ปัจจุบันคงไม่สามารถใช้ตึกเหล่านี้เป็นฉากในการถ่ายทำละครได้ เพราะทรุดโทรมมากและบูรณะยังไม่เสร็จสิ้น แต่จุดประสงค์ของท่านเจ้าของบ้านก็นับว่าเพื่อการบันเทิงเหมือนกัน 
พระสรรพการหิรัญกิจเป็นผู้ที่มีความคิดก้าวหน้ากว่าใครในสมัยนั้น ท่านตั้งใจจะเปิดบ้านนี้ให้เป็นสวนสาธารณะให้คนเข้าชมอาณาบริเวณได้ เรียกว่า บ้านหิมพานต์หรือป๊ากสามเสน ในขณะที่เมืองไทยสมัยนั้นยังไม่มีสวนสาธารณะเลยก็น่าจะเข้าท่าอยู่
เมื่อสร้างเสร็จแล้ว สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เสด็จไปเปิดบ้านหิมพานต์ เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๕๑ นับว่าบ้านหิมพานต์หรือป๊ากสามเสนเป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย
ป๊ากสามเสนหรือบ้านหิมพานต์เปิดบริการตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๑ ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านพักของพระยาสรรพการหิรัญกิจหนึ่งในผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ ในป๊ากมีที่ดินประมาณ ๑๖,๐๐๐๐ ตารางวา กลางป๊ากมีตึก ๒ หลังทำอย่างประณีตงดงาม
ตอนหน้าของตึกมีโรงละครใหญ่อย่างงาม ๑ โรง มีกรงเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ มีสระน้ำและสนามหญ้า มีเขาที่ก่อด้วยหินขนาดใหญ่พร้อมด้วยถ้ำสำหรับเข้าไปเที่ยวภายในได้ เขาและถ้ำนี้มีน้ำพุกระโจนออกมาไม่ขาดสาย ด้านหน้าน้ำพุเป็นสระประดับประดาด้วยเครื่องทอง ภายในถ้ำมีทางขึ้นบนยอดเขาได้และมีพระพุทธรูปสำหรับบูชาในถ้ำ
ส่วนบริเวณหลังตึกมีเขาดิน ภายในเขามีอุโมงค์กว้างขวาง บนเขามีถนนทำด้วยปูนซีเมนต์ มีที่พักทำด้วยศิลาและปลูกไม้หอม มีสระน้ำข้าง ๆ เขาก่อด้วยศิลาเป็นหย่อม ๆ สำหรับนั่งดูน้ำ มีโรงเครื่องดื่มต่าง ๆ เช่นโรงกาแฟที่มีหมากพลูบุหรี่ มีเก้าอี้สำหรับนั่งเล่นตามสนาม มีเรือสำหรับพายเล่นในคลองและในสระ มีท่าน้ำและสนามหญ้าขนาดใหญ่และเล็ก และชายป่าที่ล้วนปลูกไม้ดอกและไม้ประดับ สำหรับผู้ที่ต้องการไปเที่ยวชมในป๊ากต้องเสียเงินค่าผ่านประตูคนละหนึ่งบาท เปิดให้เข้าชมได้ตั้งแต่เวลา ๗ โมงเช้าจนถึงสองยามหรือเที่ยงคืน ครั้นต่อมาก็มีการนำภาพยนตร์จากยุโรปเข้ามาฉายทุกคืนวันอังคารและวันพฤหัสบดีตั้งแต่เวลา ๑ ทุ่มจนถึง ๔ ทุ่มครึ่ง
ป๊ากสามเสนมีลักษณะเป็นสวนสนุกที่ยังไม่ถึงกับเป็นสวนสาธารณะและคล้ายคลึงกับสวนสำราญในสังคมจารีตที่เป็นพื้นที่เฉพาะกลุ่มชนชั้นนำ เช่น สวนขวาและสวนสราญรมย์ที่ประกอบด้วยต้นไม้ สระน้ำ สนามหญ้า ภูเขา และเครื่องบันเทิงประเภทต่าง ๆ
การสร้างสวนสนุกในยามค่ำคืนให้เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนกรุงเทพฯ จึงทำให้กรอบความคิดเรื่องสวนเพื่อความสำราญไม่ได้เป็นพื้นที่ของชนชั้นนำอย่างในสังคมจารีตอีกต่อไป แต่ได้เริ่มเป็นพื้นที่ใหม่สำหรับสาธารณชนที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้ชีวิตยามค่ำคืนในสวนสนุกได้
การเปิดบริการป๊ากสามเสนได้รับความสนใจจากคนกรุงเทพฯ อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อนำภาพยนตร์เข้ามาฉาย แต่ผู้ที่เข้าไปชมและใช้บริการกิจกรรมยามค่ำคืนต่าง ๆ ในป๊ากสามเสนกลับพบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชนชั้นนำมากกว่าสามัญชน
ทั้งนี้อาจพิจารณาได้จากอัตราค่าผ่านประตูที่เก็บอยู่ที่ ๑ บาทต่อ ๑ คน เมื่อเทียบกับรายได้ของสามัญชนส่วนใหญ่แล้วก็ยังนับว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับความไม่สะดวกในการเดินทางกลับบ้านของสามัญชนที่ไม่มียานพาหนะส่วนตัว เพราะเมื่อเวลาหนังเลิกตอน ๔ ทุ่มหรือเวลาปิดบริการป๊ากตอนเที่ยงคืนรถรางเที่ยวสุดท้ายได้หมดไปตั้งแต่ ๒ ทุ่มแล้ว ในเรื่องการเดินทางจึงเห็นได้ว่ายานพาหนะเป็นสิ่งสำคัญต่อการใช้ชีวิตยามค่ำคืนนอกบ้านของคนกรุงเทพฯ ที่สามารถพาพวกเขาไปสู่พื้นที่กลางคืนของเมืองที่ใดและจะกลับเมื่อใดก็ได้
อย่างไรก็ตาม ป๊ากสามเสนก็เป็นพื้นที่แรกที่แสดงให้เห็นการใช้พื้นที่สวนเพื่อความสำราญในยามค่ำคืนร่วมกันระหว่างชนชั้นสูงกับสามัญชนก่อนที่จะมีสวนสาธารณะเพื่อสาธารณชนในเมืองอย่างแท้จริงที่สวนลุมพินีในปลายทศวรรษที่ ๒๔๖๐
(จากหนังสือ กรุงเทพฯ ยามราตรี ของ วีระยุทธ ปีสาลี พิมพ์โดย สำนักพิมพ์มติชน ๒๕๕๗)
จากบทความเรื่อง
ป๊ากสามเสน : ที่เที่ยวเตร่ยามค่ำคืนในสยามยุคแรกมีสวนสนุกด้วย