เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 12
  พิมพ์  
อ่าน: 109211 บ้านเศรษฐีสยามที่งามราวกับวังเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 07 มี.ค. 13, 15:58

จากท่านผู้เขียนที่คุณเพ็ญกล่าวถึง

ในสมัยนั้น จอมพล ป. คิดว่าเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว(ท่านคิดอย่างนั้น) ท่านเห็นว่าคนควรจะมีฐานะเท่าเทียมกัน ท่านจึงให้ยกเลิกราชทินนาม คือ ขุน หลวง พระ พระยา ฯลฯ โดยให้ใช้ชื่อเดิม นามสกุลเดิม เช่น พ่อของผมเป็นอัยการและได้รับพระราชทินนามว่า พระอรรถวสิทธิ์สุธี ก็ต้องเปลี่ยนเป็น นายเชย อิศรภักดี ฟังดูมันเชยๆชอบกล

บางคนชื่อว่าเอี้ยง แต่รับราชการมีตำแหน่งใหญ่โต ก็เลยเปลี่ยนเป็น อินทรีย์ เพื่อให้ดูสมฐานะ สำหรับนามสกุล จะใช้นามสกุลเดิมก็ได้ หรือจะยกเอาราชทินนามมาเป็นนามสกุลก็ได้ เช่น หลวงพิบูลสงคราม ท่านใช้ชื่อ-นามสกุล เป็น แปลก พิบูลสงคราม โดยยกเอาราชทินนามมาเป็นนามสกุล

พอถึงหลังสงคราม รัฐบาลใหม่สั่งให้ยกเลิกการเปลี่ยนแปลงนี้ โดยอนุญาตให้ใช้ชื่อและนามสกุลเดิมหรือราชทินนามเหมือนเดิมได้ พ่อของผมรีบเปลี่ยนไปเป็น พระอรรถวสิทธิ์สุธี โดยไม่ต้องคิดนานเลย


ท่านมีอายุยืนอยู่จนสิ้นสงคราม(๒๔๘๙)ทีเดียว
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 07 มี.ค. 13, 16:00

ท่อนนี้ น่าสนใจ

สมัยก่อน การที่จะปลูกบ้านซักหลังในที่ของตัวเองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่มีบ้านจัดสรรที่ผ่อนน้อยๆนานถึง 20-30 ปี แต่ก่อนนี้ ต้องรวบรวมเงินให้พอเสียก่อนจึงจะไปซื้อที่ดินด้วยเงินสด จากนั้นก็ตั้งหน้าตั้งตาเก็บหอมรอมริบให้มีเงินเพียงพอเพื่อปลูกบ้านซักหลัง ตัวผมเองมีบ้านในที่ของตัวเองเมื่ออายุ 40 กว่าปี เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะธนาคารเขาไม่มีนโยบายที่จะปล่อยเงินกู้ให้คนนำไปสร้างบ้าน

ตอนผมเด็กๆ ตัวผมและคนข้างเคียงไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่ามีธนาคาร เพราะธนาคารสมัยก่อนไม่มีสาขาและประกอบธุรกิจด้วยการรับฝากเงินแล้วให้ดอกเบี้ยเท่านั้น คนที่กู้เงินจากธนาคารได้ก็คือเจ้าของธนาคารกับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงเท่านั้น เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ผมทำงานอาชีพอิสระ ห่างจากสำนักงานของผมซัก 20 ก้าว มีสำนักงานที่เป็นสาขาของธนาคารหนึ่ง(ตอนนั้นเริ่มมีสาขาธนาคารบ้างแล้ว) บังเอิญผู้จัดการธนาคารแห่งนี้เคยเรียนหนังสือด้วยกันกับผมตอนเด็กๆ เราจึงจำกันได้และรู้จักกันดี

เขามาชักชวนให้ผมเอาเงินไปฝากที่ธนาคารของเขา บอกชื่อให้ก็ได้ว่าเป็นธนาคารมณฑล ผมก็เอาเงินไปฝาก แล้วเขาได้ให้เช็คมาสำหรับเบิกเงินหรือเอาไปใช้ซื้อของ(ถ้าเป็นคนรู้จักกัน) การฝากและการถอนหรือใช้ไปในทางอื่น ต้องมีการบวกลบในต้นขั้วของเราเพื่อให้รู้ว่าเรามีเงินเหลือเท่าไร บางครั้งเราอาจจะบวกลบผิดไป ทำให้เช็คที่เราเขียนออกไปนั้นมีเงินไม่พอ

ครั้งหนึ่ง ผมเขียนเช็คโดยที่คิดว่าเงินยังพอ แต่มันขาดไป 100-200 บาท เพื่อนของผมที่รู้จักกันดีโทรศัพท์มาบอกว่าเช็คของผมมีเงินไม่พอ จะให้ปฏิเสธการจ่ายหรือให้รีบเอาเงินมาเข้าบัญชีเพื่อให้เช็คพอจ่าย ที่เล่ามานี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในครั้งกระนั้น ทุกๆธนาคารมีนโยบายรับฝากเงิน แต่ไม่ให้ใครกู้ ยกเว้นเจ้าของกับพรรคพวก และการปลูกบ้านด้วยเงินสดนั้นก็ทำได้ยาก สมัยนี้ เพียงมีเงินเดือน 1 หมื่นบาทเป็นอย่างน้อย ก็สามารถมีบัตรเครดิตไปซื้อของได้ก่อน หรือจะเบิกเงินสดออกมาใช้ก็ได้ เท่ากับว่าเป็นการให้เครดิตกันง่ายๆ ไม่เหมือนสมัยก่อนโน้น

ธนาคารสมัยก่อนก็มีการล้มอยู่เหมือนกัน เช่น ธนาคารมณฑล สุดท้ายก็ล้ม เพราะไปเบิกเงินไม่ได้ สาเหตุการล้มผมไม่ทราบ คิดว่าเจ้าของคงเอาเงินไปใช้เกินตัวจนกระทั่งไม่มีเงินพอสำหรับให้คนมาเบิก   ก่อนพ.ศ.2540(ฟองสบู่แตก) ก็มีธนาคารล้มอยู่ก่อนบ้างแล้ว ส่วนมากก็เอาเงินที่รับฝากไปใช้จนกระทั่งถึงปีฟองสบู่แตก ธนาคารแห่งหนึ่งหรือสองแห่งไม่มีเงินให้ลูกค้าที่มาถอน ก็เลยเกิดโกลาหล ทุกคนกลัว จึงไปเบิกเงินออกมาจากธนาคาร

ถ้าเป็นแบบนี้ ธนาคารไหนๆก็ล้มทั้งนั้น รัฐบาลต้องจัดการใช้เงินแทนธนาคารให้กับผู้ฝากทุกคน เมื่อผู้ฝากได้รับเงินมาแล้วก็นำไปฝากไว้กับธนาคารที่มั่นคง รัฐบาลก็ยืมเงินจากธนาคารที่ว่านี้มาชดใช้ให้ธนาคารที่ไม่มีเงิน เงินจึงหมุนวน ซึ่งตอนนั้นพวกนักการเมืองเขาเรียกว่า รีไซเคิล
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 07 มี.ค. 13, 16:07

ผมเกิดที่บ้านเลขที่ 822 ปากตรอกวัด บรมนิวาส(สมัยนั้นเรียกซอยว่า ตรอก) บ้านนี้เป็นบ้านคุณย่า ลักษณะของบ้านคล้ายๆ บ้านทรงไทย แต่ไม่ใช่ มีนอกชานเรือนขนาดเท่าสนามเทนนิส สูงกว่าพื้นดิน หนึ่งเมตร สองข้างของนอกชานเป็นห้องแถว ข้างละสามห้อง ตรงไปเป็นเรือนขนาดใหญ่ของคุณย่า เรือนคุณย่าสูงกว่านอกชานอีกเมตรกว่า

ดังนั้นใต้ถุนเรือนคุณย่าจึงสามารถเดินและ ใช้ประโยชน์แบบเรือนตามต่างจังหวัดได้ มีบันไดขึ้นเรือนคุณย่า ข้างบนเรือนมีชานเรือนขนาดไม่ใหญ่นัก มีห้องซ้าย ขวา ของชานเรือนและ ด้านหน้าเป็นห้องใหญ่ซึ่งคุณย่า นอนที่นั่น

ที่ชานเรือนเป็นที่ใช้เอนกประสงค์ คุณย่าจะรับประทานอาหารที่นั่น รับแขกและ ท่านจะอยู่ที่นั่นทั้งวัน มีหมากพลู พร้อมตะบันหมากมี กระโถนสำหรับบ้วนน้ำหมาก มีกาน้ำชาที่มีบุนวม

บ้านนี้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ สาเหตุเพราะ คุณปู่ รับราชการเป็นตำรวจวัง ชื่อพระยาพรหมมาภิบาล คุณย่าชื่อเปลี่ยน คนที่รู้จักจะเรียกว่าคุณหญิงเปลี่ยน ส่วนพวกลูกหลานจะเรียกว่า ท่านเฉยๆ บ้านหลังนี้สร้างด้วยไม้ หน้าตาแตกต่างจากบ้านอื่นๆ ที่อยู่บริเวณนั้น

ตอนที่ผมเด็กๆ ผมไม่สนใจว่าบ้านคุณย่า ไม่เหมือนบ้านคนอื่น แต่ตอนนี้คิดเอาเองว่า บ้านนี้คงปลูกก่อนบ้านอื่นๆ ที่ผมคิดอย่างนี้เพราะอายุของคุณย่า จนถึงทุกวันนี้จะมีอายุ160 ปี ส่วนคุณปู่น่าจะอายุมากกว่า

ก็แปลว่าท่านอาจจะเกิดสมัยรัชกาลที่3หรือ รัชกาลที่4 ท่านอาจจะรับราชการในรัชกาลที่4หรือ รัชกาลที่5 ดังนั้นคุณปู่จัดว่าเป็นคนโบราณ
บ้านจึงเป็นบ้านแบบโบราณประยุกต์

คุณย่ามีลูกห้าคน ลูกสาวเป็นคนสุดท้อง แต่งงานกับนายตำรวจ ตระกูล รังควรมีลูกชายคนเดียวก็เสียชีวิต อีกสี่คนเป็นลูกชาย แต่ละคนมีภรรยาหลายคนและ มีลูกครอบครัวละเกือบยี่สิบคน พ่อผมเป็นขอนามสกุลพระราชทาน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่6 ประทานให้เป็น อิศรภักดี ดังนั้น ลูกหลานของคุณย่าทุกคนใช้นามสกุล อิศรภักดี ทำให้หลานๆ อีกจำนวนมากเป็น อิศรภักดีไปหมด สมัยคุณปู่ยังไม่มีนามสกุลใช้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 07 มี.ค. 13, 16:30

จากท่านผู้เขียนที่คุณเพ็ญกล่าวถึง

ในสมัยนั้น จอมพล ป. คิดว่าเมืองไทยเป็นประชาธิปไตยแล้ว(ท่านคิดอย่างนั้น) ท่านเห็นว่าคนควรจะมีฐานะเท่าเทียมกัน ท่านจึงให้ยกเลิกราชทินนาม คือ ขุน หลวง พระ พระยา ฯลฯ โดยให้ใช้ชื่อเดิม นามสกุลเดิม เช่น พ่อของผมเป็นอัยการและได้รับพระราชทินนามว่า พระอรรถวสิทธิ์สุธี ก็ต้องเปลี่ยนเป็น นายเชย อิศรภักดี ฟังดูมันเชยๆชอบกล
ท่านมีอายุยืนอยู่จนสิ้นสงคราม(๒๔๘๙)ทีเดียว

รู้สึกแปลกๆ  อ่านประวัติแล้วราวกับว่าคุณพ่อของคุณหมอสม เป็นคนละคนกับพระสรรพการฯเจ้าของสามเสนป๊าก    แต่ดูชื่อเดิม ชื่อบิดา  และประวัติการขอพระราชทานนามสกุลก็คนเดียวกันนี่นา ฮืม
เป็นอันว่าการได้เลื่อนจากพระสรรพการหิรัญกิจเป็นพระอรรถวสิทธิ์สุธีเกิดขึ้นในระยะหลัง อาจจะในรัชกาลที่ ๗     ที่รู้ๆคือท่านได้บรรดาศักดิ์นี้ก่อนปี ๒๔๗๕  หรือช้าสุดก็ต้นปี   เพราะพอเปลี่ยนการปกครองแล้วเขายกเลิกการเลื่อนบรรดาศักดิ์กัน
จากนายแบงค์ ท่านคงไปเรียนเนติบัณฑิต ถึงสามารถเข้ารับราชการเป็นอัยการได้     ประวัติตรงนี้น่าสนใจมาก  ว่าข้าราชการคนหนึ่งที่จบอนาคตการงานในสาขาหนึ่งแล้ว ยังสามารถไปเริ่มต้นอนาคตในอีกสาขาหนึ่งได้   และไม่ต้องไต่ระดับจากขุนหรือหลวง  แต่ต่อยอดเป็นคุณพระได้เลย

จากประวัติของคุณหมอสม แสดงว่าครอบครัวของท่านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกิจการธนาคาร ไม่ว่าแห่งไหนทั้งสิ้น     แต่คุณย่าน่าจะมีฐานะดี   คนที่มีนอกชานเรือนขนาดเท่าสนามเทนนิส ต้องเป็นเศรษฐีถึงจะมีได้   แล้วยังเป็นบ้านเก่าแก่ของคุณย่า  แสดงว่าฐานะท่านมิได้ซวดเซลงเลยตั้งแต่สาวๆจนชรา
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 07 มี.ค. 13, 16:49

ภาพธนาคารมณฑล เป็นตราเทวดาถือรวงข้าว มีความสัมพันธ์กับการค้าข้าวในยุคจอมพล ป.

เครดิดภาพคุณ Big MaHad


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 07 มี.ค. 13, 16:57

น่าจะคนละธนาคารกับ บริษัทแบงก์มณฑล ทุนจำกัด ของนายเชย สรรพาพร ที่เปิดเมื่อพ.ศ. ๒๔๕๓
ตามประวัติของธนาคารมณฑล บอกไว้ว่า ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2485 โดยใช้ชื่อในชั้นแรกว่า บริษัท ธนาคารไทย จำกัด (Thai Bank Company Ltd.)
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 07 มี.ค. 13, 18:50

เป็นอันว่าการได้เลื่อนจากพระสรรพการหิรัญกิจเป็นพระอรรถวสิทธิ์สุธีเกิดขึ้นในระยะหลัง อาจจะในรัชกาลที่ ๗  

ประมวลจากเอกสารข้างบนจึงเป็นที่ทราบแน่ชัดว่า หลังจากที่พระสรรพการหิรัญกิจถูกถอดยศใน ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) แล้ว คงได้กลับเข้ารับราชการอีกเป็น "พระอรรถวสิษฐ์สุธี" อย่างน้อยก็ก่อน พ.ศ. ๒๔๖๗


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 07 มี.ค. 13, 18:59

ข่าวล่าสุด ของคุณหมอสม

ศาสตราจารย์ทันตแพทย์สม อิศรภักดี อายุ ๙๐ ปี อดีตอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ประพันธ์หนังสือ “ผมเกิดก่อนสงครามโลก ครั้งที่ ๒” ซึ่งเปิดตัวเมื่อไม่นานมานี้ ได้ถึงแก่กรรมแล้วที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๕๖ โดยญาติได้บำเพ็ญกุศลศพจนครบ ๗ วันแล้วจะบรรจุศพไว้ ๑๐๐ วัน เพื่อรอพระราชทานเพลิงศพต่อไป

ทันตแพทย์สม อิศรภักดี เป็นผู้เขียนเล่าเรื่องราวในอดีตตั้งแต่เกิดเมื่อ ๖ มีนาคม ๒๔๖๖ ย่านชุมชนวัดบรมนิวาส กรุงเทพมหานคร เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนวัดบรมนิวาส และโรงเรียนวัดสระเกศ เรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนมัธยมหอวัง ก่อนเข้าเตรียมอุดมศึกษา และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ แล้วไปศึกษาต่อที่ควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย และโลมาลินดา สหรัฐอเมริกา กลับมาเป็นอาจารย์สอนคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นเพื่อนรุ่นพี่ ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองราชเลขาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๗ จึงได้เป็นทันตแพทย์ประจำพระองค์จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯสิ้นพระชนม์ ต่อมาอพยพจากกรุงเทพมหานครมาพำนักที่บ้านผ่อดอย ในชุมชนโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เขียนเล่าประสบการณ์ในอดีตตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ลงในบล็อกกะซีน จนกระทั่งรวมเล่มเป็นหนังสือ “ผมเกิดก่อนสงครามโลก ครั้งที่ ๒” จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย


เมื่อคุณหมอสมเกิด บิดาคงได้เป็นพระอรรถวสิษฐ์สุธีแล้ว



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 08 มี.ค. 13, 08:59

มาตามรอยท่านอัยการ คุณพระพระอรรถวสิษฐ์สุธีกันดีกว่า  ว่าท่านถือกำเนิดทางการงานอย่างไร เมื่อชีวิตของคุณพระสรรพการหิรัญกิจจบลงไปแล้ว

ใน ร.ศ.112 (พ.ศ. 2437 )  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โปรดเกล้า ให้ตั้งกรมอัยการขึ้นอีกกรมหนึ่งในกระทรวงยุติธรรม  ให้หลวงรัตนาญัปติเป็นอธิบดีกรมอัยการ มีหน้าที่ราชการเป็นทนายหลวงว่าความแผ่นดินในศาลทั้งปวง ณ สนาม สถิตยุติธรรม และศาลกงศุลต่างประเทศ   ทรงแต่งตั้งทนายหลวงนาย มี 1 นายจัน 1 นายโหมด 1 นายสอน 1 นายแสง 1 นายเขียน 1 เป็นเนติบัณฑิต (หรือหมอกฎหมาย) ให้เป็นทนายความหลวงรับราชการอยู่ในกรมอัยการ แต่นายมีเนติบัณฑิตนั้นโปรดให้ว่าที่ "ราชมนตรี" (หรือ หมอกฎหมายชั้นสูง) ด้วย

จะเห็นได้ว่า "ทนายหลวง" หรืออัยการ  ทรงเลือกจากผู้เป็นเนติบัณฑิต    เพราะฉะนั้นนายเชย อิศรภักดี น่าจะได้ไปเรียนกฎหมายในช่วงที่ท่านพ้นจากราชการ  และคงจะสอบได้  ถึงสามารถสมัครเข้าเป็นอัยการได้ ก่อนพ.ศ. 2467 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 08 มี.ค. 13, 09:34

ในปี พ.ศ.2458 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมอัยการหัวเมืองกับอัยการกรุงเทพฯ เข้าไว้ในกรมอัยการ กระทรวงยุติธรรม
และมีประกาศให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการแต่งตั้งพนักงานอัยการในกรุงเทพฯ เดิมการแต่งตั้งพนักงานอัยการเป็นไปโดยพระบรมราชานุญาตผ่านการพิจารณาทูลเกล้าถวายความเห็นของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เมื่อเริ่มมีการรวมพนักงานอัยการสังกัดกรมอัยการ จึงจำเป็นต้องให้อำนาจอธิบดีกรมอัยการแต่งตั้งพนักงานอัยการ เพื่อให้มีอำนาจให้คุณให้โทษได้ตามหลักบริหาร 5 ประการ คือ ตั้ง เลื่อน ลด ปลด ย้าย อำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการของอธิบดีกรมอัยการเป็นไปตาม พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ.127

พระบรมราชโองการประกาศรวมพนักงานอัยการ ตามประกาศรวมพนักงานอัยการลงวันที่ 11 มีนาคม พุทธศักราช 2458 ดังนี้
......................
 มาตรา 34 วิธีตั้งพนักงานอัยการนั้นถ้าเป็นตำแหน่งอธิบดีเจ้ากรม ปลัดกรมอัยการ แลอัยการมณฑลอัยการเมืองแล้ว ให้เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้จัดสรรตั้งโดยพระบรมราชานุญาต ถ้าเป็นพนักงานอัยการ อื่น ๆ ให้อธิบดีหรือเจ้ากรมอัยการเป็นผู้จัดสรรตั้งโดยได้รับอนุมัติของ เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม” "ประกาศ มา ณ วันที่ 11 มีนาคม พระพุทธศักราช 2458

เพราะฉะนั้นถ้าหากว่านายเชย อิศรภักดีสอบได้เป็นเนติบัณฑิต สมัครเข้ารับราชการเป็นอัยการ    อธิบดีกรมอัยการเห็นว่ามีคุณสมบัติครบก็มีอำนาจแต่งตั้งได้    โดยมีเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเป็นผู้อนุมัติอีกชั้นหนึ่ง     
ก็น่าจะเป็นคำตอบได้ว่าเหตุใดคุณพระสรรพการฯจึงเกิดใหม่อีกครั้งในบรรดาศักดิ์คุณพระพระอรรถวสิษฐ์สุธี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 08 มี.ค. 13, 10:53

สมัยพุทธกาล พระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้ว มีกุลบุตรมาบวชเป็นพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวนมากก็ไม่เคยมีปัญหาอะไร จวบจนพรรษาที่๒๐ของพระพุทธองค์ ลูกชายเศรษฐีคนหนึ่งชื่อสุทินกลันทบุตร ได้ฟังธรรมแล้วบังเกิดศรัทธาจนประสงค์จะออกบวช เมื่อพ่อแม่ไม่ยอมให้บวช ท่านก็เลยอดข้าวประท้วง เพื่อนๆก็มาช่วยเกลี้ยกล่อมพ่อแม่ว่าให้บวชเถอะ คนที่ไม่เคยลำบากมาก่อน ไปเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ต้องนอนกลางดินกินกลางทราย อยากได้ร้อนก็ได้เย็น อยากได้อ่อนก็ได้แข็ง สักพักก็คงสึกเอง พ่อแม่ก็เลยยอม ปรากฏว่าท่านตั้งใจบวชปฏิบัติ สามารถดำรงสมณเพศได้นานจนพ่อแม่เป็นทุกข์ หาหนทางจะให้ท่านสึก นิมนต์กลับมาเยี่ยมบ้านแล้วเอาทรัพย์สมบัติกองไว้เต็มเรือนแล้วบอกยกให้ พระสุทินก็ไม่ยอมสึก

เมื่อจนปัญญาจะอ้อนวอน พ่อแม่ก็เลยไปจูงมือลูกสะใภ้มา คร่ำครวญว่าถ้าไม่สึกก็ขอทายาทไว้สืบตระกูลสักคนหนึ่งเถิด สมัยนั้นมีกฎหมายว่าถ้าตระกูลใดถ้าไม่มีลูกชายสืบต่อ สมบัติจะถูกยึดเป็นของหลวง พระสุทินเห็นใจบิดามารดาตรงนี้ ในเมื่อยังไม่มีข้อห้ามใดๆ ก็เลยอยู่ร่วมประเวณีกับภรรยาจนกระทั่งมั่นใจว่าเธอตั้งท้องจึงได้กลับวัด

หลังจากนั้นท่านก็เกิดปริวิตกว่าการกระทำตนดังกล่าวถูกต้องหรือไม่ คิดมากเครียดมากฉันอาหารไม่ลงจนผ่ายผอม เพื่อนภิกษุด้วยกันก็ถามว่าท่านเป็นอะไร เมื่อพระสุทินเล่าให้ฟังแล้ว ภิกษุเหล่านั้นจึงพากันไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าตรัสว่าภิกษุทำเช่นนั้นมิชอบ จึงทรงบัญญัติศีลขึ้นเป็นครั้งแรกในพระพุทธศาสนาว่า ภิกษุเสพเมถุนจักต้องปาราชิก ขาดจากความเป็นสมณะ แต่บุคคลที่เป็นอาทิกัมมิกะ คือ บุคคลที่ทำเป็นคนแรกก่อนมีข้อห้าม ถือว่าไม่ผิด พระสุทินหาโทษมิได้เลย
สภาวจิตพระสุทินจึงกลับเป็นปกติ สามารถปฏิบัติดีปฏิบัติชอบต่อมาได้ สุดท้ายก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ได้อีกองค์หนึ่ง

ที่ผมยกเรื่องนี้ขึ้นมาเล่า ก็เพื่อจะเขียนความคิดของผมสู่ท่านผู้อ่านว่า พระสรรพการก็คือ อาทิกัมมะบุคคลในวงการธนาคารไทย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 08 มี.ค. 13, 11:02

เมื่อแรกเริ่มกิจการธนาคารในสยาม ผมเชื่อว่าคงจะไม่มีกฎหมายรองรับอย่างละเอียดลออที่จะคุ้มครองผู้ฝากเงินเช่นที่มีในปัจจุบัน(ซึ่งก็ยังไม่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี) นายธนาคารก็ล้วนหาวิธีการผันเงินฝากของลูกค้า ไปต่อยอดให้ธุรกิจของตนและพวกพ้อง จนร่ำรวยเป็นปกติ และดูเหมือนว่ายิ่งคนเหล่านี้ยิ่งรวยเท่าไร คนก็ยิ่งเชื่อมั่นศรัทธาที่จะเอาเงินมาฝากมากยิ่งขึ้น หวังให้เขาช่วยเอาไปหมุนทำผลประโยชน์ให้ แล้วตอบแทนกลับมาให้ตนในรูปของดอกเบี้ย ดีกว่าจะให้เงินนอนนิ่งๆอยู่ในกำปั่นที่บ้าน หากให้ใครขอหยิบขอยืมไปก็มีสิทธิ์สูญมากกว่าได้
และเป็นรู้ๆกันว่า “ในครั้งกระนั้น ทุกๆธนาคารมีนโยบายรับฝากเงิน แต่ไม่ให้ใครกู้ ยกเว้นเจ้าของกับพรรคพวก” ดังที่บุตรของพระสรรพการเขียนไว้ คนฝากก็ไม่สนใจ หากตนยังได้ดอกเบี้ยครบตามงวด

พระสรรพกรฉ้อฉล ผมใช้คำนี้เพราะถึงไม่มีกฎหมายแต่ก็มีจรรยาบรรณ (Professional etiquette )ของนายธนาคาร เมื่อเป็นผู้ขอกู้และผู้อนุมัติในสัญญาเดียวกันไม่ได้ จึงใช้ชื่อพี่ชายเป็นผู้กู้ ในขณะให้กู้คงไม่ได้คิดว่าตนจะโกง คงเชื่อว่าจะคืนต้นคืนดอกให้ธนาคารได้นั่นแหละ เรื่องนี้เผลอๆกรมหมื่นมหิศรเองก็อาจจะทรงรับทราบ เพราะพระสรรพการปลูกบ้านหิมพานต์ตั้งแต่ก่อนสิ้นพระชนม์ แม้จะยังเสร็จไม่ทันได้ทอดพระเนตรความอลังการเมื่อสร้างเสร็จ แต่โครงสร้างใหญ่โตที่ผุดขึ้นบนดินแล้ว น่าจะทรงเคยเห็นบ้างเพราะวังก็อยู่แถวๆนั้น

แต่พระสรรพการคงไม่ได้กู้เงินบุคคลัพภ์หรือสยามกัมมาจลไปสร้างบ้านตรงๆ เพราะ “เพราะธนาคารเขาไม่มีนโยบายที่จะปล่อยเงินกู้ให้คนนำไปสร้างบ้าน” แต่อาจเป็นในรูปสินเชื่อส่วนบุคคล อาจเอาเงินไปลงทุนในธนาคารมณฑลที่ตนมีส่วนจัดตั้งขึ้นใหม่ด้วย(แต่มีหุ้นมากน้อยแค่ไหนไม่ทราบ คงไม่ถึงกับเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว) แต่ที่แน่ๆคือ มีการทรัพย์มาจำนองค้ำประกันเงินกู้นั้นด้วยอย่างถูกต้อง และทรัพย์ดังกล่าวอาจมีมากกว่าที่ดินและอาคารของบ้านหิมพานต์อันอลังการนั้น

ตรงที่มิได้อนุมัติให้กู้เงินแบบมือเปล่านี่แหละ ที่ทำให้ความผิดของพระสรรพากร เป็นแค่คดีแพ่ง หรือคดีอาญาที่ยอมความได้(หากมีการชำระหนี้) ที่สุดของโทษที่พระสรรพาการได้รับคือการล้มละลาย ไม่ถึงกับติดคุกติดตะรางดังเช่นนายธนาคารหลายๆคนในยุคหลัง
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 08 มี.ค. 13, 11:09

^
ติดเครดิตบูโร เลยครับ อิอิ  อายจัง
บันทึกการเข้า
giggsmay
ชมพูพาน
***
ตอบ: 135


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 08 มี.ค. 13, 11:13

ยิ่งอ่านยิ่งน่าสนใจคะเพราะว่าเคยอ่านเรื่องของพระสรรพการหิรัญกิจจากหนังสือ คุณเอนก นาวิกมูล แต่ในหนังสือไม่ได้บอกว่าทำไมป๊ากสามเสนถึงล่มสลายภายในเวลาไม่กี่ปีขอขอบพระคุณอาจารย์ NAVARAT.C อย่างมากๆเลยคะที่ไขข้อข้องใจที่มีมาเป็นสิบๆปีแล้ว ไม่น่าทำไมพระสรรพการหิรัญกิจถึงไม่ยอมพูดหรือเล่าเรื่องป๊ากสามเสนให้ลูกๆฟังเลยเรื่องราวมันไม่ค่อยจะน่าเล่ายังนี้นี่เอง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 08 มี.ค. 13, 11:16

มาอ่านต่อว่า พระสรรพากรพลาดตรงไหน

ท่านผู้ใหญ่ในชีวิตการงาน ที่เสมือนนายและครูของผมคนหนึ่งเคยวิจารณ์ให้ฟังเมื่อเศรษฐกิจเมืองไทยล่มครั้งหนึ่ง และมีเถ้าแก่ใหญ่ที่เรารู้จักดีล้มทั้งยืน โดยกล่าวสรุปว่า แกเอาสิ่งที่แน่นอนไปผูกไว้กับความไม่แน่นอน

สมัยประมาณ๒๕๑๘ หมู่บ้านจัดสรรกำลังบูมสุดขีด การแข่งขันดุเดือด วัตถุก่อสร้างหลักๆเช่นเหล็ก ปูน ฯลฯ ขาดแคลน ขึ้นราคากันเป็นรายวัน เถ้าแก่ใหญ่คนนี้แกแป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่เกือบจะผูกขาดการก่อสร้างบ้านจัดสรรทั้งหมดในกรุ่งเทพ เพราะเข้าประมูลในราคาที่ต่ำกว่าเขาจนคนทั้งหลายสงสัยว่าทำได้อย่างไร ก็แกทำได้เพราะแกกู้เงินธนาคารมากักตุนวัสดุก่อสร้างไว้มหาศาลเป็นการล่วงหน้าแล้ว คนอื่นสายป่านไม่ยาวเท่าแกก็ต้องไปซื้อเงินสดราคาแพงๆ จึงต้องเสนอราคาเผื่อความเสี่ยงตรงนี้ไว้สูง ทำให้เปิดซองมาทีไรก็แพ้แกทุกที ช่วงนั้นเถ้าแก่ใหญ่คนนี้อู้ฟู่มา หน้าเป็นสีชมพู พูดเสียงดังฟังดูว่ามีความสุข
ฉับพลันนั้น ประเทศผู้ผลิตน้ำมันเกิดรวมตัวกันได้แล้วจัดตั้งกลุ่มโอเปคขึ้นมา ประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบไปไม่รู้กี่สิบเปอร์เซนต์จำไม่ได้แต่ในเมืองไทยราคาน้ำมันหน้าปั้มขึ้นไปร้อยเปอร์เซนต์ เบนซินจากลิตรละ๒.๕๐เป็น๕.๐๐บาท เศรษฐกิจเมืองไทยก็พินาศถล่มทลาย วงการก่อสร้างโดนแรงประทะก่อนใครเพื่อน ทุกโครงการหยุดนิ่งอยู่กับที่

แต่ดอกเบี้ยมันไม่หยุดน่ะซีครับ ท่านผู้เจริญ

ไม่นานเกินรอ ผมได้เห็นภาพเถ้าแก่ใหญ่คนนี้ตอนเขามาทำการเลหลังของที่สต๊อกไว้ในโกดัง แกนั่งเอามือกุมหน้าอกด้านซ้ายอยู่บนโต๊ะตัวเดิม หน้าตาซีดเซียว ตาเหม่อลอยจนผมไม่กล้าเข้าไปทัก

คือแกเอาทุกสิ่งทุกอย่างที่แกมีในชีวิตไปเป็นหลักทรัพย์กู้เงินเขามาโดยมีกำหนดแน่นอนว่าทุกเดือนจะต้องจ่ายเขาคืนงวดละเท่าไหร่ เป็นเงินต้นเท่าไหร่ดอกเท่าไหร่ โดยแกเชื่อว่าเงินงวดเหล่านั้นแกจะได้มาจากกำไรในการรับเหมาก่อสร้างบ้านจัดสรร โดยที่แกไม่ได้นึกถึงว่า อุตสาหกรรมนี้นอกจากมันจะมีขึ้นมีลงอันเป็นความไม่แน่นอนแล้ว ยังมีหยุดนิ่งอยู่กับที่เป็นครั้งๆคราวๆด้วย

เมื่อเอาความแน่นอนไปผูกอยู่กับความไม่แน่นอน  ไม่ว่าจะเป็นเซียนใหญ่ขนาดไหนก็ดับมานักต่อนักแล้ว



ที่พระสรรพการเจอเข้าไปตอนนั้นคือ การค้าข้าวส่งออก


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 12
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.092 วินาที กับ 20 คำสั่ง