เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 102900 เมื่อคุณตา คุณยายยังเด็ก
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 60  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 19:20

   เรื่องพักค้างคืนตามทางเป็นเรื่องใหญ่    ถ้าไม่รู้ว่าจะไปพักที่ไหนก็เดินทางไม่ได้    เส้นทางเรือไปนครปฐมไม่มีโรงแรมให้พักค้างคืน    มีทางเดียวคือพักตามบ้านคนรู้จัก   ก่อนเดินทางประมาณ 1 เดือน คุณลุงจึงถามเพื่อนฝูงว่ามีใครมีญาติอยู่ใกล้ๆนครปฐมบ้างไหม    พบว่าเพื่อนคนหนึ่งมีญาติอยู่ตามทางก่อนถึงนครไชยศรี   เขาก็เขียนจดหมายไปบอกญาติให้รู้ล่วงหน้าไว้ และให้คุณลุงถือจดหมายอีกฉบับหนึ่งติดตัวมาด้วยเป็นหลักฐาน
   ตกเย็นเรือมาถึงหมู่บ้านริมน้ำแห่งหนึ่ง    คุณลุงถามจากชาวบ้านที่พายเรือผ่านมาว่าบ้านญาติของเพื่อนอยู่ไหน   เมื่อรู้ก็ให้คนแจวเรือเบนหัวเรือเข้าจอดที่ท่าน้ำ   คุณลุงกับคุณป้าขึ้นจากเรือไปก่อนให้เด็กรออยู่ในเรือ  สักพักก็กลับมา มีเจ้าของบ้านตามมาด้วย   เขาจัดที่ให้คุณลุงกับคุณป้าและลูกหลานค้างบนเรือน    ส่วนคนอื่นๆค้างกันในเรือ    คุณยายจึงต้องหอบหมอนและเสื่อขึ้นไปนอนบนนอกชาน    ถึงเวลาอาหาร แม่ครัวก็จัดสำรับจากเรือมาให้เด็กๆ  แล้วยกอีกสำรับหนึ่งไปให้คุณลุงกับคุณป้ากินกับเจ้าของบ้าน
   คุณป้าอธิบายให้คุณยายฟังว่า ต้องพักกับคนรู้จักจะได้ปลอดภัย   ถ้าหากว่าไม่เจอบ้านคนรู้จัก ก็ต้องอาศัยจอดเรือหน้าบ้านกำนันผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยคุ้มครอง     ถ้าหากว่าไปจอดเรือในที่เปลี่ยว  กลางคืนอาจมีโจรผู้ร้ายเข้ามาลักของในเรือได้  

  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 61  เมื่อ 31 ม.ค. 13, 20:00

วันรุ่งขึ้น คุณลุงกับคุณป้าลาเจ้าของบ้านมาลงเรือ     คุณยายเริ่มหายตื่นเต้นจากนั่งเรือแล้ว ก็เลยหลับไป  เพราะเมื่อคืนแปลกที่เลยนอนไม่ค่อยหลับ      มาตื่นอีกครั้งเมื่อเรือเข้าคลองเรียกว่าคลองเจดีย์บูชา   เห็นบ้านเรือนคนหนาตาขึ้น มีบ้านไม้สองชั้นหลังคาปั้นหยาอย่างในกรุงเทพด้วย     เรือจอดก่อนถึงสะพานสวยมีรูปยักษ์แบกอยู่ข้างล่าง    ตรงนั้นมีเรือจอแจเพราะเป็นตลาด   มองไปเห็นเจดีย์ใหญ่มหึมาอยู่ตรงสุดถนนที่ตรงกับคลอง   คุณยายก็รู้ว่ามาถึงพระปฐมเจดีย์แล้ว  จบเรื่องเดินทางกันแค่นี้

                                                                                               "เทาชมพู"
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 62  เมื่อ 01 ก.พ. 13, 08:41

มาตื่นอีกครั้งเมื่อเรือเข้าคลองเรียกว่าคลองเจดีย์บูชา   เห็นบ้านเรือนคนหนาตาขึ้น มีบ้านไม้สองชั้นหลังคาปั้นหยาอย่างในกรุงเทพด้วย     เรือจอดก่อนถึงสะพานสวยมีรูปยักษ์แบกอยู่ข้างล่าง    ตรงนั้นมีเรือจอแจเพราะเป็นตลาด   มองไปเห็นเจดีย์ใหญ่มหึมาอยู่ตรงสุดถนนที่ตรงกับคลอง   คุณยายก็รู้ว่ามาถึงพระปฐมเจดีย์แล้ว

ภาพประกอบ



บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 63  เมื่อ 01 ก.พ. 13, 08:52

สะพานนี้เห็นยักษ์แบก ชัดเจนครับ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 64  เมื่อ 01 ก.พ. 13, 09:17

ทุกวันนี้เรือหายไปจากคลองเจดีย์บูชาหมดแล้ว  แต่ยักษ์ยังแบกสะพานอยู่ค่ะ
ขอบคุณสำหรับภาพประกอบค่ะ คุณเพ็ญชมพู และคุณ siamese
 ยิ้มกว้างๆ
*******************
บริวาร

คุณยายเกิดมาในเรือนหมู่ขนาดใหญ่  เป็นบ้านทรงไทยหลายสิบหลัง เชื่อมต่อกันด้วยนอกชาน ทำให้วิ่งจากบ้านนั้นไปหาบ้านนี้ได้สะดวก  โดยไม่ต้องลงไปที่พื้นดินเลย    หน้าบ้านเป็นคลองเช่นเดียวกับบ้านอื่นๆในละแวกนั้นที่ปลูกอยู่ริมคลอง   ส่วนหลังบ้านเป็นสวนผลไม้สุดลูกหูลูกตาล้อมรอบบ้าน   มีผลไม้ทุกอย่างตั้งแต่ทุเรียน ขนุน  ส้มโอ ละมุด มะเฟือง มะไฟ  ฯลฯเพราะที่ดินริมคลองติดแม่น้ำเป็นดินดีมาก  ปลูกอะไรก็งาม      ส่วนมะม่วง และชมพู่เป็นผลไม้ดาษดื่น บ้านไหนๆก็มีกันทั้งนั้น

สวนผลไม้เป็นรายได้ของเจ้าของบ้าน    ต้องอาศัยแรงคนทำงานในสวน  ตั้งแต่ลอกท้องร่อง   วิดน้ำรดต้นไม้    นอนเฝ้าสวนในหน้าทุเรียน  ดูแลและเก็บผลไม้ให้พ่อค้าแม่ค้าที่มาซื้อถึงสวน  ขนเข่งผลไม้ลงเรือ  ฯลฯ    ในบ้านคุณยายจึงมีบริวารมากมายหลายสิบคน เพื่อเป็นแรงงานประจำบ้าน   พวกนี้อยู่กันทั้งครอบครัว   มีลูกออกมาก็อาศัยอยู่กับพ่อแม่จนโต แล้วก็กลายเป็นบริวารรุ่นต่อๆมา     เมื่อคุณยายเกิด มีคนในบ้านหลายคนที่อยู่กันมาตั้งแต่สมัยคุณทวดของคุณยาย  บางคนก็โตมาพร้อมกับคุณปู่ของคุณยายซึ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว

คนงานเหล่านี้ไม่ใช่ทาส  เพราะสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงเลิกทาสมานานแล้วตั้งแต่สมัยคุณพ่อของคุณยายยังเล็ก    ทาสบางคนพอเป็นไทแก่ตัวก็โยกย้ายออกไปทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง    แต่บางคนก็ยังอาศัยอยู่ในบ้านนายต่อไปในฐานะบริวาร  จะลาออกไปเมื่อใดก็ได้ แต่พวกนี้ไม่ค่อยมีใครออกไปไหน ยังสมัครใจอยู่บ้านเดิมจนกระทั่งแก่ตายไปเอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 65  เมื่อ 02 ก.พ. 13, 21:34

    คุณยายเรียกคนเหล่านี้ว่า "ตา" กับ "ยาย" ตามด้วยชื่อเขา   ไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนแก่วัยปู่ย่าตายาย  แต่เป็นคำเรียกบริวารในสมัยนั้น     คำนี้แตกต่างจาก "คุณตา" และ" คุณยาย" ซึ่งหมายถึงญาติผู้ใหญ่
    บริวารบางคนมีหน้าที่ประจำ เช่นเป็นคนแจวเรือประจำบ้าน    ถ้าบ้านไหนมีเรือหลายลำ ก็มีคนแจวเรือประจำกันเรือละคน  เพราะนายหลายคน นั่งเรือไปและกลับคนละเวลากัน        อีกแห่งหนึ่งคือครัวของบ้าน ในเมื่อมีหลายครอบครัวในเรือนหมู่    โรงครัวจึงต้องมีคนทำงานหลายคน    แม่ครัวเป็นหัวหน้าใหญ่  มีลูกมือหลายคนทั้งหญิงและชาย    ทำหน้าที่ช่วยงานต่างๆในครัว เช่นผ่าฟืน ขูดมะพร้าว  หั่นผัก  หั่นเนื้อ ฯลฯ     เพราะงานทำกับข้าวแต่ละมื้อเป็นงานใหญ่กินเวลามาก   ทำมื้อกลางวันเสร็จแล้วก็เตรียมตัวทำมื้อเย็นต่อไป    เพราะมื้อเย็นถือเป็นมื้อหลักของบ้าน ต้องเตรียมกันนาน  ไม่ใช่สำหรับเจ้าของบ้าน แต่สำหรับบริวารในบ้านด้วย   แม่ครัวไม่สามารถหุงข้าวได้ทีละหม้อเพราะจะไม่พอกิน   ต้องหุงด้วยกระทะใบบัว    ซึ่งหุงยากที่จะให้ข้าวสุกเสมอกันทั้งกระทะ    คนเป็นแม่ครัวจึงต้องมีฝีมือจริงๆ  ถือเป็นบริวารชั้นดีของบ้าน
    ในเมื่อบ้านคุณยายเป็นสวน  จึงต้องมีลูกมือทำสวนหลายคน  คอยดูแลสวน    และเก็บผลไม้ซึ่งเรียกกันว่าลูกไม้จากต้นใส่เข่งเตรียมไว้ให้พ่อค้าแม่ค้าที่พายเรือมารับถึงสวน       ในหน้าที่ผลไม้ออกมาก    ในสวนปลูกเรือนเล็กๆ มุงจากเอาไว้เหมือนบ้านหลังเล็กๆ มีผนังสามด้าน ด้านหน้าเปิดโล่ง  สำหรับเก็บผลไม้ที่ต้องรีบเก็บจากต้นมารอพ่อค้าแม่ค้าไว้ที่นั่น     คนทำสวนก็ต้องช่วยกันเก็บและขนลูกไม้กันไปไว้ตามเรือนเหล่านี้   ตลอดวันไปจนค่ำ    ถ้าเจ้าของบ้านไม่ลงมาควบคุมเอง ก็ต้องมีหัวหน้าคนสวนทำหน้าที่นี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 66  เมื่อ 03 ก.พ. 13, 12:05

บริวารบางคนก็อาศัยอยู่ในเรือนหมู่ ใต้ชายคาเดียวกับนาย   คุณยายมีพี่เลี้ยงชื่อยายเพียน  อยู่กับคุณยายตลอด 24 ชั่วโมง  ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด   ตอนเล็กๆคุณยายไปโรงเรียนใหม่ๆ   ยายเพียนก็ไปนั่งเฝ้าอยู่ตลอดวัน  แต่พวกเรือนครัวปลูกเรือนเล็กๆอยู่แยกออกไปจากเรือนหมู่ของนาย    มีนอกชานเชื่อมให้เดินถึงกันได้      พวกคนสวนปลูกเรือนอยู่ในสวน  อยู่กับลูกเมีย      เป็นหน้าที่ของนายที่จะต้องเลี้ยงลูกเมียของบริวารด้วย   คนเหล่านี้ก็ทำงานให้นายเช่นเดียวกัน   แต่เด็กๆเมื่อโตขึ้นอาจจะขอแยกออกไปทำงานข้างนอกเพื่อเลี้ยงตัวเองได้    เด็กผู้หญิงเมื่อโตเป็นสาวก็แต่งงานแยกไปอยู่บ้านสามีได้  ไม่มีใครว่า  

พี่เลี้ยงของคุณยายได้รับเงินเดือน เดือนละ 10 บาท  ถือว่าเป็นค่าจ้างค่อนข้างแพงสำหรับบริวาร       ส่วนคนแจวเรือได้เบี้ยเลี้ยงรายวัน วันละ 1 สลึง   ตอนเย็นๆเขาจะขึ้นมารับเบี้ยเลี้ยง  โดยคลานเข้ามารับกับคุณย่าของคุณยายซึ่งเป็นเจ้าของบ้านฝ่ายหญิง  หน้าที่หารายได้ และควบคุมค่าใช้จ่ายในบ้านเป็นหน้าที่ของคุณย่า     ส่วนคุณปู่จะมอบเงินจากเงินเดือนให้คุณย่านำไปใช้จ่ายในบ้าน  แต่คุณย่าก็ต้องหารายได้จากสวนเพิ่มเติมด้วย   ถึงจะพอเลี้ยงลูกหลานและบริวารจำนวนมากให้อยู่ได้สบาย      

ความสัมพันธ์ระหว่างนายกับบริวารในสมัยนั้น เป็นความผูกพันกันอย่างคนในครอบครัว   ไม่ห่างเหิน เป็นแค่นายจ้างและลูกจ้าง อย่างคนทำงานในบริษัทหรือโรงงานในสมัยนี้     นอกจากจ่ายค่าจ้าง นายยังสามารถอบรมสั่งสอนตักเตือน ห้ามปรามและควบคุมความประพฤติของลูกจ้างได้    
ตากรับ คนแจวเรือที่ทำหน้าที่ส่งคุณยายและพี่ๆน้องๆไปโรงเรียนเป็นคนชอบกินเหล้า   ได้เงินเท่าไรก็ไปซื้อเหล้ากินหมด   คุณย่าจึงต้องระวังไม่จ่ายเงินให้มากเกินไป   มิฉะนั้นจะเอาไปกินเหล้าเมามาย พาลวิวาทกับลูกเมีย    เมื่อตากรับคลานขึ้นมารับเงิน  คุณย่าก็จะแถมเทศนาไปให้อีกกัณฑ์ใหญ่ทุกวัน    ตากรับก็นั่งฟัง  กัดกรามแน่น ตาแดงก่ำ หน้าตาถมึงทึง  จนคุณยายซึ่งตอนนั้นอายุประมาณ 10 ขวบ  กลัวว่าตากรับจะฆ่าคุณย่า เพราะตากรับเป็นคนรูปร่างล่ำสัน  หน้าตาดุดันเหมือนโจร     ส่วนคุณย่าก็เป็นหญิงชราร่างผอมบางนิดเดียว  ไม่มีทางป้องกันตัวเอง  ถ้าไม่นับหลานเล็กๆอย่างคุณยายที่นั่งอยู่ด้วย ก็ถือว่าคุณย่านั่งอยู่คนเดียว

คุณยายกลัวไปเปล่าๆปลี้ๆ  เพราะไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้น  ตากรับก็นั่งกัดฟัน ฟังอย่างสงบเสงี่ยม  จนคุณย่าเทศน์จบ ตากรับก็ก้มลงกราบแล้วคลานถอยกลับไปพร้อมกับเงิน  เป็นอยู่เช่นนี้ทุกวัน   จนกระทั่งตายจากกันไป

                                                                                                 "เทาชมพู"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 67  เมื่อ 04 ก.พ. 13, 08:48

ภรรยา

สังคมในสมัยคุณยายยังเด็กเป็นสังคมที่ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคนพร้อมกัน  อยู่ใต้ชายคาเดียวกัน  เป็นเรื่องถูกต้องตามกฎหมาย  ไม่มีใครเห็นเป็นเรื่องแปลก    คุณลุงของคุณยายที่อยู่อีกเรือนหนึ่งก็มีภรรยา 2 คนคือคุณป้า และภรรยารองอีกคนหนึ่ง  เป็นญาติห่างๆกันมาก่อนจะมาเป็นภรรยา   
คุณป้าเองก็ไม่ได้รังเกียจภรรยารอง  เพราะมีเธอไว้ก็แบ่งเบาภาระในบ้านได้มาก     คุณป้าจะต้องช่วยคุณย่าดูแลสวนผลไม้   คิดเงินซื้อขายกับพ่อค้าแม่ค้า    รับแขกเพื่อนๆของคุณปู่และคุณลุงที่มาเยี่ยมบ้าน   ไปงานต่างๆเช่นงานแต่งงาน งานศพ งานบวช ฯลฯ กับคุณลุง  แทบไม่มีเวลาว่างเลยสักชั่วโมงเดียว    จึงต้องการคนที่ไว้ใจได้สักคนหนึ่งช่วยดูแลลูกๆ   ภรรยารองของคุณลุงก็ทำหน้าที่นี้ได้อย่างดี
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 68  เมื่อ 04 ก.พ. 13, 09:18

ภรรยารองของคุณลุงทำหน้าที่คล้ายแม่บ้าน คือดูแลเด็กๆลูกของคุณลุงคุณป้า   และดูแลเรื่องอาหารการกินภายในบ้าน  คือเป็นหัวหน้าของแม่ครัวอีกทีหนึ่ง     คุณป้ามีงานเต็มมือทั้งวัน บางทีก็มีแขกมาหา  บางทีก็ออกไปธุระนอกบ้าน   แต่ภรรยารองจะอยู่ประจำในบ้านไม่ออกไปไหน     สำหรับคนภายนอก   เช่น เพื่อนบ้านและเพื่อนฝูงญาติพี่น้องของคุณลุงก็รับรู้ว่านี่คือภรรยาอีกคนหนึ่งของคุณลุง   ทุกคนก็ต้อนรับเธอเป็นเรื่องปกติ   เธอไม่ต้องซ่อนเร้นปิดบัง   และไม่รู้สึกว่าตัวเองฐานะต่ำต้อยเพราะไม่ใช่ภรรยาหลวง     

ผู้หญิงจำนวนมากในสมัยนั้น ทั้งที่มีชาติสกุลดี  หลายคนเป็นลูกสาวขุนนาง  ต่างก็เป็นภรรยารองกันได้โดยไม่ถือเป็นเรื่องแปลก   และที่แปลกกว่านั้นก็คือมีภรรยาหลวงจำนวนไม่น้อยที่สมัครใจไปสู่ขอหญิงสาวที่กำเนิดดี มีการอบรมดีเหล่านี้มาเป็นภรรยารองให้สามีของตน    เพราะเห็นว่าไหนๆ สามีก็คงจะมีภรรยาหลายคนอยู่แล้ว     แทนที่จะเอาผู้หญิงแปลกหน้าไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้าเข้ามาในบ้าน   ก็ไปคัดเลือกมาให้เองดีกว่า   จะได้เลือกคนที่ดูแล้วว่าเข้ากันได้ และไม่มีปัญหาในการอยู่ร่วมบ้าน     
ภรรยาหลวงบางคนก็ยกน้องสาวตัวเองให้สามีเสียเลย  เพื่อจะได้ไว้ใจให้ช่วยดูแลลูกๆและดูแลบ้านช่องได้สนิทใจ  ดีกว่าไปเอาคนอื่นๆที่ไม่ใช่ญาติเข้ามา    เมื่อน้องสาวมีลูก  พี่สาวก็ไม่รังเกียจเพราะเป็นหลานป้าแท้ๆของเธอเอง  เช่นเดียวกับน้องสาวก็ไม่รังเกียจลูกๆของพี่สาว เพราะเป็นหลานน้าแท้ๆของเธอเอง
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 69  เมื่อ 04 ก.พ. 13, 21:09

   เรื่องภรรยาหลวง ภรรยารอง ในสมัยก่อนก็คงจะไม่สงบเรียบร้อยไปทุกครอบครัว เป็นไปได้ในครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวมีบารมีสูง เอาอยู่ บางครอบครัวก็คงมีคลื่นใต้น้ำบ้าง อาจจะเบาหรือรุนแรงก็แล้วแต่ ใครก็อยากเป็นเบอร์หนึ่ง  สังคมไทยปัจจุบันยอมรับ'หนึ่งสำหรับหนึ่ง'  ถ้าเกินกว่านี้ก็อยู่ในสภาพซ่อนเร้น ธรรมชาติกำหนดหน้าที่ทางเพศของชาย-หญิง (ผู้-เมีย)ไว้ต่างกัน ฝ่ายชายมีหน้าที่รุกหรือแสวงหา ซึ่งต่างกับหญิง แต่ความสามารถด้านอื่นๆชายหญิงมีเท่าเทียมกัน สตรียุคปัจจุบันจึงไม่ยอมให้บุรุษเอาเปรียบ จึงเกิดเรื่องราวเป็นข่าวหน้าหนึ่งตามที่ทราบๆ  เรื่องความสัมพันธ์ชายหญิงจึงสามารถเอามาเขียนเป็นนิยายได้ไม่มีวันหมด
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 70  เมื่อ 04 ก.พ. 13, 21:36

  ขออนุญาตอาจารย์ย้อนหลังเข้ามาในห้องครับ ปกติจะเวียนฟังอยู่ทีระเบียงหน้าห้องโน้นหน้าห้องนี้ นาน..นับปีเหมือนกัน

  อยากขอทรรศนะของท่านอาจารย์เรื่องครอบครัวไทยโบราณหลายภรรยาแบบครอบครัวคุณยายน่ะ่ครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 71  เมื่อ 05 ก.พ. 13, 09:12

เห็นด้วยกับคุณ jalito ค่ะว่า ในครอบครัวที่มีคลื่นใต้น้ำ (หรือแม้แต่คลื่นบนน้ำอย่างเปิดเผย) ระหว่างเมียหลวงกับเมียน้อยก็มีอยู่เหมือนกัน   เมียน้อยที่คับแค้นใจก็มี  เรื่อยไปจนถึงลูกๆ ที่ไม่เท่าเทียมกับลูกเมียหลวงก็มีไม่น้อย     เราถึงมีสำนวนว่า "ลูกเมียน้อย" ที่หมายถึงไม่เทียมหน้าเทียมตาผู้อื่น     แต่เรื่องทำนองนี้รู้กันเยอะแล้ว  ปัจจุบันหาดูได้จากละครทีวีหลายๆเรื่อง   ดิฉันก็เลยไม่นำเสนอในกระทู้ให้ซ้ำซากเปล่าๆ   
 
เรื่องที่เลือกมาเล่าคือนำเสนอบทบาทเมียน้อยที่ปัจจุบันเราไม่ค่อยรู้จักกันแล้ว ได้แก่เมียน้อยที่ได้รับการยอมรับในครอบครัว   มีความเป็นอยู่สบายและมั่นคงพอสมควร    ในที่นี้ใช้คำว่า "ภรรยารอง" เพื่อจะได้รู้สึกว่าเป็นคนละความหมายกับ "เมียน้อย" ที่ถูกประทับตราในทางลบ   จริงๆแล้วภรรยารองก็จัดเข้าประเภทเมียน้อยน่ะแหละค่ะ   

ส่วนคำถามของคุณ Jalito ที่ต้องการทราบทรรศนะ    ดิฉันคิดว่าสภาพครอบครัวในยุคสมัยหนึ่งก็เป็นไปตามค่านิยมในยุคสมัยนั้น   สมัยของคุณยายเมื่อประมาณ 100 ปีก่อน เป็นยุคที่ผู้หญิงในสังคมเมืองหลวงไม่มีทางเลือกมากนัก     เพราะค่านิยมกำหนดให้ว่า ตอนเด็กๆเธออยู่ในความดูแลของพ่อแม่  โตเป็นสาวก็ต้องอยู่ในความดูแลของสามี   พอแก่ตัวลงก็อยู่ในความดูแลของลูก (ที่สังคมเรียกว่ามีหน้าที่กตัญญูต่อพ่อแม่)   
ในเมื่อสังคมสมัยนั้นถือว่า ชายมีภรรยาได้หลายคนพร้อมกันอย่างถูกต้อง   ผู้หญิงก็เลยมีทางเลือก 2 ทางว่าจะเป็นเมียหลวงหรือเมียน้อย   ทางเลือกที่สามคืออยู่เป็นโสด มีผู้หญิงน้อยคนมากสมัครใจจะเลือกทางนี้ เพราะแปลว่าจะต้องอยู่ในความดูแลของญาติ เช่นพี่ชายน้องชาย หรือหลานๆ  เมื่อเธอชราลง     แน่ละว่าเธอย่อมไม่ได้รับความเอาใจใส่มากเท่ามีครอบครัวตัวเองอยู่แล้ว

ถ้าคุณ Jalito ถามว่าผู้หญิงเมื่อ 100 ปีก่อนไม่มีทางทำมาหากินเลี้ยงตัวเองหรือ   ดิฉันก็ขอตอบว่ามี  เพราะคุณย่าและคุณป้าของคุณยาย เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้หญิงที่สามารถสร้างกิจการ ช่วยหารายได้เพิ่มจากเงินเดือนของสามีมาเลี้ยงครอบครัวและบริวารได้   แต่ทั้งคุณย่าและคุณป้าก็ไม่ได้อยู่เป็นโสด  จำต้องอาศัยบารมีของสามีเป็นความมั่นคงทางสังคม  เป็นรั้วกันคนรังแกเอารัดเอาเปรียบ  เพราะผู้หญิงไม่สามารถปกป้องตัวเองได้มากเท่ามีสามีปกป้อง      เมียน้อยจำนวนมากที่สมัครใจเป็นเมียน้อยก็เพราะเหตุผลเดียวกัน คือมีสามีไว้เลี้ยงดู  สบายกว่าต้องดิ้นรนเลี้ยงตัวเอง

ทรรศนะนี้ ในปัจจุบันเบาบางลงไปมากเมื่อผู้หญิงเรียนหนังสือ ประกอบอาชีพ มีรายได้ไม่น้อยกว่าผู้ชาย   ช่วยตัวเองได้  ดำเนินชีวิตได้ตามลำพัง    ไม่ต้องพึ่งพาใคร      แต่ผู้หญิงที่อยากเป็นอย่างเมื่อ 100 ปีก่อนก็ยังมี  บางคนอาจต้องการยกฐานะตัวเอง  บางคนไม่ต้องการเงินแต่ต้องการพึ่งพิงทางใจ      เราจึงมีปัญหาเมียหลวงเมียน้อยให้เห็นกันบ่อยๆไม่เฉพาะแต่ในละครทีวี   ในหน้าหนังสือพิมพ์ก็มีเป็นประจำค่ะ   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 72  เมื่อ 05 ก.พ. 13, 14:33

(ต่อ)

ตอนคุณยายเล็กๆ  ผู้ชายผู้หญิงไม่มีโอกาสพบปะกันง่ายๆอย่างสมัยนี้     ผู้หญิงที่ผู้ชายเห็นอยู่ทุกวันถ้าไม่ใช่ญาติก็คือบริวารในบ้าน  นำไปสู่ความใกล้ชิด และพอใจ จนกลายเมียน้อยอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าเมียบ่าว       เมื่อเป็นแล้ว เมียบ่าวก็ยังทำหน้าที่รับใช้ต่อไป แต่สบายขึ้นกว่าเดิม เช่นมีห้องหรือเรือนของตัวเอง    ความเป็นอยู่อาจจะดีขึ้นถ้าหากว่ามีลูกกับนายผู้ชาย    แต่เมียบ่าวก็จะไม่ได้เลื่อนขึ้นเป็นเมียหลวงอยู่ดี      
ถ้าเมียบ่าวมีลูกออกมา ทางบ้านก็เลี้ยงดูกันไป     ถ้าหากว่าไม่มีลูกกับนาย    เมื่อแก่ตัวลง  เมียบ่าวก็อาจจะกลับเป็นบ่าวเฉยๆ เหมือนเมื่อตอนต้นก็ได้   ขึ้นอยู่กับความเมตตาปรานีของฝ่ายชายว่าจะอุปการะต่อไปหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน

คุณยายรู้จักท่านผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง   มีภรรยาหลายคนอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกัน    รวมทั้งเมียบ่าวด้วย   มีลูกออกมา  ภรรยาหลวงของท่านก็ให้อยู่อาศัยในบ้าน  จ่ายค่ากินค่าอยู่ให้    แต่ลูกจากเมียบ่าวไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีความเป็นอยู่ดีเท่าลูกเมียหลวง     เมื่อสามีผู้เป็นหลักของบ้านถึงแก่กรรม   ภรรยาหลวงต้องประหยัดค่าใช้จ่ายเพราะไม่มีคนหาเลี้ยง  ก็ให้เมียบ่าวและลูกๆออกไปจากบ้าน เพื่อจะได้ไม่สิ้นเปลืองเงิน    
ลูกเมียบ่าวทั้งๆมีสิทธิ์ใช้นามสกุลของบิดา ซึ่งเป็นนามสกุลใหญ่โต   แต่มีความเป็นอยู่ยากจน   และไม่ได้ติดต่อกับญาติพี่น้องลูกเมียหลวงซึ่งมักจะเป็นใหญ่เป็นโตในราชการตามบิดา   ลูกหลานในชั้นหลังก็ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นญาติกันได้ทางไหนอย่างไร
                                                                                                "เทาชมพู"
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 06 ก.พ. 13, 18:42 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 73  เมื่อ 06 ก.พ. 13, 18:42

นึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไรอีกแล้วค่ะ     ใครอยากทราบเรื่องอะไรก็ช่วยโพสต์ถามมาก็แล้วกัน
บันทึกการเข้า
Jalito
องคต
*****
ตอบ: 478


ความคิดเห็นที่ 74  เมื่อ 06 ก.พ. 13, 21:13

   ขอบพระคุณท่านอาจารย์ครับ  พอดีเกิดในยุคสังคมผัวเดียวเมียเดียว  เลยมองภาพอย่างที่คุณยายเล่าไม่ออกว่าจะมีความสุขสงบยังไง ผู้ชายที่เป็นชนชั้นล่างที่จะมากเมียได้ เห็นจะมีก็แต่กลุ่มอาชีพ รถไฟ เรือเมล์ ลิเก ตำรวจ หรือนักเล่นที่ต้องจรไปเรื่อย  ในยุคปัจจุบันที่เห็นมีพิเศษ น่าทึ่งก็คุณเต๊กกอ'ขุนแผนเมืองพระปฐม' ไม่ทราบว่าวันนี้ยังอยู่ดีหรือเป็นไงบ้าง
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 3 4 [5] 6 7 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.065 วินาที กับ 19 คำสั่ง