เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33479
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 15 เมื่อ 08 ก.พ. 13, 20:21
|
|
สมีอีกคนหนึ่งที่ได้รับจารึกชื่อไว้ในกฎพระสงฆ์ฉบับที่ 9 เป็นพระสงฆ์ที่ร่ำเรียนจนเป็นเปรียญ แต่ชั้นไหนท่านไม่ได้บอกรายละเอียดไว้ บอกแต่ชื่อว่า มหาสีน แต่ทำผิดขั้นปาราชิก ก็เลยถูกเรียกว่า "อ้ายสีน" อ้ายสีนคงทำผิดด้านเมถุนปาราชิก เพราะกล่าวไว้ในกฎว่า เป็นพระอันดับที่ติดพันกับหญิงผู้เป็นโยมอุปัฎฐาก เนื้อความก็แสดงว่าถึงขั้นละเมิดศีลทั้งที่ยังอยู่ในผ้าเหลือง จึงกลายเป็นสมีไปอีกคนหนึ่ง
สมเด็จพระบรมนารถ ฯ..... สั่งว่า..... มหาสีนขาดจากสิกขาบทเป็นปาราชิกลามกในพระศาสนา มิได้เป็นสมณะปฏิญาณตนว่าเป็นสมณ ปิดความชั่วไว้..... กระทำให้พระพุทธศาสนาเสื่อมสูญเศร้าหมองมิควรนักหนา แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ให้พระราชาคณะฐานานุกรมเจ้าอธิการ เอาใจใส่ตรวจตราดูรู้เห็นว่า อันดับนั้นติดพันอยู่ด้วย หญิงโยมอุปฐาก ผิดพุทธวจนะอยู่แล้ว ก็ว่ากล่าวให้ปริวัฎออกเสียจากพระศาสนา อย่าให้เป็นปาราชิก ขึ้นได้ในพระศาสนาดุจหนึ่งอ้ายสีนฉะนี้
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33479
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 16 เมื่อ 08 ก.พ. 13, 20:28
|
|
รัชกาลที่ 1 ท่านกำชับกำชาทางวัดว่าถ้าเห็นพระสงฆ์รูปไหน ชักทำท่าว่าจะติดพันผู้หญิง ก็ให้รีบสึกไปเสียโดยเร็ว อย่าให้ทันกระทำผิดล่วงเมถุนปาราชิกขึ้นมาได้ การจัดระเบียบทางโลกและทางธรรมของชาวพุทธ มีข้อกำหนดชัดเจนว่าพระสงฆ์บวชแล้วสึกออกมามีเมีย หรือมาทำมาหากันอย่างผู้ครองเรือนก็ไม่เป็นไร ไม่มีใครว่า ซ้ำยังให้ความนับถือว่าเคยบวชเรียนมาแล้ว ข้อสำคัญคือระหว่างครองผ้าเหลืองอยู่ อย่าละเมิดศีลของพระก็แล้วกัน ละเมิดเรื่องเล็กๆก็ผิดเล็กๆ ละเมิดเรื่องใหญ่ก็ผิดเป็นโทษใหญ่
ประกาศข้อนี้ท่านบอกไว้ชัดเจนว่าถ้าเจ้าอาวาสเจอว่าพระสงฆ์รูปไหนทำผิดศีล ให้รีบจับสึกออกไปให้พ้นศาสนาเสียเลย แต่ถ้าช่วยกันปกปิดไว้ให้อยู่ในวัดต่อไป เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น โทษฐานสมคบกันนั้น รัชกาลที่ 1 ท่านกำหนดโทษเอาไว้หนัก ลงโทษถึง 7 ชั่วโคตร คือพ่อ ปู่ ทวด ลูก หลาน เหลน โดนเหมารวมหมด
แลให้ประกาศแก่พระสงฆ์อันดับวัดวาอารามจงทั่ว ถ้าพระสงฆ์องค์ใดกระทำความชั่วลามกอยู่แล้วก็ให้ปริวัฎออกเสีย อย่าให้เป็นมลทินอยู่ในพระศาสนา ทรงพระกรุณาหาเอาโทษไม่ ถ้าแลพระสงฆ์องค์ใดปกปิดความชั่วไว้..... มีผู้ว่ากล่าวพิจารณาเป็นสัจ จะเอาตัวเป็นโทษถึง ๗ ชั่วโคตร แล้วจะให้ลงพระราชอาญาตีโยม พระราชาคณะ ฐานานุกรม เจ้าอธิการ อันดับ กระทำความผิดแลละเมินเสีย มิระวังตรวจตรากัน ให้เป็นลามกชั้นในพระศาสนา..... กฎให้ไว้ ณ วันศุกร์ แรมสี่ค่ำ เดือนเก้า ปีขาล ฉศก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33479
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 17 เมื่อ 08 ก.พ. 13, 20:52
|
|
ส่วนกฎพระสงฆ์ข้อ 10 เป็นเรื่องการลงโทษอลัชชี ไม่ใช่สมี สองคำนี้ต่างกันอย่างไร ? พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระธรรมปิฎก (ประยุทธิ ปฺยุตฺโต) ได้ให้คำอธิบายคำว่า "อลัชชี" (อะ-ลัด-ชี) ไว้ว่า "ผู้ไม่มีความละอาย, ผู้หน้าด้าน"
อลัชชีในพุทธศาสนา ใช้เป็นคำเรียกพระสงฆ์ที่ประพฤตินอกรีตนอกรอย ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยโดยไม่ละอายใจ ไม่ละอายชาวโลก ไม่ใส่ใจถึงกฎระเบียบตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ เช่น ไม่สำรวมกายวาจา นุ่งห่มไม่เรียบร้อย ชอบเล่นซุกซนเหมือนเด็กๆ ชอบปั้นน้ำเป็นตัว ดื่มสุราเมรัย เล่นการพนัน
ส่วนสมีคือผู้ละเมิดขั้นรุนแรง 4 ประการอย่างที่อธิบายไว้ต้นกระทู้ ถ้าผิดข้ออื่นๆก็เป็นอลัชชี เช่นพระสงฆ์ดื่มสุราถือเป็นอลัชชี แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นสมี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33479
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 18 เมื่อ 08 ก.พ. 13, 20:59
|
|
รัชกาลที่ 1 ท่านทรงวางกฎ เล่นงานอลัชชีไว้ในขั้นจากเบาไปหนัก เบาคือว่ากล่าวตักเตือน ถ้าไม่ฟังให้รายงานเจ้าอาวาส แต่ทำผิดจริง ก็จับสึก
บัดนี้พระสงฆ์อันนับเข้าในพระพุทธชิโนรสมิได้มีหิริโอตัปปะ คบหากันทำอุลามกเป็นอลัชชีภิกษุ คือเสพสุรายาเมา กระทำจอมปลอมเหมือนสามเณร แลซึ่งพระสงฆ์สามเณร กระทำจลาจลปล้นพระศาสนาดั่งนี้ เพราะพระสงฆ์ราชาคณะ..... ละเมินเสีย มิได้ดูแลกำชับห้ามปราม บัดนี้ให้พระราชาคณะ ฐานานุกรม สังฆการีธรรมการ ราชบัณฑิตย์ พร้อมกันชำระพระสงฆ์ซึ่งเป็นอลัชชีภิกษุ พิจารณารับเป็นสัจ ให้พระราฃทานผ้าขาวสึกออกเสียจากพระศาสนา แต่นี้สืบไปเมื่อหน้า ถ้าผู้ใดเห็นพระสงฆ์กระทำอุลามกเป็นอลัชชี ทำให้ผิดเพศสมณ ไม่ต้องด้วยพระวินัยบัญญัติ ให้ว่ากล่าวตักเตือน ถ้ามิฟังให้ไปบอกเจ้าอธิการ เจ้าคณะ
น่าสังเกตว่า ความผิดขั้นปาราชิก ตรงกับข้อห้ามศีล 8 อยู่บางข้อ คือห้ามมีเพศสัมพันธ์ และห้ามลักขโมย แต่ถ้าเป็นข้อมุสาและเสพสุรายาเมา ไม่ถือว่าเป็นปาราชิก พระแค่ถูกจับสึกเท่านั้นเอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33479
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 19 เมื่อ 11 ก.พ. 13, 13:17
|
|
กฎพระสงฆ์ที่เข้มงวดนักหนาในสมัยรัชกาลที่ 1 คงจะทำให้วงการสงฆ์เข้ารูปเข้ารอยขึ้นมาได้ไม่มากก็น้อย แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆเข้า การหย่อนยานก็คงจะเกิดขึ้นอีก สามรัชกาลต่อมา ประวัติสมีก็ซ้ำรอยเดิม เห็นได้จากประกาศรัชกาลที่ 4 ที่ห้ามภิกษุสามเณรพาสีกาเข้ามาพูดคุยกันในกุฏิ ประกาศนี้ระบุชื่อเสียงเรียงนามสมีและสีกาตัวการเอาไว้ชัดเจน
สาเหตุของเรื่องคือสีกาที่ทางการเรียกว่า "อีเพ็ง" เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง เข้าไม่เข้าเปล่า พกเพลงยาวติดตัวไปด้วย นายประตูก็เคร่งครัดหน้าที่ ไม่ปล่อยให้เดินผ่านไปเฉยๆ แต่จับเพลงยาวได้จึงส่งให้กรมวัง กรมวังก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ กลายเป็นเรื่องใหญ่ถึงขั้นมีพระบรมราชโองการให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวรจักรธรานุภาพทรงชำระ อีเพ็งรับสารภาพว่า เพลงยาวนี้คนเขียนคือพระหนู อยู่วัดพระเชตุพน แล้วยังสารภาพต่อไปว่า พระหนูทั้งๆยังครองผ้าเหลืองอยู่ในวัดก็นัดสีกาเพ็งไปมี พสพ. กันในกุฏิ ไม่ใช่แค่พระหนูรูปเดียว หล่อนก็ยังไปมีอะไรๆกับพระอีกรูปหนึ่งชื่อพระทึ่งในห้องกุฏิ กับมีอะไรอย่างว่ากับพระอีกรูปชื่อพระดวง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33479
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 20 เมื่อ 11 ก.พ. 13, 13:27
|
|
ตุลาการของกรมหมื่นวรจักรฯ มีวิธีสอบสวนเก่งเอาการ อีเพ็งนอกจากสารภาพถึงการกระทำของตัวเองแล้ว ยังแถมจำเลยไปให้อีกหลายคนด้วยทั้งที่ไม่เกี่ยวกับตัว แต่พฤติกรรมเดียวกัน คือพระสงฆ์ชื่อพระทิมก็แอบนัดสีกาปรางไปหาที่กุฏิ พระเสือนัดสีการอดไปหาแบบเดียวกัน เมื่อได้ปากคำของอีเพ็งแล้ว ตุลาการก็ไปเอาตัวพระสงฆ์และผู้หญิงทั้งหมดที่ถูกกล่าวถึงมาสอบสวน ได้ความว่าเป็นความจริง พระทั้งหมดก็เลยได้รับชื่อบันทึกลงในประกาศ เป็นอ้ายสมีกันทั้งหมด ไม่ต้องเรียกกันว่าพระอีกต่อไป เพราะกระทำผิดร้ายแรงขั้นปาราชิก บวชแล้วยังสมสู่กับสีกาถึงในกุฏิ
เมื่อทรงทราบเรื่องทั้งหมด พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็โปรดเกล้าฯให้หลวงธรรมรักษาทำประกาศแจ้งไปยังพระราชาคณะ พระครูฐานา และเจ้าอธิการในกรุงเทพทั้งหมด สั่งห้ามพระสงฆ์ มิให้พูดจากับสีกาบนกุฏิ และทางฝ่ายผู้หญิงก็ทรงสั่งห้ามเข้าวัด ขืนเข้าไปจะถูกตำรวจจับ ปรับเงิน 3 ตำลึง ซึ่งถ้าเทียบสมัยนี้เห็นทีจะเป็นหมื่นบาท
แต่ทั้งๆทรงห้ามเด็ดขาดขนาดนี้ เรื่องสมีหลังประกาศนี้ก็ยังไม่จบสิ้นอยู่ดี
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33479
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 21 เมื่อ 11 ก.พ. 13, 17:32
|
|
ที่ว่าเรื่องยุ่งยังไม่จบ ก็เพราะว่าการประกาศห้ามผู้หญิงเข้าวัด แตกต่างจากประกาศห้ามพระสงฆ์ใช้กุฏิเป็นแชทรูม ประกาศห้ามพระสงฆ์เป็นเรื่องที่ส่งเข้าไปให้พระผู้ใหญ่ในวัดรับทราบก็พอ ส่วนห้ามผู้หญิงเข้าวัดต้องประกาศผ่านมหาดไทย และกลาโหมให้ประชาชนทราบทั่วกัน ผู้ชายจะได้ห้ามเมียห้ามลูกสาวตลอดจนพี่น้องผู้หญิง มิให้เข้าวัดไปคุยกับพระ
แต่ในพระบรมราชโองการประกาศนี้ไม่ได้แจ้งให้มหาดไทยกับกลาโหมทราบ ก็เลยไม่มีใครรู้ หรือต่อให้รู้ก็ถือว่าไม่มีคำสั่งออกมาโดยตรง เจ้าอาวาสก็เลยพลอยเพิกเฉย ไม่รับรู้เรื่องห้ามผู้หญิงเข้าวัด ผู้หญิงก็เลยเข้าไปเดินไปนั่งอยู่ในวัดได้ตามปกติ เมื่อเข้าถึงวัดได้ ก็ง่ายที่จะแอบเข้ากุฏิพระไปพูดคุยกัน เมื่อถึงขั้นนี้ก็ง่ายที่จะเขยิบขึ้นไปถึงขั้นพระสมัครใจทำผิดขั้นปาราชิกขึ้นมาอีก
หลักฐานเห็นได้จากในเดือน ๑๐ หลังประกาศครั้งแรก ๕ เดือน ก็มีการจับผู้หญิงที่ไปสมสู่กับพระในกุฏิขึ้นมาได้อีกครั้ง สาวเจ้าชื่ออีตาบ ส่วนฝ่ายชายในประกาศเรียกว่า "อ้ายเปลี่ยนสมีวัดอรุณ" คราวนี้เห็นทีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯจะกริ้ว จึงเอาจริงถึงขั้นประกาศว่าคราวนี้ ถึงขั้นส่งกองทหารซ้ายขวาเชิญพระราชลัญจกรเข้าไปจับสมีถึงในวัดเอง ไม่รอให้เจ้าอาวาสหรือพระชั้นผู้ใหญ่อื่นๆเป็นฝ่ายจับพระที่ทำผิด และถ้าจับสมีวัดไหนได้ กุฎิพระที่อยู่ใกล้ๆจะโดนหางเลขไปด้วย พระในกุฏินั้นจะโดนโทษเสมอกับสมีที่ทำผิด คำขู่นี้ก็คือห้ามพระด้วยกันรู้เห็นเป็นใจ ช่วยปกปิดความผิดกันนั่นเอง
ยังหาหลักฐานไม่เจอว่า หลังประกาศนี้แพร่หลายออกไป จะได้ผล ยับยั้งจำนวนสมีในรัชกาลที่ 4 ให้น้อยลงแค่ไหน แต่เข้าใจว่าต่อมานานๆเข้าก็คงจะละเลยเพิกเฉยกับเรื่องนี้ขึ้นมาอีก ผู้หญิงก็ยังขึ้นกุฏิพระได้อยู่ แต่ว่าสนทนากับพระตามลำพังไม่ได้ ต้องมีบุคคลที่สามนั่งเป็นพยานรู้เห็นอยู่ด้วย ถึงในปัจจุบันนี้ก็ตาม พระสงฆ์ที่ท่านยังเคร่งครัดในพระวินัย ก็ยังสนทนากับสีกาตามลำพังสองต่อสองไม่ได้อยู่ดี ต่อให้พูดกันกลางแจ้ง ไม่อยู่ในที่ลับตาคนก็ตาม
ขอจบเรื่องเล่าเกี่ยวกับสมีเพียงแค่นี้ค่ะ
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|