เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
อ่าน: 11969 ธนูฝนฉันท์ ๑๗
ครูไหวใจร้าย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 15  เมื่อ 15 พ.ค. 01, 16:10

คุณเทาชมพูคะ...ดิฉัน post เสร็จแล้วถึงเห็นความเห็นของคุณเทาชมพูค่ะ

ก็เห็นด้วยนะคะกับข้อตัดสินของคุณเทาชมพู เพียงแต่ว่า ถ้าได้มีการสะกิดกันก่อนเ็ล็กๆน้อยๆ ก็อาจจะดีกว่านี้ ยกตัวอย่างในกระทู้มุทิงค์ฯ ค่อนข้างจะอลหม่านไปหมด จากนั้นก็ได้มีการแยกกลของโคลง กับกลของกลอน ออกเป็นเพียง ๒ กระทู้

พึ่งจะมาเยอะแยะตอนแต่งฉันท์นี่แหละค่ะ

เป็นไปได้หรือเปล่าคะ ถ้าคุณเทาชมพูจะโยกย้าย ยุบรวม ฉันท์ของหนูอุ้ยทั้งหมดไปเป็นกระทู้เดียวเลย น่าจะขจัดความรกหูรกตาไปได้บ้าง

ดิฉันมองประโยชน์อีกประเด็นนะคะ คือช่วงแรกๆ เด็กจะยกตัวอย่างของครู พร้อมกับบอกข้อบังคับมาด้วย ถ้าใครสนใจก็จะได้ทราบข้อบังคับ และเห็นตัวอย่างที่ดีด้วย

ทุกวันนี้คนสนใจฉันทลักษณ์ไทยมีน้อยมากค่ะ ดิฉันไม่แปลกใจหรอกค่ะ ถ้าจะมีคนแจมด้วยไม่มากนัก ยกตัวอย่างกระทู้คุณพลายงาม เวลาชวนแต่งกลอนกลบท ก็มีคนร่วมแต่งน้อย พอเปลี่ยนเป็นกระทู้ให้คำแนะนำการแต่งโคลงสี่สุภาพ กลับมีคนเพิ่มขึ้นมาก

เท่านี้แหล่ะค่ะ...ขอบคุณค่ะ
บันทึกการเข้า
อุ้ยครับ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 16  เมื่อ 15 พ.ค. 01, 18:58

ก็อ่านอยู่นะครับ ไม่ใช่ไม่อ่าน แต่จำได้ว่าปู่เคยสอน..รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ...

แต่เจอประโยคนี้ของพี่พูเข้าเลยต้องออกมาอีกครั้ง ทั้งๆที่ไม่ได้อยากออกมาเลยครับ

การที่อุ้ยจะหายไป เพราะจะเปิดเทอมแล้ว ไม่ใช่เป็นเพราะปฏิบัติตามกติกาของพี่พูไม่ได้นะครับ

สำหรับช่วงนี้ที่อุ้ยเล่นฉันท์ของ "คมทวน คันธนู" เยอะ เป็นเพราะอุ้ยภูมิใจที่เป็นฉันท์ของคนไทย จะสังเกตได้เรื่อยมา ว่าอุ้ยจะเล่นฉันท์ของ "ศุภร ผลชีวิน" และก็คงจะไล่ไปเรื่อยๆ จนถึง "เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์" และอีกหลายๆคน ที่เป็นฉันท์ของคนไทย แต่ก็คงมีบางฉันท์ที่อุ้ยจะไม่กล้าเล่น ยกตัวอย่างฉันท์พระนามบัญญัติ (หมายถึงฉันท์ที่ชื่อตามพระนามาภิไธยเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน)



เรื่องการกำหนดเสียงอ่านฉันท์ตามใจคนแต่งที่มีใครบางคนตำหนิ อุ้ยยกตัวอย่างให้ดูละกัน



สัททุลวิกกีฬิตฉันท์ ๑๙



สัมผัสแบบกลอนสังขลิก



ครุ ครุ ครุ ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ลหุ ลหุ ครุ

ครุ ครุ ลหุ ครุ ครุ.....................ครุ ลหุ



ตรงนี้เป็นตัวอย่างจากสมุทรโฆษคำฉันท์ พิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภา ปี ๒๕๒๙ เป็นสำนวนของพระบรมมหาราชครู  ชำระสำนวนโดยกรมศิลปากรเมื่อปี ๒๕๐๓



เทพีพินทุมดีอันมีมุขคือจันทร์

จาบัลยครั้นตื่น.......................ตระอาล

หาภูบาลบพบตระหลบทุกขมาพาล

พิศวงในสถาน........................บรรทม

ประปราณรันทดกำสรดพิลดดม

ทรวงสมดั่งคมไฟ...................ในกลาง

ฝันฤๅจริงและทันชิงรำพึงบรู้กี่ปาง

รางชางขนางตื่น.....................ตระบัด

พิศเพี้ยนพระพนิดาทุกขานลกำนัด

ดัดรัตนธารี...........................มาดูฯ



ต้นฉบับพิมพ์มาแบบนี้อะครับ ลองอ่านดูละกัน จะออกเสียงยังไงให้ถูกฉันทลักษณ์

แล้วที่มาโกรธมาเกรี้ยวประมาณว่าอุ้ยออกคำสั่งให้อ่านงั้นอ่านงี้น่ะ ก็ฉันท์มันเป็นแบบนี้มาแต่ไหนแต่ไร (พระบรมมหาราชครู เป็นยุคก่อนสมเด็จพระนารายณมหาราชครับ) อุ้ยล่ะงง



ส่วนเรื่องที่พี่พูติงมาเรื่องสำนวนกลอน ถ้าเป็นไปได้(หมายถึงถ้าพี่พูมีเวลาพอ) ช่วยบอกอุ้ยด้วยว่าบทไหนตรงไหนของอุ้ยที่ไม่ได้เรื่อง และควรแก้อย่างไร แก้เป็นอะไร (แบบครูไหวอ่ะครับ...อ้อ..ขอบคุณครูไหวครับที่แนะนำ) อุ้ยจะได้รู้ตัว รู้วิธีแก้ ที่พี่พูพูดมามันกว้างไปอะครับ ไม่รู้จะทำยังไงเลย



ส่วนการที่ไม่มีคนเล่นด้วย อันนี้อุ้ยไม่ทราบ อุ้ยระบุฉันทลักษณ์ครบถ้วนแล้ว  พี่ๆในบอร์ดนี้คงสนใจพวกนี้น้อยกระมังครับ อย่างพี่ jor เคยบอกว่า..ลองแล้ว แต่ไม่สำเร็จ..(ในพันธวีสติการ) อาจเป็นเพราะพี่เค้าไม่มีเวลาว่างพอ ก็เป็นได้ หรือสำนวนกลอนของอุ้ยมันแย่จนพี่ๆเค้าไม่เกิดแรงบันดาลใจก็ได้ แต่ก็นั่นแหละ ข้อบังคับก็มีนี่ครับ ถ้าสนใจก็แต่งไปตามนั้นก็ได้



คงไม่มีอะไรแล้วครับ พรุ่งนี้อุ้ยไปเที่ยว วันมะรืนอุ้ยเปิดเทอม ลาพี่พูตรงนี้แล้วกันครับ...สวัสดีครับ
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW577x016.gif'>
บันทึกการเข้า
อุ้ยครับ
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 17  เมื่อ 17 พ.ค. 01, 17:23

ขอโทษครับ ที่กลับมาอีกครั้งหนึ่ง บังเอิญไปเจอวสันตดิลกฯเข้าบทนึงในหนังสือเล่มเดิมนั่นแหละครับ (ยังอ่านไม่จบ) บทที่จะคัดลอกมานี่อยู่หน้า ๑๑๔ ครับ



ท้าวต่อท้าวพวกพหลหาญ.....ต่อทหารอันเข้มแขง

แข้งเท้งระแรงรบสำแดง.......อำนาจอาจในสงคราม



อุ้ยคงขอถามล่ะครับ คำว่า "รบ" ในที่นี้มาจากภาษาบาลีสันสกฤตหรือเปล่า (พจนานุกรมของราชบัณฑิตฯ ๒๕๒๕ บอกว่าเป็นคำไทย) และในที่นี้จะออกเสียงว่าอย่างไร ออกเสียงว่า "รบ" หรือ "ระ-บะ" ครับ
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW577x017.gif'>
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 18  เมื่อ 17 พ.ค. 01, 18:59

นึกว่าคุณอุ้ยไปแล้วเสียอีก
รบ พจนานุกรมราชบัณฑิตฯ บอกแต่ว่าเป็นคำกริยาค่ะ  ไม่ได้บอกว่าเป็นคำไทย
คำที่ไม่ได้วงเล็บว่ามาจากภาษาไหน มีคำตอบได้ ๒ ทางคือ
๑)คำไทย
๒) ยังไม่เป็นที่ยุติว่ามาจากภาษาไหนกันแน่

วสันตดิลก
ครุ ครุ ลหุ  ครุ  ลหุ ลหุ ลหุ ครุ...........ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ
ครุ ครุ ลหุ ครุ ลหุ ลหุ ลหุ...................ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ ครุ
เทียบเอาเองนะคะว่าที่ยกมาใช้วสันตดิลกหรือเปล่า
บันทึกการเข้า
ครูไหวใจร้าย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 19  เมื่อ 18 พ.ค. 01, 04:50

ตรงนี้แหละค่ะที่ดิฉันเคยพูดแล้ว ว่าการจับครุ ลหุ ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ลางทีจะใช้กฎเกณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน

ในสมัยดั้งเดิมนั้น(ตามอ้างถึง - สมุทรโฆษคำฉันท์) ในหนังสือจะไม่ได้บอกไว้หรอกค่ะว่าเป็นฉันท์ชนิดอะไร แต่จะเขียนจำนวนคำไว้ที่ต้นบทเท่านั้น

ยกตัวอย่างเช่น เขียนเลข ๑๑ เราคงต้องมานั่งดูแหละค่ะว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ส่งสัมผัสอย่างไร แต่ที่แน่ๆ คือมี ๑๑ คำ

คำประพันธ์ที่มี ๑๑ คำ เริ่มตั้งแต่ กาพย์ยานีธรรมดาๆ  หรือ โทธกะฉันท์ ธาตุมมิสสาฉันท์ อุปัฎฐิตาฉันท์ สุมุขีฉันท์ สุรสสิรีฉันท์ อินทรวิเชียรฉันท์ อุเปนทรวิเชียรฉันท์ อุปชาติฉันท์ สาลินีฉันท์ สวาคตาฉันท์ รโทธตาฉันท์ หรือ ภัททิกาฉันท์ ฉันท์ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นฉันท์ ๑๑ ในหมวดฉันท์วรรณพฤฒิค่ะ ไม่พูดถึงฉันท์มาตราพฤฒินะคะ เพราะยังไม่ปรากฎว่ามีกวีพระองค์ใด หรือท่านใด นำมาใช้ในการนิพนธ์ หรือ แต่ง "เรื่อง"

และบังเอิญหนังสือที่หนูอุ้ยกล่าวถึง ดิฉันสอบทานดูแล้วค่ะ

ประการแรก ที่ต้นบทเขียนเลข ๑๔ นั่นคือคำประพันธ์ชุดนี้มีจำนวน ๑๔ คำต่อบท

ประการที่ ๒ ฉันท์ ๑๔ มีดังต่อไปนี้ ปราชิตฉันท์ ปหรณกลิกาฉันท์ และ วสันตดิลกฉันท์ (ไม่พูดถึงฉันท์สมัยใหม่นะคะ เพราะคนละยุคกัน)

แต่ปราชิตฉันท์ และ ปหรณกลิกาฉันท์ ๑ บท มี ๒ บาท บาทละ ๑๔ พยางค์ แบ่งเป็น ๒ วรรค วรรคละ ๗ พยางค์ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ ตัดทิ้งไป

ก็เหลือวสันตดิลกฉันท์ล่ะค่ะ ที่วรรคหน้า ๘ พยางค์ วรรคหลัง ๖ พยางค์ จึงเป็นที่สรุปได้ว่าเป็นวสันตดิลกฉันท์ค่ะ

ที่จะต้องวิเคราะห์กันต่อไปคือ เป็นฉันท์ประเภทมั่วแต่งผิดแต่งถูกหรือไม่ ก็ไม่ใช่เพราะเป็นฉบับของพระบรมมหาราชครู กรมศิลปากรชำระแล้ว

ก็จะเหลืออยู่ ๒ ทฤษฎีที่ดิฉันเคยพูดถึง คือกวีโบราณท่านไม่เคร่งครัด หรือท่านใช้วิธีจับ ครุ ลหุ ตามอีกนัยหนึ่งที่ปัจจุบันมิได้ใช้ ซึ่งกวีจนถึงประมาณต้นกรุงรัตนโกสินทร์ตามที่ดิฉันเคยอ้างถึง (สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรสฯ) ถ้าใช้อักขรวิธีเข้าจับจะพบที่ผิด ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะพระองค์ได้แปลฉันท์จากคัมภีร์วุตโตทัยถึง ๕๘ ชนิด ตามพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อประชุมจารึกที่วัดพระเชตุพนฯ ในราว พ.ศ. ๒๓๘๕

ในความเห็นของดิฉัน เห็นว่าการจับ ครุ ลหุ ต่างสมัย ไม่เหมือนกันค่ะ

เท่าที่ดิฉันสังเกต พวกคำเป็นบางกลุ่ม ลางทีปราชญ์โบราณท่านอาจจัดเป็นคำลหุกระมังคะ

ส่วนเรื่องคำไทย หรือไม่ใช่คำไทย คงไม่ใช่ประเด็นกระมังคะ เพราะทุกคำเป็นคำไทยหมด เพียงแต่ตอนนี้กำลังอยากพิสูจน์เท่านั้นเองว่าคำไทยแท้ๆ(ซึ่งมีประมาณครึ่งหนึ่งของทั้งหมดที่มี หรือน้อยกว่านั้น)ใช้เป็นลหุทั้งหมดได้หรือไม่ (ถ้าใช้เป็นลหุบางส่วน คงไม่ต้องพูดกัน เพราะได้อยู่แล้ว)

เถอะค่ะ ดิฉันจะลองตั้งกระทู้ดูสักครั้ง เกี่ยวกับเรื่องฉันท์ เพื่อให้กระจ่างๆไปเลย
บันทึกการเข้า
ครูไหวใจร้าย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 20  เมื่อ 18 พ.ค. 01, 08:10

เมื่อเช้าค่อนข้างรีบนะคะ ตอนนี้ถึงที่ทำงานแล้ว ขอให้รายละเอียดเพิ่มเติมค่ะ



ปราชิตฉันท์ ๑๔

บังคับมีดังนี้ค่ะ

ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ครุ.......ลหุ ครุ ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ

ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ครุ.......ลหุ ครุ ลหุ ลหุ ครุ ลหุ ครุ

สัมผัสแบบกาพย์นะคะ แต่คำรับสัมผัสของวรรคที่ ๒ จะเป็นคำที่ ๒ คือ ครุส่งสัมผัสกับครุค่ะ (ลหุส่งสัมผัสกับลหุมีน้อยชนิดค่ะ)

ตัวอย่างค่ะ

.....สุพจนพฤตินี้.....ก็มีบทนามขนาน

คุรุรจนบุราณ..........ปราชิตฉันทพากย์

.....นรชนธริเรียน.....แลเพียรและนิพนธยาก

ครุกะกระมลมาก.......มิง่ายมิสดวกจะแสดง(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน)



ปหรณกลิกาฉันท์ ๑๔

บังคับมีดังนี้ค่ะ

ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ครุ.....ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ครุ

ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ครุ.....ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ลหุ ครุ

ส่งสัมผัสเฉพาะวรรค ๓ และ วรรค ๔ ใน ๑ บท และสัมผัสระหว่างบทเป็นไปตามปกติค่ะ

ตัวอย่างค่ะ

.....คณรบวรเบญ.....จวิบุลยสุมง

คลภพทวิทรง...........ศิริสุขวฒนา

.....กลบทคณะฉัน......ทคติบุรกถา

ปหรณกลิกา.............ก็รจิตพฤตินาม(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน)



วสันตดิลกฉันท์เป็นไปตามที่คุณเทาชมพูระบุมานะคะ

ตัวอย่างค่ะ

.....พากยนี้กระวีบุรพแสดง.....กลแต่งฉบับฉันท์

เสนอนามกรวรวสัน................ตดิลกบรรหาร

.....แสร้งซ้ำแลร่ำพจนิพนธ์......บทกลบุราณมาน

ฉลองบาทบดีศรภิบาล.............ภพเฝ้าไผทไท(ประชุมจารึกวัดพระเชตุพน)



แลดิฉันได้ scan ต้นฉบับจากสมุทรโฆษคำฉันท์ให้ดูด้วยค่ะ ฉบับที่ดิฉันใช้เป็นการพิมพ์โดยองค์การค้าของคุรุสภา พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๒๙ ISBN 974 - 00 - 3708 - 9



และขอคัดคำนำขององค์การค้าของคุรุสภามาด้วยนะคะ



.....สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นวรรณคดีที่ได้รับการยกย่องจาก วรรณคดีสโมสร ว่าเป็นเรื่องที่แต่งดีเป็นเยี่ยมในกระบวนคำฉันท์ ผู้แต่งเป็นกวีที่มีชื่อเสียง ได้แต่งเรื่องราวของพระสมุทรโฆษต่อกันรวม ๓ สำนวน ซึ่งล้วนแต่เป็นคำฉันท์ที่ไพเราะ.....

.....สมุทรโฆษคำฉันท์นี้เป็นวรรณคดีที่ใช้เวลาแต่งต่อกันยาวนานกว่า ๒๕๐ ปี ทำนองการแต่งฉันท์และกาพย์มีความไพเราะ ศิลปะการประพันธ์ประณีตบรรจง หาวรรณคดีคำฉันท์เรื่องใดเทียบได้ยาก องค์การค้าของคุรุสภาตระหนักว่าเป็นวรรณคดีที่หาค่ามิได้ ควรแก่การอนุรักษ์ไว่เพื่อการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้จัดพิมพ์สมุทรโฆษคำฉันท์นี้ขึ้นตามต้นฉบับซึ่งกรมศิลปากรได้ตรวจชำระเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓...



ถึงตรงนี้คงสรุปได้นะคะ ว่าฉันท์ที่หนูอุ้ยยกมาแสดง มีความน่าจะเป็น" วสันตดิลกฉันท์ " สูงเหลือเกินค่ะ
http://vcharkarn.com/reurnthai/uploaded_pics/RW577x020.jpg'>
บันทึกการเข้า
ครูไหวใจร้าย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 21  เมื่อ 18 พ.ค. 01, 08:11

ทีนี้มาถึงพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ค่ะ ในเรื่อง "คำชี้แจงหลักการจัดทำและวิธีใช้พจนานุกรม" หน้า (๙) ข้อ จ.ประวัติของคำ

....ข้อ ๑. ที่มาของคำได้บอกไว้ท้ายคำนั้น ๆ โดยเขียนไว้ในวงเล็บเป็นอักษรย่อ เช่น สทึ
บันทึกการเข้า
ครูไหวใจร้าย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 22  เมื่อ 18 พ.ค. 01, 08:17

ขอแก้ไขที่ผิดค่ะ...ปหรณกลิกาฉันท์ ๑๔ ...การส่งสัมผัส จะส่งจากวรรคที่ ๒ ไปวรรคที่ ๓ เท่านั้นค่ะ ระหว่าง ๑ กับ ๒ ไม่มี และ ระหว่าง ๓ กับ ๔ ไม่มี (ตามแบบกาพย์)

แต่การรับ-ส่งสัมผัสระหว่างบทเป็นไปตามปกติค่ะ

ขอโทษค่ะ เมื่อเช้ารีบจริงๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 23  เมื่อ 18 พ.ค. 01, 08:32

คุณอุ้ยไปแล้วแต่คุณครูไหวยังอยู่  ดิฉันก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันว่าเธอยังไม่จากไปง่ายๆ
ถ้าจะตั้งกระทู้เรื่องฉันท์   ดิฉันคิดว่าควรจะอยู่ในรักภาษามากกว่าศิลปะวัฒนธรรม    เพราะจะเกี่ยวกับการใช้คำในภาษาไทยและภาษาอื่นๆตลอด
สวัสดีค่ะ
บันทึกการเข้า
ครูไหวใจร้าย
บุคคลทั่วไป
ความคิดเห็นที่ 24  เมื่อ 18 พ.ค. 01, 18:18

คุณเทาชมพูคะ

ดิฉันรู้จัก link นี้จากคุณพลายงามเหมือนกันแหละค่ะ เห็นคุณพลายงามเล่น กลอน เล่น โคลงอยู่ที่นี่นี่คะ

ซึ่งที่จริงแล้วดิฉันเป็น "ตำรวจ" ภาษาไทยมากกว่าค่ะ โดยปกติจะไปเรื่อยๆ แล้วคอยทัก อย่างเช่น "สมโภชน์" หรือ "ศิริมงคล" อะไรพวกนี้แหละค่ะ ที่จะเป็นจุด landing ของดิฉัน

ถ้าคุณเทาชมพูพูดอย่างนี้ ดิฉันก็คงต้องไปเหมือนกันแหละค่ะ ว่าจะมีของมาฝากอีกบท เป็นอินทรวิเชียรฉันท์จากพระสุธนคำฉันท์ ของ พระยาอิศรานุภาพ(อ้น) ซึ่งวันนี้พึ่งอ่านเจอ...คงไม่มีประโยชน์แล้วล่ะค่ะ

สวัสดีเช่นกันค่ะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 [2]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.045 วินาที กับ 19 คำสั่ง