เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 11
  พิมพ์  
อ่าน: 61347 นายพลอองซาน : วีรบุรุษผู้กู้ชาติพม่า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 90  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 10:49

หลังจากเจรจาอย่างหนักระหว่างกลุ่มตะขิ่น30กับนายพันซุซุกิ ที่กองทัพญี่ปุ่นแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการของBIA ทวงทั้งเอกราช ทวงทั้งสิทธิอันชอบธรรม ญี่ปุ่นจึงยอมแต่งตั้งให้บามอ นักการเมืองอาวุโส เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของพม่าในเดือนสิงหาคม1942 (หลังจากที่ก่อนหน้านั้นอังกฤษเป็นผู้ตั้ง นายกรัฐมนตรีประเภทนี้มีแต่งานธุรการ ไม่มีอำนาจบริหารแท้จริง) และตั้ง นายพลอองซาน เป็นผู้บัญชาการกองทัพพม่า ซึ่งมีกำลังพลประมาณ ๔,๐๐๐ คน



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 91  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 10:52

มกราคม 1943 นายกรัฐมนตรี ฮิเดกิ โตโจ ของญี่ปุ่นประกาศว่าจะให้เอกราชแก่พม่าในราวปลายปี แต่พอถึงเดือนสิงหาคมในปีนั้น บามอได้รับการสถาปนาเป็นนายกรัฐมนตรีและประมุขของประเทศ แต่งตั้ง ออง ซาน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติ (Burma National Army : BNA) และมี อูนุ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ



คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 92  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 11:12

สิ่งแรกที่บามอกระทำทันทีในฐานะประมุขแห่งชาติพม่า ที่ในโลกนี้มีผู้รับรองเพียง7ประเทศ คือประกาศสงครามกับประเทศอังกฤษอย่างเป็นทางการ
 
และยังได้เดินทางไปโตเกียวเพื่อร่วมประชุมมหาเอเชียบูรพาในระหว่าวันที่5และ6 พฤศจิกายน 1943 ซึ่งประเทศในอาณัติของญี่ปุ่นถูกเกณฑ์ไปด้วย
จากซ้าย บามอจากพม่า ชางจิงฮุยจากแมนจูกัว วางจิงไว ประธานาธิบดีจีน ฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ผู้แทนของรัฐบาลไทย โฮเซ่ ลอเรล ประธานาธิบดีฟิลลิปปินส์ใหม่ สุภาพ จันทราโบส ประมุขรัฐอิสระแห่งอินเดีย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 93  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 11:41

นายพลอองซาน ก็ได้ไปเยือนโตเกียวเหมือนกันในเดือนมีนาคม1943  และได้พบพันเอก ซูซูกิ ซึ่งกลายเป็นอดีตผู้ประสานงานกับกองทัพพม่าไปแล้ว  อองซานได้รับคำบอกเล่าว่าเขาถูกปลดเพราะสนิทกับคนพม่ามากเกินไป ในเมืองไทย นายพลนากามูระก็หวุดหวิดจะโดนปลดในข้อหาเดียวกันนี้แหละ

รัฐบาลพม่าของบามอก็ยังเป็นเพียงหุ่นที่ญี่ปุ่นสั่งอะไรก็ต้องทำตาม เช่นญี่ปุ่นสั่งให้ไปเกณฑ์แรงงานพม่าไปสร้างทางรถไฟ กะให้ไปทะลุชายแดนไทยที่ทางโน้น ญี่ปุ่นใช้เชลยศึกและกุลีจากมลายู ดังนั้นการที่ใครไปด่าหลวงพิบูลไว้ว่าตัดสินใจเข้าข้างญี่ปุ่นเร็วไปหน่อยนั้น ก็ขอให้ขีดเส้นใต้ตรงนี่ไว้ เพราะแรงงานพม่าล้มหายตายจากนับพันๆคน ที่เมืองกาญจน์ตายมากกว่า แต่ไม่ใช่คนไทย

นายกรัฐมนตรีบามอ เริ่มไม่พอใจและปฏิเสธที่จะร่วมมือกับนายทหารญี่ปุ่น ส่วนหน่วยข่าวกรองของทหารญี่ปุ่นใช้วิธีซ้อม ทรมานชาวพม่าเพื่อ“รีดข่าว”ขังผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องไต่สวน ชาวพม่าเริ่มรู้ตัวว่าญี่ปุ่นร้ายกว่าอังกฤษเสียอีก

บรรดาตะขิ่นทั้งหลาย รวมทั้งผู้นำระดับสูงของพม่าเริ่มคิดจะไล่ญี่ปุ่นออกจากพม่า นายทหารกะเหรี่ยงในกองทัพพม่ารับอาสาติดต่อกับ “หน่วยรบพิเศษของอังกฤษที่ ๑๓๖” ประสานการปฏิบัติ “เฉพาะกลุ่มวงใน” รวมทั้งนายพลอองซาน ได้รวบรวมทุกกลุ่มในขณะนั้น เช่น กลุ่มนายทหารในกองทัพพม่า กลุ่มสังคมนิยม กลุ่มคอมมิวนิสต์มาจัดตั้ง “กลุ่มสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์” (Anti-Fascist People’s Freedom League : AFPFL) ขึ้นมา โดยมีนายพลอองซาน เป็นแกนนำ และต่อมาอองซาน ก็สามารถไปดึงเอากลุ่มกะเหรี่ยงเข้ามาด้วยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น


กะเหรี่ยงมี2กลุ่มนะครับท่านผู้อ่าน มีกะเหรี่ยงพุทธกับกะเหรี่ยงคริสต์ที่เป็นมิตรรักนักรบร่วมกับอังกฤษ ผมอ่านจนตาแฉะก็หาไม่เจอว่าอองซานไปคุยกับฝ่ายไหน

พอดีสถานการณ์เริ่มพลิกผัน อังกฤษกลับเป็นฝ่ายรุกกลับบ้าง ในรูปจะเห็นพระราชวังมัณฑเลย์ถูกย่างสดไปแล้ว


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 94  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 12:03

อังกฤษเห็นว่าอองซานเป็นนกสองหัว กบฏไปเข้ากับญี่ปุ่น แต่พอเห็นญี่ปุ่นกำลังจะแพ้ก็กลับลำมาอี๋อ๋อใหม่ เชอรชิ่ลนั่นน่ะไม่เอาด้วยอยู่แล้ว แต่ลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบทเทนผู้บัญชาการกองกำลังสัมพันธมิตรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เห็นว่า กองทัพจะเข้าไปไล่ญี่ปุ่นในประเทศเช่นพม่าให้สูญเสียน้อยเห็นทีจะยาก ถ้าหากขาดคนพื้นเมืองเข้าร่วม จึงยืนยันความเห็นให้เชอร์ชิลยอมรับกลุ่มสันนิบาตเสรีชนต่อต้านฟาสซิสต์(Anti-Fascist People’s Freedom League : AFPFL) ซึ่งอองซานเป็นผู้นำ

ครั้นวันที่ 27 มี.ค 1945 ได้ฤกษ์งามยามดี นายพลอองซานจึงนำกำลังทหารของตนเข้าสู้รบกับทหารญี่ปุ่น ทหารพม่าจึงได้เลือกเอาวันนี้เป็นวันกองทัพพม่าสืบมาจนปัจจุบัน


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 95  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 12:25

^
A.F.S.ข้างบนย่อมาจากอะไรก็เดาไม่ออกนะคร้าบ แต่ไม่ใช่ประกาศให้นักเรียนสมัครชิงทุนไปศึกษาหาประสพการณ์ในอเมริกาแน่นอน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 96  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 12:29

สงครามจบ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ขบวนการ AFPFLของอองซานก็เป็นฝ่ายชนะไปกับเขาด้วยอย่างฉิวเฉียด

แบบขบวนการเสรีไทยที่เป็นฝ่ายชนะทั้งๆที่ยังไม่ได้ลั่นกระสุนสักโป้งเดียว(ดีแล้ว) แต่ประเทศถือว่าเสมอ ไม่แพ้-ไม่ชนะ



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 97  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 12:44

^
A.F.S.ข้างบนย่อมาจากอะไรก็เดาไม่ออกนะคร้าบ แต่ไม่ใช่ประกาศให้นักเรียนสมัครชิงทุนไปศึกษาหาประสพการณ์ในอเมริกาแน่นอน

A.F.S. ย่อมาจาก American Field Service  เป็นองค์กรเดียวกับ AFS ที่เรารู้จักในปัจจุบัน

คุณวิกกี้ เล่าให้ฟังดังนี้

American Field Service เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๗ เป็นกลุ่มชาวอเมริกันในประเทศฝรั่งเศสจำนวน ๑๕ คน ขับรถพยาบาลช่วยเหลือทหารฝรั่งเศสที่บาดเจ็บครั้งตั้งแต่ประเทศอเมริกายังไม่เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ต่อมามีผู้เข้าร่วมมากขึ้นเป็นทั้งคนอเมริการและคนฝรั่งเศส รวมทั้งสิ้น ๒,๕๐๐ คน และสามารถช่วยเหลือผู้คนที่ได้รับบาดเจ็บมากกว่า ๕๐๐,๐๐๐ คนในสงคราม ต่อมาเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มขึ้น American Field Service ได้มีการก่อตัวอีกครั้ง ครั้งนี้มีการเข้าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งใน ยุโรป ประเทศซีเรีย, อเมริกาเหนือ, ประเทศอินเดีย และประเทศพม่า จนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม ผู้ร่วมองค์การที่มีอายุน้อย ได้พบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อยุติต้นเหตุที่ก่อให้เกิดสงคราม จึงทำให้เกิดองค์การเอเอฟเอสสากลในปัจจุบัน

ปัจจุบันสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา มีประเทศสมาชิก มากกว่า ๕๐ ประเทศทั่วโลกที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม อาสาสมัครกว่าสามแสนคนซึ่งทำหน้าที่อยู่ในชุมชนโดยมิได้หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น ประกอบด้วยบุคลากรจากหลายสาขาอาชีพ ส่วนหนึ่งเป็นครอบครัวอุปถัมภ์ ครู-อาจารย์ บ้างก็เป็นที่ปรึกษาให้กับเยาวชนในชุมชนของตน บางส่วนเป็นผู้รณรงค์หาทุนให้กับเยาวชนที่ขาดแคลน

ในแต่ละปีมีผู้เข้าร่วมโครงการเอเอฟเอสเกือบหนึ่งหมื่นคนจากทั่วโลก การร่วมมือสนับสนุนเงินเข้ากองทุนเพื่อการดำเนินการเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากผู้เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้องค์การเอเอฟเอสยังได้รับการสนับสนุนในด้านอื่น ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนนับเป็นมูลค่ามหาศาลจากทั่วโลก

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 98  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 12:53

อ้อ หาอาสาสมัครไปช่วยดับไฟ


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 99  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 13:04

อ้างถึง
สงครามจบ ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายแพ้ ขบวนการ AFPFLของอองซานก็เป็นฝ่ายชนะไปกับเขาด้วยอย่างฉิวเฉียด
แบบขบวนการเสรีไทยที่เป็นฝ่ายชนะทั้งๆที่ยังไม่ได้ลั่นกระสุนสักโป้งเดียว(ดีแล้ว) แต่ประเทศถือว่าเสมอ ไม่แพ้-ไม่ชนะ

ส่วนพม่า ยังไม่รู้จะออกหัวหรืออกก้อย เพราะเซอร์ดอร์แมน-สมิท ผู้ว่าการรัฐพม่ากลับมาแล้วด้วยมาดของนายใหญ่
 
ดอร์แมน-สมิท (Sir Reginald Dorman-Smith,Governor of Burma)เป็นผู้ว่าการรัฐพม่าคนที่สอง ซึ่งวาระของเขาคาบเกี่ยวกับยุคที่ญี่ปุ่นยึดครองพม่า ทำให้ระหว่างนั้นเขาต้องลี้ภัยไปว่าราชการอยู่ในสิมลา(Simla) เมืองที่อากาศแสนสบายบนภูเขาชายแดนของอินเดียติดต่อกับพม่า

เมื่อสงครามสงบแล้ว ดอร์แมน-สมิทก็คืนเมือง มีพ่อค้าข้าราชการชาวพม่าแห่กันไปร่วมต้อนรับแสดงความยินดีด้วยอย่างมากมาย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 100  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 13:29

พลตรีเซอร์ ฮิวเบร์ต เรนซ์ ผู้บัญชาการกองทัพอังกฤษได้ควบคุมความสงบเรียบร้อยในพม่าอยู่หลังการปลดปล่อยจากญี่ปุ่น ซึ่งทำได้ดีมาก แต่ครั้นดอร์แมน-สมิทมาถึงในฐานะผู้ว่าการรัฐ เขาก็คิดชำระแค้นกับพวกตะขิ่นพม่าที่เคยไปเข้าร่วมกับญี่ปุ่นทันที พร้อมกันนั้นเขาก็พยายามจะนำระบบการปกครองเดิมๆอันเขาถนัดสมัยก่อนสงครามมาปัดฝุ่นใช้อีก โดยไม่พูดถึงเรื่องเอกราชอะไรทั้งสิ้น ดอร์แมน-สมิทเป็นคนเรียกอูซอ อดีตนายกรัฐมนตรีในคาถากลับมาจากอูกานดาเพื่อมาช่วยเหลือเขาทางด้านการเมืองท้องถิ่น

การจะจับอองซานซึ่งได้ชื่อว่าเป็นพันธมิตรร่วมรบกับอังกฤษ ถึงจะมาในนาทีสุดท้ายก็เถอะ ย่อมถือเป็นเรื่องใหญ่ เขาจึงหารือไปทางลอนดอนเรื่องจะตั้งข้อหาอองซานในฐานะฆาตกรฆ่าผู้นำชาวกะเหรี่ยงที่ช่วยอังกฤษรบ ต่อหน้าผู้คนเป็นประจักษ์พยานจำนวนมาก


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 101  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 13:42

อองซานพิสูจน์ว่าเขาไม่ใช่หมูที่จะรอให้เขาเชือด และคนพม่าก็ตื่นตัวขนาดหนัก ทุกคนช่วยกันหาข่าวจนทำให้อองซานมีหูมีตายิ่งกว่าสับปะรด หลังจากสงบรออยู่ในช่วงที่พลตรีฮิวเบร์ต เรนซ์รักษาการ พอรู้ท่าทีของดอร์แมน-สมิทว่าจะเอาอย่างไร เขาก็เริ่มปลุกระดมมวลชนทั้นที

แล้วเหมือนเอาไม้ขีดไปจ่อน้ำมันเบนซิน คนพม่าลุกพรึ่บขึ้นมาช่วยกันเรียกร้องเอกราชทันที


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 102  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 14:03

ข่าวไปถึงลอนดอนที่กำลังปวดหัวกับการเรียกร้องของบรรดาเมืองขึ้นที่โน่นที่นี่ ทางโน้นก็เลยตอบข้อหารือของผู้ว่าการรัฐมาว่า ห้ามทำสถานการณ์ให้เลวร้ายไปกว่านี้ และให้เลิกคิดที่จะจับอองซานไปเลย

ต่อมาดอร์แมน-สมิทมีอาการป่วย สงสัยจะเกิดจากการที่เครียดจัด ต้องกลับไปรักษาตัวที่อังกฤษ แล้วเขาก็ไม่ได้กลับมาอีกเลยเพราะเบื้องบนมีคำสั่งให้พลตรีเซอร์ ฮิวเบร์ต เรนซ์เข้านั่งตำแหน่งผู้ว่าการรัฐแทน เป็นที่แน่ชัดว่าผู้ที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ก็คือลอร์ด หลุยส์ เมาท์แบตเตน

ในภาพพลตรีเซอร์ ฮิวเบร์ต เรนซ์ผู้ว่าการัฐพม่าคนใหม่กำลังเดินคุยกับอองซานในทำเนียบรัฐบาล ในย่างกุ้งเรียกว่า Secretariat Office (สำนักงานคณะเลขาธิการ) ตึกนี้ผมไปเห็นมาแล้วด้วยตนเองและคิดว่าน่าจะเรียกทำเนียบรัฐบาลมากกว่าเพราะนายกรัฐมนตรีจะนั่งเป็นประธานที่นั้น

จบเรื่องแล้วจะพาเข้าซอยเป็นภาคผนวกเรื่องของตึกนี้ เพราะอองซานถูกยิงตายที่นี่


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 103  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 14:11

เรื่องเดียวกันนี้ คุณเพ็ญชมพูลงเอาไว้ว่า

นายพลอองซานถูกเชิญไปพบกับพลเอกสลิม แม่ทัพสนามที่ ๑๔ ของอังกฤษ  นายพลอองซานยืนยันว่ากองทัพแห่งชาติพม่าและรัฐบาลรักษาการของพม่าเป็นพันธมิตรกับอังกฤษ  แต่พลเอกสลิมปฏิเสธและยืนยันว่าตามกฎหมายอังกฤษ นายพลอองซานมีพฤติการณ์เป็นผู้ทรยศ

ลอร์ดเมาท์แบทเทนซึ่งรู้ตื้นลึกหนาบางของเรื่องนี้ดี จึงใช้อำนาจของแม่ทัพสัมพันธมิตรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงส่งจดหมายตัดสินชะตาของนายพลอองซาน ความว่า

"ไม่มีสาเหตุใดที่จะต้องจับกุมอองซาน ขอให้อองซานตระหนักว่าอังกฤษชื่นชมการสนับสนุนของกองทัพพม่าในเหตุการณ์ที่ผ่านมา อย่าลืมว่าครั้งหนึ่งท่านเคยขัดขืนต่อต้านรัฐบาลอังกฤษ ซึ่งอาจจะต้องมีการสอบสวนคดีความ นับแต่นี้ไปความร่วมมือจากฝ่ายพม่าทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเป็นสิ่งที่เราจะพิจารณาและพิสูจน์"

ถึงแม้ว่าข้าหลวงอังกฤษที่ปกครองอินเดียจะคัดค้านอย่างรุนแรง รวมทั้งบรรดาผู้ใหญ่ในลอนดอนต่างก็เห็นว่านายพลอองซานทรยศต่ออังกฤษ และจะต้องได้รับโทษเป็น "อาชญากรสงคราม" โทษคือ ประหารชีวิต แต่ก็ไม่สามารถคัดค้านลอร์ดเมาท์แบทเทนได้

นับว่าลอร์ดเมาท์แบทเทนได้ช่วยชีวิตนายพลอองซานไว้แท้ ๆ

หลังสงครามโลกสิ้นสุด กองทัพอังกฤษเข้าบริหารประเทศพม่าได้ราว ๔ เดือน กรมกิจการพลเรือนของอังกฤษจึงเข้ามาบริหารแทนโดยนายพลฮิวเบอร์ต แรนซ์  (Hubert Rance)  นายพลแรนซ์ สั่งสลายกองทัพแห่งชาติพม่าทันที กำลังพลของกองทัพแห่งชาติพม่าไม่พอใจ ไปรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่ม People’s Volunteer Organization (PVO) แล้วไปเชิญนายพลอองซานมาป็นผู้บัญชาการ โดยไม่ยอมมอบอาวุธคืนแก่ทางการอังกฤษ

ลอร์ด เมาท์แบทเทน พยามหาทางออกโดยยื่นข้อเสนอว่ากองทัพพม่าที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ (ตามแบบฉบับของอังกฤษ) นั้นจะแต่งตั้งนายพลอองซานเป็น รองจเรทหารทั่วไป (Deputy Inspector General) และเปิดโอกาสให้นายพลอองซาน เลือกทางเดินชีวิต ว่าจะเป็น “ทหาร” ต่อไปหรือจะเป็น “ผู้นำทางการเมือง” ในเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๘ นายพลอองซานตกลงใจเลือกที่จะเป็นผู้นำทางการเมือง เขียนจดหมายตอบปฏิเสธตำแหน่ง “รองจเรทหารทั่วไป”

เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๘ หน่วยกิจการพลเรือนของกองทัพอังกฤษจบภารกิจถอนตัวออกจากพม่า อังกฤษส่งเซอร์ เรจินัลด์ ดอร์แมน สมิธ (Sir Reginald Dorman-Smith) กลับมาเป็นข้าหลวงปกครองพม่า ข้าหลวงคนนี้ไม่ค่อยจะถูกชะตากับนายพลอองซาน และมีใจเอนเอียงสนับสนุน อู ซอ ซึ่งเคยประกาศเป็นคู่แข่งทางการเมืองของนายพลอองซาน

องค์กรทางการเมืองที่แข่งแกร่งที่สุดในขณะนั้นคือ สันนิบาตเสรีต่อต้านฟาสซิสต์ (AFPFL)  ซึ่งข้าหลวงอังกฤษพยายามริดรอนบทบาทโดยอู ซอ ร่วมมือกับ ข้าหลวงอังกฤษประกาศจัดตั้ง “สภาบริหารประเทศ” ทำหน้าที่เสมือน “คณะรัฐมนตรี” ปกครองประเทศ โดยไม่เลือกบุคคลจาก AFPFL เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารแต่กลับเลือก อู ซอ และ เซอร์ ปอ ตุน (พวกอังกฤษ) เข้ามาร่วมทำงาน

สถานการณ์สับสนวุ่นวายอีกครั้งเมื่อตะขิ่น ตัน ตุน ผู้นำกลุ่มคอมมิวนิสต์ ใน AFPFL จัดการเดินขบวนและเริ่มก่อสงครามกองโจรเพื่อต่อต้าน “สภาบริหารประเทศ” ที่จัดตั้งโดยข้าหลวงอังกฤษ

เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙ นักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ผู้ใช้แรงงานทั้งหลาย ก่อการสไตร์คทั่วประเทศ เกิดภาวะจลาจล ข้าหลวงอังกฤษจึงเชิญนายพลอองซานมาพบเพื่อเข้าร่วมใน “สภาบริหารประเทศ” โดยให้นายพลอองซานเป็น “รองประธานสภา” เชิญสมาชิก AFPFL ๖ คนมาร่วมด้วยจากจำนวนทั้งหมด ๑๑ คน เหตุการณ์จึงกลับคืนสู่สภาวะปกติ


ลำดับเหตุการณ์ตอนนี้ไม่เหมือนกับของผมซะทีเดียว ก็ไม่ทราบจริงๆว่าที่แท้เป็นอย่างไร แต่ผมก็หวังว่าท่านผู้อ่านจะไม่เอาเป็นเอาตายกับข้อเท็จจริงตรงนี้ นอกจากใครที่คิดจะเอาไปทำวิทยานิพนธ์ ก็ขอให้ไปพลิกตำราประวัติศาสตร์พม่าหาข้อมูลกันเอง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 104  เมื่อ 11 ก.พ. 13, 15:26

นายพลแรนซ์ กับ นายพลอองซาน



บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 5 6 [7] 8 9 ... 11
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 19 คำสั่ง