เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 56520 จริงหรือไฉน: ญี่ปุ่นกับไทยออกเส้นสต๊าร์ทเดียวกันเมื่อถูกฝรั่งดันให้วิ่ง
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 22:52


พอ1854เปิดเมืองท่าให้อเมริกันไปสองแห่ง ไม่ได้เปิดหมดนะครับ ระหว่างนั้นโชกุนได้สั่งให้โรงงานของทหารหล่อปืนใหญ่เป็นการใหญ่ แต่เอาเข้าจริงในปี1856 อังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์และรัสเซียเอาเรือรบมาร่วมกันบังคับให้เปิดเมืองให้ตนบ้าง โดยการมายิงถล่มเกาะแห่งหนึ่งในแคว้นโชชูเพื่อโชว์พาว ญี่ปุ่นประเมินแล้วไม่กล้ายิงปืนใหญ่ของตนตอบโต้ ต้องกัดฟันยอม พอปี1858 อเมริกันขอให้เปิดเมืองท่าเพิ่มให้อีก แล้วทุกประเทศบังคับให้ญี่ปุ่นทำสนธิสัญญาทางการค้ากับตนคล้ายกับสยามนั่นแหละ ผิดกันที่อัตราค่าภาษีที่ระบุให้เก็บได้เท่ากับจีนคือร้อยชักห้า ของไทยอยู่ที่ร้อยชักสาม ตรงนี้บรรพบุรุษของเราถูกวิพากษ์ไม่น้อยโดยคนอย่างว่า หาว่าโง่กว่าเขาบ้างละ เก่งไม่เท่าเขาบ้างละ ปัดโถ! เก่งไม่เก่งไม่ได้อยู่ที่พูดภาษาเขาได้เท่านั้นนะขอรับ แต่อยู่ที่อำนาจต่อรองทางทหารด้วย จีนกับญี่ปุ่นถึงแม้อาวุธล้าสมัยกว่าแต่กำลังพลเขามีเป็นล้นพ้น  ของไทยมีกระหยิบมือเดียว ฝรั่งเห็นสภาพทหารรักษาพระองค์ของไทยแล้วก็ยิ้มมุมปาก รองเท้าน้าท่านยังไม่มีจะใส่เลย ทั้งกองทัพจะมีซักกี่คนละเนี่ย


แคว้นโจชูได้เข้ารบกับเรือของกองทัพต่างชาตินะครับ ก็คือสงครามที่ช่องแคบชิโมโนเซกิ ซึ่งรัฐบาลกลางไม่ได้ช่วยเหลือเลย ทำให้เจ้าผู้ครองแคว้นโจชู มีความโกรธแค้นรัฐบาลกลางมาก ต่อมาในภายหลังจึงร่วมมือกับแคว้นซัทซึมะ และ โทสะ ก่อสงครามล้มรัฐบาลบากุฟุของตระกูลโตกึงาวะนั่นเอง

กองกำลังของโชกุนส่วนหนึ่งได้หลบหนีไปยังเกาะฮอกไกโด และพยายามแบ่งแยกดินแดนตั้งเป็นรัฐอิสระ จึงถูกกองกำลังฝ่ายสมเด็จพระจักรพรรดิเข้าปราบ โดยในศึกครั้งนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐบาลโชกุนโตคุกาวะ และเป็นการฟื้นฟูพระราชอำนาจในสมเด็จพระจักรพรรดิอย่างสมบูรณ์

เอ้า ท่านโตคุกาวะ โยะชิโนะบุ ถึงคิวท่านมาเข้าฉากได้แล้ว ผู้กำกับสั่งมา จบฉากนี้ก็ไปอยู่เงียบๆไกลๆได้เลย ไม่มีบทโชกุนให้อีกแล้วนะ


แต่ถึงที่สุดแล้ว แคว้นโจชูกับแคว้นซัทซึมะ ก็มารบกันเองในตอนปลายครับ หลังจากที่แสวงหาจุดร่วม และสงวนจุดต่างตอนทำสงครามปราบรัฐบาลบากุฟุของตระกูลโตกึงาวะนั่นเอง เพราะสองแคว้นนี้ไม่ชอบหน้ากันมานานแล้ว

ผลสุดท้าย แคว้นซัทซึมะก็ต้องพ่ายให้กับแคว้นโจชูคู่ปรับตลอดกาลไปจนได้  และบรรดาผู้ใหญ่ในแคว้นโจชู ก็ก้าวเข้ามามีบทบาทในคณะรัฐบาลชุดแรก  หนึ่งในนั้นก็คือ Kido Takayoshi หรือที่เราน่าจะรู้จักกันในนามของ คัทซึระ โคโกโร อดีตสหายร่วมอุดมการณ์เดียวกับ ซาคาโมโต้ เรียวมะ และเคยไปดูเรือดำมาด้วยกันในอดีตนั่นเอง


Holly Wood ก็นำสงครามครั้งสุดท้ายระหว่าง โจชู และ ซัทซึมะ ไปสร้างในนามของ THE LAST SAMURAI นั่นเองครับ
บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 23:42

การพัฒนาการศึกษาในยุคเมจิ นอกจากเรื่องการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ยังไปไกลถึงระดับอุดมศึกษาด้วยครับ

ปี 1873 Imperial College of Engineering ถูกก่อตั้งขึ้นโดย ยะมะโอะ โยโซ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มห้าวีรบุรุษโจชูที่แอบลักลอบหนีออกจากญี่ปุ่นไปเรียนที่อังกฤษ นักเรียนวิศวกรรมหลายคนจากสถาบันนี้ถูกส่งไปเรียนต่อในอังกฤษ คนพวกนี้เป็นกำลังสำคัญในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครับ
ปี 1877 ก่อตั้ง Imperial University เปิดสอนแพทย์ศาสตร์และวิชาอื่นๆ

ทั้งสองแห่งนี้ปัจจุบันรวมกันอยู่เป็น University of Tokyo หรือที่รู้จักกันว่า "โตได" เป็นมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของโลกครับ

ในฝั่งสยาม ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 จะมีคนไทยไปเรียนในต่างประเทศบ้าง และในรัชกาลที่ 5 พระองค์ส่งส่งพระเจ้าลูกเธอหลายพระองค์ไปศึกษาในยุโรป แต่น่าสังเกตว่าพระเจ้าลูกเธอส่วนใหญ่จะไปศึกษาวิชาการปกครอง กฎหมาย และการทหาร กว่าที่สยามจะมีการสอนระดับอุดมศึกษาจริงจังก็เป็นยุคทศวรรษ 1910 ช้ากว่าญี่ปุ่นกว่า 30 ปีครับ ซึ่งเวลา 30 กว่าปีนี้ ญี่ปุ่นพัฒนาประเทศจนเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมหนักแล้ว รบชนะรัสเซียไปแล้วด้วยครับ

การที่ญุี่ปุ่นเปิดสถาบันอุดมศึกษาได้ก่อนสยาม คงไม่ใช่แค่ว่าคิดทำก่อนสยาม แต่สะท้อนให้เห็นภาพว่าเมื่อเริ่มปฏิวัติเมจินั้น ญี่ปุ่นก็มีความพร้อมอยู่ระดับหนึ่งแล้วครับ และแน่นอนว่าล้ำหน้าสยามในยุคเดียวกันอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 01:18

ง่ะ ทั้งท่านอาจารย์ใหญ่และอาจารย์ใหญ่กว่ามาเรียกให้ ด.ช. ประกอบลุกตอบหน้าชั้นแล้ว   ร้องไห้


ในส่วนของพระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒโดยภาพรวมผมเห็นด้วยกับท่านนะครับ แม้ในส่วนรายละเอียดบางอย่างอาจจะมีสงสัยหรือไม่แน่ใจบ้างเช่น


1. เรื่องความเป็นเอกภาพที่ญี่ปุ่นมีมากกว่าไทย เพราะจากการดูละครย้อนยุคและอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นมามาก ในยุคเปิดประเทศความรู้สึกว่าเป็นญี่ปุ่นน่าจะมีน้อยกว่าความรู้สึกว่าเป็นชาวแคว้นนั้นแคว้นนี้ คือน่าจะยังรู้สึกแปลกแยกไม่หล่อหลอมกันเท่าไหร่  แต่หลังโชกุนยกอำนาจคืนให้พระจักรพรรดิแล้วญี่ปุ่นสามารถสร้างศูนย์รวมใจได้ดีมากโดยยึดพระจักรพรรดิเป็นสัญล้กษณ์จนหล่อหลอมกันได้   แต่ในส่วนของไทยผมออกจะยังไม่แน่ใจแบบพระคุณเจ้าฯ ว่าเรารู้สึกว่าเป็นชาติเดียวกันแถวๆ เมืองหลวงเท่านั้น   เพราะคิดว่าชาวบ้านชาวป่าชาวดงห่างไกลอาจจะไม่สำนึกว่าเป็นชาวสยาม แต่น่าจะสำนึกถึงการเป้นข้าแผ่นดินของพระมหากษัตริย์เช่นกัน คือเรามีจุดรวมศูนย์กลางเช่นเดียวกับญี่ปุ่น  ความแตกต่างทางเชื้อชาติไม่น่าจะเป้นปัญหาของคนไทย เพราะเราเปิดรับวัฒนธรรมต่างๆ ได้ง่าย หล่อหลอมกันได้เร็ว


2. ความหนาแน่นของประชากร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญแต่ไม่อาจจะบอกว่าสำคัญที่สุดได้ เพราะปริมาณอาจจะไม่ใช่ปัจจัยทั้งหมด แต่ขึ้นกับคุณภาพด้วย บางประเทศที่มีประชากรหนาแน่นมาช้านานเช่นจีน ดูแค่ชนชาวฮั่น จะเห็นได้ว่าบางช่วงเจริญ บางช่วงย่ำแย่  อังกฤษเองในช่วงเวลาเดียวกันน่าจะมีประชากรน้อยกว่าญี่ปุ่น ทำไมจึงเจริญกว่า  ดังนั้นเรื่องปริมาณคงมีผลแต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก


3. เครือข่ายการตลาด อันนี้ผมเห็นด้วยกับพระคุณเจ้าฯ หมดครับ แต่อยากเสริมว่าส่วนหนึ่งที่การค้าไม่เฟื่องฟูเพราะด้วยวัฒนธรรมของเรา ระบบการค้าของเราถูกผูกขาดโดยกลุ่มขุนนางและเจ้านายมาเป็นเวลานาน ชาวบ้านไม่ได้รับอนุญาตให้ค้าขาย อันนี้จะไปโทษเจ้านายไม่ได้เพราะระบบมันเป็นแบบนี้มาหลายร้อยปีแล้วสภาพสังคมที่วิวัฒนาการมาต่างกันย่อมไม่เหมือนกัน


4. กลไกปกครองคน อันนี้เห็นด้วยกับท่านครับ แม้จะยังไม่แน่ใจ


เนื่องจากถ้ามองประวัติศาสตร์ไป มองการพัฒนาประเทศต่างๆ โดยเฉพาะเกาหลีที่พัฒนามาจากยิ่งกว่าศูนย์ ทำให้องค์ประการต่างๆ ข้างต้นดูจะมีน้ำหนักน้อยลงไปเมื่อมองที่ปัจจัยด้านวัฒนธรรมหรือแนวคิดของผู้คน  ยังมีประเด็นเรื่อง man-year อีกที่ผมคิดว่าถ้าประเด็นนี้มีผลมาก ตอนนี้เราน่าจะต้องเจริญกว่าเกาหลีใต้แล้ว  ดังนั้นปัจจัยหลักที่ทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบต้องไม่ใช่แค่นี้  ปัจจัยหลักที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาน่าจะมาจากเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมของเราแบบที่ท่าน V_Mee เคยว่ามาว่าเราไม่มีภัยธรรมชาติใหญ่ๆ บ้านเมืองอุดมสมบูรณ์ ทำให้ประชากรไม่มีความจำเป็นต้องเตรียมตัวเตรียมพร้อมอะไร บวกกับสภาพสังคมการปกครองทำให้ป่วยการที่ชาวบ้านธรรมดาจะกระตือรือล้น เพราะทำไปก็แค่นั้น  จะเจริญก้าวหน้าหรือได้ดีไม่ได้ขึ้นกับความสามารถของตัวเองแต่อยู่ที่ว่าจะมีใครอุปถัมภ์  เลยทำใหเราเคยชินกับระบบอำนาจเป็นชั้นๆ  บวกกับความเชื่อทางศาสนาที่มีพราหมณ์มาผสมทำให้เราเชื่อในลัทธิดลบันดาล  จนทำให้เรากลายเป็นแบบนี้กันไป เราจึงพัฒนาไปได้ไม่เท่าที่ควร  ว่ากันสั้นๆ คือคุณภาพของประชากรที่ผ่านเบ้าหลอมวัฒนธรรมที่ฝังแน่นมาหลายร้อยปีของเรานั่นแหละ     รูดซิบปาก


จริงๆ อยาก lecture ยาวกว่านี้ แต่แบบท่านอาจารย์นวรัตนแหละครับ บางทีก็ไม่สามารถเรียบเรียงความคิดในหัวออกมาเป็นตัวอักษรได้ดีพอ   ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
warisa
อสุรผัด
*
ตอบ: 30


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 06:55

...อาจารย์คะ...ทหารรักษาวังของสยามที่ใส่กระโปรงในความเห็นที่70...ไม่เคยเห็นมาก่อน..จะว่าเชยก็ได้...ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลใดคะ...และได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากที่ไหน...ถ้าให้เดาคงจะมาจากตะวันตกใช่ไหมคะ..

....ที่ดิฉันอยากจะทราบอีกอย่างก็คือ....ในสมัยก่อนญี่ปุ่นก็มีระบบชนชั้นแบบบ้านเรามาช้านาน...มีปัจจัยอะไรที่ทำให้ประเทศเค้าสลายชนชั้นได้อย่างรวดเร็ว...ต่างจากของเรากับอินเดียที่ทำไม่ได้ซักที...การศึกษาและความมั่นคงทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลักหรือเปล่าคะ....







 
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 07:18

ในประเด็นที่คุณ Crazy HOrse กล่าวว่า "กว่าที่สยามจะมีการสอนระดับอุดมศึกษาจริงจังก็เป็นยุคทศวรรษ 1910 ช้ากว่าญี่ปุ่นกว่า 30 ปีครับ ซึ่งเวลา 30 กว่าปีนี้"

ตอบได้ว่าเป็นเพราะระบบการศึกษาของไทยแต่โบราณอยู่บนพื้นฐานของการศึกษาพระศาสนา  ที่มุ่งสอนให้เด็กชายเพียงอ่านออกเขียนได้  แล้วจึงไปเรียนรู้วิธีปฏิบัติราชการจริงโดยการถวายตัวเข้ารับราชการ  หรือบวชเรียนเป็นพระภิกษุสามเณร
การศึกษาของไทยแต่เดิมมาจึงเป็นการศึกษาเพียงขั้นพื้นฐานพอให้อ่านออกเขียนได้  การศึกษาไทยในระบบโรงเรียนเพิ่งจะมาเริ่มกันอย่างจริงจังในสมัยจัดตั้งโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบใน พ.ศ. ๒๔๒๘ แต่ปัญหาที่ตามมาอีกประการคือ ขาดครูผู้สอน การศึกษาไทยจึงเติบโตขึ้นอย่างช้าๆ  และมาเริ่มแพร่กระจายไปสู่ทั่วประเทศเมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ทรงเผดียงคณะสงฆ์ให้จัดการศึกษาในวัดทั่วพระราชอาณาจักรเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๒ ภายหลังจากเสด็จฯ กลับจากเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก  และเมื่อรัชกาลที่ ๖ เสด็จกลับจากอังกฤษเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๕ รัชกาลที่ ๕ ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี อธิบดีกรมศึกษาธิการออกไปรอรับเสด็จอยู่ที่ญี่ปุ่นในฐานะอดีตพระอภิบาล  กับโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี และพระยาอนุกิจวิธูร เป็นข้าหลวงพิเศษตรวจจัดการศึกษาออกไปรอรับเสด็จที่ญี่ปุ่น มีบันทึกว่าข้าหลวงพิเศษฯ ได้ตรวจดูการศึกษาของญี่ปุ่นแล้วคัดลอกแผนการศึกษาของญี่ปุ่นที่คัดลอกมาจากอังกฤษอีกที  กลับมาทั้งแผน  แล้วได้นำมาปรับปรุงเป็น "แผนการศึกษาชาติ ๒๔๕๖"  ที่กำหนดให้สยามมีการเรียนการสอนเป็นอนุบาล ประถม มัธยม และอุดมศึกษา ดังที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน  และในการเสด็จญี่ปุ่นคราวนั้นพระยาศรีวรวงษ์ ได้บันทึกไว้ใน "นิวัติพระมหานครโดยวิถีรอบพิภพ" ว่า รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จไปทอดพระเนตรการเรียนวิชาผ่าตัดที่อิมพิเรียบยูนิเวอร์ซิตี  และได้ทอดพระเนตรการต่อเรือของอาซาฮีดอคด้วย 

เมื่อรัชกาลที่ ๖ เสด็จขึ้นครองราชย์และมีการจัดตั้งโรงเรียนชั้นอุดมศึกษาในนามของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน จ.ป.ร.ใน.ศ. ๒๔๕๓ แล้วก็ตาม  แต่การศึกษาชั้นอุดมศึกษานั้นเทียบได้เพียงชั้นประกาศนียบัตรยังไม่ถุงชั้นปริญญา  เพราะความรู้ของนักเรียนยังไม่ถึงประกอบกับยังขาดครูที่จะสอนในระดับปริญญา  จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๗ สยามจึงได้เริ่มเปิดสอนสิชาแพทยศาสตร์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นครั้งแรก  ซึ่งนายแพทย์วิรัช  มรรคดวงแก้ว นิสิตเวชชศาสตร์รุ่น ๑ ก็ได้เล่าไว้ว่า เมื่อท่านจบจากโรงเรียนสวนกุหลาบนั้น  เดิมทีท่านตั้งใจว่าจะออกทำงานในบริษัทฝรั่งซึ่งได้เงินเดือนเริ่มต้นถึงเดือนละ ๔๐ บาท  แต่อาจารย์ได้มาชวนให้มาเรียนแพทย์ที่จุฬาฯ ซึ่งในเวลานั้นคนที่มาเรียนแพทย์จะได้ค่าตอบแทนถึงปีละ ๑ ชั่งหรือ ๘๐ บาท  เรียกว่าจ้างให้าเรียน  ท่านจึงตัดสินใจมาเรียนแพทย์

จากที่เล่ามาแสดงให้เห็นชัดว่า เป็นเพราะพื้นฐานการศึกษาของไทยที่ล้าหลังกว่าญี่ปุ่นหลายสิบปี  หากไม่มีการปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ทำให้เกิดความต้องการกำลังคนจำนวนมากเข้าสู่ระบบราชการ  ก็คงจะยังไม่มีการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่  ฉะนั้ที่กล่าวว่าสยามออกสตาร์ทพร้อมญี่ปุ่นก็จะต้องคำนึงถึงรากฐานปัญหาการศึกษาไทยด้วย
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 07:36

...อาจารย์คะ...ทหารรักษาวังของสยามที่ใส่กระโปรงในความเห็นที่70...ไม่เคยเห็นมาก่อน..จะว่าเชยก็ได้...ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลใดคะ...และได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากที่ไหน...ถ้าให้เดาคงจะมาจากตะวันตกใช่ไหมคะ..

  

เข้ามาตอบแทนไปพลาง ๆ ก่อนครับ

สตรีเหล่านี้เป็นทหารรักษาวังในส่วนพระราชฐานฝ่ายใน เป็นที่ซึ่งบุรุษเข้าไปเดินยามรักษาการณ์ไม่ได้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าให้จัดตั้งกองทหารรักษาวังฝ่ายในเหล่านี้กำกับดูแล ซึ่งทหารหญิงจะเข้าสังกัดกรมโขลน มีตำแหน่งและขั้นที่แตกต่างกัน และชุดที่เห็นเป็นการเอาอย่างอังกฤษมาใช้ครับ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 08:19

ประเด็นอื่นผมขออนุญาตผลัดไปก่อน ขอมุ่งในจุดที่เป็นหัวข้อเรื่องของกระทู้นี้

สมัยเอโดะนั้น(1603–1868)  ญี่ปุ่นสร้างเรือสำเภามาตรฐานเดียวกับยุโรปได้แล้ว สามารถนำราชทูตเดินทางข้ามมหาสมุทรไปยังอาณานิคมของเสปญในอเมริกา และเลยไปถึงยุโรป ไม่กี่ทศวรรษต่อมาก็มีกองเรือที่เรียกว่า Red Seal Ship (เรือตราแดง) ซึ่งเป็นเรือสำเภาสามเสาที่มีระวางบรรทุกสินค้าและวางปืนใหญ่ถึง350ลำ เดินทางไปค้าขายทั่วโลก และมาเมืองไทยด้วยตั้งแต่แผ่นดินพระนเรศวร พระเจ้าทรงธรรม และพระนารายน์

ความสามารถของญี่ปุ่นระดับนี้คนไทยทำไม่ได้ ต้องอาศัยเรือจีนหรือเรือฝรั่งในการนำราชทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีโพ้นทะเล เรือสินค้าที่ติดธงไทยก็เป็นเรือของคนจีนทั้งนั้น โดยแบ่งผลกำไรกันระหว่างพระเจ้าแผ่นดินผู้ลงทุนและไต้ก๋งในอัตรา4ต่อ1ของผลกำไรที่ได้เที่ยวนั้น ที่คนไทยว่าญี่ปุ่นมาซื้อปืนใหญ่เมดอินไซแอมไปใช้ในกองทัพนั้น เห็นทีจะโม้ ญี่ปุ่นมีสินแร่โลหะทุกชนิดที่สยามไม่มี เป็นผู้ส่งออกทองแดงและเงินด้วยซ้ำ เหล็กถึงจะมีไม่มากถ้าเทียบกับยุโรปแต่คุณภาพของดาบญี่ปุ่นนั้นถือว่าสุดยอดในโลกเหมือนกัน ปืนคาบศิลาที่ไทยทำไม่ได้ก็ทำตามที่ปอร์ตุเกสสอนไว้ได้เองอยู่ แล้วปืนใหญ่แบบหน้ากระทรวงกลาโหมจะไปยากอะไรเล่า แต่ถ้าจะซื้อกระบอกที่ลวดลายแปลกๆไปกำนัลนายบ้าง อันนี้น่าจะเป็นไปได้

ญี่ปุ่นนั้นรัฐเป็นผู้ค้าขายเอง  ดังนั้นใครที่สงสัยว่าญี่ปุ่นรวยมาอย่างไรก็ตรงนี้ละส่วนหนึ่ง แต่เขาก็ยังไม่อาลัยใยดี เมื่อถึงคราวก็ปิดประเทศมันเสียเลยถึงสองร้อยกว่าปี แสดงว่ารายได้จากระบบเศรษฐกิจในประเทศเขาเหลือเฟืออยู่แล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 08:26

ญี่ปุ่นเป็นสังคมเกษตรกรรมในตอนนั้นโดยข้าวเป็นผลิตผลหลักของประเทศ ไดเมียว(เจ้าของที่ดินรายใหญ่)ทั้งหลายเก็บภาษีเป็นส่วย ส่วนแบ่งสูงถึง 40%หลังเก็บเกี่ยว ข้าวทั้งหมดจะถูกนำมาเปลี่ยนเป็นเงินในตลาดกลางที่เอโดะในรูปแบบของสัญญาซื้อขายล่วงหน้า  ส่วนข้าวที่บรรจุกระสอบจะขนไปสู่ผู้ซื้อโดยตรงตามสัญญา

ถึงจะปิดประเทศ ญี่ปุ่นก็ไม่ได้ปิดหูปิดตา คบค้าพ่อค้าดัชท์ไว้โดยหวังตำราทางด้านวิชาภูมิศาสตร์ การแพทย์ วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติศึกษา ดาราศาสตร์ อักษรศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ฟิสิกส์ ไฟฟ้า เครื่องกล และนำมาศึกษาในระดับของปัญญาชนกลุ่มหนึ่ง ผมไม่ทราบว่าในสมัยอยุธยา จะมีคนไทยสนใจจะเรียนรู้วิทยาการพวกนี้จากตำรามากไหม หลักฐานอาจจะโดนพม่าเผาไปหมดสิ้นดังคุณวีมีว่า หรือจริงๆแล้วไม่สนใจอะไรมากไปกว่าไวน์และบรั่นดี
 
การเก็บภาษีสูงขนาดนั้น ทุกข์ก็ไปลงที่ชาวนา ใครที่เคยดูหนังทีวีเรื่องโอชินคงจำได้ว่านางเอกในสมัยเด็กๆนั้น พ่อแม่ยากจนต้องขายลูกมาเป็นเด็กรับใช้ในบ้านพ่อค้า น่าสงสารมากจนคนดูสะอื้นในหัวอก แต่โอชินยังโชคดีกว่าลูกสาวชาวนาหลายคนที่ไม่ต้องมานั่งอยู่ในกรง ที่สมัยนี้เมืองไทยเขาพัฒนาเป็นห้องกระจก

และชาวนานี่เองที่เป็นฐานในการโค่นล้มระบบโชกุนและไดเมียว ซึ่งเป็นศักดินาตัวพ่อของญี่ปุ่น และนำไปสู่การสลายชนชั้นในที่สุดก่อนที่นายเลนินจะเกิด ตรงนี้ตอบคุณwarisaไปด้วยเลย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 08:31

สมัยปฏิรูปเมจิ(1868–1912) รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศนโยบาย “ประเทศมั่งคั่ง กำลังเข้มแข็ง” (Rich State and Strong Army Policy) คณะผู้บริหารได้ยอมรับเอารูปแบบการศึกษาของตะวันตกมาจัดระบบให้เยาวชน ด้วยทุนที่รัฐบาลยุคก่อนสะสมไว้ให้ สมัยนี้จึงส่งนักเรียนไปเรียนในยุโรปและอเมริกาเป็นพันๆคน วงเล็บไว้หน่อยกันถูกกล่าวหาว่ายกเมฆ(sent thousands of students to the United States and Europe) พวกนี้เมื่อกลับมาแล้วก็เป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูปประเทศต่อไป
ของสยามในสมัยรัชกาลที่5 คงมีจะเงินพอจะส่งไปได้ไม่กี่สิบคน และแน่นอน ท่านก็ต้องส่งลูกไปก่อนผมคงไม่ต้องอธิบายเหตุผล เท่านั้นยังไม่พอนะครับ เขาได้จ้างครูฝรั่งมากกว่าสามพันคนเข้ามาสอนวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คำนวณ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศให้เยาวชนของเขา (hired more than 3,000 Westerners to teach modern science, mathematics, technology, and foreign languages in Japan)

เฮ้อ…เฮือกกกก ของเรามีเงินจ้างได้สิบกว่าคนมั้ง และส่วนใหญ่ก็จ้างมาในวัตถุประสงค์ที่จะป้องกันชาติบ้านเมือง เพราะฝรั่งเศสกับอังกฤษมาเกร่ๆอยู่แถวๆรั้วบ้านแล้ว



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 08:49

...อาจารย์คะ...ทหารรักษาวังของสยามที่ใส่กระโปรงในความเห็นที่70...ไม่เคยเห็นมาก่อน..จะว่าเชยก็ได้...ตรงกับรัชสมัยของรัชกาลใดคะ...และได้รับอิทธิพลการแต่งกายมาจากที่ไหน...ถ้าให้เดาคงจะมาจากตะวันตกใช่ไหมคะ..

ท่านอาจารย์ตอบไว้ดังนี้

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หัดพวกโขลนขึ้นเป็นทหาร แต่งตัวเสื้อแดง กางเกงแดง เสื้อมีชายยาวถึงเข่า หมวกแก๊ปสูง เรียกว่าทหารจิงโจ้  คำว่าจิงโจ้ ไทยเราใช้ศัพท์นี้เรียกสัตว์ประหลาด ต่อมาก็เรียกตัว Kangaroo ของออสเตรเลียที่ดูว่าประหลาดเพราะมีกระเป๋าใหญ่โตที่ท้องสำหรับใส่ลูก ว่าจิงโจ้ด้วย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเองทรงเห็นใครแต่งตัวโคร่งๆ ก็จะทรงเปรียบกับจิงโจ้ เช่น ในพระราชหัตถเลขา ตรัสเล่าตอนหนึ่งว่า "ขุนนางลังกามาคอยรับ แต่งจิงโจ้ท้องโตเต็มที"  คือแขกลังกาเวลาแต่งเต็มยศ จะนุ่งผ้าหลายชั้น ทำให้ท้องโตออกมา

ในพระราชนิพนธ์ โคลงดั้น เรื่องโสกันต์ ทรงกล่าวถึงทหารจิงโจ้ว่า
 
จิงโจ้ยืนเรียบร้อย               ริมถนน
เสื้อจีบชายกระจาย              สุกจ้า
ถือปืนทั่วทุกคน                 พล่องแพล่ง
นายดาบเดินด้อมถ้า             ถ่องถนน
  
ขบวนเดินเป็นระเบียบคล้อย    คลาไป
พิณพาทย์ทุกวงตี               สนั่นก้อง
จิงโจ้เมื่อถึงใคร                 คำนับ
เสียงจิงโจ้กัดร้อง               เร่าเร้ารุมระงม
      
"จิงโจ้กัด" ไม่ใช่กิริยาที่ทหารหญิงจะใช้ในการต่อสู้ แต่เป็นการทำความเคารพ เพราะคำสั่งที่พวกนี้ใช้บอกทหาร จะแปลกกว่าทหารอื่นๆ คือแทนที่จะใช้ว่า วันทยาวุธ ก็บอกว่า"จิงโจ้กัด"  ดังที่กล่าวไว้ใน โคลงบาทสุดท้ายข้างต้น และแทนที่จะใช้ คำว่า บ่าอาวุธ ก็ใช้ว่า "จิงโจ้หยุด" และแทนที่จะ บอกว่า เรียบอาวุธ ก็สั่งว่า "จิงโจ้นอน" ดังนี้เป็นต้น




บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 08:56

1871ในด้านทหารเรือนั้น รัฐบาลเมจิได้ส่งนักเรียน2คนไปอเมริกา 14คนไปอังกฤษ หนึ่งในนั้นคือ ไฮฮาชิโร โตโก อนาคตแม่ทัพเรือผู้พิชิตรัสเซีย จ้างนายทหารอังกฤษ34คนมาปฏิบัติการในญี่ปุ่น เป็นเวลา2ปี และจ้างนาวาโทนายหนึ่งจากกองทัพเรืออังกฤษมาฝึกนักเรียนนายเรือญี่ปุ่น ในการจ้างอังกฤษหรือฝรั่งเศสต่อเรือรบนั้น ญี่ปุ่นจะขอส่งนายทหารไปเรียนงานสร้างด้วย ต่อมาจึงได้จ้างบริษัทเอกชนในญี่ปุ่นต่อเรือรบบ้าง เช่นอิชิคาวาชิมาและคาวาซากิ
ส่วนเรือรบขนาดหนักยังคงต่อในยุโรป ดังเช่นในปี1883 ได้ให้อังกฤษต่อเรือลาดตระเวนชุดNaniwa ตามภาพข้างล่างพร้อมกัน3ลำ ขนาดรองๆลงมาผมขอไม่กล่าวถึง

ของเรามีกรมหลวงชุมพรพระองค์เดียวที่สำเร็จวิชาทหารเรือในอังกฤษ กรมหลวงสงขลาเสด็จไปศึกษาวิชาทหารเรือของเยอรมันแต่ท่านก็ย้อนไปเรียนแพทย์ตามความชอบของท่าน ในสมัยรัชกาล5 สยามไม่มีเงินที่จะสั่งต่อเรือรบเลย นอกจากเรือพระที่นั่ง ลำที่ใหญ่หน่อยเพราะจำเป็นที่จะต้องใช้เป็นพระราชพาหนะเดินทางไปยุโรปตามนโยบายการต่างประเทศก็คือ เรือมหาจักรี ทรงสั่งปืนใหญ่ขนาดเล็กมาติดตั้งบนดาดฟ้าได้สี่กระบอก งานส่วนใหญ่ก็ใช้ยิงสลุตรับ เวลาเข้าเทียบท่าในต่างประเทศบ้างเท่านั้น

ถึงสมัยรัชกาลที่ 6 แล้วเงินก็ยังไม่พอ ต้องใช้วิธีเรี่ยไรเงินซื้อเรือพิฆาตผ่านสงครามโลกครั้งแรกของอังกฤษมือสองมาได้ลำหนึ่งในราคาประมาณสองแสนบาทไทย พระราชทานชื่อว่า เรือหลวงพระร่วง เวลานั้นญี่ปุ่นเลิกซื้อเรือรบอังกฤษแล้วเพราะเรือที่ต่อเองคุณภาพใช้การได้ รัชกาลนี้เอง สยามได้เริ่มซื้อเรือรบ Made in Japan มาใช้ในกองทัพ 2 ลำ เป็นเรือตอร์ปิโด ขนาดเล็กย่อมเยาหน่อยจากอู่คาวาซากิ


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
warisa
อสุรผัด
*
ตอบ: 30


ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 09:10

...ขอบพระคุณอาจารย์เพ็ญชมพูกับอาจารย์หนุ่มสยามมากค่ะ...ที่ให้ความกระจ่างเรื่องทหารหญิงรักษาวัง...ที่ดิฉันถามเพราะคิดว่าเป็นทหารเป็นผู้ชายค่ะ ยิงฟันยิ้ม...ก็เลยสงสัยว่าทำไมต้องใส่กระโปรงด้วย..  อายจัง
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 10:15

ขอบคุณที่มาช่วยตอบนะครับ

เรื่องของกองทัพเรือสยามนั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯได้โปรดให้สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลไปทรงศึกษาในโรงเรียนนายเรือที่ Imperial German Naval College ซึ่งก็ทรงทำได้ดีเยี่ยม ระหว่างที่ทรงศึกษาอยู่ก็ทรงสอบได้เป็นที่1 และในปี1911และในปีสุดท้ายของการศึกษา ยังทรงอัจริยภาพด้วยการชนะการประกวดการออกแบบเรือดำน้ำ ในดินแดนของผู้สร้างเรืออู เจ้าตำนานแห่งเรือดำน้ำอันทรงอานุภาพของโลก

แต่เรือดำน้ำของพระองค์ก็คงยังอยู่ในกระดาษ
 
และก่อนหน้านั้นในปี 1906 ญี่ปุ่นสามารถสร้างเรือดำน้ำของตนเองสำเร็จเป็นลำแรกแล้ว


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 10:31

คอมของผมเพิ่งจะเปิด The Last Samurai ที่คุณ samun007 เอามาแปะไว้ให้ได้

หนังช่วงนี้ช่วงเดียวก็ตอบได้ว่ากองทัพในสมัยเดียวกันนั้น ญี่ปุ่นไปไกลกว่าสยามมาก ตอนนั้นคงร่วมๆสมัยกับที่เรารบสงครามญวนในเขมร ออกผลเสมอกัน ไม่นานต่อมาญวนก็ถูกกองทหารฝรั่งเศสบดขยี้ยับเยิน
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 11:59

ขออนุญาตแก้ราคาเรือรบหลวงพระร่วงครับ  ราคาที่ว่าสองแสนกว่านั้นเป็นเงินปอนด์ครับ  คิดเป็นเงินไทยก็เกือบ ๓ ล้านบาทครับ  ซึ่งกว่าจะระดมเงินได้ขนาดนี้รัชกาลที่ ๖ ต้องทรงลำบากถึงกับทรงบ่นออกมาดังๆ ว่า แค่ลำเดียวนี้ก็เกือบจะทรงอาบเหงื่อต่างน้ำแล้ว
นักเรียนไทยที่ไปเรียนวิชาการทหารเรือมากยุโรปยังมีอีกครับ เช่น พระยามหาโยธา (ฉ่าง  แสง - ชูโต) ท่านนี้สำเร็จกลับมาก่อนเสด็จในกรมชุมพรฯ  อีกท่านหนึ่งคือ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร
ส่วนเรื่องเรือใต้น้ำที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงพระดำรินั้น  ใช่ว่ารัชกาลที่ ๖ จะไม่ทรงเห็นความจำเป็น  แต่สยามไม่มีเงินพอจะซื้อ  และไม่มีนายทหารเรือไทยที่มีความรู้เรื่องการรบโดยเรือใต้น้ำเลย  เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๑ มีพระราชดำริจะให้นายทหารเรือไทยได้ไปฝึกปฏิบัติการในเรือใต้น้ำ  แต่กองทัพเรือองกฤษก็ปฏิเสธมาโดยตลอด  จนถึงกับต้องทรงใช้ความสัมพันธ์ส่วนพระองค์ขอร้องพระเจ้ายอร์ชที่ ๕ กองทัพเรืออังกฤษจึงยอมให้ นายนาวาตรี หลวงหาญสมุท (บุญมี  พันธุมนาวิน - ต่อมาเป็น นายพลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุท) ไปฝึกหัดปฏิบัติการในเรือใต้น้ำอังกฤษเพียง ๑ คนเท่านั้น  ท่านผู้นี้ต่อมาได้เป็นกำลังสำคัญผลักดันให้กองทัพเรือสยามสั่งซื้อเรือใต้น้ำมาประจำในกองทัพเรือไทย  และเป็นผู้ฝึกนายทหารเรือไทยในการบังคับเรือใต้น้ำ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.093 วินาที กับ 19 คำสั่ง