เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 14
  พิมพ์  
อ่าน: 73550 ถนนเยาวราช จากวันวานถึงวันนี้
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 30  เมื่อ 04 ธ.ค. 12, 11:42

ราชสกุล เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นสายพระปฐมวงศ์ สืบลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ พระโอรสพระองค์ใหญ่ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ พระองค์น้อยแห่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ

           สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีพระโอรสธิดาเป็นหม่อมเจ้า ตามพระเกียรติยศ โอรสธิดาของเจ้าฟ้า ที่ประสูติแต่มารดาสามัญชน

           สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ มีหม่อมห้ามผู้นับว่าเป็นหม่อมเอก ชื่อว่า หม่อมผ่อง หม่อมผ่องผู้นี้เป็นธิดาของท่านเจ้าขรัวทอง (หรือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯรับสั่งเรียกว่า ‘เจ้าข้าวทอง’) ท่านเจ้าขรัวทอง เป็นพี่ยาของท่านเจ้าขรัวเงิน พระชนกของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ หม่อมผ่อง จึงเป็นลูกผู้พี่ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ

           หม่อมผ่องมีพระธิดา พระนาม ‘หม่อมเจ้าฉิม’ แสดงว่าเป็นธิดาคนใหญ่ของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ

           หม่อมเจ้าฉิมเสกสมรสแล้ว ตามที่ทราบกันโดยเปิดเผยนั้นว่า หม่อมเจ้าฉิมทรงมีโอรสท่านหนึ่ง เรียกกันว่า ‘คุณช้าง’ ในทางราชการเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๔ จดว่า ‘หม่อมราชวงศ์ช้าง’ และจดชื่อบุตรธิดาของหม่อมราชวงศ์ช้างเป็น ‘หม่อมหลวง’ ทุกคน

           ทว่าในครั้งกระโน้นมีผู้สันนิษฐานว่าหม่อมราชวงศ์ช้างนี้ คงจะเป็นพระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ นั่นเอง เกิดแต่หม่อมชาวนครราชสีมา ชื่อแปลก หากแต่อาจมีความจำเป็นบางประการ หรืออาจจะทรงพระชราแล้ว สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ จึงประทานคุณช้างให้เป็นพระโอรสบุญธรรมในหม่อมเจ้าฉิม

           ที่พากันสันนิษฐานดังนี้ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ผู้ทรงเป็นหลานลุงของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ ทรงยกย่องคุณช้างมากยิ่งกว่า ผู้เป็นเพียงหม่อมราชวงศ์ท่านอื่นๆ เมื่อเริ่มเข้ารับราชการ ก็มิต้องขึ้นจากชั้นเล็ก โปรดฯให้เป็นพระยาราชภักดีเลยทีเดียว และเมื่อพระราชโอรสธิดาโสกันต์ ก็โปรดฯให้เสด็จไปลาพระยาราชภักดีทุกพระองค์

           เมื่อหม่อมราชวงศ์ช้างรับราชการ จึงมีบุตรหลานรับราชการมีบรรดาศักดิ์กันต่อๆ มา ผิดจากพระโอรสองค์อื่นในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ ซึ่งแม้เป็นหม่อมเจ้าเมื่อมิได้เข้ารับราชการตลอดถึงลูกหลาน จึงไม่ปรากฏชื่อเสียงเด่นแต่ประการใด มาเด่นในทางราชการก็แต่ลูกหลานของพระยาราชภักดี (ม.ร.ว.ช้าง)

           ถึงรัชกาลที่ ๖ มีพระราชบัญญัตินามสกุลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ จึงโปรดฯ พระราชทานนามสกุลที่สืบสายลงมาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ว่า ‘เทพหัสดิน’ โดยเอาพระนามกรมข้างหน้าของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงฯ กับ ‘หัสดิน’ ที่แปลว่า ‘ช้าง’ รวมเข้าด้วยกัน เป็นการแปลกกว่าราชสกุลอื่น ซึ่งมักจะมาจากพระนามจริงหรือพระนามกรมแต่อย่างเดียว

           พระยาราชภักดี (ม.ร.ว.ช้าง) มีบุตรธิดามากตามความนิยมของสมัยนั้น บุตรชายคนใหญ่ เกิดแต่เอกภรรยาชื่อ หม่อมหลวงเจียม ธิดาอีกคนชื่อ หม่อมหลวงถนอม เป็นเจ้าจอมในรัชกาลที่ ๕

           หม่อมหลวงเจียม เป็นเจ้ากรมในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง แต่ยังทรงกรมเป็นกรมขุนพินิตประชานาถ เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว โปรดฯให้เป็นพระยาไชยสุรินทร์ (ม.ล.เจียม) เจ้ากรมพระคลังข้างที่

           พระยาไชยสุรินทร์ (ม.ล.เจียม) มีบุตรธิดามาก รวมถึง ๓๒ คน

           ที่เกิดแต่เอกภรรยา ชื่อ นายพุด และ ธิดาถวายตัวเป็นเจ้าจอมพระสนมในรัชกาลที่ ๕ สามท่านคือ เจ้าจอมกลีบ เจ้าจอมลิ้นจี่ และ เจ้าจอมฟักเหลือง

           ส่วนนายพุดนั้น รับราชการเป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงมาก ได้เป็นที่หลวงฤทธิ์นายเวร

           หลวงฤทธิ์นายเวร (พุด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้นี้ เป็นบิดาของ พลเอก พระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา)

           ส่วนเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นน้องชายต่างมารดาของหลวงฤทธิ์นายเวร (พุด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นคนที่ ๑๘ ในจำนวนพี่น้อง ๓๒ คน

ที่มา ราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 31  เมื่อ 04 ธ.ค. 12, 12:38

อ้างถึง
ตึกแถวนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับซื้อที่ดินจากคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ และสร้างตึกแถวให้เช่า พร้อมทั้งพระราชทานกรรมสิทธิ์แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช และจากวิกิให้ข้อมูลว่าพลเอกพระยาเทพหัสดินฯ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2420 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2494) พลเอก หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 นักโทษประหาร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ข้อความข้างบนนี้คงมีอะไรพิมพ์ผิดสักอย่าง อ่านแล้วไม่เข้าใจ     พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงซื้อที่ดินจากคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ เจ้าของเดิม   ทรงสร้างตึกแถวให้เช่า พระราชทานกรรมสิทธิ์ในตึกแถวแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ  หมายความว่าทั้งตึกแถวและค่าเช่าตึกแถวตกเป็นของพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ ท่าน   
คำว่า "จากวิกิให้ข้อมูลว่าพระเอกพระยาเทพหัสดิน ฯลฯ " ไปจนจบย่อหน้า แปลว่าอะไรคะ   แปลว่าพระราชทานกรรมสิทธิ์ร่วมให้พระยาเทพหัสดินฯด้วยอย่างนั้นหรือ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 32  เมื่อ 05 ธ.ค. 12, 21:28


ยกแผนที่สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๔ มาให้ คงใกล้เคียงกับการเปิดถนนเยาราชใหม่ ๆ จะเห็นว่า ด้านตะวันออกของวัดจักรวรรดิ์ (ล่างซ้าย) เป็นอาณาบริเวณของท่านเลื่อน (ฤทธิ์) หรือเวิ้งท่านเลื่อน ซึ่งตอนเด็ก ๆ ทางครอบครัวผมอยู่ในหลังเวิ้งนี้ และเรียกตำแหน่งนี้ว่า "เซียง หวู่ ไหล"

ที่ดินของเวิ้งท่านเลื่อน เมื่อมีการตัดถนนเยาวราชพาดผ่านที่ดิน ท่านก็ขายที่ดินให้ตกเป็นของหลวง ดุแลโดยพระคล้งข้างที่ ซึ่งพระคลังข้างที่ก็จัดการก่อสร้างอาคารห้องแถว จัดแบ่งเสียใหม่ (ตามแผนที่) ส่วนฝั่งตรงข้ามถนนก็เป็นฝั่งวัดตึก ก็เป็นที่หลวงเช่นเดียวกัน มีการปลูกห้องแถวให้ประชาชนซื้อหา เช่าได้ครับ

คุณ siamese พอจำได้ไหมคะว่า "เวิ้ง" ของท่านเลื่อนมีลักษณะเป็นยังไง    ทำไมเรียก "เวิ้ง"  แทนที่จะเรียกว่า "บ้าน" หรือ "ที่ดิน"   ดิฉันรู้จักแต่เวิ้งนาครเขษม   ยังนึกๆว่าจะถามเหมือนกันว่า คำว่า "เวิ้ง" มีที่มายังไง
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 33  เมื่อ 09 ธ.ค. 12, 22:04

ถ้าไม่รีบดึงกระทู้ขึ้นมาคงจะตกหน้าไปในวันสองวัน

ทั้งๆตัดถนนเยาวราชให้ท้องถิ่นชุมชนคนจีน โปร่งตาสะดวกสบายขึ้น   แต่ไฟก็ยังตามมาไหม้ไม่ละลดอยู่ดี   มีบันทึกเอาไว้ว่าในปี ๒๔๓๖ เพลิงลุกไหม้ขึ้นที่บ้านจีนขำ แล้วลุกลามต่อกันไปจนกินบ้านเรือนอีกยาว   ไฟไหม้ครั้งนั้นเริ่มเวลา ๘ ทุ่มครึ่ง  กว่าจะดับได้ก็ ๓ ยามเศษ
๘  ทุ่มครึ่งนี่มันเท่าไหร่คะ ?  สองทุ่มครึ่งใช่ไหม?

จากนั้นพ.ศ. ๒๓๖๕  ไฟก็ไหม้ขึ้นมาอีกครั้ง เริ่มที่ตรอกอาม้าเก็ง  อ.จักรวรรดิ  ต่อมาปี ๒๔๗๕  ก็ไหม้ตรอกเต๊าตอนถนนสำเพ็ง   แต่ครั้งใหญ่สุดคือไฟไหม้ปี ๒๔๘๙   เริ่มที่ถนนมังกร แล้วต้องกินวงกว้างมาก เพราะไหม้ข้ามถนนไปถึงถนนไมตรีจิตต์   ถนนมิตรสัมพันธ์ไปจนถึงถนนพลับพลาชัย   ตัดไปหลังสถานีตำรวจกลาง  ออกถนนสันติภาพไปจนถึงวงเวียน ๒๒  กรกฎา
ไหม้ตั้งแต่ ๒๔ น.เศษ มาจนถึง ๗ โมงเช้า  เพลิงจึงสงบ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 34  เมื่อ 11 ธ.ค. 12, 12:19


ยกแผนที่สมัยรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๔ มาให้ คงใกล้เคียงกับการเปิดถนนเยาราชใหม่ ๆ จะเห็นว่า ด้านตะวันออกของวัดจักรวรรดิ์ (ล่างซ้าย) เป็นอาณาบริเวณของท่านเลื่อน (ฤทธิ์) หรือเวิ้งท่านเลื่อน ซึ่งตอนเด็ก ๆ ทางครอบครัวผมอยู่ในหลังเวิ้งนี้ และเรียกตำแหน่งนี้ว่า "เซียง หวู่ ไหล"

ที่ดินของเวิ้งท่านเลื่อน เมื่อมีการตัดถนนเยาวราชพาดผ่านที่ดิน ท่านก็ขายที่ดินให้ตกเป็นของหลวง ดุแลโดยพระคล้งข้างที่ ซึ่งพระคลังข้างที่ก็จัดการก่อสร้างอาคารห้องแถว จัดแบ่งเสียใหม่ (ตามแผนที่) ส่วนฝั่งตรงข้ามถนนก็เป็นฝั่งวัดตึก ก็เป็นที่หลวงเช่นเดียวกัน มีการปลูกห้องแถวให้ประชาชนซื้อหา เช่าได้ครับ

คุณ siamese พอจำได้ไหมคะว่า "เวิ้ง" ของท่านเลื่อนมีลักษณะเป็นยังไง    ทำไมเรียก "เวิ้ง"  แทนที่จะเรียกว่า "บ้าน" หรือ "ที่ดิน"   ดิฉันรู้จักแต่เวิ้งนาครเขษม   ยังนึกๆว่าจะถามเหมือนกันว่า คำว่า "เวิ้ง" มีที่มายังไง

รอยอินให้คำจำกัดความของ "เวิ้ง" ไว้ว่า = ที่เปิดกว้างเข้าไปถัดจากที่แคบ เช่น พ้นปากถ้ำไปเห็นเป็นเวิ้ง
อาจจะเป็นด้วยกลุ่มการก่อสร้างห้องแถวที่ติดกับถนน เปิดทางเดินเจาะช่องไว้สัก ๑ ห้องเพื่อเข้าสู่เวิ้งด้านหลังอาคาร ซึ่งเป็นพื้นที่กว้างและมีการสร้างห้องแถวรายรอบ ๆ อีกกระมังครับ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 35  เมื่อ 11 ธ.ค. 12, 12:24

ถ้าไม่รีบดึงกระทู้ขึ้นมาคงจะตกหน้าไปในวันสองวัน

ทั้งๆตัดถนนเยาวราชให้ท้องถิ่นชุมชนคนจีน โปร่งตาสะดวกสบายขึ้น   แต่ไฟก็ยังตามมาไหม้ไม่ละลดอยู่ดี   มีบันทึกเอาไว้ว่าในปี ๒๔๓๖ เพลิงลุกไหม้ขึ้นที่บ้านจีนขำ แล้วลุกลามต่อกันไปจนกินบ้านเรือนอีกยาว   ไฟไหม้ครั้งนั้นเริ่มเวลา ๘ ทุ่มครึ่ง  กว่าจะดับได้ก็ ๓ ยามเศษ
๘  ทุ่มครึ่งนี่มันเท่าไหร่คะ ?  สองทุ่มครึ่งใช่ไหม?

๘ ทุ่มครึ่ง ตรงกับเวลา ตีสองครึ่ง
๓ ยาม ตรงกับ ตีสาม ดังนั้นไฟดับ ๓ ยามเศษ ก็ตก ตี 3 กว่า ๆ

รวมความได้ว่า "ไฟไหม้เมื่อตอนตีสองครึ่ง และดับเมื่อตีสามกว่า ๆ"
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 36  เมื่อ 11 ธ.ค. 12, 19:13

ขอบคุณสำหรับคำเฉลยค่ะ   นึกภาพออกแล้วว่าเวิ้งของท่านเลื่อนฤทธิ์ น่าจะมีบริเวณกว้างขวางอยู่ด้านหลังห้องแถวริมถนน   ผ่านไปตามถนนสายเก่าๆในกรุงเทพ  มองทะลุผ่านประตูระหว่างห้องแถวเข้าไป   บางครั้งเห็นบ้านเก่าแก่ซ่อนตัวอยู่ด้านหลัง    น่าจะเป็นร่องรอยที่เหลือมาจาก "เวิ้ง" ในสมัยหนึ่ง

บ้านเรือนที่เปลี่ยนจากไม้มาเป็นตึก มี 2 ชั้นอย่างมาก  แต่เยาวราชก็สร้างปรากฎการณ์ทางสถาปัตยกรรมเอาไว้  คือเริ่มสร้างตึกสูงหลายชั้นขึ้นเป็นแห่งแรก      ตึกแรกคือ"ตึก 6 ชั้น"  ของ พระยาสารสิน สวามิภักดิ์ (หมอเทียนอี้ ต้นตระกูลสารสิน) ผู้เป็นหมอหลวงในรัชกาลที่ 5   
ตึกนี้ยังคงอยู่มาจนปัจจุบัน  กลายเป็น "เซี่ยงไฮ้ แมนชั่น บูติค โฮเต็ล" ตกแต่งใหม่โดยยังคงเอกลักษณ์จีนเอาไว้   


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 37  เมื่อ 13 ธ.ค. 12, 14:48

เมื่อมีตึกหกชั้น  ก็มีตึกเจ็ดชั้นมาเป็นความสง่าทันสมัย มีหน้ามีตาของถนนเยาวราช


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 38  เมื่อ 13 ธ.ค. 12, 16:46

รูปข้างบนนี้ไม่แน่ใจว่าเป็นตึกเจ็ดชั้นหรือตึกเก้าชั้นของเยาวราช  ใครพอทราบบ้างคะ?

พูดถึงตึกเก้าชั้น ประวัติศาสตร์ยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2  ของถนนเยาวราชบันทึกไว้ถึงแหล่งบันเทิงขึ้นชื่อ ของ"นายหรั่ง เรืองนาม"  เขาเป็นเจ้าของคณะระบำ ที่เรียกกันว่า “ระบำมหาเสน่ห์”  บนตึก ๙ ชั้น ถนนเยาวราช ตั้งแต่เพิ่งสร้างตึกเสร็จใหม่ๆ
ระบำนายหรั่งเรียกกันตรงไปตรงมาว่าระบำโป๊     แต่ถ้าสาวๆเห็นว่าโป๊สมัยนั้นเป็นยังไงคงหัวเราะกันงอหาย     เพราะเสื้อผ้าที่เรียกว่าโป๊ที่สุดคือเปิดไหล่ เปิดพุงและสั้นเห็นเข่านิดหน่อย   แค่นี้ก็ถือว่าหวาดเสียวแก่สายตามากแล้ว

คุณจุรี โอศิริ ผู้ทันเห็นนายหรั่ง เล่าว่า นายหรั่งเป็นชายร่างสูงใหญ่ ผิวขาว จมูกโด่ง ตาสีน้ำข้าว ผมเป็นสีแดง คล้ายๆลูกครึ่ง สไตล์การแต่งกายค่อนข้างโก้  คือแต่งตัวเป็นท้าวอุศเรน สวมหมวกใหญ่เหมือนหมวกทหารม้าของพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย ออกมาหน้าโรงใช้โทรโข่งเรียกคนดู พร้อมด้วยขบวนสาวน้อยพุงขาวๆ มาเต้นระบำในชุดนุ่งแต่น้อยห่มแต่น้อย เต้นเป็นหนังตัวอย่าง หรือไม่ก็อาจเรียกได้ว่า เป็น ทีเซอร์โฆษณา เรียกคนดูให้เสียสตางค์เข้าไปดูเรื่องยาวในโรง

นายหรั่งและคณะระบำแสดงอยู่ที่ตึก ๙ ชั้น จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงย้ายมาแสดงบนเวทีบนตลาดบำเพ็ญบุญ หลังสงครามเลิกแล้ว  หลังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 สงครามสงบเรียบร้อยแล้ว
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 39  เมื่อ 13 ธ.ค. 12, 20:01

ขอบันทึกถึงประวัตินายหรั่งเอาไว้ในกระทู้นี้ ในฐานะที่เขาเป็นคนหนึ่งที่สร้างสีสันชีวิตชีวาให้ถนนเยาวราช   เมื่อ 70 ปีก่อนค่ะ

ไม่ทราบวันเดือนปีเกิดของนายหรั่ง  ทราบแต่ว่าเป็นชาวพระประแดงเชื้อสายมอญ  พ่อเป็นฝรั่ง  ชื่อจริงของเขาคือนายบุญศรี สอนชุ่มเสียง  เมื่อโตเป็นหนุ่มนายหรั่งเคยสมัครเข้ารับราชการทหารเรือ เคยเดินทางไปรับเรือที่อิตาลี (ไม่รู้ว่าเรือรบลำไหน)   ต่อมาลาออกจากทหารเรือไปตั้งคณะระบำ
นายหรั่งนับว่าเป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง นอกจากมีธุรกิจระบำแล้วยังมีบ้านให้เช่าอีกหลายหลัง  ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ธนบุรี ริมถนนเทศบาลสาย 2 ด้านหลังวัดบุปผารามหรือวัดดอกไม้   บ้านนายหรั่งเป็นบ้านไม้สองชั้นปลูกอย่างดีสองหลังเรียงกัน   ลักษณะซอยเป็นห้องๆทั้งชั้นล่างและชั้นบน หน้าห้องมีระเบียงกั้น มีทางเดินถึงกันตลอด     ที่แบ่งเป็นห้องหลายห้องเพราะนายหรั่งมีภรรยาหลายคน ล้วนเป็นนางระบำในคณะ   และยังมีผู้คนอื่นๆในคณะที่ต้องเลี้ยงดูด้วย

นายหรั่งแต่งตัวหรูหรา นุ่งกางเกงสวมเสื้อแขนยาว มีเสื้อกั๊กอย่างลิเกทับ และสวมสร้อยคอห้อยเสมาพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ 6 ฝังเพชร  ซึ่งไม่ทราบว่าได้มาอย่างไร   โดยปกตินายหรั่งแต่งกายเรียบร้อยประณีตดูดี

นายหรั่งดำเนินกิจการระบำโป๊ที่เยาวราชมาจนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2  จึงมาเปิดกิจการใหม่เป็นวิกลิเก แสดงที่ตลาดบำเพ็ญบุญ ตรงข้ามโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง  เป็นที่ฮือฮากันมากเพราะมีการตกแต่งประดับประดาฉากด้วยข้าวของเครื่องใช้มีค่า  เช่นเครื่องเงิน เครื่องทอง เครื่องแก้ว  ตัวแสดงก็ประดับสร้อยถนิมพิมพาภรณ์ของแท้   แต่แสดงอยู่ไม่กี่เดือนก็เลิกไป

นายหรั่งถึงแก่กรรมเมื่อใดไม่ปรากฎ   ทรัพย์สินคงแบ่งกันไประหว่างลูกๆ   ส่วนบ้านเดิมปัจจุบันกลายเป็นอพาตเมนต์ทั้งหมด
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 40  เมื่อ 16 ธ.ค. 12, 14:07

กองทัพเรือไทยได้เคยสั่งต่อเรือรบจากอิตาลีตามโครงการตามโครงการสร้างเรือ พ.ศ.๒๔๗๖ โดยใช้งบประมาณในการบำรุงทางเรือกรรมการเผยแพร่ทหารเรือในสมัยนั้น
ได้รณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันบำรุงกำลังทางเรือ สื่อในการโฆษณาสมัยนั้นได้แก่ ภาพยนต์ ละคร จำอวด ดนตรี และ เอกสารสิ่งพิมพ์
ผู้ที่บริจาคเงินบำรุงกำลังทางทหารเรือได้แก่ พ่อค้า ประชาชน ข้าราชการ ตำรวจ ทหาร รวม ๙ ลำ ดังนี้

เรือหลวงชุมพร
เรือหลวงตราด
เรือหลวงภูเก็ต
เรือหลวงปัตตานี
เรือหลวงสุราษฎร์
เรือหลวงจันทบุรี
เรือหลวงระยอง
เรือหลวงชุมพร
เรือหลวงชลบุรี และ
เรือหลวงสงขลา
บันทึกการเข้า
ลุงไก่
สุครีพ
******
ตอบ: 1281



ความคิดเห็นที่ 41  เมื่อ 16 ธ.ค. 12, 14:56

อ้างถึง
ตึกแถวนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับซื้อที่ดินจากคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ และสร้างตึกแถวให้เช่า พร้อมทั้งพระราชทานกรรมสิทธิ์แก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช และจากวิกิให้ข้อมูลว่าพลเอกพระยาเทพหัสดินฯ (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา - 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2420 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2494) พลเอก หัวหน้าคณะทูตทหารไทยที่เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 นักโทษประหาร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ข้อความข้างบนนี้คงมีอะไรพิมพ์ผิดสักอย่าง อ่านแล้วไม่เข้าใจ     พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ทรงซื้อที่ดินจากคุณหญิงเลื่อนฤทธิ์ เจ้าของเดิม   ทรงสร้างตึกแถวให้เช่า พระราชทานกรรมสิทธิ์ในตึกแถวแก่พระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ  หมายความว่าทั้งตึกแถวและค่าเช่าตึกแถวตกเป็นของพระองค์เจ้าอุรุพงศ์ฯ ท่าน   
คำว่า "จากวิกิให้ข้อมูลว่าพระเอกพระยาเทพหัสดิน ฯลฯ " ไปจนจบย่อหน้า แปลว่าอะไรคะ   แปลว่าพระราชทานกรรมสิทธิ์ร่วมให้พระยาเทพหัสดินฯด้วยอย่างนั้นหรือ

นาวาเอกสวัสดิ์ จันทนี ได้บันทึกในหนังสือ นิทานชาวไร่ ตอนที่ ๗๙ กล่าวถึง เวิ้งเลื่อนฤทธิ์ ไว้ดังนี้
"คุยกันถึงพระยาเทพหัสดิน คุณหลวง (หมายถึง หลวงวรภักดิ์ภูบาล) บอกว่าเป็นท่านบุตรท่านเลื่อน ภรรยาหลวงนายฤทธิ์ คนทั้งหลายเรียกกันว่าท่านเลื่อนฤทธิ์ ชื่อเลื่อนฤทธิ์คงจะคุ้นหูกับคนแถววัดชัยชนะสงคราม (วัดตึก) มาก เพราะท่านเลื่อนฤทธิืมีห้องแถวให้คนเช่าหลายสิบห้องที่เขาเรียกกันว่าเวิ้งท่านเลื่อนฤทธิ์นั่นแหละ
เวิ้งนี้บางคนไม่อยากเดินเข้าไปในเวลากลางวันกลัวจะเห้นคนมองหน้า ต้องเดินในเวลากลางคืน เขาว่าเป็นเมืองสวรรค์น้อยๆ เหมือนกัน พวกคนคอๆ เขาบอกว่าเป็นที่อยู่ของ "อีปิ้ด" ศัพท์นี้เป้นศัพทืที่ใช้ในสมัย ๓๐ ปีมาแล้ว คนชั้นธรรมดาๆ ไม่มคร่มีใครกล้าอยู่เพราะกลัวคนมองหน้าเอา เดี๋ยวจะหาว่าเป็นคนพรรค์อย่างนั้นไป ซึ่งที่แท้ทั้งคนมองและคนถูกมองมันก็เป้นคนพรรค์อย่างนั้นกันทั้งนั้น ม่ายอย่างงั้นจะไปมองกันที่เวิ้งนี้ยังไง"

ทำให้พอสันนิษฐานได้ว่า คำว่า "เวิ้ง" หมายถึง พื้นที่โล่งว่างที่นำมาปลูกตึกแถว ตลาด ร้านค้า ให้เช่า ที่เทียบกับสมัยนี้เรียกกันว่า "พัฒนาที่ดิน" กระมัง
และทำให้ได้ทราบเพิ่มเติมว่านอกจากสำนักโคมเขียว โคมแดง แถบสะพานถ่าน, สะพานเหล็กบนแล้ว ยังมีที่เวิ้งเลื่อนฤทธิ์นี้ด้วย
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 42  เมื่อ 16 ธ.ค. 12, 18:33

คุณลุงไก่ทำให้นึกถึงสีสันอีกอย่างหนึ่งของถนนเยาวราช เริ่มมาราวสองร้อยกว่าปีก่อนโน้น    คือ สํานักโคมเขียวหรือโรงโคมเขียว  ซึ่งหมายถึงสํานักโสเภณี   
ที่ชาวบ้านเรียกกันอย่างนี้เพราะหน้าสํานักแขวนโคมสีเขียวไว้เป็นเครื่องหมายเทรดมาร์คของธุรกิจชนิดนี้   ที่เยาวราชมีตรอกชื่อ "ตรอกโรงโคม" เป็นอนุสรณ์ถึงทำเลที่ตั้ง       สาวบริการมักเป็นสาวจีน กวางตุ้ง ที่เรียกว่าหยําฉ่า หรือหญิงโรงนํ้าชา เพราะแต่เดิม โรงโคมเขียวเปิดบริการเป็นโรงนํ้าชาก่อนจะกลายมาเป็นสำนักโสเภณี แต่บางแห่งก็ทําเป็นโรงนํ้าชาบังหน้า



 
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 43  เมื่อ 17 ธ.ค. 12, 07:21

คุณลุงไก่ทำให้นึกถึงสีสันอีกอย่างหนึ่งของถนนเยาวราช เริ่มมาราวสองร้อยกว่าปีก่อนโน้น    คือ สํานักโคมเขียวหรือโรงโคมเขียว  ซึ่งหมายถึงสํานักโสเภณี   
ที่ชาวบ้านเรียกกันอย่างนี้เพราะหน้าสํานักแขวนโคมสีเขียวไว้เป็นเครื่องหมายเทรดมาร์คของธุรกิจชนิดนี้   ที่เยาวราชมีตรอกชื่อ "ตรอกโรงโคม" เป็นอนุสรณ์ถึงทำเลที่ตั้ง       สาวบริการมักเป็นสาวจีน กวางตุ้ง ที่เรียกว่าหยําฉ่า หรือหญิงโรงนํ้าชา เพราะแต่เดิม โรงโคมเขียวเปิดบริการเป็นโรงนํ้าชาก่อนจะกลายมาเป็นสำนักโสเภณี แต่บางแห่งก็ทําเป็นโรงนํ้าชาบังหน้า



 

โรงโคมเขียวนั้น ผมให้น้ำหนักไปที่ "สำเพ็ง" มากกว่าเทไปที่ถนนเยาวราชครับ สำหรับถนนเยาวรราชนั้นผมจะให้น้ำหนักไปที่ "โรงน้ำชา" ซึ่งคอยให้บริการอยู่บนถนนเยาวราช แต่ก่อนมีโรงน้ำชาเยอะมาก ต่างก็พากันปิดตัวลงไป อันที่จริงโรงน้ำชา เป็นที่ชุมนุมและสรรค์สรรของชาวจีน พบปะ พูดคุย ซึ่งถ้าวัยรุ่นก็เทียบกับเป็น "เซ็นเตอร์พอยต์" ก็ว่าได้ และที่มีการบริการทางเพศแอบแฝงเข้ามายังโรงน้ำชา ก็ทำให้บรรยากาศด้อยค่าลงไปมากครับ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 44  เมื่อ 17 ธ.ค. 12, 17:53

จริงของคุณหนุ่มสยามค่ะ   เคยได้ยินคำว่า โรงน้ำชาเยาวราช บ่อยกว่า  แต่เข้าใจว่าโรงน้ำชาคือโรงโคมเขียวประเภทหนึ่ง   เพียงแต่มีการสังสรรค์กินน้ำชาของลูกค้าเอาไว้บังหน้า    ไม่ได้เปิดกิจการตรงๆอย่างโรงโคมเขียว
คิดว่าโรงน้ำชาในไทยมาจากเมืองจีน    แต่ยังหารูปจากจีนมาลงไม่ได้ว่าโรงน้ำชาในจีนโบราณหน้าตาเป็นอย่างไร     เพราะยังหาไม่เจอว่าคำนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไรค่ะ
ใครทราบหรือหารูปได้ช่วยบอกด้วยนะคะ
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 2 [3] 4 5 ... 14
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.061 วินาที กับ 19 คำสั่ง