เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 52429 ศึกฉางผิง สมรภูมิที่โหดที่สุดในยุคเลียดก๊ก
dantoki
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


 เมื่อ 23 ม.ค. 13, 00:02

ราวก่อนคริสตศักราช 260 ปี รัฐฉินกรีฑาทัพใหญ่บุกรัฐหาน เวลานั้นรัฐฉินทะยานขึ้นเป็นแว่นแคว้นที่แข็งแกร่งที่สุดในเจ็ดรัฐ ภายหลังจากการปฏิรูปอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินของซางยังในสมัยของฉินเสี้ยวกง จากประเทศที่อ่อนแออมโรคประเทศหนึ่ง กลายมาเป็นประเทศมหาอำนาจที่เป็นแคนดิเดตอันดับหนึ่งในการช่วงชิงแผ่นดิน ทัพฉินได้ชื่อว่ารบด้วยความดุดัน และบ้าระห่ำ เพราะมีกฏอยู่ว่าใครสังหารข้าศึกได้จะได้รับทั้งยศศักดิ์ตำแหน่ง ชื่อเสียงและเงินทอง ทำให้ทหารชาวฉินมีความฮึกเหิมรบแบบลืมตายกันแทบทุกคน
ด้วยกิติศัพท์นี้ของทัพฉิน ชื่อเสียงด้านความโหดจึงเป็นที่รับรู้กันหมดในเจ็ดรัฐ จึงไม่มีรัฐใดไม่กลัวชาวฉิน ว่ากันว่าแม้ทารกที่กำร้องไห้จ้าก็หยุดร้องทันทีที่หากมารดาขู่ว่าทัพฉินมาแล้ว




เมื่อศึกประชิดติดกำแพงเมือง ชาวหานรู้ตัวว่าสู้กองทหารกระหายเลือดของรัฐฉินไม่ได้แน่ๆ จึงส่งม้าเร็วไปยังรัฐจ้าว ที่ตอนนั้นยังเป็นรัฐมหาอำนาจอีกรัฐหนึ่ง ที่สามารถประชันขันแข่งกับรัฐฉินได้อย่างสูสี กองทัพรัฐจ้าว ณ เวลานั้นจะเรียกว่าไร้ผู้ต่อต้านก็ว่าได้

เผ่าดั้งเดิมในดินแดนจ้าวเป็นชนเผ่าล่าสัตว์  ที่มีความชำนาญในการรบบนหลังม้าเป็นอย่างมาก ดังนั้นวีรกษัตริย์อย่างอู่หลิงอ๋อง ซึ่งครองราชย์ในช่วง 340-295 ปีก่อน ค.ศ. จึงดำเนินนโยบายปฏิรูปกองทัพดั้งเดิมที่นิยมใช้รถศึกในการสู้รบ ซึ่งสวยงามแต่ไร้ประสิทธิภาพ เปลี่ยนมาเป็นกองทัพม้าที่เน้นการยิงธนู และการสู้รบบนหลังม้า
อู่หลิงอ๋อง ใช้กองทัพม้านี้ถากถางดินแดนพันลี้เป็นทุนรอนให้กับรัฐจ้าว หนำซ้ำการที่ต้องรับมือพวกซงหนู บริเวณชายแดนเหนือของแว่นแคว้นอยู่ตลอดเวลา ยิ่งเป็นเครื่องตอกย้ำความสำเร็จของการปฏิรูปกองทัพ จนกลายเป็นต้นแบบการพัฒนากองทัพของรัฐอื่นเช่นกัน



อู่หลิงอ๋อง

อ๋องแห่งรัฐจ้าวในตอนนั้นเมื่อได้ข่าวศึก ความที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐหานเป็นพิเศษ (รัฐจ้าว – วุ่ย – หาน แตกตัวมาจากรัฐจิ่นเดิม)ประกอบกับมองเห็นโอกาสที่จะกำราบรัฐฉิน จึงสั่งให้แม่ทัพเหลียนผ่อ สุดยอดขุนพลห้าวหาญชาญศึกมากประสบการณ์ นำกองทัพ 400,000 รีดรุดไปช่วยรัฐหาน เหลียนผ่อรับพระบัญชาแล้วรีบรุดไปยังฉางผิง ซึ่งอยู่ในพื้นที่รัฐหานทันที เพื่อยันทัพฉินเอาไว้



เหลียนผ่อผู้นี้นับว่าเป็นแม่ทัพชำนาญศึก เขาตั้งรับอยู่ในฐานที่มั่นด้วยความเยือกเย็น แม้ทัพฉินที่นำโดยยอดขุนพลไป๋ฉีจะจัดสารพัดกลยุทธ์ กลรบอย่างไรก็ไม่อาจทำอันตรายแก่ทัพจ้าว ที่นำโดยแม่ทัพผู้เยือกเย็นอย่างเหลียนผ่อได้เลย ตรงกันข้ามทัพฉินเองที่เป็นฝ่ายได้รับความเสียหายจากการเข้าตีแต่ละครั้ง เหลียนผ่อมองดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างพอใจ เขาคิดว่าเมื่อทัพฉินอ่อนล้าจากการกรำศึก และเกิดการขัดสนเสบียงอาหารลงจนต้องถอนทัพกลับนครเสียนหยางเมื่อไหร่ เมื่อนั้น กองทัพม้าอันลื่อลั่นของรัฐจ้าวจะไล่ตีกระหนาบ และหากเป็นไปได้จะจัดการสังหารไป๋ฉีในคราวเดียวกัน เพราะขุนพลผู้นี้เก่งกาจเกินไป


แม่ทัพเหลียนผ่อ
บันทึกการเข้า
dantoki
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 00:07

เราลองมาดูพอร์ตโฟลิโอของแม่ทัพไป๋ฉีกันดูครับ ว่าประสบการณ์ของเขามีแค่ไหน จึงทำอะไรเหลียนผ่อไม่ได้เลย
ไป๋ฉีเกิดในรัฐ Mei (ขออ่านว่า เม่ย ละกันครับ) แต่มาได้ดิบได้ดีในรัฐฉิน ว่ากันว่าตลอดสามสิบปีในการคุมทัพ ไป๋ฉีสังหารข้าศึกไปกว่า หนึ่งล้านหกแสนห้าหมื่นคน ตีได้เมืองกว่าเจ็ดสิบเมือง ไม่มีบันทึกเล่มไหนที่พบว่า
เขาเคยพ่ายแพ้เลยตลอดการดำรงตำแหน่งแม่ทัพของเขา (หมายถึงศึกใหญ่ๆนะครับ แบบแกล้งแพ้เพื่อศัตรูตายใจนี่ไม่นับนะ) แต่ศึกฉางผิงนี่ทำท่าจะแพ้แฮะ



แม่ทัพไป๋ฉี

ไป๋ฉีคิดกลอุบายหนึ่งได้ จึงรีบส่งม้าเร็วไปทูลเจ้ารัฐฉินในสมัยนั้น คือฉินเจาอ๋อง พระบิดาของจวงเซียงอ๋อง และเป็นพระอัยกาของฉินอ๋องเจิ้ง หรือจิ๋นซีฮ่องเต้ที่เรารู้จักกันดีนั่นเอง
อุบายของไป๋ฉีคือการที่จะชนะศึกในครั้งนี้ได้ ต้องหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเหลียนผ่อ ซึ่งเป็นแม่ทัพเลเวล 99 ระดับไร้เทียมทาน (คิดดูครับ ความเก่งของเหลียนผ่อ ขนาดไป๋ฉียังต้องครั่นคร้าม) พูดง่ายๆ คือไป๋ฉีแกกลัวแพ้นั่นเอง
อุบายขั้นแรกคือให้ฉินเจาอ๋อง “ปลด” ตัวเองออกจากการเป็นแม่ทัพ แล้วแต่งตั้งคนอื่นขึ้นเป็นแทน แต่ว่าเป็นเพียงการแสร้งแสดงละครตบตาเท่านั้นเอง แท้จริงแล้วอำนาจในการบัญชาทัพทั้งหมด ยังอยู่ในกำมือของไป๋ฉี ทั้งนี้แผนขั้นแรกถูกกำหนดขึ้น เพื่อให้แผนการขั้นที่สองบรรลุผล
อุบายขั้นที่สอง คือการส่งสายลับเข้าไปสร้างข่าวลือในนครหานตาน เมืองหลวงขอรัฐจ้าวว่า ทัพฉินไม่กลัวผู้ใดเพียงกลัว “จ้าวคว่อ” เท่านั้น



จ้าวคว่อ

อันว่าจ้าวคว่อนี้เป็นบุตรชายของแม่ทัพลือนามของรัฐจ้าวอีกท่านหนึ่งนามจ้าวเซอ จ้าวคว่อผู้นี้ศึกษาตำราพิชัยสงครามมาตั้งแต่เล็ก จนมีภูมิรู้กว้างขวาง สามารถถกเรื่องกลยุทธต่างๆ กับบิดาได้อย่างคล่องแคล่ว เขาเก่งขนาดที่ว่าสามารถถกจนบิดาที่เป็นแม่ทัพชำนาญศึก ออกศึกมานับครั้งไม่ถ้วนต้องยอมแพ้ ดังนั้นเขาจึงคิดว่าตนนั้นเก่งที่สุดแล้วในแดนดิน ชื่อเสียงเรื่องภูมิรู้ต่างๆ ในเรื่องการทำสงครามของจ้าวคว่อ โด่งดังไม่น้อย ทำให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของอุบายอันแยบยลของแม่ทัพไป๋ฉี แห่งรัฐฉิน

เมื่อข่าวลือแพร่เรื่องจ้าวคว่อ เข้าหูอ๋องรัฐจ้าว พระองค์สั่งให้เขาเข้าเฝ้าทันที และด้วยภูมิรู้ราวปราชญ์สงครามของจ้าวคว่อนั้นเอง จึงเป็นเรื่องไม่ยากที่จะสร้างความเลื่อมใสแก่จ้าวรัฐจ้าว ประกอบกับข่าวของไป๋ฉีถูกปลด ทำให้จ้าวรัฐจ้าวผู้หูเบาหมดสิ้นความครั่นคร้าม พระองค์สั่งปลดแม่ทัพเหลียนผ่อที่เอาแต่ตั้งรับอยู่ในค่ายออกและ แต่งตั้งจ้าวคว่อ หนุ่มน้อยผู้ถนัดแต่การวางแผนบนกระดาษ ไม่เคยออกรบจริงเลยสักครั้งเป็นแม่ทัพใหญ่แทน โดยไม่รู้ว่านั่นคือความหายนะครั้งใหญ่ที่สุด นับแต่ก่อตั้งรัฐจ้าวมา

เหลียนผ่อทราบแน่แก่ใจว่านี่คืออุบาย แต่ก็ไม่อาจทำอย่างไรได้ เขาเดินทางกลับเมืองหลวงด้วยความอาดูร พร้อมกันนั้นก็ขอออกศึกต้านรับพวกซงหนูทางชายแดนเหนือ เป็นการบรรเทาความปวดร้าวในใจ

บันทึกการเข้า
dantoki
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 00:12

จ้าวคว่อเมื่อได้เป็นแม่ทัพใหญ่ เขาสั่งทหารให้บุกตามแผนที่เขากำหนดเอาไว้ หารู้ไม่ว่าความรู้ในตำรานั้นตายตัว แท้จริงแล้วหลักของพิชัยสงครามต้องอาศัยการพลิกแพลงตามสถานการณ์ ...และแล้วก็เป็นดังที่คาด ไป๋ฉีจัดทัพสองหมื่นตัดทางถอยหนีของทัพจ้าว ห้าพันสำหรับการแยกกองทัพม้าอันเก่งกาจของทัพจ้าวเป็นสองส่วน รวมไปถึงเส้นทางลำเลียงอาหาร อาวุธยุทธภัณฑ์ของทหารจ้าว ก็ถูกขุนพลไป๋ฉีควบคุมไว้หมด ทัพจ้าวตอนนี้เปรียบเสมือนลูกไก่ในกำมือ จะบีบก็ตายจะคลายก็ตาย

จ้าวคว่อกับกองทหารส่วนใหญ่ถูกทัพฉินปิดล้อมอยู่ในค่ายบนเนินเขานานถึง 40 วัน ...เมื่อความหิวโหย ความหวาดกลัว และความสิ้นหวังประเดประดังเข้ามา จ้าวคว่อตัดสินใจสั่งทหารบุกหมายตีฝ่าวงล้อมออกไปให้ได้ แต่ทหารอ่อนเปลี้ยไหนเลยจะสู้กับทหารที่สมบูรณ์ของทัพฉินได้ จ้าวคว่อถูกพลธนูยิงลูกศรทะลุอกสิ้นใจบนหลังม้าอย่างน่าอนาถ



ต่อมาเรื่องนี้ได้กลายเป็นสุภาษิตจีน “กลยุทธ์บนแผ่นกระดาษ” หมายถึง คนที่ดีแต่พูด หรือดีแต่ปาก ทำให้เกิดขึ้นจริงไม่ได้ หรือในสุภาษิตไทยที่ความหมายใกล้กันก็ประมาณว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด    
   ภายหลังจ้าวคว่อตาย กองทัพที่เหลือของรัฐจ้าวยอมวางอาวุธกับทัพฉิน เพื่อหวังรักษาชีวิตรอด หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการตัดสินใจผิดอย่างมหันต์ เพราะไป๋ฉีมองในมุมที่ว่า หากนำตัวเชลยเหล่านี้กลับไปที่รัฐฉินจะเป็นภาระเลี้ยงดูที่สิ้นเปลืองมาก และเสี่ยงกับการก่อกบฏ หรือถ้าหากปล่อยตัวทหารเหล่านี้กลับไปรัฐจ้าว ก็อาจจะกลายมาเป็นหอกข้างแคร่ทิ่มแทงรัฐฉินในภายภาคหน้า เขาจึง.....
   ไป๋ฉีสั่งให้ขุดหลุมฝังทหารที่เหลือทั้งหมดของรัฐจ้าว โดยไม่สนว่าจะเป็นหรือตาย ทหารนับแสนถูกดินฝังกลบทั้งเป็น ตายอย่างทุกข์ทรมาน เป็นอันว่าทหาร 400,000 นายของรัฐจ้าว จากบ้านมาและไม่ได้กลับไปอีกเลย พวกเขาตายเรียบไม่เหลือสักคน !




จากความเสียหายย่อยนยับส่งผลให้รัฐจ้าวที่ต่อมาถูกเรียกว่า “รัฐแห่งหญิงม่ายเด็กกำพร้า” เสื่อมทรุดลงและไม่อาจฟื้นฟูได้อีกเลย จวบจนถูกกลืนโดยรัฐฉินในสมัยฉินอ๋องเจิ้ง  

ทว่าการศึกแห่งฉางผิงก็สร้างความเสียหายแก่ทัพฉินมากพอสมควร ดังนั้นพวกเขาจึงล้มเลิกแผนการบุกรัฐหาน กลับคืนสู่นครเสียนหยาง โดยไป๋ฉีได้รับการต้อนรับอย่างวีรบุรุษ (แต่เขาก็เป็นวีรบุรุษอยู่แล้ว)
ทว่าในอีกเพียงสามปีต่อมา ไป๋ฉียอดขุนพลแห่งรัฐฉินคนนี้ก็ต้องพบกับจุดจบ เมื่อถูกใส่ร้ายโดยขุนนางกังฉิน และหลายครั้งที่เขาปฏิเสธการนำทัพ เขาจึงถูกสั่งให้ฆ่าตัวตาย ส่วนอีกตำราหนึ่งกล่าวว่าไป๋ฉีนำทัพพ่ายแพ้ที่นครหานตาน (เรื่องนี้เกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ตอน ซิ่นหลินจวินขโมยตราประกาศิต ซึ่งหากมีเวลาว่าง จะเข้ามาเล่าให้ฟังกันครับ) ฉินอ๋องทรงพิโรธมาก สั่งปลดไป๋ฉีออกจากทุกตำแหน่ง และเนรเทศเขาออกไปจากรัฐฉิน แต่ขุนนางกังฉินในราชสำนักซึ่งคงจะอิจฉาไป๋ฉีอยู่แล้ว ได้ทูลยุยงฉินอ๋องว่า หากปล่อยตัวไป๋ฉีไป เขาอาจจะไปเข้ากับรัฐอื่นแล้วอาจเป็นอันตรายต่อรัฐฉินในอนาคต คำสั่งจึงเปลี่ยนจากเนรเทศเป็นให้ปลิดชีวิตตนเอง ไปฉีตายเมื่อ 257 ปีก่อนคริสตศักราช ว่ากันว่าก่อนตายเขากล่าวว่า
“บางทีนี่อาจเป็นผลกรรมที่ข้าต้องรับภายหลังจากการสังหารคนถึงสี่สิบหมื่น”

ปัจจุบันพื้นที่ที่เรียกว่า ฉางผิง อยู่ในมณฑลส่านซี มีการขุดพบซากกระดูกจำนวนมาก เป็นหลักฐานการสู้รบนองเลือดครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี
สงครามไม่เคยให้อะไรกับใคร นอกเสียจากความทุกข์ทรมาณ...




บันทึกการเข้า
dantoki
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 00:22



รูปประเทศจีนในสมัย 260 ปีก่อน ค.ศ. ปีที่เกิดยุทธการฉางผิง จะเห็นว่ารัฐหานอยู่ติดกับรัฐวุ่ย แต่ไม่ได้ขอความช่วยเหลือไปยังรัฐวุ่ย (หรือเว่ย) แต่กลับถ่อไปไกลถึงรัฐจ้าว ทั้งนี้เพราะรัฐวุ่ยเองก็ตกอยู่ในสถานะย่ำแย่ เพราะพรมแดนติดรัฐฉินเยอะที่สุดในสามรัฐ ต้องเผชิญการคุกคามจนต้องย้ายเมืองหลวงหลายครั้ง รัฐหานคงจะเห็นว่า รัฐวุ่ยเองยังเอาตัวไม่รอด คงไม่ต้องหวังให้มาช่วยหรอก อย่ากระนั้นเลย ไปหารัฐจ้าวที่กำลังผงาดฟ้าเป็นอาทิตย์ยามเที่ยงดีกว่า ผลปรากฏว่า รัฐหานพารัฐจ้าวลงหลุ่ม(หลุมจริงๆ) ปราชัยย่อยยับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 07:16

ยุคนี้มันส์มาก ๆ ครับ รัฐฉิน และ รัฐหาน  ยิงฟันยิ้ม

รัฐฉิน มีศูนย์กลางปกครองที่ เมืองเซียนหยาง และ รัฐวุ่ย มีศูนย์กลางปกครองที่เมือง ลั่วหยาง ถูกต้องไหม
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 08:11

เทคนิกการสอดภาพประกอบดีมากครับ ผมอยากทำอย่างนี้บ้างแต่หาวิธีทำง่ายๆไม่ได้
บันทึกการเข้า
dantoki
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 19:02

อ้างถึง
ยุคนี้มันส์มาก ๆ ครับ รัฐฉิน และ รัฐหาน  ยิงฟันยิ้ม

รัฐฉิน มีศูนย์กลางปกครองที่ เมืองเซียนหยาง และ รัฐวุ่ย มีศูนย์กลางปกครองที่เมือง ลั่วหยาง ถูกต้องไหม

ตามประวัติศาสตร์ที่ถูกบันทึกไว้ รัฐฉินเดิมมีเมืองหลวงอยู่้ที่หย่งตู หรือเยี๊ยะหยาง แต่ภายหลังจากปฏิรูปแผ่นดินทำให้รัฐฉินร่ำรวยขึ้น ประกอบกับต้องการประกาศศักดา จึงทำการย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เสียนหยาง ซึ่งใหญ่โตอลังการกว่ามาก

ส่วนรัฐวุ่ย มีประวัติว่าย้ายเมืองหลวงถึงสามครั้ง คือ เมืองเว่ย เมืองอันยี่ และในช่วงปลายยุคจ้านกว๋อ เมืองหลวงของรัฐวุ่ยคือนครต้าเหลียน หรือลั่วหยาง ซึ่งต่อมาคือเมืองไคฟง ของท่านเปาบุ้นจิ้นผู้โด่งดังนั่นเอง ปัจจุบันนครโบราณแห่งนี้อยู่ในมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนครับ ซึ่งสาเหตที่ย้ายเมืองหลวงบ่อยๆ ก็เพราะว่าถูกรัฐฉินคุกคามนั่นเองครับ(รัฐอื่นก็คุกคามเหมือนกัน) สองรัฐนี้ชิงชังกันเข้ากระดูกดำ เพราะตอนที่รัฐฉินยังกระจอกอยู่ ก็รัฐวุ่ยนี่แหละครับ ที่ทำการตอดเล็กตอดน้อย คอยรังแกชาวฉินอยู่ประจำ ที่เป็นกรณีพิพาทชนิดไม่ยอมอยู่ร่วมฟ้า คือ รัฐวุ่ยบุกเข้ายึดแคว้นเหอซี และด่านบริเวณนั้นตลอดแนวชายแดนเอาดื้อๆ ยังผลให้ชาวฉินขุ่นแค้นจนแทบกระอักเลือดครับ ต่อมารัฐฉินหลังทำการปฏิรูป ได้ตีเอาแคว้นเหอซีและด่านชายแดนคืนมาได้ในสมัยของฉินเสี้ยวกง จึงเป็นเรื่องไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะรุกไล่กดดันรัฐวุ่ยเอาบ้าง

อ้างถึง
เทคนิกการสอดภาพประกอบดีมากครับ ผมอยากทำอย่างนี้บ้างแต่หาวิธีทำง่ายๆไม่ได้
ผมใช้วิธีพิมพ์เรื่องทั้งหมด และเว้นวรรคจังหวะจะโคนเอาไว้ก่อนใน ms-word ครับ แล้วค่อยก๊อบมาวางในกระทู้อีกที
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 22:00

อ๋องแห่งรัฐจ้าวในตอนนั้นเมื่อได้ข่าวศึก ความที่มีสายสัมพันธ์กับรัฐหานเป็นพิเศษ (รัฐจ้าว – วุ่ย – หาน แตกตัวมาจากรัฐจิ่นเดิม)ประกอบกับมองเห็นโอกาสที่จะกำราบรัฐฉิน จึงสั่งให้แม่ทัพเหลียนผ่อ สุดยอดขุนพลห้าวหาญชาญศึกมากประสบการณ์ นำกองทัพ 400,000 รีดรุดไปช่วยรัฐหาน เหลียนผ่อรับพระบัญชาแล้วรีบรุดไปยังฉางผิง ซึ่งอยู่ในพื้นที่รัฐหานทันที เพื่อยันทัพฉินเอาไว้

ขอบังอาจแนะนำเจ้าของกระทู้อีกครั้งครับ

ชื่อแคว้นเดิมก่อนที่จะแตกออกมาเป็น เว่ย-จ้าว-หาน คือ จิ้น (晉文公Jin) ตรงนี้เป็นศัพท์เฉพาะทาง อาจจะทำให้เข้าใจผิดไปได้นะครับ

อีกอย่างที่ขอบังอาจแนะนำก็คือ คำศัพท์ที่ใช้ ผมขอบังอาจแนะนำว่า ควรจะใช้เป็นภาษาเดียวกันไปเลยจะดีกว่า จะอิงจีนกลางก็ควรเลือกไปเลยทางเดียว เพราะอย่างเช่น รัฐวุ่ย หรือบางทีก็ออกเสียง อุ้ย เป็นสำเนียงของแต้จิ๋ว/ฮกเกี้ยน แต่จีนกลางจะออกเสียงเป็น เว่ย ตรงนี้ถ้าคนที่รู้ประวัติศาสตร์มาก่อนก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้าเกิดเป็นมือใหม่ และต้องการจะนำไปอ้างอิงหรือค้นคว้าต่อ น่าจะทำให้สับสนพอสมควรครับ

ฝากไว้ให้เพื่อโปรดพิจารณาครับ
บันทึกการเข้า
dantoki
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 22:12

รับทราบครับ หากมีเรื่องแนะนำกระผมว่าท่านแจงแก้ไขเป็นข้อๆ ไปเลยก้ได้ครับ เพราะภาษาจีนผมไม่กระดิกเลย อาศัยอ่านเอาจากสำนวนแปลของท่านต่างๆ เช่น หลักๆก็ท่าน น. นพรัตน์ ผสมกับเอกสารภาษาอังกฤษ ดังนั้นหากผิดพลาดตรงไหนไปก็ต้องขออภัยด้วยครับ เพราะผมไม่รู้เลยว่าอักษรจีนในคำนั้นๆ อ่านออกเสียงว่าอย่างไรบ้าง ซึ่งตอนนี้กำลังแก้ไขโดยการซื้อดิกชันนารีและแบบเรียนภาษาจีนมาลองเปิดๆ เทียบ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ดังนั้นหากคำไหนอ่านออกเสียงผิด หรือความหมายผิดรบกวนท่านผู้รู้แก้ไขให้ด้วยนะครับ  อายจัง

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 22:14


ส่วนรัฐวุ่ย มีประวัติว่าย้ายเมืองหลวงถึงสามครั้ง คือ เมืองเว่ย เมืองอันยี่ และในช่วงปลายยุคจ้านกว๋อ เมืองหลวงของรัฐวุ่ยคือนครต้าเหลียน หรือลั่วหยาง ซึ่งต่อมาคือเมืองไคฟง ของท่านเปาบุ้นจิ้นผู้โด่งดังนั่นเอง ปัจจุบันนครโบราณแห่งนี้อยู่ในมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนครับ ซึ่งสาเหตที่ย้ายเมืองหลวงบ่อยๆ ก็เพราะว่าถูกรัฐฉินคุกคามนั่นเองครับ(รัฐอื่นก็คุกคามเหมือนกัน) สองรัฐนี้ชิงชังกันเข้ากระดูกดำ เพราะตอนที่รัฐฉินยังกระจอกอยู่ ก็รัฐวุ่ยนี่แหละครับ ที่ทำการตอดเล็กตอดน้อย คอยรังแกชาวฉินอยู่ประจำ ที่เป็นกรณีพิพาทชนิดไม่ยอมอยู่ร่วมฟ้า คือ รัฐวุ่ยบุกเข้ายึดแคว้นเหอซี และด่านบริเวณนั้นตลอดแนวชายแดนเอาดื้อๆ ยังผลให้ชาวฉินขุ่นแค้นจนแทบกระอักเลือดครับ ต่อมารัฐฉินหลังทำการปฏิรูป ได้ตีเอาแคว้นเหอซีและด่านชายแดนคืนมาได้ในสมัยของฉินเสี้ยวกง จึงเป็นเรื่องไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะรุกไล่กดดันรัฐวุ่ยเอาบ้าง


ถ้าผมจำไม่ผิด รัฐเว่ย แทบจะนับครั้งที่ไปตีรัฐฉินได้เลยนะครับ นับตั้งแต่สถาปนาแคว้นขึ้นมา ตั้งแต่ เว่ยเหวินโหว , เว่ยอู่โหว ฯลฯ น้อยครั้งมากที่รัฐเว่ยจะขยายอาณาเขตออกไปทางตะวันตก ที่เห็นชัด ๆ เห็นจะเป็นผลงานการตีรัฐฉินโดยการนำของ อู๋ฉี่ ( WU QI  : เง่าคี้ : แต้จิ๋ว/ฮกเกี้ยน ) ซึ่งไปตีบางส่วนของแคว้นฉินได้ แต่ก็สถาปนาเมืองได้ไม่กี่เมือง และก็อยู่ได้ไม่นาน ภายหลังหมดยุคเขาไปแล้ว ทุกอย่างก็กลับไปเป็นของฉินเหมือนเดิม

รัฐเว่ย นับตั้งแต่ประกาศศักดาความเก๋าเพื่อจะเลื่อนสถานะตัวเองเป็นรัฐมหาอำนาจ ตั้งแต่ยุคของเว่ยเหวินโหว (Wèi Wén Hóu) : Marquess Wen of Wei )  ก็ตระเวนทำสงครามกับรัฐที่คนจีนในยุคนั้นเชื่อกันว่า "พัฒนาแล้ว"  แทบจะไม่เว้นปี ทั้งสงครามกับรัฐพี่น้องตัวเองอย่าง จ้าว, หาน ก็ออกจะบ่อย  เพราะฉะนั้น เมื่อทำสงครามบ่อย ทรัพยากรต่าง ๆ ทั้ง คน, เงิน ฯลฯ  จึงร่อยหรอลงไปเรื่อย

ประกอบกับ เจ้าผู้ครองแคว้น ในยุคหลังจาก เว่ยเหวินโหว(พ่อ) และ เว่ยอู่โหว(ลูก) แทบจะห่วยแตก ทำให้คนดี ๆ หนีออกไปอยู่แคว้นอื่นกันหมด ไม่ต้องอื่นไกล ซุนปิน, อู๋ฉี่, ซางยาง, เว่ยเหลียว ,หลี่ซือ บุคคลเหล่านี้ ล้วนเป็นขุนพล , มหาอำมาตย์ที่ยิ่งใหญ่ของแคว้นอื่น ๆ  แต่ต้องมาตกอับในแคว้นเว่ยทั้งนั้น

ถ้าเจ้าผู้ครองแคว้นเว่ย มีคนอย่าง ซิ่นหลิงจวิน : เว่ยอู๋จี้ (Lord Xinling) ต่อเนื่องสักหน่อย ไม่แน่ แคว้นเว่ยอาจจะรวมทุกแคว้นได้หมดก็เป็นได้ครับ
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 22:15

รับทราบครับ หากมีเรื่องแนะนำกระผมว่าท่านแจงแก้ไขเป็นข้อๆ ไปเลยก้ได้ครับ เพราะภาษาจีนผมไม่กระดิกเลย อาศัยอ่านเอาจากสำนวนแปลของท่านต่างๆ เช่น หลักๆก็ท่าน น. นพรัตน์ ผสมกับเอกสารภาษาอังกฤษ ดังนั้นหากผิดพลาดตรงไหนไปก็ต้องขออภัยด้วยครับ เพราะผมไม่รู้เลยว่าอักษรจีนในคำนั้นๆ อ่านออกเสียงว่าอย่างไรบ้าง ซึ่งตอนนี้กำลังแก้ไขโดยการซื้อดิกชันนารีและแบบเรียนภาษาจีนมาลองเปิดๆ เทียบ ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ดังนั้นหากคำไหนอ่านออกเสียงผิด หรือความหมายผิดรบกวนท่านผู้รู้แก้ไขให้ด้วยนะครับ  อายจัง

ขอบพระคุณล่วงหน้าครับ

จริง ๆ อยากจะบอกว่า ผมไม่ได้รู้ภาษาจีนอะไรเลยครับ แต่ผมก็อาศัยเทียบเคียงกับเว็บต่าง ๆ ที่เคยได้ลงไปครับ
บันทึกการเข้า
dantoki
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 22:47


ส่วนรัฐวุ่ย มีประวัติว่าย้ายเมืองหลวงถึงสามครั้ง คือ เมืองเว่ย เมืองอันยี่ และในช่วงปลายยุคจ้านกว๋อ เมืองหลวงของรัฐวุ่ยคือนครต้าเหลียน หรือลั่วหยาง ซึ่งต่อมาคือเมืองไคฟง ของท่านเปาบุ้นจิ้นผู้โด่งดังนั่นเอง ปัจจุบันนครโบราณแห่งนี้อยู่ในมณฑลเหอหนาน สาธารณรัฐประชาชนจีนครับ ซึ่งสาเหตที่ย้ายเมืองหลวงบ่อยๆ ก็เพราะว่าถูกรัฐฉินคุกคามนั่นเองครับ(รัฐอื่นก็คุกคามเหมือนกัน) สองรัฐนี้ชิงชังกันเข้ากระดูกดำ เพราะตอนที่รัฐฉินยังกระจอกอยู่ ก็รัฐวุ่ยนี่แหละครับ ที่ทำการตอดเล็กตอดน้อย คอยรังแกชาวฉินอยู่ประจำ ที่เป็นกรณีพิพาทชนิดไม่ยอมอยู่ร่วมฟ้า คือ รัฐวุ่ยบุกเข้ายึดแคว้นเหอซี และด่านบริเวณนั้นตลอดแนวชายแดนเอาดื้อๆ ยังผลให้ชาวฉินขุ่นแค้นจนแทบกระอักเลือดครับ ต่อมารัฐฉินหลังทำการปฏิรูป ได้ตีเอาแคว้นเหอซีและด่านชายแดนคืนมาได้ในสมัยของฉินเสี้ยวกง จึงเป็นเรื่องไม่แปลกเลยที่พวกเขาจะรุกไล่กดดันรัฐวุ่ยเอาบ้าง


ถ้าผมจำไม่ผิด รัฐเว่ย แทบจะนับครั้งที่ไปตีรัฐฉินได้เลยนะครับ นับตั้งแต่สถาปนาแคว้นขึ้นมา ตั้งแต่ เว่ยเหวินโหว , เว่ยอู่โหว ฯลฯ น้อยครั้งมากที่รัฐเว่ยจะขยายอาณาเขตออกไปทางตะวันตก ที่เห็นชัด ๆ เห็นจะเป็นผลงานการตีรัฐฉินโดยการนำของ อู๋ฉี่ ( WU QI  : เง่าคี้ : แต้จิ๋ว/ฮกเกี้ยน ) ซึ่งไปตีบางส่วนของแคว้นฉินได้ แต่ก็สถาปนาเมืองได้ไม่กี่เมือง และก็อยู่ได้ไม่นาน ภายหลังหมดยุคเขาไปแล้ว ทุกอย่างก็กลับไปเป็นของฉินเหมือนเดิม

รัฐเว่ย นับตั้งแต่ประกาศศักดาความเก๋าเพื่อจะเลื่อนสถานะตัวเองเป็นรัฐมหาอำนาจ ตั้งแต่ยุคของเว่ยเหวินโหว (Wèi Wén Hóu) : Marquess Wen of Wei )  ก็ตระเวนทำสงครามกับรัฐที่คนจีนในยุคนั้นเชื่อกันว่า "พัฒนาแล้ว"  แทบจะไม่เว้นปี ทั้งสงครามกับรัฐพี่น้องตัวเองอย่าง จ้าว, หาน ก็ออกจะบ่อย  เพราะฉะนั้น เมื่อทำสงครามบ่อย ทรัพยากรต่าง ๆ ทั้ง คน, เงิน ฯลฯ  จึงร่อยหรอลงไปเรื่อย

ประกอบกับ เจ้าผู้ครองแคว้น ในยุคหลังจาก เว่ยเหวินโหว(พ่อ) และ เว่ยอู่โหว(ลูก) แทบจะห่วยแตก ทำให้คนดี ๆ หนีออกไปอยู่แคว้นอื่นกันหมด ไม่ต้องอื่นไกล ซุนปิน, อู๋ฉี่, ซางยาง, เว่ยเหลียว ,หลี่ซือ บุคคลเหล่านี้ ล้วนเป็นขุนพล , มหาอำมาตย์ที่ยิ่งใหญ่ของแคว้นอื่น ๆ  แต่ต้องมาตกอับในแคว้นเว่ยทั้งนั้น

ถ้าเจ้าผู้ครองแคว้นเว่ย มีคนอย่าง ซิ่นหลิงจวิน : เว่ยอู๋จี้ (Lord Xinling) ต่อเนื่องสักหน่อย ไม่แน่ แคว้นเว่ยอาจจะรวมทุกแคว้นได้หมดก็เป็นได้ครับ

น่าเสียดายจริงๆ สำหรับเรื่องของซิ่นหลิงจวิน ไม่เช่นนั้นรัฐเว่ยอาจเปลี่ยนแปลงกว่าเท่าที่เคยเป็น และอาจถึงขั้นมีสิทธิ์ช่วงชิงแผ่นดินกับรัฐฉินก็เป็นได้ เพราะระดับคนที่เคยยัดเยียดความปราชัยให้ไป๋ฉีมาแล้ว คงมีอะไรไม่ธรรมดาให้คนรุ่นหลังได้เห็นกันก็เป็นได้ครับ

ส่วนข้อมูลเรื่องเว่ยกับฉินนั้น ขอเรียนว่าผมเองก็รวบรวมข้อมูลมาจากเว็บต่างๆ ที่ลงไว้เหมือนกัน ส่วนใหญ่เป็นเว็บประวัติศาสตร์ที่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจจะมีความคลาดเคลื่อนไปบ้างไม่มากก็น้อย ดังนั้นผมจะยินดีมากหากมีผู้รู้เข้ามาถกถึงข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อหาข้อสรุปที่ตรงตามข้อมูลจริงทางประวัติศาสตร์มากที่สุดครับ  ยิ้ม

สุดท้ายผมว่าเสน่ห์ของการเรียนรู้เรื่องทางประวัติศาสตร์ คือการถกกันถึงข้อมูลความเป็นจริงเนี่ยแหละครับ การเปิดวงให้เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เข้ามาใส่ข้อมูลต่างๆนี่ผมว่าสนุกที่สุดแล้วครับ ในการถกกันเรื่องประวัติศาสตร์
บันทึกการเข้า
samun007
องคต
*****
ตอบ: 446


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 23 ม.ค. 13, 23:59


น่าเสียดายจริงๆ สำหรับเรื่องของซิ่นหลิงจวิน ไม่เช่นนั้นรัฐเว่ยอาจเปลี่ยนแปลงกว่าเท่าที่เคยเป็น และอาจถึงขั้นมีสิทธิ์ช่วงชิงแผ่นดินกับรัฐฉินก็เป็นได้ เพราะระดับคนที่เคยยัดเยียดความปราชัยให้ไป๋ฉีมาแล้ว คงมีอะไรไม่ธรรมดาให้คนรุ่นหลังได้เห็นกันก็เป็นได้ครับ


ต้องบอกว่า อาจจะเพราะกรรมของแคว้นเว่ย หรือจะโทษบุญญาธิการของซิ่นหลิงจวินก็น่าจะได้ครับ เพราะเขาเกิดมาเป็นได้แค่อุปราชเท่านั้นเอง เนื่องจากยังมีพี่ชายเป็นกษัตริย์ (อ๋อง, หวัง) แห่งแคว้นเว่ย ทำให้แคว้นจึงไม่รุ่งเรืองกลับมาอีกครั้ง และช่วงหลัง ๆ ก็โดนพี่ชายเล่นงาน เนื่องจากกรณีแอบเอาตราอาญาสิทธิ์ไปใช้ เพื่อสั่งเคลื่อนทหารแคว้นเว่ย ที่ก็แทบจะไม่เหลือแล้วไปช่วยเหลือแคว้นที่โดนทัพฉินล้อมเอาไว้

สงครามครั้งนั้น กองทัพฉินได้อายเล็กน้อย เพราะดันไปแพ้ทัพผสมของหลายแคว้นแบบไม่น่าแพ้ เนื่องมาจากการต้องการตอบแทนบุญคุณของนายกรัฐมนตรีแห่งแคว้นฉิน ที่เคยตกระกำลำบากในแคว้นเว่ย พอดีมีคนช่วยเขาเอาไว้ แล้วลอบหนีออกมาเป็นใหญ่เป็นโตในแคว้นฉินได้  ท่านนายกฯ เลยตอบแทนความดีของผู้ช่วยเหลือ โดยให้เป็นแม่ทัพใหญ่ นำทัพไปบดขยี้แคว้นอื่น

แต่ชั้นของท่านแม่ทัพยังไม่ถึง จึงแพ้กลับไปแบบหน้าแตกครับ

คุณสมบัติเด่นอีกข้อของ ซิ่นหลิงจวิน ก็คือเรื่องของการเลี้ยงคน ซึ่งเป็นค่านิยมสมัยโน้นที่เฟื่องฟูมาก บ่งบอกถึงฐานะ และบารมีของคน ๆ นั้นได้เลย ตอนนั้นมีแข่ง ๆ กันมาหลายคน ทั้ง ซิ่งหลิงจวิน และ เมิ่งฉางจวินแห่งแคว้นฉี การเลี้ยงดูนั้น เลี้ยงอย่างดี คนที่มาอาศัยก็จัดเต็มกันทุกราย กินฟรี นอนฟรี เสื้อผ้าฟรี  บางคนต้องเลี้ยงไว้หลายปี เพื่อใช้งานแค่หนเดียวก็มีครับ

นี่ก็เป็นจุดเด่นอีกข้อหนึ่งของ ซิ่งหลิงจวิน ที่น่าจะเป็นต้นแบบให้เรา ๆ ท่าน ๆ เห็นวัฒนธรรมนี้ในยุคสมัยหลัง ๆ ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองไทยเราเองก็ตาม
บันทึกการเข้า
ราชปักษา
อสุรผัด
*
ตอบ: 23


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 25 พ.ค. 18, 15:29

ภายหลัง 206 BC. ทหารฉินใจโหดพวกนี้ก็ถูกเซี่ยงอวี่ หรือ "ฉุ่ป้าหวาง"ฝังทั้งเป็นเหมือนที่ทำกับชาวจ้าวไม่ต่างกัน เรียกว่ากรรมสนองกรรม

ยามตัวเองชนะเขา ฝังผู้แพ้ไปทั่วสนุกสนาน คิดว่าพวกตัวเองรบชนะตลอดเหยียบย่ำกับฝ่ายแพ้สารพัด  พอถึงคราตัวเองเลยไม่มีความปราณีต่อมนุษย์เหลือให้  


บันทึกการเข้า
Naris
องคต
*****
ตอบ: 421


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 25 พ.ค. 18, 16:05

ผมพยายามหารายละเอียดเกี่ยวกับสงครามครั้งนี้เท่าที่พอจะมีความสามารถหาได้ แต่ก็ค่อนข้างจำกัดเพราะผม Search ภาษาจีนไม่ได้ (อันที่จริงภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่ว่าจะดี แฮ่ๆ)

คือ ผมสงสัยว่า กำลังคนสี่แสน ต่อให้นำโดยแม่ทัพงี่เง่าอย่างไร ก็ยังเป็นกองกำลังติดอาวุธขนาดมหึมาอยู่ดี สี่แสนนี่มากกว่าทัพพม่าที่มาปิดล้อมกรุงศรีคราวเสียกรุงเสียอีกกระมังครับ การปิดล้อมคนจำนวนสี่แสนได้นี่ต้องทำอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฝ่ายปิดล้อมมีคนจำนวนเท่ากันหรือไม่มากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (เช่น มี 5 แสน) เพราะฝ่ายปิดล้อมมีพื้นที่ควบคุมที่เยอะกว่ามาก ฝ่ายถูกล้อม สามารถเลือกเจาะช่องออกทางไหนก็ได้ ในครั้งนั้น ไป่ฉี มีกำลังพลในมือเท่าใด

หากกำลังพลต่างกันไม่มาก การปิดล้อมคงต้องอาศัยภูมิประเทศเป็นเครื่องช่วย เช่นการจุกช่องเขา หรือชัยภูมิสำคัญ อย่างคราวสมเด็จพระเจ้าตากสินล้อมพม่าที่บางแก้วเป็นต้น แต่คราวนั้น เป็นการปิดล้อมกำลังฝ่ายพม่าราว 3000 เท่านั้น แล้ว ฉางผิง มีลักษณะภูมิประเทศอย่างไรกันถึงได้พอปิดล้อมคน 4 แสนคนได้

ที่สำคัญก็คือ ไป่ฉี ทำอย่างไร ถึงได้สามารถล่อคนสี่แสนคนเข้าที่ปิดล้อมที่ปิดสนิทเช่นนั้นได้ เรื่องนี้ ผมอยากได้รายละเอียดมากๆ เลยหละครับ

และสุดท้าย จ้าวคว่อ ต่อให้เขาไม่มีประสบการณ์รบจริงเลย แต่เขาก็ไม่ใช่คนไม่มีความรู้ อย่างน้อยๆ เขาก็รู้ทฤษฎีเป็นอย่างดี ลำพังแค่ความรู้นั้น กับกำลังพลสี่แสน ทำไมถึงยังหลงกลนั้น แล้วแก้กลออกมาจากที่ปิดล้อมไม่ได้จนถึงกับต้องพินาศเช่นนั้น     
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.056 วินาที กับ 20 คำสั่ง