เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 28 29 [30] 31 32 ... 34
  พิมพ์  
อ่าน: 218845 “พม่ารบฝรั่ง” บทสุดท้ายของ “มาดูรูปพิธีกรรมสำเร็จโทษเจ้านายในพม่ากัน”
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 435  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 14:16

^
รูปที่แล้วเกือบดูไม่ออกว่าใส่หมวก หรือเอากระดาษหนังสือพิมพ์มาวางไว้บนหัวกันแดด

รูปข้างล่างก็แปลกสุดๆ อีตาพม่าที่แต่งชุดฝรั่งนั่งโก้แอ๊คท่าถ่ายรูปร่วมกับสมุนซ้ายขวาในรูปนี้ถูกระบุว่าชื่อ Myob hmong (ผมไม่พากษ์ไทยละ เกรงใจคุณเพ็ญ) ข่าวว่าแกเป็นหัวหน้าดาค้อยต์เหมือนกัน แต่เป็นประเภทที่เข้ามอบตัวกับอังกฤษ

ไม่รู้จริงมั้ยจริง


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 436  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 15:21

ฮิฮิ   โดนรุมเลย   สมน้ำหน้า  แต่ยังครับ ยังไม่เข็ด  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม  ยิงฟันยิ้ม เพราถือคติว่า ยิ่งถ้าได้แลกเปลี่ยนความคิดมุมมองกับท่านผู้รู้  ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มรอยหยักในสมองและมุมมองต่างๆ ดังนั้นจึงยังไม่เข็ด ตอนนี้เลยสวมวิญญาณบัวขาวก่อน  จาพนมมันออกจะแอ็คติ้งไป บู๊ไม่แหลกราญพอ


ขอตอบท่านอาจารย์ V_Mee ก่อน สำหรับเรื่องการพัฒนาที่ทำให้เราแตกต่างจากญี่ปุ่น   เพราะผมสงสัยว่า เราเปิดประเทศในช่วงใกล้ๆ กัน  ความรู้ในวิทยาการตะวันตกตอนเริ่มต้นมีพอๆ กัน เราออกจะมีเอกภาพในเรื่องการปกครองมากกว่าญี่ปุ่นที่มีหลายๆ แคว้นด้วยซ้ำ  ทั้งสองประเทศเริ่มต้นจากการซื้อวิทยาการเหมือนกัน จ้างต่างชาติเหมือนกัน  มีการส่งนักเรียนไปเรียนเมืองนอกเหมือนกัน แต่ทำไมปลายทางจึงต่างกัน?


ญี่ปุ่นใช้เวลา 30-40 ปีหลังเปิดประเทศก็สามารถมีกองทัพเรือขนาดใหญ่  สามารถต่อเรือรบเอง ผลิตเครื่องยนต์เอง ฯลฯ ปลายๆ ศตวรรษที่ 19 ก็สามารถรบกับจีน ทำตัวเป็นผู้ล่าอาณานิคมแบบฝรั่งได้  ส่วนประเทศเราก็มีการพัฒนาปรับปรุงเช่นกัน  แต่ไม่ได้ถึงขนาดญี่ปุ่น  แสดงว่าต้องมีปัจจัยอื่น   ถ้าจะว่าเพราะพลเมืองญี่ปุ่นมีมากกว่าก็ไม่น่าใช่  เกาหลีใต้พลิกฟื้นจากไม่มีอะไรเลยหลังสงครามเกาหลี ประชากรน้อยกว่าไทย วันนี้ก็แซงเราไปแล้ว  ตามทันพี่ยุ่นแล้ว


คำตอบนี้สำหรับผม ได้มาจากการดูละครญี่ปุ่น กี่เรื่องๆ จุดขายจะเป็นเรื่องความพยายาม  ความสู้อุปสรรคชีวิต  ตัวละครมีมิติ มาเปรียบเทียบกับละครไทย เน้นตัวเอกรวย ตัวละครไม่ค่อยมีมิติ  ดีก็ดีนางเอก ร้ายก็รายนางอิจฉา  เรื่องราวเน้นการแย่งชิงหัวใจเศรษฐี  งอนง้อกัน  รวยโดยวิธีลัดกันทั้งนั้น   นี่เรื่องใหม่ช่อง 3 ก็เน้นตบกันอีกแล้ว     จะเห็นความแตกต่างของวิธีคิดของพลเมืองที่สะท้อนผ่านรสนิยมตรงนี้ได้ดีครับ 


ส่วนเรื่องพม่าแดดเดียวหรือพม่าทุบ  จริงๆ คำตอบของผมมันเลวทั้งคู่ครับ ไม่มีอันไหนเลวน้อยกว่าใคร   ยิ่งถ้าเราเป็นผู้ถูกกระทำโดยตรงโดนทุบหรือตากแดดก็ไม่เอาทั้งนั้น   ปัญหาหลักๆ ที่ผมคิดคือเวลาเรามองประวัติศาสตร์  เรามักจะมีอคติในเรื่องของชาตินิยมที่ถูกปลูกฝัง ดังนั้นฝ่ายที่รุกรานจะมีภาพความไม่ชอบธรรมมากกว่าเสมอ แต่ถ้ามองไปที่การปฏิบัติจริงๆ  สิ่งที่ชาวบ้านประสบพบเจอ  อาจจะเลวร้ายจากทั้งสองฝ่าย ถูกบีบให้เลือกข้าง อยู่ตรงกลางไม่ได้ ไม่มีใครคุ้มครอง  ตอนไหนใครมีอำนาจกว่าก็ต้องเข้ากับเขา พอเขาหมดอำนาจ กลายเป็นชาวบ้านเองถูกแก้แค้นโดยอีกฝ่ายในฐานะผู้สนับสนุน เป็นตาสีตาสาซวยเสมอ   แต่ถ้าตัดอคติออกไป  บางครั้งการปกครองโดยคนชาติเดียวกันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีกว่าเสมอไปก็ได้ 


การปฏิบัติต่อผู้ที่เห็นต่างอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยม ไม่ได้มีแต่อังกฤษ อเมริกา  เยอรมัน ญี่ปุ่นในต่างยุคต่างสมัยกันกระทำต่อชาติที่ถูกรุกรานเท่านั้น  ในชาติเดียวกันการปฏิบัติอย่างเลวร้ายผลักไสผู้ที่เห็นต่าง หรือแม้แต่ไม่มีทางเลือกก็มีเช่นกัน  เหตุการณ์แบบฆ่า ข่มขืน ขับไล่คนทั้งหมู่บ้าน  เผาทุกอย่าง  เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายเสมอเวลาผู้กระทำคิดว่าผู้ถูกกระทำเป็นฝ่ายตรงข้าม  และจะไม่ขึ้นกับเชื้อชาติเลย ดังนั้นทหารพม่าในยุคหลังที่ทำกับชนกลุ่มน้อยก็มี   ทหารไทยทำกับชาวบ้านไทยที่คิดว่าสนับสนุน ผกค ก็มี  ฮูตูรวันดาทำต่อฮูตูเองก็มี  ทหารซีเรียทำกับฝ่ายต่อต้านก็มี  คนรัสเซียหรือเกาหลีเหนือที่ถูกเอาตัวไปไว้ในกูลักโดยคนชาติเดียวกันก็มี  ทหารอิรักหรืออัฟกันเองทำต่อชาวบ้านในอิรักและอัฟกานิสถานก็มี   ดังนั้นเรื่องเลวร้ายพวกนี้เกิดขึ้นเสมอเมื่อฝ่ายหนึ่งคิดว่าตัวชอบธรรมกว่าที่จะกระทำได้ และฝ่ายนี้มักไม่สนใจเรื่องเชื้อชาติของผู้ถูกกระทำเลย จะชาติเดียวกันก็ทำได้ครับ และเรื่องพวกนี้ยังเกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน


ส่วนที่เรามองว่าตะวันตกเข้ามา เค้ามาสูบเลือด ดึงทรัพยากรออกไปแต่ฝ่ายเดียวผมมองว่ามันไม่ได้จะเป็นแบบนั้นไปทั้งหมด เช่นการเข้ามาพม่า อังกฤษต้องการไม้สัก  อัญมณี  ในขณะที่อังกฤษสูบทรัพยากรเหล่านี้ออกไป แต่อังกฤษเองก็ต้องมีการลงทุนในเรื่องสาธารณูปโภคต่างๆ  ต้องการแรงงานมากขึ้น มีการกระจายรายได้มากขึ้น  มีตลาดเกิดขึ้นเพราะอังกฤษเอาทรัพยากรออกไปผลิตสินค้า ก็ต้องการตลาดส่งออกเช่นกัน  ชนพื้นเมืองมีรายได้มากขึ้นจากการขายแรงงาน อำนาจการซื้อก็มากขึ้น  แม้จะไม่ถึงขนาด win-win ก็เถอะ  ในขณะที่สมัยสีป่อ ชาวบ้านไม่รู้จะทำอะไร นอกจากปลูกข้าวกับเล่นหวย แถมถูกเกณฑ์แรงงานฟรีๆ ด้วย


ผมไม่ได้มาแก้ตัวแทนอังกฤษเพราะผมไม่ได้นิยมฝรั่ง  แต่ผมมาออกความเห็นเพื่อค้านลัทธิชาตินิยมสุดโต่ง  เพราะมันเป็นที่มาของความขัดแย้งแบบไม่จำเป็นและเป็นเครื่องมือที่ผู้ปกครองเอามาใช้ปั่นหัวประชาชนเสมอเลย   ชาตินิยมสุดโต่งทำให้ผู้คนมักจะมองอะไรเห็นด้านเดียว และมักจะมองว่าเป็นความชอบธรรมของตนที่จะกระทำอะไรบางสิ่งบางอย่าง  หรือเกลียดชังผู้อื่นโดยไม่ต้องสนใจว่าผู้นั้นเป็นใคร มีชีวิตจิตใจนิสัยใจคออย่างไร  ขอแค่คิดว่าอยู่อีกฝ่ายเท่านั้นก็มีความชอบธรรมพอที่จะเกลียดได้แล้ว  ทุกวันนี้เราสามารถเห็นแนวคิดชาตินิยมสุดโต่งที่อยู่ในความคิดของคนรุ่นใหม่ได้ง่ายมากผ่านตาม web board ต่างๆ  facebook หรือแม้แต่เว็บดราม่า ผ่านการแสดงออกความเกลียดชัง ความเห็นที่ร้อนแรงแต่มีมุมเดียวตื้นๆ แคบๆ   เราปลูกฝังกันจนประสบความสำเร็จเกินไปจริงๆ 
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 437  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 15:35

อ้อ  ผมลองจินตนาการเปลียนคำว่าฝรั่งกับอังกฤษ เป็นคำว่าสยาม  สมมุติว่าการรุกรานนี้มากจากสยามซึ่งเป็นมหาอำนาจ  มิใช่จากอังกฤษ  ชื่อท่านลอร์ดต่างๆ เปลี่ยนเป็นพระยาแทน  การแทรกแซงของฝรั่งเศสเปลี่ยนเป็นเวียดนาม   ไม่มีชาติตะวันตกใดๆ เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งนี้ เป็นการรุกของสยามล้วนๆ เพื่อรุกรานหม่าและคานอำนาจเวียดนามที่กำลังแผ่อิทธิพลเข้ามาในพม่า   ผมพบว่าความรู้สึกต่างๆ เปลี่ยนไปคนละเรื่องเลยครับ  ถ้าท่านใดทำแบบผมแล้วพบว่าความรู้สึกเปลี่ยนไปเช่นกัน แปลว่าเราติดกับดักชาตินิยมเหมือนๆ กันแล้ว  จุมพิต  จุมพิต
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 438  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 16:51

ดิฉันว่ามันไม่เกี่ยวกับชาตินิยมนะคะคุณประกอบ       ถ้าคุณ V_Mee คุณเพ็ญชมพูและดิฉันชาตินิยมสุดโต่งก็คงไม่เข้าข้างพม่า เพราะเป็นศัตรูของเรามาตั้งแต่อยุธยาตอนกลาง    ทำเอาเราเสียเมืองไปตั้ง 2 หน        เมื่ออ่านพบว่าพม่าถูกกระทำย่ำแย่ขนาดนี้  นักชาตินิยมไทยสุดโต่งน่าจะตีปีกเสียด้วยซ้ำ

ดิฉันไม่ชอบอังกฤษเพราะรู้สึกเหมือนเห็นยักษ์กำลังไล่ตีเด็กตัวเล็กๆที่แข็งใจสู้สุดฤทธิ์สุดเดช  แล้วก็ถูกจับหักคอเรียบวุธ   จากนั้นยังอ้างเสียอีกว่า เด็กมันเกเร ก็ต้องถูกลงโทษเป็นธรรมดา
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 439  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 18:29

มิได้ครับมิได้ ผมไม่ได้หมายความว่าท่านอาจารย์หรือท่านอื่นๆ เป็นนักชาตินิยมสุดโต่งครับ โปรดอย่าได้เข้าใจผมผิดไป  กราบขออภัยที่เขียนไปไม่แจ่มชัด  บ๊ะ หารูปไหว้ไม่เจอ แบบนี้ต้องโดนไม้่เรียวซักทีสองที  ยิงฟันยิ้ม


ผมเพียงแต่จะโยงไปว่าพวกนักชาตินิยมสุดโต่งมักจะแสดงอารมณ์ออกมารุนแรง เช่นแสดงความเกลียดชังผ่านภาษาออกมาอย่างรุนแรง ซึ่งเราจะไม่เจอเห็นกระทู้นี้ แต่ในกระทู้ที่ท่านนวรัตนยกมาจาก pantip ที่เป็นประวัติศาสตร์พม่าในมุมฝ่ายพม่า ผมเห็นการแสดงอารมณ์ที่รุนแรงของคนไทยผ่านภาษาออกมาหลายความเห็นเลย   จนแม้แต่เร็วๆ นี้ที่มีคำลือออกว่าว่าฟิลิปปินส์ด่าคนไทยว่าไอ้ไทย  คนจำนวนไม่น้อยไม่ทันไตร่ตรองอะไรเลย ทั้งด่า ทั้งดูถูกฟิลิปปินส์กันใหญ่  หรือผมเองจนบัดนี้ก็ยังเกลียดฝรั่งเศสอยู่เลย ถามว่าทำไมเกลียดก็ต้องตอบว่าเพราะร้อยกว่าปีก่อนมันมาเอาดินแดนเราไป ทั้งที่เรื่องนี้มันนานก่อนผมเกิดแล้ว แต่ป่านนี้ผมเองยังปล่อยวางไม่ได้เลย  ตัวเหตุผลในหัวบอกนี่มันเรื่องเก่าแล้ว แต่ตัวอารมณ์บอกมันรุกรานเรา  แค้นว้อยย  สรุปจนบัดนี้กีฬาอะไรมีฝรั่งเศส กัมพูชาแข่ง ผมเชียร์ให้แพ้เสมอ  ยิงฟันยิ้ม  นี่ก็สุดโต่งแบบนึง ดังนั้นความคิดเรื่องชาตินิยมอาจจะทำให้ทัศนคติ หรือการมองภาพรวมของเหตุการทั้งหมดเบี่ยงเบนหรือไม่กระจ่างชัด หรือมองไม่เห็นมุมอื่นๆ ที่อาจจะซ่อนหรือถูกบังอยู่



ในแง่หนึ่งที่ท่านอาจารย์มองว่าอังกฤษคือนักเลงใหญ่ที่รังแกเด็กที่ไม่มีทางสู้ อันนี้ผมก็เห็นด้วยครับ   แต่อาจจะมองว่าเหมือนหมู่บ้านใหญ่รังแกหมู่บ้านเล็กมากกว่า  เพียงแต่ผู้ใหญ่บ้านของบ้านหมู่บ้านเล็กไม่ได้เรื่องด้วย เค้าจึงรังแกได้ พอบ้านแตกก็เลยกระจัดกระจายกันไป   แต่หมู่บ้านเล็กข้างๆ ผู้ใหญ่บ้านเก่งกว่า  ยืดหยุ่นกว่า อะไรยอมได้ก็ยอมและรับเอาข้อดีๆ ของหมู่บ้านใหญ่มาเร่งปรับปรุงตัวเอง เลยรอดปากเหยี่ยวปากกามาได้    ผมเองในแง่หนึ่งก็สงสารพม่า แต่ในอีกแง่ผมก็สงสัยตัวเองว่าผมสงสารพม่าเพราะพม่าเหมือนเด็กโดนรังแก ผมจึงเข้าใจความเจ็บปวดของพม่าตรงนี้ได้ดี   เพราะไทยเราก็เคยโดนรังแกแบบเดียวกัน ดังนั้นในเรื่องการถูกรุนรานนี้เราจึงเข้าใจความเจ็บปวดของพม่า และเห็นใจพม่าจนลืมความบาดหมางที่พม่าเคยมารุกรานไทยไปได้ ซึ่งจะโยงไปกับเรื่องชาตินิยมไปได้อีกนั่นแหละ 



ดังนั้นผมจึงรู้สึกว่าเวลาพูดเรื่องในประวัติศาสตร์แล้วมันจะมีหลายมุมมาก ขึ้นกับว่าจะเอามุมของใครมามอง  และมองมุมไหนมันเหมือนจะมีเหตุผล  มีความชอบธรรมไปหมด   เรามองพม่าในมุมของคนไทยที่เจ็บปวดกับการเคยถูกรังแกเหมือนกัน   หรือเราจะมองพม่าในมุมของอังกฤษที่บอกว่าระบบการปกครองเก่าเป็นอุปสรรคต่อการทำมาค้าขายและเข้าถึงทรัพยากรมหาศาลของพม่า  รวมทั้งความวุ่นวายต่างๆ ที่ตามมาด้วยทำให้ต้องเร่งกำจัดด้วยความรุนแรง เพราะไม้นวมไม่ได้ผล  หรือที่จริงพวกอังกฤษอาจจะเลวและไม่มีมนุษยธรรมเองอยู่ก่อนแล้ว แต่ผมเองนั่นแหละที่พยายามหาข้อดีของอังกฤษมาคานมากเกินไป       หรือแม้แต่จะมองในมุมอาบังโพกหัวอยู่อินเดียไม่มีอะไรทำ มาสมัครเป็นทหารซีปอยมารบพอมีเงินส่งไปทางบ้านได้ ญาติทางบ้านพลอยได้รับความเกรงอกเกรงใจไปด้วย มาเป็นทหารรุกรานพม่าถ้าไม่ตายซะก่อนก็ดีกว่าอยู่ว่างๆ ที่อินเดีย  ดังนั้นทุกเหตุการณ์เมื่อมีฝ่ายใดเสียประโยชน์ก็จะมีคนได้ประโยชน์เสมอมากน้อยต่างกันไป ทั้งคนต่างชาติ คนในชาติของตนเอง  อยู่ที่เราจะเลือกมองจริงๆ 



ถ้ามองในมุมของชาวบ้านพม่าแดดเดียวที่ผมก็สงสัยว่าคนระดับตัวเล็กๆ สู้ไปเพื่ออะไร หรือถูกตากแดดเพื่ออะไร เพราะสุดท้ายคนที่มีอำนาจเจรจาหรือเลือกที่จะสู้หรือวางอาวุธก็คือระดับใหญ่ๆ แกนนำไม่กี่คนอีกนั่นแหละ   คนที่ถูกตากอาจจะเป็นชาวบ้านเล็กๆ ที่ไม่มีทางเลือก โดนเค้าเกณฑ์มาก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำครองครัวตัวที่อยู่ในเขตอิทธิพลของฝ่ายที่เกณฑ์ก็อาจจะเดือดร้อนไปอีก เค้าให้รบก็ต้องรบ ให้เลิกก็เลิก ไม่งั้นลูกเมียจะลำบาก และส่วนหนึ่งที่รบก็ไม่รู้ว่าเพราะถูกแกนนำเขียนเสือให้วัวกลัวหรือเปล่า   ดังนั้นชาวบ้านพวกนี้น่าสงสารที่สุด 


ในกลุ่มต่อต้านที่สู้สุดฤทธิ์ ผมก็ยังขี้สงสัยต่อว่าเป็นการสู้เพื่อรักษาเขตอิทธิพลของตัวของมูลนาย หรือเป็นการสู้เพื่อปลดแอกพม่าทั้งมวลออกจากเงื้อมมืออังกฤษแบบอุดมคติจริงๆ  หรือสู้เพื่อเพิ่มราคาค่าตัว เพราะไม่ว่าจะแบบไหน แกนนำตัวเบ้งๆ แม้จะเสี่ยงตายแต่เป็นคนที่เสี่ยงตายน้อยที่สุด และได้ผลประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุดถ้าเจรจากันได้หลังควันปืนสงบ และเป็นพวกที่เหลือชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์เสมอ 


ข้อดีที่สุดที่ได้อ่านกระทู้นี้คือยิ่งทำให้ผมสำนึกว่าเราโชคดีแค่ไหนที่พระมหากษัตริย์ของเราในยุคสมัยเดียวกันแตกต่างจากพม่ามากขนาดไหน ทำให้ชาวบ้านร้านตลาดเราแทบจะไม่ต้องเดือดเนื้อร้อนใจกับการเข้ามาของต่างชาติแบบที่คนพม่าโดน   เพียงแต่นักประวัติศาสตร์แนวไม่เอาเจ้า(ผมไม่คิดว่าพวกนี้เป็นขี้ข้าฝรั่ง แต่คิดว่าพวกนี้น่าจะมีพื้นฐานจากการอิจฉาหรือหมั่นไส้การมีฐานันดรมากกว่า เพราะฝรั่งเองยังมีพวกโปรเจ้าหรือคนดังอยู่มากเช่นกัน) จะอคติกับสถาบันมากแบบที่ท่าน V_Mee ว่ามาก  ทุกวันนี้ผมเป็น frined ติดตาม อาจารย์ ส. คนดังที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์สถาบันจาก facebook เสมอ ตามคติรู้เขารู้เราเอาไว้ ยิ่งไม่เห็นด้วยกับเขายิ่งต้องติดตามความคิดเขา 


แม้จะสงสัยว่านี่ผมกำลังเบี่ยงประเด็นป่วนกระทู้อยู่หรือเปล่านี้  กราบขออภัยท่านนวรัตนไว้ด้วย   แต่ยังยินดีรับไม้เรียวอยู่นะครับ เด็กดื้อไม่โดนตีบ้างจะได้ดียาก    อายจัง  ดังนั้นท่านอาจารย์ทุกท่านเฆี่ยนได้ตีได้กำราบได้ไม่มีน้อยใจหนีไปวิกไหนครับ   ดื้อตาใส   ยิ่งวิก pantip เค้าเปลี่ยนระบบจนไม่น่าเข้าไปเท่าไหร่แล้ว  วนเวียนปั่นป่วนอยู่แถวนี้แหละ  ยิงฟันยิ้ม


ปล ผมยังหาภาพพม่าแดดเดียวเวอร์ชั่นโหดหนอนขึ้นไม่เจอเลย ตามไปหาผลงานของอีตาตากล้องตามที่ท่านผู้รู้ให้ไว้ก็เจอแต่ภาพเสือบ้าง ชาวบ้านอินเดียจนๆ บ้าง ภาพสงครามพม่าเหมือนที่ลงไว้ในกระทู้นี้บ้าง แต่ยังหาภาพเวอร์ชันโหดมาดูไม่ได้ซักที   ฮืม
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
dantoki
อสุรผัด
*
ตอบ: 17


ความคิดเห็นที่ 440  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 18:36

ทำไมฝรั่งถึงเก่งครับในสมัยนั้น ไปไหนคนกลัวหัวหด  ขนาดชาติใหญ่ๆ อย่างพี่จีนก็ไม่เว้น เทคโนโลยีด้านอาวุธก็ใช่ว่าจะก้าวหน้าจนยิงไหนแตกนั่น ยุทธวิธีการรบก็ใช่ว่าจะเก่งเลิศเลออะไร อีกอย่างคนอังกฤษไม่ถูกโรคกับเมืองร้อน ถ้าผมสามารถย้อนเวลากลับไปสู่อดีตได้ ผมจะหลอกยิงให้เรียบเลยครับ โดยใช้ยุทธวิธีแบบเดียวกับเวียดกงรบอเมริกัน คือหลบอยู่ในรู แล้วคอยแอบยิงมันตอนเผลอ สักพักพอเปลืองคนเปลืองงบเข้า ก็ถอยเองแหละ แต่เวียดนามมีพี่เบิ้มคอยส่งอาวุธให้นี่เนอะ ไม่งั้นคงแพ้อเมริกาอ่ะแหละ

เท่าที่มองเห็นปัญหา น่าจะเกิดจากสมัยก่อนเทคโนโลยีการผลิตอาวุธนั้นตามหลังฝรั่งอยู่หลายก้าว อาวุธหลายๆ อย่างยังต้องสั่งซื้อจากฝรั่ง ผลิตเองยังไม่ได้ หรือได้ก็คุณภาพไม่ดีพอเท่ากับที่ฝรั่งมันมี
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 441  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 18:53

อ้างถึง
แม้จะสงสัยว่านี่ผมกำลังเบี่ยงประเด็นป่วนกระทู้อยู่หรือเปล่านี้  กราบขออภัยท่านนวรัตนไว้ด้วย

ไม่เลยครับ ไม่เลย
ผมเป็นคนตั้งคำถามไว้ อยากให้ท่านๆได้แสดงทัศนะกันโดยเสรี
บันทึกการเข้า
V_Mee
สุครีพ
******
ตอบ: 1436


ความคิดเห็นที่ 442  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 19:35

ที่คุณประกอบกล่าวว่า สยามกับญี่ปุ่นเปิดประเทศในเวลาไล่เลี่ยกัน  แต่ทำไมสยามจึงพัฒนาช้ากว่าญี่ปุ่น
คงต้องย้อนกลับไปดูที่ปัจจัยพื้นฐานหลายๆ อย่าง  ญี่ปุ่นมีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างจากสยามโดยสิ้นเชิง  ชาวญี่ปุ่นจึงต้องดิ้นรยต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดมากกว่าชาวสยามที่ชีวิตเรื่อยๆ มาเรียงๆ  เพราะสยามอยู่ในภูมิภาคที่สมบูรณ์พร้อมท้งอาหารการกินและภูมิอากาศที่ไม่ทารุณโหดร้ายเหมือนญี่ปุ่น  อีกประการคือ การปลูกฝังเรื่องชนชั้นนักรบของญี่ปุ่น  ทำให้คนญี่ปุ่นชินชากับการสู้รบ  ซึ่งต่างจากชาวไทยที่รักสนุกรักสบายมากกว่า  คัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากภาพยนต์ญี่ปุ่น  เมื่ออเมริกันส่งเรือดำเข้ามาขู่ให้ญี่ปุ่นเปิดประเทศ  บรรดาซามูไรของญี่ปุ่นนั้นก็เตรียมการต่อสู้กันเต็มที่  แต่เมื่อย้อนมาดูเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ในบ้านเรา  เมื่อฝรั่งเศสส่งเรือรบเข้ามาในลำน้ำเจ้าพระยา  คนไทยแห่ไปดูเรือฝรั่งเพราะเป็นของแปลก

ส่วนเรื่องการศึกษานั้นข้อด้อยของสยามคือ การหวงวิชาความรู้ไว้ในสายสกุล  ไม่ยอมถ่ายทอดให้คนนอก  จึงทำให้การสืบทอดวิชาความรู้ไม่ต่อเนื่อง  และไม่แพร่หลาย  ในข้อนี้คิดว่าญี่ปุ่นน่าจะไม่มีข้อจำกัดเช่นสยาม  ฉะนั้นเมื่อญี่ปุ่นเปิดประเทศและส่งคนไปเล่าเรียนวิทยาการจากตะวันตก  ญี่ปุ่นจึงดูดกลืนความรู้แล้วมาแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น  ทำให้ชาวญี่ปุ่นได้เรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่อย่างรวดเร็ว  ส่วนสยามนั้นแม้จะส่งนักเรียนไปเล่าเรียนในยุโรป  แต่เพราะความสุขสบายที่เคยชินกันมาช้านาน  เมื่อไปเล่าเรียนจึงนอกจากได้วิทยาการสมัยใหม่ลับมา  แต่ก็พหพาวิชาจีบสาวและเมาสุรากลับมาด้วย  จึงทำให้การถ่ายทอดวิทยาการจากตะวันตกด้อยกว่าญี่ปุ่นอย่างเห็นได้ชัด

ปัจจัยสำคัญอีกประการคือ ระบบจัดเก็บภาษี  เนื่องจากญี่ปุ่นมีการปกครองแบบนครรัฐ  เจ้านครแต่ละรัฐจึงมีการสร้างระบบภาษีเพื่อสะสมเงินทุนในการสร้างเสริมกำลังรบไว้ต่อสู่กับรัฐอื่นๆ  ระบบจัดเก็บภาษีของญี่ปุ่นจึงก้าวหน้ากว่าระบบภาษีของสยามไปมาก  เมื่อญี่ปุ่นก้าวเข้าสู่ยุคเปิดประเทศจึงมีเงินทุนมากพอที่จะพัฒนาประเทศ 

แต่ที่ญี่ปุ่นแพ้สยามอย่างแน่นอนคือ การดำเนินวิเทโศบายทางการทูตของสยามในสงครามโลกครั้งที่ ๑ เพราะเมื่อครั้งเปิดประเทศนั้น  อเมริกาใช้สนธิสัญญานานกิงเป็นต้นแบบ  เช่นเดียวกับที่เซอร์จอห์น บาวริง เอามาใช้เป็นต้นแบบทำสัญญากับสยาม  แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๑ สงบลง สยามทำสัญญาใหม่กับอเมริกา  ซึ่งทำให้สยามหลุดพ้นจากภาษีร้อยชักสามและสามารถยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขต  และสยามได้ใช้สัญญานี้เป็นต้นแบบในการเจรจากับอีก ๑๒ ชาติ  แต่เหนืออื่นใดรัฐบาลอเมริกันได้ใช้สัญญาที่ทำไว้กับสยามเป็นต้นแบบในการทำสัญญาฉบับใหม่กับญี่ปุ่น และจีน  ซึ่งทำให้ชาติคุ่สัญญาของญี่ปุ่นและจีนต้องเดินตามรอยอเมริกัน  ที่กล่าวมานี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า สยามก็มีดีเหมือนกัน  แต่ไม่ใคร่จะนำมาบอกกล่าวกันเท่านั้นเอง
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 443  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 20:07

ถ้ามองในมุมของชาวบ้านพม่าแดดเดียวที่ผมก็สงสัยว่าคนระดับตัวเล็กๆ สู้ไปเพื่ออะไร หรือถูกตากแดดเพื่ออะไร เพราะสุดท้ายคนที่มีอำนาจเจรจาหรือเลือกที่จะสู้หรือวางอาวุธก็คือระดับใหญ่ๆ แกนนำไม่กี่คนอีกนั่นแหละ   คนที่ถูกตากอาจจะเป็นชาวบ้านเล็กๆ ที่ไม่มีทางเลือก โดนเค้าเกณฑ์มาก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำครองครัวตัวที่อยู่ในเขตอิทธิพลของฝ่ายที่เกณฑ์ก็อาจจะเดือดร้อนไปอีก เค้าให้รบก็ต้องรบ ให้เลิกก็เลิก ไม่งั้นลูกเมียจะลำบาก และส่วนหนึ่งที่รบก็ไม่รู้ว่าเพราะถูกแกนนำเขียนเสือให้วัวกลัวหรือเปล่า   ดังนั้นชาวบ้านพวกนี้น่าสงสารที่สุด 


ในกลุ่มต่อต้านที่สู้สุดฤทธิ์ ผมก็ยังขี้สงสัยต่อว่าเป็นการสู้เพื่อรักษาเขตอิทธิพลของตัวของมูลนาย หรือเป็นการสู้เพื่อปลดแอกพม่าทั้งมวลออกจากเงื้อมมืออังกฤษแบบอุดมคติจริงๆ  หรือสู้เพื่อเพิ่มราคาค่าตัว เพราะไม่ว่าจะแบบไหน แกนนำตัวเบ้งๆ แม้จะเสี่ยงตายแต่เป็นคนที่เสี่ยงตายน้อยที่สุด และได้ผลประโยชน์คุ้มค่ามากที่สุดถ้าเจรจากันได้หลังควันปืนสงบ และเป็นพวกที่เหลือชื่อจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์เสมอ 

เพื่อ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

คุณนินิเมียนต์เธอว่าไว้อย่างนั้นจริง ๆ



บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 444  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 20:10

ทำไมฝรั่งถึงเก่งครับในสมัยนั้น ไปไหนคนกลัวหัวหด  ขนาดชาติใหญ่ๆ อย่างพี่จีนก็ไม่เว้น เทคโนโลยีด้านอาวุธก็ใช่ว่าจะก้าวหน้าจนยิงไหนแตกนั่น ยุทธวิธีการรบก็ใช่ว่าจะเก่งเลิศเลออะไร อีกอย่างคนอังกฤษไม่ถูกโรคกับเมืองร้อน

เท่าที่มองเห็นปัญหา น่าจะเกิดจากสมัยก่อนเทคโนโลยีการผลิตอาวุธนั้นตามหลังฝรั่งอยู่หลายก้าว อาวุธหลายๆ อย่างยังต้องสั่งซื้อจากฝรั่ง ผลิตเองยังไม่ได้ หรือได้ก็คุณภาพไม่ดีพอเท่ากับที่ฝรั่งมันมี

คุณนินิเมียนต์ให้ความเห็นว่า


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12601



ความคิดเห็นที่ 445  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 20:13

คุณนินิเมียนต์เป็นใคร


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 446  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 20:23

วางไม้เรียวที่เตรียมไว้ให้เด็กชายประกอบลงก่อน    ขอตอบคุณ dantoki  ด้วยข้อความที่ร่างไว้  มันเข้ากันพอดี

กำลังจะประหมัดกับคุณประกอบอยู่ทีเดียว ว่าด้วยเรื่อง "ใครมาเป็นเจ้าเข้าครอง  คงจะต้องบังคับขับไส..." ท่านอาจารย์ใหญ่กว่าเข้ามาไล่ลงจากเวทีด้วยกันทั้งคู่
เชิญอาจารย์นวรัตนดอทซีบรรเลงเพลงฝรั่งรำเท้าต่อไปจนจบค่ะ   เสร็จแล้วดิฉันจะลากคุณประกอบขึ้นเวทีส่งท้ายอีกครั้ง

ตอนนี้ท่านนวรัตนดอทซีกดปุ่มเปิดไฟเขียวให้แล้ว   ดิฉันจะกลับมาพูดเรื่องที่ค้างอยู่
เรื่องแรกคือทำความเข้าใจกับแนวคิดของอังกฤษเจ้าอาณานิคม ที่ดำรงตนเป็นผู้รุกรานที่เป็นพระเอกเสมอ   ว่ามาที่มาอย่างไร

เคยเล่าพื้นหลังไว้ในกระทู้โปรตุเกสเข้าเมือง  ว่าอังกฤษกับฝรั่งเศสทำสงครามกันมายืดเยื้อหลายร้อยปี  ผลัดกันแพ้ชนะกันมาหลายหน   จนถึงสงครามวอเตอร์ลูเมื่อค.ศ. 1815  จักรพรรดินโปเลียนเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ดยุคแห่งเวลลิงตันแม่ทัพอังกฤษ    อังกฤษกับฝรั่งเศสก็ได้สติขึ้นมาว่าจะรบกันไปทำไมให้เปลืองชีวิตผู้คนและเงินทองเปล่าๆ     ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปทำมากินจากดินแดนอื่นๆดีกว่า     จากนั้น เจ้าอาณานิคมทั้งสองก็กลายเป็นพระราหูที่อมดินแดนตะวันออกไว้เกือบหมด

การปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษ ทำให้เครื่องจักรเข้ามาแทนแรงงานคน   ของต่างๆแทนที่จะผลิตด้วยมือทีละชิ้นก็กลายเป็นยกโหลผลิตขึ้นมาเป็นร้อยเป็นพัน   ข้อนี้รวมทั้งอาวุธด้วย   อังกฤษมีเหล็กของตนเอง อุตสาหกรรมถลุงเหล็กก้าวหน้ามากจนทำให้อาวุธยุทโธปกรณ์เอย  เครื่องจักรเครื่องกลในเรือเอย  พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว   เมื่อเรือเดินด้วยเครื่องจักรได้   โลกก็ถูกย่อให้เล็กลง    
อาวุธยุทโธปกรณ์จากโรงงานอุตสาหกรรมนี่เองที่ทำให้อังกฤษมีปืนใหญ่  ปืนกล  ปืนหลายแบบที่ยิงง่ายใช้คล่อง อานุภาพการทำลายล้างสูงกว่าปืนโบราณคร่ำคร่าของโปรตุเกสที่เคยเอามาขายประเทศทางตะวันออกเมื่อร้อยสองร้อยปีก่อน     ทำให้เข้ายึดครองดินแดนต่างๆได้ง่ายดังพลิกฝ่ามือ
  
เหตุผลอีกอย่างคืออังกฤษรู้จักระบบทหารรับจ้างมานานแล้ว   เมื่อยึดอินเดียได้ก็ไม่ปล่อยชาวบ้านเอาไว้เฉยๆ  จับมาฝึกอาวุธ สร้างวินัย แต่งเครื่องแบบโก้ รายได้ดี    แล้วส่งพวกนี้เป็นกองทหารไปรบกับชาวพื้นเมือง  แทนที่ตัวเองจะต้องเสี่ยงตายโดยตรง    เปลืองเงินไม่เท่าไหร่แต่สงวนชีวิตทหารอังกฤษไว้ได้   คุ้มกว่าเยอะค่ะ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 447  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 20:26

ฝรั่งเก่งที่ใช้แขกเป็น แขกเก่งที่ใช้ช้างเป็น


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
NAVARAT.C
หนุมาน
********
ตอบ: 11307


ความคิดเห็นที่ 448  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 20:44

พม่าก็เก่งที่ใช้ภูมิประเทศให้เป็นประโยชน์เป็น แต่อาวุธมันโบราณ ล้าสมัยมากไปหน่อยเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าพวกพม่าที่เข้าสู้รบไม่ใช่ชาวบ้านที่เอาหอกเอาดาบไปสู้กับทหารแขกทหารฝรั่งอย่างที่อาจารย์มินิมิ้นต์ว่าหรอก น่าจะเป็นฝ่ายสนับสนุนด้านเสบียงอาหารมากกว่า ผู้ที่เข้าสู้รบตัวจริงคือทหารพม่าที่ไม่ยอมวางอาวุธนั่นแล้ว
 
พม่าดาค้อยท์พวกนี้ ถ้ามีการจัดตั้งดีๆ มีมหาอำนาจส่งอาวุธให้สักหน่อย อาจดังพอๆกับคนญวนที่ใช้อาวุธโซเวียตขับไล่ฝรั่งเศสและอเมริกันกลับบ้านได้


บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 449  เมื่อ 24 ม.ค. 13, 21:24

ฮิฮิ โดนตีแล้วแต่ยังไม่เข็ดหลาบ ครูบาอาจารย์อิดหน้าระอาใจไปตามกัน แต่ยังดื้อครับยังดื้อ


ที่ท่านอาจารย์เพ็ญชมพูว่ามาว่าชาวพม่าสู้เพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์   ตามประวัติศาสตร์ฉบับคุณป้านินิเมียนต์ ผมเห็นว่าเป็นการเขียนประวัติศาสตร์โดยนักประวัติศาสตร์ในยุคหลังและเป็นการเขียนแบบมุ่งเน้นเรื่องชาตินิยม  คล้ายๆ กับตำราประวัติศาสตร์ที่ตาม ร.ร. ประเทศต่างๆ ใช้ในการสอนเพื่อเพิ่มความภาคภูมิใจในชาติของตน มุ่งเน้นความเป็นชาตินิยม และออกไปในแนวทางปลุกใจและกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกผู้อ่านไม่น้อย  ดังนั้นจึงขอแย้งป้านินิเมียนต์หน่อย  เพราะแกดูจะเอาแนวคิดแบบอุดมคติของคนยุคปัจจุบันไปยัดเยียดให้ชาวพม่าตอนนั้นมากไปหน่อย ซึ่งมันอาจจะถูกของแกก็ได้ แต่ผมยังมีข้อแย้งดังนี้ครับ



ในเรื่องชาติผมไม่แน่ใจนักว่าสำนึกความคิดว่านี่ชาติของเรา ต้องปกครองโดยเราเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วอย่างแรงกล้าในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนพม่าในสมัยนั้น หรือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างกันขึ้นมาในยุคหลังประมาณเมื่อซักร้อยปีมานี่เอง  ผมไม่ทราบว่าความรู้สึกแบ่งแยกแตกต่างกันระหว่างความเป็นชาติหรือชนเผ่าในความรู้สึกนึกคิดของคนพม่าสมัยนั้นเป็นเช่นไร  และคำว่าชาติในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนสมัยนั้น น่าจะต่างกับสมัยนี้   ปัจจุบันที่ชนกลุ่มต่างๆ ในพม่าทั้งพม่า มอญ กะเหรี่ยง ไท ว้า ฯลฯ ไม่ลงรอยกัน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่อังกฤษกระตุ้นความต่างขึ้นมา  แต่ก่อนหน้าก็เหมือนมันไม่มีเอกภาพอยู่ก่อนแล้ว ในประเทศพม่าบางช่วงพม่าใหญ่ บางช่วงมอญมีอำนาจ  ดังนั้นคำว่าชาติของคุณป้านินิเมียนต์นี่ผมเลยยังไม่เชื่อแกนัก การต่อสู้ของผู้ต่อต้าน อาจจะไม่ใช่การสู้เพื่อชาติในความหมายแบบคนสมัยนี้


ส่วนต่อมาคือคำว่าศาสนา  อ่านจากกระทู้นี้ก็รู้สึกได้ว่าอังกฤษก็ไม่ได้เหยียบย่ำศาสนาพุทธเท่าไหร่   ถ้ายุ่งเกี่ยวก็เห็นจะเป็นเพราะพระสงฆ์ไปเป็นแกนนำต่อต้านอังกฤษมากกว่า  จริงๆ ถ้าดูเรื่องการรุกรานได้อาณานิคมต่างๆ ประเด็นการล้มล้างศาสนาเก่าอวยแต่ศาสนาคริสต์ดูเหมือนจะไม่ใช่ประเด็นหลักเลย   เพราะเสรีภาพในการนับถือศาสนายังคงอยู่  ทหารอาบังก็ยังเป็นซิกข์โพกหัว  กุรข่ายังคงเป็นฮินดู  อังกฤษไม่ได้ยัดเยียดบังคับเรื่องศาสนา  แม้จะมีการเผยแพร่ศาสนาก็จะผ่านทางมิชชันนารี แต่ไม่ได้ส่งเสริมด้วยกองทัพ   ดังนั้นจะบอกว่าชาวพม่าสู้เพื่อศาสนา ผมก็ยังไม่เห็นด้วยเท่าไหร่อีก  รู้สึกแต่ว่าประเด็นศาสนาเป็นเรื่องที่แกนนำฝ่ายต่อต้านที่เป็นพระหยิบยกมาเพื่อใช้ในการสร้างความรู้สึกและรวบรวมกำลังมากกว่า  เพราะเมื่อใดที่ดึงศาสนาเข้ามาเป็นสาเหตุในการทำสงครามแล้ว เรื่องไม่ชอบธรรมกลายเป็นชอบธรรมขึ้นมาทันที ภาพการต่อสู้เพื่อปกป้องพระพุทธศาสนาแบบคุณป้าเลยไม่ชัดนักสำหรับผมอีก


สุดท้ายสู้เพื่อพระมหากษัตริย์   ถ้าบอกว่าระบบกษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการเมือง  ต้องมองต่อว่าจริงๆ แล้วพลเมืองพม่า หม่องทิน หม่องอู ที่ไม่ได้เป็นขุนนางก็คงไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆ  หรือเรียกร้องสิทธิใดๆ ทางการเมืองได้อยู่แล้ว อำนาจทางการเมืองที่แท้จริงอยู่ในแวดวงชนชั้นสูงกลุ่มเดียว  พลเมืองมีหน้าที่ถูกเกณฑ์แรงงานเป็นข้าเท่านั้น  เขาให้ทำอะไรก็ทำ การศึกษาก็น้อยกว่า ทำให้มุมมอง  ความสนใจจะมีส่วนร่วมทางการเมือง และทัศนคติ ตลอดจนแนวคิดเรื่องชาตินิยมน่าจะน้อยกว่าคนสมัยนี้  คนที่มีกรอบความคิดที่แปลกๆ แบบผมคงไม่ค่อยมีนัก หรือถึงมีก็คงโดนกำจัดไปหมดแล้ว  


ถ้าเอาพระมหากษัตริย์ไทยในยุคเดียวกันมาบอกว่ากษัตริย์คือศูนย์รวมใจของคนทั้งชาติอันนั้นคงไม่มีข้อโต้แย้ง  แต่สำหรับพม่าดูเหมือนระยะห่างระหว่างสถาบันกษัตริย์และพลเมืองทั่วไปดูจะห่างไกลกันยิ่งนัก  ยิ่งไอ้ธรรมเนียมพอขึ้นครองราชย์ก็ต้องสร้างเมืองใหม่ วังใหม่ ยิ่งดูจะเป็นการเบียดบังราษฏรมาก  สยามเลิกเอาคนไปลงหลุมเอาเสาทับมาก่อนหน้าไม่รู้กี่ร้อยปีแล้ว  พม่ายังทำอยู่เลย  นี่ก็เห็นความแตกต่างระหว่างสถาบันนี้ของทั้งสองชาติแล้ว    


เมื่อกษัตริย์พม่าใช้แต่พระเดชแบบนี้  ที่ยังดำรงอำนาจอยู่ได้น่าจะด้วยความกลัวมากกว่าความรัก  เพียงแต่ที่ยังไม่ล้มเพราะในประเทศตัวเองยังไม่มีใครมีศักยภาพพอจะล้มได้ หรือมีระบบการคานอำนาจกันที่ยังอยู่ในสมดุลที่ดี  แต่เจออังกฤษที่ศักยภาพเหนือกว่าเข้า สมดุลเก่าใช้ไม่ได้  ระบบที่ล้มเหลวรอวันสลายก็ล่มลงอย่างง่ายดาย    เห็นได้จากวันที่นั่งเกวียนไปลงเรือไม่มีใครโศรกเศร้าอาลัยเท่าไหร่   ชาวบ้านที่ไปมุงดูกันคงด้วยความอยากรู้อยากเห็นมากกว่า     ดังนั้นกษัตริย์อย่างพระเจ้าสีป่อจึงไม่น่าจะมีสถานะเป็นศูนย์รวมจิตใจมากเท่าระบบกษัตริย์เมืองไทย  แต่ยังมีสถานะในการนำมาใช้อ้างความชอบธรรมในการต่อสู้ได้   ดังนั้นจึงยังคงเป็นภัยต่อการปกครองของอังกฤษทำให้อังกฤษไม่ยอมให้พระเจ้าสีป่อกลับพม่าได้   แต่ถ้าจะบอกว่าคนพม่าสู้เพื่อกษัตริย์ของตัว ผมยังไม่สามารถปักใจเชื่อได้


ทั้งนี้ไม่ได้บอกว่าอังกฤษดีนะครับ   เพียงแต่ผมเห็นว่าผู้ปกครองพม่าในสมัยนั้นก็ไม่ได้ดีกว่าอังกฤษ สุดท้ายทำให้ต้องสิ้นชาติสิ้นแผ่นดินไป แต่ผลกระทบส่วนใหญ่ในแง่ไม่ดีจากการเปลี่ยนแปลงผู้ปกครองน่าจะตกอยู่กับคนชั้นนำเดิมมากกว่าชาวบ้านร้านตลาดทั่วๆ ไปมาก   และองค์ประกอบเรื่องราวต่างๆ มันมีความซับซ้อนมากกว่าที่จะตัดสินจากมุมมองของคนปัจจุบันล้วนๆ  
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: 1 ... 28 29 [30] 31 32 ... 34
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.09 วินาที กับ 19 คำสั่ง