เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 15
  พิมพ์  
อ่าน: 102843 เมื่อคุณตา คุณยายยังเด็ก
SRISOLIAN
อสุรผัด
*
ตอบ: 36


 เมื่อ 14 ม.ค. 13, 12:28

ผมเคยอ่านหนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก  รู้สึกประทับใจในความเรียบง่ายของชีวิตคนไทยในสมัยอดีตช่วงรัชกาลที่ 6-8 มีท่านใดพอจะทราบประวัติของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ประพันธ์บ้างครับ และปัจจุบันท่านยังมีชีวิตอยู่หรือเปล่าครับ  ผมติดตามอ่านเรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งสตรีสารภาคพิเศษ จนรวมเล่มมาเป็นเล่มที่ 1-4 ครับ  นับเป็นวรรณกรรมที่ทรงคุณค่ามากครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 12:49

คุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นธิดาของหลวงจรูญสนิทวงศ์(หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์) ผู้เป็นบุตรของเจ้าพระยาวงษานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) กับท่านผู้หญิงวงศานุประพัทธ์ (ตาด สิงหเสนี)  คุณหลวงจรูญเป็นคนไทยที่สำเร็จวิชาวิศวกรรมการรถไฟจากประเทศอังกฤษ  กลับมารับราชการกรมรถไฟหลวง  เป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายช่างกลอำนวยการโรงงาน โรงงานมักกะสัน ในปี พ.ศ. 2473  ในรัชกาลที่ 6 ท่านได้รับพระราชทานบรรดาศัราชทินนามเป็น หลวงจรูญสนิทวงศ์

หม่อมหลวงจรูญ สนิทวงศ์ สมรสกับหม่อมหลวงรวง มีธิดาชื่อ อรุณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา (ท่านผู้หญิงอรุณ กิติยากร ณ อยุธยา) ซึ่งสมรสกับหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์ กิติยากร พระเชษฐาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
ส่วนคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา เป็นธิดาเกิดจากหม่อมหลวงฟ่อน(ไม่ทราบนามสกุล)

คุณทิพย์วาณีเกิดเมื่อวันที่ 27 เมษายน พ.ศ.2475 เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย แล้วศึกษาภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน เป็นการเพิ่มเติม  ประกอบอาชีพเป็นเจ้าของร้านผดุงชีพ ขายงานจำพวกศิลปหัตถกรรม ที่ถนนจักรพงษ์ กรุงเทพมหานคร  ท่านชอบการเขียนสารคดีเกี่ยวกับศิลปหัตกรรมของไทยมาตั้งแต่เป็นนักเรียน   ได้เขียนเรื่อง ตุ๊กตาชาววัง หัวโขน ปลาตะเพียน ฯลฯ พิมพ์อัดสำเนาแจกแก่กลุ่มบุคคลเป็นกลุ่ม ๆ ไป โดยมากเป็นลูกค้าที่ซื้องานศิลปหัตถกรรมจากร้าน

หนังสือ เมื่อคุณตาคุณยายยังเด็ก  ได้รับรางวัลการประกวดหนังสือระหว่างชาติ ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๕ (International Book Year ค.ศ. ๑๙๗๒) ที่คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้น ในโครงการระหว่างชาติว่าด้วยการพัฒนาหนังสือ ตามมติขององค์การยูเนสโก สหประชาชาติ

คุณทิพย์วาณีถึงแก่กรรมเมื่อพ.ศ. 2547 ค่ะ  อัฐิบรรจุไว้ที่วัดชนะสงคราม บริเวณด้านหลังพระอุโบสถ
บันทึกการเข้า
SRISOLIAN
อสุรผัด
*
ตอบ: 36


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 13:02

ขอขอบคุณคุณเทาชมพูที่กรุณาหาคำตอบมาให้อย่างรวดเร็ว ขอถามเพิ่มเติมว่ามีหนังสือที่ระลึกอนุสรณ์งานศพของคุณทิพย์วาณี สนิทวงศ์ ณ อยุธยา หรือเปล่าครับ อยากศึกษาประวัติของท่าน เพราะตั้งแต่ติดตามอ่านมาไม่เคยเห็นภาพของท่านเลยครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 20:32

ไม่เคยเห็นหนังสือที่ระลึกงานศพของคุณทิพย์วาณีค่ะ   ไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 17:11

ชอบเรื่องนี้มาก  คุณทิพย์วาณีใช้ภาษาง่ายๆ แต่บรรยายภาพได้ละเอียดลออเห็นจริงตามไปด้วย  ราวกับเดินตามเธอไปเยี่ยมเยียนสถานที่ต่างๆที่เธอบรรยายไว้
เป็นวิถีชีวิตไทยที่ห่างหายไปจากโลกปัจจุบันแล้ว  แต่ก็ยังมีค่าควรแก่การระลึกถึงและดำเนินรอยตาม

สำหรับคนที่ไม่เคยอ่าน  ขอยกบางตอนมาให้อ่านกัน ตามที่ไปพบในอินทรเนตรค่ะ

แม่บ้านที่ดี

วันหนึ่งคุณแม่ของคุณยายพาไปเยี่ยมเพื่อน  เมื่อคุณยายเข้าไปในบ้านก็กวาดสายตาดูในบ้านแล้วชอบใจมาก  เพราะบ้านนี้สะอาดมากจริงๆเครื่องใช้ที่เป็นเงินหรือทองเหลืองขัดเสียขาวและสุกราวกับทอง  ทุกอย่างแลดูใหม่เอี่ยมอ่องไปทั้งนั้น  เจ้าของบ้านยังไม่ออกมา  คุณแม่กระซิบกับคุณยายว่า  "บ้านนี้เขาสะอาดมาก  ให้ดูเป็นตัวอย่างลูกผู้หญิงต้องละเอียดลออและเอาอย่างนี้จึงจะดี  แล้วยังมีอะไรดีๆอีกหลายอย่างทีเดียว"
 
       เมื่อเจ้าของบ้านออกมา  แต่งตัวสะอาดเอี่ยมออกมาต้อนรับ  แล้วแนะนำให้คุณยายเรียกคุณป้า  คุณป้าคนนี้มีลูกมากมาย  ขนาดเดียวกับคุณยายก็มี  แต่งตัวสะอาดทุกคนและเรียบร้อยหมด  คุณป้ากำลังระดมลูกๆให้แกะมะขามอยู่  คุณยายจึงเข้าช่วยด้วย  ช่วยกันแกะเปลือกมะขาม  และแกะเม็ดออกด้วย  เม็ดมะขามมากมายใส่อ่างไว้ต่างหาก  มะขามนี้แกะแล้วทำเป็นปั้นใหญ่ๆ  เก็บตุนไว้ทำกับข้าวตลอดปี  เม็ดมะขามก็ไม่ทิ้ง เก็บไว้  ถ้าจะกินใบมะขามอ่อนในหน้าที่ไม่มีใบมะขามอ่อน  ก็จะเอาเม็ดมะขามนี้ใส่อ่างดินแล้วรดน้ำ  ไม่กี่วันก็จะมีใบมะขามอ่อนมาทำแกงต้มโคล้งกินได้แล้ว

       ลูกสาวของคุณป้าคนหนึ่งคุยระหว่างแกะเม็ดมะขามว่า  "คุณแม่ฉันทำอะไรเองทุกอย่าง  ไม่ค่อยได้ซื้อ  หน้าที่มีผลไม้อะไรมากๆก็จะเก็บตุนไว้เผื่อเวลาหมดหน้าเสมอ  มะม่วงมีมากก็ทำมะม่วงกวนเก็บไว้  ที่นี่มีของกินมากมายไม่เคยอดอยาก  เพราะคุณแม่มีลูกมาก  ต้องทำอาหารคราวละมากๆ  และไม่ให้มีอะไรเหลือเศษได้เลย  หน้าแตงโม  ก็ให้ลูกกินแต่เนื้อแตงโม  เปลือกก็เก็บไว้ทำแกงเลียงบ้าง  แกงส้มบ้าง  บางทีก็ดองให้กินมื้อต่อไปอีก  ไม่ปล่อยอะไรให้เสียเปล่าได้เลย"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 17:13

คุณยายคิดในใจว่าคุณป้านี่ช่างเป็นแม่บ้านที่ดีแท้ๆ  ก็พอดีพี่อีกคนหนึ่งเล่าว่า  "แม้แต่เปลือกมะนาวที่ใช้ทำกับข้าวแล้วก็ยังเก็บไว้ดองให้ลูกกินกับข้าวต้มได้อีก  เปลือกมะนาวนี้ใช้ล้างมือได้สะอาดหมดคาวได้ดี  ผิวมะกรูดเอาไปตำน้ำพริก แล้วก็เอาเนื้อและน้ำมะกรูดมาสระผมได้อีก   สระแล้วสะอาด  ผมดำเป้นมันลื่นอีกด้วย"

       แกะมะขามเสร็จแล้วคุณป้าก็เรียกลูกๆขึ้นไปข้างบน  แล้วส่งกรรไกรกับผ้าขาวมากมายให้แล้วบอกกับลูกสาวว่า  "ตัดริมผ้านี้เก็บไว้"  แล้วพี่ก็เอากรรไกรมาตัดริมผ้ายาวตลอดผืนทั้งสองข้าง  แล้วม้วนๆเอาไว้เป็นกลุ่ม  ขณะที่ตัดผ้าก็ชี้แจงให้ฟังว่า  "ริมผ้านี้เส้นด้ายเหนียวกว่าเนื้อผ้า  เราต้องตัดเก็บไว้ทำด้ายเนา  เก็บไว้ใช้ได้นานๆ  เลาะออกมาใช้ทีละเส้นๆ ไม่ต้องไปซื้อด้ายเย็บผ้ามาเนา  เพราะแพงกว่าริมผ้ามาก  เศษผ้าทุกชิ้นคุณแม่เก็บไว้หมด  เอาไว้ซ่อมแซมเสื้อผ้า  บางทีเราอาจทำขาดหรือมีอุบัติเหตุ  เราจะได้มีผ้าที่มีสีดอกเหมือนกันซ่อมได้  แล้วมองไม่เห็นรอยผ้า  ก่อนจะเอาเสื้อผ้าที่ขาดไปเป็นผ้าเช็ดชาม  ผ้าถูเรือน   คุณแม่ก็ต้องให้ลูกตัดเอากิ๊บ  กระดุมที่ยังดีๆอยู่เก็บไว้หมดเอาไว้ซ่อมตัวอื่นได้  ทั้งเวลาใช้ถูเรือนก็ไม่ขูดกระดาน"  ว่าแล้วก็ไปหยิบกระปุกไม้กลึงที่มีกระดุมสารพัดสีสารพัดขนาดออกมาให้ดู

      เมื่อลากลับแล้ว  คุณแม่ของคุณยายบอกว่า  "เห็นไหมเล่าลูกว่าบ้านนี้  เขาเป็นแม่บ้านที่ดียังไง  เขาจึงได้มีกินมีใช้สุขสบาย  เงินทองไม่รั่วไหล  ทั้งๆที่เดิมก็ไม่ได้เป็นคนมั่งมีมาก่อนเลย  ลูกก็มากมาย   เอาไว้เป็นตัวอย่างนะ"  แล้วคุณยายก็รับคำ  และในใจก็คิดว่า  อยากมาเที่ยวบ้านนี้อีกจริงๆ



บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 17:20

น้ำฝน

เมื่อสมัยคุณตาคุณยายยังเป็นเด็ก ๆ อยู่นั้น  กรุงเทพฯ มีน้ำประปาใช้บ้างแล้ว แต่ยังไม่ทั่วถึงกันนัก  ส่วนมากยังอาศัยดื่มน้ำฝน  และน้ำตามแม่น้ำและลำคลองกันอยู่  บางบ้านที่อยู่ใกล้ถนน  ก็อาศัยน้ำประปาตามก๊อกสาธารณะ ที่รัฐบาลทำไว้ให้ประชาชนใช้กันเปล่า ๆ    ก๊อกเหล่านี้มีเป็นระยะ ๆบ้านใครอยู่ใกล้ก็สบายมาตักตวงเอาไปใช้ในบ้านของตนได้ง่าย  บ้านที่อยู่ห่างออกไปก็เอาถังเอาปี๊บมารองหิ้วไปหรือหาบเอาไปเอง  แต่มีบางบ้านซื้อน้ำมาจากพวกนี้เป็นหาบ ๆ ไว้ใช้กัน

คุณตามีเพื่อนนักเรียนที่อายุมากกว่า  ตัวโตกว่าเพราะเข้าโรงเรียนเมื่อโต  กลางวันก็มาโรงเรียน  กลับไปบ้านก็ช่วยพ่อแม่ทำงานค้าขาย  ตอนกลางคืนก็รับจ้างหาบน้ำรองน้ำประปาจากก๊อกสาธารณะใส่โอ่งตามบ้านใกล้  เมื่อยังไม่โตก็หาบน้ำที่ปี๊บยังไม่เต็ม  โตขึ้นก็เพิ่มอีกให้เต็มปี๊บได้  พ่อของเขาแข็งแรงหาบคราวละ ๔ ปี๊บ  ข้างหน้า ๒ ปี๊บ  ข้งหลัง ๒ ปี๊บ  หาบเสียไม้คานแอ่นทีเดียว
หน้าร้อนคนใช้น้ำกันมากน้ำขายดี  รองน้ำหาบไม่ทันคนใช้  ต้องเอาปี๊บไปคอยรองน้ำตลอดคืน  หาบกลางคืนดีแดดไม่ร้อน  ช่วยไม่ให้เหนื่อยง่าย  หน้าฝนคนไปใช้น้ำฝนกันหมด  น้ำประปาขายไม่ค่อยดี  รายได้ตกต่ำเก็บเงินไม่ได้มากเหมือนหน้าร้อน

ทั้งคุณตาและคุณยายเมื่อเด็ก ๆ  ชอบเล่นน้ำฝนจริง   พอฝนตกชักอยากจะขยับออกไปเล่นน้ำฝน  ผู้ใหญ่รู้ทันมักจะห้ามไว้ว่า
"ให้มันตกหนักกว่านี้ค่อยเล่น  ตกนิด ๆ หน่อย ๆ จะไปดีอะไร   เล่นแล้วก็ต้องล้างบ้านขัดบ้านเสียเลยซี"  เพราะฉะนั้นเวลาหน้าฝน
คุณยายและคุณตาก็ต้องช่วยกันรองน้ำฝนตักใส่โอ่งให้เต็มทุกโอ่งเสียก่อนจึงจะเล่นน้ำฝนได้        ระหว่างที่เล่นน้ำฝนก็ต้องขัดถูบันได  นอกชานพื้นลานบ้านให้สะอาดไปด้วย  ใช้กระดวงที่ทำจากมะพร้าวแก่ ๆ กะลาเล็ก ๆ ผ่าซีกขัดจนกระดานและพื้นขาวสะอาดทุก ๆ แห่งทีเดียว  มีผ้าผ่อนอะไรที่พอจะซักได้  ก็เอาออกมาซักกันให้เต็มที่  ไม่ต้องเสียดายน้ำ  ผู้ใหญ่มักบอกว่า  "เทวดาท่านอุตส่าห์ส่งน้ำมาให้เราใช้แล้ว  ต้องรีบกักตุนไว้ใช้ฝนตกมาก ๆ พื้นกระดานพื้นหินน่ายดี  ขัดล้างตะไคร่และความสกปรกออกได้ง่าย"
หน้าฝนบ้านจึงสะอาด
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 17:22

พวกคนแก่ชอบดื่มน้ำฝนกันนัก  เพราะสะอาดและหวาน  ต้องเก็บน้ำฝนไว้ดื่มในหน้าแล้ง  ถ้าหน้าหนาวหรือหน้าแล้งเกิดฝนตก  เป็นฝนหลงฤดูมาก็จะดีใจมาก  เพราะจะได้มีน้ำฝนมาเพิ่มโอ่งให้เต็ม  แต่น้ำฝนตกใหม่ ๆ น้ำยังใช้รองไว้กินยังไม่ได้  เพราะหลังคายังสกปรกอยู่  มีฝุ่นละอองตกค้าง  ต้องปล่อยให้ฝนชะล้างความสกปรกออกไปเสียก่อน  จึงรองไว้กินได้  ต้นไม้ต้นหญ้าก็พลอยสดชื่นขึ้นเพราะได้ฝน
คุณปู่ของคุณยายบอกว่า  "ในกระบวนน้ำดื่มทั้งหมด น้ำฝนเป็นยอดน้ำที่เทวดาจัดส่งลงมาให้มนุษย์ทีเดียวละ  ทั้งหวานทั้งสะอาด
ยิ่งในโอ่งดินเก็บไว้กินหน้าร้อนแล้วยิ่งวิเศษสุด  ทั้งเย็นและหอมกลิ่นดินเผาชื่นใจนัก"  ตามบ้านจึงมักมีคณโฑดินเผาหรือหม้อดินเผาสำหรับใส่น้ำฝนไว้รับแขกและดื่มเองแทบทุกบ้าน  ดินเผานี้ทำให้น้ำเย็นเหมือนแช่น้ำแข็ง   หน้าร้อนมาก ๆ คนจึงชอบไปนั่งคุยหรือพักผ่อนข้าง ๆ โอ่งน้ำและถือโอกาสเอาหลังพิงโอ่งไปด้วยเพื่อคลายความร้อน

คนที่มีบ้านอยู่ริมแม่น้ำหรือคลอง  หน้าแล้งก็เอาน้ำแม่น้ำหรือคลองใส่โอ่ง แล้วเอาสารส้มมากวน ๆ ให้ตกตะกอน  แล้วใช้ซักผ้าหรือหุงข้าวต้มแกงกันจะใช้น้ำก็ต้องประหยัด ๆ กันหน่อย

บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 17:24

ฝนแรกหลังจากอากาศร้อนและแห้งแล้งมานาน  น้ำในโอ่งขอดแห้ง    ในคลองก็ขอดเหลือแต่โคลนแล้ว  พอฝนแรกตกน่าชื่นใจและน่าดูมาก  คุณแม่ของคุณยายจะรีบเกณฑ์เด็ก ๆ ช่วยกันล้างโอ่งเปล่าให้สะอาดทุกใบ  แล้วรอให้น้ำสะอาดเสียก่อน  ช่วยกันรองน้ำฝนเสียยกใหญ่  มันช่างชื่นใจเสียจริง ๆ  ดับร้อนได้ดีมาก  ได้ซักผ้ากันเต็มที่ ไม่ต้องประหยัดน้ำกันแล้ว  เพราะต้องซักผ้าล้างชามอย่างประหยัดน้ำกันมานาน
เรื่องน้ำในหน้าแล้งนี้ก็เหมือนกัน  คุณแม่ของคุณยายสั่งนักหนาห้ามไม่ให้เอาน้ำถูเรือนหรือน้ำที่ดื่มเหลือในถ้วยในขันสาดทิ้งไปเสียเปล่า ๆ  โดยไม่ได้ประโยชน์อะไร    ให้มารดน้ำตามโคนต้นไม้หรือในกระถางต้นไม้ยังได้ประโยชน์ดีกว่า  ลูก ๆ จะล้างหน้าบ้วนปากสีฟันก็ให้ไปล้างที่แถวที่มีต้นไม้  จะได้ไม่เสียน้ำไปเปล่า ๆ

คุณตาคนที่เป็นหมอยาก็ต้องการใช้น้ำฝนกลางหาวมาไว้ใช้ทำยาตาเก็บไว้  น้ำฝนกลางหาวคือน้ำฝนที่รองด้วยอ่างที่ล้างสะอาดรองน้ำฝนกลางแจ้งตอนที่ฝนตกหนักในหน้าฝน    น้ำนี้เป็นน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ที่สุด  จึงเหมาะสำหรับทำยาหยอดตานัก  จะมีโอกาสเก็บได้ในหน้าฝนเท่านั้น  แล้วยังต้องเก็บไว้ผสมยาต่าง ๆ อีกด้วย  ตามบ้านทุก ๆ บ้านจึงต้องมีรางน้ำสังกะสีเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ตลอดปี  โดยไม่ต้องพึ่งน้ำประปา
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 16 ม.ค. 13, 00:00

อ่านครั้งแรกในสตรีสารภาคพิเศษตอนเรียนประถมค่ะ ดูเหมือนว่าในการรวมเล่ม บางตอนหายไป เท่าที่จำได้ก็มีเรื่องของทาส เรื่องของอีตู้ที่ไล่ฟันคน

ปัจจุบันมีถึงเล่ม 4 เท่านั้นใช่ไหมคะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 16 ม.ค. 13, 09:39

ค่ะ หนังสือมี 4 เล่ม   เรื่องของอีตู้ที่ไล่ฟันคนไม่ได้รวมอยู่ในหนังสือฉบับรวมเล่ม 
วรรณกรรมเยาวชนที่เล่าเรื่องในอดีตได้สนุก มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ถูกต้องแม่นยำอย่างนี้หาได้ยากมากค่ะ   
ขอนำมาลงให้อ่านกันอีกเรื่อง

ของแสลง

เมื่อสมัยคุณตาคุณยายยังเป็นเด็ก ๆ อยู่  ถ้าเกิดเจ็บป่วยเป็นอะไรไปนิดหน่อยก็ตาม คนนั้นจะต้องถูกจำกัดอาหาร  ให้กินแต่อาหารอ่อน ๆ ที่ย่อยง่าย  ห้ามกินอาหารที่คิดว่าแสลงต่าง ๆ  จนกว่าจะหายเป็นปกติ

ถ้าใครท้องเสีย หรือเป็นบิด  จะต้องกินข้าวต้มเปื่อย ๆ หรือข้าวเปียก กับปลาแห้งป่น  หมูหยอง  กุ้งแห้งป่น  หรือปลาดุกย่างจิ้มน้ำปลา  จะไปวิ่งเล่นหรือกระโดดโลดเต้นไม่ได้  เดี๋ยวจะหายยาก  ถ้าเป็นไข้หวัด แล้วมีอาการไอก็จะห้ามอาหารทอดทุกชนิด  ไข่เจียว ไข่ดาวก็ไม่ได้  ต้องเปลี่ยนเป็นไข่ต้ม  ไข่ตุ๋นหรือไข่เค็ม  อาหารทุกอย่างต้องปิ้งและต้มห้ามทอดเป็นอันขาด  เพราะจะทำให้ไอมากขึ้น  เมื่อไข้สร่างก็จะห้ามกินแตงโม  แตงไทยหรือผลไม้ที่เย็น

ผู้ที่เป็นไข้หวัดหรือไอ  จะดื่มน้ำแข็งไม่ได้  เพราะจะทำให้เป็นมากขึ้น ต้องดื่มแต่น้ำร้อน ๆ  ชาร้อน  น้ำข้าวร้อน ๆ หรือบางทีก็น้ำมะตูมร้อน ๆ  ที่เรียกว่า"น้ำชูบาน"  ทำด้วยมะตูมสุก ๆ ต้มใส่น้ำตาลนิดหน่อย  บางครั้งก็เอาเนื้อมะตูมไปราดน้ำผึ้งให้กินเป็นของหวาน  แล้วเอาที่เหลือคือเปลือกและเม็ดและเนื้อที่ติดมาต้มทำน้ำชูบาน  อีกอย่างหนึ่งก็คือนำมะตูมอ่อนที่หั่นเป็นแว่น ๆ ย่างไฟจนหอมแล้วชงน้ำร้อนให้ดื่ม  หอม ๆ ดี  แต่สู้น้ำชูบานไม่ได้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 16 ม.ค. 13, 09:41

ถ้าใครเป็นแผลพุพอง  แผลหกล้มถลอก  หรืออุบัติเหตุอะไรก็ตาม  จะถูกห้ามไม่ให้กินข้าวโพดข้าวเหนียว  ขนมทุกชนิดที่ทำจากแป้งข้าวเหนียว  กินได้แต่แป้งข้าวเจ้าและข้าวสาลีเท่านั้น  เพราะจะทำให้แผลกลัดหนอง  หายยาก  แผลที่จวนหายแล้วกลับกลัดหนองขึ้นมาอีก  แผลเล็กกลายเป็นแผลใหญ่ขึ้นมา  คุณยายรู้สึกว่า  ที่ผู้ใหญ่ห้ามนี้เป็นเรื่องจริง ๆ เพราะเคยพิสูจน์มาหลายครั้งแล้ว  ครั้งหนึ่งคุณยายหกล้มหัวเข่าแตกเป็นแผลแห้งจวนจะหายดีแล้ว  แต่ยังไม่หายสนิท  คุณแม่ทำข้าวเหนียวมะม่วง  อยากจะกินเหลือเกิน  ก็บอกว่าแผลหายดีแล้ว  จึงกินข้าวเหนียวมะม่วงมากไป  พอรุ่งขึ้นเช้าก็ปวดและกลัดหนองขึ้นมาอีก  ต้องกลับไปเดินขาเขยกอีก

อาหารอร่อย ๆ ดี ๆ ที่ชอบต้องอดไปเพราะเจ็บป่วยมีบ่อย ๆ กำลังเป็นแผลพุพอง  ต้องอดข้าวต้มกุ้ง  กุ้งทอดที่มีมันสีแดงเยิ้มคลุกข้าวอร่อย  แม้แต่กุ้งเผาจิ้มน้ำปลาก็ไม่ได้  อาหารทะเล  หอยนางรม  ปลาทอดอร่อย ๆจิ้มน้ำปลามะนาวต้องอดหมด  ต้องภาวนาขอให้หายเร็ว ๆ จะได้กินอาหารอร่อย ๆ  อาหารพวกนี้ถูกหาว่าคาวจัด  กินแล้วทำให้คันแล้วก็เป็นจริง ๆ ด้วย

หน้าลำไย  ลิ้นจี่  หรือขนุน  ก็ต้องจำกัดให้กิน  เด็ก ๆ กินอะไรไม่รู้จักประมาณ กินจนไม่สบาย  ลำไยกินมากไปก็ตาแฉะ  เพราะร้อนเกินไป  เด็ก ๆ ที่เป็นแผลพุพอง แผลจะเยิ้มมาก  ลิ้นจี่ก็ย่อยยากถ้าธาตุไม่แข็งพอ  เพราะมักทำให้ปวดท้อง ขนุนก็เหมือนกันย่อยยาก  ทุเรียนนั้นร้อนมากห้ามกินตอนกลางคืน  เพราะจะทำให้ร้อนจนนอนไม่หลับ
คุณตาเคยไม่เชื่อฟัง  แอบกินขนุนเสียมากมาย  ทั้งที่ท้องไม่ดีกินยาจวนจะหายอยู่แล้ว กลับเป็นมากขึ้นอีก  เลยจับได้ว่าแอบไปกินขนุนมา  จึงต้องกินยาอีกมากมายกว่าจะหายดี

อาหารต่าง ๆ เหล่านี้แสลงจริง ๆ  คุณตาและคุณยายลองมาแล้วแทบทั้งนั้น  แต่แรกก็คิดว่าผู้ใหญ่นี้ใจร้ายใจดำ  หวงไม่ให้กินอาหารอร่อย ๆ  เมื่อเห็นฤทธิ์แล้วจึงรู้ว่าผู้ใหญ่นี้คิดถูก

หมอบอกว่า  ถ้าไม่สบายให้กินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ ไว้เป็นดีที่สุด  จะรักษาโรคให้หายได้เร็วกว่าให้กินอาหารได้ตามใจเด็ก ๆ  แต่อันที่จริงคุณยายนั้นชอบข้าวเปียกกับปลาดุกย่าง   บางครั้งถึงกับภาวนาไม่อยากให้หาย  เพราะจะอดกินข้าวเปียกกับปลาดุกย่างจิ้มน้ำปลาอร่อย ๆ  ต่อไป  ต้องมากินข้าวสวย  เด็ก ๆ และคนแก่ที่ฟันไม่ดีกินอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ ดีเหมือนกัน
บันทึกการเข้า
SRISOLIAN
อสุรผัด
*
ตอบ: 36


ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 16 ม.ค. 13, 10:37

ถ้าผมจำไม่ผิดฉบับรวมเล่มตั้งแต่เล่ม 1-4 ยังพอหาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาครับ ส่วนตอนที่นอกเหนือจากทั้ง 4 เล่มนี้ จะอยู่ในสตรีสารภาคพิเศษเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ยังมีภาพประกอบแสนน่ารักของ "ปีนัง" อีกด้วยครับ สำหรับตอนต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น เขามอ หมอยา ล่าจระเข้ เรือไม้ซาง การนอน น้ำปรุง ฯลฯ เป็นต้น
บันทึกการเข้า
sirinawadee
ชมพูพาน
***
ตอบ: 101


ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 16 ม.ค. 13, 11:06

หนังสือชุดนี้คล้ายๆ กับเรื่องบ้านเล็กอยู่อย่างหนึ่งคือ บรรยายอาหารการกินได้ชวนหิวมากค่ะ

เสียดายตอนที่ไม่ได้นำมารวมเล่มจังค่ะ เรื่องดีๆ ที่น่าอ่านทั้งนั้น
บันทึกการเข้า
Hanako
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 16 ม.ค. 13, 18:43

เปิดเจอกระทู้นี้ทำให้กดสั่งซื้อหนังสือชุดนี้มาอ่านอีกรอบ  เพราะนึกได้ค่ะว่า สมัยที่อ่านนั้น ตัวเองยังเด็กมาก  แม้จะชื่นชมและประทับใจแต่ก็ยังทำอะไรไม่เป็นมากนัก
จะประทับใจอย่างเดียวแต่ไม่ได้เอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงปัจจุบันบ้างก็เห็นจะเสียดายคุณค่าที่แท้จริงของหนังสือเล่มนี้ไป  เลยสั่งซื้อมาอ่านใหม่  รอบนี้จะอ่านแบบเป็นเหมือน...คู่มือสามัญประจำบ้าน เลยค่ะ

อิอิ  เจอกันแน่กับตำราอาหาร  สารพัดประยุกต์และประหยัด รู้คุณค่าทุกๆสิ่งในครัวเรือนตามฉบับของแม่บ้านไทยๆขนานแท้  ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 15
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.077 วินาที กับ 19 คำสั่ง