เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 56730 จริงหรือไฉน: ญี่ปุ่นกับไทยออกเส้นสต๊าร์ทเดียวกันเมื่อถูกฝรั่งดันให้วิ่ง
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 11:57

ขอลาพักเที่ยงคะร้าบ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 12:14

สมเด็จพระจักรพรรดิเมจิทรงมีพระนามเดิมว่าเจ้าชายมัตสุหิโต ประสูติในวันที่3 พฤศจิกายน 1852 ก่อนสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯซึ่งประสูติในวันที่ 20 กันยายน 1853 ไม่ถึงปี

ถึงตรงนี้ต้อง ขออนุญาตเพิ่มเติมความรู้เรื่องพระนามจักรพรรดิและชื่อรัชสมัยของญี่ปุ่น บรรยายโดยอาจารย์ประกอบ

เพิ่มเติมซักนิด จริงๆ แล้วคำว่าเมจิ ไทโช โชวะ หรือเฮเซ เป็นคำที่ใช้เรียกรัชสมัยของจักรพรรดิแต่ละพระองค์ ซึ่งจริงๆ แล้วจักรพรรดิจะมีพระนามด้วย เช่นจักรพรรดิมัซสุฮิโต ใช้ชื่อรัชสมัยว่าเมจิ หรือจักรพรรดิโยชิฮิโต ใช้ชื่อรัชสมัยไทโช  อย่างปัจจุบันจักรพรรดิอากิฮิโต ใช้ชื่อรัชสมัยเฮเซเป็นต้น

รัชสมัยของจักรพรรดิฮิโรฮิโต เรียกว่าสมัยโชวะ

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 12:44

^
โอโฮครับ ไม่ทานข้าวทานปลาบ้างหรืออย่างไร
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 12:50

อิ่มท้องแล้วผมอยากให้ดูรูปเรือรบของสยามและญี่ปุ่นในสมัยนั้นต่อในเชิงเปรียบเทียบ ก่อนที่จะสร้างเรือรบเองได้นั้นญี่ปุ่นมีเงินซื้อเรือรบสมัยใหม่จากอังกฤษ ฝรั่งเศสและอเมริกาทั้งกองทัพ หลายสิบลำ เพียงแต่เรือพวกนี้ถูกประเทศผู้สร้างถ่วงเวลาการจัดส่งไว้จนกระทั่งพวกตนได้สิ่งที่ต้องการจากญี่ปุ่นเสียก่อน อย่างไรก็ดี กองเรือของฝ่ายโชกุนก็ได้ใช้เรืออันทันสมัยดังกล่าวในการทำศึกทางทะเลกับฝ่ายสมเด็จพระจักรพรรดิ จนได้รับชัยชนะ แต่เมื่อการรบทางบกแพ้ยับ ฝ่ายโชกุนก็พ่ายสงครามอยู่ดี

การรบครั้งนั้นจึงถือเสมือนการซ้อมรบครั้งสำคัญของกองทัพเรือญี่ปุ่น โดยเฉพาะนายพลโตโก แม่ทัพเรือของญี่ปุ่นที่ทำยุทธนาวีชนะกองทัพเรือของรัสเซียในกาลต่อมานั้น ท่านเป็นนายทหารเรือหนุ่มที่ประจำการและร่วมรบในสงครามครั้งนี้ในฝ่ายสมเด็จพระจักรพรรดิด้วย แม้จะเป็นฝ่ายแพ้ก็ได้ประสพการณ์เพียบ

ส่วนเรือของสยามที่เอามาเปรียบเทียบเป็นเรือลำใหม่ของกองเรือวังหลวง เดิมชื่อLotus รัฐบาลแมกซิโกที่สั่งต่อไว้แล้วไม่มีเงินจ่าย ผู้สร้างในฮ่องกงจึงบอกขายให้สยามในราคาพิเศษ สมเด็จเจ้าพระยาจึงบัญชาให้ซื้อไว้ โดยเปลี่ยนชื่อเป็นRegent ส่วนภาษาไทยชื่อ พิทยัมรณยุทธ เป็นเรือปืนแต่เอามาใช้เป็นเรือพระที่นั่งในการเสด็จประพาสสิงคโปร และอินเดีย ก่อนจะมีเรือพระที่นั่งเวสาตรี


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
dantoki
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 13:07

ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยล้าหลังกว่าญี่ปุ่น คือคนไทยขาดวินัยครับ

ภาพอย่างนี้จะหาดูไม่ได้เลยในญี่ปุ่น อย่างน้อยก็เฉพาะจังหวัดที่ผมเคยไป อย่างเกียวโต หรือ โอซาก้า
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 13:15

กองกำลังของโชกุนส่วนหนึ่งได้หลบหนีไปยังเกาะฮอกไกโด และพยายามแบ่งแยกดินแดนตั้งเป็นรัฐอิสระ จึงถูกกองกำลังฝ่ายสมเด็จพระจักรพรรดิเข้าปราบ โดยในศึกครั้งนี้ถือเป็นจุดสิ้นสุดของรัฐบาลโชกุนโตคุกาวะ และเป็นการฟื้นฟูพระราชอำนาจในสมเด็จพระจักรพรรดิอย่างสมบูรณ์

เอ้า ท่านโตคุกาวะ โยะชิโนะบุ ถึงคิวท่านมาเข้าฉากได้แล้ว ผู้กำกับสั่งมา จบฉากนี้ก็ไปอยู่เงียบๆไกลๆได้เลย ไม่มีบทโชกุนให้อีกแล้วนะ


55+ ภาพนี้คือ โชกุนโกคุกาว่า โยชิโนะบุ โชกุนองค์สุดท้ายแห่งญี่ปุ่น  เคยดูเรื่องเจ้าหญิงอัตสึ ฮิเมะ ร่วมยุคกับโชกุนอิเอยะซิ เรื่องเรือดำ หรือเรือเพอรี่จอดเทียบท่า แถมยังดูเรื่องเรียวมะ ก็พอจะเห็นถึงความแตกแยกระหว่างโชกุน กับ จักรพรรดิ์ และท้ายที่สุดคือการถวายอำนาจคืนแก่จักรพรรดิ์ และการทำสัญญาต่าง ๆ กับต่างประเทศ  สนุกดีครับ
บันทึกการเข้า
visitna
นิลพัท
*******
ตอบ: 1724


ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 13:27

เรื่องที่สองประเทศสตาร์ทพร้อมกัน เรื่องหนึ่งที่พอจะทราบคือ
กิจการโทรทัศน์ เริ่มเปิดดำเนินการห่างกันปีสองปี คือราวปี 2497-2498
หลังจากเปิดดำเนินการมาจนทุกวันนี้  
ภายในปีนี้ ญี่ปุ่นกำลังจะส่งรายการแบบ 4K คือ ชัดเป็นสี่เท่าของ HD TV
เราจึงตามหลังญี่ปุ่นไม่เห็นฝุ่น ล้าหลังไม่ตํ่ากว่ายี่สิบปี(ประมาณ)

ส่วนเรื่องเรือรบ ในปี คศ 1904 ญี่ปุนช๊อคโลกด้วยการรบชนะกองเรือรัสเซีย
สั่นบัลลังค์พระเจ้าซาร์ นิโคไล ที่2 จนต้องหมดอำนาจในเวลาต่อมา
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 14:05

อ้างถึง
ส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยล้าหลังกว่าญี่ปุ่น คือคนไทยขาดวินัยครับ

สมัยผมยังอยู่มหาวิทยาลัย ครั้งหนึ่งมหาวิทยาลัยเคโอได้ส่งทีมรักบี้มาเยือน สมาคมรักบี้ฯให้จุฬาซึ่งเป็นแชมป์เมืองไทยรับมือ ครั้งโน้นเราไม่เคยเห็นญี่ปุ่นเล่นรักบี้เลยไม่รู้ว่าฝีมือเขาหนักเบาแค่ไหน วันเดินทางมาถึงพวกเราที่ไปรับที่สนามบินกลับมาบอกว่าตัวผู้เล่นเขาใหญ่กว่าเรามาก นายกสมาคมรักบี้แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นนักเรียนเก่าอังกฤษเคยเล่นทีมมหาวิทยาลัยที่นั่นมาก่อน มาดูการซ้อมเย็นวันนั้นกล่าวให้กำลังใจพวกเราว่า พวกคุณไม่ต้องไปกลัวมัน ตัวใหญ่ก็จริงแต่เล่นโง่ว่ะ ผมเคยเล่นกับทีมญี่ปุ่นมาแล้ว คุณส่งลูกให้เร็วๆ บราๆๆๆๆๆ พวกคุณก็ชนะมันได้

แข่งที่สนามศุภฯวันต่อมา เราได้เห็นการเล่นรักบี้ระดับเทพ ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ทั้งเร็ว และทั้งฉลาด เราต้านอยู่ได้สักสิบนาทีก็หมดหนทางต่อสู้ แต้มของเขาเริ่มไหลลื่น หมดครึ่งแรกนำไปแล้วประมาณสามสิบศูนย์ ครึ่งหลังผ่านไปใกล้หมดเวลา เขานำอยู่ห้าสิบกว่าต่อสาม ผมก็ได้เห็นเหตุการณ์ที่ไม่มีวันลืม ขณะนั้น ผู้เล่นของเคโอคนหนึ่งหลุดแนวต้านของเราออกไป โดยมีเพื่อนตามไปแบคอัพด้วยอีกสอง ฝ่ายเราเหลือฟูลแบคอยู่คนเดียว ลูกนี้มันต้องวางกลางประตูแน่นอน ปรากฏว่าคนที่ครองลูกอยู่นั้นเกิดหวงลูก ไม่ยอมส่งให้เพื่อน สับขาหลอกยิกยักกะเป็นพระเอกเข้าไปทำแต้มเสียเอง ฟูลแบคของจุฬาก็สวมหัวใจสิงห์พุ่งเข้าจับ แม้จะล้มยักษ์ไม่ได้แต่ลูกหลุดจากมือ กรรมการเป่าหยุดเกม ทันใดนั้น หัวหน้าทีมของเขาที่วิ่งมาถึงก็ตบหน้าผู้เล่นคนนั้นทันที
 
ถ้าเป็นทีมจุฬา หัวหน้าทีมทำอย่างงั้นกลางสนามศุภฯเป็นต้องถูกลูกทีมสวนกลับแน่นอน จะมาจริงจังอะไรนักหนา แต้มก็นำขาดขนาดนั้นแล้ว แต่ญี่ปุ่นหรือครับ เขารู้ตัวว่าผิดจึงคำนับหัวหน้าทีมอย่างสุภาพ แล้วทุกอย่างก็ดำเนินต่อไป

นี่คือวินัยของคนญี่ปุ่นที่หลุดออกมาให้พวกเราเห็น
ดังนั้น คนที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางอย่างในภาพของคุณdantoki สอนแล้วไม่เชื่อ คงถูกตบหน้าหันมาตั้งแต่เด็กแล้ว


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 14:25

ความพ่ายแพ้เป็นพลังให้คนญี่ปุ่นฮึดสู้หลังสงครามโลก แต่ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมญี่ปุ่นถึงได้ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจก่อนสงครามโลกได้

ระเบียบวินัยของคนญี่ปุ่นก็เป็นเรื่องใหม่ ก่อนปฏิวัติเมจิ ชาวบ้านญี่ปุ่นยังไม่ได้เป็นคนคุณภาพครับ ดังนั้นถึงความเจริญของญี่ปุ่นเกี่ยวเนื่องกับวินัยของคนญี่ปุ่น แต่ไม่ได้เป็นเหตุ เพราะไม่อย่างนั้นญี่ปุ่นก็ต้องเจริญตั้งแต่ก่อนถูกฝรั่งดันแล้วครับ

เชื่อว่าคำตอบกำลังจะมาถึงครับ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
warisa
อสุรผัด
*
ตอบ: 30


ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 14:33

...อาจารย์คะ..แหะๆ...ขอขัดจังหวะ ยิ้มเท่ห์..ที่โรงเรียนญี่ปุ่นมีกฎห้ามตีเด็กค่ะ...เท่าที่เจอมาครูที่นี่ไม่ค่อยดุเด็ก...แต่จะมีข้อตกลงที่จะต้องปฎิบัติในห้องเรียนซึ่งเด็กก็ทำตามเป็นอย่างดี...ส่วนเรื่องวินัย...จะว่ามาจากโรงเรียนทั้งหมดก็ไม่ใช่...เพราะช่วงที่เด็กเข้าจะเข้าอนุบาล1 โรงเรียนยังไม่ได้อบรมสั่งสอนเรื่องวินัยแต่เด็กก็สามารถฟังครูใหญ่ปฐมนิเทศได้เป็นชั่วโมงโดยไม่คุยกัน...ดิฉันออกจะแปลกใจอยู่เหมือนกัน.....
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 14:35

การบริหารปกครองประเทศของญี่ปุ่นเปลี่ยนมาเป็นระบอบราชาธิปไตยโดยมีกลุ่มผู้มีอำนาจจากแคว้นพันธมิตรได้ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลภายใต้พระราชอำนาจในสมเด็จพระจักรพรรดิขึ้น เรียกขานอีกอย่างหนึ่งว่ากลุ่มคณาธิปไตยเมจิ (Meiji oligarchy) เพราะต้องการผนึกกำลังฝ่ายของตนให้เข้มแข็งไว้ต่อกรกับกลุ่มอำนาจเก่าสมัยเอะโดะ ทั้งที่เป็นพรรคพวกของโชกุน ไดเมียว และชนชั้นซามูไร ที่ยังคงเหลืออิทธิพลอยู่ เรียกขานยุคนี้ว่า การปฏิวัติเมจิ(Meiji Restoration)ตามที่คุณม้าเข้ามาแถลงนำ

เริ่มต้นในปี 1868 ที่ดินของตระกูลโตคุกาวะ ทั้งหมดได้ตกไปอยู่ในส่วนทรัพย์สินของสมเด็จพระจักรพรรดิ ไดเมียวต่างๆได้ถูกหว่านล้อมให้ถวายดินแดนของแคว้นคืนแด่สมเด็จพระจักรพรรดิตามด้วย เมื่อเลิกระบบศักดินาตัวจริงได้แล้ว กลุ่มคณาธิปไตยเมจิก็ได้พยายามที่จะเลิกระบบชนชั้นทั้งสี่ อันได้แก่ ชนชั้นปกครอง(ซามูไร) เกษตรกร ช่างฝีมือ และพ่อค้าลงให้หมด

ในขณะนั้น มีซามูไรทั่วประเทศญี่ปุ่นถึง 1.9 ล้านคนที่จะจงรักภักดีต่อผู้ที่เป็นนายเท่านั้น เมื่อนายหมดรายได้รัฐบาลกลางต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ซามูไรแต่ละคน ยอมรับเป็นนายแทนทั้งๆที่ไม่มีงานให้ทำ กลุ่มคณาธิปไตยจึงได้ดำเนินนโยบายยกเลิกชนชั้นซามูไรอย่างช้าๆ โดยเปลี่ยนจากการรับเบี้ยเลี้ยงจากเงินสดเป็นพันธบัตรรัฐบาลทั้งหมด ทำให้ซามูไรต้องยอมไปหาอาชีพอื่นทำในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆที่ต้องการผู้ที่มีความรู้ความสามารถระดับที่เป็นผู้นำมาก่อนเป็นจำนวนมาก

1873 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงบรรลุพระราชนิติภาวะ สมเด็จเจ้าพระยาพ้นจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พระเจ้าอยู่หัวทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์สยามโดยสมบูรณ์ ทรงตั้งสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินจำนวน 12 คน และคณะที่ปรึกษาในพระองค์ จำนวน 49 คน เพื่อช่วยพระองค์ในการว่าราชการแผ่นดิน


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 14:41

อ้างถึง
...อาจารย์คะ..แหะๆ...ขอขัดจังหวะ ..ที่โรงเรียนญี่ปุ่นมีกฎห้ามตีเด็กค่ะ...เท่าที่เจอมาครูที่นี่ไม่ค่อยดุเด็ก...แต่จะมีข้อตกลงที่จะต้องปฎิบัติในห้องเรียนซึ่งเด็กก็ทำตามเป็นอย่างดี...ส่วนเรื่องวินัย...จะว่ามาจากโรงเรียนทั้งหมดก็ไม่ใช่...เพราะช่วงที่เด็กเข้าจะเข้าอนุบาล1 โรงเรียนยังไม่ได้อบรมสั่งสอนเรื่องวินัยแต่เด็กก็สามารถฟังครูใหญ่ปฐมนิเทศได้เป็นชั่วโมงโดยไม่คุยกัน...ดิฉันออกจะแปลกใจอยู่เหมือนกัน.....

สมัยนี้คงไม่ตีแล้วครับ แต่สมัยปู่ย่าตายายโดนตีแน่นอน สมัยพ่อแม่ก็คงน้อยลงมากแล้ว

ธรรมชาติของเด็ก ถ้าพ่อแม่ไปไปยุ่ง ไม่ไปให้ท้าย ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครู ครูก็เอาอยู่ครับ ที่เอาไม่อยู่ก็พวกเด็กที่ถูกทางบ้านตามใจจนเสียนิสัย แล้วจะมาใช้อิทธิพลบีบให้ครูเอาใจลูกของตนเป็นพิเศษ

ปัญหาเรื่องนี้ ญี่ปุ่นไม่มี เพราะพ่อแม่มีวินัย รู้วินัย เด็กก็มีวินัยตาม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 15:10

ก่อนจะถึงปีนั้น มีเหตุการณ์บ้านเมืองเกิดขึ้นในญี่ปุ่นแล้วคือ

1870: มีหนังสือพิมพ์ภาษาญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ส่วนหนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรกของสยามคือ “บางกอกรีคอร์เดอร์” ออกในปี 2387 แต่เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องความเจริญ แต่เป็นเรื่องของเสรีภาพมากกว่า
1870: เอกชนตั้งบริษัทเดินเรือขึ้น ซึ่งต่อมาคือมิตซูบิชิ
1872: เปิดรถไฟสายแรกระหว่างโตเกียว-โยโกฮามา(ตามรูป)  ส่วนสยามเปิดรถไฟสายแรกคือกรุงเทพ-ปากน้ำในปี 1893
1872: ให้แต่งกายแบบตะวันตกในพิธีการที่เป็นราชการทั้งปวง ส่วนเรื่องนี้สยามทำแบบผสมผสานมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่๔


บันทึกการเข้า
CrazyHOrse
แขกเรือน
นิลพัท
*******
ตอบ: 1899



เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 15:13

ความจริงก่อนปฏิวัติเมจิ ญี่ปุ่นก็มีต้นทุนเหนือสยามอยู่หลายประการแล้วครับ
- ญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรหนาแน่นกว่าสยามมาก ผมไม่มีข้อมูลย้อนหลังไปไกลถึงตอนนั้น แต่ราวปี 1900 ญี่ปุ่นมีประชากรราว 50 ล้าน ในขณะที่สยามน่าจะมีราว 10 ล้านเท่านั้น
- ชนชั้นซามุไร 1.9 ล้านคนตอนปฏิวัติเมจิที่คุณ NAVARAT.C กล่าวถึงนั้น นอกจากเป็นนักรบแล้ว ยังเป็นคนมีการศึกษาด้วยอย่างน้อยก็อ่านออกเขียนได้ล่ะครับ
- ด้วยจำนวนประชากรและความหนาแน่นขนาดนั้น แม้ปิดประเทศ การบริโภคภายในประเทศก็ขับดันให้สภาพเศรษฐกิจญี่ปุ่นก้าวหน้าไปมากกว่าสยาม ญี่ปุ่นในยุคนั้นเริ่มมีการผลิตกึ่งอุตสาหกรรมแล้ว และเครือข่ายถนนเชื่อมระหว่างเมืองก็มีการพัฒนามาตั้งแต่ยุคโทะกุงะวะแล้วครับ
- ด้วยสภาพสังคมเช่นนั้น ชนชั้นพ่อค้าก็มีบทบาทสำคัญแล้ว พ่อค้าพวกนี้อิงอยู่กับการบริโภคภายในประเทศ ไม่ได้ร่ำรวยด้วยการค้าต่างประเทศเหมือนพ่อค้าสยามในยุคเดียวกันครับ

ดังนั้นในขณะที่มีการสลายชนชั้นระหว่างปฏิวัติเมจิ สภาพสังคมญี่ปุ่นกับสยามห่างกันอยู่ไม่น้อย และจะส่งผลให้เห็นชัดเจนขึ้นอีกต่อไปครับ
บันทึกการเข้า

"Postel's Law": "be conservative in what you do, be liberal in what you accept from others"
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 15:25

การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่น
โดย พระมหาดร.สมชาย ฐานวุฑฺโฒ

ข้อที่มักมีผู้ยกขึ้นมาเปรียบเทียบกันเสมอ ๆโดยเฉพาะในหมู่คนไทยก็คือ ประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาประเทศมาพร้อม ๆ กันในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งของญี่ปุ่นตรงกับรัชสมัยจักรพรรดิเมจิ แต่ทำไมญี่ปุ่นถึงแซงหน้าเราไปได้ไกลถึงขนาดนี้
จริงอยู่ที่วิธีการพัฒนาของคนในประเทศญี่ปุ่นมีจุดเด่นหลายประการที่ควรศึกษาเป็นแบบอย่าง แต่สิ่งที่คนทั่วไปมักมองข้ามคือ เมื่อเริ่มพัฒนาประเทศนั้นคนญี่ปุ่นและคนไทยมีพื้นฐานไม่เท่ากัน ประเทศญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบไทยอย่างน้อย ๔ ประการ ดังนี้

๑. ความเป็นเอกภาพของคนในชาติ ความที่มีประเทศเป็นเกาะ ทำให้ญี่ปุ่นมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางเชื้อชาติสูง และโชกุนในสมัยเอโดะ ก็สามารถแผ่อำนาจการปกครองครอบคลุมทั่วประเทศญี่ปุ่นไว้ได้อย่างมั่นคงต่อเนื่องกันถึง ๒๐๐ กว่าปี ทำให้คนโดยทั่วไปมีจิตสำนึกร่วมกันว่า ตนคือชนชาติญี่ปุ่น มีสำนึกของความเป็นชาติสูง ดังนั้นเมื่อเปิดประเทศแล้วก็สามารถพัฒนาไปได้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
ส่วนประเทศไทยของเรานั้น มีดินแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านรอบทิศ มีการผสมผสานทางเชื้อชาติมาก และดินแดนในส่วนต่าง ๆ ของไทยเราก็มีอิสระในการปกครองตัวเองสูง บางแห่งก็มีประวัติศาสตร์การเป็นประเทศเอกราชมานาน เช่น ดินแดนแถบล้านนา ผู้ที่คิดว่าตนเป็นชาวไทยจริง ๆ นั้น มีอยู่บริเวณภาคกลางรายรอบพระนครเท่านั้น ดังนั้นพระราชภารกิจสำคัญยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงกระทำก่อนคือ ภารกิจการสร้างเอกภาพของคนในชาติ สร้างจิตสำนึกร่วมของความเป็นไทย ชาติไทย เพราะมิฉะนั้นแล้ว ถ้ามีต่างชาติมายุยงให้เกิดการแตกแยก คนไทยต้องรบกันเองเมื่อไร ฝรั่งก็จะเข้าผสมโรง และนั่นหมายถึงการสูญเสียเอกราช ต้องตกเป็นอาณานิคมของประเทศมหาอำนาจตะวันตกอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว การพัฒนาประเทศคงไม่มีความหมายอะไร
การสร้างเอกภาพของชนในชาติ เป็นงานใหญ่ที่ละเอียดอ่อน และต้องใช้เวลา โดยเฉพาะในภาวะที่มีมหาอำนาจนักล่าอาณานิคมคอยจ้องอยู่รอบทิศ ถือเป็นงานที่ยากมาก แต่ก็สำเร็จลงได้ด้วยพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เราก็ต้องเสียเวลา ทรัพยากร กำลังความคิดสติปัญญา ไปกับเรื่องนี้มาก แทนที่จะทุ่มเทไปในเรื่องการพัฒนาประเทศได้ทันที

๒. ความหนาแน่นของประชากร ในช่วงปีพุทธศักราช ๒๔๑๐
ไทยมีพื้นที่มากกว่าญี่ปุ่นประมาณ ๑ เท่าครึ่ง แต่ประเทศไทยมีประชากรอยู่เพียง ๗-๘ ล้านคน ในขณะที่ญี่ปุ่นมีประชากรถึงประมาณ ๓๐ ล้านคน มากกว่าไทยถึง ๔ เท่าตัว และเมื่อดูจากอัตราความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่แล้ว คนญี่ปุ่นมีมากกว่าคนไทยถึง ๖ เท่าตัว ซึ่งจำนวนประชากรนี้ มีผลอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งในด้านเป็นกำลังงานในการผลิต การขนส่ง และเป็นตลาดรองรับสินค้า

๓. เครือข่ายการตลาดและวิญญาณของความเป็นนักการค้า เพราะมีความหนาแน่นของประชากรน้อย มีทรัพยากร ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ประเทศไทยในยุคนั้น จึงมีระบบเศรษฐกิจเป็นแบบผลิตเพื่อยังชีพ แต่ละชุมชนที่อยู่กระจายกันห่าง ๆ ต่างก็ผลิตพืชผลต่าง ๆ เพื่อการบริโภคแลกเปลี่ยนกันในชุมชนเป็นหลัก แม้ข้าวที่ถือเป็นสินค้าหลักของประเทศ ก็มาจากที่ราบลุ่มภาคกลางบริเวณใกล้กับแม่น้ำเท่านั้น เพราะสามารถขนส่งได้สะดวกโดยเฉพาะทางน้ำ การคมนาคมทางบกยังไม่สะดวกนัก การขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมาก เช่น พืชผลการเกษตรที่ส่งไปขายไกล ๆ แค่ค่าขนส่งก็ไม่คุ้มแล้ว สำหรับท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล สิ่งที่พอจะเป็นสินค้าไปขายต่างเมืองหรือต่างประเทศได้ ก็เป็นจำพวกของป่า เช่น น้ำผึ้ง ครั่ง หนังสัตว์ ไม้แก่นจันทน์ ฯลฯ คือพวกสินค้าที่มีราคาต่อน้ำหนักสูง คุ้มค่ากับ
การขนส่ง การค้าจึงมีอยู่ในวงจำกัด ระบบเครือข่ายการตลาดยังไม่ได้รับการพัฒนา ค้นไม่คุ้นเคยกับการค้าขาย นักลงทุนนักธุรกิจมีอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลที่มาเป็นนายอากรบ่อนเบี้ยต่าง ๆ กล่าวได้ว่า พวกศักดินายังเป็นกระแสหลักของสังคม ดังมีภาษิตของคนในยุคนั้นที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าหนึ่งพระยาเลี้ยง”
ส่วนประเทศญี่ปุ่น ประชากรอยู่กันหนาแน่นมีภาวะลมฟ้าอากาศรุนแรง บางแห่งหนาวจัดปลูกข้าวไม่ได้ผล ต้องผลิตสินค้าอย่างอื่นเพื่อซื้อหาแลกเปลี่ยนไปมา เส้นทางสัญจรต่าง ๆ จึงได้รับการพัฒนา มีการค้าขายกันอยู่โดยทั่วไป ในสมัยนั้นโดยเฉพาะที่เมืองเอโดะ (คือมหานครโตเกียวในปัจจุบัน) แห่งเดียวก็มีประชากรอาศัยอยู่มากกว่าหนึ่งล้านคนแล้ว จัดเป็นมหานครใหญ่แห่งหนึ่งของโลก การค้าขายเป็นไปอย่างคึกคัก มีระบบธนาคารซึ่งมีสาขาทั่วประเทศ รับฝากกู้ยืมเงิน บริการตั๋วแลกเงินเพื่อความปลอดภัยเวลาเดินทาง มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่มีขนาดธุรกิจครอบคลุมทั่วประเทศ นักลงทุนนักธุรกิจได้รับการบ่มเพาะให้เติบใหญ่ กระบวนการสะสมทุนได้ดำเนินไปอย่างสืบเนื่องภายใต้ภาวะความมั่นคงทางการเมืองที่ยาวนานกว่า ๒๐๐ ปี เครือข่ายการตลาดได้กระจายตัวเข้าถึงดินแดนทุกส่วนของประเทศ ผู้คนคุ้นเคยกับการค้าขาย มีวิญญาณของนักการค้าอยู่แล้ว
การเปิดประเทศของญี่ปุ่น จึงหมายถึงการเปิดรับเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อส่งไปจำหน่าย ขยายขอบเขตการค้าไปยังต่างประเทศ ส่วนตัวพ่อค้านักลงทุน เครือข่ายการตลาดมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกระบวนการต่าง ๆ จึงสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว รัฐบาลเพียงอำนวยความสะดวกให้ นักธุรกิจเอกชนก็พร้อมเดินไปข้างหน้า ซึ่งทุกอย่างนี้ต่างจากประเทศไทยมาก

๔. ความเข้มแข็งของกลไกลการปกครองคน
คนไทยยุคสมัย รัชกาลที่ ๕ การปกครองประเทศยังเป็นไปแบบหลวม ๆ แต่ละเมืองก็มีเจ้าครองเมืองดูแลอยู่ รับผิดชอบกิจการในบ้านเมืองของตน ถ้าเป็นหัวเมืองชั้นในก็อยู่ในความดูแลของส่วนกลางใกล้ชิดหน่อย หัวเมืองชั้นนอกก็เป็นอิสระมากขึ้น ยิ่งชนบทห่างไกลออกไปแล้วยิ่งมีอิสระมาก บางแห่งอำนาจรัฐบาลเข้าไปไม่ถึงเลย ส่วนของญี่ปุ่นอำนาจรัฐได้เข้าไปถึงแทบทุกจุดของประเทศ ระบบการจัดเก็บภาษีเป็นไปอย่างเข้มงวด นโยบายและคำสั่งจากรัฐบาลกลางถูกถ่ายทอดไปยังทุกชุมชนและได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง กลไกของรัฐจึงมีบทบาทชี้นำสังคมได้มากและได้ผลอย่างดียิ่ง

ความเจริญก้าวหน้าของประเทศญี่ปุ่น

ดูอย่างง่าย ๆ เรื่องของการศึกษาของไทยสมัยรัชกาลที่ ๕ ปีพุทธศักราช ๒๔๑๐ ค่อย ๆ พัฒนาเรื่องการศึกษา มีโรงเรียนมหาดเล็กหลวง โรงเรียนข้าราชการพลเรือน สร้างโรงเรียนขยายออกไป กว่าระเริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติ บังคับให้เด็กไทยทุกคนต้องเรียนการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถมศึกษา ๔ก็ล่วงเข้าปีพุทธศักราช ๒๔๖๔ จากนั้นกว่าจะขยายการศึกษาภาคบังคับถึงชั้น ป.๗ ก็เข้าปีพุทธศักราช ๒๕๐๔ รวมแล้วใช้เวลาเกือบ ๑๐๐ ปี ส่วนของญี่ปุ่นเริ่มรัชสมัยจักรพรรดิเมจิในปีพุทธศักราช ๒๔๑๐ และเริ่มยุคการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง ผ่านไปได้เพียง ๕ ปี เริ่มประกาศใช้ระบบโรงเรียนเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ มีการพัฒนาไปตามลำดับการขยายการศึกษาภาคบังคับถึงชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๐ รวมใช้เวลาเพียง ๔๐ ปี ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างกันของความเข้มแข็งทางกลไกของรัฐและพื้นฐานต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นที่ชี้ให้พวกเราเห็นถึงความจริงที่ว่า เมื่อเริ่มพัฒนา ประเทศญี่ปุ่นมีข้อได้เปรียบไทยหลายประการดังกล่าวมาแล้วนั้น ไม่ใช่เพื่อให้เรามีข้ออ้างปลอบใจตนเองว่า นอกจากปัจจัยพื้นฐานที่เอื้ออำนวยให้แล้ว สาเหตุที่ทำให้ญี่ปุ่นพัฒนาประเทศได้เร็วยังมีอีกหลายประการ อาตมภาพขอยกตัวอย่างในที่นี้ไว้ ๕ ประการ คือ

๑. มีความเชื่อมั่นและมีอุดมการณ์ที่มั่นคงชัดเจน เมื่อประมาณ ๑๕๐ ปีที่ผ่านมา เป็นยุคที่ชาวผิวขาวออกล่าอาณานิคม ยึดดินแดนส่วนต่าง ๆ ของโลกเป็นเมืองขึ้น ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเทียบกันไม่ได้ โลกเกือบทั้งโลกตกอยู่ในอุ้มมือของคนผิวขาว ในยุคนั้นชนชาติต่าง ๆ ในเอเชีย และแอฟริกา ส่วนใหญ่มีความรู้สึกในใจลึก ๆ ว่า ตนสู้คนผิวขาวไม่ได้ มีความยำเกรงคนผิวขาว คิดว่าตนนั้นต่ำต้อยกว่า… ในขณะที่ชาวญี่ปุ่นไม่ได้คิดอย่างนั้นเลย เขามีความภูมิใจในเชื้อชาติของเขา และมั่นใจว่าชาติของตนต้องเป็นหนึ่งในโลกได้ จึงไม่เคยท้อถอย ไม่ยอมแพ้ตั้งแต่ต้น เมื่อรู้ตัวว่าขณะนั้นยังมีความสามารถน้อยกว่า มีความพร้อมน้อยกว่าที่ทุ่มเททำงานหนักขึ้น สโสแกนที่ว่า“โอยซึคิ โอยโคะเซะ” ซึ่งแปลว่า “ไล่ให้ทัน (ฝรั่ง) และแซงให้ได้ ” ยังฝังแน่นอยู่ในใจของทุกคน ถือเป็นอุดมการณ์ร่วมกันของคนทั้งชาติ

๒. สนใจแก่นมากกว่าเปลือก คนส่วนใหญ่ชอบเรียนลัด ติดที่เปลือกมากกว่าแก่น แต่ญี่ปุ่นเขาสนใจที่แก่นมากกว่าเปลือก เช่น เห็นฝรั่งมีรถขับ คนญี่ปุ่นก็คิดว่า ทำอย่างไรตนจึงจะผลิตรถได้อย่างฝรั่ง พูดง่าย ๆ เขาคิดว่าความเจริญก้าวหน้าไม่ได้อยู่ที่ประเทศของตนสามารถซื้อรถสวย ๆ มาใช้ได้ แต่อยู่ที่สามารถผลิตรถออกมาสู่ตลาดได้ เรื่องอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้ลักษณะติดเปลือกมากกว่าแก่นนี้ ปัจจุบันยังเห็นได้ชัดเจน เป็นที่น่าประหลาดใจว่าในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นร่ำรวย และประเทศไทยเรามีรายได้ประชาชาติต่ำกว่าเขาเกือบยี่สิบเท่า แต่ประเทศไทยของเรากลับมียอดขายรถยนต์ต่างประเทศราคาแพงติดอันดับต้น ๆ ของโลก คิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วสูงกว่าญี่ปุ่นหลายสิบเท่า… ถ้าหันมาพิจารณาเรื่องเปลือกกับแก่นกันให้มากกว่านี้ บางทีประเทศไทยของเราจะมีสภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่านี้ก็ได้

๓. มีขั้นตอนการทำงานที่ดี คนญี่ปุ่นมีจุดเด่นเรื่องการมองขั้นตอนของงานออกมาได้อย่างชัดเจน และทำงานตามลำดับขั้นตอนมีประสิทธิภาพสูงสุด อาตมภาพเคยคุยกับคนญี่ปุ่นที่เคยไปเที่ยวเมืองไทย เขาบอกว่า “ กรุงเทพฯ รถติดจังเลยนะ ทำไมไม่สร้างรถไฟขนส่งมวลชนล่ะ ” อาตมภาพตอบไปว่า เรากำลังเตรียมสร้างอยู่ คิดกันมาได้เกือบยี่สิบปีแล้ว ตอนนี้กำลังถกเถียงกันอยู่ว่าจะสร้างลอยฟ้าดีหรือขุดลงใต้ดินดี เขาหัวเราะ เพราะญี่ปุ่นเขาสร้างรถไฟใต้ดินสายแรก คือ สายกินซ่า เมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว ขั้นตอนการทำงานของเขาก็คือ ส่งทีมเชี่ยวชาญไปศึกษาดูว่า มหานครใหญ่ ๆ ในโลกที่มีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เขาใช้ระบบรถแบบไหน แต่ละแห่งมีสภาพภูมิประเทศและเงื่อนไขอื่น ๆ ต่างกันอย่างไร เมื่อได้ข้อมูลชัดก็สรุปได้ว่า สำหรับประเทศญี่ปุ่นควรใช้ระบบไฟฟ้าแบบใด พอตกลงกันเสร็จเรียบร้อย ถึงมีการเปิดประมูลจ้างบริษัทต่าง ๆ มาสร้าง งานก็ลุล่วงไปด้วยดี ถ้าไปลัดขั้นตอนไม่ศึกษาให้ดี ตัดสินใจเรื่องระบบรถ เส้นทาง เทคนิคต่าง ๆ ไม่ชัดเจน แต่เปิดประมูลสัมปทานกันก่อน แล้วมาแก้กันทีหลัง ก็จะมีเรื่องผลประโยชน์ต่าง ๆ มาเกี่ยวข้อง ทำให้การตัดสินในยิ่งยากขึ้นอีกหลายเท่า เสียเวลาไปโดยใช่เหตุ

๔. มีการวางแผนระยะยาว ในญี่ปุ่นการตัดสินใจจะมากจากกระบวนการกลุ่ม ทำกันเป็นทีม มีการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา กำหนดแนวทางการพัฒนาอย่างชัดเจน เพราะแผนงานที่วางเอาไว้ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่มั่นคงถูกต้อง จึงได้รับการปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง แม้จะเปลี่ยนแปลงผู้บริหารไปก็ตาม ส่วนของไทยเราการตัดสินใจมักมาจากผู้มีอำนาจ ตัดสินใจกันรวดเร็วแต่ก็เปลี่ยนแปลงง่ายเช่นกัน พอรัฐบาลเปลี่ยนชุดทีก็รื้อแก้กันที เหมือนทำตามอารมณ์ความคิดของผู้มีอำนาจ
เราจึงมักถนัดทำงานเฉพาะหน้ากันเป็นส่วนใหญ่ คนไม่ค่อยคิดมองอะไรไกล ๆ เพราะคิดว่าคิดไปก็ป่วยการ เดี๋ยวก็เปลี่ยนอีก แผนระยะยาวจึงไม่ค่อยมี ทิศทางการพัฒนาไม่ชัดเจน ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำไปในทิศทางที่ตนคิดว่าถูกต้อง ซึ่งบางทีก็ขัดแย้งกันเอง ไม่รวมพลังเป็นหนึ่งหลายสิ่งหลายอย่าง จึงขาดความยั่งยืน เหมือนต้นไม้ล้มลุก…

๕. ให้ความสำคัญกับการศึกษา เมื่อเริ่มพัฒนาประเทศ สิ่งที่คนญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างยิ่งก็คือ การศึกษา เริ่มประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษาแห่งชาติภายใน ๕ ปี สโลแกนว่า “ โยมิ คะขิ โซโรบัง” แปลว่า “อ่านออก เขียนได้ คำนวณเป็น” คือความรู้พื้นฐานต่ำที่สุดที่คนญี่ปุ่นต้องมี ส่วนความรู้ชั้นสูงขึ้นไปนั้น วิธีสร้างคนเขาใช้วิธีคล้าย ๆ กับไทย คือส่งคนไปศึกษาต่อต่างประเทศ แต่ต่างกันที่ก่อนส่งไปต้องศึกษาก่อนว่า วิชาการแต่ละสาขามีกี่แขนงย่อย ถ้าจะให้ใช้งานจริงได้ดี ต้องมีคนไปศึกษากี่คน จากนั้นก็หาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมส่งไปเรียนยังประเทศที่เก่งที่สุดในสาขานั้น ๆ เช่น การแพทย์และทหารบกต้องเยอรมนี กฎหมายต้องฝรั่งเศส ทหารเรือต้องอังกฤษ การค้าต้องอเมริกา เป็นต้น เรียกว่าไปเรียนแบบเป็นทีม ทุกคนรู้หน้าที่ของตนเองชัดเจน ทุ่มเทเรียนอย่างจริงจัง ระหว่างเรียนก็มีการปรึกษาหารือ ติดตามความคืบหน้า ถ้ามีปัญหาอุปสรรคอะไรที่จะทำให้กลับมาแล้วทำงานไม่ได้ผลเต็มที่ ก็หาทางแก้ไขแต่เนิ่น ๆ เรียกว่า พอเรียนจบกลับมาก็ทำงานได้ทันที และยังสามารถสอนคนอื่น ๆ ต่อไปได้ด้วย
การวางแผนการสร้างคนที่ดีเช่นนี้ ทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็ว จากประเทศที่ด้อยพัฒนาล้าหลังอย่างยิ่ง ขนาดที่ว่าเมื่อเปิดประเทศใหม่ ๆ เจ้าของโรงงานทอผ้าที่ซื้อเครื่องทอผ้าจากต่างประเทศ หาคนมาทำงานไม่ได้ เพราะมีข่าวลือว่า เครื่องจักรทอผ้ากินคนได้ คนเลยไม่กล้ามาทำงานด้วย แต่ภายในเวลา ๓๐ ปี ญี่ปุ่นมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด มีโรงงานถลุงเหล็ก ต่อเรือรบได้เอง มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า สามารถสร้างกองเรือรบที่ทรงอานุภาพ รบชนะรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจตะวันตกชาติหนึ่งในยุคนั้นได้ ทำให้โลกต้องตะลึงในความเป็นชาติเอเชียเพียงชาติเดียว ที่สามารถก้าวขึ้นมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับมหาอำนาจตะวันตกได้อย่างเต็มภาคภูมิ ภายในเวลาเพียง๓๐ ปี

กาลเวลาหมุนเวียนผ่านไป ประวัติศาสตร์ยังคงคลี่เปิดหน้าใหม่อยู่เสมอ สิ่งที่เราทำในวันนี้ ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ในวันต่อไป
เราควรศึกษาบทเรียนจากประวัติศาสตร์ แล้วตั้งใจปรับปรุงการทำงาน หน่วยงาน และประเทศชาติของตัวเราเองทำให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อประวัติศาสตร์ที่เราร่วมสร้างกันในวันนี้ จะได้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง ให้พวกเขาได้รำลึกถึงด้วยความชื่นชมและภาคภูมิใจต่อไป
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.123 วินาที กับ 19 คำสั่ง