เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
อ่าน: 15240 ขออนุญาตชวนสนทนาว่าด้วย "บทกวีร้อยแก้วของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์" ครับผม
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


 เมื่อ 14 ม.ค. 13, 19:06

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเว็บไซต์เรือนไทยที่เคารพทุกท่านครับ

   นับแต่เปิดกระทู้ “พฤษภาทมิฬ” เมื่อปีกลายแล้ว กระผมหายไปจากเรือนนานพอสมควร เหตุเพราะ ยังไม่มีอะไรโดนใจจังๆ นั่นประการหนึ่ง
ทว่า ที่สำคัญคือ ช่วงปลายปี คุณยายผู้มีพระคุณเสมือนแม่บังเกิดเกล้าของผม ท่านป่วยเป็นมะเร็งตับระยะสุดท้ายครับ ในที่สุด ท่านก็จากครอบครัว ลูกหลานไป เมื่อ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ นี้เอง ภายหลังพิธีศพเสร็จสิ้น แหละนำอังคารท่านไปลอย ณ จังหวัดฉะเชิงเทราแล้ว ความรู้สึกว่า คุณยายไปสวรรค์แน่ เนื่องจาก ตลอดชีวิตของท่าน ประกอบแต่กุศลกรรม ผมก็บรรเทาทุกข์ลงครับ ผมค่อยๆคืนสู่สภาวะ เผชิญความจริง ซึ่งต้องรับ แหละอยู่ให้ได้ แม้บางเวลา จะเปล่าเปลี่ยววังเวงบ้างก็ตาม

   หนังสือกวีนิพนธ์คือโอสถขนานหนึ่งของผมครับ ผมรื้อตู้หนังสือ หยิบบทกวีของท่านอังคาร
กัลยาณพงศ์ ซึ่งซื้อเก็บไว้แต่ยังอ่านไม่จบขึ้นมาขอร้องให้คุณน้าท่านอ่านให้ฟังต่อ แล้วก็พบสิ่งอันน่าทึ่งครับ

   ประเด็นร้อยกรองของท่านอังคารฯ มีผู้กล่าวถึงมากแล้ว ในที่นี้ ผมจึงขอเน้นจำเพาะ “ร้อยแก้ว” ของท่านเป็นสำคัญ

   ตัวอย่างต่อไปนี้ ทำเอาผมขนลุกซู่เมื่อฟังเสียงคุณน้าอ่านกระทบหูครั้งแรก ผมขอคุณน้า ช่วยกรุณาบอกจดเป็นอักษรเบรลล์ทันทีเลยครับ

   “ปางเมื่อสายัณหสมัย พระสุริยายอแสงจวนจะอัสดงลงลับหล้าภูผาสูง แว่วๆแจ้วๆเสียงยูงทองร้อง ปุยเมฆหม่นหมอง ละอองนวล ค่อยๆแปรปรวนโปรยประกายเป็นยวงสีส้มสุกทอขอบทองคำใสวาวบริสุทธิ์เลื่อนลอยลิบลิ่วปลิวเป็นรูปแก้วแหวนเงินทอง อัญมณี เสมอมีกัลปพฤกษ์สะพรั่งช่อดอกผลแก้ว แล้วโปรยปรายให้ทานปีติทิพย์ไปทั่วพื้นปัฐพี สุดแต่ใครจะมีแววตาเห็นคุณค่าอมตะสมบัติทิพย์ อันหาค่าบ่มิได้นั้นแล

   แสงทองคำของพระสุริยาพยับเมฆนั้น ส่องทะลุวงเมฆลงเป็นลำแสงพรายพระแพร้ว แล้ววงทองทิพย์ค่อยๆคล้อยเคลื่อนเลื่อนลงเหนือขอบฟ้า กระจายรังสีแจ่มจ้าประภัสสร สะท้อนฉายจบเวิ้งเขาลำเนาไม้ ทำให้เทือกขุนภูผาใหญ่ไกลลิบลิ่ว สุดขอบฟ้านั้นกลับกลายเป็นทิวเทือกขุนเขาสีทองคำบริสุทธิ์ ประดุจรูปนิมิตในเมืองฝัน

   ฝูงบุหรงดงบินบ่ายหน้า กลับค่าคบไม้รังรวง น่าแหนหวงชีวาปักษาทั้งป่าดงพงไพร ด้วยเจ้าไซร้เป็นผู้กระทำลำนำเพลงบรรเลงขลุ่ยวิเศษบอกโมงยามนาที มีบางตัวรั้งตำแหน่งระฆังทองของทิวาวาร เจื้อยแจ้วขานเสียงเพียงจะเรียกหาเมตตาธรรมจากความกรุณาปรานีซึ่งหนีหน้าหายไปจากหัวใจมนุษย์เสียช้านานแล้ว”

(ส่วนเริ่มต้นใน “บันทึกของจิตรกร อัจกลับแก้ว)
จากหนังสือ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์” จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ “กินรินทร์” พ.ศ. ๒๕๔๘

   ผมอ่านไป ฟังไป ก็นึกถึง “มหาชาติกลอนเทศ” ขึ้นมา รู้สึกจะได้กลิ่นอายของร่ายยาว ระคนปนกับอลังการแห่ง “พระปฐมสมโพธิกถา” พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณะเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส แม้เมื่ออ่าน “บันทึกของจิตรกร” จบลงก็ยังไม่เต็มอิ่มครับ เพื่อสนองความอยากเสพสุนทรียารมณ์ของตน ทำให้ท่องโลกไซเบอร์ เผื่อจะพบบทกวีนิพนธ์ร้อยแก้วของท่านอังคารฯ เพิ่มเติม

   แหละก็การเข้าอินเตอร์เน็ตนี่เอง ผมจึงได้รู้ข้อมูลว่า มีหนังสือเล่มหนึ่ง รวบรวมบทกวีร้อยแก้วของท่านอังคารฯ ไว้หลายบท หนังสือเล่มนั้นชื่อ “หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา” ครับ ผมเพียรตามหาก็ไม่พบ พี่สาวเอื้อเฟื้อ เข้าเว็บไซต์ร้านหนังสือมือสองหวังจะซื้อให้น้องชาย  ก็พบว่า หนังสือนี้จำหน่ายไปแล้ว แห้วซีครับกระผม

   แต่ยังครับ ความหวังยังไม่สิ้น (แหะๆ ยืมชื่อเพลงท่านจิตร ภูมิศักดิ์ มาใช้เสียหน่อย ขออนุญาตนะครับท่านจิตร) ผมเชื่อว่า ท่านผู้ทรงคุณวุฒิในเรือนไทยหลังนี้ คงมีบทกวีร้อยแก้วของท่านอังคาร
กัลยาณพงศ์อยู่ในครอบครองบ้างไม่มากก็น้อย ผมก้มกราบขอทานเศษความเมตตาของท่าน โปรดปรานีเสียสละเวลาแบ่งปัน (พิมพ์) กวีนิพนธ์ร้อยแก้วแพรวไพจิตรของท่านอังคารฯ อวยวิทยาทานให้ผมผู้โฉดเขลาด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 19:47

หยาดน้ำค้างคือน้ำตาของเวลา ตอน นิมิตในสายรุ้ง

รัตติกาลหลับอยู่ในม่านแพรของละอองอากาศสดใส ยวงนิลอมน้ำเงินเป็นละอองยองใย  ห้องแก้วนั้นคือเวิ้งพระธรณี มีพื้นราบกระทั่งสุดป่าเขาลำเนาไพรไปลับลิ่ว จนจบปริมณฑลไกลกว้างกว่าขอบฟ้า จวนลุเวลาเช้าตรู่ แสงทองเริ่มวเนจรมาถึงโลก ละอองหมอกอันปกคลุมดอยสูง ทำให้เกิดเป็นสายรุ้งอันรุ่งเรือง ในริ้วรุ้งสีทิพย์นั้นบังเกิดนิมิตน่าอัศจรรย์ซับซ้อนอยู่กว่าร้อยความฝัน เสมอฟ้าเสกสรรค์ เงาฝันนั้นมาซับซ้อนซ่อนเร้นไว้ให้หลงไหลใฝ่ฝันจินตนาการ

ทิวาวารตื่นแล้ว หอยทากคลืบคลานมาบสายรุ้ง  ลีลาช้า ๆ มาพร้อมกับแสงตะวันในยามเช้า หอยทากคลานลงจากโค้งรุ้งแล้วเลยหยุดกินน้ำค้างบนใบหญ้าและกลีบดอกไม้ เอ่ยถามหยาดน้ำค้างว่า ใครแต่งแต้มลวดลายไว้บนสไบพระแม่ธรณีในคืนนี้ มีจิตรกรหรือ เขาคงซื่อขีดเขียนอยู่มิรู้หลับนอนกระมัง

หยาดน้ำค้างตอบว่า " เรานี่แหละเป็นจิตรกร "

เมื่อท่ามกลางดึกสงัด เราได้หยดหยาดลงบนใบไม้ ตกต้องเนื้อดินทรายป่าอันละเอียด ตรงใหนมีลายพู่กันของเราลงแรง แผ่นดินก็เว้าลงเป็นรอยลึก ที่ใหนต้องรอยพู่กันน้อย รอยก็ตื้น ตลอดราตรีนี้น้ำค้างมิได้หลับนอนเลย ประจงแต่งแต้ม รอยสับสนวนวง ลงเป็นเส้นสายน้ำไหลอันไพจิตรน่าพิศวง ซื่อตรงเป็นลำนำธรรมชาติบริสุทธิ์ เราจึงสมมติว่าเป็นจิตรกรแก้วแล้วแต่งแต้มลวดลายของหยาดน้ำค้าง ลงบนสไบแพรของพระแม่ธรณี

" เจ้าเห็นสวยงามหรือ "

" จ้ะ สวยงามมาก "

ทำให้เห็นว่า โลกนี้มีแต่แรงเสน่หา น่าอัศจรรย์ ดูเถอะนั่นดอกไม้ป่าก็เบิกบานยิ้มแย้ม เสียดายก็แต่หมู่มนุษย์ โง่เขลาเบาปัญญา คิดแต่จะฆ่าทำลายล้างโลก ดูเถอะนั่นมันกำลังทำอากาศให้เสียหาย เป็นสวะดำมหึมาน่าขยะแขยง ทั้ง ๆ ที่เขาใช้อากาศหายใจ มีชีวิตสดใส เพราะอากาศบริสุทธิ์ แต่ไม่หยุดทำสกปรกสิ่งเลวนรกจกเปรต จนอากาศเน่าเปื่อยสิ้นทุกมุมเมือง

ดูสิเขาฆ่าป่าไม้ ทำลายสายต้นน้ำลำธารลงทุกเวลานาที อย่างไม่มีความหมายสิ่งใด เพียงแต่เหตุโลภหลงเงินทองเป็นกองภูเขาเลากาน่าอนาถ ต้นไม้ช่วยปรับช่วยปรุงให้อากาศบริสุทธิ์ กำนัลมนุษย์ทั้งโลก แต่เขาก็ฆ่าประหารพฤกษาตายคามือ มนุษยชาติอกตัญญู ไม่รู้จักบุญคุณสิ่งใด ดีแต่ทำระเบิดมหาประลัยไว้ล้างโลก แสนทุกข์แสนโศกเสียหนักหนา มิหนำซ้ำบ้าสงคราม กัดกันเหมือนสัตว์ป่าน่าอนาถ ดูสิไม่ทันอรุโณทัยเลย ก็เห่าแตรเครื่องยนต์เสียสนั่นหวั่นไหว แม้สัตว์ป่าโขลงช้างในไพรเถื่อน เพื่อนก็ไม่ตะโกนโพนทนาบ้าคลั่งดังแตรรถยนต์ รกไปด้วยเสียงสวะปฏิกูล แตร้นแตร่นแสนแสบหูดับตับไหม้แรงร้ายชั่วช้าสาหัสนัก

อรุโณทัยพลอยหม่นหมองเสียอารมณ์ รู้สึกโกรธเคืองอุษาโยคนี้ที่มืดมิดไปหน่อย ไม่มีแสงเงินแสงทอง เหมือนอุษาโยค ณ เวลาของทิวาอื่น ๆ ขมขื่นนักหรือ ดึงดื้อเป็นอย่างนั้นกับเขาเหมือนกันรึ อรุโณทัย ทำราวกับจำแบบเอาอย่างมนุษย์ที่มีเงินนับว่าน้อง มีทองนับว่าพี่ อย่างนี้จะดีที่ใหนอุษาโยคใดจะยากจนข้นแค้นไปบ้าง คือหม่นหมองขาดแสงเงินแสงทอง ไม่ควรจะดูหมิ่นถิ่นแคลนถึงกับไล่ไปเสียจากทิวาวาร เป็นการด่วนได้เห็นแก่นนั้นอัปยศนัก ไม่ควรด่วนใจร้อนเลย อย่ารีบร้อนนักความดีงามจะหนีหายหมด ดูเถอะเขาอื่นหมื่นแสนในแดนดินยังหลับสนิท เว้นแต่หมู่มนุษย์บ้าหลัง โลภหลงละเมอในเงิน เพ้อเจ้อในกองทอง

ดูเถอะนั่น นาฬิกายังหลับไหล ละเมอเพ้อฝัน จนมีพันธุ์บุปผชาติบานแย้มขึ้นบนเข็มของนาทีและชั่วโมง เวลานาที อบอวนด้วยกลิ่นหอมจากละอองเรณูดอกไม้ คงจะเป็นความฝัน มิใช่ความจริงสิ่งใดเป็นความจริงแท้ แต่ใคร ๆ ในโลกไม่ตระหนักประจักษ์แจ้ง ยังเคลือบแคลงสงสัยเรียกชื่อใหม่ว่าความฝัน เราจะปลุกเวลาขึ้นดีใหมอรุโณทัยถาม หอยทากตอบ อย่าปลุกเธอขึ้นมาเลย ปล่อยให้ฝีเท้าเราไปล่วงหน้าเวลาสักร้อยปีมิดีกว่าหรือ

เวลาอันแสนบรมสุข มักประมาทหลงเหลิงจนลืมนาทีทอง อันมีค่าควรที่จะตื่นเสาะแสวงหาศึกษารู้แก่นสารของชีวิตแล้วปฏิบัติผลิดอกออกผลงานทิพย์ไว้ในโลก แม่พระธรณีจะไม่โศกเศร้าเสียค่าน้ำนมเปล่า เวลาหลับหรือตื่นอย่าไปสนใจเลย ทำธุระการงานจุดมุ่งหมายในหน้าที่ชีวิตของท่านจงทุกนาทีเถิด เวลานั้นยิ่งใหญ่จนเรานึกไม่ถึงกำหนดไม่ได้คิดไปไม่เห็น เป็นสิ่งลึกซึ้งใหญ่หลวงนัก

ทั้ง ๆ ที่เวลาเป็นสิ่งว่างเปล่า  ในตัวของมันเองไม่มีอะไรเลย แต่ในความไม่มีอะไรในสูญตานั้น สรรพสิ่งต่าง ๆ อันคงอยู่ในสกลจักรวาลและสุริยจักรวาลฟากฟ้าอื่น ๆ ล้วนเป้นองค์ประกอบของเวลาทั้งหมด ดูเป็นมิติมหึมา สุดคณานับ ประมาณความหมายถึงลึกซึ้ง จนครอบคลุมสิ่งทั้งปวงไว้เป็นเอกภาพสูงสุด

เหนือมิติความว่างอันหลากหลาย คือ สุญญะนั้น กลับเป็นตัวตนอันใหญ่ยิ่ง จะว่ามีตนก็ได้ จะว่าไม่มีก็ได้ จุดหมายสูงสุด ช่างอิสระเสรี ในความไม่ยึดถือ หรือยึดถือเสมอไม่ยึดถือ พูดอย่างซื่อ ๆ  บริสุทธิ์ไว้ให้ปวงมนุษย์ดูหมิ่นเล่น เวลาดูเสมอว่าหลับใหล  แต่ในความหลับสนิทนั้น อาจกลับกันเป็นความตื่นอันแท้จริงก็ได้

หอยทากคลานมาช้า ๆ หารู้พิษสงของเวลาไม่ กระทั่งคืบคลานมาถึงความตายผุเปื่อยไป แต่เวลายังหาผุเปื่อยไม่ ไม่มีรอยยิ้ม แต่ดูเสมือนว่าเวลานั้นยิ้มแย้ม ดอกไม้ก็ยังบานสะพรั่ง สายลำธารก็ยังหลากไหล นกก็ยังร่ำร้องเป็นปกติอยู่

มีสิ่งเปลี่ยนแปร ก็แต่หอยทากนั้น อันได้กลับชาติเกิดเป็นมนุษย์และหลงตัวเองว่าศรีวิไลใหญ่ยิ่งลำพองว่าเป็นสัตว์ประเสริฐ  โดยไม่หยุดคิดมองไตร่ตรองเห็นตัวเอง  แล้วเปรียบเทียบกับสิ่งใดเลย  มืดมนอนธการอยู่แต่ในคำสรรเสริญเยินยอ  ว่าเป็นสัตว์ประเสริฐเลิศโลกนั้น นับกาลนาน
 
อนิจจา

อังคาร กัลยาณพงศ์
ร่างต้นฉบับเมื่อก่อน พ . ศ. ๒๕o๙

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 05:51

กระผมขอกราบคารวะท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ แหละกราบขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูเป็นอเนกอนันต์ครับ ที่เมตตานำบทกวีร้อยแก้วอุดมคุณค่าวิเศษนี้มาโปรยปรายความบรรเจิดเฉิดฉันประดับเรือนไทยหลังงาม
ผมอ่านอย่างละเมียด ค่อยๆดูดซับคำทุกคำ อ่านแล้วอ่านเล่า
โอ้! ข้าแต่ท่านมหาจินตกวี ข้าน้อยขอนอบน้อมอัญชุลีท่านจากใจพิสุทธิ์ ทุกพจน์ของท่านตระการประดุจทุกเพชรนั่นเทียว

สารัตถะซึ่งท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เสกสรรค์ไว้ เป็นอกาลิโกจริงแท้ครับ

 
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 09:07

    คุณชูพงศ์เคยอ่าน กามนิต-วาสิฎฐีของเสฐียรโกเศศ และนาคะประทีปหรือยังคะ      ภาษาของนักปราชญ์ทั้งสองท่านงดงามมาก   ตั้งแต่หน้าแรกทีเดียว

     "ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าเสด็จลงมาตรัสในมนุษยโลกแล้ว ถึงวาระอันควรจะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน พระองค์ได้เสด็จสู่ที่จาริกไปในคามชนบทราชธานีต่าง ๆ แห่งแคว้นมคธจนบรรลุกรุงราชคฤห์มหานคร"

ข้อความในพระสูตรเป็นดั่งนี้
ขณะพระองค์เสด็จมาใกล้เบญจคิรีนครคือราชคฤห์ เป็นเวลาจวนสิ้นทิวาวารแดดในยามเย็นกำลังอ่อนลงสู่สมัยใกล้วิกาล ทอแสงแผ่ซ่านไปยังสาลีเกษตร แลละลิ่วเห็นเป็นทางสว่างไปทั่วประเทศสุดสายตา ดูประหนึ่งมีหัตถ์ทิพย์มาปกแผ่อำนวยสวัสดี เบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว ต้องแสงแดดจับเป็นสีระยับวะวับแววประหนึ่งเอาทรายทองไปโปรยปราย เลื่อนลอยลิ่ว ๆ เรี่ย ๆ รายลงจดขอบฟ้า ชาวนาและโคก็เมื่อยล้าด้วยตรากตรำทำงาน ต่างพากันดุ่ม ๆ เดินกลับเคหสถานเห็นไร ๆ เงาหมู่ไม้อันโดดเดี่ยวอยู่กอเดียว ก็ยืดยาวออกทุกที ๆ มีขอบปริมณฑลเป็นรัศมีแห่งสีรุ้ง อันกำแพงเชิงเทินป้อมปราการที่ล้อมกรุงรวมทั้งทวารบถทางเข้านครเล่า มองดูในขณะนั้นเห็นรูปเค้าได้ชัดถนัดแจ้งดั่งว่านิรมิตไว้ มีสุมทุมพุ่มไม้ดอกออกดกโอบอ้อมล้อมแน่นเป็นขนัด ถัดไปเป็นทิวเขาสูงตระหง่าน มีสีในเวลาตะวันยอแสงปานจะฉาบเอาไว้เพื่อแข่งกับแสงสีมณีวิเศษ มีบุษยราคบัณฑรวรรณและก่องแก้วโกเมน แม้รวมกันให้พ่ายแพ้ฉะนั้น

          พระตถาคตเจ้าทอดพระเนตรภูมิประเทศดั่งนี้ พลางรอพระบาทยุคลหยุดเสด็จพระดำเนิน มีพระหฤทัยเปี่ยมด้วยโสมนัสอินทรีย์ในภูมิภาพที่ทรงจำมาได้แต่กาลก่อน เช่นยอดเขากาฬกูฏไวบูลยบรรพต อิสิคิลิและคิชฌกูฏ ซึ่งสูงตระหง่านกว่ายอดอื่น ยิ่งกว่านี้ทรงทอดทัศนาเห็นเขาเวภาระอันมีกระแสธารน้ำร้อน ก็ทรงระลึกถึงคูหาใต้ต้นสัตตบรรณอันอยู่เชิงเขานั้น ว่าเมื่อพระองค์ยังเสด็จสัญจรร่อนเร่แต่โดยเดียว แสวงหาพระอภิสัมโพธิญาณ ได้เคยประทับสำราญพระอิริยาบถอยู่ในที่นั้นเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะเสด็จออกจากสังสารวัฏเข้าสู่แดนศิวโมกษปรินิพพาน
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 09:08

     ขณะหนึ่งในแววตาของเวลา : อังคาร กัลยาณพงศ์

    ทิพยเนตรแห่งวินาที จ้องภาษาตาไปพูดกับดวงดาว ดูราวผู้อยู่ชั่วนิจนิรันดร์ บนหลืบผาสูงนั้นมีแมงมุมหนึ่ง บรรจงถักรูปนานาบุปผชาติเบิกบานแย้มไว้กลางใย กระทั่งราชินีแห่งแมลงปีกสีทอง และผีเสื้องามทั้งหลายต่างหลงใหล บินมาติดใยตายมากมาย แมงมุมตะกรุมตะกรามกิน ทั้งเหลือเป็นอาหารสำรองไว้อีกมากมาย จนเพื่อนแมงมุมอื่นๆ ยกย่องเป็นเศรษฐี
    มันรำพึงว่า ฮะฮ้า แมงมุมเอ๋ย ถ้าหากเจ้าถักรูปถุงทองคำไข่มุกเพชรมณีไว้กลางใย หมู่มนุษย์จะหลงใหล มาติดใยล้มตายลง เสมือนแมลงเป็นมั่นคง เราจะลองดูไหมล่ะ
    แม่งมุมเฒ่าห้าม อย่า เราจงเลิกใช้วิธีเช่นนั้น อย่าหลอกลวงใคร ดอกไม้ล่อต่อหน้า แล้วเอาเขี้ยวขย้ำข้างหลัง เสียความงามแห่งวิญญาณ อย่าเอาความดีเป็นทาสรับใช้ความชั่วเลย
    ตราบกาลอวสานแมงมุมและบางเหล่าสัตว์เดรัจฉานเชื่อฟัง แต่บังเอิญชาวป่าดึกดำบรรพ์หมู่หนึ่ง ได้ยินคำสนทนาของเดรัจฉานเหล่านั้น ชาวป่าเถื่อนดึกดำบรรพ์รู้สึกจับใจในความเฉลียวฉลาดของแมงมุม จึงเก็บสิ่งบาปกลอุบายนั้น มาทะนุถนอมเป็นสมบัติในนิสัยสืบโคตรตระกูลมนุษย์ มาตราบเท่าทุกวันนี้
    ( จาก กวีนิพนธ์ 'แววตาของเวลา' โดยอังคาร กัลยาณพงศ์)
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 11:08

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูที่เคารพยิ่งครับ

 “กามนิตวาสิตถี” ถือเป็นหนังสือที่ผมมิเพียงแต่รักเท่านั้น หากถึงขั้น “บูชาสักการะ” ในทุกอักขระลิขิตเลยครับ บทเริ่มเรื่องของภาคบนดิน และตอนแรกของภาคสวรรค์ ผมฟังนับรอบไม่ถ้วนครับอาจารย์ ตอน “บนลานอโศก” ก็ฟังบ่อยครับ

   เมื่อหมอจากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า แจ้งกับครอบครัวของเราว่า คุณยายอาการหนัก อีกสองสามวันก็จะถึงแก่กรรม วันนั้น ตรงกับวันที่ ๒ มกราคม ผมนี่แหละครับ จงใจเปิดหนังสือเสียงเรื่อง
“กามนิตวาสิตถี” ตอนพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดกามนิต ณ บ้านนายกุมภการ ให้คุณน้าซึ่งขณะนั้นยังทำใจไม่ได้ฟัง ตัวผมก็พลอยผ่อนอุปาทานลงเช่นกันครับ

   ส่วนบทกวีร้อยแก้วของท่านอังคารฯ ที่อาจารย์กรุณานำมาให้พวกเราชาวเรือนไทยได้อ่านกันทั่วถ้วน ผมอ่านตอนแรกๆ เพลินครับ แต่พอตอนท้าย จบแบบหักมุม ผมร้อง “โอ๊ะ! เอางั้นเลยหรือท่าน”
   ถึงผมจะตาบอด หาก นิสัยแบบแมงมุมในนิทาน ผมไม่หยิบฉวยมาใช้หรอกครับ เพราะตัวเองก็ชิงชังคนจำพวกนี้ด้วย ดังนั้น ถ้าจะมีใครโดนด่ากระทบ ผมเชื่อว่า ผมรอดครับ (คิดเข้าข้างตัวเองไว้ก่อนครับอาจารย์) 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 11:31

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู แหละท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ

   มีนิทานของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์อยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อสั้นๆว่า “ญ่า” (สะกดตามหนังสือกวีนิพนธ์ฯ) คุณน้าอ่านให้ผมฟังแล้ว แต่ยังไม่ว่างบอกจดเป็นอักษรเบรลล์ครับ ผมฟังคุณน้าอ่าน แล้วอะไรบางอย่างก็แวบเข้ามาในสมอง

   ผมเชื่อมโยงเรื่อง “ญ่า” ของท่านอังคารฯ ไปยังเพลง “อุ๊ยคำ” ของคุณจรัล มโนเพชร ไม่แน่ใจว่า คุณจรัล จะได้แรงบันดาลใจจาก “ญ่า” มาสร้างตัวละคร “อุ๊ยคำ” หรือเปล่า

   หญิงชราทั้งสอง มีวิถีชีวิตทำนองเดียวกัน คืออยู่คนเดียว ปราศจากญาติกาคอยดูแล หาเลี้ยงชีพด้วยการ “เก็บผักบุ้ง” ไปขาย แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ก็สิ้นชีวิต ต่างกันตรง “อุ๊ยคำ” คุณจรัลฯ สร้างเรื่องราวแบบสมจริงให้เรา (คนฟัง) ได้รู้กระจ่างว่า เหตุใด แม่เฒ่าจึงต้องอยู่อย่างว้าเหว่ ในขณะที่เรื่อง “ญ่า” ดูเหมือนท่านอังคารจะมิได้เน้นประเด็นนี้ เนื่องจากทุ่มเทความสำคัญลงไปให้กับสัมพันธภาพระหว่างหญิงชรากับธรรมชาติ ผมเลยไม่แน่ใจว่า บทกวีร้อยแก้วเรื่อง “ญ่า” ส่งอิทธิพลไปยัง “อุ๊ยคำ” หรือเปล่า ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเพียงความคิดตื้นๆของคนปัญญาต่ำๆคนหนึ่ง หากผิดพลาด กราบขอขมาทุกๆท่านด้วยครับ
   

บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 18:37

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู แหละท่านสมาชิกเรือนไทยทุกท่านครับ

   พูดถึงนิทานท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ ถ้าข้ามเรื่องนี้ไป ดูขาดความขลังอย่างไรไม่รู้ ผมเลยถือโอกาสนำมาลง ณ เรือนไทยอีกแห่งแล้วกันครับ

   คุณน้าบอกผมจดว่องไวยิ่ง บางครั้งผมเมื่อยมือจากการจิ้มดินสอไปตามแนวบรรทัดของเครื่องมือสำคัญในการเขียนอักษรเบรลล์ (Slate)  คิดว่าน้าจะหยุด น้ากลับเดินหน้าต่อ สองวันก็จบครับ เหตุก็เพราะ “ฉันชอบมาก แม่นกเขารักลูกนกจังนะ ว่ามั้ย” ผมก็เออออตามท่านไปครับ  ทั้งๆในใจ ชอบกลวิธีพรรณนาฉากตอนเปิดเรื่องกับตอนอวสานของนิทานเรื่อง “น้ำนมสีแดง” ในหนังสือ “ปณิธานกวี” มากกว่า

   อยากให้นิทานเรื่องที่ผมจะนำมาลงต่อไปนี้ ได้รับการบรรจุเข้าหลักสูตรวิชาภาษาไทยสำหรับนักเรียนจังครับ สมัยผมเรียนไม่มี ตำรายุคปัจจุบัน ซึ่งปรับปรุงดีมาก คือทำให้เนื้อหาอ่อนลง มีหรือเปล่าหนอ ถ้าทำตกหล่นหละก็ ผมคนหนึ่งครับ เสียดายสุดซึ้ง

   แม่นกนางแอ่น
ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ รจนา

   นกนางแอ่นฝูงหนึ่ง อาศัยเกาะร้างกลางมหาสมุทรกาลนั้น มรสุมรุนแรง กระแสคลื่นกราดเกรี้ยวจนเกาะเกือบจมน้ำฝูงนกตกใจ หนีพลัดพรากสิ้นร้างทั้งรวงรัง ทิ้งไว้แต่ลูกนกกำพร้าเพียงตัวเดียว เธอเกิดจากไข่ฟองสุดท้ายแห่งฤดูกาล

   ลูกนกสลบไปตั้งแต่เช้า ล่วงกลางคืนตกดึกดื่น ฟื้นขึ้นด้วยเย็นหยาดน้ำค้าง อกเบาหวิว หิวโหย อ่อนใจ จนหลงใหลเพ้อเจ้อ ทำไมแม่ไม่มาทำรังกลางปุยเมฆขาว นวลละออง เราจะจิกกินเดือนดาวได้ ปางใดเรามีปีก ปางนั้นเราจะบินหนีไปสุดหล้าฟ้าอื่นจนความทุกข์ทรมานตามไม่ถึง

   เดือนหงายแจ่มกระจ่าง หมู่แมลงเล็กๆพยายามบินขึ้นไปหาพระจันทร์ มันสิ้นแรงดับร่วงกลางหาวดึกลึก ซากลิ่วลอยลงในรวงรัง พร้อมน้ำค้างหยาด กระทบพืชอ่อนๆ พลอยตกในรวงรังด้วย ลูกนกประทังชีวิตด้วยสิ่งเหล่านี้ ช้าวันนานคืน มันรำลึกถึงแต่แม่ เคยคาบเหยื่อป้อนทุกเช้าเย็น บัดนี้ แม่ทิ้งเหยื่อไว้ให้ลูกอันกล้ำกลืนไม่รู้สิ้น คือความทุกข์ระทมถึงสุดโศกาดูร

   อรุโณทัย ลูกนกถามสายรุ้งว่า ดูรากำไลทองของขอบฟ้า ท่านทราบไหม มารดาข้าน้อยอยู่แห่งหนไหน ฉันไม่ทราบ ฉันเป็นเพียงอนุภาคไอน้ำทอประกายรังสีใส รู้เล็กน้อยว่า บางสิ่ง ธรรมชาติสร้าง แล้วสลายเร็วเกินไป จนไม่ทันรู้จักตัวเอง เสมือนชั่วครู่ที่เกิดเป็นสายรุ้ง กำลังทำลายตัวเอง อันหนวกบอดใบ้ไม่รู้ว่าจะหายไปแห่งหนไหน ท่านลองถามกระแสคลื่นเถิด

   ลูกนกนิ่ง เสียใจ กระทั่งดึกดื่นก็ยังเกรงใจคลื่น ด้วยทุกระลอกคลื่น สะอึกสะอื้นครวญคราง ล้มฟาดตัวแตกกระจายพรายจนหาดทรายขาวพราวเพราะฟองน้ำตา ท่านคงเสมือนเราที่ทุกข์ระทมท้นหัวใจ สายลมเจ้าข้าเอย มารดาข้าน้อยอยู่แห่งหนไหน แต่ลมพัดแล้วไม่คอยใคร เจ้าจะต้องรอคอย เราฝากคำตอบไว้กับเทพเจ้า ณ ดวงดาวบนสรวงสวรรค์

   เวลาล่วงเลยไป ลูกนกเติบโตบินสู่ฟากฟ้าอันไพศาลวันนั้น ตั้งแต่เช้ายังหาเหยื่อไม่ได้ จนจวบโพล้เพล้รำไร ลูกนกจึงเหลือบเห็นหอยประกายแวววาว มันบินเวียนวนโฉบคาบได้คาบเหินขึ้นสูง ทิ้งหอยกระแทกหินโดยแรง เปลือกแตกฉีกเนื้อราวคมมีดเฉือน ร่างหอยบิดเป็นเกลียว ด้วยเจ็บปวดแสบที่สุด

   บัดดลนั้น ฟากฟ้าบันดาลให้ดวงดาวตกวูบกระจ่างวาว นิรมิตความสำนึกแห่งรักชั่วนิรันดร บันดาลสัตว์ทั้งสองพูดและเข้าใจกันได้ แม่นกบินกลับมาหาลูกวันมรสุมรุนแรง แต่คลื่นสาดฟาดร่างนางนกตกจมหายใต้ทะเลลึก นางฝากวิญญาณความรักห่วงหาอาลัย เกิดในฝาหอยน้อยกระจิดริด ไม่ยอมพูดภาษาใดๆสิ้น นอกจากห้วงดวงใจรู้สึกคิดถึงลูกตามลำพัง เพื่อจะจดจำไปชั่วกาลอวสาน ลูกนกนางแอ่นเล่าเรื่องหนหลังให้แม่หอยฟังสิ้น ทุกข์โศก เจ็บ จนนางตื้นตันใจกลางความแสบปวดรวดร้าว

   ลูกเอ๋ย ชาติที่แล้ว แม่ตายเสียไม่ทันป้อนเหยื่อเจ้าเมื่อมื้อค่ำ มาพบกันใหม่ในชาตินี้ แม่มีตัวเองเป็นเหยื่อ มาป้อนเจ้าพอดี ลูกรัก เราไม่รู้จะกำหนดคุณค่าอันลึกซึ้งของความรักได้อย่างไร พอสิ้นเสียงแล้ว แม่หอยก็ขาดใจตาย

   ลูกนกฟุบกลิ้งเกลือกจนสลบไสล หัวใจแตกสลายตายตามไป กระทั่งคลื่นสาดสองซากเน่าเปื่อยเป็นผงธุลี ปลงสังเวชผงธุลีที่เคยเป็นแม่หอยและลูกนกนางแอ่นตัวนั้น อันฝากความรักเตือนแผ่นทรายไว้รำลึก ตลอดอายุขัยแห่งกาลนาที เทอญ

หมายเหตุ:
จินตนิทานเรื่องนี้ คัดลอกจากหนังสือ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์”
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กินรินทร์ พ.ศ. ๒๕๔๘
 

 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 19 ม.ค. 13, 13:07

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพู ตลอดจนท่านสมาชิกเว็บไซต์เรือนไทยที่เคารพทุกท่านครับ

   ในที่สุด คุณน้าผู้รักหลาน (เช่นเดียวกับที่หลานรักน้า) ก็บอกผมจดนิทานเรื่อง “ญ่า” ของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ เป็นอักษรเบรลล์จบบริบูรณ์แล้วครับ ผมพิมพ์เสร็จเมื่อเช้าวันนี้เอง ขออนุญาตนำมาลงในกระทู้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษาสืบไปครับ

    เรื่อง “ญ่า” มีองค์ประกอบต่างๆ เช่นภาษาเป็นอาทิ เข้าลักษณะ “แกะสลักลายซ้อนลาย” วิจิตรบรรจงยิ่ง
ผมอ่านแล้ว เกิดอารมณ์หลายๆลักษณะปะปนกันระหว่างบันทัดครับ น่ารักสำหรับบรรดาพืชพันธุ์ในไร่ยามเจรจากับ ญ่า ปลาบปลื้มปิติเวลาย่าดีใจ สงสารตอนญ่าล้มเจ็บหนัก ท้ายสุด เศร้าสะเทือนจิต คราญ่าดับสูญลมหายใจ
น่าสังเกตว่า ท่านอังคารฯ ใช้คำซ้อน ตลอดจนวลีที่เป็นสำนวนเยอะมาก เช่น
“สีหมอกดอกเลา” “ไร้ญาติขาดมิตร” “เก็บผักหักฟืน” “ออดๆแอดๆ” “อดมื้อกินมื้อ” “สนทนาปราศรัย” “พิศวงงงงวย” “เข้าไต้เข้าไฟ” ฯลฯ
เอาแค่การเลือกสรรถ้อย คนอ่านอย่างผมก็ตื่นเต้นแล้วครับ ขอเชิญทุกๆท่าน ท่องโลกจินตนาการไปกับ “ญ่า” บทนิพนธ์ล้ำค่าของท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ได้ ณ บัดนี้ครับผม

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

   ญ่า
ท่านอังคาร กัลยาณพงศ์ นิพันธ์

   สายัณห์หนึ่งในวสันตฤดู ฝนหายพรายเมฆขาวสะอาด สุมทุมพุ่มไม้เขียวฉอุ่มลออสดใส ดวงตะวันยอแสงรุ้งลงกินน้ำ เบื้องหลังภูเขาสูงลมโชยแมกไม้ยูงยางสลัดน้ำฝนลงแพรวพราย เป็นชนบทเปล่าเปลี่ยวห่างไกลจากตัวเมือง

   หญิงชราร่างหง่อม อาศัยกระท่อมเก่าๆ กลางไร่ร้าง นางมีผมเหมือนสีหมอกดอกเลา ใบหน้านั้นย่นและแห้งเหี่ยว เว้นแต่แววตายังวาวแต่ก็ราวกะเวลาโพล้เพล้ อายุขัยแปดสิบเศษ หลังนั้นค่อมลงมากแล้ว

   นางอยู่ในวัยของ ญ่า ไร้ญาติขาดมิตร เก็บผักหักฟืนขายเลี้ยงชีพมาช้านาน เวลานี้ร่างกายผ่ายผอมลง และเจ็บป่วยออดๆแอดๆ อดมื้อกินมื้อ อยู่มาวันหนึ่งเพิ่งหายไข้ อยากจะกินข้าวกะแกงเลียงยอดผักหญ้า จึงออกจากกระท่อมเที่ยวเก็บผัก เห็นยอดตำลึงไหวๆฉะอ้อนกระแสลม พอจะเอื้อมเด็ด
เถาตำลึงหนึ่งร้องว่า

   ญ่าเก็บฉันก่อนเถอะ เถานั้นเป็นน้องสาว รอไว้พรุ่งนี้ บางทีเธออาจจะมีเรื่องสนทนาปราศรัยกะญ่าบ้างก็ได้ นางให้พิศวงงงงวยเป็นที่สุด แต่ก็แข็งใจตอบไปว่า แน่แท้หรอกเจ้า ฝูงคนทั้งแผ่นดินนั้นมีพรุ่งนี้ แต่เฉพาะญ่าแล้ว วันนี้เป็นวันสุดท้ายเสมอ ไม่แน่นอนนักพอไก่ขันล่วงสามยามปลายญ่าอาจจะสิ้นลมก็ได้ เกือบตายมาหลายหนแล้ว วันนี้จึงอยากจะขอกินแกงเลียงให้ชื่นใจสักหน่อยเถอะ

   ยอดกระถินถามนางบ้างว่า ญ่ามีข้าวสารหรือเปล่า เออ พอมีบ้างซื้อไว้สี่ห้าทะนานหลายวันแล้ว เหลืออยู่สักทะนานกว่าๆแต่ข้าวเป็นมอดต้องเก็บมอดทิ้ง กะว่าจะได้หุงก็ตอนเข้าไต้เข้าไฟโพล้เพล้นี่แหละ

   พอหญิงชราพูดขาดคำ มะละกอสุกงอมเหลืองอร่าม ร้องบอกเสียงสั่นเครือว่า ญ่าเอาผลอันสุกงอมของฉันไปกินก่อนเถอะ นางยังไม่วายพิศวง กล่าวขอบอกขอบใจในพืชพันธุ์เหล่านั้นเป็นล้นพ้น

   มะละกอบอกซ้ำว่า ญ่าเอาผลของฉันไปกินก่อนเถอะ แรงโอสถบางอย่างจะล้างลำไส้ของญ่าให้สะอาด แล้วให้ญ่าทำใจให้สบาย ลืมวิตกกังวลจนสิ้นเชิง รื่นอารมณ์ชมชื่นในแสงรุ้งตะวันทั้งเจ็ดสี ตื่นแต่เช้าหายใจอากาศสดบริสุทธิ์ ไว้ต้อนรับอุษาเทพเจ้า อ่อนไท้จะประทานประกายปีติทิพย์มาให้ญ่า จะยืดอายุขัยออกไปอีก ญ่าจะมีวันพรุ่งนี้สืบเนื่องไปตามแรงปรารถนาของหัวใจ

   นางถามว่า ทำไม ต้นไม้จึงพูดได้เล่า วันก่อนๆก็เห็นนิ่งเป็นใบ้อยู่ทั้งสิ้นหรือชะรอยเจ้าจะมีน้ำใจ ซ่อนเร้นอยู่อย่างลี้ลับลึกซึ้งดูเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มีเมตตาธรรมกว้างขวางหนักหนา ทำให้ญ่าดีอกดีใจจนเกิดปีติเป็นแรงทิพย์มีกำลังวังชาสดชื่นขึ้น

   บัดดลนั้น พฤกษชาติในไร่เปรยๆ ประสานเสียงขึ้นพร้อมกันว่า ถึงแม้เราจะอยู่ร่วมโลกกับมนุษย์ แต่อุปนิสัยใจคออันคับแคบตระหนี่ถี่เหนียวของมนุษย์มิได้มีอิทธิพลเหนือเราเลย เราไม่เอาอย่างจริต มารยาสาไถย ของมนุษย์เป็นอันขาด เว้นจากญ่าแล้วเราก็มิได้พูดด้วย เราเห็นญ่าถูกทอดทิ้ง ขาดน้ำใจจากสังคมมนุษย์ จึงสุดที่จะสมเพชเวทนาอดวาจาไว้มิได้

   ที่จริง เทพเจ้า ก็ได้ประทานดวงวิญญาณแก่สรรพสิ่งทั้งหลาย แต่เรารักจะเป็นใบ้ ถึงจะมีภาษาก็เสมือนหามีไม่ ซึ่งบางครั้งเราก็สนทนากันบ้าง แต่ภาษานั้น ลี้ลับลึกซึ้งจนเกินหูสามัญมนุษย์จะล่วงรู้ถึง ครั้งแรกเราหลงว่าญ่าจะสิ้นลมในคืนนี้ แต่โชคดีเหลือเกินที่รู้ว่า ญ่าเกิดแรงยินดีมีปีติเป็นทิพย์เท่ากับยาอายุวัฒนะ ทำให้ญ่ายืดอายุขัยออกไปอีกนานทีเดียว นางนิ่งฟังวังเวงใจ ทันใดยอดผักบุ้งในสระหลังกระท่อมพูดขึ้นบ้างว่า

   ญ่าจ๋าฉันจะแตกยอดให้ญ่าเก็บไปขายที่ตลาดทุกๆวัน ภายหน้าผู้คนจะมากมายขึ้น ฉันจะมีราคาแพงขึ้นบ้างละ แล้วญ่าช่วยตีฆ้องร้องป่าวไปด้วยว่า ผักบุ้งเป็นโอสถวิเศษ กินแล้วช่วยให้สายตาดีขึ้นมากด้วย

   หญิงชราตื้นตันใจ จนน้ำตาพร่าพรายลงอาบแก้ม ก้มกราบกับแผ่นดิน ขอบใจในบุญคุณพระแม่ธรณี และผักหญ้าพฤกษชาติเป็นล้นพ้น แล้วออกปากว่า ญ่าให้รู้สึกเกรงอกเกรงใจเต็มที

   เวลาเก็บเจ้าไปขายนั้นนะ เจ้าไม่เจ็บปวดบ้างเลยหรือ ยอดผักบุ้งไหวๆหัวเราะแล้วตอบว่า เทพเจ้าเท่านั้นที่มีน้ำพระทัยประเสริฐเลิศล้ำ ญ่าคิดหรือว่า ถ้าพระสร้างประสาทมาในผักหญ้านานาพันธุ์ไม้ไว้รู้สึก แผ่นดินนี้จะระงมไปด้วยเสียงคร่ำครวญ บาดเจ็บ สาหัส จากผลการกระทำของมนุษย์ทุกคืนวัน ที่ฉันพูดได้ รู้สึกระลึกได้ เหตุด้วยแรงจากดวงวิญญาณอันน่ามหัศจรรย์

   โชคดีมาก ต้นไม้ทั้งหลายไม่มีประสาทไว้รู้สึกเจ็บปวด ถ้าสู้ความทุกข์ระทมขมขื่นไม่ได้ก็ตายไปเลย ขอให้ญ่าเก็บฉันไปขายเถอะ ฉันยินดีจะงอกงามขึ้นใหม่เสมอ

   หลังจากวันนั้น ผักบุ้งในสระก็ทอดยอดงดงาม หญิงชราเก็บไปขายที่ตลาดพอได้เงินซื้อข้าวซื้อกับกิน ครองชีวิตในกระท่อมเก่าๆจากบางตับผุขาดจนเห็นแสงดาวระยับย้อยมาตามช่องโหว่นั้น ดาวไถก็คล้อยฟ้าไปแล้ว กบเขียดร้องเสียงใสเป็นเวลาดึกสงัด

   ขณะนี้หญิงชราล้มเจ็บป่วยเป็นมาเลเรียมาหลายวันแล้วพิษไข้ขึ้นสูง ให้หูอื้อ ตาลาย ละเมอ
เพ้อเจ้อ อากาศแปรปรวน อบอ้าว เมฆสีหม่นหมองมาบดบังจันทร์ กระแสลมเริ่มพัดจนรุนแรงจัดขึ้นเป็นวายุกล้า หวั่นไหวไกวเมือง หมู่ไม้เสมือนชิงช้ากลางสายฝน สายฟ้าแลบแปลบปลาบ แล้วฟาดเปรี้ยงสนั่นลั่นโลก หญิงชราตกใจสลบไปร่างกายเปียกโชกด้วยน้ำฝน ล่วงไปหลายนาฬิกาฝนก็ซาหาย ฟ้าจวนสางแสงเงินแสงทอง เสียงโประดก นกหกร้องร่าเริงอยู่แจ้วๆ

   นางฟื้นขึ้นแล้ว พิษไข้กลับย้อนซ้ำอีก อนิจจา ละเมอเพ้อสิ้นสติ หลงใหลลงเก็บผักบุ้ง ยอดผักบุ้งร้องบอกว่า ญ่าอย่าลงมาๆมีงูร้ายอยู่ริมสระ มันกำลังร่านคู่ประสมพันธุ์กัน แต่นางไม่ได้ยินเสียงอันหวังดีนั้น ดุ่มเดินลงไป

   บังเอิญ ถึงคราวเคราะห์ร้ายเหยียบปลายหางงูเห่าฉกรรจ์งูตกใจฉกกัดเอาเต็มที่ ฝังสองเขี้ยวพิษไว้เต็มแรง นางรู้สึกเสียวปลาบที่หลังเท้า ก็เอามือลูบคลำ งูกัดซ้ำเข้าที่มือจึงรู้สึกตัวว่าถูกงูกัด ก็พลันตกใจสิ้นสติ เป็นลมล้มลงขอบสระนั้น มินานนักฤทธิ์อันร้ายแรงของอสรพิษก็ทวนกระแสโลหิตในวัยชราอันมีกำลังต้านทานน้อยเหลือเกินเร่งฝ่ากระแสโลหิตเข้าสู่ห้องหัวใจ ดับแรงเต้นของชีพจรให้วอดวายลง หญิงชราก็สิ้นลม แต่ตานั้นลืมโพลงราวจะเป็นห่วงถึงผักหญ้าพฤกษาลดามาลย์ เสมือนมิตรสหายอันยากจะหาใครมาเทียบเทียมได้ เสี้ยวจันทร์เจ้าข้างแรมทอแสงหรุบหรู่ ลับทิวไม้ไปแล้ว ฟ้าสาง สายฝนก็หายนานอากาศสงบยะเยือกเย็นลง จนวิเวกวังเวง น้ำค้างเผาะๆบนใบไม้เหลือแต่ดาวดวงหนึ่งระยับระย้าอยู่ในห้วงสวรรค์อันบริสุทธิ์

   ถ้าแม้ใครมีหูทิพย์ ก็จะได้ยินเสียงสะอึกสะอื้นจากพฤกษาลดามาลย์ในไร่นั้น ยอดผักบุ้ง มะละกอ กระถิน และเถาตำลึงก็ครวญคร่ำร่ำไห้

   ดอกไม้เล็กๆ เสียงสั่นว่า พี่พฤกษชาติทั้งหลายเอย ฉันเสียใจหมายมั่นไว้ว่าจะบานแย้ม ดอกสีม่วงใสในเช้านี้ ถ้าญ่าได้เห็นสีอันสวยสดงดงาม จะทำให้บรรเทาความเจ็บป่วยลงบ้าง น่าเสียดายเหลือเกิน ตำลึงว่าดูเถอะนั่น ฝูงมดคันไฟกำลังรุมแทะกินลูกตาดำๆของญ่า มันรุมกินกันเป็นกลุ่มๆจนเป็นก้อน ไม่กี่วันอสุภซากนั้นจะเน่าพอง แร้งกาจะมาจิกกิน กระดูกจะเรี่ยรายกลิ้งกระจายกลางทรายดิน นึกน่าสมเพชเวทนานักหนาแล้ว

   ขาดคำรำพึงรำพัน เถาตำลึงก็ซ้ำร่ำไห้ สะอึกสะอื้นจนเกิดน้ำตาขึ้นกลางเกษรของดอกสีขาวนวลละออง น้ำนั้นละลายปนกับน้ำค้าง หยดหยาดระรินลงราวกับกระแสทุกข์โศกาดูร หลั่งไหลไว้อาลัย
หญิงชราผู้ลาโลก จากลับแล้วชั่วนิจนิรันดร

หมายเหตุ
   ข้อความทั้งหมด คัดลอกจากหนังสือ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์”
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ “กินรินทร์” เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๘ ตัวสะกดของคำบางคำซึ่งอาจผิดแผกจากในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ผมพิมพ์ตามหนังสือดังกล่าว มิได้ปรับแปรแก้ไข ด้วยเข้าใจในหลัก
“กวียานุโลม” ของท่านมหาจินตกวีผู้รจนาครับ 


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 19 ม.ค. 13, 16:32

หมายเหตุ
   ข้อความทั้งหมด คัดลอกจากหนังสือ “กวีนิพนธ์ของอังคาร กัลยาณพงศ์”
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ “กินรินทร์” เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๘ ตัวสะกดของคำบางคำซึ่งอาจผิดแผกจากในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ผมพิมพ์ตามหนังสือดังกล่าว มิได้ปรับแปรแก้ไข ด้วยเข้าใจในหลัก
“กวียานุโลม” ของท่านมหาจินตกวีผู้รจนาครับ  

อังคาร กัลยาณพงศ์อธิบายเหตุผลที่เลือกใช้คำว่า "ญ่า" ไว้ใน โคลงบทหนึ่ง



บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 19 ม.ค. 13, 17:02

กราบขอบพระคุณคุณเพ็ญชมพูอย่างสูงยิ่งครับ ที่กรุณาอวยวิทยาทานเสริม
ผมเข้าใจท่านอังคารครับ เคยอ่านบทสัมภาษณ์ รู้สึกว่าท่านจะผูกพันกับ "ญ่า" ของท่านมากๆด้วยเช่นกัน

แต่.... โคลงบทนั้น ผมขออนุญาตไม่แสดงความเห็นขอรับกระผม   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 20 ม.ค. 13, 20:45

คุณชูพงศ์คิดว่าอังคาร กัลยาณพงศ์ มองโลกในแง่ร้ายหรือแง่ดี คะ
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 21 ม.ค. 13, 06:57

เรียนท่านอาจารย์เทาชมพูที่เคารพยิ่งครับ

   คำตอบของผม มาจากปัญญาอันอ่อนเยาเบาความ หากจะเปรียบกับแสง ก็เล็กกว่าแสงหิ่งห้อยตัวเดียวหลายโกฏิเท่านัก แม้พลั้งพลาดประการใด อาจารย์โปรดชี้แนะ ถ่ายทอดความรู้ให้ผมเพิ่มพลังในการวิจารณ์วิจัยสรรพสิ่งนานาด้วยเถิดครับ

   ผมคิดว่า ท่านอังคารมอง “โลก” ในแง่ดี แต่มอง “มนุษยโลก” (ซึ่งผมมิแน่ใจว่าส่วนใหญ่หรือเปล่า) ในแง่ “ผู้ทำลายโลก” (ตัวร้าย) ครับ

   ขออนุญาตอ้างอิงจากบางส่วนของบทกวี “นิมิตในสายรุ้ง” ซึ่งคุณเพ็ญชมพูลงไว้ในความคิดเห็นที่ ๑ ดังนี้ครับ

   "เจ้าเห็นสวยงามหรือ "

" จ้ะ สวยงามมาก "

ทำให้เห็นว่า โลกนี้มีแต่แรงเสน่หา น่าอัศจรรย์ ดูเถอะนั่นดอกไม้ป่าก็เบิกบานยิ้มแย้ม เสียดายก็แต่หมู่มนุษย์ โง่เขลาเบาปัญญา คิดแต่จะฆ่าทำลายล้างโลก ดูเถอะนั่นมันกำลังทำอากาศให้เสียหาย เป็นสวะดำมหึมาน่าขยะแขยง ทั้ง ๆ ที่เขาใช้อากาศหายใจ มีชีวิตสดใส เพราะอากาศบริสุทธิ์ แต่ไม่หยุดทำสกปรกสิ่งเลวนรกจกเปรต จนอากาศเน่าเปื่อยสิ้นทุกมุมเมือง”

   ผิถูกอย่างใด อาจารย์กรุณาอวยวิทยาทานด้วยเถิดครับ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูงยิ่ง
ชูพงค์ ตรีวัฒน์สุวรรณ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 21 ม.ค. 13, 16:12

เก่งมากคุณชูพงศ์   ดิฉันเห็นด้วยค่ะ 
บันทึกการเข้า
chupong
พาลี
****
ตอบ: 319


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 22 ม.ค. 13, 13:24

กราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เทาชมพูเป็นอเนกอนันต์ครับ ที่เมตตาตรวจสอบความเห็นของผม

   ผมทวนไปอ่านดูคำว่า “มนุษย์” ของท่านอังคาร ซ้ำอีกหลายหน หลังจากพิมพ์ความเห็นที่ ๑๒ ลงไปแล้ว ด้วยอยากจะรู้ว่า “มนุษย์” นั้น ท่านเหมารวมทุกคนหรือเปล่า
เพราะถ้าจะว่ากันจริงๆ “มนุษย์” ที่ดีสมกับคำอันแปลว่า ผู้มีใจสูง ก็ยังปรากฏ
ถ้าสมมุติว่าโลกมีแต่มนุษย์ชั่วล้วนๆ เราคงไม่มีโอกาสมานั่งอยู่บนโลกหละครับ เพราะโลกคงแตกนานแล้ว หรือไม่สงครามโลกครั้งที่สามคงเกิดก่อนยุคปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๕๖) 

   สิ่งสะดุดใจของผมก็คือนิทานเรื่อง “ญ่า” ครับอาจารย์ อ่านทวนอีกสองสามเที่ยว ก็ร้อง “นี่ไง” มนุษย์ดีในสายตาท่านอังคาร” อยู่อย่างสันโดษ เรียบง่าย ไม่รุกรุมคุมเหงใคร กลับจะถูกคนอื่นรังแกเสียด้วยซ้ำเห็นคุณค่าวิเศษประเสริฐของสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว
มนุษย์อย่างนี้แหละ เมื่อจากไป แม้ธรรมชาติก็ยังร่ำไห้ระลึกถึง

   ท่านอังคารลึกซึ้งมากครับ ท่านตระหนักดีว่า มนุษย์ ก็คือสิ่งสร้างของธรรมชาติเหมือนกัน ควรอยู่อย่างต่างฝ่ายต่างเกื้อกูลกันจึงเกิดดุลยภาพ
ผมขออนุญาตเพิ่มเติมเล็กน้อยเพียงนี้ครับอาจารย์
 



บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.081 วินาที กับ 20 คำสั่ง