ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
In His Shoes เอาใจเขามาใส่ใจเรา
ชายวัยกลางคนผู้ซึ่งพิกลพิการอย่างเห็นได้ชัดผู้หนึ่งค่อย ๆ ก้าวอย่างทุลักทุเลขึ้นมาบนรถประจำทางสายที่สาวไทยกำลังโดยสารอยู่ ด้วยเหตุที่แขนขาทั้งสองข้างเขานั้นลีบเล็กไม่มีเรี่ยวแรง ชายคนนั้นจึงใช้เวลานานกว่าผู้โดยสารคนอื่น ๆ ในอันที่จะก้าวข้ามบันไดแต่ละขั้น ทำให้ทั้งกระเป๋ารถและผู้โดยสารที่อยู่ข้างหลังเขาอีก 2-3 คนต้องช่วยกันแบกเขาขึ้นมาบนรถ พร้อม ๆ กับพาเขาไปส่งยังที่นั่งที่ว่างอยู่ด้วย พี่คนขับเองก็ใจดีเหลือเกิน แทนที่จะออกรถไปในขณะที่ชายพิการผู้นั้นยังตะเกียกตะกายไปไม่ถึงที่นั่งของเขา ก็รอให้ชายคนดังกล่าวนั่งให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อนแล้วค่อยเคลื่อนรถออก ทำให้สาวไทยนึกขอบคุณเขาอยู่ในใจที่เห็นความปลอดภัยของผู้โดยสารสำคัญกว่าการเร่งให้ถึงจุดหมายปลายทางเหมือนที่คนขับรถขสมก. หลายต่อหลายคนชอบทำ
ขณะที่กำลังปลื้มอกปลื้มใจกับประสบการณ์ดี ๆ ที่ได้พบเห็นอยู่นั้นเอง เสียงถอนหายใจของคุณเจ๊ที่นั่งอยู่แถวหลังสาวไทยไปหนึ่งแถวก็ลอยมาให้ได้ยิน ก่อนที่คุณเจ๊จะบ่นออกมาดัง ๆ อย่างไม่เกรงใจใครว่า
“เมื่อไหร่จะออกรถเสียทีล่ะ เสียเวลาจัง”
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
ความคิดเห็นที่ 1 เมื่อ 25 ธ.ค. 12, 08:36
|
|
สาวไทยหันไปมองหน้าคุณเจ๊อย่างนึกตำหนิ เพราะเธอมีแขนขาดีครบทั้งสองข้าง คุณเจ๊เลยไม่เข้าใจว่าความยากลำบากของคนพิการในอันที่จะดำเนินชีวิตประจำวันของเขาโดยปกติเช่นคนทั่วๆ ไปที่เกิดมาครบ 32 น่ะเป็นยังไง คุณเจ๊เลยหงุดหงิดที่คนพิการคนหนึ่งทำให้เธอต้องเสียเวลารอ อดรนทนไม่ไหว สาวไทยเลยหันไปส่งเสียงเข้มใส่คุณเจ๊ว่า
“พี่เสียเวลาแค่นี้ยังรู้สึกว่าชีวิตมีอะไรให้ต้องบ่น แล้วพี่คิดว่าพี่ผู้ชายคนนั้นน่ะเขาจะรู้สึกยังไงบ้างคะที่เขาพิกลพิการจนทำอะไรเองไม่ได้เต็มที่ พี่คิดว่าเขาตั้งใจจะทำให้พี่เสียเวลาเหรอ ถ้าเขาเลือกได้เขาก็คงไม่เลือกเกิดมาเป็นคนพิการหรอกค่ะ ลองมองอะไรจากมุมมองของเขาบ้างเถอะ”
ได้ผลค่ะ คุณเจ๊เงียบไปทันที
“To be in someone’s shoes” คือสำนวนที่ฝรั่งชอบใช้เวลาจะบอกให้ใครพยายามทำความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่ผู้อื่นต้องเผชิญ จะได้ไม่ “ตัดสิน” คนอื่นอย่างง่ายดายจนเกินไปนัก ถ้าเหตุการณ์ที่เอ่ยถึงไปแล้วข้างต้นเกิดขึ้น ณ ที่ใดที่หนึ่งในอเมริกา ประโยคที่สาวไทยใช้เตือนสติเพื่อนร่วมรถโดยสารประจำทางก็คงจะรวมวลีที่ว่า “Put yourself in his shoes” เข้าไว้ด้วย เพราะรองเท้าของเราแต่ละคนต่างก็มีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน การเอาเท้าของเราไปใส่ในรองเท้าของผู้อื่นจึงเปรียบได้กับการ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” อย่างที่เรามักจะพูดกันในสำนวนไทยนั่นเอง
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
ความคิดเห็นที่ 2 เมื่อ 25 ธ.ค. 12, 08:37
|
|
เมื่อไหร่ก็ตามที่คนใกล้ตัวของสาวไทยต้องการให้ภรรยาของเขามองอะไรจากมุมมองของผู้อื่น เขาก็มักจะพูดเสมอ ๆ ว่า “Try walking a mile in his shoes, and you’ll know what it’s like to be him.” ลองใส่รองเท้าของคนอื่นเดินสักไมล์หนึ่ง แล้วคุณจะเข้าใจว่าเขารู้สึกอย่างไรที่เป็นเขา ไม่ได้หมายความว่าให้ไปหยิบรองเท้าใครมาใส่จริง ๆ แต่ให้ลองหลับตานึกภาพตัวเองในสถานการณ์ที่คนอื่นต้องเผชิญอยู่ในแต่ละวัน แล้วถามตัวเองว่า “ถ้าเป็นเรา เราจะรู้สึกอย่างไร”
ตัวอย่าง (ที่ไม่ค่อยดี) อีกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการไม่รู้จัก “put yourself in someone’s shoes” นี้ เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตอนที่สาวไทยป่วยจนลากสังขารไปทำงานไม่ไหว ด้วยความที่เป็นห่วงงาน สาวไทยจึงรีบส่ง SMS ไปบอกเพื่อนร่วมงานชาวต่างชาติคนที่สาวไทยคาดว่าจะต้องถูกเจ้านายขอให้ปฏิบัติหน้าที่แทนตัวเองแน่ ๆ เพื่อให้เขาได้รู้ล่วงหน้าและมีเวลาเตรียมตัว ปรากฎว่าเพื่อนต่างชาติหงุดหงิดมากที่ได้รับ SMS จากสาวไทยตอนที่เขาจวนเจียนจะออกจากบ้านไปทำธุระส่วนตัวอยู่แล้ว เลยตอบกลับมาว่า “ไม่เป็นไร แต่คราวหน้าช่วยบอกล่วงหน้านานกว่านี้หน่อยก็แล้วกันนะ” ถ้าเพื่อนร่วมงานผู้นี้รู้จักมองอะไรจากมุมมองของผู้อื่นบ้าง เขาก็อาจจะเข้าใจได้โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาสอนว่า การบอกคนอื่นล่วงหน้าว่าตัวเองจะป่วยนั้นมันทำกันไม่ได้ง่าย ๆ เพราะบางทีความเจ็บไข้ได้ป่วยมันก็วิ่งเข้ามาหาเราโดยที่ไม่มีสัญญาณเตือน คิดได้ดังนั้นสาวไทยก็เลยส่ง SMS ตอบกลับไปอย่างสุภาพว่า “I’m sorry my sickness inconvenienced you.” แหม...ดิชั้นต้องขอโทษด้วยนะคะที่สะแหล็นมาป่วยเอาวันนี้ ทำให้ชีวิตของคุณต้องลำบากโดยใช่เหตุ (จริง ๆ ที่นึกอยู่ในใจตอนนั้นแต่พูดออกไปไม่ได้ก็คือ “ไอ้เวร ตูจะรู้ได้ยังไงล่ะตูจะป่วยวันไหน แล้วระหว่างคนที่ต้องนอนซมเพราะพิษไข้อยู่บนเตียงกับคนที่ต้องทำงานแทนคนอื่นแค่ไม่กี่ชั่วโมงน่ะ ใครมันจะแย่กว่ากันฟะ ลองมาเป็นตูดูบ้างมั้ยล่ะ”)
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
ปัญจมา
อสุรผัด

ตอบ: 100
|
ความคิดเห็นที่ 3 เมื่อ 25 ธ.ค. 12, 08:39
|
|
ตัวอย่างของการ “Put yourself in someone’s shoes” ที่ดีที่สุดที่สาวไทยเคยเห็น ก็คือวันที่คุณพ่อของเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตไปในเหตุการณ์สังหารหมู่ที่โรงเรียนประถมแซนดี้ฮุคในรัฐคอนเน็คติกัต ออกมาบอกสมาชิกในสังคมคนอื่น ๆ ที่กำลังช็อคอย่างรุนแรงว่า “ขอให้เห็นใจครอบครัวของเด็กหนุ่มที่เป็นมือปืนด้วย เพราะพวกเขาเองก็ต้องเผชิญกับการสูญเสียเช่นเดียวกับเราเหมือนกัน” แม้ในขณะที่ตัวเองกำลังโศกเศร้าจากการสูญเสียเลือดเนื้อเชื้อไขไปอย่างไม่มีวันกลับ คุณพ่อคนนี้ก็ยังมีแก่ใจที่จะมองเหตุการณ์อันโหดร้ายจากมุมมองของผู้อื่น และถามตัวเองว่ามันจะเจ็บปวดสักแค่ไหนเวลาถ้าสมาชิกคนใดคนหนึ่งในครอบครัวของเราเองกลายเป็นฆาตกรสังหารเด็กนักเรียนตัวเล็ก ๆ อย่างเหี้ยมโหดเช่นนั้น ที่สำคัญ ครอบครัวของมือปืนเองก็ต้องสูญเสียสมาชิกไปสองคนจากเหตุการณ์นี้ คือตัวมือปืนเอง และแม่ของเขาซึ่งเป็นเหยื่อรายแรก (น่าเสียดายจริง ๆ ที่ลูกสาวของคุณพ่อต้องลาโลกไปก่อนวัยอันควร เพราะเมื่อได้ยินคุณพ่อของหนูพูดประโยคนี้แล้วสาวไทยก็เดาได้เลยว่า สมัยหนูยังมีชีวิตอยู่ คุณพ่อคงต้องอบรมสั่งสอนให้หนูเป็นคนดีและมีความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะคุณพ่อเองก็เป็นเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน ดังนั้นถ้าหนูมีชีวิตอยู่ต่อไป โตขึ้นหนูก็คงจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ดีคนหนึ่งของสังคมแน่ๆ ไม่เหมือนผู้ใหญ่บางคนในประเทศสารขัณฑ์ที่คิดถึงแต่ตัวเองเป็นที่ตั้ง)
การ “put yourself in someone’s shoes” นี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนบางคน เพราะมันบังคับให้เราคำนึงถึงความยากลำบากในชีวิตของผู้อื่นก่อนที่จะให้ความสำคัญกับความรู้สึกของเราเองในยามที่สถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวัง แต่ถ้าเราฝึกตัวเองให้ทำแบบนี้ได้บ่อย ๆ เราก็จะกลายเป็นคนที่มีเมตตาต่อผู้อื่นมากขึ้นโดยอัตโนมัติ น่าจะเป็นของขวัญปีใหม่ที่ดีที่สุดที่เราจะให้แก่เพื่อนร่วมโลกเดียวกันได้ และอาจจะเป็นของขวัญที่มีคุณค่ามากที่สุดที่เราไม่ต้องใช้เงินซื้อแม้แต่บาทเดียวด้วยซ้ำไป
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
    
ตอบ: 33421
ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม
|
ความคิดเห็นที่ 4 เมื่อ 25 ธ.ค. 12, 20:32
|
|
มีหนังเก่าปี 1968 เรื่องหนึ่งที่เอามาฉายทางทีวี ไม่นานมานี้ ชื่อ The Shoes of the Fisherman เป็นหนังดังที่แอนโธนี ควินน์เล่นเป็นพระคาร์ดินัลรัสเซียคนแรกที่ได้ขึ้นถึงตำแหน่ง Pope หรือสันตปาปา คำบรรยายของหนัง เรียกสันตปาปาว่า The man who walks in the shoes of the Fisherman. ชายผู้เดินด้วยรองเท้าของชาวประมง ชาวประมงในที่นี้ หมายถึงเซนต์ปีเตอร์ อัครสาวก ผู้มีอาชีพเป็นชาวประมงมาก่อนที่พระเยซูคริสต์จะตั้งเป็นสันตปาปาองค์แรกของคริสตศาสนา สันตปาปาองค์ต่อๆมาจึงได้ชื่อว่า walks in the shoes of the Fisherman หรือเจริญรอยตามสันตปาปาองค์แรก
|
|
|
บันทึกการเข้า
|
|
|
|
|