เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 13
  พิมพ์  
อ่าน: 83444 เก็บตกจากโต๊ะอาหาร
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 105  เมื่อ 11 ม.ค. 13, 20:42

จะของ้างคาเรื่องเกี่ยวกับภาพการวางอุปกรณ์การกินบนโต๊ะอาหารแบบฝรั่งในภาพที่อยู่ต้นๆกระทู้ก่อนนะครับ

ไปเรื่องของแบบจีนก่อน ใกล้ตัวหน่อยและพบบ่อยมากกว่า ดีใหมครับ

ผมเคยมีประสบการณ์การกินแบบทางการของจีนครั้งหนึ่ง แบบการเลี้ยงตอบแทนครั้งหนึ่ง และแบบสังคมอีกครั้งหนึ่ง ที่น่าจะเก็บตกเล่าสู่กันฟัง

โต๊ะจีนแบบรัฐบาลเลี้ยงรับรองที่มหาศาลาประชาคม  ซึ่งคงมีหลายท่านคงได้มีประสบการณ์เช่นกัน

เป็นการเลี้ยงรับรองสำหรับผู้เข้าร่วมประชุม ESCAP ที่มาจากนานาชาติ 

ขอต่อวันพรุ่งนี้ครับ



 

บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 106  เมื่อ 11 ม.ค. 13, 22:29

อันนี้พอจะเข้ามาร่วมสนทนากับเขาได้บ้างแล้ว
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 107  เมื่อ 13 ม.ค. 13, 18:40

^
ด้วยความยินดีมากๆครับ

การจัดเลี้ยงโต็ะจีนที่มหาศาลาสมาคมครั้งนั้น คิดน่าจะจำนวนประมาณ 100+ โต๊ะ

โดยพื้นฐานก็มีการจัดโต๊ะแบบโตีะจีนทั่วๆไป มีออร์เดิฟเย็นจานรวมวางอยู่ตรงกลางโต๊ะ (จำไม่ได้ว่ามีอะไรบ้าง) มีตะเกียบวาง มีถ้วยพร้อมช้อนกระเบื้องวางอยู่บนจานใบเล็ก มีผ้าเช็ดมือเช็ดปากอุ่นๆผืนเล็กวางในจานด้านซ้ายมือ มีถ้วย (จอกเเหล้าใบเล็ก) วางอยู่ด้านบนขวามือ มีเหล้าเหมาไถเป็นขวดวางอยู่กลางโต๊ะ พอเข้านั่งกันครบแล้ว จะมีพนักงานชายแบกถาดน้ำมาเสิร์ฟ สังเกตว่าเดินออกมาจากประตูห้องด้านหนึ่ง ออกมาจากทุกประตูซึ่งจะมีอยู่ตลอดแถวโต๊ะอาหาร โดยจะเดินผ่านช่องระหว่างโต๊ะเป็นเส้นตรงไปยังอีกฟากหนึ่งของห้อง ไม่ได้สังเกตมากนัักว่าแล้วหายไปใหน ไ่ม่เห็นเดินย้อนกลับมา คนแรกถาดแรกจะเดินมุ่งไปเสิร์ฟสุดท้าย คนต่อๆมาก็จะเสิร์ฟตามโต๊ะลดหลั่นกันลงมา ต้องใช้พนักงานมากจริงครับในการเสิร์ฟแบบนี้ ทำให้ทุกโต๊ะได้รับบริการแทบจะพร้อมๆกัน บนถาดน้ำก็มีทั้งเหล้า เบียร์ น้ำหวาน และน้ำเปล่าตามปรกติ เสิร์ฟครั้งเดียวเท่านั้นแหละครับ พักเดียวก็เริ่มพิธีการ มีการกล่าวต้อนรับและกล่าวตอบ แขกในโต๊ะทั้งหลายก็รู้หน้าที่ว่า ต้องรินเหล้าเหมาไถใส่จอกเตียมพร้อมไว้ บางโต๊ะก็ไม่ทราบประเพณี ก็ไม่รินเตรียมไว้ กล่าวเสร็จก็ชวนดื่ม แรกเริ่มหลังการกล่าวต้อนรับแล้วก็หลังการกล่าวตอบ ก็สองจอกเข้าไปแล้ว คนที่พอรู้ธรรมเนียมก็จะหยิบตะเกียบจัดการกับออร์เดิฟหลังดื่มอึกแรกจากน้ำทั้งหลายที่นำมาเสิร์ฟ เพื่อไม่ให้ท้องว่าง กันเมา 

พอจบคำกล่างตอบรับเท่่านั้นเอง อาหารก็พรั่งพรูออกมาวางอย่างแทบจะต่อเนื่อง แทบจะไม่มีการเว้นวรรคจนถึงขนมหวาน ไม่รู้อะไรต่อมิอะไรบ้าง มากมายจนต้องวางซ้อนสลับจานกัน กินไม่ทันกัน มีทั้งประเภทหั่นมาเป็นชิ้นๆแล้ว ของนึ่ง ของทอด ไก่ ปลา ผัก อาหารเส้น หม่านโถว และข้าวผัด ขนาดพยายามเอามาวางด้านหน้าและข้างตัวกันแล้วก็ตาม  ในระหว่างการกินช่วงต้นๆ ก็จะมีการกล่าวและดื่มกันอีกประมาณสองครั้ง ระยะเวลาการกินนั้น จำได้ว่าไม่นาน คิดว่าประมาณชั่วโมงครึ่งเท่านั้นเอง  หากจะถามว่าอิ่มใหม ผมว่าก็พออิ่มพอตึงท้อง อร่อยใหม อันนี้ตอบยากเพราะมันแทบจะหมุนโต๊ะไม่ได้ แต่ละคนส่วนมากก็จะได้กินเฉพาะอาหารที่บริเวณด้านหน้าของตน จึงอาจจะมีที่อร่อยและที่ไม่อร่อยคละกันอยู่ ขึ้นอยู่กับจะอยู่ด้านใหนของจานอาหารที่วาง
บันทึกการเข้า
han_bing
นิลพัท
*******
ตอบ: 1622



ความคิดเห็นที่ 108  เมื่อ 13 ม.ค. 13, 21:53

ธรรมเนียมการจัดเลี้ยงของจีนไม่เหมือนของที่ไหน ในแง่จำนวนอาหาร เพราะเขาถือว่ายิ่งเยอะยิ่งดี กินกันไม่ทันไม่เป็นไร แต่โดยปรกติ เขาจะนับจำนวนคนบนโต๊ะอาหารแล้วบวกอีก ๑ เป็นจำนวนอาหารที่นำมารับประทาน

ออเดิฟเย็น ภาษาจีนเรียกว่า "เหลิ่ง ผาน" (冷盘:leng pan) เป็นอาหารเรียนน้ำย่อย แปลตรงๆตัวคีออาหารจานเย็น

ปรกติแล้วผู้มีเกียรติสูงสุดในโต๊ะมักจะนั่งในจุดที่ตรงข้ามกับประตู อาวุโสน้อยสุดนั่งตรงข้ามกัน

เรื่องอื่นเป็นอย่างไรเดี่ยวเล่าต่อ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 109  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 18:18

โตีะจีนแบบที่ทางรัฐบาลจัดเลี้ยงรับแขกที่เป็นคณะใหญ่ๆก็เป็นอย่างที่เล่ามา ซึ่งผมเห็นว่ามัันเป็นการจัดเลี้ยงแบบให้ครบตามพิธีการ มากกว่าที่จะเป็นแบบเลี้ยงรับในลักษณะการให้ความสำคัญกับแขก  การจัดเี้ลี้ยงสำหรับหมู่คนเป็นคณะใหญ่ที่มาร่วมประชุมนี้ เป็นลักษณะของการเชิญแขกทุกคนที่มาประชุม ไม่คำนึงถึงสถานภาพของตำแหน่งและยศ การจัดจึงคงต้องเป็นตามภาพที่เล่ามาเหมือนๆกับที่ทุกประเทศเขาทำกัน

ขอต่อไปเรื่องของการเลี้ยงตอบแทนในอีกภาพหนึ่ง ซึ่งจะมีสาระที่คุณ han_bing จะเข้ามาช่วยขยายความได้อีกมาก

งานนี้ ผมเป็นแขกรับเชิญเพียงคนเดียว เลี้ยงในไทยที่ภัตตาคารพูลสินเป็นย่างนี่เอง  เจ้าของงานเป็นรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรณีวิทยาของจีน กับคณะที่เดินทางมาดูงานอีก 5 หรือ 6 คน (จำได้ไม่แม่นแล้วครับ) ซึ่งประกอบไปด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญ Professor และล่าม  ผมได้รับมอบหมายให้เป็น liaison officer จากกรมฯ และต้องเป็นผู้พาไปดูสภาพทางธรณีวิทยาในสนาม เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของผมและอยู่สาขาวิชาที่ผมค่อนข้างจะสันทัด  เหตุที่เขาจัดเลี้ยงที่ภัตตาคารนี้ก็เพราะคณะพักอยู่ที่โรงแรมไทยโฮเต็ล (ชื้่อสมัยก่อน) และซึ่งผมได้ให้ความเห็นและแนะนำถึงสถานที่กินในย่านนั้น  คนจีนก็ชอบอาหารประเภททำจากเป็ดอยู่แล้ว    ก็คงจะพอใจในการทำงานของผมมั๊งเลยขอเลี้งตอบแทนเป็นพิเศษ  เลยทำให้ผมได้รู้ธรรมเนียมบางอย่างเพิ่มมา

หลายปีนานมากมาแล้ว ตั้งแต่ยุคแรกๆในความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน ด้วยนโยบายสร้างความรู้จักกันและความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันด้วยการแลกเหย้าแลกเยือน  ในสมัยนั้นจึงมีคณะต่างๆเดินทางเดินทางไปมากันมากมาย
 
ที่ผมทึ่งมากๆกับบุคคลต่างๆในคณะนี้ คือตลอดเวลาประมาณสัปดาห์ที่อยู่ด้วยกัน เขาให้ล่ามพูดภาษาไทยกับผม ขอให้ผมอธิบายเรื่องทางวิชาการต่างๆด้วยภาษาไทยแล้วเขาจะแปลเป็นจีนเอง  สอบถามได้ความแต่แรกว่า ล่ามนั้นเป็นคนในยูนาน เรียนภาษาไทยในมหาวิทยาลัย แถมยังเคยมาอยู่ในย่านเยาวราชอีกด้วย ภาษาไทยเรียกว่าแตกฉานเลย รู้ไปหมดแม้กระทั่งคำศัพท์ต่างๆที่เป็นภาษาเขียน ภาษาทางราชการ และภาษาพูด    ในโต๊ะอาหาร การสนทนาเปลี่ยนไปหมดจากที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ก็กลายเป็นการใช้ภาษาภาษาอังกฤษเป็นหลัก ได้ยินทั้งแบบอังกฤษอังกฤษและอเมริกันอังกฤษ  พูดชัดแบบไม่ใช่คนีนพูดอีกด้วย  ได้ความว่าผู้ใหญ่ทั้งหลายนั้นเรียนในมหาวิทยาลัยประเภท Top 10 ทั้งหมด แถมในระดับ Ph.D เสียด้วย  เขาบอกว่าเมื่อจีนเปลี่ยนไปก็กลับบ้านมารับใช้บ้านเกิดเมืองนอน  เมื่อจีนเปิดประเทศ จีนจึงก้าวไปข้างหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (และด้านอื่นๆ) ได้อย่างรวดเร็วมาก     ผมว่าภาษาของผมพอได้แล้วนะ อายไปเลยครับ       
 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 110  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 19:33

เอาละครับ เข้าเรื่องบนโต๊ะอาหาร
 
ด้วยฐานะทางตำแหน่งและสถานะทางสังคมของคณะบุคคลเหล่านี้  ผมคิดว่าเรื่องที่ผมได้เรียนรู้บนโต๊ะอาหารเพียงเล็กน้อยๆ น่าจะเป็นกติกามารยาทที่เป็น norm ของการเลี้ยงแขกโดยทั่วๆไปของคนจีน

ตะเกียบจีนจะวางหันทางปลายแหลมเข้าสู่กลางโต๊ะ ที่วางตะเกียบหากไม่มี ก็เพียงใช้ไม้จิ้มฟันวางแล้วเอาตะเกียบวางพาด เพื่อมิให้ด้านปลายที่คีบอาหารแตะพื้นโต๊ะ หรือจะวางบนจานก็ได้หรือถ้วยก็ได้  การดื่ม toast นั้น ไม่ต้องมีการชนแก้ว เพียงแต่ยกแก้วให้กันแล้วก้มหัวน้อยๆคารวะแก่กัน ไม่ต้องดื่มจนหมดแก้ว ไม่มีการคะยั้นคะยอให้ดื่มจนหมดแก้ว   ทีประสบมา เมื่ออาหารจานแรกยกมา ทุกคนก็จะหยิบตะเกียบพร้อมคีบ ผมไม่ทราบ ก็ยังไม่ทำอะไร เขาก็ขอให้ผมเริ่มก่อน ผมก็บอกว่าเริ่มเลย ไม่ต้องห่วง เขาก็ไม่ยอม จนได้รับคำอธิบายว่า แขกจะต้องเป็นคนแรกที่หยิบอาหารจากจานอาหารจานต่างๆ (ที่ทะยอยเสิร์ฟมา) พวกเขาจึงจะเริ่มหยิบได้  พอผมคีบออกมาเท่านั้นแหละครับ ทุกคนก็จ้วงกัน ไม่มีต้องรอใครก่อนใครหลังอีกต่อไป ด้วยความรวดเร็วอาหารในจานก็หมดไป รอจานต่อๆไป  ผมว่าผมเป็นคนกินเร็วเคี้ยวเร็วแล้วนะ ยังเหมือนกับเคี้ยวเอื้องอยู่เลย  ไม่จำเป็นต้องมีช้อนกลางและใช้ช้อนกลาง ใช้ตะเกียบคีบเลย คีบหมุนแยกออกมาเป็นชิ้นๆไป สภาพก็คือ แทบจะไม่มีจานอาหารวางเหลือวางอยู่เมื่อมีการเสิร์ฟจานใหม่มา
   
แม้จะใช้ตะเกียบคีบอาหารเข้าปาก แต่ก็ไม่ควรจะเอาเข้าปากในลักษณะยัดเข้าไปและดูดปลายตะเกียบ  ไม่มีการคีบอาหารส่งต่อกัน เพราะนั่นคือการคีบกระดูกคนตายส่งต่อกัน    ดูเหมือนว่าจีนจะไม่กินน้ำแกงโดยยกซดจากถ้วย แต่จะใช้ช้อนตักแทน    การจับตะเกียบก็ได้ความว่า จะมีการสังเกตตามความเชื่ออยู่เหมือนกัน คือ พวกที่จับใกล้โคนตะเกียบเป็นพวกที่มีพื้นฐานทางจิตใจเป็นผู้นำ ชอบที่จะเป็นหนึ่งในด้านต่างๆ
 
ที่สนุกและอาจจะเป็นเรื่องยาก คือ การกินปลา ที่จะต้องปลิ้นก้างออกมาแล้วคีบออกไปวางบนโต๊ะด้วยตะเกียบ  ปลาที่คนจีนถือว่าอร่อยนั้น จะเป็นปลาที่มีก้างแซมอยู่ในเนื้อมาก นัยว่าเนื้อนิ่ม หวาน มีรสชาติและอร่อย   เรามักจะกินปลาด้วยการคิดว่าต้องกินรูดเนื้อออกจากก้างให้หมด จีนกินปลาเหมือนการดูดเนื้อปลาออกไป การปลิ้นก้างจึงต่างกันไปจากที่เราคิด

ผมคิดว่าเนื้อส่วนที่อร่อยของคนจีนนั้น คือ เนื้อส่วนที่ติดกระดูกหรือก้าง การกินและแทะเนื้อที่ติดกระดูกด้วยตะเกียบโดยไม่ใช้มือช่วยจับนั้น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ยาก  ผมก็เลยคิดว่าอาหารจีนจึงต้องออกไปในลักษณะเคี่ยวหรือตุ๋นให้เปื่อย   ผมพาคณะนี้ไปกินอาหารเที่ยงที่นครสวรรค์ ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด  สิ่งที่เขาเห็นและชอบมาก สั่งกินกันสามสี่ชาม คือ เกาเหลาปีกและตีนเป็ด  จึงถึงบางอ้อว่าร้านอร่อยของคนจีนนั้นคือต้องเปื่อยจริงๆแต่ต้องไม่เละ

คุณ han_bing คงจะช่วยต่อเรื่องได้อีกมากครับ     
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 111  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 20:25

เล่าไม่ถูก  ไม่ถนัดเรื่องอาหารจีน  เพราะไม่เคยกินได้จนถึงจานสุดท้ายเลยสักครั้งค่ะ  อิ่มเสียก่อน    อาหารจีนเป็นมิตรดีกับน้ำหนัก  ถ้ากินได้ทุกจานน้ำหนักจะขึ้นทันตาเห็น
ขอแทรกด้วยรูปประกอบก็แล้วกันค่ะ  พวกนี้เป็นอาหารจีนที่จัดเลี้ยงโต๊ะจีนในไทย  ขึ้นชื่อที่สุดก็นครปฐม


บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 112  เมื่อ 14 ม.ค. 13, 20:32

ผมได้เล่าเรื่องไปด้วยว่า  ผ้าเย็นที่วางไว้บนโต๊ะแต่แรกนั้น   มีประโยชน์ที่คิดไม่ถึงเหมือนกัน   การยกจอกเหล้าดื่มอวยพรกันไปมาด้วยเหมาไถนั้น ไปได้ถึงเมาหนักเลยทีเดียว   ก็มีคนหาทางออกได้ คือ พอดื่มแล้วก็อมไว้ เอาผ้าเย็นนั้นมาปิดปาดทำนองว่าเช็ดปาก แท้จริงแล้วบ้วนเหล้าออกมาใส่ไว้ในผ้าเย็นนั้น ไม่ได้กลืนลงไปสักอึกเลย  กลายเป็นว่าเราก็เป็นคนคอแข็งนะ  ผ้านั้นชุ่มๆปด้วยเหล้า   ก็หัวเราะกันครืนไปครับ   อ้าว! ก็เมื่อดื่มเหล้าแรงๆแล้วจะทำอย่างไร ก็ต้องเช็ดปากมิใช่หรือ  ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 113  เมื่อ 15 ม.ค. 13, 19:38

ที่ฮ่องกง ก็ดูจะมีวิธีการอีกรูปแบบหนึ่ง 

วันหนึ่ง รุ่งเช้าของการแวะค้างคืนเพื่อปลี่ยนเครื่องต่อมายังเมืองไทย ผมก็ไปหาร้านอาหารประเภท Yum Cha กินตอนเช้า   พนักงานก็เอาจานใบเล็กมีถ้วยวางซ้อนอยู่ แล้วก็ตะเกียบ สักพักก็นำกาน้ำชามาวางให้   Dim Sum ก็เริ่มมาเสริฟ   ผมนั่งพิจารณาอยูพักหนึ่งว่าจะต้องทำอย่างไร

ที่เคยชินจากในเมืองไทยว่า บนโต๊ะจีนนั้นจะมีถ้วยสำหรับตักแบ่งอาหารประเภทน้ำ  ครั้งนี้เห็นแต่ถ้วยกับจาน มีกาน้ำชาร้อนๆ ไม่เห็นมีถ้วยชาเลย ก็นั่งรออยู่  โชคดีที่ในช่วงเวลาที่ผมกำลังเข้านั่งที่ ก็มีอีกคนหนึ่งมานั่งโต๊ะข้างๆพอดี  เลยชำเลืองดูว่าเขาจะทำอย่างไร  เกือบขายหน้าแล้วครับ ถ้วยที่วางมาบนจานนั้น คือถ้วยชา ไม่ใช่ถ้วยสำหรับแบ่งอาหารเลย  วิธีการที่เขาทำ คือ หยิบเอาไม้จิ้มฟันออกมาจากถ้วยที่วางไว้บนโต๊ะ  แกะเอาตะเกียบออกมาจากห่อกระดาษ เอาปลายวางพาดไว้บนไม้จิ้มฟัน  เทน้ำชาลงใส่จานแล้วเอาถ้วยนั้นกลิ้งไปรอบๆ คือลวกถ้วยชาด้วยนำชาร้อนๆฆ่าเชื้อให้สะอาดนั่นเอง  จากนั้นก็ขยับจานที่เทน้ำใส่นั้นออกไป พนักงานก็จะมาเก็บออกไป เอาจานใหม่มาให้  จากนั้นจึงเริ่มกินอาหารที่วางไว้    คนละเรื่องกับที่ผเคยชินในเมืองไทยจริงๆ  ไม่ทราบว่าเป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันเป็นปรกติ หรือเป็นเรื่องของแต่ละร้าน หรือแต่ละคนไป 
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 114  เมื่อ 16 ม.ค. 13, 19:28

เล่าเรื่องเฉพาะโต๊ะจีนคงจะไม่น่าสนใจมากนัก  เล่าแบบเปรียบเทียบระหว่างโต๊ะอาหารฬนประเทศที่กินด้วยตะเกียบน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าใหมครับ   ก็คงจะมีจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม  (และอาจจะต้องรวมไทยเข้าไปด้วย)
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 115  เมื่อ 17 ม.ค. 13, 19:36

ความต่างในเบื้องต้นของโต๊ะอาหารต่างๆ คือ

โต๊ะอาหารแบบฝรั่ง ดูจะปรับไปได้ตามจำนวนคน  เป็นรูปโต๊ะยาวนั่งสองฝั่งก็ได้ เพิ่มหัวโต๊ะก็ได้ เป็นรูปตัว U ก็ได้ เป็นรูปตัว E ก็ได้ เป็นรูปโต๊ะกลมก็ได้   ให้ความสำคัญอยู่กับการจัดที่นั่งให้กับแต่ละคน ตามอาวุโสทางอายุ ตามอาวุโสทางตำแหน่งหน้าที่การงาน ตามความสนิทสนม ตามประเพณีนิยม และตามความสำคัญของแขกหรือเรื่องราว ฯลฯ 

แบบจีน โต๊ะเป็นลักษณะโต๊ะกลมเป็นหลัก  ดูจะมีหลักยึดสำคัญ คือ แขกจะนั่งในที่ๆมองเห็นภาพหรือวิวสวยงาม (ซึ่งโดยนัยก็คือนั่งอยู่ด้านชิดผนังห้อง) จำแต่เพียงว่าแขกจะถูกจัดให้นั่งอยู่ในสภาพถูกปืดประตูตีแมวก็แล้วกัน

แบบญี่ปุ่น โต๊ะจะเป็นแบบสี่เหลี่ยมเป็นหลัก และอยู่ในห้องที่มีความกว้างสมดุลย์กับขนาดของโต๊ะ  แนวคิดก็เหมือนจีน คือ นอกจากแขกจะนั่งหันหน้าออกให้เห็นวิวสวยงามแล้ว ระบบของห้องอาหารต่างๆที่ถูกสร้างมาก็คือ ทำให้แขกจะต้องนั่งอยู่ด้านใน มองเห็นประตูทางเข้าออกห้อง (ลักษณะปิดประตูตีแมวเหมือนกัน)

แบบเกาหลี  ส่วนมากโต๊ะจะไปทางโต๊ะกลมเหมือนจีน การนั่งก็อยู่ในปรัชญาเดียวกันกับที่กล่าวมา

แบบเวียดนาม ผมไม่เห็นความเป็นรูปแบบเฉพาะที่ชัดเจน ด้วยสัมผัสมาน้อย

แบบไทย ดูจะถือต่างกันไป เจ้าภาพจะนั่งอยู่ด้านใน ประเภทหลังพิงผนังหรือกำแพงห้อง   โต๊ะอาหารจะใช้โต๊ะกลมเป็นหลัก (ใช้โตก) 
พม่า มอญ กะเหรี่ยง ฉาน ลื้อ ยอง โม้ง เย้า ลีซอ อีก้อ ขมุ ลั้วะ ฯลฯ รวมทั้งชาวเขาอื่นๆทั้งหลายก็ใช้โตกทั้งนั้น   
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 116  เมื่อ 18 ม.ค. 13, 16:32

อ้างถึง
แบบไทย ดูจะถือต่างกันไป เจ้าภาพจะนั่งอยู่ด้านใน ประเภทหลังพิงผนังหรือกำแพงห้อง   โต๊ะอาหารจะใช้โต๊ะกลมเป็นหลัก (ใช้โตก) 
เข้าใจว่าเป็นไทยทางเหนือที่ใช้โตก     ตอนเด็กๆดิฉันไม่เคยเห็นที่บ้านใช้โตกกันเลยค่ะ      ถ้ากินอาหารแบบนั่งบนพื้นห้อง   จะปูเสื่อลงบนพื้นห้อง แล้วมีผ้าขาวปูทับเสื่ออีกทีหนึ่ง    มุมหนึ่งวางโถใส่ข้าว ซึ่งบรรจุข้าวมาจากหม้อข้าวในครัว   เหยือกน้ำก็วางอยู่ด้วยใกล้ๆ    กลางเสื่อวางกับข้าวเรียงรายรวมกัน     คนกินก็นั่งล้อมวงอยู่แถวริมเสื่อ   มีจานข้าววางอยู่ข้างหน้า   
เวลาตักอาหาร  ก็ชะโงกตัวไปตักจากจานกับข้าวซึ่งมีช้อนกลางวางอยู่ในจาน     ไม่ใช้ช้อนส่วนตัว     อาหารไทยแบบนี้แต่ละจานมีปริมาณมากๆ เพราะเผื่อสำหรับหลายคนกิน   
สำรับกับข้าวไทย มื้อเย็นเป็นมื้อหลัก    ถ้าจัดครบชุดจะมีทั้งแกงเผ็ด แกงจืด  อาหารที่มีผักจิ้ม  และยำ   แกงเผ็ดหมายความรวมถึงแกงเขียวหวาน  มัสมั่น กะหรี่และแกงคั่ว     เนื้อสัตว์ที่จัดมาแต่ละจานต้องไม่ซ้ำกัน  สมมุติว่าแกงเผ็ดเป็นแกงเขียวหวานไก่    แกงจืดก็จะไม่ทำแกงจืดเครื่องในไก่ซ้ำอีก       ส่วนอาหารที่มีผักจิ้มอาจหมายถึงน้ำพริกผักจิ้ม หรือหลนที่มีผักสดกินด้วยก็ได้   

วิธีกินอีกแบบหนึ่งที่หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่อาจกินไม่เป็นกันแล้ว คือการเปิบข้าวด้วยมือ      วิธีกินคือต้องล้างมือให้สะอาด     ตะล่อมข้าวด้วยนิ้วให้รวมกัน เป็นคำเล็กๆ ก่อนจะส่งเข้าปาก    ถ้าเปิบเป็นคำใหญ่ๆเรียกว่ามูมมาม    คนที่เปิบข้าวเป็น เม็ดข้าวจะไม่เลอะนิ้ว อย่างมากก็เปื้อนข้าวถึงกลางข้อนิ้วกลางเท่านั้น  ล้างออกได้ง่าย    ข้าวไม่เลอะเข้าไปถึงอุ้งมือ
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 117  เมื่อ 18 ม.ค. 13, 18:19

เรื่องการใช้โตกนี้  ตอนเขียนก็ชะงักอยู่ครู่หนึ่งเหมือนกันครับ ว่าคนไทยใช้โตกหรือไม่  แต่ย้อนนึกขึ้นได้ว่า เมื่อสมัยเริ่มทำงานไปต่างจังหวัดไปตามท้องถิ่นและชุมชนห่างไกลต่างๆในแถบภาคกลางด้านตะวันตก (ตั้งแต่แถวกำแพงเพชรลงมาจนราชบุรี) พบว่าชาวบ้านมีการใช้โตกและโต๊ะกลมที่มีขาสั้นๆยกโต๊ะลอยเหนือพื้นขึ้นมาประมาณสักเกือบๆ 30 ซม. (เวลาจะกินก็กลิ้งโต๊ะนั้นออกมาจากที่วางอิงไว้กับผนังบ้าน) และรวมถึงการปูเสื่อวางสำรับอาหารกับพื้นดังที่คุณเทาชมพูว่าไว้ด้วย  จึงคงเป็นลักษณะที่ไม่ชัดเจนสำหรับการใช้โตกของคนไทยในภาคกลาง  แต่ก็น่าสนใจนะครับ เพราะว่าบรรดาโตกใหม่ที่เห็นขายอยู่ในจังหวัดต่างๆในภาคเหนือ และรวมถึงในอำเภอต่างๆ หรือตามข้างทางที่เห็นแขวนขายกันอยู่นั้น ล้วนแล้วแต่ผลิตมาจากภาคกลางเกือบจะทั้งสิ้น ที่แน่ๆก็คืออยุธยาและอ่างทอง     ผมจำได้ว่าเคยเห็นการใช้โตกในอีสานเหมือนกัน และดูจะเคยเห็นในภาคใต้อีกด้วยครับ



บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 118  เมื่อ 18 ม.ค. 13, 18:44

สำหรับเรื่องการกินด้วยมือนี้ ก็เป็นเรื่องน่าสนใจอีกเหมือนกัน  เรื่องนี้ผมเองมีประสบการณ์ค่อนข้างจะมากหน่อย  คนไทยดูจะเป็นคนชาติเดียวที่สามารถจะกินข้าวด้วยมือแบบไม่เลอะเทอะเลยไปถึงกลางข้อนิ้วกลางตามที่คุณเทาชมพูว่า  ผมว่ามันเป็นศิลปในการกินเฉพาะของคนไทย และก็เป็นเอกลักษณ์ของการกินข้าวด้วยมือของคนไทย   เท่าที่ประสบพบมานั้น ไม่ว่าจะยากดีมีจนขนาดใหน จะอยู่ห่างเมือง ห่างไกลปืนเที่ยง หรือในป่าในดงขนาดใหนก็ตาม  ผมสามารถกล่าวได้เลยว่าไม่เคยเห็นคนในพื้นที่เหล่านั้นกินข้าวแบบเปรอะไปทั้งอุ้งมือ เหมือนกับที่เห็นในภาพหรือในสารคดีต่างๆที่ถ่ายกันมาในอินเดีย  ในมาเลย์เซียเอง ในสิงคโปร์ หรือในพม่าบางแห่งก็เคยเห็นด้วยตนเองว่าไม่กินแบบไทย เปรอะไปทั้งมือทั้งนั้น

ที่สังเกตเห็นอีกอย่างหนึ่ง คือ คนไทยเราจะใช้เฉพาะนิ้งหัวแม่มือและนิ้วชี้ในการจับพวกอาหารที่ต้องฉีก จึงมักจะเื้ปื้อนเฉพาะสองนิ้วนี้เป็นหลัก ที่แย่หน่อยก็อาจจะต้องเปรอะทั้งมือซ้าย เพราะจะต้องจับกระดูกให้มั่นทั้งท่อน  ต่างกับคนชาติอื่นๆที่จะฉีกของด้วยการจับและใช้แรงจากนิ้วมือทั้งหมดรวมกัน   

เอ เล่าผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงหรือเปล่าหนอ   ยิ้มกว้างๆ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33585

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 119  เมื่อ 18 ม.ค. 13, 19:39

ดิฉันไปหารูปคนอินเดียกินข้าวด้วยมือมาให้ดู   หารูปคนไทยเปิบข้าวไม่ได้ค่ะ
สังเกตว่าข้าวของเขาแผ่กระจายเป็นคำใหญ่    ไม่ใช่ข้าวที่เราตะล่อมด้วยนิ้วให้เป็นคำเล็กๆ  เพราะเหตุนี้ละมังข้าวของเขาถึงเปื้อนขึ้นไปถึงอุ้งมือ

มารยาทในการกินข้าวด้วยมืออีกอย่าง คือถูกผู้ใหญ่ห้ามนักหนา มิให้เลียนิ้วเป็นอันขาด   ถ้าตักแกงก็ต้องใช้ช้อนกลาง ตักลงราดข้าวในจาน  ห้ามเอามือไปหยิบอาหารจากจานหรือชามกับข้าว  ยกเว้นเป็นอาหารแห้งๆที่แบ่งเป็นชิ้นๆ หยิบมาได้โดยมือเราไม่ไปเปื้อนชิ้นอื่น เช่นเนื้อเค็มหั่นเป็นชิ้นๆแล้ว    แต่ถ้ารักษามารยาทละก็  ใช้ช้อนกลางดีที่สุด

เรื่องจับกับข้าวที่เป็นของแห้ง เพื่อฉีกเข้าปาก    ทบทวนความจำว่าเคยฉีกเนื้อเค็มยังไง   พบว่าใช้สองนิ้วค่ะ นิ้วชี้กับนิ้วหัวแม่มือ   มือซ้ายจับเนื้อเค็ม มือขวาฉีกออกมา    นิ้วอื่นไม่เกี่ยว   ฉีกเนื้อเค็มได้โดยไม่เลอะเทอะนิ้วมือ เพียงแต่อาจมีน้ำมันทอดจากเนื้อเค็มติดปลายนิ้วอยู่นิดหน่อย


บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 6 7 [8] 9 10 ... 13
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.06 วินาที กับ 19 คำสั่ง