เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 4671 ขอความกรุณาจากทุกท่านเรื่อง "ร้อยแก้วชั้นสูง" ครับ
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 16 ก.พ. 13, 07:14

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเว็บไซต์เรือนไทยที่เคารพยิ่งทุกท่านครับ

   แม้ผมตั้งกระทู้บทกวีร้อยแก้วของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ จบสิ้นไปแล้ว แต่ การศึกษาขยายผล เพื่อเพิ่มพูนวิทยาของผมยังไม่ยอมจบง่ายๆครับ
ผมหวนกลับไปฟัง “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
“กามนิตวาสิตถี” “หิโตปเทศ” ซึ่งท่านเสฐียรโกเศศ กับท่านนาคะประทีปแปลและเรียบเรียงร่วมกัน
ความอิ่มเอมเอิบอาบซาบซึ้งในรสวรรณศิลป์ ทำให้วันหนึ่ง ผมทดลองเข้าเว็บไซต์ google พิมพ์วลี
“ร้อยแก้วชั้นสูง” ลงไปในช่องให้กรอกข้อความ แล้วระบบค้นหาก็พาผมไปพบเว็บไซต์ของคณะ
อักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตามลิงค์นี้ครับ
http://www.academic.chula.ac.th/search/showprogramsthai.asp?ID_Program=122010 

   พบชื่อวิชา “ศิลปะการเขียนร้อยแก้วชั้นสูง” นั่น ทำให้ผมรู้ว่า เรื่องร้อยแก้วชั้นสูงมีสอนกันอย่างเป็นระบบด้วย แต่ในลิงค์นั่น มิได้จำแนกแจกแจงรายละเอียด ผมก็คั่งค้างในอารมณ์ซีครับ อยากรู้ว่า นิสิตที่ลงเรียนวิชาดังกล่าว จะได้รับมอบหมายงานจากอาจารย์ให้อ่านหนังสือเล่มใดประกอบบ้าง ปรัศนีนี้ ก็คือบทเริ่มต้นของกระทู้ ณ เรือนไทยครับ

   ตามข้ออนุมานโดยอาศัยความเข้าใจของผม ร้อยแก้วชั้นสูง (น่าจะ) หมายถึง งานเขียนที่ประกอบด้วยถ้อยคำอันเลือกคัดจัดสรรอย่างพิถีพิถัน เป็นระเบียบ เรียบร้อย ปราศจากตำหนิ ลื่นไหลเมื่ออ่าน เกิดจังหวะสม่ำเสมอ แม้มิมีกรอบทางฉันทลักษณ์ ก็ระรื่นหูยามสดับ แต่ผมมิมั่นใจว่า ความคิดตนจะถูกหรือไม่ครับ  อันหลักหัวใจนักปราชญ์ซึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนนั้น ท่านให้สุ คือฟัง ผมก็ฟังแล้วในระดับหนึ่ง
จิ ผมก็คิดแล้วตามกำลังสติปัญญาอันน้อยนิด ครั้นคิดเสร็จยังลังเล ก็ต้อง ปุ ในขั้นต่อไป เพื่อจะได้ ลิ ภายหลังครับ

   ในย่อหน้าท้าย จึงกราบขอทุกๆท่าน โปรดเอื้อวิทยาทานผม เกี่ยวกับ ความหมายของ “ร้อยแก้วชั้นสูง” อีกทั้งระบุรายชื่อหนังสือที่ควรอ่านประกอบ เป็นดั่งโคมทองส่องทางให้ความกระจ่างแก่ปัญญากระจ้อยร่อยของผมด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 16 ก.พ. 13, 09:19

ดิฉันเข้าไปตามลิ้งค์      พบว่ามันคนละเรื่องกับที่คิด  ไม่ใช่การเขียนภาษาในวรรณคดี  แต่เป็นอย่างนี้ค่ะ

รายละเอียดวิชาคือ สอนการเขียนร้อยแก้วภาษาไทยสำหรับสื่อต่างๆ โดยเน้นโทรทัศน์และวิทยุ การเขียนภาษาไทยเฉพาะโอกาส รวมทั้งการเขียนสุนทรพจน์และคำปราศรัย   
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 16 ก.พ. 13, 09:51

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอย่างสูงยิ่งครับ ที่เมตตาอธิบาย
เดิมทีเมื่อได้อ่าน ผมคิดเลยไปถึงขนาด อาจารย์ผู้สอนอาจให้นิสิตเรียนวรรณคดีร้อยแก้ว ตั้งแต่สมัยสุโขทัย เรื่อยมาจนรัตนโกสินทร์ แล้วเปรียบเทียบกับวรรณกรรมปัจจุบัน จากนั้นก็มอบหมายให้เขียนร้อยแก้วด้วยลีลาหลากหลายตามตัวอย่างที่ได้ศึกษา โดยส่วนตัว ผมสนใจเรื่องลีลาร้อยแก้วสมัยต่างๆมากครับอาจารย์ แต่เพราะความพิการทางตา ทำให้ไม่สามารถเล็งแลได้รอบด้าน การค้นคว้าผ่านอินทรเนตรก็ใช่ว่าจะสะดวกนักครับ เพราะบางเว็บไซต์ มิได้ออกแบบมาเพื่อเอื้อต่อคนตาบอด
ฉะนั้น หากคำถามใดๆของผม เกิดขึ้นเพราะสันนิษฐานผิด
อาจารย์โปรดกรุณาให้อภัยผมด้วยเถิดครับ
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 16 ก.พ. 13, 09:59

ดิฉันคิดว่าหลักสูตรภาษาไทยในคณะอักษรศาสตร์ ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงจากเดิมสมัยดิฉันเรียน     คือปรับให้ตรงกับความต้องการของยุคสมัย   คำว่า ศิลปะการเขียนร้อยแก้วชั้นสูง เป็นวิชาระดับยากขึ้นจากวิชา ศิลปะการเขียนร้อยแก้ว ที่มีอยู่ในรายวิชาเช่นกัน    ไม่ได้หมายความว่าเป็นภาษาร้อยแก้วที่สละสลวยสูงส่งอย่างภาษาในปฐมสมโพธิกถาแต่อย่างใด

บางทีก็รู้สึกว่าวิชาวรรณคดีอย่างที่เคยเรียนมาทั้งไทยและเทศ อาจจะไม่เป็นที่ต้องการของยุคปัจจุบันแล้วก็เป็นได้ค่ะ   เพราะการเรียนภาษาในสมัยนี้จะมุ่งไปทางการฝึกเพื่อรองรับอาชีพหลังเรียนจบมากกว่า
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 16 ก.พ. 13, 11:43

อ่านคำชี้แจงเพิ่มเติมของท่านอาจารย์เทาชมพูแล้ว ผมอดเศร้าๆลึกๆไม่ได้ครับ แม้จะเห็นด้วยกับกรณี ปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อนิสิตสามารถเข้าสู่การทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็นึกเสียดายครับ อาจเพราะส่วนตัว ผมชอบภาษาแบบเจียระไน ภูมิใจ ตื้นตันปิติทุกครั้งเมื่อได้อ่าน หรือผู้อื่นอ่านงานเขียนที่ทรงคุณค่าทางวรรณศิลป์ให้ฟัง ความรู้สึกเช่นนี้ ผมไม่มีวันเปลี่ยนแปรครับอาจารย์
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 16 ก.พ. 13, 15:18

มาหาอ่านในเรือนไทยก็แล้วกันค่ะ  อย่างภาษาเรื่องสั้นของอังคาร กัลยาณพงศ์ที่เพิ่งลงไปก็จัดเป็นร้อยแก้วชั้นสูงได้    ถ้าดิฉันเจอที่ไหน จะนำมาลงให้อ่านค่ะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 16 ก.พ. 13, 17:16

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูสูงสุดครับ ในความปรานีที่อาจารย์ถ่ายทอดมาสู่คนตาบอดตัวเล็กๆคนหนึ่ง

   ผมมีเรื่องเรียนสารภาพกับอาจารย์และทุกๆท่านครับ คือช่วงคุณยายป่วยเป็นมะเร็งตับ ผมดูอาการท่านอย่างใกล้ชิด ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นทุกขเวทนาสาหัสจากสังขารอันถูกพยาธิเบียดเบียน แต่ก็ถือว่า โชคดี ธรรมชาติเปิดทางให้คุณยายท่านล่วงหน้าไปเสีย ก่อนที่โลกจะเริ่มกวาดล้างมนุษย์หนักขึ้นด้วยภัยพิบัติต่างๆจากสภาวะโลกร้อน และสภาพแปรปรวนของระบบสุริยจักรวาล
ถ้าสมมุติวันใดวันหนึ่ง ผมจะต้องคืนธาตุสี่ขันธ์ห้าก็ไม่วิตกใดๆอีกแล้วครับ ยังหายใจอยู่ก็ศึกษาต่อไป
   ทำบุญครั้งใด ผมอธิษฐานขอ “ปัญญา” เป็นส่วนใหญ่ครับอาจารย์ ไม่เกรงหรอกว่าชาติหน้าจะตาบอดเหมือนชาติปัจจุบันหรือเปล่า (เมื่อก่อนครั้งยังเด็กๆถึงช่วงวัยรุ่นตอนต้นกลัวนักหนาครับ) ผมถือว่า
ตาใน สำคัญกว่าตานอกครับอาจารย์
 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 18 ก.พ. 13, 09:15

ปัญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต (ปัน-ยา-โล-กัด-สะ-มิ-ปัด-โช-โต) แปลว่า ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก ค่ะ คุณชูพงศ์

ภาษาร้อยแก้วชั้นสูง ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 มาจนปัจจุบัน ดิฉันนึกได้อีกเล่มคือนิทาน 12 เรื่องที่ "แสงทอง" หรือหลวงบุณยมานพพาณิชย์ แปลจากนิทานของ F.W Bain  มีเอ่ยถึงไว้ในกระทู้เก่าในเรือนไทย    ท่านตั้งชื่องานของท่านว่า "วรรณวิจิตร" ก็เป็นหนังสือที่วิจิตรสมชื่อ
ไม่ทราบว่าคุณชูพงศ์เคยอ่านหรือยังคะ

ขอยกตัวอย่างมาให้อ่าน
ไกลออกไปทางภาคเหนือ   มีภูเขาหนึ่งใหญ่ยิ่ง  มีความสูงยอดเยี่ยม   แม้มารดาโลกก็ยังเต็มใจเรียกว่าบิดา   มีสีบริสุทธิ์  จนทำให้หิมหงส์ซึ่งสิงอยู่ในทะเลมานัสเผือดไปต่อหน้าผานั้น   เหมือนหนึ่งอายความด้อยของมัน   มีขนาดมหึมาจนแสงอาทิตย์อุทัย แลอัสดงสาดเงาเขาขึ้นฟ้า    เมื่อดาวหมีกระทำการอาวรรตน์อยู่เป็นทินจรรยานั้น    ถึงแก่ต้องเหลือกตาขึ้นดูยอด  ซึ่งเรืองดังลิ้นไฟแลบอยู่ในเวลาอรุณแลสายัณห์
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 18 ก.พ. 13, 11:55

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูที่เคารพยิ่งครับ

   วรรณกรรมของท่านหลวงบุณยมานพพานิชย์  ชุดวรรณวิจิตร ผมยังไม่เคยอ่านเลยสักครั้งครับ แต่นามปากกาของท่าน เคยได้ยินแล้ว อาจารย์กรุณานำมาให้อ่าน  ถือเป็นบุญลาภนัก ทำให้ผมได้รายชื่อหนังสือเพิ่มสำหรับเดินซื้อในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติศกนี้อีกหนึ่งรายการ จะเพียรพยายามหามาให้ได้ครับ
   
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 ก.พ. 13, 15:31

กระผมขออนุญาตเรียนถามท่านอาจารย์เทาชมพูเพิ่มเติมครับ

   จากความพยายามค้นหา “วรรณวิจิตร” ของท่านแสงทอง โดยใช้อินทรเนตรเข้าช่วย ผมพบหนังสือชุดหนึ่ง ชื่อ
“วรรณกรรมของแสงทอง” ครับ หนึ่งชุดสามเล่มจบ แต่พิมพ์นานแล้ว ครั้งใหม่ล่าสุด รู้สึกจะประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๓ (ใหม่ก่อนผมเกิดเสียอีก)
ฉะนั้น เมื่อยังเป็นทรัพย์หายาก ผมจึงขอเก็บหอมรอมริบบรรณสมบัติจากแหล่งที่พอหาได้ก่อนครับ
ผมตั้งใจจะซื้อหนังสือ “ภารตนิยาย” ของท่านอาจารย์ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา มาลองอ่านก่อน ผมรู้แล้วครับ ว่าซื้อได้จากไหน ไม่ลำบากเลยครับ (หรือหากลำบากก็เพียงเล็กน้อย) ถ้าจะเดินทางไปที่นั่น

   ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์ครับ “ภารตนิยาย” ของท่านอาจารย์ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา มีวรรณลีลาใกล้เคียง หรือละม้าย “วรรณวิจิตร” ของท่านแสงทองบ้างไหมครับ อาจารย์โปรดโอยทานวิทยาผมด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

 
   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 ก.พ. 13, 15:34

งานประพันธ์ของอาจารย์ศักดิ์ศรีเป็นงานที่สมควรหาอ่านอย่างยิ่ง   เพราะได้ทั้งความรู้และความไพเราะ  ส่วนลีลาภาษาเป็นคนละแบบกับ "แสงทอง "  ท่านทั้งสองเกิดกันคนละยุคค่ะ  และมีความจัดเจนในการใช้ภาษาคนละแบบกันไป
งานของอาจารย์ศักดิ์ศรีอ่านง่ายกว่า  แต่ก็น่าอ่านไม่แพ้กัน
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 19 ก.พ. 13, 16:22

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูอย่างอเนกอนันต์ครับ
เป็นอันว่า คัมภีร์สำหรับศึกษาร้อยแก้วฝีมือประณีตเล่มต่อไปของผม คือ “ภารตนิยาย”
ของท่านอาจารย์ศักดิ์ศรี แย้มนัดดา แน่นอนครับ คาดว่าจะได้มาในเดือนเมษายนศกนี้ครับอาจารย์

 
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.044 วินาที กับ 19 คำสั่ง