ดูเหมือนว่า จะเป็นคำที่พระพุทธเจ้าใช้ เป็นการลงโทษแบบนิ่มๆ ไม่ต้องทำร้ายถึงเลือดตกยางออก แต่จะถือว่าใช้วิธีทางจิตวิทยา ให้มีผลในทางจิตวิทยาก็คงได้
เข้าใจว่า เหมือน หรือคล้ายที่ไทยเราเรียกว่า คว่ำบาตร คือสมาชิกในสังคม (เช่น คณะสงฆ์) ไม่คบค้าสมาคมด้วยกับคนนั้น ปล่อยไปตามเรื่อง จนกว่าจะรู้สึกตัว เข้าใจว่าจะมีการกำหนดวิธีให้สงฆ์สวดเสนอญัตติคว่ำบาตรและสวดถอนมาตรการนี้ด้วยเมื่อหมดความจำเป็น เป็นมาตรการคุมประพฤติในสังคมสมัยเก่าอย่างหนึ่ง สมมติถ้าใครคนหนึ่งในหมู่บ้านทำไม่เข้าท่า ถูกพระในประชาคมนั้นท่าน "คว่ำบาตร" แปลว่า ไม่ยอมรับบาตรจากคนนี้แล้ว พระไม่ "โปรด" คนๆ นี้แล้ว (โปรด ในที่นี้ไม่ได้แปลว่า favorite การที่พระยอมรับบาตรจากคนๆ หนึ่ง ว่ากันตามความคิดเก่า คนนั้นต้องขอบคุณพระที่พระมาโปรด การที่ท่านไม่รับบาตรคนนั้น แปลว่าตัดออกจากสังคมที่สมัยก่อนมีรากฐานเป็นพุทธ - สมัยยนี้รากพุทธของสังคมไทยก็คงยังอยู่ แต่คงจะเจือจางลงกว่าแต่ก่อน)
รู้สึกว่า มีรายหนึ่งที่ถูกสงฆ์ลงพรหมฑัณฑ์เข้า (โดยที่พระพุทธองค์ทรงประทานพระอนุญาตไว้เองแก่สงฆ์) คือนายฉันนะ ข้ารับใช้เก่าแก่ของพระพุทธเจ้าสมัยยังทรงเป็นเจ้าชายสิตธัตถะนั่นเอง นายฉันนะตอนหลังติดตามมาบวชกับพระพุทธเจ้าด้วย ดื้อ ถือดีว่าเป็นเด็กเส้นมาแต่ดั้งเดิม ไม่ต้องฟังใคร พระอื่นตักเตือนห้ามปรามก็ไม่ฟัง จนพระพุทธองค์ต้องประทานพระพุทโธบายดังกล่าว ว่าให้ปล่อยไปจนกว่าจะรู้สึกตัว พระฉันนะเจอพรหมฑัณฑ์เข้า สลดใจ ได้สำนึก เลยเลิกพยศลงได้
ปัญหาในสมัยนี้คือว่า ถ้าใช้วิธีนิ่มๆ แบบพระๆ อย่างนี้ ซึ่งอาจได้ผลกับพระท่านสมัยพุทธกาล แต่เป้าที่ไม่ใช่พระ ในสมัยนี้ เขาไม่รู้สึกสักที จะทำอย่างไร?

อย่างในทางการเมืองระหว่างประเทศ เขามีวิธีการแซงก์ชั่น ที่ไทยเราก็ยืมศัพท์ไทยที่เราใช้มาก่อนทางศาสนาไปแปลว่า มาตรการคว่ำบาตร เวลาชาติหนึ่งทำพิลึกๆ แล้วชาติอื่นเขาตั้งข้อรังเกียจ ก็คว่ำบาตร เช่นที่รัฐบาลแอฟริกาใต้โดนสมัยยังมีนโยบายเหยียดผิว แต่ปรากฏว่าหลังๆ ก็บ่นกันพึมว่า วิธีคว่ำบาตรใช้ไม่ค่อยได้ผลเท่าไหร่... เป้าหมายเขาก็ยังไม่ยอมเปลี่ยนพฤติกรรม...