NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 75 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:41
|
|
จากเมืองสบแอด นายร้อยเอกหลวงดัสกรปลาศ และมองซิเออร์ ปาวี เดินทางต่อไปจนถึงเมืองเชียงทราย แขวงเมืองสิบสองจุไทย องบา นายฮ่อท่าขวา(ธงดำ)มาคอยรับ องบาได้ทำเสาธงสูงและชักธงช้างไว้ยอดเสาด้วย นายร้อยเอกหลวงดัสกรปลาศได้แนะนำองบากับ มองซิเออร์ ปาวีให้รู้จักกัน และในโอกาสต่อมา มองซิเออร์ ปาวี ได้พูดจาเอาใจองบาว่า ถ้าองบามีธุระเดือดร้อนประการใดแล้ว มองซิเออร์ ปาวีจะช่วยเป็นธุระให้ทั้งสิ้น และชวนให้ไปฮานอยด้วยกัน แต่องบาไม่ไป อ้างว่าเป็นห่วงพี่น้อง มองซิเออร์ ปาวีว่าถ้าไปด้วยกันจะชุบเลี้ยงตั้งให้เป็นขุนนางมียศยิ่งใหญ่กว่าท้าวจัน ท้าวขวา องบาก็นิ่งอยู่มิได้ตอบประการใด
คิดว่าองบา คือผู้นำฮ่อธงดำ(ส่วนหนึ่ง)ที่สวามิภักดิ์ในสงครามคราวที่แล้ว(navarat.c)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 76 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:44
|
|
ท่านแม่ทัพเห็นว่าราชการระยะนี้ไม่ฉุกเฉินแล้ว จึงดำริให้เจ้านครหลวงพระบางขึ้นมาอยู่เสียยังเมืองนครหลวงพระบาง และได้เชิญให้ขึ้นมาจากเมืองพิชัย
ครั้น วันพุธ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด (๒ พฤษภาคม ๒๔๓๑) ได้จัดกระบวนแห่ลงไปรับเจ้านครหลวงพระบางจากบ้านปากลาย จนถึงท่าหน้าเมืองนครหลวงพระบาง แล้วจัดให้อยู่ตามสมควรแก่เกียรติยศเป็นที่เรียบร้อย
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 77 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:49
|
|
ลักษณะการก่อกวนของฮ่อ
เมืองอู สิบสองปันนาถูกพวกฮ่อตีปล้นราษฎร
เมืองอูฝ่ายสิบสองปันนาลื้อ นอกพระราชอาณาเขตมีพวกฮ่อธงเหลืองประมาณ ๕๐๐ - ๑,๐๐๐ มาตีปล้นราษฎร ยกมาเป็น ๒ กอง ตั้งที่คุ้มหม่อม และวัดหลวง แห่งละกอง ข่าวว่าเป็นพวกคำฮุม บุตรท้าวไล
วันเสาร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ (๒๖ พฤษภาคม ๒๔๓๑) นาย ฉุน ลุตเตอร์แนนท์ พระยาหมื่นน่า พระยาเมืองแพนซึ่งรักษาการ ณ เมืองงอย รายงานว่า พวกฮ่อธงเหลืองประมาณ ๑,๐๐๐ ตีเมืองอูเหนือ อูใต้แตกแล้ว และได้ข่าวว่าจะยกมาตีเมืองภูน้อยซึ่งเป็นเมืองขึ้นของเมืองหลวงพระบางต่อไป
ท่านแม่ทัพได้ทราบแล้วได้ปรึกษาหารือกับพระยานนทบุรีข้าหลวงท้าวพระยานายทัพนายกองว่า เมืองอูเหนือ อูใต้ซึ่งเป็นเมืองนอกพระราชอาณาเขตมีโจรผู้ร้ายมารบกวน เมืองอูก็เป็นเมืองใกล้กับเมืองในพระราชอาณาเขต มีบ้านเล็กเมืองน้อยซึ่งต่อเนื่องกันมาตามลำน้ำอู ได้แก่ เมืองงาย เมืองวา เมืองฮุน เมืองขวา และเมืองภูน้อย เมื่อมีโจรผู้ร้ายในเขตสิบสองปันนาราษฎรก็จะพลอยเดือดร้อนเพราะเกรงกลัวโจรผู้ร้าย ถ้าไม่จัดกำลังไปป้องกันรักษาราษฎรก็จะไม่สิ้นความหวาดกลัว จึงสั่งการให้ นายดวง กัปตัน นายเพ็ชร์ ลุตเตอร์แนนท์ นายแปลก สัปลุตเตอร์แนนท์ คุมทหาร ๑๐๐ ยกไปรักษาราชการตามลำน้ำอู และเมืองวา ให้มีภารกิจปราบปรามโจรผู้ร้ายที่ยกล่วงล้ำเข้ามา หากมั่วสุมชุมนุมกันมีจำนวนมากกว่าให้รีบบอกเพื่อจะได้ส่งทหารไปเพิ่มเติมจนพอแก่ราชการ และจัดการระวังช่องทางสำคัญให้แข็งแรงอย่าให้ราษฎรแตกตื่น แต่หากมิได้ล่วงล้ำพระราชอาณาเขตให้กองทหารตั้งรักษาราชการอยู่ก่อน
นายดวง กัปตัน พร้อมด้วยท้าวพระยาลาวและไพร่พล ยกออกจากเมืองนครหลวงพระบางในวันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๗ (๓ มิถุนายน ๒๔๓๑)
ฤดูฝน ว่างศึก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 78 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:53
|
|
วันพุธ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด (๓๐ พฤษภาคม ๒๔๓๑) เวลาค่ำประชุมออฟฟิเซอร์ ได้สั่งให้นายกอมปนี (ผู้บังคับกองร้อย) จัดหม้อกรองน้ำให้ทหารกิน เพราะกลัวความไข้ และสั่งให้ออฟฟิเซอร์สตาฟ (ฝ่ายอำนวยการ) และกอมปนีเป็นเวรกันมาคอยรับคำสั่งเสมอไปทุกๆ วัน
วันเสาร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ปีชวด (๒ มิถุนายน ๒๔๓๑) - ให้พระยาเมืองซ้าย พระยานาเหนือ และนายอยู่สัปลุตเตอร์แนนท์ นำทหาร ๓๘ คน (๑ หมวด) ไปราชการทางเมืองทาสี - ให้ นายดวงกัปตัน นายเพ็ชรลุตเตอร์แนนท์ นายแปลกสัปลุตเตอร์แนนท์ คุมทหาร ๕๓ คน (คือกองร้อย แต่เหลือ ๒ หมวด เพราะไปกับนายอยู่สัปลุตเตอร์แนนท์เสีย ๑ หมวด) ไปราชการทางเมืองขวา เมืองฮิน เมืองงาย ด้วยมีพวกฮ่อธงเหลืองกับพวกเมืองไลมากดขี่ข่มเหงราษฎร และเมื่อโจรผู้ร้ายสงบเรียบร้อยแล้ว ให้ทำสำมะโนครัวมาด้วย (กลับถึงเมืองหลวงพระบางใน วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๑๐ ตรงกับวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๔๓๑)
วันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ (๒๓ มิถุนายน ๒๔๓๑) ได้รับรายงานนายดวงกัปตันจากเมืองขวา ว่ามีฮ่อพวกคำฮุม คำล่าตีเมืองอู (นอกพระราชอาณาเขต) แตกแล้ว เกรงว่าเมืองงอยจะส่งเสบียงมาให้ไม่ทัน
วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ (๒๕ มิถุนายน ๒๔๓๑) สั่งให้เอาปืนใหญ่ ปืนแคตริงกัน ปืนนอตติงแฟนออกไปยิงที่สนามหน้าเมืองหลวงพระบาง ราษฏรมาดูเป็นอันมากแสดงกิริยายินดีอุ่นใจ
วันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๘ (๓๐ มิถุนายน ๒๔๓๑) ตั้งโรงหมอขึ้นที่วัดจอมศรี สำหรับรักษาราษฎรชาวเมือง มีพร้อมทั้งยาไทย ยาฝรั่ง
วันพุธ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ (๒๖ กันยายน ๒๔๓๑) ให้นายปุ้ยกัปตัน นายเจ๊กลุตเตอร์แนนท์ คุมทหาร ๓๑ คน ไปรักษาเมืองแถง และต่อมาอีก ๓ วัน ได้ให้นายอยู่สัปลุตเตอร์แนนท์คุมทหารอีก ๓๐ ส่งขึ้นไปเมืองแถง
วันอังคาร แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ (๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๓๑) นายแขกกัปตัน คุมทหาร รวม ๖๐ คน ออกจากเมืองนครหลวงพระบาง ไปเมืองสบแอด วันพฤหัสบดี แรม ๔ ค่ำ เดือน ๑๒ (๒๒ พฤศจิกายน ๒๔๓๑) แม่ทัพพร้อมด้วยนายทัพนายกองเดินทางไปเมืองแถง(ทางเรือ)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 79 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 09:02
|
|
วันศุกร์ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๓๑) ได้รับรายงานจาก นายเจริญกัปตันที่เมืองแอด ส่งคำให้การฮ่อมาให้มีใจความว่า
มองซิเออร์ ปาวีเอาเรือมาถึงแก่งซอง พ่วงเรือไฟมาจมลงที่แก่ง ให้ราษฎรลงไปลากเรือไฟที่จมน้ำ เรือก็หาขึ้นไม่ แล้วว่าองบาตาย และมองซิเออร์ ปาวี สั่งว่า เมืองหลวงพระบาง และเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นของฝรั่งเศสแล้ว อย่าให้พวกฮ่อไปหาไทยเลย ถ้าพวกฮ่อมีทุกข์ร้อนอย่างใดให้ไปบอก จะช่วยเหลือให้เป็นกำลัง และนายเจริญกัปตันได้ร้องทุกข์มาว่า อ้ายพวกฮ่อกำเริบมากถึงกับจะต้องรบกัน
เอาละครับ ตรงนี้เริ่มชัดว่านายปาวีมีแผนให้ฮ่อกำเริบกับไทย กรณีองบาผู้นำฮ่อคนหนึ่งตาย ผู้เรียบเรียงเรื่องได้สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นเพราะนายปาวีเกลี้ยกล่อมให้เข้าด้วยฝรั่งเศสแล้ว แต่องบาไม่ยอมจึงแกล้งให้เกิดอุบัติเหตุถึงแก่ความตาย
แม่ทัพพิจารณาแล้ว เห็นเป็นจริงโดยมากพวกฮ่อจึงได้มีความกำเริบ บางทีอาจจะได้รบกันกับกองทัพเป็นแน่ และสั่งการให้เรียกทหารขึ้นไปช่วยอีกให้พอแก่การ และกำชับนายเจริญกัปตันให้อดใจ อย่าให้มีเหตุถึงกับรบพุ่งกัน เพราะกองทัพหน้ายกมาจวนจะถึงแล้ว
วันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือนอ้าย (๑๔ ธันวาคม ๒๔๓๑) เรือกองทัพถึงเมืองแถง นายร้อยเอก หลวงดัษกรปลาศจัดทหารลงมารับแม่ทัพที่ที่เรือจอด มองซิเออร์ ปาวีกับออฟฟิเซอร์ฝรั่งเศส ๓ นาย และทหารญวน ๖๐ มาคอยรับกองทัพอยู่ที่ค่ายเชียงแล
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 80 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 09:05
|
|
ท่านแม่ทัพและมองซิเออร์ ปาวีได้หารือข้อราชการ ซึ่งท่านแม่ทัพแจ้งว่ามีความประสงค์อยากจะให้ทำแผนที่ในเขตสิบสองจุไทยตลอดหัวพันทั้งห้าทั้งหกเสียชั้นหนึ่งก่อนและให้ทำโดยเร็ว มองซิเออร์ ปาวีตอบว่า ส่วนหัวพันทั้งห้าทั้งหกที่ทหารไทยเข้าไปตั้งอยู่แล้วนั้น ฝ่ายฝรั่งเศสมิได้ล่วงล้ำเข้าไป แต่เมืองสิบสองจุไทยนั้น ฝรั่งเศสได้เข้าไปตั้งอยู่แล้ว ครั้นจะขึ้นไปทำการ เกรงจะเป็นที่บาดหมางกันขึ้น ด้วยการแผนที่ฝ่ายฝรั่งเศสได้ทำไว้โดยเรียบร้อยพอที่จะตัดสินเขตแดนได้แล้ว เห็นว่าไม่ต้องทำอีก และว่า ข้าหลวงทั้งสองฝ่ายที่อยู่ในกองทัพของแต่ละฝ่ายก็ได้กลับไปแล้ว เห็นว่าเป็นการสิ้นคราวทำแผนที่แล้ว
ท่านแม่ทัพยืนยันว่า ". . . ส่วนสิบสองจุไทยนี้นับว่าเป็นพระราชอาณาเขต ตามที่มองซิเออร์ ปาวีได้กล่าวนั้นหาสมควรไม่ เพราะได้ตัดสินด้วยเขตแดนตกลงกันแล้วหรือ ซึ่งมองซิเออร์ ปาวีจะถือเป็นเขตส่วนฝรั่งเศสนั้นยังไม่ควรก่อน คำสั่งของเกาเวอนแมนต์สำหรับกองทัพยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง ข้าพเจ้าจะต้องทำตามเดิม . . ." ในที่สุด " . . . เมื่อจำเป็นแล้ว ก็จะรักษาการมิให้มัวหมองทั้ง ๒ ฝ่าย"
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 81 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 09:12
|
|
วันจันทร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนอ้าย (๑๗ ธันวาคม ๒๔๓๑) มองซิเออร์ ปาวีได้มาหาท่านแม่ทัพ ได้สนทนากันด้วยเรื่องเมืองแถงเป็นพื้น แม่ทัพได้เล่าให้ฟังว่าจะจัดการเมืองแถงอย่างไร มองซิเออร์ ปาวีก็พูดจาขัดขวางต่างๆ ดูประหนึ่งว่าเมืองแถงเป็นของฝรั่งเศส ท่านแม่ทัพจึงต้องชี้แจงว่า เมืองแถงนี้เป็นพระราชอาณาเขตของไทยมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว . . . ผู้ไทยดำนั้นใช้แซ่อย่างจีน แต่อักษรที่ใช้เป็นอักษรสยาม แต่พวกลาวหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองพวน เป็นเมือง ๒ ฝ่ายฟ้าคือขึ้นกับลาวและญวน เมืองสิบสองจุไทย และสิบสองปันนา เรียกว่า ๓ ฝ่ายฟ้า ขึ้นอยู่กับลาว ญวน และจีน เมืองเหล่านี้เป็นเมืองในพระราชอาณาเขตทั้งสิ้น และได้กล่าวถึงการปราบฮ่อครั้งที่ผ่านมาซึ่ง มองซิเออร์ ปาวีได้ทราบดีอยู่แล้ว ในตอนท้านท่านแม่ทัพได้กล่าวว่า ". . . ถ้าสิ่งใดควรจะยอมให้กับท่านได้โดยที่ข้าพเจ้าไม่ต้องได้รับความผิดแล้ว ข้าพเจ้าก็จะยอมให้เพื่อช่วยท่านทุกอย่าง"
มองซิเออร์ ปาวีซึ่งตระหนักดีไม่อาจโต้ตอบได้จึงไถลไปพูดเรื่องฮ่อว่าองบา องทั่งได้เข้าสวามิภักดิ์ฝรั่งเศสหมดแล้ว(องบาตายแล้วแต่มองซิเออร์ ปาวียังไม่เล่าให้แม่ทัพฟัง) ท่านแม่ทัพก็ชี้แจงว่าพวกฮ่อเหล่านี้ก็ให้หัวหน้ามาหาทหารไทย เพื่อขออ่อนน้อมด้วยเหมือนกัน และอธิบายวิธีที่จะดำเนินการต่อพวกฮ่อ มองซิเออร์ ปาวีว่าขอให้รอกอมอดอง (Commannder) มาจากเมืองลาก่อนแล้วจะได้พูดตกลงกัน และว่าไทยกับฝรั่งเศสต้องไปจัดราชการที่เมืองคำเกิดคำม่วน ท่านแม่ทัพตอบว่า ยังไม่ได้รับคำสั่งจากกรุงเทพฯ
วันรุ่งขึ้น มองซิเออร์ ปาวีมาพบท่านแม่ทัพอีกกล่าวว่า เมืองแถง เมืองสิบสองจุไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นเมืองขึ้นของญวนโดยแท้ บัดนี้ รัฐบาลได้มีคำสั่งให้มองซิเออร์ ปาวีมาจัดการรักษาเมืองเหล่านี้ ขอให้เยเนอราล(นายพล หมายถึงท่านแม่ทัพ) เห็นแก่ทางพระราชไมตรีทั้งสองฝ่ายให้ถอนทหารไทยออกจากเมืองเหล่านี้
ท่านแม่ทัพได้ชี้แจง และว่า ". . . การที่ท่านจะให้ข้าพเจ้าถอนทหารจากเมืองเหล่านี้นั้น ข้าพเจ้าทำไม่ได้ ถ้าขืนทำไปก็จะได้รับความผิด เพราะผิดจากคำสั่งของรัฐบาลของข้าพเจ้า มองซิเออร์ ปาวีว่าเรื่องการลงโทษรับรองไม่ให้รัฐบาลไทยลงโทษได้ ท่านแม่ทัพตอบว่า ถ้ายอมทำตามว่า ก็ต้องเป็นคนไม่รักชาติ ไม่สมกับที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระแสงอาญาสิทธิ์ให้เป็นแม่ทัพ . . . เมื่อท่านจะหักหาญเอาโดยอำนาจ ข้าพเจ้ายอมตายในเมืองแถงนี้ . . .
มองซิเออร์ ปาวีเจอไม้นี้เข้าก็เลยตอบว่า ไม่เป็นเช่นนั้น ท่านเยเนอราลต้องการอย่างไรขอให้บอกให้ทราบ ท่านแม่ทัพจึงว่า กองทัพสยามตั้งรักษาเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกอยู่แล้ว ส่วนเมืองสิบสองจุไทยนั้นกองทัพฝรั่งเศสก็ได้ตั้งอยู่ และเมืองแถงทหารไทยได้ตั้งรักษาการอยู่ก่อนแล้ว บัดนี้ ฝรั่งเศสได้ยกเข้ามาตั้งในค่ายเชียงแลด้วยกัน โดยเหตุนี้ ทหารไทยและทหารฝรั่งเศสรักษาความสงบอยู่ด้วยกันกว่ารัฐบาลจะตัดสินเขตแดนตกลงกัน ซึ่งมองซิเออร์ ปาวีก็รับรอง และได้ทำหนังสือไว้ต่อกัน
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 82 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 09:14
|
|
หนังสือสัญญา ๙ ข้อ ซึ่ง พระยาสุรศักดิ์มนตรี แม่ทัพฝ่ายสยาม กอมอดองเปนนากา มองซิเออร์ ปาวีแปรซิดองเดอลากอมิศยองฝรั่งเศส ได้ตกลงกันที่เมืองแถง ตกลงที่จะจัดการเมืองสิบสองจุไทย เมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองพวนให้เป็นที่เรียบร้อยในระหว่างที่เกาเวอนแมนต์ทั้งสองฝ่ายยังมิได้ตกลงแบ่งเขตแดนกัน จะรักษาการไว้กว่าจะตกลงกัน สรุปได้ดังนี้
๑. ฝ่ายฝรั่งเศสจะตั้งอยู่ในตำบลแขวงสิบสองจุไทย ฝ่ายทหารไทยจะตั้งอยู่ในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองพวน ๒. เมืองแถงนั้น ทหารไทยและทหารฝรั่งเศสจะพร้อมกันตั้งรักษาการอยู่ในเมืองแถงทั้ง ๒ ฝ่าย จะรักษาการโดยสุภาพเรียบร้อย เมื่อฝ่ายใดจะมีการหรือจะใช้คนไปมาในตำบลที่อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ ก็ให้บอกกล่าวให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบก่อน จะได้ช่วยการนั้นให้สำเร็จตามสมควร ๓. ฝ่ายเมืองไลนั้น ฝรั่งเศสได้ตั้งรักษาอยู่แล้ว บุตรท้าวไลก็เข้ายอมฝรั่งเศสแล้ว แต่คำสาม คำฮุย ท้าวม่วยยังอยู่ในกองทัพไทย ขอให้ฝรั่งเศสส่งไปหาบิดา แต่คนเมืองหลวงพระบางที่ฮ่อตีเอาไปนั้น ฝ่ายฝรั่งเศสจะช่วยส่งคืนยังเมืองแถงยังกองทัพไทยที่ตั้งอยู่นั้น ๔. ฝ่ายเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเมืองพวนนั้น กองทหารไทยได้ตั้งรักษาการอยู่หลายตำบล ฝ่ายฝรั่งเศสซึ่งตั้งอยู่ใกล้เคียงจะไม่ล่วงเข้าไปในตำบลนั้น ๕. พวกฮ่อยังตั้งอยู่หลายตำบลตามเขตญวน เขตสิบสองจุไทย เขตหัวพันทั้งห้าทั้งหก และเขตพวนนั้น จะช่วยกันจัดการให้เป็นที่เรียบร้อยทั้งสองฝ่าย ๖. เจ้าพนักงานกองเซอรเวฝ่ายไทย จะได้ตรวจเซอรเวไปในที่ๆ ฝรั่งเศสตั้งอยู่ ฝ่ายฝรั่งเศสจะให้หนังสือนำให้ทำการไปโดยสะดวกและจะจัดทหารรักษาไปไม่ให้มีอันตรายเหมือนกับฝ่ายไทยได้จัดการรักษาการเซอรเวของฝรั่งเศสนั้น จะส่งจนถึงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกซึ่งกองทหารไทยตั้งอยู่ ๗. ราษฎรในเมืองแถงซึ่งเที่ยวแตกอยู่ตามป่าดงหลายตำบลนั้น ฝ่ายไทยจะประกาศให้กลับภูมิลำเนาเดิม ตามความสมัครใจของราษฎร ๘. จะเรียกกรมการท้าขุนที่เป็นหัวหน้าที่มีอยู่ในเมืองแถงให้มาพร้อมกันทั้งสองฝ่าย พูดชี้แจงไม่ให้หวาดหวั่น ๙. หนังสือราชการฝ่ายฝรั่งเศสที่จะส่งไปยังเมืองหลวงพระบาง หรือฝ่ายเมืองหลวงพระบางจะส่งขึ้นมายังเมืองแถง ฝ่ายไทยจะช่วยเป็นธุระ รับหนังสือนั้นส่งไปมาให้โดยสะดวก
การกล่าวมาข้างต้นทั้ง ๙ ข้อ ได้พร้อมกันทั้ง ๒ ฝ่ายเห็นตกลงกันได้เซ็นชื่อไว้ในท้ายหนังสือนี้ทั้ง ๒ ฝ่าย เมืองแถง ณ วันเสาร์ แรม ๔ ค่ำ เดือนอ้าย ปีชวด สัมฤทธิศก ๑๒๕๐ (ตรงกับ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๓๑)
เมื่อได้ทำสัญญาชั่วคราวกับฝรั่งเศส ปรับกำลังนายทัพนายกองที่ชำนาญเชิงอาวุธไปตั้งประจำด่านทางในที่สำคัญหลายตำบล และมั่นใจว่าได้จัดการเรื่องรักษาพระราชอาณาเขต และระงับเหตุที่พวกฮ่อก่อการกำเริบเรียบร้อยแล้ว ท่านแม่ทัพก็ได้เลื่อนกองทัพใหญ่กลับเมืองนครหลวงพระบางเพื่อจัดราชการอื่นต่อไป ได้เดินทางถึงเมื่อ วันศุกร์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือนยี่ ตรงกับ วันที่ ๔ มกราคม ๒๔๓๑
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 83 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 09:18
|
|
วันอังคาร ขึ้น ๗ ค่ำ เดือนยี่ ตรงกับ วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๓๑ นายเจริญ กัปตันซึ่งรักษาอยู่ที่เมืองสบแอดรายงายว่า ได้ปราบปรามพวกฮ่อน้านนายม แขวงเมืองเชียงค้อซึ่งมีอยู่ ๔ พวก ประมาณ ๕๐๐ คน มีมาอ่อนน้อมต่อกองทัพบ้าง บ้างก็รบกวนราษฎรอยู่ ที่ต้องสู้รบกันก็มี พวกฮ่อตาย ๗๐ ฝ่ายเรา ตาย ๑ พวกฮ่อได้ยกครอบครัวหนีออกนอกแขวงหัวพันทั้งห้าทั้งหก แต่ไม่ทราบว่าไปที่ใดบ้าง จึงได้เผาค่ายฮ่อ และจัดทหารรักษาด่านทางไว้ทุกตำบล และราษฎรได้กลับเข้ามาหลายสิบครัว
หลวงดัษกรปลาศ ก็รายงานว่า ได้ยกจากเมืองซ่อนไปเมืองสบแอดแล้ว และได้เพิ่มกำลังออกรักษาด่านทางให้แข็งแรงยิ่งขึ้น กับได้ประสานกับกอมอดองเปนเนกาที่เมืองลา แขวงสิบสองจุไทย ได้รับคำตอบว่า ถ้าหลวงดัษกรปลาศจะปราบปรามฮ่อเมื่อใดขอให้บอกล่วงหน้า จะได้ช่วยกันปราบต่อไป เวลานี้ฝรั่งเศสกำลังระวังพวกฮ่อทางเมืองกาดอยู่
ส่วนราชการทางแขวงหัวพันทั้งห้าทั้งหกนั้น พวกฮ่อระหกระเหินมาก จะต้องปราบปรามต่อไป ยังถอนทหารไม่ได้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 84 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 09:24
|
|
วันเสาร์ ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๕ ตรงกับ วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๔๓๒ ดอกเตอร์มาเซมาพบท่านแม่ทัพแจ้งว่า กองทัพฝรั่งเศสที่เมืองแถงได้รับคำสั่งจากเยเนอราลแต่เมืองฮานอย ให้ไล่ทหารไทยที่ตั้งรักษาการที่บ้านสามหมื่น เมืองแถงออกไป ทหารไทยตอบว่า ไม่ไป เพราะไม่ใช่คำสั่งท่านแม่ทัพ และท่านแม่ทัพตอบดอกเตอร์มาเซว่าได้ปฏิบัติข้อตกลงตามที่ได้สัญญากันไว้ต่อกัน (สัญญา ๙ ข้อ) เมื่อมีคำสั่งเกาเวอนแมนต์ ๒ ฝ่ายตกลงกันประการใดแล้ว จะได้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นทุกประการ และตัดความว่า "ที่จะให้ข้าพเจ้าสั่งถอนทหารไทยเสียในเวลานี้นั้น ข้าพเจ้ายังทำตามไม่ได้" ดอกเตอร์มาเซ จึงว่า ถ้าเช่นนั้นจะมีหนังสือบอกไปเมืองฮานอย แล้วก็ลากลับไป
ดอกเตอร์มาเซผู้นี้ มีกิริยาวาจาหยาบคาย เป็นผู้อยู่ประจำนครหลวงพระบางแทนมองซิเออร์ ปาวี
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๔๓๒ กัปตันนิโคล็อง (ได้เลื่อนยศจากเลฟเตแนนท์) และดอกเตอร์มาเซได้เข้าพบท่านแม่ทัพและพูดจาหว่านล้อมให้สั่งถอนทหารไทยจากเมืองแถง ท่านจึงตอบห้วนๆ ว่า "ข้าพเจ้าไม่รับเข้าใจอะไรทั้งหมด นอกจากเข้าใจว่าเมืองแถงนี้เป็นเมืองกลางตั้งรักษาอยู่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ถ้าฝรั่งเศสเอาอาวุธเข้ามาในเขตแขวงที่เมืองไทยรักษาอยู่โดยไม่บอกกล่าวแล้ว ต้องรบกัน จะไม่ยอมให้เดินลอยนวนเล่นเป็นอันขาด ข้าพเจ้าจนใจว่า เวลานี้เกาเวอนแมนต์สั่งให้รักษาการสงบอยู่ มิฉะนั้น ข้าพเจ้าจะขอรบกับฝรั่งเศส"
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๔๓๒ กัปตันนิโคล็องและดอกเตอร์มาเซก็ได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 85 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 09:33
|
|
๗ เดือนต่อมา ท่านแม่ทัพได้รับคำสั่งดังนี้
พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
ใบบอกพระยาสุรศักดิ์มนตรี ที่ ๒๔/๒๕/๒๖/๒๗/๒๘/๒๙/๓๐ มีพระบรมราชโองการสั่งว่า ให้กรมมหาดไทยมีตราตอบพระยาสุรศักดิ์มนตรีว่า การที่พระยาสุรศักดิ์มนตรี จัดการทั้งปวงนั้นใช้ได้หมดแล้ว ให้พระยาสุรศักดิ์มนตรีกลับลงมากรุงเทพฯ จะได้ปรึกษาจัดการปักปันเขตต์แดน ด้วยพระยาสุรศักดิ์มนตรีเข้าใจการทั้งปวงอยู่หมดแล้ว ให้พระพลัษฎาเป็นข้าหลวงและบังคับทหารอยู่เมืองหลวงพระบางแทนพระยาสุรศักดิ์มนตรี ให้หลวงดัษกรปลาศอยู่ช่วยราชการ ลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๖ กันยายน ร.ศ.๑๐๘
(เซ็น) สมมตอมรพันธ์
วันที่ ๒๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๓ ท่านแม่ทัพได้ออกจากหลวงพระบาง เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพในเดือนมีนาคม
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
bunnaroth
อสุรผัด

ตอบ: 26
|
ความคิดเห็นที่ 86 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 11:23
|
|
ฟังเล็คเชอร์เหตุการณ์ต่อเนื่องจากฮ่อปล้นเมือง และการยกทัพกลับมาของพระยาสุรศักดิ์มนตรีเติมเหตุการณ์ทั้งหลายก่อนหน้าจบเรียกว่าแทบจะสมบูรณ์แล้ว ... ผมขอแสดงความเห็นแบบขมวดปม ดังนี้ครับ
1. การยกทัพไปปราบฮ่อมี 3 ครั้ง ตามบันทึกที่ถือกันมารวมทั้งที่ปรากฏบนเหรียญปราบฮ่อ ระบุปี "๑๒๓๙" (พ.ศ. 2420) "๑๒๔๗" (พ.ศ. 2428) และ "๑๒๔๙" (พ.ศ. 2430) ที่ทำให้เข้าใจสับสนคือครั้ง 2428 เพราะมีแม่ทัพผลัดเปลี่ยนกันทัพนึงถูกเรียกกลับอีกทัพไปแทน เฉพาะทัพของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี/กรมหมื่นประจักษ์ เริ่มยกไปต.ค.2428 กว่าจะถึงและรบจริงก็เข้า 2429 ไปแล้ว ต่อมายกกลับ 2430 และถูกฮ่อธงดำตลบหลังดังรายละเอียดก่อนหน้า ประเด็นความสับสนคือผมถือเอาแม่ทัพเป็นหลักโดยรวมการยกทัพของพระยาสุรศักดิ์ฯ ต.ค.2428 กับการยกไปอีกรอบหลังจากหลวงพระบางถูกปล้นเป็นครั้งที่ 3 ครั้งเดียวกัน / ซึ่งไม่ตรงกับการจัดลำดับครั้งต่างจากอาจารย์ NAVARAT.C ที่ ถือการยกไป ต.ค.2428 ของพระยาสุรศักด์เป็นครั้งที่ 2 และปลาย 2430 เป็นครั้งที่ 3 --- แต่จะเรียกยังว่าครั้งไหนก็ตามตอนนี้ถือว่าเข้าใจแล้วครับว่า ทัพสุรศักดิ์มนตรี ครั้งแรก(ที่แมคคาร์ธีเขียนไว้ในกระทู้เปิด) กับครั้งที่สองหลังหลวงพระบางถูกปล้น
2. พอได้อ่านรายละเอียดต่อเนื่องจากทั้งฝรั่ง และไทย ผมเริ่มคิดไปไกลกว่ากระทู้เสียแล้ว เพราะสงครามปราบฮ่อแท้ที่จริงคือ นี่เป็นแบบแผนสงครามและการเมืองบนสนามรบยุคใหม่ที่สยามเพิ่งเริ่มเผชิญกับโลกยุคอาณานิคมเป็นครั้งแรกๆ เป็นสงครามที่เกี่ยวข้องกับบริบททั้งภูมิภาคไม่ใช่อาณาจักรกับอาณาจักรที่เคยเป็นมาในศตวรรษก่อนหน้า เพราะฮ่อแท้ที่จริงคือไท่ผิงที่ก่อกบฎต่อราชวงศ์ชิง (เหตุเกิดต้นร.5 พอปลายร.5 ดร.ซุนยัดเซ็นก็มาเคลื่อนไหวในบางกอก-ปีนัง-สิงคโปร์ระดมทุนช่วยเก๊กเหม็งปฎิวัติจีนสำเร็จ) เป็นเรื่องที่สยามไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ใหญ่ของทั้งภูมิภาคทั้งจีนฝรั่ง
3. นี่เป็นสงครามจรยุทธ์ (กอริลล่าวอร์แฟร์) ไม่ใช่สงครามแบบแผนที่กองทัพสู้กับกองทัพ ภารกิจการ “ปราบฮ่อ” จึงเหมือนกับการไล่จับหนูดังที่อาจารย์ NAVARAT.C บอก แต่อย่างไรก็ตามเมื่อประจันหน้ากันจริงในบางศึกเราก็เอาชนะเขาไม่ได้ สยามเองก็ไม่ได้เข้มแข็งดังปรากฏในประวัติที่ระบุชัดว่าการศึก 2 ครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจะพบว่าแนวทางของสยามในครั้งต่อๆมา (2429-2431) ก็คือให้นายฮ่อมาสวามิภักดิ์ อาจจะให้สัญญาว่าจะไม่ปล้นไม่กวนความเรียบร้อยของอาณาเขตสยาม
4. นอกจากเป็นแบบแผนสงครามยุคใหม่ (จรยุทธ์) แล้วสิ่งที่น่ากลัวกว่าฮ่อก็คือฝรั่งเศส เมื่อก่อนทราบว่าม.ปาวีนี่ร้ายกาจ แต่พอมาลงรายละเอียดใหม่ยิ่งพบว่า ปาวี ไม่ใช่แค่ร้ายกาจธรรมดาแต่เป็นสุดยอดแห่งความร้ายกาจเลยทีเดียว พิจารณาจากกรอบทฤษฎีสมคบคิด ผมคิดว่าปาวีอาจจะหลิ่วตาให้ฮ่อธงดำ ĐèoVăn Tri มาปล้นหลวงพระบางตีท้ายครัวไล่หลังทัพพระยาสุรศักดิ์ (มิ.ย.2430) สร้างสถานการณ์ให้เจ้าหลวงเป็นหนี้บุญคุณฝรั่งเศสและขาดความเชื่อมั่นในสยามด้วยซ้ำไป เพราะต่อมาฝรั่งเศสก็เลี้ยง ĐèoVăn Tri ไว้เป็นพวก
5. การยกทัพครั้งสุดท้ายของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ปลาย 2430-ต้น 2431 ดูจากบันทึกแทบไม่ได้ “ลงมือ”ปราบฮ่อมากมายนัก ภารกิจสำคัญกลายเป็นไปยันกับฝรั่งเศสที่เมืองพวน เมืองแถน เพราะตอนนั้นเริ่มชัดเจนว่าฝรั่งเศสทำหน้ามึนจะมาฮุบสิบสองจุไทยตลอดหัวพันทั้งห้าทั้งหก ดังปรากฏในบันทึกที่ปาวี กลับมายันกับเจ้าพระยาสุรศักดิ์ที่ได้บอกกับฝรั่งเศสไปแล้วว่าเป็นของสยามแต่ “วันรุ่งขึ้น มองซิเออร์ ปาวีมาพบท่านแม่ทัพอีกกล่าวว่า เมืองแถง เมืองสิบสองจุไทย และหัวพันทั้งห้าทั้งหกเป็นเมืองขึ้นของญวนโดยแท้” นั่นก็คือ ภารกิจการปราบฮ่อกลายเป็นภารกิจการเจรจาต่อรองเรื่องเขตแดนกับฝรั่งเศสไปเสีย โดยที่อำนาจท้องถิ่น(นายฮ่อทั้งหลาย-และเจ้าเมืองท้องถิ่นทั้งหลาย) กลายเป็น “หมาก” ที่แม่ทัพสองฝ่ายแย่งชิงว่า นายฮ่อคนใดเข้าเป็นฝ่ายตัว
6. หากวิจารณ์ตามแบบทหาร สงครามจรยุทธ์ลักษณะนั้น ฝ่ายที่ยกกำลังไปจะต้องอยู่รักษาการณ์ตรึงพื้นที่รักษาความสงบเอาไว้ (แบบเดียวกับทหารภาคใต้) หรืออย่างน้อยก็ต้องแบบอเมริกันที่ติดหล่มตรึงอยู่ในเวียดนามหลายปี แต่แบบแผนสงครามที่ทัพสยามเคยชินและรับรู้คือ สงครามกลางแปลงยกไปสู้กันแล้วก็ยกกลับ นี่จึงเป็นเหตุให้หลวงพระบางถูกปล้นครั้งใหญ่หรือไม่ ? ซึ่งสำหรับผมเหตุการณ์ปล้นหลวงพระบางนี่ถือเป็นชัยชนะของโจรครับ เพราะโจรไม่ได้หวังจะสู้ชนะหากแต่หวังปล้น ประทังชีวิตประทังองค์กรหมู่คณะให้อยู่ได้ต่อ
7. ผมตั้งกระทู้ให้แรง ภาษาวัยรุ่นเรียกว่ากระทู้ล่อเป้า แต่เนื้อในของกระทู้จริงๆ ไม่มีอะไรเลย แค่ตั้งคำถามว่า... รายงานที่เราท่านอ่านๆ กันว่าทัพเจ้าพระยาสุรศักดิ์ไปปราบฮ่อได้ชัยกลับมาเชื่อได้แค่ไหน ? สำหรับตัวผมเองเชื่อลดลงเยอะเลยทีเดียวครับ ... จนเมื่อได้ข้อมูลมากมายเติมเข้ามาก็ยิ่งชัด สำหรับตัวผมก็ยังยิ่งให้น้ำหนักกับคำกล่าวที่เคยได้ยินมาว่า “สยามปราบฮ่อได้ชัยชนะกลับมา” น้อยลงไปจากเดิมหลายขีด ไม่ใช่ว่าบรรพชนเราไม่เก่งหรือไม่เอาจริงนะครับ บรรพชนเรารบและทำหน้าที่ได้เต็มกำลัง แต่ปัญหาก็คือ สงครามปราบฮ่อ 2428-2431 มันไม่ใช่แค่เรื่องการปราบฮ่อน่ะสิครับ การมีฝรั่งเศสไปพัวพันและมีเจตนาชัดเจนจะฮุบดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ทยอยจากเมืองแถน สิบสองจุไท หัวพันทั้งห้าทั้งหก ลามมาหลวงพระบาง มีกุญแจสำคัญที่ปาวี .. ปาวีรายงานรัฐบาลเขาว่าพื้นที่นั้นเป็นแหล่งแร่ทองคำ แร่ธาตุ ทรัพยากรสำคัญ มีผลทำให้ “สงครามปราบฮ่อ” ของสยามมีมือของอำนาจที่สามมาเกี่ยวข้อง และเริ่มชัดเจนนับจากฮ่อธงดำปล้นหลวงพระบาง มิถุนายน 2430
ป.ล. ข้อมูลที่เว็บไซต์นำเที่ยวหลวงพระบางหลายเว็บที่เขียน(ลอกๆ) ว่าวัดเชียงทองปลอดภัยจากฮ่อธงดำบุกปล้นปี 2428 น่าจะผิดพลาด แท้จริงต้องปี 2430
จบความเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนครับ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
NAVARAT.C
|
ความคิดเห็นที่ 87 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 11:59
|
|
บทสรุป
แคว้นสิบสองจุไท ชาวเมืองเองและเอกสารฝรั่งเรียกว่าสิบสองเจ้าไท( Sipsong Chau Tai) อยู่ตรงชายแดนของประเทศทั้ง๔คือใต้ประเทศจีน เหนือของประเทศลาว ตะวันออกของพม่าและตะวันตกของญวน ไทยไม่น่าจะเรียกเพี้ยนไปเป็นสิบสองจุไทยเลย เพราะแคว้นนี้มีเมืองที่เจ้าปกครองสิบสองแห่ง แยกกันเป็น ๓ ภาค
ภาคตะวันออกต่อแดนพม่าเรียกว่าสิบสองปันนา ชาวเมืองคือไทลื้อ ภาคกลางต่อแดนจีนเป็นส่วนใหญ่ของสิบสองจุไทย ชาวเมืองคือผู้ไท ภาคตะวันออกที่ต่อแดนญวนเรียกว่าเมืองพวน เรียกชาวเมืองว่าลาวพวน แต่พูดภาษาไท
เมืองในแดนสิบสองจุไท และเมืองพวนจึงมักส่งส่วยต่อรัฐที่ใหญ่กว่ามากกว่าหนึ่งชาติ จึงเรียกกันว่าเมืองสองฝ่ายฟ้าบ้าง สามฝ่ายฟ้าบ้าง เว้นแต่เหล่าเมืองที่อยู่ใกล้เมืองหลวงพระบางก็ส่งส่วยแต่ที่นั่น
สมัยที่ลาวยังเป็นปึกแผ่น พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตตั้งท้าวพระยาออกไปปกครองเมืองเหล่านี้ เรียกว่าเมืองหัวพันห้าทั้งหก ต่อมากศรีสัตนาคนหุตเกิดแยกกันเป็นสองราชอาณาเขต เจ้านครหลวงพระบางเป็นใหญ่ทางฝ่ายเหนือ เจ้านครเวียงจันทน์เป็นใหญ่ทางฝ่ายใต้ เป็นอิสระต่อกันและไม่เป็นเมืองขึ้นของชาติใด เมืองสิบสองจุไทอยู่ใกล้ทางเมืองหลวงพระบาง ก็ขึ้นต่อเจ้านครหลวงพระบาง ส่วนเมืองพวนอยู่ใกล้ทางเมืองเวียงจันทน์ ก็ขึ้นต่อเจ้านครเวียงจันทน์สืบมา สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯทรงยกทัพสยามไปตีเวียงจันทน์และหลวงพระบางมาเป็นประเทศราช จนถึงรัชกาลที่๓ เจ้าอนุวงศ์ซึ่งครองเมืองเวียงจันทน์คิดจะเป็นอิสระจากไทย จึงเอาเมืองพวนกับเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกไปแลกกับความสนับสนุนของญวน ญวนจึงแต่งข้าหลวงเข้าไปอยู่กำกับ เมื่อไทยยกกองทัพขึ้นไปปราบเวียงจันทน์จนราบคาบแล้ว พระบาทสมเด็จฯพระนั่งเกล้าฯโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์ สิงห์เสนี ) ยกกองทัพขึ้นไปหัวพันห้าทั้งหก พวกข้าหลวงญวนก็ชิงหนีไปก่อน ครั้งนั้นทรงขัดเคืองมาก โปรดฯให้เผาเมือง คือให้เลิกเมืองเวียงจันทน์เสียเลย แล้วกวาดต้อนครัวลาวมาอยู่ที่สระบุรี เหลือไว้เป็นแค่ชุมชนเล็กๆ แล้วเอาหัวเมืองตามริมลำน้ำโขงที่ขึ้นเมืองเวียงจันทน์มาขึ้นต่อกรุงเทพฯ ส่วนเมืองพวนนั้น พระราชทานให้เป็นเมืองขึ้นเมืองหลวงพระบาง
คนลาวจึงเกลียดไทย เหมือนที่คนไทยเกลียดพม่าแต่บัดนั้น แต่สุดท้ายเมืองหลวงพระบางก็ไม่มีกำลังพอที่จะรักษา ครั้นสิ้นศึกกองทัพสยามยกกลับแล้ว ญวนก็เข้ามาข่มขู่เจ้าเมืองพวนไปเป็นสองฝ่ายฟ้าอีก กลายเป็นหนามยอกอก เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ไทยต้องรบกับญวนต่อมาอีกหลายสิบปี และมากลัดหนองสุดๆเอาในรัชกาลที่๕
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯรัชกาลที่๔ ฝรั่งเศสเริ่มขยายอำนาจแข่งกับอังกฤษที่สามารถยึดพม่าไปได้ก่อนหน้านั้นแล้ว โดยสนใจดินแดนในแถบลุ่มแม่น้ำโขงเพื่อหาทางเข้ายึดครองดินแดนตอนใต้ของจีนด้านตังเกี๋ย ฝรั่งเศสหาเรื่องทำสงครามกับญวนใต้หรือแคว้นโคชินจีนก่อน พอชนะได้ไซ่ง่อนแล้วก็รุกคืบเข้ามาสู่ดินแดนเขมรส่วนนอกซึ่งเป็นประเทศราชของสยาม โดยสมเด็จนโรดมเจ้ากรุงพนมเปญเห็นว่าเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งน่าจะดีกว่าเป็นเมืองขึ้นของไทย อย่างน้อยคุยกับเจ้านายฝรั่งก็นั่งเก้าอี้เสมอกันไม่ต้องหมอบคลาน จึงได้เอาใจออกห่างไปเข้ากับฝรั่งเศส ไทยไม่รู้จะทำอย่างไรต้องยอมให้เขมรส่วนนอกที่เรียกว่าเขมรแท้ไป จากนั้นฝรั่งเศสจึงได้ขยายดินแดนขึ้นเหนือจนกระทั่งสามารถยึดญวนได้ทั้งประเทศ พรมแดนของสยามทางด้านลาวประเทศราชจึงมีปัญหากับดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มาถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ในประเทศจีนได้เกิดเหตุการณ์กบฏไท่ผิงต่อต้านราชวงศ์ชิงพวกกบฏได้แตกพ่ายมาซ่องสุมผู้คนอยู่ในแถบมณฑลยูนนาน เลยถูกเรียกว่าฮ่อและเข้ามาทำการปล้นสะดมราษฏรในดินแดนสิบสองจุไท และตามแนวชายแดนเวียตนาม เป็นปัญหาให้ทั้งฝ่ายไทยและฝรั่งเศสอย่างยิ่ง ส่งกำลังไปปราบปรามหลายครั้งก็ไม่สงบราบคาบ เพราะภูมิประเทศเป็นป่าเขาดงดิบทั้งนั้น ฮ่อหลบซ่อนตัวได้ง่าย ส่วนราชอาณาจักรหลวงพระบางเจ้าของเมืองขึ้นโดยตรงนั้น ทางกรุงเทพถึงกับต้องปลดพระเจ้ามหินทรเทพนิภาธร เจ้าผู้ครองนครหลวงพระบางออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่สามารถรักษาเมืองและปล่อยให้กองทัพฮ่อเข้าปล้นสะดมหลายครั้ง และถึงกับเผาเมืองหลวงพระบางได้ โดยตั้งเจ้าคำสุกขึ้นเป็นพระเจ้าสักรินทรฤทธิ์ปกครองดินแดนแทน
สุดท้ายสยามตกลงร่วมกับฝรั่งเศสเพื่อทำสงครามปราบฮ่อ โดยทั้งสองฝ่ายไล่ตีกองกำลังจีนฮ่อจากอาณาเขตของแต่ละฝ่ายจนมาบรรจบกันที่เมืองแถง(เดียนเบียนฟูในปัจจุบัน) แต่ก็เกิดปัญหาใหม่ คือ ฝ่ายฝรั่งเศสฉวยโอกาสอ้างสิทธิปกครองเมืองแถงและสิบสองจุไทย โดยไม่ยอมถอนกำลังทหารออกจากเมืองแถง เพราะอ้างว่าเมืองนี้เคยส่งส่วยให้เวียดนามมาก่อน ปัญหาดังกล่าวนี้มีที่มาจากการเป็นเมืองสองฝ่ายฟ้า ของเมืองปลายแดนจะต้องส่งส่วยให้แก่รัฐใหญ่ทุกรัฐที่มีอิทธิพลของตนเองเพื่อความอยู่รอด
พระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) แม่ทัพฝ่ายไทย เห็นว่าถ้าตกลงกับฝรั่งเศสไม่ได้จะทำให้ปัญหาโจรฮ่อบานปลายแก้ยาก จึงตัดสินใจทำสัญญากับฝรั่งเศส ให้ฝ่ายไทยตั้งกำลังทหารที่เมืองพวน(เชียงขวาง) ฝรั่งเศสตั้งกำลังทหารที่สิบสองจุไทย ส่วนเมืองแถงเป็นเขตกลางให้มีทหารของทั้งสองฝ่ายดูแลจนกว่ารัฐบาลทั้งสองชาติจะเจรจาเรื่องปักปันเขตแดนได้ ผลจากสนธิสัญญานี้แม้จะทำให้ฝ่ายไทยร่วมมือปราบฮ่อกับฝรั่งเศสจนสำเร็จ และสามารถยุติความขัดแย้งเรื่องแคว้นสิบสองจุไทย เมืองพวน และหัวพันทั้งห้าทั้งหกยุติลงไปชั่วคราว แต่ก็ต้องเสียดินแดนสิบสองจุไทยโดยปริยายไปจากเหตุวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ซึ่งสยามจำต้องยอมสูญเสียอำนาจอธิปไตยเหนือลาว ให้เปลี่ยนไปเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส มองประวัติศาสตร์ต้องมองให้ไกลๆ เหตุที่เกิดทุกเหตุจะมีผลตามมา และไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้ถาวร ฝรั่งเศสได้อินโดจีนไปเป็นเมืองขึ้นได้ไม่กี่ทศวรรษ กองทัพฝรั่งเศสก็ถูกกองทัพเจ้าของประเทศเขาขับไล่ โดยที่มั่นสุดท้ายของกองทัพที่ดีที่สุดของฝรั่งเศสที่เบียนเดียนฟู หรือเมืองแถงที่แย่งกันกับไทยนี้แหละ ถูกญวนแดงขนกองทัพปืนใหญ่ขึ้นไปตั้งบนภูเขาและยิงถล่มลงมาจนเละเทะไปหลายกองพัน ตายเป็นเบือ ที่รอดตายถูกจับเป็นเชลย ถูกไสหัวพ้นประเทศของเขาไปอย่างน่าอับอาย
หลังจากนั้นไม่กี่สิบปี ทหารไทยก็ถูกส่งไปปฏิบัติการในลาวอีกครั้งหนึ่ง แม้จะไปแบบเป็นความลับแต่ก็รู้กันว่าไปหลายกองพัน เพื่อสู้รบกับลาวแดง แบบเดียวกับที่รบกับฮ่อนี้แหละ จะแพ้หรือชนะคุณๆต้องไปหาอ่านกันเองแล้ว
ผมจบกระทู้ได้แล้วมั้ง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
bunnaroth
อสุรผัด

ตอบ: 26
|
ความคิดเห็นที่ 88 เมื่อ 23 ก.พ. 13, 13:34
|
|
ในนามเจ้าของกระทู้ - - ขอบพระคุณอาจารย์และทุกท่านที่ร่วมวงครับ จากนี้ไปจะพยายามเข้ามาเปิดหูเปิดตาบ่อยๆ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|
|