เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 34
  พิมพ์  
อ่าน: 218847 “พม่ารบฝรั่ง” บทสุดท้ายของ “มาดูรูปพิธีกรรมสำเร็จโทษเจ้านายในพม่ากัน”
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 255  เมื่อ 13 ม.ค. 13, 20:12

ในเมื่ออังกฤษยึดพม่าทั้งเหนือและใต้ได้หมดแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด    ขั้นต่อไปที่ลอร์ดดริฟฟินอุปราชอังกฤษทำก็คือลบล้างความเป็นอาณาจักรอิสระของพม่าออกจากแผนที่ไปเลย    พม่าถูกผนวกเข้าเป็นแคว้นหนึ่งของอินเดียซึ่งอังกฤษตั้งชื่อให้ใหม่ว่า British India  แปลว่าพม่าเป็นเมืองขึ้นของอินเดีย ที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษอีกทอดหนึ่ง

แต่พม่าก็ไม่ใช่หมูสันในที่อังกฤษจะทุบๆเอาลงทอดมาเคี้ยวเล่นได้ง่ายนัก   พระเจ้าสีป่อกับพระนางศุภยาลัตอาจถูกปลดแบบสายฟ้าแลบได้ง่ายดายก็จริง  แต่ส่วนอื่นๆของอาณาจักรพม่ายังมีกระดูกหมูชิ้นใหญ่บ้างเล็กบ้างให้ติดคออีกหลายชิ้น    ทันทีที่รู้ว่าอังกฤษยึดมัณฑเลย์    แนวร่วมต่อต้านพม่าก็ลุกฮือขึ้นจากหลายพื้นที่ในประเทศ  ไม่ว่าพม่าเหนือ พม่าล่าง  แคว้นฉาน กะฉิ่น ฯลฯ กลายเป็นสงครามกองโจรพม่ารบฝรั่ง ที่ยืดเยื้อไปจนอีก 11 ปีต่อจากนั้น

กลุ่มแรกที่โดดออกมาคือกองกำลังจากแคว้นฉานของเจ้าฟ้า Myinzaing (ขอยอมแพ้เลิกถอดเสียงพม่าเป็นภาษาไทย   ยกความดีความชอบในเรื่องนี้ให้คุณเพ็ญชมพูและคุณ siamese ทั้งหมด)  นำโดยนายทหารชื่อ Bo Manga และมือรองอีกสองคนซึ่งไม่ขอออกชื่อให้ยากไปกว่านี้      
นายทัพโบเลือกเอาวันดี  ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 1885 แค่หนึ่งเดือนเศษหลังจากมัณฑเลย์ศิโรราบอังกฤษ  ยกพลบุกเข้าเมืองหลวงชนิดไม่เกรงหน้าอินทร์หน้าพรหม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 256  เมื่อ 13 ม.ค. 13, 20:41

    เจ้าฟ้า  Myinzaing เป็นพระโอรสองค์หนึ่งของพระเจ้ามินดง  ที่รอดจากถูกประหารหมู่ด้วยฝีมือพระนางอเลนันดอ (และพระนางศุภยาลัต) ไปได้เพราะว่าตอนนั้นยังเยาว์มาก อายุไม่กี่ขวบ      ตอนที่พม่าแพ้อังกฤษ  เจ้าฟ้าเพิ่งอายุได้ 16  ก็ตัดสินใจจับอาวุธขึ้นต่อสู้กับศัตรูที่มาล้มล้างพระราชวงศ์    กลายเป็นหัวหน้าขบวนการกู้ชาติคนแรกของพม่า

    กองกำลังที่บุกมัณฑะเลย์ทำการไม่สำเร็จ   ตรงกันข้ามกลับถูกกองทหารซีป่ายของอังกฤษที่มีอาวุธเหนือกว่าต้านทานและรุกกลับจนต้องถอยไปตั้งหลักที่จ๊อกเซ     แต่อย่างน้อย  ชาวบ้านทั่วประเทศที่ไม่พอใจอังกฤษต่างก็เริ่มได้กำลังใจว่ามีผู้นำมานำประชาชนแล้ว     นอกจากนี้ เจ้าชายยังได้แรงสนับสนุนจากกำลังทางศาสนา คือพระสงฆ์ที่มีกำลังปึกแผ่นแน่นหนาทั่วประเทศ  

    ถ้าหากว่าเรื่องนี้เป็นหนังหรือละคร   เจ้าชายก็คงเป็นพระเอกประสบชัยชนะในตอนจบ   แต่ในชีวิตจริงซึ่งไม่เคยแฮปปี้เอนดิ้งขนาดนั้น    กองกำลังของเจ้าฟ้า Myinzaing  ถูกฝรั่งที่มีทั้งกำลังและอาวุธเหนือกว่ารุกไล่จนต้องถอยกลับไปหลบแถวเทือกเขาฉาน    ณ ที่นั้นเอง  เจ้าชายก็เกิดป่วยเป็นไข้ป่า แล้วสิ้นพระชนม์ลงอย่างปัจจุบันทันด่วน   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 15 ม.ค. 13, 16:01 โดย เทาชมพู » บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 257  เมื่อ 13 ม.ค. 13, 21:44

กลุ่มแรกที่โดดออกมาคือกองกำลังจากแคว้นฉานของเจ้าฟ้า Myinzaing (ขอยอมแพ้เลิกถอดเสียงพม่าเป็นภาษาไทย   ยกความดีความชอบในเรื่องนี้ให้คุณเพ็ญชมพูและคุณ siamese ทั้งหมด)  นำโดยนายทหารชื่อ Bo Manga และมือรองอีกสองคนซึ่งไม่ขอออกชื่อให้ยากไปกว่านี้      

Myinzaing คือ เจ้าชายมยินซายง์ ขณะนั้นทรงมีพระชันษา ๑๖ ปี เป็นพระราชโอรสในพระเจ้ามินดงที่ประสูติจากพระนางเละต์ปันซิน

Bo Manga  คือ โบ มันคะ

รองอีกสองคนคือ Myedu Myosa - มเยดู เมียวส่า และลูกชายชื่อ Maung Lat - หม่องลัด

บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 258  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 05:21

เมื่อได้รับรายงานว่ามีการก่อการร้ายขึ้นในมัณฑเลย์ภายหลังชัยชนะอันง่ายดาย ลอร์ดดรัฟฟรินมิได้มองว่าเป็นการกระทำของโจรกระจอกตั้งแต่แรก ด้วยประสพการณ์ในอินเดียที่เคยเผชิญกับเรื่องเช่นนี้มาก่อน จึงได้รีบเดินทางมาวางนโยบายการบริหารการปกครองในพม่าอย่างด่วน กบฏพม่าดาค้อยต์ถูกปราบอย่างรุนแรง เพราะสมัยนั้นสิทธิมนุษยชนยังไม่มีใครจุดประเด็นขึ้นในระดับสากล

ทหารพม่าหัวเมืองที่ยังถืออาวุธอยู่ พวกนี้จะกลายเป็นกบฎเมื่อไหร่ ขึ้นอยู่กับนโยบายของอังกฤษในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ว่า


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 259  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 05:24

ก่อนที่นายใหญ่จะมาถึง ทหารอังกฤษก็จับผู้ต้องสงสัยเป็นอันมากมาจองจำอยู่ในคุกพม่าเดิมที่พระราชวังมัณฑเลย์หลายร้อย


บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 260  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 05:27

ที่แน่ชัดว่าเป็นระดับหัวหน้าก็ประหารเสีย ในข้อหาซ่องโจรก่อการร้ายปล้นฆ่าบ่อนทำลายบ้านเมืองและความสุขของประชาชน โดยเอาไปยิงทิ้งที่ริมกำแพงเมืองให้ชาวบ้านชาวเมืองเห็นกันจะจะ


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 261  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 09:25

อังกฤษไม่ให้ราคาแก่พวกขบวนการกู้ชาติเหล่านี้เลย   .ให้แต่ค่าหัว    แถมเรียกพวกนี้ว่า ดาค้อยท์ (Dacoits) ซึ่งมาจากภาษาฮินดู  มีความหมายอย่างเดียวกับ bandit หรือโจร เท่านั้นเอง    ถ้าเปรียบเทียบแบบไทยๆ ก็คืออังกฤษเห็นพวกนี้เป็นเหมือนไอ้เสือที่ปล้นสะดมตามชนบทสมัยร้อยปีก่อน     อังกฤษถือตัวเองเป็นทางการบ้านเมือง ต้องปราบปรามเสียให้สิ้นซาก    

วิธีปราบนอกจากตั้งค่าหัวล่อใจชาวบ้าน ไม่เว้นแม้แต่ตั้งค่าหัวเจ้าฟ้าราชวงศ์คองบองในฐานะโจรแล้ว   ก็คือจับตัวมายิงเป้าต่อหน้าต่อตาประชาชนตาดำๆ เพื่อสร้างความหวาดกลัวในหมู่ชาวบ้าน  จะได้หัวหดไม่กล้าร่วมมือกับดาค้อยท์  อย่างในรูปที่ท่านนวรัตนนำมาให้ดูกันข้างบนนี้

อังกฤษมองดาค้อยท์เป็นเชื้อโรค  จึงกรอกยาแรงลงไป   แต่ดาค้อยท์ก็ดื้อยา   เห็นได้จากเจ้าฟ้ามยินซายง์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว     ก็ไม่ได้แปลว่าสงครามกู้ชาติจะจบลงง่ายๆแค่นั้น    นอกจากเจ้าชายองค์นี้แล้วก็ยังมีเจ้าชายในราชวงศ์คองบองอีก 2 องค์ที่เป็นพระนัดดาหรือหลานปู่ของพระเจ้ามินดง ชื่อเจ้าชายซอยานงายง์ และเจ้าชายซอว์ยานปายง์  โอรสเจ้าฟ้าเมกขะยา   รวบรวมรี้พลต่อต้านพม่าอยู่เช่นกัน  มีที่มั่นอยู่ที่ช่องกวาในเขตอังวะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 262  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 20:49

   เนื่องจากปักหลักอยู่ที่ช่องกวานี่เอง เจ้าชายดาค้อยท์ทั้งสองจึงได้ชื่ออีกชื่อว่า "สองเจ้าชายช่องกวา"   พระองค์มีแม่ทัพมือดีคู่พระทัยอยู่คนหนึ่งชื่อโบชเวยัน   นายคนนี้เป็นผู้นำท้องถิ่นทำนองกำนันหรือประธานอบต. มาก่อนจะเข้าสวามิภักดิ์   ช่วยกันรวบรวมผู้คนมาได้จนเป็นกองกำลังย่อยๆ  แม้ไม่มากถึงเข้าโจมตียึดเมืองหลวงได้  แต่ก็ก่อกวนอังกฤษอยู่ได้ไม่น้อยในชนบท

    กลางปี 1886  อังกฤษใช้กำลังที่เหนือกว่าเข้าปราบปรามกวาดล้างกองกำลังของเจ้าชายช่องกวา ตั้งค่าหัวให้ถึง 6000 รูปี ไม่ต่างอะไรกับเจ้าชายเป็นโจรร้าย      โบชเวยันต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่า  ส่วนเจ้าชายทั้งสองหลบหนีเข้ามัณฑเลย์ โดยอาศัยความร่วมมือของพระสงฆ์ในเมืองหลวงให้หลบซ่อนอยู่ในวัด 
     
    พรรคพวกของเจ้าชายวางแผนสถาปนาเจ้าชายซอว์ยานนายง์ขึ้นเป็นกษัตริย์ไร้บัลลังก์ต่อจากพระเจ้าสีป่อ  เพื่อจะรวบรวมกำลังประชาชน   แต่โชคไม่เข้าข้าง   แผนแตกเสียก่อน   อังกฤษจู่โจมเข้าจับตัวระดับบิ๊กๆได้หมด   เนรเทศเจ้าชายซอว์ยานนายง์ไปกักบริเวณที่ย่างกุ้ง    ส่วนเจ้าชายอีกองค์หนีไปได้   ก็ไปปักหลักอยู่ทางเหนือ   สร้างกองกำลังไว้สู้กับพม่าต่อไป
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 263  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 21:12

    ราชวงศ์คองบองนี้ จะว่าไปก็มีเจ้านายใจเด็ดอยู่หลายองค์ไม่ใช่เล่นเหมือนกัน   อย่างน้อยเจ้าชายทั้งสามองค์ที่ว่ามา เห็นชัดว่ากล้าหาญพอจะลุกขึ้นหาทางกู้บัลลังก์และเอาเอกราชของพม่าคืนมา    แม้ว่าตกอยู่ในฐานะเสียเปรียบทุกด้าน  ไม่ต่างจากเอาหนูตัวเล็กๆไปสู้สิงโตก็ตาม     ต้องถือว่าเป็นคราววาสนาชะตาอับของราชวงศ์คองบองโดยแท้ ที่บัลลังก์เกิดไปตกอยู่ในมือผู้หญิงอย่างพระนางศุภยาลัตและผู้ชายอ่อนแออย่างพระเจ้าสีป่อ

    เจ้าชายดาค้อยท์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ 3 องค์ แต่มีอีก   เป็นเจ้าชายผู้เป็นหลานลุงของพระเจ้ามินดง  คือพระบิดาเป็นพระอนุชาชื่อเจ้าฟ้ากะหน่อง     พระโอรสชื่อเจ้าชายเตกตินหมัด(Htiektin Hmat) และเจ้าชายเตกตินเธน (Htirktin Thien)  ตอนที่มัณฑเลย์ถูกยึด ทั้งสององค์ก็เป็นเจ้านายที่ยังติดอยู่ในเมือง แต่ไม่ได้โดนเนรเทศตามพระเจ้าสีป่อ    เมื่ออังกฤษมาเป็นเจ้าเข้าครองเมือง ลงมือบังคับขับไสนานาประการอย่างที่บรรยายไว้ในกระทู้นี้  เจ้านายเชื้อพระวงศ์ทั้งหลายต่างก็ตัดสินใจหลบหนีลี้ภัยออกนอกเมือง รวมทั้งเจ้าชายทั้งสองด้วย   ทรงหนีไปอยู่ที่เมืองชเวโบซึ่งเป็นเมืองเก่าแก่ของพม่า ซึ่งเป็นเมืองต้นตระกูลของราชวงศ์คองบอง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 264  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 21:40

  เมืองชเวโบมีเจ้าเมืองชื่อชเวโบเมียวหวุ่น  นายคนนี้รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี    เมื่ออังกฤษเป็นใหญ่เหนือพม่าเขาก็สวามิภักดิ์ต่อพม่า จึงได้นั่งเก้าอี้เจ้าเมืองต่อเช่นเดิม     แต่ชาวเมืองอาจจะไม่ชอบหน้านายคนนี้เท่าใด   เจ้าชายเตกตินหมัดและเจ้าชายเตกตินเธนจึงสามารถยึดเมือง  ไล่นายเมียวหวุ่นตกเก้าอี้ไปได้ไม่ยาก

  เมื่ออังกฤษได้ข่าวว่าลูกน้องพม่าของตนถูกยึดอำนาจ  ก็ไม่รอช้า ส่งทหาร 2 กองร้อยเข้าไปปราบเจ้าชายที่ตนเองยัดข้อหา "กบฎ" ให้ทันที   ทหารอังกฤษพร้อมด้วยอาวุธปืนเหนือกว่าก็เข้ายึดเมืองกลับมา  เจ้าชายทั้งสองต้องล่าถอยออกจากเมือง แต่ก็ไปปักหลักซุ่มอยู่นอกเมืองคอยโจมตีทหารอังกฤษ  เพราะมีชาวบ้านที่สมัครใจเป็นฝ่ายเจ้านายของตนเข้ามาสมทบกันเรื่อยๆจนขยายใหญ่ไปถึง 2000 คน  กลายเป็นกองทัพประชาชนขนาดใหญ่ขึ้นมา

   อังกฤษเห็นพม่าชักจะรวบรวมกองทัพได้มากกว่าที่คิดก็ตกใจ    ใช้วิธีทุ่มกำลังเข้าตีแตกให้ได้ ส่งทหารมาอีก 2 กองร้อย บวกทหารกรมปืนคาบศิลาอีก 50 คนเข้ามากะลุยกันอีกฝ่ายแตกยับ     ทางฝ่ายเจ้าชายก็ได้ผู้นำท้องถิ่นคือกำนันโบธองและกำนันธันดอว์สินธ์ซอว์โบ เป็นแม่ทัพ  คอยตีโต้กลับอังกฤษ แต่ในเมืองใช้กำลังเข้าสู้ไม่ได้เพราะอาวุธน้อยกว่าและล้าสมัยกว่ามาก   ก็ใช้วิธีรบแบบกองโจรแทน
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 265  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 05:39

การรบที่ชเวโบ ศาลทหารอังกฤษภาคสนามกำลังสอบสวนเชลย ก่อนพิพากษาแบบเชือดไก่ให้ลิงดูต่อไป


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 266  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 15:59

ภาพซ้ายคือตอนที่ทหารจากเวลส์เข้าตีเมืองชเวโบ ภาพขวามือบรรยายว่าเป็นบ้านคนจีนที่ทำรั้วป้องกันการปล้นของพวกดาค้อยท์

ฝรั่งก็เชื่อแบบฝรั่ง พม่าก็เชื่อแบบพม่า ผมเชื่อว่าอาเสี่ยเจ้าของบ้านคงไม่ไว้ใจฝ่ายไหนทั้งสิ้น


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 267  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 16:17

  ในศึกชเวโบเราก็คงทายล่วงหน้าได้ว่า มันเหมือนเอายักษ์มาไล่ทุบมนุษย์ตัวเล็กๆ     ฝ่ายเจ้าชายซึ่งกำลังน้อยกว่า อาวุธก็ล้าสมัยกว่าเป็นฝ่ายแตกพ่าย   เจ้าชายเตกตินเธนสิ้นพระชนม์ในศึกครั้งนี้ แต่เจ้าชายเตกตินหมัตหนีรอดไปได้ ไปหลบซ่อนอยู่ในป่า

  เห็นจะต้องบันทึกเป็นเกียรติประวัติว่าเจ้าชายองค์นี้ทรหดเอาการ    ถึงแม้ว่ามีกำลังคนแค่ 3500 คน เจ้าชายก็รบอย่างไม่คิดชีวิต   มีวิธีไหนจะสู้กับอังกฤษได้ก็สู้   เผชิญหน้าตรงๆไม่ได้ก็ทรงรบแบบกองโจร    ถ้ามีกำลังพอจะเข้าโจมตีเมืองได้ก็โจมตี อย่างเมืองตาเซ (Taze)   แต่ก็ไม่สำเร็จ  ต้องหนีเข้าป่าไปตั้งหลักอีกครั้ง

   ชีวิตในป่าลำบากยากแค้นและเต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ   เกินกว่าคนที่เกิดมาเป็นเจ้าและอยู่ในเมืองมาตลอดจะทนทานได้   เจ้าชายก็เลยสิ้นพระชนม์ด้วยไข้ป่าแบบเดียวกับเจ้าฟ้ามยินซายง์   
   เป็นอันจบบทบาทกู้ชาติของเจ้าชายสายเลือดเจ้าฟ้ากะหน่องเพียงแค่นี้
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 268  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 16:50

   เจ้าชายสามองค์ที่บรรยายมาในค.ห.ข้างบนนี้เป็นเจ้านายในราชวงศ์คองบองของแท้  พิสูจน์ได้ว่าเป็นราชตระกูลสายไหน   แต่ก็มีดาค้อยท์ที่ประกาศว่าตัวเองเป็นเจ้านายอีกหลายคนเหมือนกันที่ประวัติค่อนข้างคลุมเครือ     ถ้ามองในแง่จริงคือบรรดากษัตริย์และเจ้าฟ้าในอดีตนั้นนอกจากมีพระมเหสี พระสนมที่เป็นเจ้าหญิง ก็ยังมีหม่อมๆสามัญชนอีกมากมาย   มีลูกออกมาบางทีก็ปลายๆแถว ไม่รู้ว่าองค์ไหนเป็นองค์ไหน    มองในแง่เท็จก็อาจเป็นได้ว่าเป็นการแอบอ้าง เพื่อสร้างศรัทธาให้ประชาชนพม่า ซึ่งยังไงก็ยังเลื่อมใสและจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์อยู่ดี

   จะจริงหรือจะเท็จ อังกฤษก็ไม่เอาทั้งสองอย่าง    จึงฉวยโอกาสโหมโรงประโคมข่าวว่า พวกนี้ก็แค่ดาค้อยท์ธรรมดา  เป็นเจ้าเก๊ สิบแปดมงกุฎ   ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อ     หนึ่งในนี้คือเจ้าชายชะเวโจบะยู (Shwegyobyu)  เดิมเล่ากันว่าเป็นข้าราชการพม่า ทำงานด้านสาธารณสุขให้ทางการอังกฤษ    แต่พอพม่าเสียเมืองก็ตั้งตัวขึ้นเป็นเจ้า   แข็งข้อกับนายเก่า ไปตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองกันเล (Kanle) ทางตอนใต้ของมณฑลชินด์วิน
 
   เจ้าชายชะเวโจบะยูองค์นี้ก็เก่งพอจะขยายอำนาจไปทั่วเขตปะจีในเวลาต่อมา    รวบรวมสมัครพรรคพวกเป็นกองทัพย่อยๆได้    กลายเป็นเสี้ยนหนามชิ้นใหญ่ของอังกฤษ   อังกฤษก็ทำอย่างที่เคยทำ คือใช้ลำหักลำโค่นส่งทหารเข้าปราบปรามหนัก  จนเจ้าชะเวโจบะยูต้องถอยเข้าไปหลบอยู่ในเขตเทือกเขาฉิ่น
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 269  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 20:32

การรบที่ชินด์วิน การเข้าปะทะซึ่งๆหน้ากับทหารอังกฤษ พม่าดาค้อยท์ไม่มีทางที่จะสู้ได้เลย


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 16 17 [18] 19 20 ... 34
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.054 วินาที กับ 20 คำสั่ง