เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 21873 ทัพสยามแพ้ฮ่อ แต่บันทึกว่าชนะ ?
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 20:03

กลับมาบ้านเย็นเจอการบ้านหินของอาจารย์ NAVARAT.C ใช้เวลาง่วนควันโขมงอยู่เกือบชั่วโมงจึงขอนำมารายงานครับ

1.แมคคาร์ธีไปหลวงพระบาง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือร่วมในเหตุการณ์รบที่พระยาราชฯถูกกระสุน เป็นทัพของพระยาศุโขทัย พระยาพิชัยยกไป เกิดการสู้รบสำคัญเมื่อประมาณมกราคม-กุมภาพันธ์ 1885 (2428) เหตุเกิดที่แถวทุ่งเชียงคำ แมคคาร์ธีบันทึกว่ามีวัดถูกปล้นในครั้งนั้นด้วย ต่อมาเมื่อกรุงเทพฯได้รับใบบอก รัชกาลที่ 5 ทรงพิโรธสั่งให้ขื่อคาพระยาศุโขทัย-พระยาราชฯ และเลิกทัพเข้ามาต่อมายกเลิกการจำให้ยกกองกลับ

2. ปลายปี 1885 นี้เองที่ทัพกรมหมื่นประจักษ์ฯ และจมื่นไวยฯ (เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี) ยกไปถือเป็นศึกฮ่อครั้งที่ 3 หลักฐานว่ายกไปปลายปี (ตุลา1885-2428) ใช้เวลา 3 เดือน เอาเป็นว่าการรบจริงเกิดในปี 1886 (2429) เกือบทั้งปี ฮ่อธงดำยอมจำนนน กรกฏาคม 1886(2429) และมีศึกย่อยๆ อื่นๆ ละแวกเมืองต่างๆ นอกหลวงพระบางตามหลักฐานก่อนหน้า

3. คำถามที่ผมคาใจมากๆ คือ เหตุการณ์ฮ่อธงดำเกิดขึ้นตอนไหนกันแน่ เพราะการเขียนบันทึกของแมคคาร์ธี เขาเขียนเล่าเรื่องไปพบเจ้าพระยาสุรศักดิ์แล้วก็เล่าเหตุการณ์ต่างๆ เช่นเจอปาวี ฯลฯ แล้วบอกว่าตัวเองป่วยในเดือนธันวาคมและกลับกรุงเทพมกราคม ด้วยวิธีการเขียนเป็นลำดับต่อเนื่องกันมา หากยึดว่าเขาลำดับเหตุการณ์ตามลำดับก็แสดงว่า เขาป่วยและกลับกรุงเทพหลังจากพบเห็นการศึกของทัพจมื่นไวย+กรมหมื่นประจักษ์แล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องป่วย ธันวาคม 2429 และกลับมกราคม 2429(ยุคนั้นแต่เป็น 1887 ของฝรั่ง)

4. ข้อมูลที่นายฮ่อธงดำ ที่อาจารย์  NAVARAT.C  กรุณาค้นมาให้ บอกว่า "ปี 1887 พอทหารไทยถอนทัพไปแล้วก็เข้าปล้น"

"ĐèoVăn Tri ได้บวชเรียนเป็นพระภิกษุที่วัดเชียงทองที่หลวงพระบาง ในปี 1887 ในช่วงสงครามปราบฮ่อครั้งที่๑ พี่ชายของเขาถูกจับเข้าคุกโดยข้าราชการสยาม  พอทหารไทยถอนทัพไปแล้ว ĐèoVănตรี ได้นำทหารชาวไทร่วมกับจีนฮ่อธงดำเข้าโจมตีหลวงพระบาง นายปาวีกงสุลฝรั่งเศสในหลวงพระบางขณะนั้น ช่วยป้องกันมิให้เจ้าอุ่นคำที่กำลังป่วยอยู่ถูกจับตัว(อาจจะโดยซ่อนไว้ในสถานกงสุล ไม่ใช่นำทหารฝรั่งเศสเข้าสู้รบปกป้อง เพราะปาวีไม่มีกำลังทหาร-navarat.c) และทั้งคู่ก็สามารถหลบหนีไปลี้ภัยในสยามได้ ตรงนี้ในชีวประวัติของนายปาวีกล่าวว่า เจ้าอุ่นคำรู้สึกเป็นหนี้ชีวิตตนมาก ถึงกับบอกว่าจะขอนำลาวมาเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสแทนสยามให้ได้  ส่วนเหตุการณ์ทางหลวงพระบาง ĐèoVăn Tri จับตัวเจ้าสุวรรณพรหมาอุปราชได้และสำเร็จโทษเสียเมื่อ 8 มิถุนายน 1887

5.ถ้าเป็นตามนี้ผมพลาด/สับสน ที่เข้าใจว่าฮ่อปล้นเมืองหลวงพระบาง ก่อนที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์จะประกาศชัยและเข้าเมือง แต่อย่างไรก็ตามก็แสดงเช่นกันว่า เหตุการณ์ปล้นที่แมคคาร์ธีเขียนบันทึก(ตามกระทู้)ก็ไม่ได้เกิดในช่วงการศึกรอบ 2 (พระยาราชฯพระยาศุโขทัย) เช่นกัน

โดยสรุป(หากเป็นไปตามนี้) แสดงว่าฮ่อตลบหลัง พอเราประกาศชัยยกทัพกลับ พวกก็เล่นมาปล้นตามหลังเลย / ไม่ทราบ Time Line ของผมตรงกับของอาจารย์หรือเปล่าครับ

ป.ล. การระบุปี 1885-86-87 แบบฝรั่งเหมือนจะง่ายกว่ากันเยอะเลยครับ เพราะเฉพาะปี 2428 ที่เหลื่อมกันอยู่ระหว่างทัพที่ 2 ที่แตกลงกรุง กับ ทัพที่ 3 พระยาสุรศักดิ์ใกล้กันนิดเดียว แถมข้ามมาถึง 3-4 เดือนแรกของ 1886 อีก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 07:14

สงครามปราบฮ่อ แบ่งเป็นครั้งที่๑ ๒ และ๓ เมื่อใดนี้ ดูจะไม่เหมือนของคุณbunnaroth แต่ของผมก็ว่าตามต้นฉบับที่ผมลอกมานำเสนอ(โดยใช้อักษรสีน้ำเงิน ส่วนที่เป็นความเรียงของผมจะเป็นสีดำ) ซึ่งผมได้ทำระโยงไว้ให้เข้าไปอ่านฉบับเต็มไว้แล้ว

หลวงพระบางถูกปล้นทุกครั้ง ก่อนที่ไทยจะนำทัพขึ้นไปปราบ พอทหารขึ้นไปทีก็สงบที เพราะส่วนใหญ่จะหลบหนีไปไม่ยอมปะทะ จะตามไปตีให้ราบคาบก็ยากที่จะปฏิบัติ มีพระบรมราชโองการกำกับทัพไว้ด้วยว่าถ้าฮ่อหนีข้ามไปเขตของประเทศอื่นก็มิให้ตามเข้าไปตี ดังนั้น พอทหารไทยยกทัพกลับ ฮ่อก็ออกมาอีก แม้จริงๆแล้วบางครั้งไม่ใช่ฮ่อแท้ๆ แต่เป็นชนชาติที่ลาวหลวงพระบางถือเป็นเมืองออกของตน

พวกฮ่อ คือพวกจีนกบฎที่มาจากยูนนาน มีฮ่อธงแดง ฮ่อธงลายแถบ และฮ่อธงดำ นานไปพวกนี้ก็ผสมกับชาวพื้นเมือง เป็นพวกสวามิภักดิ์กลายเป็นพลเมืองไปก็แยะ แต่ที่ยังถืออาวุธอยู่ ได้ทีก็เข้าปล้น ยังมีมากพอที่ปัญหาไม่ดับลงได้

เชิญอ่านต่อสงครามปราบฮ่อครั้งที่๓ก่อนที่ผมจะสรุปอีกทีหนึ่ง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 07:28

วันอาทิตย์หนึ่งของเดือน ๘ พ.ศ.๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระภาณุพันธุวงศ์วรเดช สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงเทววงศ์วโรปการ และ นายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทแล้วพระราชทานเรื่องราวที่ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท . . .

เมืองนครหลวงพระบาง พ.ศ.๒๔๓๐

ศุภอักษรของเจ้ามหินทรเทพนิภาธร เจ้านครหลวงพระบาง และใบบอกของหลวงพิศณุเทพข้าหลวง . . .

เจ้านครหลวงพระบางแต่งให้พระยาเชียงเหนือ พระยาหมื่นน่า และพระยานาใต้ คุมไพร่ท่านละ ๑๐๐ ไปรักษาเมืองงอย เมืองขวา และบ้านเพี้ยพันธุระโกไสย ในลำน้ำนัว ตามลำดับ พระยาเชียงเหนือ และพระยานาใต้ รายงานว่า ไปถึงเมืองงอยเมื่อ วันพฤหัสบดี แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ (ตรงกับ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๔๓๐) ให้คนถือหนังสือไปถึง พระยาเมืองขวา ริมน้ำอู เหนือปากน้ำนัว แต่เมื่อไปถึงบ้านหาดสาพบพวกฮ่อ และพวกไทยไลล่องเรือมา ๔ ลำ มีคนราว ๖๐ - ๗๐ เข้ามาทำร้ายไล่ฟันราษฎร ชาวบ้านแตกตื่นไปบ้าง ล่องเรือหนีมาตามลำน้ำอูบ้าง ชาวบ้านตามลำน้ำอู พอทราบข่าวก็ตกใจตื่นแตกลงมาถึงเมืองงอย ราษฎรในเมืองงอยก็แตกตื่นทั้งไพร่พลที่ไปรักษาเมืองก็ระส่ำระสายทิ้งพระยาเชียงเหนือ และพระยานาใต้ ไม่ฟังคำห้ามปราม

เจ้านครหลวงพระบาง และ หลวงพิศณุเทพ จัดให้พระยาเชียงใต้ และพระยาเมืองแพนคุมพล ๘๐ จากเมืองหลวงพระบาง เมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๗ (๒๗ พฤษภาคม ๒๔๓๐) และให้เจ้าอุปราชคุมพลอีก ๑๐๐ ยกตามไป ให้พระพิทักษ์บุรทิศร่วมไปด้วยเมื่อขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๗ (๓๑ พฤษภาคม) และให้เจ้าราชสัมพันธวงศ์ เจ้ากรมตำรวจ พระยาเหนือขึ้นไปกวาดผู้คนตามลำน้ำเซือง น้ำแซงอีกกองหนึ่ง ไปบรรจบกับเจ้าอุปราช

วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๗ (ตรงกับ วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๔๓๐) พระพิทักษ์บุรทิศส่งต้นหนังสือฮ่อถึงเจ้านครหลวงพระบาง ๒ ฉบับ ซึ่งเจ้าอุปราชให้คนแปลแล้วว่า ลูกท้าวไลซึ่งเจ้านายเอามาเลี้ยง ถ้ามีโทษสิ่งใดท้าวไลขอโทษเสีย อีกฉบับว่า ว่างม้านมาฟ้องเจ้านายภายหลังเจ้านายจับลูกท้าวไลมา ท้าวไลไม่รู้ (ท้าวไลเข้าใจว่าบุตรทั้งสามคนอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง)

วันรุ่งขึ้นได้รับหนังสือพระพิทักษ์บุรทิศความว่า ยกไปถึงบ้านปากอู พบพระยานาใต้ถือหนังสือพระยาเชียงเหนือ พระยาเชียงใต้ พระยาหมื่นน่า พระยาเมืองแพน ว่าพวกเมืองไล กับฮ่อประมาณ ๑,๐๐๐ เศษ ยกมาถึงบ้านสบวันใต้เมืองงอย พระยานาใต้ พระยาหมื่นน่า จะสู้รบ แต่ไพร่พลระส่ำระสาย จึงส่งคนไปเจรจากับคำฮุมบุตรท้าวไลที่คุมคนมานั้นว่า ถ้ามาดีให้พักอยู่ที่บ้านสบวันนั้น แต่คำฮุมไม่ยอม (หมายความว่ามาไม่ดี) พระยานาใต้เห็นเหลือกำลังที่จะต้านทาน ไพร่พลเมืองหลวงพระบางของหลวงพิศณุเทพก็แตกตื่น จึงมีหนังสือถึงเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าเมืองน่าน และ เจ้านครหลวงพระบางก็มีไปอีกฉบับหนึ่ง ขอกำลังมาช่วย ๑,๐๐๐ คน

วันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ (ตรงกับ วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๔๓๐) พวกเมืองไลพวกฮ่อมีหนังสือถึงเมืองหลวงพระบางความว่า จัดเงินหมื่น ๑ คำพัน ๑ ม้า ๔๐ ม้าลงมาถวายเจ้านครหลวงพระบางอย่าสงสัยว่าจะมาสู้รบ และในค่ำวันนั้นราษฎรในเมืองนครหลวงพระบางที่ตกใจต่างขนของข้ามลำน้ำคานมาเมืองหลวงพระบาง และในวันรุ่งขึ้น ก็โจษกันว่าเจ้าอุปราชแตกฮ่อมา (ความจริงเจ้าอุปราชถอนกลับมาโดยไม่ได้แตก)

มองซิเออร์ปาวีพูดกับหลวงพิศณุเทพว่าอยู่ในเมืองไม่ได้เพราะราษฎรไม่คิดสู้ จึงชวนกันข้ามแม่น้ำโขงมาทางฝั่งตะวันตก (ฝั่งขวา) จะล่องเรือไปหาคนมารักษาเมือง แต่เจ้านครหลวงพระบางให้คนมาตามกลับไปนครเมืองหลวงพระบาง และในค่ำวันนี้คำฮุมและพวกฮ่อยกมาตั้งที่บ้านปากอู
หลวงพิศณุเทพกับเจ้าราชสัมพันธวงศ์รวบรวมคนได้ ๑๕๐ คำฮุมให้คนมาหาพระสงฆ์ ๆ พาไปหาเสนาบดี แจ้งว่ามาดีไม่คิดทำอันตรายแก่เจ้านายแต่อย่างใด จะมาขอบุตรท้าวไล และจะขอเข้ามาในเมืองวันพรุ่งนี้

วันจันทร์แรม ๑ ค่ำ เดือน ๗ (๖ มิถุนายน ๒๔๓๐) พวกฮ่อล่องเรือมาขึ้นที่ท่าวัดแสน วัดเชียงทอง ริมเมืองนครหลวงพระบาง ขอเข้าเฝ้าเจ้านครหลวงพระบาง ๆ ไม่ให้เฝ้า
วันพุธ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๗ (๘ มิถุนายน ๒๔๓๐) ประมาณ ๕ โมงเศษ พวกฮ่อพากันถืออาวุธเข้าไปที่คุ้มเจ้านครหลวงพระบาง ขณะนั้นฮ่อที่อยู่ในคุ้มและนอกคุ้มก็เป่าเขาควายและยิงปืนขึ้นพร้อมกัน พวกลาวหลวงพระบางและพวกต่องสู่กับเงี้ยวที่เป็นพ่อค้าก็ได้ยิงต่อสู้พวกฮ่อ ปรากฏว่าตายไปฝ่ายละประมาณ ๒๐ คนเศษ เจ้านครหลวงพระบางต้องล่องเรือลงมาพักที่เมืองน่าน คืนหนึ่ง แล้วล่องต่อไปอีก ๒ คืน

วันเสาร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๗ ถึงบ้านปากลาย ซึ่งบุตรภรรยาเจ้านครหลวงพระบางและครอบครัวเจ้านายท้าวพระยาราษฎรมาพักอยู่ก่อนแล้ว หลวงพิศณุเทพและ มองซิเออร์ปาวีก็อยู่ด้วย แต่ไม่ปรากฏเจ้าอุปราช เจ้านครหลวงพระบางจึงแต่งคนไปสืบความที่เมืองหลวงพระบาง

เมื่อพระราชทานเรื่องราวที่ได้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท แล้วได้มีกระแสพระราชดำรัสแก่นายพลตรี พระยาสุรศักดิ์มนตรี ว่า "เจ้าต้องเป็นแม่ทัพขึ้นไปปราบฮ่ออีกครั้ง ๑ ส่วนการเสบียงอาหารนั้น ข้าจะให้กรมหมื่นสรรพประสิทธิประสงค์ยกขึ้นไปเป็นกองเสบียงจัดการกำลังพาหนะอยู่ ณ เมืองพิชัย เตรียมไว้ส่งกองทัพเจ้า ส่วนตัวเจ้าต้องเตรียมตัวจัดกองทัพบกไปโดยเร็ว"
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 07:35

อ้างถึง
เหตุการณ์ข้างบน เป็นเหตุการณ์เดียวกันกับที่ฝรั่งเขียนไว้ ซึ่งผมแปลมาลงไปแล้ว แต่รายละเอียดไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะบทบาทของนายปาวี
แล้วเรื่องของฮ่อก็ต้องนิยามกันให้ดีๆ บางที่มันมีผสมด้วย อย่างเช่นที่เราบอกว่าฮ่อมาปล้นเมืองหลวงพระบางคราวที่คุณว่านี้ ความจริงตัวหัวหน้าใหญ่คือคนไทจากเมืองที่เป็นเมืองขึ้นของหลวงพระบาง เมื่อเห็นเมืองหลวงลาวอ่อนแอก็แก้แค้นซะ ฝรั่งเศสเรียกนายคนนี้เป็นชื่อญวน(เพื่อประโยชน์ของเขา)ว่าด๋าววันตรี(ĐèoVăn Tri) หรือในชื่อลาวว่าคำอุ้ม เป็นเจ้าชาวไทขาวเมืองไล ในสิบสองเจ้าไท หรือแคว้นสิบสองจุไทที่แปลว่าสหพันธรัฐไทสิบสองเมือง รูปข้างล่างคือเขาละ แต่ดูเหมือนอย่างกับคนจีน

ชีวิตเบื้องต้น ĐèoVăn Tri ได้บวชเรียนเป็นพระภิกษุที่วัดเชียงทองที่หลวงพระบาง ในปี 1887 ในช่วงสงครามปราบฮ่อครั้งที่๑ พี่ชายของเขาถูกจับเข้าคุกโดยข้าราชการสยาม  พอทหารไทยถอนทัพไปแล้ว ĐèoVănตรี ได้นำทหารชาวไทร่วมกับจีนฮ่อธงดำเข้าโจมตีหลวงพระบาง นายปาวีกงสุลฝรั่งเศสในหลวงพระบางขณะนั้น ช่วยป้องกันมิให้เจ้าอุ่นคำที่กำลังป่วยอยู่ถูกจับตัว(อาจจะโดยซ่อนไว้ในสถานกงสุล ไม่ใช่นำทหารฝรั่งเศสเข้าสู้รบปกป้อง เพราะปาวีไม่มีกำลังทหาร-navarat.c) และทั้งคู่ก็สามารถหลบหนีไปลี้ภัยในสยามได้ ตรงนี้ในชีวประวัติของนายปาวีกล่าวว่า เจ้าอุ่นคำรู้สึกเป็นหนี้ชีวิตตนมาก ถึงกับบอกว่าจะขอนำลาวมาเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสแทนสยามให้ได้  ส่วนเหตุการณ์ทางหลวงพระบาง ĐèoVăn Tri จับตัวเจ้าสุวรรณพรหมาอุปราชได้และสำเร็จโทษเสียเมื่อ 8 มิถุนายน 1887

ในปี 1890 นายปาวีได้รับ ĐèoVăn Tri เป็นพันธมิตรของฝรั่งเศส และให้การรับรองฐานะว่าเขาเป็นผู้นำของแคว้นสิบสองเจ้าไท เพราะต้องการผนวกแคว้นนี้กับอินโดจีนฝรั่งเศสในที่สุด

มองซิเออร์ ปาวีกล่าวว่า เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๓๐ พวกฮ่อได้บุกเข้าทำลายเมืองหลวงพระบางหลังจากที่กองทัพเจ้าหมื่นไวยวรนารถออกจากเมืองหลวงพระบางกลับกรุงเทพฯแล้วไม่กี่วัน ซึ่งมองซิเออร์ ปาวี อ้างว่าได้ช่วยเจ้าเมืองนครหลวงพระบางไว้ จนถึงกับกล่าวว่า
". . . ข้าพเจ้า ได้มอบความไว้วางใจทั้งหมดให้แก่ผู้ตรวจการสยาม แต่เขาก็มาทิ้งข้าพเจ้าไปอย่างรวดเร็ว และยังห้ามไม่ให้ข้าพเจ้ารับความคิดเห็น และความช่วยเหลือจากท่าน มาวันนี้ข้าพเจ้ารู้สึกเสียใจมาก เพราะข้าพเจ้าอยู่ที่นี่คนเดียว ข้าพเจ้าขอร้องกรุณาอย่าทิ้งข้าพเจ้าไป . . ."
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 07:44

ฝ่ายไทยจัดทัพได้อย่างเร็วที่สุดเพื่อไปช่วย

๒๘ มิถุนายน ๒๔๓๐ เจ้าเมืองไลเข้ายึดเมืองนครหลวงพระบาง

วันพฤหัสบดี เดือน ๘ แรม ๙ ค่ำ (๑๔ กรกฎาคม ๒๔๓๐) นายร้อยเอก หลวงดัษกรปลาศ และทหารนายไพร่กองหน้าได้กราบถวายบังคมลายกขึ้นไปเมืองนครหลวงพระบาง ทางเมืองพิชัย
วันศุกร์ เดือน ๘ แรม ๑๐ ค่ำ (๑๕ กรกฎาคม ๒๔๓๐) กรมมหาดไทยได้นำใบบอกหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นกราบบังคมทูลให้ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ได้เตรียมกำลังไพร่พลที่จะยกไปช่วยเมืองนครหลวงพระบางเป็นการพร้อมเสร็จแล้ว

วันจันทร์ เดือน ๘ แรม ๑๓ ค่ำ (๑๘ กรกฎาคม ๒๔๓๐) พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสรรพประสิทธิประสงค์กราบถวายบังคมลาขึ้นไปตรวจการเสบียงอาหาร พาหนะในการที่จะส่งกองทัพ ณ เมืองพิชัย
วันศุกร์ เดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ (๒๒ กรกฎาคม ๒๔๓๐) พระยาศรีสิงหเทพนำพระยานนทบุรีศรีเกษตราราม (ทัด สิงหเสนี) ข้าหลวงที่ ๑ กราบถวายบังคมลาขึ้นไปเป็นข้าหลวงเมืองนครหลวงพระบางราชธานี

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 07:48

พวกฮ่อเผา เมืองนครหลวงพระบางราชธานี

พวกฮ่อเก็บเอาทรัพย์สิ่งของของเจ้านายท้าวพระยาได้แล้ว เผาคุ้มเจ้านครหลวงพระบาง บ้านเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าสัมพันธวงศ์ และบ้านท้าวพระยาลาวยกหนีไปจากเมืองหลวงพระบาง แต่วันเสาร์ เดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ พระศรีเทพบาลเมืองพิชัยกับพระศรีอรรดฮาดเมืองเชียงคานขึ้นไป เมืองนครหลวงพระบางตรวจดูเห็นว่าบ้านเรือนถูกเผาเป็นจำนวนมาก แต่เป็นฝีมือฮ่อเพียงคุ้มเจ้านาย ๒ - ๓ แห่งเท่านั้น นอกนั้นเป็นฝีมือผู้ร้ายชาวเมืองหลวงพระบางเอง และเมืองแก่นท้าวบ้าง เมื่อพระศรีเทพบาล กับพระศรีอรรดฮาด ไปถึงและจัดพลตระเวนเหตุการณ์จึงสงบเรียบร้อย และยังสืบได้ความว่าพวกฮ่อถอนไปตั้งที่ ปากบากกองหนึ่ง ในลำน้ำบากกองหนึ่ง เมืองงอยอีกกองหนึ่ง และมีแผนจะยกไปตีเมืองไสซึ่งเป็นเมืองขึ้น และเมืองแข็งแรงของเมืองหลวงพระบาง พระยาสุโขทัยก็มีหนังสือไปเมืองน่านให้รีบส่งกองทัพไปช่วยเมืองไส

เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครเมืองน่านมีหนังสือถึงเจ้าเมืองนครหลวงพระบางราชธานีว่า ได้ส่งเจ้านายไพร่พลและเสบียงอาหารมาช่วย เมืองนครหลวงพระบางและที่เมืองปากลายด้วยแล้ว

เดือน ๘ ขึ้น ๘ ค่ำ (๒๘ มิถุนายน ๒๔๓๐) เจ้านครเมืองน่านได้จัด เจ้าน้อยมหาพรหม หนานมหาเทพ หนานมหาไชย คุมไพร่พล ๑๐๐ ยกไปช่วยราชการ เมืองนครหลวงพระบาง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 07:51

เจ้าเมืองนครหลวงพระบางราชธานีเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

เจ้ามหินทรเทพนิภาธร เจ้านครหลวงพระบาง กับเจ้าลาวบุตรหลานชายหญิง ๒๗ คน ลงมาจากเมืองพิชัยถึงกรุงเทพฯ เมื่อ วันจันทร์ เดือน ๑๑ แรม ๑ ค่ำ (๓ ตุลาคม ๒๔๓๐)

ครั้นวันศุกร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๕ ค่ำ (๒๑ ตุลาคม ๒๔๓๐) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับบนพระที่นั่งพุดตาลทองคำภายใต้พระมหาเศวตฉัตรในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เจ้ามหินทรเทพนิภาธร เจ้าศรีสุพรรณ์ว่าที่ราชบุตร เจ้านายบุตรหลานชาย ๑๓ หญิง ๑๒ รวม ๒๗ ไพร่ชายหญิง ๕๐ รวม ๗๗ เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท แล้วมีพระราชดำรัสปฏิสัณฐาน มีเนื้อความดังต่อไปนี้

๑. "เจ้านครหลวงพระบางลงมาอยู่กรุงเทพฯ ไม่เจ็บไข้อันใดฤๅ"
"ขอเดชะ พระบารมีปกเกล้าฯ เจ้านครหลวงพระบางและบุตรหลานมีความสุขสบาย"

๒. "เรามีความสงสารที่เสียเมืองนี้ ต้องเสียทรัพย์สมบัติ และพลัดพรากจากถิ่นฐานบ้านเรือน การที่เสียเมืองหลวงพระบางตรั้งนี้ ก็เป็นการเสียเกียรติยศกรุงเทพฯ ด้วยเหมือนกัน แต่เจ้านครหลวงพระบางได้อุตสาหรักษาเมืองนครหลวงพระบางอยู่จนถึงเวลาอับจนนั้น ก็เป็นความชอบอยู่แล้ว อย่ามีความกลัวว่าจะมีความผิดเลย"
"ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่เจ้านครหลวงพระบางทั้งนี้พระเดชพระคุณเป็นล้นเกล้าฯ การที่ต้องเสียเมืองครั้งนี้ ขอพระบารมีเป็นที่พึ่งสืบไป"

๓. "การเมืองหลวงพระบางคงจะขึ้นไปจัดให้เรียบร้อย ตัวเจ้านครหลวงพระบางก็จะให้ขึ้นไปด้วยกับกองทัพใหญ่ แต่การรักษาบ้านเมืองแต่ก่อนมาเป็นการหละหลวมไม่เป็นหลักฐาน ต้องให้เจ้านครหลวงพระบางคิดปรึกษาหารือกับแม่ทัพ และข้าหลวงจัดการรักษาบ้านเมืองจะได้ไม่เป็นการลำบากเสียบ้านเมืองต่อไป"
"การที่ทรงพระกรุณาดังนี้ เจ้านครหลวงพระบางจะคิดคิดปรึกษาหารือกับแม่ทัพและข้าหลวงรักษาราชการ ฉลองพระเดชพระคุณเต็มสติกำลัง"
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:00

ในการยกกองทัพขึ้นไปปราบฮ่อและจัดราชการครั้งนี้ ฝ่ายฝรั่งเศสก็จัดทหารขึ้นไปสำรวจพระราชอาณาเขต ณ เมืองหลวงพระบางด้วย

รัฐบาลฝรั่งเศสและรัฐบาลสยามได้ตกลงกันว่า กองทัพสยามจะยกขึ้นไปปราบฮ่อในพระราชอาณาเขตสยามครั้งนี้ รัฐบาลฝรั่งเศสก็จะยกกองทัพขึ้นไปปราบปรามทางเขตแดนของฝรั่งเศสด้วย ทั้งสองฝ่ายจัดพนักงานไปกับกองทัพข้างละ ๒ นาย เพื่อให้เป็นการสะดวกทั้งสองฝ่าย ข้าหลวงฝรั่งเศสที่ไปกับกองทัพไทยคือ กัปตันกือเป(Cupet) และเลฟเตแนนท์นิโคล็อง(Nicolon) ฝ่ายไทยที่ไปกับกองทัพฝรั่งเศส คือ พระไพรัชพากย์ภักดี และหลวงคำนวณคัคคนาน

วันพฤหัสบดี เดือนอ้าย ขึ้น ๒ ค่ำ ปีกุน นพศก ตรงกับวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๓๐ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกท้องพระโรงกลางบนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ประทับบนพระที่นั่งพุดตาลภายใต้พระมหาเศวตฉัตร พระยาศรีสิงหเทพนำแม่ทัพนายกองฝ่ายเหนือ และกองทำแผนที่กับข้าหลวงกำกับ กัปตันปิเต็มคูเป เลฟเตแนนท์นิคอลอง ฝรั่งเศส และเจ้านครหลวงพระบาง กราบถวายบังคมลากลับขึ้นไปเมืองนครหลวงพระบางราชธานี

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:08

วันอาทิตย์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ (๘ มกราคม ๒๔๓๐) ได้รับรายงานจากนายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศ แม่ทัพหน้าว่า ได้นำกองทัพถึงเมืองนครหลวงพระบางแล้ว พร้อมพระยานนทบุรีข้าหลวงที่ ๑ และหลวงพิศณุเทพข้าหลวงที่ ๒ ราชการสงบเป็นปรกติเรียบร้อยดีอยู่ และได้ส่งนายทหารและพลทหารพร้อมด้วยคำสาม บุตรท้าวไลขึ้นไปตรวจราชการทางด่านเมืองแถงและเมืองไลแล้ว และกองทัพกังวลเรื่องเสบียงอาหาร

วันจันทร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือน ๓ (๒๓ มกราคม ๒๔๓๐) มองซิเออร์ ปาวี คอมมิสชันเนอร์ได้ไปถึงเมืองนครหลวงพระบางแล้ว แจ้งแก่พระยานนทบุรีข้าหลวงว่าได้รับแจ้งจากราชฑูตและกงซุลฝรั่งเศส ณ กรุงเทพฯว่า กองทัพฝรั่งเศสจะยกจากเมืองลาวกายมายังเมืองไล ในวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (๒ ตุลาคม ๒๔๓๐) หากไม่พบกองทัพไทยและมองซิเออร์ ปาวี อาจจะยกล่วงเข้ามาในพระราชอาณาเขต และว่าถ้ากองทัพไทยยังมาไม่ถึงเมืองนครหลวงพระบางในเดือนยี่นี้ มองซิเออร์ ปาวีจะขอขึ้นไปก่อน เพื่อพบกับกองทัพฝรั่งเศสโดยเร็ว

พระยานนทบุรีข้าหลวงมีหนังสือเจ้าราชภาคิไนย ที่เมืองงอย ท้าวไล คำฮุม คำสา คำกุ้ย ที่เมืองไล กับถึงพระไพรัชพากย์ภักดีที่ไปกับกองทัพฝรั่งเศส รวมใจความว่า
ที่กรุงเทพฯได้ปรึกษาตกลงพร้อมกันว่า กองทัพฝ่ายไทยและฝ่ายฝรั่งเศสจะยกไปตรวจเขตแดนทั้งสองฝ่าย ฝ่ายฝรั่งเศสจะยกขึ้นไปทางเขตแดนญวน ฝ่ายไทยจะยกขึ้นไปทางเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองสิบสองจุไทย เพื่อระงับปราบปรามโจรผู้ร้ายให้เรียบร้อย กองทัพกรุงเทพฯ จะรีบยกไปในเร็วๆ นี้ แต่กองทัพฝรั่งเศสนั้นจะยกออกจากเมืองลาวกายมาเมืองไล

มองซิเออร์ ปาวี ออกเรือจากเมืองนครหลวงพระบางราชธานีเมื่อวันเสาร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ (๒๖ มกราคม ๒๔๓๐)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:18

วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๓ (๓๐ มกราคม ๒๔๓๐) ผู้ไปสืบข่าวที่เมืองแถงรายงานว่า ท้าวเมืองจันท้าวเมืองขวาพากองทัพฝรั่งเศส ไพร่พลประมาณ ๓,๐๐๐ มาตีเมืองไล พวกเมืองไลไปตั้งสู้ที่ปากน้ำตัน แต่สู้ไม่ได้จึงพาครอบครัวหนีไปเมืองเหมือน ส่วนที่เมืองไลมีคนรักษาอยู่ ๗๐๐ พวกเมืองไลที่ตั้งอยู่เมืองแถงจึงจะกลับไปเมืองไล มาเกณฑ์ข่าเพี้ยจันให้ไปส่งที่เมืองเหมือน และที่เมืองแถงยังมีคนเมืองไลอยู่ ๕ คน กับครัวเมืองแถงอีก ๑๐ ครัว

พระยานนทบุรี นายร้อยเอก หลวงดัสกรปลาศ เจ้าราชวงศ์ และเจ้าราชสัมพันธวงศ์ ได้ปรึกษากันแล้ว เป็นตกลงให้รอปรึกษาท่านแม่ทัพใหญ่ซึ่งจะมาถึงเมืองนครหลวงพระบางราชธานีในเดือน ๔ นี้

เจ้าราชภาคิไนย พระศรีอรรคฮาด พระยาเมืองแพน ซึ่งรักษาการที่เมืองงอยส่งข่าวไปเมืองนครหลวงพระบาง เมื่อวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๓ (๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๐) ว่ากองทัพฝรั่งเศส ท้าวเมืองจันท้าวเมืองขวากับพวกญวนยกเข้ามาตั้งที่เมืองแถง ประมาณ ๒,๐๐๐ เกณฑ์เสบียงอาหารจากพวกเย้า แม้ว ข่า ผู้ไทยไปเลี้ยงกองทัพ

พระยานนทบุรีเห็นว่า จะรอกองทัพใหญ่ยกมาถึงเมืองนครหลวงพระบางอาจเสียราชการและทางพระราชไมตรี จึงปรึกษานายร้อยเอกหลวงดัสกรปลาศนายทัพหน้าคุมรี้พล ๓๔๑ รีบยกไปเมืองแถง กำหนดยกขึ้นไปในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ (๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๐) และมีหนังสือแจ้งมองซิเออร์ ปาวีด้วยว่า ขอให้ชี้แจงแก่แม่ทัพฝรั่งเศสพักกองทัพอยู่นอกเมืองไลก่อนจึงจะสมควรทางพระราชไมตรี หรือยกมาถึงปลายเขตต่อแดนสยามคอยกองทัพกรุงเทพฯ ซึ่งกำหนดจะขึ้นมาตรวจพระราชอาณาเขตพร้อมกันเมืองนครหลวงพระบางกำหนดถึงในเดือน ๔ นี้ และนายร้อยเอกหลวงดัสกรปลาศกำหนดยกขึ้นไปเมืองแถงในวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ (๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๐)ก่อน

กำลังฝรั่งเศส ท้าวจันท้าวขวา ที่เมืองแถงมีประมาณ ๕๐๐ - ๖๐๐ เศษ พักอยู่ที่ค่ายเชียง ปักธงฝรั่งเศสขึ้นไว้ และตั้งที่เมืองไลกองหนึ่ง ส่วนกองทัพใหญ่ยังพักอยู่ที่เมืองจัน

วันพฤหัสบดีขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ (๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๐) นายร้อยเอก หลวงดัสกรปลาศยกกองขึ้นไปเมืองแถงตามกำหนด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:23

กองทัพใหญ่

กองทัพใหญ่ยกออกจากเมืองพิชัย เมื่อ วันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๓ (๑๙ มกราคม ๒๔๓๐) ถึงเมืองปากลายใน วันพุธ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๓ (๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๐)จัดให้พระพลัษฎานุรักษ์ ปลัดทัพ แบ่งกำลังล่วงหน้ายกไปเมืองนครหลวงพระบางก่อน พร้อมพนักงานเซอร์เวย์ (นายแมคคาร์ธี?) ออกจากปากลายใน วันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๔ (๑๙ กุมภาพันธ์) ส่วนกัปตัน กือเป และเลฟเตแนนท์ นิโคล็อง ออกจากปากลายใน วันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๔ (๒๕ กุมภาพันธ์)

วันเสาร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ (๒๖ กุมภาพันธ์) พระพลัษฎานุรักษ์ ปลัดทัพ ก็นำกำลังล่วงหน้าของกองทัพใหญ่ยกไปเมืองนครหลวงพระบาง
วันพฤหัสบดี แรม ๔ ค่ำ เดือน ๔ (๑ มีนาคม ๒๔๓๐) กองทัพใหญ่ยกจากบ้านปากลายทางเรือ ครั้นมาถึงบ้านท่าเลื่อน (ห่างเมืองนครหลวงพระบาง ประมาณ ๑ ชั่วโมง) ทราบว่า เมื่อพวกฮ่อเข้าเมืองนครหลวงพระบางนั้น ท้าวพระยาและราษฎรเมืองนครหลวงพระบางได้นำพระบางหนีข้าศึกมาซ่อนไว้ที่ถ้ำบ้านน้ำพูน ท่านแม่ทัพพิจารณาเห็นว่า พระบางเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง ประชาชนเลื่อมใสศรัทธามาก จึงได้รับอัญเชิญพระบางไปกับกองทัพด้วย เมื่อถึงเวลาสมควรจะได้จัดการฉลองให้ต่อไป ทวยราษฎรเมืองนครหลวงพระบางได้ทราบข่าวเรื่องพระบางพากันมาต้อนรับ และแห่แหนอย่างล้นหลาม
บันทึกการเข้า
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:29

เริ่มชิงไหวชิงพริบกันแล้ว....จากศึกฮ่อ กลายเป็นศึกที่ไม่ประกาศสยาม-ฝรั่งเศสไปซะ

กำลังตามอ่านครับ แต่อดรนทนใจไม่ได้มาแซมเสียหน่อยว่า ปาวี กับเจ้าฮ่อธงดำมันรู้กันรึเปล่า หลิ่วตาให้มาปล้นหลวงพระบาง ปาวีได้เอาบุญคุณกับเจ้าหลวงเพราะต่อมาก็ตั้งฮ่อธงดำ (นายเดื๋องอะไรนั่น) เป็นพวกฝรั่งเศสไป แล้วก็ได้โอกาสสยามให้ฝรั่งเศสเข้ามาร่วมปราบรีบชิงพื้นที่กินแดนซะ - ขัดคอเล็กน้อยเชิญอาจารย์จนจบเรื่องครับ เช้าวันเสาร์สบายหน่อยไม่เร่งรีบ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:32

แผนปกครองรักษาเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก

กัปตันเจริญ พระยาเชียงเหนือ พระยานาใต้ ยกออกจากเมืองนครหลวงพระบางในวันอาทิตย์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๔ (๔ มีนาคม ๒๔๓๐) เพื่อไปเมืองซ่อนแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก ถึงเมืองงอยในวันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๔ (๙ มีนาคม ๒๔๓๐) ได้ปรึกษากับเจ้าราชภาคิไนยเห็นควร จัดกำลังล่วงหน้าขึ้นไปก่อนเพื่อสืบสวนราชการ (หาข่าว) และเสบียงอาหารให้ชัดแจ้งก่อน จึงจัดให้ นายแช่ม สัปลุตเตอร์แนนท์(ร้อยตรี) นำทหาร ๓๑ คน(๑ หมวด) และพระยานาใต้ คุมคนอีก ๓๐ ยกไปเมืองซ่อนโดยเร็ว นายแช่ม สัปลุตเตอร์แนนท์กำหนดออกจากเมืองงอย วันพฤหัสบดี ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๕ (๑๕ มีนาคม ๒๔๓๐) และมีแผนปกครองรักษาเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก ว่าจะแยกกองทัพไปรักษาเมืองแวน เมืองสบแอด เมืองเชียงค้อ

รายงานนายชุ่ม สัปลุตเตอร์แนนท์

เมื่อมองซิเออร์ ปาวีกลับมาถึงเมืองแถงนั้น มีทหารฝรั่งเศสและทหารญวนมาส่งด้วยประมาณ ๑๗๐ คน นายชุ่ม สัปลุตเตอร์แนนท์ขึ้นไปเยี่ยม มองซิเออร์ ปาวีถามว่ามาอยู่ที่นี่ทำไม มีหนังสือของท่านแม่ทัพมาด้วยหรือไม่ นายชุ่ม สัปลุตเตอร์แนนท์ พาซื่อตอบว่าไม่มี มองซิเออร์ ปาวีจึงว่า ถ้าเช่นนั้นก็อยู่ไม่ได้พรุ่งนี้ให้กลับไปด้วยกัน นายชุ่ม สัปลุตเตอร์แนนท์พยายามทัดทาน และว่าต้องรายงานนายร้อยเอกหลวงดัสกรปลาศเสียก่อน แต่มองซิเออร์ ปาวีว่าไม่ต้องมีหนังสือไปบอก และบังคับให้นายชุ่มนำกองทหารกลับลงมาพร้อมกับตน นายชุ่ม สัปลุตเตอร์แนนท์จะพูดจาขัดขืนก็เกรงว่าจะมีความผิด และเกิดเป็นการใหญ่โตเสียทางพระราชไมตรี จึงยกออกจากค่ายเชียงแลพากันเดินทางต่อมา ส่วนทหารฝรั่งเศสและทหารญวนมาส่งมองซิเออร์ ปาวียังคงตั้งพักอยู่ที่ค่ายเชียงแล เมืองแถง

เมื่อมองซิเออร์ ปาวีออกจากเมืองนครหลวงพระบางไปเกือบจะถึงเมืองแถงนั้น ได้พบพวกฮ่อประมาณ ๕๐ คน จะเข้ามาทำอันตรายมองซิเออร์ ปาวี แต่ได้ทหารไทยที่ไปด้วยต่อสู้พวกฮ่อเป็นสามารถได้ช่วยชีวิต มองซิเออร์ ปาวีไว้ได้

ข้อความตรงนี้น่าจะเป็นเมื่อมองซิเออร์ ปาวีออกจากเมืองแถงไปเกือบจะถึงเมืองนครหลวงพระบางนั้น (navarat.c)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:35

นายชุ่ม สัปลุตเตอร์แนนท์ซึ่งเชื่อคำขู่กรรโชกของมองซิเออร์ ปาวี ไม่รอรับคำสั่งนายร้อยเอก หลวงดัสกรปลาศซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเสียก่อนนั้น ท่านแม่ทัพสั่งการให้นายร้อยเอก หลวงดัสกรปลาศออกคำสั่งถอดนายชุ่ม สัปลุตเตอร์แนนท์ออกจากยศนายทหารเป็นพลทหารต่อไป

ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งตราและเหรียญเมืองญวนรูปมังกรห้าเล็บในดวงตราและเหรียญมาให้แม่ทัพและนายทหารชั้นรองๆ และพลทหารที่ได้ไปส่งและช่วยชีวิตมองซิเออร์ ปาวี ท่านแม่ทัพได้ส่งตราและเหรียญทูลเกล้าฯ ถวายให้ทอดพระเนตร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงพอพระราชหฤทัย ทรงเห็นว่าฝรั่งเศสเหยียดไทยเสมอกับญวนซึ่งเป็นเมืองขึ้น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 23 ก.พ. 13, 08:38

นายร้อยเอก หลวงดัสกรปลาศเมื่อได้รับคำสั่งให้ถอนกำลังก่อนฝนตกหนักนั้น จึงออกคำสั่งเรียกนายทหารซึ่งไปประจำการอยู่นั้นให้ถอยกลับ และสั่งให้กัปตัน เจริญ ซึ่งไปรักษาราชการแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกให้รักษาอยู่ที่เมืองสบแอด เมืองเชียงค้อ ต่อไป และให้นายนิ่ม นอนกอมมิชชันกับทหาร ๔ คน ไปสืบข้อราชการ ณ เมืองแถง

วันเสาร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๕ (๓๑ มีนาคม ๒๔๓๐) นายร้อยเอก หลวงดัสกรปลาศได้นำกองทหารมาถึงเมืองนครหลวงพระบาง

มองซิเออร์ ปาวีและกัปตัน กือเปซึ่งกลับลงมาพักเมื่อ ณ เมืองนครหลวงพระบางแจ้งให้แม่ทัพทราบว่า จะขอกลับไปเมืองฮานอยก่อนฤดูฝน และแม่ทัพได้จัดให้นายร้อยเอก หลวงดัสกรปลาศเป็นหัวหน้าคุมไพร่พลเสบียงอาหารยานพาหนะตามสมควร กับสั่งให้ตรวจราชการและเซอรเวย์เขตแดนโดยละเอียดด้วย คณะได้ออกเดินทางเมื่อ วันศุกร์ แรม ๑๐ ค่ำ เดือน ๕ (๖ เมษายน ๒๔๓๑)
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.291 วินาที กับ 19 คำสั่ง