เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 6088 บัณฑิตทำมือรูป I love You ระหว่างรับปริญญา
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


 เมื่อ 24 ก.พ. 13, 08:29

ภาพเป็นข่าว - เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชี่ยลมีเดีย กรณีมีบัณฑิตสาวทำมือสัญลักษณ์คำว่า “ไอ เลิฟ ยู ”ขณะรับใบปริญญาจากผู้แทนพระองค์ในงานประสาทปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง

มีความเห็นหลากหลายที่ค่อนไปทางเสรีนิยมเช่นเห็นด้วย มองว่าการรับปริญญาน่าจะรื่นรมย์และคิดทางบวก บ้างก็บอกไม่เหมาะการสนุกไปสนุกข้างนอกพิธีก็ได้ ฯลฯ ..

ผมมาย้อนนึกดู เมืองไทยเราให้ความสำคัญกับ "พิธีกรรม" งานรับปริญญากันพอสมควรเช่นสมัยตัวเองเรียนอยู่มีคำขู่ว่า "อย่าเอาครุยรุ่นพี่มาเล่น เดี๋ยวจะไม่จบ" กลายเป็นถือว่าครุยเป็นของศักดิ์สิทธิ์ไป

เมื่อสืบค้นคำว่า "ครุยวิทยฐานะ" ในวิกิพีเดียมีข้อมูลน้อยมากแค่จำแนกว่าเป็นครุยไทย(อินเดีย) หรือครุยฝรั่ง ต้องไปดูคำว่า Academic dress แทนเพราะจะได้ข้อมูลมากกว่าหลายเท่า

ผมเข้าใจถูกหรือไม่ที่ -

1. มองว่าการทำมือ I love You แม้จะไม่เหมาะแต่ก็ไม่ผิด เพราะไม่ใช่แบบแผนราชพิธี /
2. ครุย ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะธรรมเนียมการรับปริญญาของไทยเราทำให้การรับปริญญาเป็นแบบแผนพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ไปเสีย

อยากเชิญชวนให้ช่วยวิจารณ์ปรากฏการณ์ I Love You กันครับ


บันทึกการเข้า
ศานติ
ชมพูพาน
***
ตอบ: 190

อดีตศัลยแพทย์ช่องอกเส้นเลือด (เกษียณ) ปัจจุบันเป็นช่างไม้


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 24 ก.พ. 13, 09:27

การทำมือแบบนี้ไม่หยาบ มีต้นตอมาจากภาษาใบ้ที่อเมริกันใช้เป็นมาตรฐาน (American Sign Language) เป็นการรวมของตัวอักษรสามตัว คือ I  L  Y  (หรือ I love you) โดยตัว I ใช้ กำมือ ชูนิ้วก้อยนิ้วเดียว  ตัว L ใช้กำมือ ชูนิ้วชี้กับหัวแม่มือ  ตัว Y ทำโดยกำมือ ชูหัวแม่มือกับนิ้วก้อย  รวมกันแล้วเลยเป็นชูหัวแม่มือ นิ้วชี้ กับนิ้วก้อย ส่วนนิ้วกลางนิ้วนางพับไว้   ผมว่าไม่น่าคิดมาก เจ้าตัวเขาอาจจะส่งสันญาณให้พ่อแม่ขอบใจที่ให้ทุนเล่าเรียนจนจบ หรือเขาอาจอดคิดถึงแฟนไม่ได้  ไม่ได้มีเจตนาจะลบหลู่ใคร
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 24 ก.พ. 13, 09:29

ก่อนอื่นขออนุญาตแก้ไขข้อมูลบางประการซึ่งอาจทำให้การแสดงความเห็นเกินเลยไปกว่าเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเสื้อครุยและพิธีประสาทปริญญา

กรณีมีบัณฑิตสาวทำมือสัญลักษณ์คำว่า “ไอ เลิฟ ยู ”ขณะรับใบปริญญาจากผู้แทนพระองค์ในงานประสาทปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง

ผู้มอบปริญญาไม่ใช่ผู้แทนพระองค์ แต่เป็น องคมนตรีและนายกสภามหาวิทยาลัย

เห็นที่ พันทิป ก็กำลังคุยกันถึงเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเสื้อครุย

บันทึกการเข้า
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 24 ก.พ. 13, 09:36

ขอบคุณอาจารย์เพ็ญชมพูครับ/ ผมพลาดเองที่ก็อปแปะมาไม่ได้ดูข่าวจากหลายแหล่ง

ขอแก้เป็น รับปริญญาบัตรจากองคมนตรี และ นายกสภามหาวิทยาลัย ไม่ใช่ "ผู้แทนพระองค์" ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 24 ก.พ. 13, 10:46

อ้างถึง
ผมเข้าใจถูกหรือไม่ที่ -

1. มองว่าการทำมือ I love You แม้จะไม่เหมาะแต่ก็ไม่ผิด เพราะไม่ใช่แบบแผนราชพิธี /
2. ครุย ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะธรรมเนียมการรับปริญญาของไทยเราทำให้การรับปริญญาเป็นแบบแผนพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ไปเสีย

ตอบโจทย์
1   มองในแง่ดีว่าบัณฑิตสาวอาจจะเกร็งกับนาทีนั้นจนทำมือโดยไม่รู้ตัวก็ได้    หรือถ้าเธอจงใจ  มันก็ไม่ถึงกับประเจิดประเจ้อ    นอกจากช่างภาพแล้วก็ไม่มีใครเห็น     ไม่บาดตาผู้อยู่ในที่ประชุม     ก็เลยไม่อยากตำหนิเธอมากไปกว่าถ้าเธอจงใจทำ  มันก็ผิดกาลเทศะไปหน่อยเท่านั้น  จะไปยกนิ้วอย่างนี้ในอีก 364 วันของปีน่าจะเหมาะกว่า

2  ในอดีต  เมื่อการรับปริญญาตรีเป็นการศึกษาขั้นสูงสุดของหนุ่มสาว   มหาวิทยาลัยมี 5 แห่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชทานปริญญา    การรับพระราชทานปริญญาบัตรเป็นความภูมิใจสูงสุดครั้งหนึ่งในชีวิตของบัณฑิต  เพราะอาจเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ได้รับพระราชทานจากพระหัตถ์    สิ่งที่เป็นองค์ประกอบของปริญญาคือชุดครุยจึงเป็นชุดที่ทางมหาวิทยาลัยและบัณฑิตให้เกียรติอย่างสูง    เช่นกำหนดว่าต้องสวมใส่ทับชุดนิสิตนักศึกษา หรือชุดเครื่องแบบทหารข้าราชการ    ทำผมและสวมรองเท้าหุ้มส้นเรียบร้อย   จะถ่ายรูปคู่กับพ่อแม่พี่น้องก็ยืนในท่าสำรวม   เพื่อให้เกิดความสง่างามสม "ศักดิ์" และ "ศรี" ของวันนั้น      ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การเห่อ หรือหลงยึดประเพณีฝรั่ง   แต่เป็นการให้เกียรติวันสำคัญ และเน้นสำรวมเรียบร้อยแบบคนไทย

ในเจนเนอเรชั่น หรือชั่วคนต่อมาอีกสักหนึ่งหรือสองชั่วคน ความขลังคลายลง  ความไม่มีระเบียบวินัยเข้ามาแทนที่ในหลายๆรูปแบบ  ผลก็เลยออกมาเป็นอย่างนี้ละค่ะ
บันทึกการเข้า
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 24 ก.พ. 13, 10:57

เมื่อกี้ว่างๆ เพราะเป็นวันอาทิตย์ ... ผมพยายามค้นหาที่มาของคำว่า ครุย ว่ามาจากไหน คำไทยแท้ก็ไม่น่าใช่ แต่ที่แน่ๆ ไม่ได้เป็นคำฝรั่งซึ่งมีพัฒนาการของเสื้อคลุมวิทยฐานะจากมหาวิทยาลัยยุคกลางโน่น / เสื้อครุย/เสื้อคลุมมาจากฝรั่ง ขณะที่ครุยแบบไทยที่ใช้อยู่ (เนติบัณฑิต-จุฬา) เป็นเพราะบรรพชนของเราแม้จะจบนอกมาแต่ก็ปรับประยุกต์ฐานวัฒนธรรมเดิมให้เป็นไทยเข้ามา แต่เมื่อจะค้นหารากเหง้าทางสายเอเชียกลับยังหาไม่ได้ ไม่เหมือนเรื่องราวของฝรั่งที่คลิกไม่กี่ครั้งก็เจอแล้ว

ผมเดาว่า ครุยที่เราใช้น่าจะมาจากชุดเสื้อคลุมแบบเอเชีย -อาหรับอีกทอดแต่ก็หาหลักฐานมายืนยันไม่ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 24 ก.พ. 13, 11:25

เสื้อครุยจุฬามาจากเสื้อเต็มยศของขุนนางไทยชั้นผู้ใหญ่สมัยก่อนค่ะ 

รัชกาลที่ ๑ โปรดให้ออกพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการแต่งกายการใช้ผ้า ดังนี้

"...ธรรมเนียม แต่ก่อนสืบมา จะนุ่งผ้าสมปักท้องนาก และใส่เสื้อครุยกรองคอ กรองต้นแขน กรองปลายแขน จะคาดรัดประคดหนามขนุนได้แต่ มหาดไทย กลาโหมจตุสดมภ์ และแต่งบุตรแลหลานขุนนาง ผู้ใหญ่ ผู้น้อยได้แต่เสมา แลจี้ภควจั่นจำหลักประดับพลอย แต่เพียงนี้ และทุกวันนี้ข้าราชการผู้น้อยนุ่งห่ม มิได้ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน ผู้น้อยก็นุ่งสมปักปูมท้องนาก ใส่เสื้อครุยกรองคอ กรองสังเวียน กรองสมรด คาดรัดประคดหนามขนุน กั้นร่มผ้า สีผึ้งกลตาไปจนตำรวจเลว....เกินบรรดาศักดิ์ ผิดอยู่ แต่นี้สืบไป เมื่อหน้าให้ข้าราชการแลราษฎร ทำตามอย่างธรรมเนียมแต่ก่อน"

"ครั้งนี้โปรดเกล้าฯ ให้แต่ขุนนางผู้ใหญ่ กั้นร่มผ้าสีผึ้ง คาดรัดประคดหนามขนุน ห้ามอย่าให้ข้าราชการผู้น้อยใส่เสื้อครุย กรองคอ กรอง สังเวียน กรองสมรด คาดรัดประคดหนามขนุน นุ่งสมปักท้องนาก สายเข็ดขัดอย่าให้มีดอกประจำยาม กั้นร่มผ้าสีผึ้ง ใส่เสื้อครุย ได้แก่ กรองปลายมือ ..."
บันทึกการเข้า
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 24 ก.พ. 13, 11:36

คำว่าครุย มีความหมายถึงเสื้อคลุมแสดงความเป็นพิเศษเฉพาะของวัฒนธรรมไทย แล้วค่อยหมายรวมไปถึง เสื้อคลุมแบบฝรั่งหรือ gown ในยุคต่อมา (หลังตั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ) คำว่าครุย ในยุคหลังให้ภาพจินตนาการไปถึงเสื้อแบบฝรั่งจนแทบจะลืมความหมายเดิม (บัณฑิตจุฬา/เครื่องแบบขุนนาง/เจ้านาคก่อนบวชฯลฯ) ไปแล้ว

เจอเรื่องแปลกๆ ดีไปอย่างครับทำให้เราต้องค้นต่อ เพิ่งเจอ พระราชกำหนดเสื้อครุย ร.ศ.130 นำมาให้ดูครับ (ไฟล์แนบ)

* พรกเสื้อครุยรศ130.pdf (152.98 KB - ดาวน์โหลด 492 ครั้ง.)
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 24 ก.พ. 13, 12:08

คำว่าครุยนั้นจะมีรากศัพท์มาจากภาษาใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัเ  แต่มีผู้สันนิษฐานว่าเสื้อครุยแบบของไทยนั้นได้รับอิทธิพลมาจาก "เสื้อยุบ๊ะ" หรือเสื้อคลุมของพวกอิสลาม  กล่าวกันว่า เมื่อเฉกอะหะหมัดผ฿่เป็นต้นสกุลบุนนาคได้เข้ามารับราชการในกรุงศรีอยุธยาได้นำเสื้อยุบ๊ะเข้าด้วย  จึงเกิดเป็นเสื้อยศสำหรับขุนนางสยามต่อมา  จากหลักฐานเก่าที่สุดที่ค้นพบระบุว่า เมื่อออกพระวิสูตรสุนทร (เจ้าพระยาโกษาธิบดีปาน) เป็นราชทูตออกไปเจริญทางพระราชไมตรีในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ก็ได้สวมเสื้อครุยเข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์นด้วย

ในรัชกาลที่ ๕ เมื่อโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า  ก็ได้มีพระราชบัญญัติให้ประดับตราปักบนเสื้อครุยด้วย  ต่อมาเมื่อพรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมในตอนปลายรัชกาลที่ ๕  เสด็จในกรมฯ ได้ทรงจัดสอนวิชากฎหมาย  และเมื่อมีผู้สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิต  ก็โปรดให้ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตสยามนั้นสวมครุยเนคิบัณฑิตสีดำแบบครุยอังกฤษเป็นเสื้อยศ 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกำหนดเสื้อครุย ร.ศ. ๑๓๐ กำหนดให้ผู้พิพากษาที่เป็นเนติบัณฑิตสวมเสื้อครุยขึ้นนั่งบัลลังก์พิจารณาคดี  พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจรูญศักดิ์กฤดากร ซึ่งทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมต่อจากเสด็จในกรมราชบุรีฯ ได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานให้รัชกาลที่ ๖ ทรงคิดแบบเสื้อครุยสำหรับผู้พิพากษาใช้สวมเวลานั่งบัลลังก์พิจารณาพิพากษาคดี  ในคราวนั้นมีพระราชกระแสว่า "ขอคิดดูก่อน"  ต่อจากนั้นจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเสื้ออาจารย์และเสื้อครูพระราชทานแก่กรรมการ  อาจารย์และครูโรงเรียนมหาดเล็กหลวง  แล้วอีก ๑ ปีถัดมาจึงโปรดให้สร้างเสื้อครุยเนติบัณฑิตเป็นเสื้อครุยพื้นผ้าโปร่งสีขาว  มีสำรดสีขาวถาบแถบทองติดขอบรอบ  และที่ต้นแขนปลายแขน  แล้วพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดสร้างเสื้อครุยนี้แก่ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตย้อนหลังไปตั้งแต่รุ่นแรกที่เสด็จในกรมราชบุรีฯ ทรงจัดสอบ  และพระราชทานต่อเนื่องมาจนสิ้นรัชกาล  ถึงรัชกาลที่ ๗ จึงให้ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นเนติบัณฑิตจัดสร้างเสื้อครุยด้วยทุนทรัพย์ของตน

เนื่องจากรัชกาลที่ ๖ เคยมีกระแสพระบรมราชโองการไว้ว่า ถ้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ในเวลานั้นยังเป็นโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ) เปิดสอนถึงชั้นบัณฑิตแล้ว  จะโปรดเกล้าฯ ให้ผู้ที่สอบไล่ได้เป็นบัณฑิตมีเสื้อครุยเป็นเสื้อยศเช่นเดียวกับบัณฑิตในนานาประเทศ  ฉะนั้นเมื่อนิสิตเวชชศาสตร์บัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะจบการศึกษาใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้คิดแบบเสื้อครุยสำหรับบัณฑิตขึ้น  แล้วได้นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ ๗ ขอพระราชทานออกพระราชบัญญัติเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ภายหลังจากอภิรัฐมนตรีพิจารณาร่างแบบเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์ฒหาวิทยาลัยแล้วจึงได้มีการตราพระราชบัญญัติเสื้อครุยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๓ ต่อจากนั้นเมื่อมีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยของรัฐในเวลาต่อมา จึงมีการกำหนดเรื่องเสื้อครุยของมหาวิทยาลัยเหล่านั้นไว้ในพระราชบัญญัติของแต่ละมหาวิทยาลัยด้วย

อาศัยเหตุที่แต่เดิมมาเสื้อครุยเนติบัณฑิตเป็นของพระราชทาน  แม้ปัจจุบันจะคงเหลือแต่เสื้อครุยโรงเรียนมหาดเล็กหลวง (วชิราวุธวิทยาลัย) เป็นเสื้อครุยชนิดเดียวที่ยังคงต้องรับพระราชทานอยู่  ก็ถือกันว่าเสื้อครุยบัณฑิตนั้นเป็นของสูงและมีกฎหมายรองรับ ผู้สวมเสื้อครุยจึงต้องให้ความเคารพดังเช่นที่ท่านอาจารย์ใหญ่ได้กล่าวไว้  ต่ปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาเอกชนเพิ่มมากขึ้น  และเสื้อครุยก็มิได้มีกฎหมายรองรับเหมือนเสื้อครุยมหาวิทยาลัยของรัฐ  จึงทำให้ควงามขลังของเสื้อครุยลดลงตามลำดับ
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.051 วินาที กับ 19 คำสั่ง