สงสัยว่า ไฉนกระทู้นี้จึงเลี้ยวเข้าสู่คุกตะรางได้

เข้าใจว่าคำว่า "คุก" และ "ตะราง" น่าจะเก่ากว่า "ซังเต" เสียอีก
คุก - ตะรางคุณประเสริฐ เมฆมณี อดีตรองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เขียนบทความส่งไปให้ราชบัณฑิตยสถานเพื่อตีพิมพ์ลงใน "สารานุกรมไทย" เกี่ยวกับเรื่องนี้ ตอนหนึ่งว่า
...เรือนจำในกรุงเทพฯ (ยุคแรก) มีชื่อเรียกเป็น ๒ อย่าง คือ คุก และ ตะราง
คุกเป็นที่คุมขังผู้ต้องขังมีกำหนดโทษตั้งแต่ ๖ เดือนขึ้นไป คุกเดิมตั้งอยู่ที่หน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ตรงที่ตั้งกองทหาร ร.พัน ๑ ในปัจจุบัน ภาษาสามัญชนเรียกคุกนี้ว่า "คุกหน้าวัดโพธิ์" และสังกัดกระทรวงนครบาล หลวงพัศดีกลางเป็นหัวหน้าดูแลรับผิดชอบ โดยมีขุนพัศดีขวาและขุนพัศดีซ้ายเป็นผู้ช่วย ส่วนผู้คุมใช้เลขไพร่หลวงยามใน คนใดมาเข้าเวรไม่ได้ ต้องเสียเงินคนละ ๖ บาทสำหรับจ้างผู้คุมแทนตัว เจ้าพนักงานคุกไม่มีเงินเดือนหรือเบี้ยหวัด ได้ผลประโยชน์จากการใช้แรงงานนักโทษทำงาน และได้ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่นักโทษต้องเสีย ค่าธรรมเนียมการรับนักโทษ มีอัตราวางไว้เก็บเมื่อเข้ามาต้องโทษ และเมื่อพ้นโทษต้องเสียเงินให้เจ้าพนักงานที่นำความกราบบังคม ทูล ๓ ตำลึง (๑๒ บาท) ครั้นโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยตัว เสียให้อีก ๒ ตำลึง (๘ บาท) การกิน การนุ่งห่มของนักโทษ ญาติพี่น้องต้องติดตามมาส่งบ้าง นักโทษทำงานด้วยฝีมือเป็นลำไพ่ของตนบ้าง เช่น การช่างไม้และการจักสาน มิได้จ่ายของหลวงให้เลย
ส่วนตะรางใช้เป็นที่คุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษตั้งแต่ ๖ เดือนลงมา กับนักโทษที่มิใช่โจรผู้ร้าย ตะรางมีหลายแห่งซึ่งสังกัดอยู่ตามกระทรวงทบวงกรมที่บังคับบัญชากิจการนั้น ๆ เช่น ตะรางกลาโหม ตะรางมหาดไทย ตะราง กรมท่าช้าง ตะรางกระทรวงวัง ตะรางกระทรวงนครบาล ตะรางกระทรวงนครบาลนี้มีรวมทั้งหมด ๑๒ ตะราง ซึ่งได้แยกไปสังกัดในบังคับบัญชาของกรมพระนครบาล ๔ ตะราง สังกัดกรมพลตระเวน ๔ ตะราง ตะรางต่าง ๆ ที่แยกย้ายไปสังกัดกระทรวงทบวงกรมต่าง ๆ กันนี้ก็เพราะการศาลสถิตยุติธรรมในสมัยนั้นแยกย้ายกันสังกัดอยู่ ไม่ได้รวมขึ้นอยู่ในกระทรวงเดียวกันเหมือนสมัยนี้
จาก
ภาษาไทย ๕ นาที 