เรื่องที่ในแถบนี้นับวันเริ่มต้นปีใหม่ในวันสงกรานต์เป็นเรื่องน่าสนใจนะครับ ทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าถือคติทางไหนครับ ทางพราหม์หรือพุทธฯหรืออื่นๆ
คุณสุจิตต์ วงษ์เทศได้ให้คำตอบเรื่องนี้ไว้ในหนังสือพิมพ์มติชนฉบับวันจันทร์ที่ ๙, วันอังคารที่ ๑๐ และวันพุธที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ดังนี้
สาดน้ำสงกรานต์ “ประเพณีร่วม” ของอาเซียนรดน้ำ, สาดน้ำ น่าจะเป็นประเพณีในศาสนาผีของชุมชนอุษาคเนย์มาแต่ดึกดำบรรพ์ แม้ไม่พบหลักฐานโดยตรง แต่ร่องรอยทางประเพณีพิธีกรรมก็เชื่อมโยงได้อย่างนั้น
ในพิธีเลี้ยงผีของชุมชนดั้งเดิมทั้งสุวรรณภูมิและอุษาคเนย์ ใช้น้ำทำความสะอาดเรือนและเครื่องมือทำมาหากินด้วยวิธีรด, ล้าง, สาด แล้วยังใช้อาบให้บรรพชนที่ตายไปแล้ว แต่มีกระดูกหรืออัฐิเหลือไว้บูชาเซ่นไหว้ตามประเพณีอุษาคเนย์ รวมทั้งอาบให้บรรพชนที่ยังมีชีวิตอยู่ เช่น ปู่ย่าตายาย ฯลฯ
เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็สาดน้ำขึ้นหลังคาเรือน ตลอดจนต้นไม้ใบหญ้าที่อยู่โดยรอบ เป็นสัญลักษณ์ของการชำระล้างขับไล่สิ่งไม่ดีให้หมดสิ้นไป ยังมีเหลืออยู่ในประเพณีของเผ่าพันธุ์ต่าง ๆ แล้วเคยมีอยู่ในราชสำนักของบ้านเมืองในหุบเขาทางล้านนาและล้านช้าง
น้ำในพิธีกรรมยังมีสืบเนื่องไม่ขาดสาย
ต่อมาเมื่อสงกรานต์จากอินเดียแพร่ถึงอุษาคเนย์ คนพื้นเมืองก็ผนวกพิธีเลี้ยงผีให้เข้ากับสงกรานต์ แล้วกลายเป็นเล่นสาดน้ำสงกรานต์
สงกรานต์ ขึ้นปีใหม่ดั้งเดิมของบ้านเมืองบริเวณสุวรรณภูมิ เช่น พม่า, ลาว, กัมพูชา, ไทย, รวมถึงสิบสองพันนาในยูนนานของจีน
ทุกแห่งต่างอ้างว่าสงกรานต์เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของตนทั้งนั้น ทั้ง ๆ แท้จริงแล้วต่างรับสงกรานต์ของศาสนาพราหมณ์จากอินเดีย ล้วนไม่ใช่ประเพณีดั้งเดิมของตน
สงกรานต์เป็นช่วงฤดูร้อนที่น้ำแล้ง คนจึงชอบเล่นรดน้ำ, สาดน้ำ โดยไม่จำกัดวัย, เพศ, และชาติพันธุ์
ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะที่อยู่บริเวณแผ่นดินใหญ่ ควรพิจารณาร่วมกัน ให้รดน้ำ, สาดน้ำ เป็นประเพณีร่วมของอาเซียน ไม่เป็นของชาติใดชาติหนึ่ง แล้วจัดงานฉลองร่วมกันทั้งอาเซียน
โดยแต่ละชาติจะสร้างสรรค์รดน้ำ, สาดน้ำ ให้มีลักษณะเฉพาะของตัวเองก็ได้ แล้วดีด้วย จะได้มีความหลากหลายให้คนเลือกเล่น
