เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 21798 ทัพสยามแพ้ฮ่อ แต่บันทึกว่าชนะ ?
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 21 ก.พ. 13, 22:13

ห้วยก๊วง

พระเจริญจตุรงค์กรมการเมืองพิชัยซึ่งคุมไพร่พลหัวเมืองอยู่ที่บ้านใด ได้นำกำลังส่วนหนึ่งแยกออกไปตั้งรักษาการ เห็นพวกฮ่อมีกำลังมากไม่สามารถต้านทานได้ก็ถอนตัว พวกฮ่อตามมาทันกันที่ห้วยก๊วง ได้รบปะทะกัน ผลปรากฏว่าพวกฮ่อเสียชีวิต ๒๖ คน รวมทั้งซันตาเล่าแย้ นายใหญ่พวกฮ่อด้วย

พอดีนายร้อยโทเอื้อน กับทหาร ๖ นาย จะไปเมืองสบแอดเดินทางมาถึง จึงเข้าร่วมสู้รบด้วย หลังจากสู้รบกันแล้ว ๔ ชั่วโมง พระเจริญจตุรงค์ถูกกระสุนเสียชีวิต นายร้อยโท เอื้อนพยายามเล็ดลอดกลับมาค่ายบ้านใด แต่ถูกยิงที่โคนขา จึงให้นายสิบโทท้วมพาทหารหนีไป ตนเองหลบลงไปซุ่มกอไม้ที่ชายน้ำ พวกฮ่อตามนายสิบโทท้วมไม่ทัน จึงกลับมาที่นายร้อยโทเอื้อน เห็นไม่มีอาวุธจึงคิดจะจับเป็น นายร้อยโทเอื้อนใช้ปืนพกยิงตายถึง ๓ คน แต่ยิงคนที่ ๔ พลาดไป จึงถูกฮ่อใช้ดาบฟันเสียชีวิต และตัดศีรษะไป
 
เป็นที่เปิดเผยภายหลังว่า ผู้ที่ถูกนายร้อยโทเอื้อนสังหารทั้ง ๓ นายนั้น เป็นฮ่อชั้นหัวหน้า และไม่พบศพนายร้อยโทเอื้อน พบแต่ข้อมือซึ่งมีเสื้อยันต์ครึ่งยศอยู่จึงเป็นการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลได้

แต่นั้นมา พวกฮ่อก็ตั้งอยู่แต่ในป่า ห่างจากค่ายบ้านใด ประมาณ ๑๐๐ เมตร ไม่ออกมาต่อรบในที่แจ้ง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 21 ก.พ. 13, 22:22

ข่าแจะ

ครั้นวันอังคาร เดือน ๗ แรม ๑๓ ค่ำ ตรงกับ วันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๒๙ พระยาว่านหัวหน้าข่าแจะ ซึ่งเป็นเจือง รวมกับพวกฮ่อได้ประมาณ ๑๕๐ คน ยกมาที่ห้วยห้อม แขวงเมืองซ่อน เที่ยวตีปล้นกวาดครัวราษฎรเอาไปเป็นเชลยไว้เป็นกำลัง เพี้ยตงนายบ้านรีบลงมาแจ้งแก่หัวพันพระยาศรีสุมัง ผู้รักษาเมืองซ่อน จึงรีบไปพบและรายงานแม่ทัพต่อไป หนทางจากห้วยห้อมถึงค่ายใหญ่เมืองซ่อน เป็นเวลา ๒ ชั่วโมง แม่ทัพได้ซักถามข่าวสาร ได้ความว่า พลเมืองซ่อนไทย ลาว ได้พากันหนีเข้าป่า เหลือแต่ตัวพระยาศรีสุมัง และกรมการอีก๒-๓คน พวกฮ่อและข่าแจะประกาศว่า กองทัพใหญ่ที่เมืองซ่อนหมดกำลังแล้ว เพราะไพร่พลเจ็บป่วยล้มตายกันมาก พวกฮ่อและข่าแจะจึงสมทบกันจะตีค่ายแม่ทัพให้แตกไปจงได้

เตรียมรับสถานการณ์

แม่ทัพได้ข่าวสารดังนี้แล้วจึงสำรวจกำลังพลได้ความว่า "คนที่ยังดีอยู่นั้น ตั้งแต่แม่ทัพถึงพลทหาร เหลืออยู่เพียง ๑๑ คน" แม้แต่พลแตร ซึ่งมีอยู่ในค่ายประมาณ ๘ นายก็ป่วยล้มตาย จนไม่ได้มีการเป่าแตรเป็นเวลาเกือบเดือนแล้ว ต้องใช้ฆ้องโหม่งแขวนที่ป้อมยาม และเมื่อทหารป่วยมากขึ้นไม่พออยู่ยาม ก็ต้องให้พลยามเดินตีฆ้องแทน

บัดนี้ พวกฮ่อและข่าแจะจะเข้าตีค่าย แม่ทัพจึงให้หมอควานช้างและคนในกองโคต่าง แต่งกายเป็นทหารรักษาค่าย และให้นำปืนจากทหารเจ็บป่วยมาให้ใช้ แต่เหล่าทหารเจ็บป่วยร้องขออาวุธไว้กับตัว เมื่อพวกฮ่อมาเข้าตีค่ายใหญ่จะยิงพวกฮ่อเสียจนหมดกระสุนก็จะยอมตาย แม่ทัพจึงยอมให้เพียงแต่นำปืนจากผู้ที่เสียชีวิตมาให้พวกหมอควานและกองโคต่าง และชี้แจงทหารที่ป่วยให้ทราบทั่วกันว่า "แม่ทัพจะไม่ถอยหนีจนก้าวเดียว จะต่อสู้จนโลหิตหยาดที่สุด และจะยอมตายไปกับทหารพร้อมกันด้วย" ทำให้กำลังพลมีขวัญและกำลังใจดีขึ้นมาก แม่ทัพจึงสั่งให้คนในกองช้าง และกองโคต่าง รักษารอบค่าย ใช้อาวุธปืนจากทหารที่เสียชีวิตแล้ว

ให้คะเด็ตไปจัดการวางลูกระเบิดไว้ตามทางที่พวกฮ่อจะเข้ามา ให้เจ้าก่ำ บุตรเจ้าอุปราช นำกำลังท้าวขุนกรมการเมืองหลวงพระบาง ประมาณ ๑๐๐ เศษ ใช้ปืนหามแล่น ยกขึ้นไปยังห้วยห้อม ตั้งสกัดทางเจ้าก่ำ ยกไปตั้งบนเนินลูกหนึ่งตรงกันข้ามค่ายพวกฮ่อ ห้วยห้อมขวางกลางอยู่ ทั้งสองฝ่ายยิงโต้ตอบกันจนกระสุนดินดำหมด จึงรายงานแม่ทัพขอกระสุนเพิ่ม

แม่ทัพจึงเรียกหัวหน้าควานช้าง กับพวกกองโคต่างมาแบ่งคนให้รีบยกไปช่วยเจ้าก่ำ พวกควานช้างกับพวกกองโคต่างมีความยินดีรับอาสาออกไปปราบศัตรูด้วย แม่ทัพจึงให้เอาเครื่องแบบทหารที่ป่วยตายมาให้แต่ง และให้นายร้อยโท แจ นำปืนใหญ่อาร์มสตรองบรรทุกหลังช้างไปพร้อมกำลังพลอีก ๒๐๐ เศษ สั่งมอบภารกิจให้ ทำลายค่ายฮ่อ และจับตัวพวกข่าเจือง และพวกฮ่อ มาให้จงได้

วันอาทิตย์ เดือน ๘ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๙ นายร้อยโทแจ นำกองทหารไปถึงใช้ปืนใหญ่ยิงค่ายฮ่อเพียง ๓ นัด พวกฮ่อล้มตายกันมาก นัดต่อๆ ไปได้ยิงเลยค่ายไปถูกภูเขาหลังค่าย เมื่อระเบิดเกิดเสียงสะท้อนสนั่นหวั่นไหว พวกข่าเจืองและพวกฮ่อเข้าใจว่ามีกองทัพตีกระหนาบ เร่งลงซ่อนตัวในหลุมและคูสนามเพลาะ พวกทหารก็พร้อมกันหักพังเข้าค่ายพวกฮ่อได้

ผลการรบ กองทหารเข้ายึด และเผาทำลายค่ายพวกฮ่อได้
 
จับเป็น พระยาว่าน หัวหน้าข่าแจะ อ้ายคำเพ็ชร เพี้ยชัย เพี้ยเมือง ชายหญิงอีก ๓๖ คน
ยึดเครื่องศัสตราวุธ ปช่น ปืนคาบศิลา ได้จำนวนหนึ่ง
พวกฮ่อ เสียชีวิตประมาณ ๖๐ คน

แม่ทัพสั่งประหารชีวิต พระยาว่าน และพวกหัวหน้าข่าแจะ แล้วตัดศีรษะเสียบประจานไว้ ณ ทุ่งนาเมืองซ่อน ส่วนชายหญิง ๓๖ คน นั้น แม่ทัพให้กลับคืนไปอยู่ตามภูมิลำเนาเดิมทั้งสิ้น ตั้งแต่นั้นมา ก็สงบเป็นปรกติราบคาบตลอดมา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 21 ก.พ. 13, 22:24

ผลไข้ป่า

วันจันทร์ แรม ๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีจอ ตรงกับวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๙ แม่ทัพได้สำรวจรี้พลสกลไกร ปรากฏว่ากำลังพลรวม ๓๐๐ นาย เหลือคนไม่ป่วยเพียง ๒ นาย คือ ท่านแม่ทัพ และนายจ่ายวด เท่านั้น จนไม่มีคนพยาบาลคนไข้ ทหารจากกรุงเทพฯเสียชีวิตแล้ว ๘๐ นาย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 21 ก.พ. 13, 22:26

ครั้นวันศุกร์ ที่ ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๙ พวกฮ่อ และพรรคพวกรวมราว ๒๕๐ คนได้ยกมาประชิดค่ายบ้านใด สร้างหอรบ และยิงโต้ตอบกัน กองทหารก็ตั้งมั่นรักษาค่ายไว้ได้ พวกฮ่อกลัว "ลูกแตก" ก็ไม่กล้าเข้าปล้นต่ายได้แต่ล้อมไว้

พอวันพฤหัสบดี แรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ตรงกับวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๙ องบา นายฮ่อธงดำใหญ่ซึ่งอยู่ที่ตำบลท่าขวา แขวงเมืองสิบสองจุไทย ให้กวานเล่าแย้นายที่ ๒ ถือหนังสือมาแจ้งแก่พระสวามิภักดิ์สยามเขตต์ ที่ค่ายบ้านใดว่า มีความยินดีที่จะเข้าสวามิภักดิ์เป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงเทพมหานครฯต่อไป และจะเรียกกองทัพขององบาซึ่งไปช่วยกวานกอยี่รบให้กลับมา และยังจะเกลี้ยกล่อมกวานกอยี่ให้อีก

เจ้าราชภาคิไนย และพระสวามิภักดิ์สยามเขตต์ จึงให้กวานเล่าแย้ และพรรคพวกให้ทำสัตย์สาบานตามธรรมเนียมจีนฮ่อ ว่าจะขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมา ไม่คิดเป็นเสี้ยนหนามศัตรูแผ่นดิน อีกต่อไป

และวันรุ่งขึ้น วันศุกร์ ที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๒๙ เวลา เช้า ๕ โมงเศษ (๑๑ นาฬิกา) กวานกอยี่นายฮ่อถือธงขาวเดินออกมาจากที่ซุ่มในป่านั้นขอยอมเข้าสวามิภักดิ์อย่าให้กองทหารทำอันตรายแต่อย่างใดเลย ครั้นเวลาบ่ายโมงเศษ กวานกอยี่ กับหัวหน้าฮ่ออีก ๔ คนก็วางอาวุธ พากันออกมาหากองทัพค่ายบ้านใด แล้วนายทัพนายกองพร้อมกันให้กวานกอยี่นายฮ่อทำสัตย์สาบานตัวและรับน้ำสัตยาว่า "จะขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาโดยสุจริตมิได้คิดเป็นอุบาย จะไม่คิดทรยศและกระทำการต่อสู้ต่อไปอีก" แล้วให้ทำพิธีสาบานตัวอย่างธรรมเนียมจีน คือ ตัดคอไก่เอาโลหิตปนกับน้ำแจกให้ดื่มทุกคน หมายความว่าถ้าไม่มีความสัตย์ก็ให้ตายเยี่ยงไก่ที่คอขาดนั้น

เวลากระทำสัตย์ ก็นำพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาตั้งโต๊ะมีเครื่องบูชาพร้อมวางไว้เฉพาะหน้าผู้กระทำสัตย์

การที่พวกฮ่ออ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์ขอเป็นข้าขอบขัณฑสีมาแห่งกรุงเทพพระมหานครครั้งนี้นั้น ก็ด้วยเดชะพระบารมีปกเกล้าฯ เหตุด้วยกองทัพและทหารหรือก็ป่วยไข้หมดกำลังที่จะต่อสู้ได้อยู่แล้ว อีกประการหนึ่ง ก็ได้พยายามต่อสู้ปราบปรามจนสิ้นกำลังของพวกฮ่อลง กองทัพจึงได้ชัยชำนะโดยไม่ต้องเสียชีวิตทหารในที่รบกี่มากน้อย
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 06:45

ก่อนจะลืม
ผมขอเรียนว่าบันทึกเรื่องปราบฮ่อของฝ่ายไทย ผมตัดตอนมาจากสารคดีเรื่องยาวสามตอนจบที่คุณsamphanเขียนลงเวปไว้ เอาเฉพาะฉากรบมายืนยันว่าเราไม่ได้แพ้ฮ่อตามที่คุณbunnarothตั้งเป็นหัวข้อกระทู้


ถ้าท่านอยากทราบรายละเอียดของสงครามนี้ยิ่งๆขึ้นไป  โปรดเข้าไปอ่านต้นฉบับได้ตามระโยงที่ผมนำมาให้ไว้ข้างล่าง

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๑)

http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711145&Ntype=15

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๒)

http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711147&Ntype=15

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว - ปราบฮ่อ (๓)

http://www.iseehistory.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=538711148&Ntype=15


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 07:15

ชมภาพชุด สงครามปราบฮ่อครั้งที่๒

ครั้งนี้ ได้พระราชทานธงไชยเฉลิมพลให้กองทัพเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ณ สนามหน้าศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง

พระราชทานธงชัยเฉลิมพล

ณ วันอาทิตย์ แรม ๙ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีระกา จ.ศ.๑๒๔๗ ตรงกับ วันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยอันวิเศษสำคัญให้แก่กองทัพ . . . และธงชัยอันวิเศษสำคัญนี้ได้บรรจุพระเหล็กไหลนภากาศองค์ ๑ และพระลำพูนดำองค์ ๑ และเครื่องปลุกเศกแล้ว ได้ประสิทธิ์ประกอบกันบรรจุลงไว้ที่ในยอด สำหรับคุ้มครองป้องกันผู้ถือธงชัยนี้ให้มีสง่าและอำนาจ ให้แคล้วคลาดศัตราวุธปัจจามิตรอันจะมาทั่วทิศานุทิศ
. .



บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 07:19

ยาตราทัพ
 
วันอังคาร แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีระกา จ.ศ.๑๒๔๗ ตรงกับ วันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘ ยาตรากองทัพออกจากกรงเทพฯ ทางเรือถึงเมืองพิชัยเมื่อ วันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา จ.ศ.๑๒๔๗ ตรงกับ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๒๘ รวมเวลาเดินทาง ๒๑ วัน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 07:24

ต่อมา ณ วันอังคาร แรม ค่ำหนึ่ง เดือนอ้าย ตรงกับ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๒๘ เจ้าหมื่นไวยวรนารถได้จัดพิธีสมโภชธงชัยยังทำเนียบ นิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้น พระฉันแล้ว ได้ประชุมพร้อมกันที่สนามฝึก เชิญธงชัยปักไว้กลางปะรำ แล้ว แม่ทัพอ่านประกาศ สรุปความว่า . . .
. . . พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานธงชัยอันวิเศษสำคัญให้แก่กองทัพ และเป็นที่หมาย ความไว้พระราชหฤทัยในความซื่อสัตย์ สุจริต และความกล้าหาญของนายทหารและพลทหารทั้งปวงที่ได้ทำราชการสนองพระเดชพระคุณในบัดนี้ และต่อไปภายหน้า ให้นายทหารและทหารทั้งปวงจงรู้จักเกียรติยศและอำนาจของธงชัยอันวิเศษสำคัญเป็นที่เฉลิมกองทัพนี้ให้ถูกต้องตามพระบรมราชประสงค์ ซึ่งทรงพระราชดำริมุ่งหมายจะให้นายทหารและพลทหารทั้งหลายมีความเคารพนับถือธง และตั้งใจรักษาธงชัยเป็นอันดี  ให้หมู่ปรปักษ์ศัตรูครั่นคร้ามเกรงขามพ่ายแพ้แก่อำนาจพระบารมีซึ่งได้ทรงประสิทธิประสาทพระพรชัยมงคลอันมาในธงชัยนี้ ให้มีความสวัสดิ์แคล้วคลาดศัตราวุธทั่วทั้งกองทัพ . . .

ธงชัยเฉลิมพล ธงชัยอันวิเศษสำคัญ (ภายหลังเปลี่ยนเป็นธงจุฑาธุชธิปไตย)


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 07:29

ออกจากเมืองพิชัย
 
ครั้น วันศุกร์ แรม ๑๑ ค่ำ เดือนอ้าย ปีระกา จ.ศ.๑๒๔๗ ตรงกับ วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๘ เวลา ๓ โมงเช้า เจ้าหมื่นไวยวรนารถก็ยกกองทหารกรุงเทพฯ และหัวเมืองก็ยกออกจากเมืองพิชัย กรมการได้ทำประตูป่า พระสงฆ์สวดชยันโต และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ ราษฎรตั้งเครื่องบูชา แม่ทัพได้จัดกระบวนทัพ เป็นกองหน้ากองหนุน ปีกซ้าย - ขวา และกองหลัง


ช้างธงชัย ช้างบรรทุกปืนใหญ่ และช้างเลื่อนบรรทุกของ ซึ่งแม่ทัพคิดขึ้นใหม่ กำลังเตรียมการเดินทัพยกจากเมืองพิชัย ไปทางเมืองน่าน มุ่งสู่เมืองหลวงพระบาง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 07:33

วันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา จ.ศ.๑๒๔๗ ตรงกับวันที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๒๘ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้านครน่าน แต่งแสนท้าวพระยาลาวคุมช้างพลายผูกจำลองเขียนทองออกมารับ ๓ เชือก เชิญกองทัพเข้านครน่าน

วันจันทร์ แรม ๑๓ ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา สัปตศก จ.ศ.๑๒๔๗ ตรงกับวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๘ กองทัพออกจากเมืองน่าน

วันเสาร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนสาม ตรงกับ วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๒๘ ถึงเมืองไชยบุรีศรีน้ำฮุง เขตเมืองหลวงพระบาง เจ้าราชภาคินัย (บุญคง) เมืองหลวงพระบางมาคอยรับกองทัพ พักแรม ๑ คืน วันรุ่งขึ้นจึงเข้าเมืองหลวงพระบาง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 07:37

แม่ทัพไทยและเจ้านครหลวงพระบาง ถ่ายรูปร่วมกัน โดยมีธงไชยเฉลิมพลอยู่เบื้องหลัง


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 07:47

ความต่อจากสุดท้ายที่ค้างไว้

เมื่อได้ปราบฮ่อในแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกระงับราบคาบแล้ว แม่ทัพได้จัดระเบียบราษฎร ดังนี้

ให้กวานกอยี่ หัวหน้าพวกฮ่อก่อการร้ายและพรรคพวกลงมาทำมาหากินที่กรุงเทพฯ เพื่อราษฎรในแขวงจะได้สิ้นความหวาดกลัว กลับเข้าคืนภูมิลำเนาเดิมเป็นปรกติต่อไป แต่ผู้ทีมีบุตรภรรยาเป็นคนลาวให้อยู่กับบุตรภรรยาที่เมืองแถงเช่นประชาชนทั่วไป ไม่ให้เข้าอยู่ในแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก ส่วนพวกฮ่อธงดำขององบานั้น ไม่ได้ย่ำยีตีปล้นราษฎร และมีส่วนช่วยเหลือกองทัพด้วย สมควรให้รวบรวมกันอยู่ในแขวงเมืองสิบสองจุไทยตามเดิมก่อน หากมีโจรผู้ร้ายเกิดขึ้นต้องปราบปรามอีก จะได้สนับสนุนกำลังขององบานี้ให้ช่วยระงับปราบปรามต่อไป และได้หาตัวท้าวขุนและพวกหัวพันตามเมืองต่างๆ มาประชุม ณ เมืองซ่อน เพื่อปันส่วนอาณาเขตและแขวงบ้านเมืองต่างๆ ให้ถูกต้องตามโบราณกาล

เมื่อจัดท้าวขุนและพวกหัวพันรักษาพระราชอาณาเขตเรียบร้อยทุกประการแล้ว แม่ทัพก็ดำริที่จะยกกองทัพใหญ่จากเมืองซ่อนตัดตรงไปเมืองแถง(ภายหลังญวนยึดไปและเปลี่ยนชื่อเป็นเบียนเดียนฟู เมืองนี้มีชื่อเสียงไปทั่วโลกเมืองหลังสงครามโลกครั้งที่๒ เมื่อกองทัพฝรั่งเศสถูกกองทัพญวนกู้ชาติทำลายแหลกราญที่เมืองนี้ สิ้นสุดยุคอาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์) กำหนดระยะทางเดินกองทัพ ๑๒ เวลา(วัน)
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 07:54

ส่วนเรื่องการเจ็บไข้ของทหารนั้น เมื่อกองทัพได้ยาควินนินที่ส่งขึ้นไปจากกรุงเทพแล้ว หมอเทียนฮี้นายแพทย์ทหารได้เร่งแจกจ่ายยาทั่วกองทัพในบ่ายวันนั้นทันที วันรุ่งขึ้นกำลังพลหายจับไข้ได้กว่าครึ่ง ประมาณ ๓ วัน คนที่ป่วยไข้ก็หายจับไข้หมด ชั่วเดือนหนึ่ง คนที่ป่วยไข้ก็กลับมีกำลังแข็งแรงดังเดิม กองแยกต่างๆ ก็รายงานว่า "ได้รับยาควินินไปให้ทหารรับประทานตามกำหนดเวลาซึ่งนายแพทย์ได้แนะนำแล้ว บัดนี้ ทหารทั้งปวงซึ่งป่วยไข้นั้น ก็หายป่วยอ้วนท้วนเป็นปรกติดีแล้วเหมือนอย่างเดิม . . ."

เมื่อกองทัพกลับมีกำลังวังชาเป็นปรกติแล้ว แม่ทัพจึง สั่งการให้พระพหลพลพยุหเสนา(กิ่ม) นำกำลัง๑๐๐นายไปสมทบเจ้าราชภาคิไนย ณ เมืองสบแอด ให้องบาพาพรรคพวกมากระทำสัตย์สาบานตนที่ค่ายบ้านใด แล้วให้องบาขึ้นไปฟังแม่ทัพจัดราชการที่เมืองแถงด้วย และให้พระพหลพลพยุหเสนา(กิ่ม) ตั้งคอยพนักงานเซอร์เว ซึ่งจะไปสำรวจทำแผนที่ในแขวงเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกก่อน เมื่อได้บรรจบกันแล้วจึงยกไปเมืองแถงพร้อมกัน ทั้งนี้ ให้รออยู่จนถึงเดือนอ้าย สิ้นเดือน ถ้าพ้นกำหนดที่กะไว้นี้ก็ให้พระพหลพลพยุหเสนายกออกจากเมืองสบแอดขึ้นไปเมืองแถงตามกำหนด
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 07:59

วันเฉลิมพระชนม์พรรษาในหัวเมืองลาว วันอาทิตย์ เดือน ๑๐ แรม ๗ ค่ำ ปีจอ ตรงกับ วันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๒๙ เริ่มการเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม่ทัพและนายทัพนายกอง ท้าวพระยาในเมืองหลวงพระบางซึ่งได้ไปด้วยกับกองทัพ พร้อมด้วยท้าวเพี้ยหมื่นขุนกรมการ และพวกหัวพันในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก ได้ตกแต่งสถานที่ด้วยธงทิว และประดับประดาด้วยมาลามาลีเป็นการประณีต ครั้นถึงเวลาค่ำ ก็จุดโคมข่อยสีต่างๆ และตามประทีปเป็นการฉลองพระเดชพระคุณ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 22 ก.พ. 13, 08:01

วันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๘ ค่ำ ปีจอ ตรงกับ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ.๒๔๒๙

เวลา ๑ โมง กับ ๔๖ วินาที แม่ทัพสั่งให้ยิงสลุตถวายชัยมงคลที่ค่ายเมืองซ่อนตำบลหนึ่ง เมืองแวนตำบลหนึ่ง เมืองสบแอดตำบลหนึ่ง รวม ๓ ตำบล ตำบลละ ๑๐๑ นัด แล้วประชุมนายทัพนายกองเจ้านายท้าวพระยาในเมืองหลวงพระบางซึ่งไปด้วยกองทัพ กับท้าวเพี้ยหมื่นขุนกรมการ และพวกหัวพันในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหกและเมืองสิบสองจุไทย กับพวกจีนฮ่อ และพวกตำบลต่างๆ ซึ่งเป็นข้าขอบขัณฑสีมา พร้อมกันบ่ายหน้าต่อกรุงเทพพระมหานคร กราบถวายบังคมถวายชัยมงคลโดยความยินดีปิติถ้วนทั่วหน้ากัน

ครั้นเวลาค่ำลงแล้ว แม่ทัพก็ให้จัดอาหารเลี้ยงกันเป็นการสุขสำราญถ้วนทั่วหน้ากัน กับให้มีการมหรสพเล่นฉลองตามภาษาเพศบ้านเพศเมืองของเขา เพื่อให้เป็นการคึกครื้นโดยสมควร ทุกประการ

วันจันทร์ เดือน ๑๐ แรม ๙ ค่ำ ปีจอ ตรงกับ วันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๒๙ เป็นวันกำหนดที่จะถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา

แม่ทัพและนายทัพนายกอง พร้อมด้วยเจ้านายเมืองนครหลวงพระบางซึ่งไปกับกองทัพ และท้าวขุนกับพวกหัวพันในเมืองหัวพันทั้งห้าทั้งหก กับพวกจีนฮ่อที่เข้ามาสวามิภักดิ์ ซึ่งเป็นข้าขอบขัณฑสีมา และพวกหัวหน้าต่างๆ ทหารกรุงเทพฯ และทหารหัวเมืองประชุมพร้อมกัน แม่ทัพจึงให้อ่านคำแช่งน้ำตามธรรมเนียม เสร็จแล้ว ก็พร้อมกันบ่ายหน้าต่อกรุงเทพพระมหานครกราบถวายบังคมต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ๓ ครั้ง แล้วก็รับพระราชทานน้ำพระพิพัฒน์สัตยาทั่วกันตามแบบราชการ


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.058 วินาที กับ 19 คำสั่ง