เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเกิดขึ้นและลามมาถึงพม่า ทะขิ่นอองซานได้รวมตัวเพื่อนนักศึกษาตั้งกลุ่ม "เพื่อนสามสิบ" (The Thirty Comrades) หนีออกไปอยู่กับฝ่ายญี่ปุ่นและฝึกอาวุธที่เกาะไหหลำใน พ.ศ. ๒๔๘๓ และกลับมาพม่าพร้อมกับกองทัพญี่ปุ่น ทะขิ่นอองซานได้เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ในสมัยที่ญี่ปุ่นยึดครองพม่า (เมื่ออายุได้ ๒๘ ปี) และเป็นผู้ก่อตั้ง "กองทัพพม่า" (ซึ่งเพื่อนของตนคือ เนวิน ได้เป็นผู้นำในเวลาต่อมา) กองทัพนี้ร่วมมือกับญี่ปุ่นในชั้นแรก และกลายเป็นเสมือน "เสรีไทย" ที่ต่อต้านญี่ปุ่นเมื่อภายหลัง และเจรจาได้เอกราชจากอังกฤษเมื่อ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ แต่ทะขิ่นอองซานซึ่งตอนนี้ถูกเรียกว่า "นายพลอองซาน" แล้ว ถูกลอบสังหารเสียก่อนเมื่อ ๑๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ นายพลอองซานได้รับการขนานนามว่าเป็น "บิดาแห่งเอกราชของพม่า"
ภาพนายพลอองซานบนธนบัตรพม่า ความจริงมีปรากฏบนธนบัตรหลายราคา หลายรุ่น ภาพที่เลือกมานี้คิดว่าหล่อที่สุด
นายพลอองชานได้รับการยกย่องให้เป็นวีรบุรุษและเป็นบิดาผู้วางรากฐานให้กับรัฐพม่าสมัยใหม่ ธนบัตรที่ปรากฎหน้านายพลอองชานเกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๕๐๑ ในยุคปลายรัฐบาลอูนุ ธนบัตรนี้มีใช้เรื่อยมาแม้นจะเข้าสู่ยุคเผด็จการของนายพลเนวิน และมีใช้มาจนถึงยุครัฐบาลสลอร์ก (State Law and Order Restoration Council - SLORC)
รัฐบาลสลอร์กไม่ได้ประกาศยกเลิกธนบัตรรูปหน้านายพลอองซานอย่างเป็นทางการ อาจเป็นเพราะเกรงจะเกิดความไม่พอใจในวงกว้างและเป็นชนวนให้เกิดการประท้วงตามมาได้ แต่เลือกที่จะปล่อยให้ธนบัตรหน้านายพลอองซานค่อย ๆ หายไป โดยมีธนบัตรรูปสิงห์เข้ามาแทน

ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป และการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy - NLD) เริ่มมีผู้เสนอให้รัฐสภาพิจารณากลับมาใช้ธนบัตรรูปหน้านายพลอองซานหลายครั้ง ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ อูอ่องขิ่นวินสมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรค NLD เสนอต่อรัฐสภาให้ออกแบบธนบัตรจ๊าตใหม่เป็นรูปนายพลอองซาน มีผู้ยกมือเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ ๒๘๖ คน และอีก ๑๐๗ คนไม่เห็นด้วย ทั้งหมดเป็นผู้แทนราษฎรโควต้าจากกองทัพและฝ่ายค้านคือพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party - USDP) นายพลอองซานจึงได้มาปรากฏบนธนบัตรพม่าอีกครั้ง
เมื่อวันที่ ๔ มกราคมที่ผ่านมา เป็นวันครบรอบวันที่พม่าได้รับเอกราชครบ ๗๒ ปี ธนาคารกลางพม่านำธนบัตรราคา ๑,๐๐๐ จ๊าด (ราว ๒๐ บาท) แบบใหม่มาใช้ เป็นรูปนายพลอองซานด้านหน้า และด้านหลังเป็นรูปอาคารรัฐสภาที่กรุงเนปิดอว์ ส่วนธนบัตรเก่ารูปสิงห์ยังใช้ได้ตามปรกติ 
ข้อมูลจาก ออง ซาน กับรัฐพม่าสมัยใหม่ (๑) โดย ลลิตา หาญวงษ์
https://www.matichon.co.th/columnists/news_1878035