เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
อ่าน: 21868 ทัพสยามแพ้ฮ่อ แต่บันทึกว่าชนะ ?
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 08:11

วันพุธ เดือน ๑ ขึ้น ๖ ค่ำ ตรงกับ วันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๙ กองทัพใหญ่ได้ยกไปถึงทำเนียบเมืองแถง เมืองแถงเป็นเมืองงามมาก ด้วยมีเขาอยู่รอบ กลางเป็นท้องทุ่ง เมื่อกองทัพมาถึง พระยาเมืองซ้ายนำตัว คำสาม คำล่า บางเบียนมาหา แม่ทัพจึงสั่งจับทั้งสามคนและท้าวขุนอีกหลายคนที่เข้าด้วยไปขังไว้ และสั่งให้กองทัพทำลายค่าย และหอรบ เก็บอาวุธและกระสุนดินดำที่มีอยู่ในค่าย ยึดได้ ปืนชไนเดอร์ ๑๓ ปืนริมิงตัน ๑๒ ปืนวินเชสเตอร์ ๒ ปืนอินฟิน ๘๐ ปืนเฮนริ มาตินิ ๑ ปืนคาบศิลา ๑ ปืนสั้น ๒ กระสุนปืนต่างๆ ๒ หีบ ๑,๓๒๔ นัด ธงต่างๆ ๑๑ ธง ง้าว ๒ เล่ม ดาบ ๒ เล่ม พวกเมืองไล และจีนฮ่อต่างก็แตกแยกย้ายหนีไปสิ้น ท้าวขุนและราษฎรเข้าร้องทุกข์ต่อแม่ทัพว่า ท้าวไลและบุตรยกเข้ามากดขี่ไพร่บ้ายพลเมืองเป็นอย่างยิ่ง

แม่ทัพและนายทัพนายกองพร้อมด้วยเจ้านายเมืองหลวงพระบางได้ปรึกษากัน และพร้อมกันเห็นว่า สมควรเอาตัวบุตรท้าวไลทั้งสามคนไปกักไว้เป็นตัวจำนำ ส่วนตัวท้าวไลซึ่งตั้งอยู่ที่ลำน้ำแท้ หรือลำน้ำดำฝั่งตะวันออกของพระราชอาณาเขต หากต่อสู้ ก็ต้องระงับปราบปราม หากจะอ่อนน้อมโดยสุจริต ก็ให้อยู่ตามเดิม

อันเมืองไลนี้ เรียกกันว่า ไทยขาว หรือไทยไล แต่ใช้ขนบธรรมเนียมอย่างแบบจีน ขึ้นกับเมืองหนองแส และเมืองนครหลวงพระบาง จึงเรียกเมืองสองฝ่ายฟ้า
แม่ทัพจัดราชการเมืองแถง จัดให้รักษาด่านทางให้แข็งแรงยิ่งขึ้น แล้วตั้งให้พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์ (กายตง) กลับเป็นผู้รักษาเมืองแถงสืบไปอีก


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 08:27

ช่วงนี้มีกล่าวถึงนายแมคคาร์ธีอีกนิดหน่อย ผมยังไม่ได้ย้อนกลับไปอ่านว่าในบันทึกของเขาได้เขียนเหตุการณ์ตอนนี้เกี่ยวกับกองทัพว่าอย่างไร

ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มิสเตอร์ เจมส์ ฟิตซรอย แมคคาร์ธี (James Fitzroy McCarthy) ชาวอังกฤษ ซึ่งได้รับราชการและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระวิภาคภูวดล ทำแผนที่ชายแดนทางภาคเหนือ จนถึงสิบสองจุไท
 
วันเสาร์ เดือน ๑ แรม ๗ ค่ำ ปีจอ ตรงกับ วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๙ พระวิภาคภูวดล และคณะทำแผนที่ได้ไปถึงเมืองแถงโดยทางเรือ แม่ทัพจึงได้ชี้แจงข้อราชการแก่คณะ ซึ่งพระวิภาคภูวดลได้ชี้แจงแผนการปฏิบัติแก่แม่ทัพสรุปว่า คณะจะเซอรเวตั้งแต่เมืองแถง เดินตรวจตัดลัดทางไปถึงเมืองสบแอดซึ่งเป็นเขตแขวงของเมืองหัวพันทั้งห้า ทั้งหกตลอดไปต่อกับแขวงเมืองพวน และจะได้เดินตรวจต่อไปถึงเมืองเชียงขวาง กำหนดระยะทางที่จะเดินตั้งแต่เมืองแถงไปถึงเมืองเชียงขวางประมาณ ๒ เดือนเศษ ถ้ายังมีเวลาพอจะเซอรเวจนถึงเมืองจำปาศักดิ์ และแบ่งคณะเดินทางเรือตั้งแต่เมืองแถงจนถึงเมืองหนองคาย เมื่อบรรจบกันที่หนองคายแล้ว จะไปตรวจในฝ่ายหัวเมืองสิบสองจุไทยอีก เพราะเวลานี้กองทัพยังกำลังปราบปรามโจรผู้ร้ายอยู่ แม่ทัพจึงจัดพระยาเมืองซายเมืองหลวงพระบางเป็นผู้นำทาง พร้อมคนลูกมือหาบหาม ๑๐๓ คน และม้า ๖ ม้า กำหนดออกจากเมืองแถงในเดือน ๑ แรม ๑๒ ค่ำ (๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๙)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 08:32

สิบสองจุไทย

แม่ทัพทราบข่าวว่ามีจีนฮ่อพวกหนึ่งอยู่ที่เมืองม่วย เมืองลา (ระยะทาง ๑๒ วัน จากเมืองแถง) นายจีนฮ่อชื่อเล่าเต๊งเชง มีกำลังราว ๖๐๐ เป็นพวกฮ่อธงดำบ้างพวกอื่นๆ บ้าง ท้าวไลเคยจ้างให้ไปสู้กับเมืองจัน เมืองขึ้นของญวน แต่แตกกลับมาจึงมาตั่งที่เมืองม่วย เมืองลา แขวงเมืองสิบสองจุไทย

ครั้นวันจันทร์ เดือน ๓ ขึ้น ๑ ค่ำ ตรงกับ วันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๙ (ขึ้นปีใหม่ ๑ เมษายน) นายจีนฮ่อเล่าเต๊งเชง และพรรคพวกก็มาขอเข้าสวามิภักดิ์ต่อแม่ทัพที่เมืองแถง แม่ทัพจึงให้กระทำสัตย์สาบานตัวตามธรรมเนียมจีนฮ่อ แล้วจัดประชุมจัดการให้เรียบร้อยเป็นปรกติ โดยจัดให้ท้าวพระยาลาวในเมืองนครหลวงพระบางเกณฑ์กำลังไพร่พล ๒๐๐ พร้อมอาวุธ และกระสุนดินดำ ตั้งประจำกำกับรักษาการ ณ เมืองแถง

เมืองแถงนั้นตั้งอยู่ที่ ตำบลเชียงจันทร์ ซึ่งเป็นที่ดอนไกลลำน้ำยม ไม่เป็นทำเลที่จะรักษาเมืองได้มั่นคง แม่ทัพเห็นเมืองเดิมซึ่งเรียกว่าเชียงแล ตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำยม มีค่ายคูทำด้วยมูลดินสูงหกศอกเศษ มีต้นไผ่ปลูกทึบรอบเมืองยาวประมาณหกเส้นเศษ สี่เหลี่ยม แม่ทัพเห็นเป็นชัยภูมิที่ดี จึงให้แผ้วถาง แล้วยกกองทัพใหญ่เข้าตั้งในค่ายตำบลเชียงแล

นับว่าเจ้าหมื่นไวยวรนารถได้จัดการปราบปรามโจรผู้ร้าย และจัดการวางด่านทางในเขตแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองสิบสองจุไทย เรียบร้อย ตลอดจนไพร่บ้านพลเมืองได้เข้าตั้งทำมาหากินเป็นปรกติสุข ตามภูมิลำเนาเดิมเสร็จแล้ว จึงสั่งให้พระพหลพลพยุหเสนาทำลายค่ายฮ่อและค่ายหลวงที่ตำบลบ้านใด กับให้พระพหลพลพยุหเสนา พร้อมด้วยเจ้าราชภาคิไนย คุมกองทหารนำตัวจีนลิวเทงไกวกวานกอยี่ นายจีนฮ่อ กับพรรคพวกที่เข้ามาสวามิภักดิ์ยกไปยังเมืองแถงพร้อมกัน แล้วแม่ทัพก็ได้บอกข้อราชการกับขอข้อปฏิบัติลงมายัง พ.ณ. ลูกขุน ณ ศาลาได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทโดยละเอียดทุกประการ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 08:37

เมื่อได้ชนะศึก ได้รับพระบรมราชโองการให้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพพระมหานคร และได้นัดหมายประชุมชี้แจงข้อราชการดังกล่าวแล้ว ท่านแม่ทัพก็ตระเตรียมกองทัพยกกลับมายังเมืองนครหลวงพระบาง ได้ออกเรือจากเมืองแถงค่ายเชียงแล ในวันอังคาร เดือน ๔ ขึ้น ๑ ค่ำ ตรงกับ วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๙ เรือล่องลงมาถึงสบน้ำนัว ล่องตามน้ำนัว จนถึงวันศุกร์ที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ออกจากปากน้ำนัว กระบวนเจ้าเมืองนครหลวงพระบางมาคอยรับ ล่องลำน้ำอู ต่อไป

วันจันทร์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๒๙ ถึงเมืองงอย พักอยู่ ๒ วัน เพื่อฉลองพระเจดีย์ ซึ่งสร้างไว้บนยอดเขาเมืองงอย พระเจดีย์นี้แม่ทัพและนายทัพนายกองกับทหารทั้งปวงได้สร้างขึ้นไว้เป็นเครื่องบูชาในพระพุทธศาสนาและเป็นเครื่องระลึกถึงกองทัพ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 08:40

อ้าว..แล้วกัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 08:43

เมื่อเจ้านครหลวงพระบางได้ทราบว่ากองทัพมีชัยชนะแก่พวกฮ่อปรปักษ์แล้วจึงได้ ป่าวร้องราษฎรทุกๆ ตาแสง (คำว่าตาแสงนั้น ครงกับหน้าที่นายอำเภอ) ทั้ง ๒ ฝั่งแม่น้ำอู และแม่น้ำโขงจนถึงเมืองนครหลวงพระบางให้มาคอยรับ กับจัดเรือขนาน ๒ ลำ เทียบคู่ทำเป็นเรือนเล็กๆ อยู่บนเรือขนานนั้นหลายลำ สำหรับแม่ทัพนายทัพมายกองกับพลทหารซึ่งกลับมาจากราชการสงครามนั้น ประชาชนพลเมืองนำดอกไม้ธูปเทียนมาคอยบูชาอยู่ที่ปากน้ำอู พอกระบวนเรือออกจากปากน้ำอูราษฏรก็พากันโห่ร้องและบรรเลงเพลงขับลำด้วยความชื่นชมยินดี และมีราษฎรมาคอยรับตลอดทาง

วันพุธ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีจอ (๙ มีนาคม ๒๔๒๙) เวลาบ่าย ๑ โมง กองทัพก็ยกลงมาถึงท่าหน้าเมืองนครหลวงพระบาง เจ้านายผู้ใหญ่ฝ่ายลาวพร้อมด้วยท้าวเพี้ยกรมการและตาแสงมาคอยต้อนรับ อยู่ที่ท่านั้น เจ้านครหลวงพระบางให้ทำซุ้มประตูและตบแต่งประตับประดาด้วยธงทิวและเครื่อง ศัสตราวุธซึ่งกองทัพได้ไปรบมีชัยชนะและริบเอามานั้น ขนานนามว่า ประตูสิทธิไชยทวาร มีปะรำตบแต่งประตับประดาด้วยมาลามาลี และมีพระสงฆ์คอยสวดไชยยันโตในขณะที่กองทัพเดินผ่านลอดซุ้มประตู พวกประชาชนพลเมืองถือดอกไม้ธูปเทียนมาคอยบูชารับกองทัพอยู่ทั้งสองข้างทาง ตลอดไปจนถึงทำเนียบที่พักชองแม่ทัพและกองทัพนั้น


ในระหว่างที่เคลื่อนขบวนเข้าไปในเมืองนครหลวงพระบาง มองซิเออร์ ปาวีย์ ได้มาคอยรับและถ่ายรูปตั้งแต่กองทัพได้ยกเดินขึ้นบกตลอดจนเข้าในเมืองนคร หลวงพระบาง ซึ่งต่อมาได้ส่งออกไปประเทศฝรั่งเศส และรูปนั้นได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ฟิกาโร

รัฐบาลฝรั่งเศสจะตั้ง มองซิเออร์ ปาวี (Auguste Pavie) ให้เป็นไวส์กงซุลของฝรั่งเศสอยู่ที่เมืองนครหลวงพระบาง มองซิเออร์ ปาวีย์ จึงหาที่ตั้งสำนักงานไวส์กงซุล ซึ่งเจ้าหมื่นไวยวรนารถ แม่ทัพได้ช่วยสงเคราะห์ให้จนมองซิเออร์ ปาวีย์นับถือและเกรงใจแม่ทัพยิ่งขึ้น และเมื่อมองซิเออร์ ปาวี จะขึ้นไปราชการเมืองฮานอย ก็ได้มาลาท่านแม่ทัพ ซึ่งก็ได้แนะนำและอนุเคราะห์อำนวยความสะดวกในการเดินทางเป็นอย่างดี มองซิเออร์ ปาวีย์ออกจากเมืองนครหลวงพระบาง วันพุธ เดือน ๕ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีจอ (๑๑ เมษายน ๒๔๒๙)



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 08:53

บันทึกของนายแมคคาร์ธีที่จขกท.ยกมาตั้งแต่ต้น กล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกัน

อ้างถึง
ข้าพเจ้าอยากเดินทางไปเมืองไล  เพื่อสำรวจเส้นเขตแดนสยามแต่คำสั่งที่ได้รัยมอบหมายให้ข้าพเจ้าอยู่ในบังคับบัญชาของพระยาสุรศักดิ์ ฯ ท่านผู้นี้สั่งให้ข้าพเจ้าเดินทางไปยังกองทัพน้อยที่สบเอ็ดสำรวจเขตแดนบริเวณหัวพันที้งห้าทั้งหก  แล้วกลับทางหนองคาย  เดอริเชลิเออ  ล้มเจ็บ  ต้องเรือล่องไปหลวงพระบางและกนองคายก่อน  แต่คอลลินส์ยังคงไปกับข้าพเจ้า  ระหว่างเดินทางไปเมืองเต็ง  และระหว่างอยู่ในเมืองเต็งข้าพเจ้ามีอาจุกเสียดอย่างแรง  ( เนื่องจากไส้พอง)  หลายครั้ง  ในที่สึดพอถึงเมืองยา(Muang Ya)  อาการยิ่งกำเริบจนหมดกำลัง  ซ้ำเริ่มจะมีไข้ขึ้น  กลางคืนได้ยินเสียงคนในหมู่บ้านสวดไล่ผีให้ออกจากตัวคนไข้กันอย่างโหยหวน  ข้าพเจ้ามีการหนักตั้งแต่วันที่ ๒๓  ธันวาคม  กว่าจะฟื้นตัวพอเดินทางไปไหน ๆ ได้ก็ตกเข้าวันที่ ๑๐ มกราคม  ข้าพเจ้าจึงได้เดินทางมายังหลวงพระบาง  เพื่อกลับสู่บางกอก

                    ในเวลาไล่เลี่ยกัน  ม. ปาวี ได้เดินทางมาถึงหลวงพระบาง  แล้ววกขึ้นไปตามลำน้ำอูแต่พอมาถึงปากน้ำเหนือ  ก็พบพวกลาวที่กำลังแตกหนีฮ่อ  ซึ่งบุตรคนโตของเจ้าไลไปขอกำลังมาแก้แค้นที่น้อง ๆ ถูกจับกุม ม.ปาวี จึงกลับไปหลวงพระบาง  ซึ่งพระยาสุรศักดิ์ ฯ ได้จัดการทำลายป้อมค่ายเครื่องป้องกันเสียโดยสิ้นเชิงแล้วก่อนจะเดินทัพไปพักอยู่ที่ปากลายพวกฮ่อบุกลุกลงมาตามแนวลำน้ำอู  จนถึงเมืองงอย  () ที่ตรงนั้นเป็นคอคอดกว้างสักไมล์หนึ่ง  มีเนินเขาเป็นผาหินปูนสูงชันลงมาจบขอบน้ำซึ่งลึกมากแต่กระแสน้ำไม่เชี่ยว  และเรือที่ล่องลงมาไม่มีทางที่จะไปต่อได้หากมีลมประทะด้านหัวเรือ  ฝ่ายที่จะคิดโจมตีทางนั้นไม่มีทางผ่านได้  แต่พวกฮ่อรู้ดีว่ากำลังสู้กับคนประเภทใด  พวกมันปืนเขาขึ้นไปยึดปืนที่ตั้งไว้ป้องกันตำแหน่งนั้นเอาไปทิ้งน้ำเสีย  แล้วรุกคืบหน้สมายังหลวงพระบางตั้งมั่นอยู่ที่วัดเชียงทอง  ()  ม.ปาวี และท่านผู้ตรวจการฝ่ายสยามเดินทางออกจากเมืองไปก้อรหน้านั้นแล้ว  เจ้าอุปราชก็ไปแล้วด้วยเช่นกัน  แต่ถูกเจ้าหลวงผู้มีพระประสงค์จะยอมตายในหลวงพระบางเรียกกลับมา  โอรสองค์หนึ่งของเจ้าหลวงได้นับสมัครทหารพม่าอาสา ๒๐ คน สำหรับเป็นทหารรักษาพระองค์เจ้าหลวง

                    พวกฮ่อได้กระทำการอันโหดร้ายทารุณ  ทั้งในบริเวณวัดที่พวกมันยึดเป็นที่พักอาศัยและทั่วไปในบริเวณตัวเมือง  เจ้าอุปราชถูกประหาร  และเจ้าหลวงผู้ชราถูกบรรดาโอรสและทหารรักษาพระองค์บังคับให้ลงเรือหนี  โอรสองค์หนึ่งถูกยิงตายต่อพระพักตร์  หลวงพระบางถูกปล้นและถูกเผาแต่พระพุทธปฏิมาทองคำมีชื่อในประวัติศาสตร์ว่าพระบาง ()  นั้น  ชาวลาวผู้ฉลาดคนหนึ่งได้นำไปซ่อนไว่  เจ้าหลวงผู้ชราล่องเรือมาพบ ม. ปาวีในระหว่างทาง  เลยพากันไปยังปากลาย  ต่อจากนั้น  เจ้าหลวงก็เสด็จต่อไปยังบางกอก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 08:57

บันทึกทั้งสองสำนวน ราวกับหนังคนละเรื่องกันเลย

ท่านใดมีความเห็นในเรื่องนี้บ้างครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 09:26

อ้างถึง
บันทึกของนายแมคคาร์ธีที่จขกท.ยกมาตั้งแต่ต้น กล่าวถึงเหตุการณ์เดียวกัน

อ้างถึง
บันทึกทั้งสองสำนวน ราวกับหนังคนละเรื่องกันเลย


อ้างถึง
ช่วงนี้มีกล่าวถึงนายแมคคาร์ธีอีกนิดหน่อย ผมยังไม่ได้ย้อนกลับไปอ่านว่าในบันทึกของเขาได้เขียนเหตุการณ์ตอนนี้เกี่ยวกับกองทัพว่าอย่างไร
กลับไปอ่านบันทึกต้นฉบับของนายแมคคาร์ธีแล้วครับ

เหตุการณ์ที่นายแมคคาร์ธีบันทึก คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน และเป็นเหตุให้กองทัพไทยขึ้นไปทำสงครามครั้งที่๒
ส่วนเหตุการณ์ตามบันทึกฝ่ายไทย คือการปราบพวกฮ่อในการสงครามครั้งที่๒นั้น ซึ่งจบลงด้วยชัยชนะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 10:04

อ้าว  เป็นสงครามคนละครั้งหรอกหรือคะ?


บันทึกการเข้า
bunnaroth
อสุรผัด
*
ตอบ: 26


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 10:52

การปราบฮ่อมี 3 ครั้งใหญ่ ยึดตามเหรียญปราบฮ่อซึ่งแสดงปีไว้คือ  "๑๒๓๙" (พ.ศ. 2420) "๑๒๔๗" (พ.ศ. 2428) และ "๑๒๔๙" (พ.ศ. 2430)  

ครั้งที่เสียหลวงพระบางให้ฮ่อเข้าปล้นวัดวังทั้งเมือง(ยกเว้นวัดเชียงทอง) คือปี 2428 และต่อมาก็ยกกลับไปสู้ใหม่แต่ก็ช้ากว่าฝรั่งเศสไปก้าวนึง

ผมไม่ติดใจว่าเราไม่ได้ชัยชนะปี 2430 ครับเพราะมีการรบจริง และเอาชนะได้จริง(ในปี 2429 ด้วยซ้ำ - -กระมัง?)  เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรียังได้สร้างวัดจอมเพชรฝั่งตรงข้ามบริเวณที่เป็นเมืองเชียงแมนด้วย แต่ปมที่ตั้งข้อสังเกตเชิญชวนแลกเปลี่ยนตามกระทู้คือ เราได้ชัยชนะแท้จริงหรือเพราะ ...

1. ไม่มีบันทึกว่าเราแตกพ่ายเสียหลวงพระบางให้ฮ่อปล้น ก็การยกไปปราบฮ่อคือปราบโจรไม่ให้ปล้นใช่หรือไม่ พอมันได้ทรัพย์ไปแล้วก็ยกกลับเพราะฮ่อไม่ได้เป็นทัพยึดหรือปกครองเมือง
2. หากยึดตามแมคคาร์ธี หลังจากฮ่อได้หลวงพระบาง ฝรั่งตีโต้กลับแต่เราก็ช้าไป ฝรั่งเศสไล่ตีลามมายึดพื้นที่แล้วทำหน้าตาเฉยไม่ถอนกลับ เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ไปเจรจาก็เหมือนโลซกเจรจากับขงเบ้ง เขายืมเกงจิ๋วจนที่สุดก็เสียทั้งเกงจิ๋วและหลวงพระบาง (ตามมาด้วยไชยบุรีฝั่งขวาด้วย) ชนะศึกแต่แพ้ยุทธศาสตร์ชัดเจน
3. หากยึดตามแมคคาร์ธี ผมตีความเอาเองว่า ฝรั่งเศสไล่ตีฮ่อจนเปลี้ยแล้ว ที่เรารบชนะเพราะฮ่อกลับที่มั่นเดิมหัวพันห้า/เมืองพวน/ไม่ได้เพราะฝรั่งเศสยึดไว้ อาจจะเป็นฮ่อที่ถูกฝรั่งเศสไล่่บี้มาก่อน ทัพสยามได้ทีซ้ำเข้าไป ทั้งๆ ที่ 2 ครั้งก่อนหน้าเรารบแพ้มาตลอด
4.
เอาล่ะครับ ผลสรุปสุดท้ายคือสงครามปราบฮ่อเราก็ได้ชัยกลับมา จำได้จากราชกิจจานุเบกษาว่ามีกล่าวถึงการปูนบำเหน็จต่างๆ และมีฮ่อสวามิภักดิ์สัก 5-6 คนที่ตามไปพระนคร ก็มีการฉลองและทำเหรียญปราบฮ่อในเวลาต่อมา // หลักฐานฝ่ายไทยเลี่ยงไม่กล่าวการเสียมวย เสียฟอร์ม และการเสียที่มั่นสำคัญในปี 2428 โดยเฉพาะการปล่อยให้ฮ่อเข้าปล้นเมืองไปได้ทั้งๆที่นี่เป็นทัพปราบโจร (ไม่ให้ปล้น)

จึงเป็นที่มาของกระทู้ว่าผม ให้น้ำหนักคำประกาศชัยชนะของกองทัพไทยลดลงไปหลายขีด หลังจากได้อ่านรายงานของแมคคาร์ธี

ขอนำเสนอมุมมองเพื่อแลกเปลี่ยนครับผม/

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 13:53

อ้างถึง
1.ไม่มีบันทึกว่าเราแตกพ่ายเสียหลวงพระบางให้ฮ่อปล้น ก็การยกไปปราบฮ่อคือปราบโจรไม่ให้ปล้นใช่หรือไม่ พอมันได้ทรัพย์ไปแล้วก็ยกกลับเพราะฮ่อไม่ได้เป็นทัพยึดหรือปกครองเมือง

ที่ไม่มีบันทึกเพราะไม่มีเราเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแตกพ่าย

ส่วนปราบโจรไม่ให้ปล้นคงไม่มีใครทำได้ ทุกวันนี้ทุกชาติก็ยังเล่นโปลิสจับขโมยกันอยู่เลย ไทยยกทัพไปปราบก็คงได้แค่ทำลายศูนย์อำนาจของฮ่อกลุ่มต่างๆไปบ้าง แต่ที่แตกพ่ายไปก็คงมารวมตัวได้ใหม่ถ้ามีคนสนับสนุน จะเอาชนะเด็ดขาดคงทำไม่ได้
 
แล้วเรื่องของฮ่อก็ต้องนิยามกันให้ดีๆ บางที่มันมีผสมด้วย อย่างเช่นที่เราบอกว่าฮ่อมาปล้นเมืองหลวงพระบางคราวที่คุณว่านี้ ความจริงตัวหัวหน้าใหญ่คือคนไทจากเมืองที่เป็นเมืองขึ้นของหลวงพระบาง เมื่อเห็นเมืองหลวงลาวอ่อนแอก็แก้แค้นซะ ฝรั่งเศสเรียกนายคนนี้เป็นชื่อญวน(เพื่อประโยชน์ของเขา)ว่าด๋าววันตรี(ĐèoVăn Tri) หรือในชื่อลาวว่าคำอุ้ม เป็นเจ้าชาวไทขาวเมืองไล ในสิบสองเจ้าไท หรือแคว้นสิบสองจุไทที่แปลว่าสหพันธรัฐไทสิบสองเมือง รูปข้างล่างคือเขาละ แต่ดูเหมือนอย่างกับคนจีน

ชีวิตเบื้องต้น ĐèoVăn Tri ได้บวชเรียนเป็นพระภิกษุที่วัดเชียงทองที่หลวงพระบาง ในปี 1887 ในช่วงสงครามปราบฮ่อครั้งที่๑ พี่ชายของเขาถูกจับเข้าคุกโดยข้าราชการสยาม  พอทหารไทยถอนทัพไปแล้ว ĐèoVănตรี ได้นำทหารชาวไทร่วมกับจีนฮ่อธงดำเข้าโจมตีหลวงพระบาง นายปาวีกงสุลฝรั่งเศสในหลวงพระบางขณะนั้น ช่วยป้องกันมิให้เจ้าอุ่นคำที่กำลังป่วยอยู่ถูกจับตัว(อาจจะโดยซ่อนไว้ในสถานกงสุล ไม่ใช่นำทหารฝรั่งเศสเข้าสู้รบปกป้อง เพราะปาวีไม่มีกำลังทหาร-navarat.c) และทั้งคู่ก็สามารถหลบหนีไปลี้ภัยในสยามได้ ตรงนี้ในชีวประวัติของนายปาวีกล่าวว่า เจ้าอุ่นคำรู้สึกเป็นหนี้ชีวิตตนมาก ถึงกับบอกว่าจะขอนำลาวมาเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสแทนสยามให้ได้  ส่วนเหตุการณ์ทางหลวงพระบาง ĐèoVăn Tri จับตัวเจ้าสุวรรณพรหมาอุปราชได้และสำเร็จโทษเสียเมื่อ 8 มิถุนายน 1887

ในปี 1890 นายปาวีได้รับ ĐèoVăn Tri เป็นพันธมิตรของฝรั่งเศส และให้การรับรองฐานะว่าเขาเป็นผู้นำของแคว้นสิบสองเจ้าไท เพราะต้องการผนวกแคว้นนี้กับอินโดจีนฝรั่งเศสในที่สุด


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 14:04

อ้างถึง
2. หากยึดตามแมคคาร์ธี หลังจากฮ่อได้หลวงพระบาง ฝรั่งตีโต้กลับแต่เราก็ช้าไป ฝรั่งเศสไล่ตีลามมายึดพื้นที่แล้วทำหน้าตาเฉยไม่ถอนกลับ เจ้าพระยาสุรศักดิ์ฯ ไปเจรจาก็เหมือนโลซกเจรจากับขงเบ้ง เขายืมเกงจิ๋วจนที่สุดก็เสียทั้งเกงจิ๋วและหลวงพระบาง (ตามมาด้วยไชยบุรีฝั่งขวาด้วย) ชนะศึกแต่แพ้ยุทธศาสตร์ชัดเจน

ไม่มีฝรั่งเข้าไปตีโต้ในตอนนั้นครับ พอพวกข้างบนนี้ปล้นเมืองได้แล้วก็ขนทรัพย์กลับไปเมืองไลของเขา ขืนอยู่นานเดี๋ยวทหารไทยกลับไปตีแน่ แล้วก็ไปจริงๆ และตามไปตีถึงเมืองไลด้วย ลองกลับไปอ่านที่ผมเอามาลงไว้ดู

พวกเมืองไล และจีนฮ่อต่างก็แตกแยกย้ายหนีไปสิ้น ท้าวขุนและราษฎรเข้าร้องทุกข์ต่อแม่ทัพว่า ท้าวไลและบุตรยกเข้ามากดขี่ไพร่บ้ายพลเมืองเป็นอย่างยิ่ง

แม่ทัพและนายทัพนายกองพร้อมด้วยเจ้านายเมืองหลวงพระบางได้ปรึกษากัน และพร้อมกันเห็นว่า สมควรเอาตัวบุตรท้าวไลทั้งสามคนไปกักไว้เป็นตัวจำนำ ส่วนตัวท้าวไลซึ่งตั้งอยู่ที่ลำน้ำแท้ หรือลำน้ำดำฝั่งตะวันออกของพระราชอาณาเขต หากต่อสู้ ก็ต้องระงับปราบปราม หากจะอ่อนน้อมโดยสุจริต ก็ให้อยู่ตามเดิม

อันเมืองไลนี้ เรียกกันว่า ไทยขาว หรือไทยไล แต่ใช้ขนบธรรมเนียมอย่างแบบจีน ขึ้นกับเมืองหนองแส และเมืองนครหลวงพระบาง จึงเรียกเมืองสองฝ่ายฟ้า
แม่ทัพจัดราชการเมืองแถง จัดให้รักษาด่านทางให้แข็งแรงยิ่งขึ้น แล้วตั้งให้พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์ (กายตง) กลับเป็นผู้รักษาเมืองแถงสืบไปอีก
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 14:08

อ้างถึง
3. หากยึดตามแมคคาร์ธี ผมตีความเอาเองว่า ฝรั่งเศสไล่ตีฮ่อจนเปลี้ยแล้ว ที่เรารบชนะเพราะฮ่อกลับที่มั่นเดิมหัวพันห้า/เมืองพวน/ไม่ได้เพราะฝรั่งเศสยึดไว้ อาจจะเป็นฮ่อที่ถูกฝรั่งเศสไล่่บี้มาก่อน ทัพสยามได้ทีซ้ำเข้าไป ทั้งๆ ที่ 2 ครั้งก่อนหน้าเรารบแพ้มาตลอด

ผมเพิ่งจะจบสงครามครั้งที่๒ แต่คุณเอาสงครามครั้งที่๓ มาตีความด้วย ขอประทานโทษที ผมเลยงงไปหมดว่าคุณหมายถึงเหตุการณ์อะไร ตอนไหน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 14:20

อ้างถึง
4. เอาล่ะครับ ผลสรุปสุดท้ายคือสงครามปราบฮ่อเราก็ได้ชัยกลับมา จำได้จากราชกิจจานุเบกษาว่ามีกล่าวถึงการปูนบำเหน็จต่างๆ และมีฮ่อสวามิภักดิ์สัก 5-6 คนที่ตามไปพระนคร ก็มีการฉลองและทำเหรียญปราบฮ่อในเวลาต่อมา // หลักฐานฝ่ายไทยเลี่ยงไม่กล่าวการเสียมวย เสียฟอร์ม และการเสียที่มั่นสำคัญในปี 2428 โดยเฉพาะการปล่อยให้ฮ่อเข้าปล้นเมืองไปได้ทั้งๆที่นี่เป็นทัพปราบโจร (ไม่ให้ปล้น)

ผมว่าที่ไม่กล่าว เพราะมันเป็นเรื่องที่เกิดในเมืองลาวเขา ไม่ได้เกี่ยวกับเราโดยตรง

คือลาวเป็นเมืองออก มีเจ้านายและเสนาบดีปกครองตนเอง สยามไม่ได้ส่งข้าหลวงไปเป็นผู้ปกครองหรือมีกองทัพอยู่ที่นั่น ต่อเมื่อไหร่ที่มีปัญหาในเรื่องความมั่นคง มีใบบอกมาขอให้ไปช่วย สยามจึงจะส่งกองทัพไปช่วย
เรื่องหลวงพระบางถูกปล้น เอกสารของเราก็กล่าวไว้ แม้ไม่ได้ลงรายละเอียด ก็พอเข้าใจว่านั่นคือเหตุที่ทำให้ไทยส่งกองทัพไปและเกิดสงครามครั้งที่๒
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.097 วินาที กับ 19 คำสั่ง