เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 102589 เมื่อคุณตา คุณยายยังเด็ก
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 45  เมื่อ 26 ม.ค. 13, 14:09

(ต่อ)
โรงเรียนฝรั่งในยุคคุณยายมีนักเรียนมาเรียนน้อยมาก     นักเรียนทั้งโรงเรียนเรียนรวมอยู่ในห้องเดียวกัน  ตั้งแต่เด็กเล็กไปจนเด็กโต   แต่ละชั้นนั่งแยกกันเป็นกลุ่ม  มีแม่ชีชาวตะวันตก สวมเครื่องแต่งกายยาวรุ่มร่ามซึ่งเป็นเครื่องแบบตามนิกายเป็นคนสอน   คุณยายเรียกว่า "มาเซอร์" (Ma Soeur) แปลว่า พี่สาวของฉัน  เพราะแม่ชีเหล่านี้ มีคำนำหน้าว่า Soeur ซึ่งเป็นภาษาฝรั่งเศส ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Sister  ซึ่งเป็นคำนำหน้าแม่ชีคาทอลิค

มาเซอร์นุ่งกระโปรงยาวถึงพื้น  มีผ้าคลุมผมมิดชิดมองไม่เห็นเส้นผม   เหมือนเสื้อผ้าเมืองหนาว    ไม่ได้แต่งกายอย่างแหม่มในสยาม      เครื่องแบบเหล่านี้ตกทอดมาตั้งแต่ยุคกลาง เป็นชุดที่สตรีสวมกันสมัยนั้น    แต่เวลาผ่านไป แฟชั่นสตรีเปลี่ยนไปมากในศตวรรษต่างๆจนมองไม่เห็นเค้าเดิม   แต่ว่าแม่ชียังคงรักษาแบบเครื่องแต่งกายเหมือนเมื่อตอนมีผู้ก่อตั้งนิกายอยู่  จึงดูแปลกไม่เหมือนคนอื่นๆ
  
ชั้นเรียนของคุณยายมีนักเรียน 3 คนรวมคุณยายด้วย นั่งเรียนด้วยกันเสมอ ไม่ว่าจะขึ้นชั้นไปชั้นไหนก็ยังนั่งอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม

นักเรียนแบ่งเป็น 2 พวกคือพวกอังกฤษ กับพวกฝรั่งเศส     ใครเลือกพวกไหนก็เรียนภาษานั้นตั้งแต่ระดับต้น   แยกพวกไม่ปะปนกัน  พวกที่เรียนภาษาอังกฤษก็จะเรียน อ่านและพูดภาษาอังกฤษมาตั้งแต่เข้าเรียนปีแรก แม้ว่ายังเป็นเด็กเล็กๆอยู่ก็ตาม     พวกที่เรียนภาษาฝรั่งเศสก็เรียนแบบเดียวกันแต่เป็นภาษาฝรั่งเศส      แม่ชีเข้มงวดมาก นอกจากห้ามพูดภาษาไทยในชั้นแล้ว  แม้แต่เวลาเที่ยง พักเรียนไปเล่นกัน เด็กๆก็จะถูกกำชับให้พูดภาษาอังกฤษหรือฝรั่งเศสล้วนๆด้วย    เพื่อจะให้คล่องปาก  

คุณยายแอบคุยเป็นภาษาไทยกับเพื่อนๆอีก 2 คนเวลาพัก   มาเซอร์จับได้แม้ว่ายืนอยู่ห่างมากจนไม่ได้ยินเสียงพูด   แต่ดูออกจากกิริยาท่าทางที่พูดคุยกันคล่องแคล่ว ไม่ตะกุกตะกัก ก็รู้ว่าไม่ยอมหัดพูดภาษาต่างประเทศ   มาเซอร์ก็จะเดินมาเตือนให้หัดพูด   มาเซอร์บางคนใจดี  บางคนดุ  แต่ไม่มีใครตีเด็กนักเรียนเลย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 46  เมื่อ 26 ม.ค. 13, 20:55

วิชาที่เด็กๆเรียนมีอยู่น้อยมาก  นอกจากอ่าน เขียน  ก็มีวิชาเลข   เด็กผู้หญิงได้เรียนดนตรี ซึ่งรวมร้องเพลงฝรั่ง  และวิชาเย็บปักถักร้อยหรือเรียกว่าการฝีมือแบบฝรั่ง
วิชาเย็บปักถักร้อย นอกจากเย็บเสื้อ  เริ่มแต่หัดเย็บริมผ้าเช็ดหน้า  ไปจนเย็บอะไรยากๆขึ้น   จากนั้นก็ปักผ้าด้วยสะดึง   ส่วนถักมีหลายอย่างทั้งโครเชต์   ถักไหมพรมที่เรียกว่านิตติ้ง และถักแท้ต    คุณยายถูกหัดให้ทำเป็นทุกอย่าง  เพราะผู้หญิงเมื่อเป็นสาวแล้วก็จะแต่งงานออกเรือนไป  ต้องใช้วิชาการฝีมือตัดเย็บเสื้อผ้าให้ลูกๆ และตนเอง   

ข้างล่างคือการถักแท้ตติ้ง    เครื่องมือที่ใช้เป็นกระสวยอันเล็กๆ  รูปร่างเหมือนใบไม้เรียวๆสองใบประกบกัน   พันไหมรอบนิ้วแล้วถักโดยอาศัยกระสวยถักไหมให้พันต่อกันเป็นลายลูกไม้   เมื่อถักเป็นแล้ว สามารถทำลูกไม้ได้เป็นเส้นยาวๆ นำมาขลิบริมผ้าเช็ดหน้าอีกทีหนึ่ง  นอกจากนี้ยังทำเป็นลูกไม้แผ่นรองขวดน้ำอบบนโต๊ะเครื่องแป้ง     หรือคนเก่งๆทักแท้ตติ้งต่อกันเป็นเสื้อลูกไม้ได้ทั้งตัว




คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 47  เมื่อ 26 ม.ค. 13, 21:02

ตัวอย่างแท้ตติ้ง


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 48  เมื่อ 26 ม.ค. 13, 21:12

คุณยายเรียนถักโครเชต์  ทำจากไหมพรมและไม้ถักซึ่งเป็นโลหะ รูปบางๆยาวๆ ปลายด้านหนึ่งม้วนงอเพื่อเกี่ยวไหมพรม   ผ้าที่เกิดจากโครเชต์จะหนากว่าแท้ตติ้ง   ทำเป็นชิ้นเล็กๆ ลวดลายสวยๆ หรือต่อกันเป็นผ้าผืนใหญ่อย่างผ้าคลุมไหล่ก็ได้


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 49  เมื่อ 26 ม.ค. 13, 21:15

ผ้าคลุมไหล่ถักโครเชต์


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 50  เมื่อ 28 ม.ค. 13, 17:04

ถักไหมพรมเป็นงานฝีมือง่ายที่สุดของคุณยาย   เด็กนักเรียนหัดถักผ้าพันคอเป็นอันดับแรก แม้แต่เด็กประถมก็ถักกันได้    ต่อมาจึงหัดถักลายยากๆ หรือถักสลับสีกันในผ้าผืนเดียว  แล้วเขยิบขึ้นเป็นถักเสื้อเด็ก และเสื้อผู้ใหญ่   คนเก่งๆสามารถใช้ไม้ถักง่ายๆ 2 อันถักเป็นเสื้อได้ทั้งตัว  ในสมัยนั้นไม่มีเครื่องสำหรับถักเสื้อไหมพรม   
ในฤดูหนาวอากาศหนาวจนต้องสวมเสื้อกันหนาวไปโรงเรียน    ส่วนเด็กๆก็สวมเสื้อไหมพรมไปเที่ยวนอกบ้านได้ทุกฤดูกาล  เพราะอากาศในสมัยรัชกาลที่ 6 เย็นสบายกว่าเวลานี้มาก     เสื้อไหมพรมจึงเป็นของนิยมสำหรับคนทำการฝีมือเก่งๆ เพราะมีโอกาสใช้บ่อย


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 51  เมื่อ 28 ม.ค. 13, 17:12

งานฝีมือที่คุณยายบอกว่าทำยากคืองานปักฉลุที่เรียกว่า cut work เป็นงานฝีมือของฝรั่ง     นักเรียนใช้ผ้าขาวปักลายคัทเวิร์ค ทำเป็นริมผ้าเช็ดหน้า ริมปลอกหมอนหนุนหัว  และลายผ้าบังตาที่ขึงอยู่ตามหน้าต่าง   เป็นลายที่ต้องปักริมผ้าให้เรียบ  และตัดผ้าอย่างระมัดระวังให้เป็นลายโปร่งอย่างต้องการ  ต้องใช้กรรไกรคมปลายแหลม  ถ้าตัดผิดไปนิดเดียว ลายก็เสีย ไหมที่ปักไว้ก็จะขาด


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 52  เมื่อ 28 ม.ค. 13, 17:30

ชั้นประถมในสมัยนั้นมีเพียงประถมสาม   ส่วนมัธยมมีถึงมัธยมปีที่แปดเป็นชั้นสูงสุด   เด็กนักเรียนชายที่เรียนจบชั้นมัธยมปีที่แปดถือว่าได้เล่าเรียนสูงสุด  จบไปแล้วก็เข้าทำงานได้ทันที   ไม่ว่าราชการหรือบริษัทห้างร้านก็ยินดีรับ   อย่าว่าแต่จบชั้นมัธยมแปด  บางคนเรียนแค่มัธยมสี่หรือมัธยมหก ก็โตเป็นหนุ่มออกจากโรงเรียนมาทำงานได้แล้ว   เพราะมีพื้นความรู้แน่นพอจะทำงานได้  
ถ้าหากว่าเด็กผู้ชายเรียนจบจากโรงเรียนฝรั่ง  จะมีพื้นความรู้ภาษาต่างประเทศดีพอจะเขียนจดหมายโต้ตอบได้  แปลหนังสือได้  ห้างร้านยินดีรับเข้าทำงาน

ส่วนเด็กผู้หญิง พ่อแม่ไม่ถือว่าจำเป็นต้องเรียน แค่อ่านหนังสือออก เซ็นชื่อได้ก็พอ   เพราะผู้หญิงไม่จำเป็นต้องไปทำงานนอกบ้าน     โตเป็นสาวก็แต่งงานไปเป็นแม่บ้าน    ถึงเรียนก็ไม่ได้ใช้วิชาที่เรียนมาอยู่ดี   เด็กผู้หญิงจึงมีอยู่มากที่ออกจากโรงเรียนกลางคันเมื่อรุ่นสาว  อายุ 13-14 โดยไม่มีใครเห็นเป็นของแปลก  ทางบ้านเห็นสมควรให้ลาออกเสียที ในเมื่อโตพอแล้ว  ก็ถึงเวลาอบรมเตรียมตัวเป็นแม่บ้านต่อไป  ควรฝึกทำกับข้าวให้เก่ง  ดูแลบ้านช่องและบริวารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย    เมื่อแต่งงานไปแล้วจะได้ทำหน้าที่แม่บ้านได้ดี    ผู้หญิงอายุ 18 ถือว่าเป็นสาวเต็มตัว ถึงวัยแต่งงานได้แล้ว ไม่ถือว่าเร็วเกินไป    

ในโรงเรียนฝรั่งมีเด็กมาเรียนน้อยอยู่แล้ว   เมื่ออายุสัก 13-14 ก็หายออกจากโรงเรียนไปเกือบหมด  ยกเว้นคนที่มีใจรักการเรียนจริงๆและพ่อแม่ไม่ห้าม จึงเรียนต่อไปจนจบชั้นมัธยม   แต่มีข้อเสียเปรียบอย่างหนึ่งคือ เมื่อเรียนจบชั้นมัธยมแล้ว ทางกระทรวงธรรมาธิการไม่ยอมรับวุฒิของโรงเรียนฝรั่ง    ต้องไปเรียนในโรงเรียนไทยเพื่อจะสอบวุฒิมัธยมปลายให้ได้อีกทีหนึ่ง  จึงไม่มีใครนิยมเรียนจนจบมัธยมปลาย
                                                                                           "เทาชมพู"
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 53  เมื่อ 28 ม.ค. 13, 17:42

สมัยผมเรียนประถมก็ต้องเรียนถักโครเช  วิชาการงานและพื้นฐานอาชีพ  นักเรียนชายแต่โดนบังคับให้ถักโครเช ไม่เคยทำสำเร็จเลย ให้แม่ทำให้แม่ก็ถักไม่เป็น ดีขึ้นมาหน่อยให้ทำหมอนปักเข็ม  น่าเบื่อที่สุด โตขึ้นมาจำไม่ได้แล้วว่าผ่านวิชาการงานและพื้นฐานอาชีพมาอย่างไร  เพราะไม่เคยส่งงานเย็บปักถักร้อยดีๆ เลย   แลบลิ้น 
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 54  เมื่อ 28 ม.ค. 13, 18:03

ลูกสาวดิฉันโดนทำโคมไฟตั้งหัวเตียง   ต้องเลื่อยไม้ ทากาว ใส่สายไฟ    สำเร็จเรียบร้อยได้ด้วยฝีมือคุณพ่อ   ครูเองก็คงดูออกว่าไม่ใช่นักเรียนทำกันเองทั้งห้องน่ะแหละ   แต่ในเมื่อหลักสูตรกำหนดมายังไงก็ต้องสั่งการบ้านไปยังงั้น
ดีที่คุณประกอบไปอยู่ต่างแดน  ถ้าอยู่ในประเทศไทยอาจจะต้องหัดถักโครเชต์ เป็นการบ้านแทนลูกชาย  ยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 55  เมื่อ 29 ม.ค. 13, 09:17

เดินทาง

โลกของคุณยายจำกัดอยู่ที่บ้านกับโรงเรียน    ถ้าหากว่าไปเที่ยวนอกบ้านก็แค่ในกรุงเทพ  การเดินทางไปต่างจังหวัดเป็นเรื่องใหญ่   แม้แต่ในจังหวัดรอบๆกรุงเทพ  ถ้าจะไปก็ต้องเตรียมตัวล่วงหน้ากันหลายวัน  เพราะต้องขนข้าวของเครื่องใช้ เครื่องครัว แม่ครัวและคนในบ้านไปด้วยหลายคน   เกือบจะเท่ากับย้ายบ้านก็ว่าได้

ครั้งหนึ่งคุณป้าของคุณยายเดินทางไปนครปฐมเพื่อไปไหว้พระปฐมเจดีย์    พาคุณยายไปด้วย    คุณป้าต้องเตรียมเสื่อ หมอน มุ้ง ไปด้วยเพราะต้องค้างคืนระหว่างทาง    คุณป้าเอาแม่ครัวไปด้วยเพื่อหุงหาอาหารกินกันระหว่างทาง เพราะไม่มีร้านอาหารที่จะแวะกินได้   ต้องทำกันเอง     แม่ครัวก็ขนเตาไฟ หม้อข้าว ฟืน ข้าวสาร   ของแห้ง   จานชาม ขันน้ำ ลงไปในเรือ     คุณป้าเลือกคนติดตามไปด้วย  นอกจากลูกหลานก็มีคนรับใช้ผู้ชายที่เป็นชายฉกรรจ์ 2 คน  เพื่อช่วยกันแจวและถ่อเรือหัวท้าย
บันทึกการเข้า
SRISOLIAN
อสุรผัด
*
ตอบ: 36


ความคิดเห็นที่ 56  เมื่อ 29 ม.ค. 13, 09:35

ยังเข้ามาอ่านอย่างต่อเนื่องครับ  อ่านไปยิ้มไปตอนการเดินทางที่คุณเทาชมพูนำมาลงนั้น  นึกภาพตามไปคงเห็นขบวนเดินทางที่คนเยอะน่าดู  ทั้งตัวผู้เดินทางเอง  บริวาร  ข้าวของเครื่องใช้ ชวนให้เห็นว่าการเดินทางไกลเป็นเรื่องที่พิเศษจริงๆ และในสมัยก่อนคงต้องเตรียมการขนานใหญ่เพื่อความอยู่รอดระหว่างการเดินทาง  บรรดาน้ำพริกต่างๆ คงจะเป็นอาหารที่ดูจะเหมาะสมกับการเดินทางไกลมากที่สุด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 57  เมื่อ 29 ม.ค. 13, 10:25

ก็คงอย่างนั้นละค่ะ    เป็นเรื่องใหญ่น่าตื่นเต้นมากสำหรับเด็กๆ

ถึงวันเดินทาง  คุณยายถูกปลุกให้ตื่นแต่เช้าเพราะต้องเดินทางตลอดวัน     อาบน้ำแต่งตัวเสร็จไปลงเรือประทุนลำใหญ่ กว้างพอที่คุณลุง คุณป้า ลูกๆ หลานๆ พี่เลี้ยง จะนั่งรวมกันได้     ภายในนั้นปูเสื่อหลายผืนเต็มตลอดเนื้อที่ ให้เด็กๆนั่งๆนอนๆและเล่นกัน   ส่วนเครื่องครัวอยู่ตอนท้ายของเรือ   แม่ครัวแยกไปนั่งอยู่ตรงนั้น  ท้ายเรือจริงๆคือคนแจวเรือ และมีคนนั่งหัวเรืออีกคนหนึ่ง  ภายในเรือไม่ร้อนเพราะมีประทุนบังแดด และลมโกรกเข้ามาได้จากหัวเรือและท้ายเรือ

เรือแล่นออกจากบ้าน ไปออกปากคลองสู่แม่น้ำเจ้าพระยา  จากนั้นก็แจวเลียบแม่น้ำไปออกคลองบางกอกน้อย  เพื่อจะไปทางทิศตะวันตก   สองข้างแม่น้ำมีเรือนแพแน่นขนัด  ริมคลองใหญ่ๆก็มีเรือนแพจอดอยู่เต็มเช่นกัน  บางแพก็เป็นบ้านอยู่อาศัย   บางแพก็เปิดข้างหน้าเป็นร้านขายของ     คุณยายรู้สึกสนุกเมื่อเห็นตลาดน้ำมีผู้คนจอแจ แม่ค้าพายเรือขายของสารพัดอย่างทั้งของกินของใช้    แต่เรือประทุนของคุณป้าบรรทุกของกินของใช้มาหมดแล้ว ไม่ต้องซื้อเพิ่มเติม  จึงแล่นผ่านไปเฉยๆ   ไม่นานก็พ้นจากคลองใหญ่สู่คลองที่เล็กลงกว่านั้น
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 58  เมื่อ 29 ม.ค. 13, 20:24

บรรยากาศในคลองใหญ่และคลองเล็กไม่เหมือนกัน  คลองใหญ่อย่างคลองบางกอกน้อยคึกคักน่าสนุก   มีผู้คนพายเรือสัญจรไปมาหนาแน่น   มีตลาดน้ำอยู่เป็นระยะตามแพต่างๆคล้ายๆกับริมแม่น้ำเจ้าพระยา    และมีวัดตั้งอยู่ใกล้ๆกัน  ทุกวัดหันหน้าลงน้ำ มีศาลาท่าน้ำที่คนจอดเรือเดินขึ้นลงไม่ขาดสาย       จนคุณยายอยากจะแวะขึ้นไปดูวัดกับเขาบ้าง    
แต่เมื่อเรือแล่นไกลคลองใหญ่ มาเข้าคลองที่เล็กกว่า   สภาพก็เปลี่ยนไป  คลองเล็กค่อนข้างเงียบเชียบ    มีเรือกสวนทึบสองข้างทาง   เป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน  มีเด็กๆกระโดดน้ำทิ้งตัวจากรากไทรริมน้ำดังตูมๆ   บางคนก็ใจกล้าว่ายตามเรือที่พายผ่าน จนว่ายทันก็เกาะขอบเรือไป  จนเรือผ่านไปไกลเขาจึงปล่อยมือว่ายกลับไปบ้านเขา   คุณยายอยากจะลงไปว่ายน้ำเล่นกับเด็กพวกนั้นจริงๆ
คุณยายมองเห็นคลองเล็กๆแยกลึกเข้าไปอีกคลองเหล่านี้    บางแห่งก็เล็กขนาดเรือลำเล็กพายสวนกันได้เท่านั้น   เรือใหญ่ของคุณป้าผ่านเข้าไปไม่ได้     อย่างไรก็ตาม   ทุกหนทุกแห่งมีคลองเชื่อมประสานถึงกันหมด   ชาวบ้านพายเรือหากันได้ทั่วถึง   ไม่จำเป็นต้องออกไปคลองใหญ่  

เรือประทุนออกจากคลองแล้วมาถึงแม่น้ำใหญ่อีกสายหนึ่ง  ทีแรกคุณยายคิดว่าเรือกลับมาที่แม่น้ำเจ้าพระยาอีก   แต่คุณป้าบอกว่าไม่ใช่     มันคือแม่น้ำท่าจีน     ในฤดูที่คุณยายเดินทางไป น้ำในแม่น้ำขึ้นเปี่ยมฝั่ง ไหลสวนทางกับเรือ  ทำให้คนแจวเรือแจวไปได้ช้ามาก     จึงต้องค้างคืนระหว่างทาง ก่อนจะถึงนครปฐมในวันรุ่งขึ้น  
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 59  เมื่อ 30 ม.ค. 13, 10:23

 ก่อนออกเดินทาง  ผู้ใหญ่ต้องกำหนดเส้นทาง และกะเวลาล่วงหน้าเสียก่อนว่าจะแวะพักกินข้าว และค้างคืนที่ไหน      ไม่ใช่อยากแวะที่ไหนก็แวะ   เพราะเมื่อออกพ้นเมืองธนบุรีแล้ว   แม่น้ำลำคลองบางสายก็มีช่วงเปลี่ยว  ไม่มีชาวบ้านพายเรือผ่านไปมา   มีแต่โจรผู้ร้ายที่มีอาวุธ เข้ามาปล้นสะดมเรือต่างถิ่น      คุณป้าเล่าว่าตอนคุณป้าเด็กๆ เคยได้ยินเรื่องโจรผู้ร้ายสำคัญชื่ออ้ายอ่วมอกโรย เป็นที่หวาดกลัวของชาวบ้านมาก      แม้ว่าสมเด็จเจ้าพระยาท่านปราบอ้ายอ่วมอกโรยลงได้นานหลายสิบปีแล้ว   คุณป้าก็ยังกลัวอยู่นั่นเอง     เมื่อเดินทาง คุณป้าจึงกำชับคนแจวเรือให้แวะจอดเรือพักเที่ยง ที่ศาลาวัดเท่านั้น  เพราะเป็นหมู่บ้านมีชาวบ้านอาศัยอยู่ใกล้ๆ  พออุ่นใจได้
 
แม่ครัวเตรียมหุงข้าวในเรือนั่นเอง ให้ทันเวลาเที่ยง    เพราะหุงข้าวสมัยนั้นกินเวลานานมาก  ไหนจะต้องเช็ดน้ำ  ดงข้าว จนกว่าข้าวในหม้อจะระอุสุกทั่วกันดี    ถ้าเป็นชาวบ้านเดินทางไกล  ก็มักคั่วข้าวตากข้าวตูใส่ไถ้คาดเอวเอาไปกินกันแห้งๆกลางทาง  เพราะไม่สะดวกที่จะหอบหม้อและเตาไปด้วย       แต่คุณป้ามากันหลายคน เอาแม่ครัวมาด้วย จึงมีข้าวสวยร้อนๆกินตอนมื้อเที่ยงและเย็น

พอเที่ยงคนแจวเรือก็แวะที่ศาลาท่าน้ำของวัด ซึ่งมีบ้านคนปลูกอยู่ใกล้ๆ ไม่เปลี่ยว     เอาไม้กระดานพาดจากเรือให้เด็กๆเดินขึ้นจากเรือไปนั่งกินข้าวที่ศาลา      แม่ครัวตำน้ำพริกให้คลุกข้าวกิน   ใกล้ๆกันมีผักหลายชนิดเช่นกระถิน  และใบไม้ที่กินได้ ขึ้นอยู่เองไม่มีใครปลูก     คุณยายชวนพี่ๆน้องๆไปเด็ดผักสดๆมาจิ้มน้ำพริกกิน   รู้สึกอร่อยมากกว่ากินที่บ้านเสียอีก   กินเสร็จแล้วก็เข้าไปไหว้พระในโบสถ์  มีโอ่งดินเผาใส่น้ำฝนตั้งอยู่  พร้อมกระบวย ให้คนผ่านไปมาตักน้ำฝนเย็นชื่นใจกินกันได้  
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 01 ก.พ. 13, 09:26 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 3 [4] 5 6 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.094 วินาที กับ 19 คำสั่ง