เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
อ่าน: 22629 ตกลงว่า ประเพณีลอยกระทง ไม่ได้เกิดขึ้นสมัยสุโขทัยหรือครับ
inteera
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


 เมื่อ 26 พ.ย. 12, 00:14

อันนี้โควทมาจาก wiki "เดิมเชื่อกันว่าประเพณีลอยกระทงเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง
โดยมีนางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้ประดิษฐ์กระทงขึ้นครั้งแรก โดยแต่เดิมเรียกว่าพิธีจองเปรียง
ที่ลอยเทียนประทีป และนางนพมาศได้นำดอกโคทม ซึ่งเป็นดอกบัวที่บานเฉพาะวันเพ็ญเดือนสิบสองมาใช้ใส่เทียนประทีป
[ต้องการอ้างอิง] แต่ปัจจุบันมีหลักฐานว่าไม่น่าจะเก่ากว่าสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น โดยอ้างอิงหลักฐานจากภาพจิตรกรรม
การสร้างกระทงแบบต่างๆ ในสมัยรัชกาลที่1"

ที่ผมสงสัยคือวันก่อนผมได้ไปคุยกับครูภาษาไทยท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าจริง ๆ แล้วเป็นเพียงประเพณีในราชสำนักรัตนโกสินทร์
ประมาณว่าลอยเล่นในวัง แล้วพวกขุนนางค่อยทำตามอยู่นอกวัง แล้วพอขุนนางนำประเพณีนี้มาเล่นปั๊บ ประเพณีลอยกระทงก็ค่อย ๆ
มีคนทำตามมากขึ้น ๆ ๆ และบูมสุด ๆ ตอนสุนทราภรณ์แต่งเพลงรำวงวันลอยกระทง

จริงเท็จประการใดครับ
บันทึกการเข้า
inteera
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 26 พ.ย. 12, 00:16

ลบนะครับ พิมพ์ซ้ำ  อายจัง
บันทึกการเข้า
inteera
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 26 พ.ย. 12, 00:16

กดรัวไปหน่อยครับ ลบ  รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 26 พ.ย. 12, 04:46

รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องลอยกระทงและการท่องเที่ยว ในวารสารเมืองโบราณ ปี ๒๕๔๗ ฉบับที่ ๓๐.๔

ลอยกระทง: จากประเพณีหลวงสู่ประเพณีราษฎร์ แล้วพินาศด้วยการท่องเที่ยว

พระราชพิธีลอยกระทงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นับเป็นประเพณีที่โอ่อ่าและโดดเด่นทางสังคม มีตำนานอ้างการเกิดมาจากการริเริ่มของนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อันเป็นพระสนมองค์หนึ่งของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย ครั้งกรุงสุโขทัย

ครั้งรัชกาลที่ ๓ พระมหากษัตริย์เสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งริมน้ำหน้าพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งเจ้านาย ขุนนางฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ทอดพระเนตรการประกวดลอยกระทงที่บรรดาเจ้านาย ขุนนาง และข้าราชการตกแต่งเป็นรูปต่างๆ และมีกลไกแสดงเรื่องราวต่าง ๆ แข่งกันลอยประกวด ทำให้เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และโอ่อ่า

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าสิ้นเปลือง จึงให้เลิกรูปแบบนั้นเสีย แต่ทรงสร้างรูปแบบใหม่ขึ้นมาแทน คือโปรดฯ ให้สร้างเป็นเรือลอยพระประทีปขึ้นมาแทน เป็นเรือเล็กๆ จำลองจากขบวนเรือพระที่นั่ง เพื่อจุดประทีปลอยตามลำน้ำในวันลอยกระทงแทน เพราะหลังวันงานแล้วยังเก็บไว้ใช้ลอยในปีต่อ ๆ ไปได้

แต่รูปแบบที่เกิดใหม่นี้ดูไม่เป็นที่นิยม จึงทำให้เลือนหายไป

ครั้งรัชกาลที่ ๕ ก็มีการฟื้นฟูการทำกระทงขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเช่นครั้งรัชกาลที่ ๓

เข้าใจว่าประเพณีนี้เพียงคลายจากการเป็นพระราชพิธีในราชสำนักมาเป็นพิธีราษฎร์โดยทั่วไปแทน จึงได้มีการสืบเนื่องเรื่อยมา แล้วมาฟื้นฟูกันอีกแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้นมา

จนในปัจจุบันนี้ ประเพณีลอยกระทงดูเหมือนได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาให้เกิดมีหลากหลายรูปแบบและความหมายอย่างสุด ๆ จนเรียกได้อย่างเต็มปากว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวโดยการชี้แนะและสนับสนุนของ ททท. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐเลยทีเดียว

สังคมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่พระนครศรีอยุธยามาจนถึงกรุงเทพฯ คือสังคมที่พัฒนาขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำลำคลองของดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ (young delta) ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ลงมา โดยมีอยุธยาและกรุงเทพฯ เป็นราชธานี การดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่ขึ้นกับน้ำในแม่น้ำลำคลองที่มีอิทธิพลทั้งในด้านการคมนาคม การอยู่อาศัย และการทำมาหากิน ทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องน้ำและแสดงออกด้วยการมีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับน้ำในรอบปีอย่างโดดเด่น

เกิดพระราชพิธีสนามทางน้ำขึ้นในท้องน้ำที่มีการกำหนดขอบเขตไว้อย่างชัดเจน คือพระราชพิธีเสี่ยงน้ำในเดือนสิบเอ็ด พระราชพิธีส่งน้ำในเดือนสิบสอง และพระราชพิธีไล่น้ำในเดือนอ้าย หรือเดือนหนึ่ง

พระราชพิธีในเดือนสิบเอ็ด เป็นการแข่งเรือระหว่างพระมหากษัตริย์และพระมเหสี เป็นการเสี่ยงทาย ถ้าหากว่าเรือพระมหากษัตริย์ชนะ ปีนั้นการเพาะปลูกไม่ได้ผลดี แต่ถ้าเรือพระมเหสีชนะ ก็จะมีความอุดมสมบูรณ์

พระราชพิธีเดือนสิบสอง พระมหากษัตริย์เสด็จลงเรือพระที่นั่งออกไปส่งน้ำเพื่อให้น้ำลดลง

ในขณะที่พระราชพิธีเดือนอ้ายเป็นการเสด็จไปทำพิธีไล่น้ำ เพื่อให้ลดลงไปก่อนที่จะท่วมต้นข้าวให้ตาย

พระราชพิธีเดือนสิบสอง คือพิธีส่งน้ำนั้นแหละคือต้นเค้าของการลอยกระทง เพราะน้ำจะขึ้นเต็มที่ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง อันเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง นับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพียงครั้งหนึ่งในรอบปี ทำให้คนโบราณนำไปเกี่ยวพันกับการเป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์

ในเดือนนี้ นอกจากมีพิธีส่งน้ำแล้ว ก็ยังมีพระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม อันเป็นพิธีพราหมณ์รวมอยู่ด้วย

ดังนั้น ถ้ามองจากรูปแบบที่เป็นพิธีส่งน้ำและจองเปรียงแล้ว ก็แลไม่เห็นว่าจะมีพิธีลอยกระทงกันตรงไหน

พระราชพิธีเดือนสิบสองนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับพิธีเดือนสิบเอ็ดและพิธีเดือนอ้ายแล้วมีภาษีกว่า เพราะมีปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งในเรื่องน้ำและเวลากลางคืน อันสว่างไสวไปด้วยพระจันทร์เต็มดวง ที่กระตุ้นความสุขและความยินดี จึงทำให้เป็นประเพณีที่ต่อเนื่องและแพร่หลายได้ดี ประเพณีเดือนสิบเอ็ดและเดือนอ้าย

อีกทั้งเกิดมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ของรัชกาลที่ ๕ ทรงกล่าวถึงว่ามีหลักฐานการเสด็จลงเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเข้าใจว่าคือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ทรงพระภูษาสีขาวเงิน ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จไปตามลำน้ำพร้อมด้วยข้าราชบริพารฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เพื่อไปทำพระราชพิธีส่งน้ำในวันเพ็ญเดือนสิบสอง

พระราชพิธีในสมัยอยุธยาตอนปลายนี้คงคลายความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ตามคติของศาสนาพราหมณ์ที่มีในสมัยอยุธยาตอนต้นไปมากแล้ว คงให้ความสำคัญกับเรื่องความสนุกรื่นเริงเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการตอบสนองความต้องการในด้านจิตใจมาเป็นกิจกรรมทางสังคม

ครั้นถึงสมัยกรุงเทพฯ ความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ก็ยิ่งน้อยลง แต่หันมาเพิ่มความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแทน จึงเกิดรูปแบบใหม่ที่เน้นความสนุกสนานทางโลก ในรูปแบบการลอยกระทงที่เป็นศิลปวัฒนธรรมแทน

แต่พอทางราชการในสมัยรัชกาลที่ ๔ เห็นว่าเป็นการฟุ่มเฟือย และโปรดฯ ให้เรือประทีปมาลอยแทน ก็เลยเซ็งเลิกร้างกันไป ทำให้พิธีหลวงเปลี่ยนมาเป็นพิธีราษฎร์ คือผู้คนที่เป็นประชาชนไปเล่นลอยกระทงกันเองตามที่ต่าง ๆ

เทศกาลลอยกระทงในประเพณีราษฎร์อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่ก็ยึดปรากฏการณ์ธรรมชาติในช่วงเวลาที่น้ำขึ้นถึงขีดสุดในวันเพ็ญเดือนสิบสองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน เพราะเป็นเวลาที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะอธิษฐานขอพรสิ่งนอกเหนือธรรมชาติให้พาเอาความทุกข์โศกโรคภัยออกไป แล้วนำสิ่งที่เป็นความสุขและความสวัสดิมงคลมาให้ เป็นกิจกรรมทางสังคมที่เชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคมของบรรดาผู้คนที่อยู่ในหมู่เหล่าชุมชนในท้องถิ่นเดียวกัน

ข้าพเจ้าคิดว่าผู้ที่ทำให้ประเพณีหลวงคลายความสำคัญลงก็คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะทรงเห็นว่าพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นสิ้นเปลือง เลยทรงคิดรูปแบบพระราชพิธีแบบประหยัดขึ้นมา จึงไม่ทรงตระหนักว่าการลอยกระทงครั้งรัชกาลที่ ๓ นั้นได้กลายเป็นประเพณีที่ยอมรับกันในสังคมแล้ว อีกทั้งทำให้เกิดการทำกระทงลอยกัน ในบรรดาราษฎรตามท้องถิ่นในลุ่มน้ำลำคลองโดยทั่วไป

ประเพณีลอยกระทงครั้งรัชกาลที่ ๓ หาได้มีความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ในการส่งน้ำอย่างที่มีมาในสมัยอยุธยาไม่ หากเป็นงานนักขัตฤกษ์ที่เน้นความรุ่งเรืองสุขสำราญของผู้คนทั้งหลายในสังคมโดยตรง ดังมีคำกลอนของนางนพมาศจากตำนานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า

เป็นบุญตัวที่ได้ตามเสด็จประพาส
นักขัตฤกษ์ประชาราษฎร์สโมสร
สว่างไสวไปทั่วทั้งนคร
ทิฆัมพรแจ่มแจ้งแสงจันทร์เอย

ครั้งรัชกาลที่ ๔ ประเพณีหลวงหมดไป เพราะไม่เข้าใจความหมายทางสังคม พอรัชกาลที่ ๕ ฟื้นฟูใหม่ก็ไม่ขึ้น แต่ประเพณีราษฎร์เฟื่องฟูและแพร่หลายตามท้องถิ่นต่างฯ จรรโลงทั้งความมั่นคง ทางจิตใจของปัจเจกบุคคล และความสัมพันธ์ของสังคมของผู้คนในท้องถิ่น

เมื่อยังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าได้รับการสั่งสอนจากผู้ใหญ่ว่า การลอยกระทงนั้นคือการขอขมาพระแม่คงคาผู้มีพระคุณ ขอขมาจากการขับถ่ายสิ่งสกปรกลงในน้ำ ขอสะเดาะเคราะห์ให้สิ่งเลวร้ายทั้งหลายลอยพ้นตัวไป แล้วในเวลากลางดึก ตอนน้ำขึ้นสูงสุดและทรงตัวอยู่ชั่วขณะหนึ่งก่อนที่จะลดลงนั้น ก็ให้สวดมนต์ขอพรและตักน้ำนั้นมาล้างหน้าหรือชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ (purification rite)

ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล จะเชื่อจะทำหรือไม่ก็ตามที แต่ลอยกระทงของชาวบ้านนั้นมีความหมายทางสังคมมาก เพราะเป็นเวลาแห่งการรอคอยที่จะได้พบปะผู้คนที่รู้จักและไม่รู้จัก เพื่อสร้างความสัมพันธ์เก่าและใหม่ ทุกคนอยากแต่งตัวสวยงาม ทุกคนอยากไปดูการมหรสพ และมีส่วนรวมในการทำพิธีกรรม โดยเฉพาะหนุ่มสาวนั้นก็พอใจไปกับการเกี้ยวพาราสี อธิษฐานเสี่ยงทายในเรื่องของความรักและอนาคต

รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีอันเป็นสมัยเชื้อชาตินิยมนั้น ก็มีการฟื้นฟูประเพณีลอยกระทงให้เป็นประเพณีของชาติ มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตมาอธิบายความหมายความสำคัญของประเพณีลอยกระทงต่าง ๆ นานา แต่ที่ผู้คนในสังคมขานรับ ก็แต่เพียงเรื่องเพลงรำวงวันลอยกระทงเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังร้องและรำกันอยู่

ความรุ่งเรืองของประเพณีลอยกระทงอันกลายมาเป็นประเพณีราษฎร์นั้น เริ่มมีอันเปลี่ยนไปจนกลายเป็นประเพณีในการจัดการของรัฐอีกวาระหนึ่งตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ครั้งนั้นมีการจัดตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวขึ้นวางแผนเศรษฐกิจของชาติเพื่อให้มีรายได้จากการท่องเที่ยว ลอยกระทงจึงกลายเป็นงานแสดงแบบนำเอาวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมมาขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาจากภายนอก

และในขณะเดียวกันก็เป็นงานรื่นเริงแก่ผู้คนภายในที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน มาปลดปล่อยและระบายสิ่งสารพัดของความหยาบคายอันเป็นอาจมของมนุษย์ชาติ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 26 พ.ย. 12, 04:55

แนวคิดเกี่ยวกับประเพณีลอยกระทงและนางนพมาศของสุจิตต์ วงษ์เทศ อ่านได้จากบทความเรื่อง  “ลอยกระทงขอขมาธรรมชาติ”  โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ลอยกระทงขอขมาธรรมชาติ

ลอยกระทง เป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในชุมชนทั้งสุวรรณภูมิ หรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมาแต่ยุคดึกดำบรรพ์ เพื่อขอขมาต่อธรรมชาติ อันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยง ตลอดจนพืชและสัตว์ที่เกื้อกูลให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ มนุษย์จึงมีชีวิตเจริญเติบโตขึ้นได้ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีมาแต่เมื่อไร แต่พิธีกรรมเกี่ยวกับ “ผี” ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติ มีอยู่กับผู้คนในชุมชนสุวรรณภูมิไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปีมาแล้ว ตั้งแต่ก่อนรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดีย

ผีสำคัญยุคแรก ๆ คือ ผีน้ำ และ ผีดิน ซึ่งต่อมาเรียกชื่อด้วยคำยกย่องว่า “แม่พระคงคา” กับ “แม่พระธรณี” มีคำพื้นเมืองนำหน้าว่า “แม่” ที่หมายถึงผู้เป็นใหญ่

ผู้คนในสุวรรณภูมิรู้ว่าที่มีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะ น้ำ และ ดิน เป็นสำคัญ และ น้ำ เป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเป็นบ่อเกิดของสิ่งมีชีวิต ดังนั้น เมื่อคนเรามีชีวิตอยู่รอดได้ปีหนึ่ง จึงทำพิธีขอขมาที่ได้ล่วงล้ำก้ำเกินโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น เหยียบย่ำ ถ่ายของเสีย หรือทำสิ่งอื่นใดที่ไม่เหมาะสมเสียครั้งหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ทำพิธีบูชาพระคุณไปพร้อมกัน ด้วยการใช้วัสดุที่ลอยน้ำได้ใส่เครื่องเซ่นไหว้ให้ลอยไปกับน้ำ อาทิ ต้นกล้วย กระบอกไม้ไผ่ กะลามะพร้าว ฯลฯ และช่วงเวลาที่เหมาะสมที่คนเราเรียนรู้จากประสบการณ์ธรรมชาติ คือ สิ้นปีนักษัตรเก่า ขึ้นปีนักษัตรใหม่ ตามจันทรคติที่มีดวงจันทร์เป็นศูนย์กลาง เพราะเป็นสิ่งที่มีอำนาจทำให้เกิดน้ำขึ้น น้ำลง ซึ่งวันสิ้นปีนักษัตรเก่า ก็คือ วันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๑๒ เพราะเป็นช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด และเมื่อพ้นไปจากนี้ก็เริ่มขึ้น ปีนักษัตรใหม่ เรียกเดือนอ้าย แปลว่าเดือนหนึ่ง ตามคำโบราณนับหนึ่ง สอง สาม ฯลฯ ว่า อ้าย ยี่ สาม เป็นต้น และเมื่อเทียบช่วงเวลากับปฏิทินตามสุริยคติที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางก็จะตกราวเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี

ช่วงเวลาต่อเนื่องกันนี้เองที่ทำให้ชุมชนโบราณมีพิธีกรรมเกี่ยวกับน้ำหลายอย่าง เพื่อวิงวอนขอ “แม่” ของน้ำอย่าให้นองหลากมากล้น จนท่วมข้าวที่กำลังออกรวงเต็มที่ มิฉะนั้นข้าวจะจมน้ำตายหมด อดกินไปทั้งปี ดังมีกลอนเพลงเก่า ๆ ว่า “เดือนสิบเอ็ดน้ำนอง เดือนสิบสองน้ำทรง เดือนอ้ายเดือนยี่ น้ำก็รี่ไหลลง” ทำให้มีประเพณีแข่งเรือเสี่ยงทาย และการร้องขอ ขับไล่น้ำให้ลงเร็ว ๆ อย่าให้ท่วมข้าว

และหลังจากรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดียเมื่อราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ราชสำนักโบราณในสุวรรณภูมิก็ได้ปรับพิธีกรรม “ผี” เพื่อขอขมาน้ำและดินให้เข้ากับศาสนาที่รับเข้ามาใหม่ ทำให้ความหมายเดิมเปลี่ยนไป กลายเป็นการลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าและเทวดา ซึ่งในส่วนนี้มีพยานหลักฐานเก่าสุด คือ รูปสลักพิธีกรรมทางน้ำคล้ายลอยกระทงที่ปราสาทหินบายนในนครธม ทำขึ้นราวหลัง พ.ศ. ๑๗๐๐ แต่สำหรับชุมชนชาวบ้านทั่วไปก็ยังเข้าใจเหมือนเดิม คือ ขอขมาแม่พระคงคาและแม่พระธรณี ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในเอกสารของลาลูแบร์ชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกพิธีชาวบ้านในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเอาไว้หลายตอน เช่น “ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน...เราจะได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ......” เป็นต้น

สำหรับราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มน้ำ และมีน้ำท่วมนานหลายเดือนก็เป็นศูนย์กลางสำคัญที่จะสร้างสรรค์ประเพณีเกี่ยวกับน้ำขึ้นมาให้เป็น “ประเพณีหลวง” ของราชอาณาจักร ดังมีหลักฐานการตราเป็นกฎมนเทียรบาล ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องเสด็จฯ ไปประกอบพิธีกรรมทางน้ำ เพื่อความมั่นคงและมั่งคั่งทางกสิกรรมของราษฎร และยังมีกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารคเพื่อประกอบพระราชพิธีโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีเอกสารบันทึกอย่างเป็นทางการอยู่ในตำราพระราชพิธีกับวรรณคดีโบราณ เช่น โคลงทวาทศมาสที่มีการกล่าวถึงประเพณี “ไล่ชล” หรือไล่น้ำเพื่อวิงวอนให้น้ำลดเร็ว ๆ เป็นต้น ซึ่งประเพณีหลวงอย่างนี้ ไม่มีหลักฐานใด ๆ ปรากฏว่ามีอยู่ในเมืองที่อยู่เหนือกรุงศรีอยุธยาขึ้นไป เช่น สุโขทัย ที่ตั้งอยู่บนที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง จึงไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับกระบวนเรือพยุหยาตราชลมารค ส่วนตระพังหรือสระน้ำในสุโขทัยก็มีไว้เพื่อกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการบริโภคอุปโภคของวัดและวังที่อยู่ในเมือง และมิได้มีไว้เพื่อกิจกรรมสาธารณะอย่างเช่น ลอยกระทง ฯลฯ

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่บ้านเมืองมั่นคง การศึกสงครามลดลงเกือบหมด การค้าก็มั่งคั่งขึ้น โดยเฉพาะกับจีน พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ฟื้นฟูประเพณีพิธีกรรมสำคัญเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และด้วยความจำเป็นในด้านอื่น ๆ อีก จึงได้ทรงพระราชนิพนธ์หนังสือ ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือ นางนพมาศ ขึ้นมา โดยสมมุติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัย ซึ่งตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วง ที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้ง สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีป ลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท ซึ่งเมื่อพระร่วงเจ้าได้ทอดพระเนตรเห็นก็รับสั่งถามถึงความหมาย นางก็ได้ทูลอธิบายจนเป็นที่พอพระราชหฤทัย พระองค์จึงมีพระราชดำรัสว่า “แต่นี้สืบไปเบื้องหน้าโดยลำดับ กษัตริย์ในสยามประเทศถึงกาลกำหนดนักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัว อุทิศสักการบูชาพระพุทธบาทนัมมทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน”

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดกระทง ทำด้วยใบตองแทนวัสดุ อื่น ๆ แล้วนิยมใช้ลอยกระทงมาแต่คราวนั้นตราบจนทุกวันนี้ ซึ่งตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศนี้ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเชื่อว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากสำนวนโวหารมีลักษณะร่วมกับวรรณ กรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังมีเพราะมีข้อความหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่าแต่งสมัยกรุงสุโขทัยไม่ได้ เช่น การอ้างถึงอเมริกัน ปืนใหญ่ เป็นต้น ดังนั้น นางนพมาศ จึงเป็นเพียง “นางในวรรณคดี” มิได้มีตัวตนอยู่จริง

นอกจากนี้ ในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยและเอกสารร่วมสมัย ก็ไม่มีปรากฏชื่อ “ลอยกระทง” แม้แต่ในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงก็มีแต่ชื่อ “เผาเทียน เล่นไฟ” ที่มีความหมายอย่างกว้าง ๆ ว่า การทำบุญไหว้พระ โดยไม่มีคำว่า “ลอยกระทง” อยู่ในศิลาจารึกนี้เลย ส่วนเอกสารและวรรณคดีสมัย กรุงศรีอยุธยาสมัยแรก ๆ ก็มีแต่ชื่อ ชักโคม ลอยโคม แขวนโคม และลดชุดลอยโคมลงน้ำ ในพิธีพราหมณ์ของราชสำนักเท่านั้น และแม้แต่ในสมัยกรุงธนบุรีก็ไม่มีชื่อนี้ จนถึงยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีปรากฏชัดเจนในพระราชพงศาวดารแผ่นดิน รัชกาลที่ ๓ ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ และเรื่องนางนพมาศ พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๓ ซึ่งก็หมายความว่า คำว่า “ลอยกระทง” เพิ่งปรากฏในต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าประเพณีลอยกระทงจะเกิดขึ้น และมีพัฒนาการมาอย่างไรก็ตาม แต่ความหมายที่มีคุณค่ามหาศาลต่อสังคมปัจจุบันอันควรเผยแพร่ให้เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางก็คือ ลอยกระทงแม่พระคงคา ขอขมาธรรมชาติ อันมีดินและน้ำที่หล่อเลี้ยงเกื้อกูลความมีชีวิตให้มวลมนุษย์ตลอดจนพืชและสัตว์ ซึ่งการระลึกถึงพระคุณของธรรมชาตินี้เองจะช่วยให้เราเคารพและไม่ทำร้ายธรรมชาติ จนส่งผลให้ธรรมชาติย้อนกลับมาลงโทษมนุษย์ ดังเช่นที่เห็นในปัจจุบัน

 ยิงฟันยิ้ม

บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 26 พ.ย. 12, 05:00

ในค่ำคืนของวันเพ็ญเดือนสิบสอง กิจกรรมที่สำคัญคู่กับการลอยกระทงคงไม่พ้นการประกวดนางนพมาศ  นางนพมาศมีตัวจริงหรือไม่ อ่านได้จากบทความของ วรัฏรยา หุ่นเจริญ จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๖

ในสำนึกของคนไทยส่วนใหญ่เวลานี้ นามของนางนพมาศดูเหมือนจะได้กลายเป็น "สัญลักษณ์" ของงานลอยกระทงไปเสียแล้ว เพราะไม่ว่าจะเป็นที่แห่งใด ไฮไลต์ของงานลอยกระทงส่วนใหญ่จะกลายเป็นการประกวดนางนพมาศไปทั้งหมด  จริง ๆ แล้วชื่อ "นางนพมาศ" มาจากวรรณคดีไทยที่ค้นพบในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต้นฉบับเป็นสมุดไทย ๙ เล่ม ที่ปัจจุบันสำนักหอสมุดแห่งชาติเก็บรักษาไว้ ซึ่งมีการนำมาพิมพ์เผยแพร่เป็นหนังสือที่รู้จักกันดีในชื่อ "นางนพมาศ หรือ ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์" ที่เชื่อกันว่านางนพมาศ สนมเอกพระร่วงเจ้าในสมัยสุโขทัยเป็นผู้ประพันธ์ขึ้น นางนพมาศเริ่มต้นสาธยายเรื่องตั้งแต่ "ว่าด้วยชาติและภาษาต่าง ๆ" ซึ่งเป็นการจำแนกชาติและภาษาต่าง ๆ ออกไปหลายสิบชาติภาษา จากนั้นก็มาถึง "ว่าด้วยการแบ่งอาณาเขตในชมพูทวีป" อันเป็นการพรรณนาว่าด้วยการแบ่งพระนครและประเทศราช การทำสงครามและการเป็นไมตรีในระหว่างเมืองเอกราชเหล่านั้น จากนี้ไปอีก ๗ ตอน เป็นเรื่องเกี่ยวกับสมเด็จพระร่วงเจ้าและกรุงสุโขทัย พ้นไปจากนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับนางนพมาศโดยตรง

ประวัติของเธอในตอนนี้เริ่มจับความตั้งแต่เกิด เหตุที่เธอได้เป็นสนม ตลอดจนคำสอนที่บิดามารดามอบให้ มีการลองปัญญา มีการชักนิทานอุปมาอุไมย แล้วก็จบลงที่นางเรวดีผู้เป็นมารดานำเธอเข้าถวายตัวเป็นนางสนมในพระบรมมหาราชวัง จบตอนที่ว่าด้วยประวัตินางนพมาศ แล้วก็มาถึงตอนที่ว่าด้วยพระราชพิธีต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่พิธีจองเปรียญ พิธีวิสาขบูชาจนไปถึงพิธีอาศยุช ซึ่งในช่วงที่กล่าวถึงพิธีต่าง ๆ นี้ยังได้แทรกเกียรติประวัติของนางนพมาศเอาไว้เป็นแห่ง ๆ ด้วย โดยเฉพาะที่เธออ้างว่าเธอคิดประดิษฐ์โคมลอยเป็นรูปดอกกระมุทก็จะอยู่ในตอนนี้ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าเรื่องที่เธออ้างว่าเธอเป็นผู้ประดิษฐ์กระทง ก็คือ บทสรุปของนักวิชาการส่วนใหญ่ในสยามประเทศนี้ ที่มีมติพ้องต้องกันว่า เรื่องของนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์เป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี่เอง

ผู้นำขบวนค้านพระองค์แรกคือสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงมีลายพระหัตถ์ชัดเจนจาก Cinnamon Hall ที่ปีนัง เมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๔๗๙ ถึงพระยาอนุมานราชธน ว่า "หนังสือเรื่องนางนพมาศซึ่งฉันเข้าใจว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์" ด้วยทรงพบพิรุธจุดใหญ่ ๆ ดังนี้

ช่วงที่นางนพมาศพูดถึงชนชาติต่าง ๆ ก็ออกชื่อฝรั่งมาหลายชาติโดยเฉพาะอเมริกา แล้วฝรั่งมังค่าจะมาสุโขทัยตั้งแต่เมื่อ ๗๐๐ ปีก่อนได้อย่างไร ด้วยในเวลานั้นในยุโรปยังคงอยู่ในยุคมืดและเชื่อว่าโลกแบน กว่าวาสโก ดา กามา จะอ้อมแหลมกู๊ดโฮปได้เวลาก็ล่วงเลยมาจน พ.ศ. ๒๐๔๑  ที่สำคัญที่สุดคือ นางนพมาศเอ่ยชื่อฝรั่งชาติอเมริกา ประเทศที่เพิ่งสถาปนามาเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปี  แม้แต่คำว่า "อเมริกัน" เองก็เพิ่งเกิดขึ้นในครั้งกรุงเก่าเป็นราชธานี

เรื่องที่พูดกันมาตลอดคือสภาพภูมิศาสตร์ของรัฐสุโขทัยซึ่งตั้งอยู่บนที่ลาดราบเชิงเขา มีระยะห่างจากแม่น้ำยมซึ่งอยู่ด้านตะวันออกไปไม่น้อยกว่า ๑๐ กิโลเมตร จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งและน้ำหลากมากไปในฤดูฝน วิธีแก้ไขเรื่องน้ำหลากน้ำแล้ง คือสร้างสิ่งที่เรียกว่า "สรีดภงส" หรือทำนบกั้นน้ำหลากจากภูเขา และ "ตระพัง" เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เมื่อยามขาดแคลน  ดังนั้น ตระพังหรือสระน้ำทั้งหลายที่มีอยู่หลายแห่งในเมืองสุโขทัยจึงไม่ได้มีไว้ให้พายเรือเล่นสนุก หรือเพื่อลอยกระทงแต่อย่างใด เข้าใจกันเสียที ประเพณีลอยกระทงจึงหามีในรัฐสุโขทัยไม่ เนื่องจากพิธีลอยกระทงมีพัฒนาการมาจากการบูชาแม่น้ำของรัฐในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ ซึ่งพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "น้ำ" นอกจากพิธีลอยกระทงแล้วยังมีอีกมาก และกลายเป็นประเพณีที่สำคัญมากๆ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

หากใครเชื่อมั่นว่าศิลาจารึกของพ่อขุนรามสร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์แล้วลองอ่าน "จารึกพ่อขุนรามคำแหง : วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม" รศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้เปรียบเทียบสำนวนและสาระในศิลาจารึกหลัก ๑ กับตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ไว้อย่างบรรทัดต่อบรรทัด และสรุปไว้ชัดเจนว่า ผู้แต่งเรื่องนางนพมาศอาจจะเป็นคนเดียวกับผู้แต่งพ่อขุนรามคำแหง เนื่องจากผู้แต่งมีความประทับใจในเมืองสุโขทัยและต้องการสร้างโลกทัศน์ใหม่ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

เห็นได้ชัดว่า เรื่องนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ "มีพิรุธ" พอ ๆ กับจารึกพ่อขุนรามคำแหง แต่ต่างกันตรงที่เรื่องนางนพมาศมีบทสรุปแล้วว่าแต่งขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๙ ทำไมคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติยังหลับหูหลับตาเผยแพร่เรื่องนางนพมาศ ผู้เป็นต้นคิดประดิษฐ์กระทงว่า นางมีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์สุโขทัยมาจนบัดนี้

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
inteera
อสุรผัด
*
ตอบ: 14


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 26 พ.ย. 12, 09:31

ขอบคุณอาจารย์เพ็ญชมพูครับ ละเอียดมากิ ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
SILA
หนุมาน
********
ตอบ: 6362


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 26 พ.ย. 12, 10:05

          บางส่วนจากบทความล่าสุดของคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ
(บรรณาธิการหนังสือ ไม่มีนางนพมาศ ไม่มีลอยกระทงสมัยสุโขทัย)

                  ลอยกระทง คลองสวย น้ำใส

มติชนรายวัน 22 พฤศจิกายน 2555

                http://www.sujitwongthes.com/2012/11/siam22112555/

            นางนพมาศ เป็นวรรณกรรมคล้ายนิยายแต่งสมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ ที่สมมุติฉากกรุงสุโขทัย
โดยไม่เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ          
            ลอยกระทง เป็นประเพณีขอขมาด้วยสำนึกในพระคุณดินน้ำธรรมชาติซึ่งชุบเลี้ยงมนุษย์ ที่มีสืบมา
ยาวนานมาก ตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้วของอุษาคเนย์สืบจนปัจจุบัน
            โดยใช้วัสดุลอยน้ำได้ เช่น กระบอกไผ่, ต้นกล้วย, ฯลฯ ประดับประดาขอขมาผีดินผีน้ำที่เลี้ยงดูผู้คน
มาตลอดทั้งปี

            ครั้นถึง ร.3 ปรับเปลี่ยนวัสดุเหล่านั้นเป็นกระทงใบตองประดิดประดอยเป็นพิเศษ ดังมีบอกไว้ใน
พระราชพงศาวดาร แล้วนับแต่นั้นมานิยมเรียกลอยกระทง
  
            เหตุที่ลอยกระทงขอขมาดินน้ำธรรมชาติ ต้องอยู่ตอนกลางเดือน 12 ของทุกปี เพราะเป็นช่วงเวลา
สิ้นฤดูกาลเก่า (ส่งท้ายปีเก่า?) ตามจันทรคติ (ยกย่องพระจันทร์) แล้วกำลังจะขึ้นฤดูกาลใหม่(ขึ้นปีใหม่?)
ในเดือนอ้าย หรือเดือนที่หนึ่ง

            เมืองสุโขทัยของพระร่วง ตั้งอยู่บนที่ดอนเชิงเขาหลวง มีทางน้ำธรรมชาติไหลผ่านตัวเมืองเรียกคูแม่ลำพัน
ลงแม่น้ำยม ซึ่งห่างตัวเมืองสุโขทัยไปทางทิศตะวันออกราว 12 กิโลเมตร (ลำพัน น่าจะมาจากคำเขมรว่า ลํพาน่
อ่านว่า ลุม-เปือน หมายถึงว่านชนิดหนึ่ง จำพวกหญ้า ใบแบน ใช้ทำยาได้)

            เมื่อตั้งอยู่บนที่ดอนเชิงเขา เป็นบริเวณแล้งน้ำในฤดูแล้ง จึงต้องจัดการระบบน้ำในเมืองโดยขุดสระน้ำ
เรียกตระพัง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง

            สระน้ำ หรือตระพัง กลางเมืองสุโขทัย เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ของวัดและวังในเมือง จึงไม่ใช่ขุดไว้
ลอยกระทง (ตามที่ทางการยกเมฆหลอกคนทั่วไป) ซึ่งไม่เคยมีในยุคสุโขทัย


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 8  เมื่อ 26 พ.ย. 12, 10:14

           นางนพมาศ เป็นวรรณกรรมคล้ายนิยายแต่งสมัย ร.3 กรุงรัตนโกสินทร์ ที่สมมุติฉากกรุงสุโขทัย
โดยไม่เคยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงๆ

หนังสือเรื่อง "นางนพมาศ" หาอ่านได้ที่ ตู้หนังสือเรือนไทย นี้ นี่เอง

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 9  เมื่อ 27 พ.ย. 12, 08:29

            ครั้นถึง ร.3 ปรับเปลี่ยนวัสดุเหล่านั้นเป็นกระทงใบตองประดิดประดอยเป็นพิเศษ ดังมีบอกไว้ใน
พระราชพงศาวดาร แล้วนับแต่นั้นมานิยมเรียกลอยกระทง

กระทงใหญ่สมัยรัชกาลที่ ๓

จิตรกรรมบนบานประตูพระอุโบสถวัดยานนาวา ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๐ (ภาพจากหอจดหมายเหตุ)

 ยิงฟันยิ้ม


คลิกที่รูปเพื่อขยาย/ย่อ
บันทึกการเข้า
siamese
หนุมาน
********
ตอบ: 7165


หนุ่มรัตนะกับภูเขาทอง


ความคิดเห็นที่ 10  เมื่อ 27 พ.ย. 12, 09:21

ในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีการกล่าวถึงการลอยกระทงครั้งหนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ เป็นเรื่องที่หลังจากเซอร์ เจมส์ บรุคนำเรือกำปั่นมาทอดสมอรอที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อนำหนังสือสัญญาทางการค้ามาเปลี่ยนที่ทำไว้ในสมัยมิสเตอร์หันแตร โดยครั้งนี้สันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้กีดขวางเรือกำปั่นไว้ได้ ซึ่งเมื่อเซอร์ เจมส์ บรุค ได้เดินทางออกจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาไปเรียบร้อยแล้ว

เมื่อเรือตระเวนไทย เห็นเรือรบอังกฤษแล่นเข้ามาเกยตื้น จึงแจ้งราชการต่อพระยาสมุทบุรานุรักษ์ และพระยาสมุทบุรานุรักษ์จึงนำข้อความขึ้นกราบเรียนเจ้าพระยาพระคลัง เจ้าพระยาพระคลังจึงให้ล่ามไปถามเซอร์ เจมส์ บรุค

ล่าม ว่า : “เหตุใดจึงได้พาเรือมาติดเกยแห้งอยู่ดังนี้”

เซอร์ เจมส์ บรุค : เพียงอยากจะแล่นลองกำลังเรือดูว่าจะมีแรงกล้าแล่นข้ามสันดอนได้หรือไม่ได้ เมื่อเรือติดอยู่เช่นนี้ ขอคนมาช่วยขุดทรายเข็นเรือออกแล้ว จะลากลับไปบ้านเมือง

เจ้าพระยาพระคลังจึงมีบัญชาเกณฑ์คน ๑๐๐ คนเศษ ไปขุดทรายและเข็นเรือกำปั่นออกจากสันดอน ขุดทรายตั้งแต่เช้าน้ำขึ้น แต่พอเรือเขยื้อนได้ เรือก็หลุดออกพ้นสันดอน และชักกลับออกจากกรุงสยามเมื่อเวลาเที่ยงวัน

เมื่อสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนอิศเรศรังสรรค์, เจ้าพระยาพระคลัง  และพระยาสุริยวงศ์มนตรี เห็นว่าเซอร์ เจมส์ บรุค คงไม่กลับมาแน่นอน จึงได้พากันกลับไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูล มูลเหตุที่เป็นมาแล้ว ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จึงทรงพระราชโสมนัสปราโมทย์ยิ่งนัก พระราชทานดำรัสว่า “เทพยดาที่รักษาโขลนทวารปากน้ำเจ้าพระยา เธอเป็นสัมมาทิฐิป้องกัน มิให้พวกมิจฉาทิฐิเข้ามาในพระนครได้”

จึงโปรดเกล้าฯดำรัสให้เจ้าพระยาพระคลัง ตั้งการสมโภชจ้าวโขลนทวารปากน้ำเจ้าพระยา มีการสวดมนต์เย็น เลี้ยงพระเช้า สามวัน ทั้งจัดหาละคร งิ้ว มอญรำ และเวลากลางคืนมีกระทงดอกไม้สด ลอยลงไปที่ปากน้ำด้วย

จากเรื่อง โขลนทวารปากแม่น้ำเจ้าพระยา
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 11  เมื่อ 27 พ.ย. 12, 10:50

และหลังจากรับศาสนาพุทธ-พราหมณ์จากอินเดียเมื่อราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ราชสำนักโบราณในสุวรรณภูมิก็ได้ปรับพิธีกรรม “ผี” เพื่อขอขมาน้ำและดินให้เข้ากับศาสนาที่รับเข้ามาใหม่ ทำให้ความหมายเดิมเปลี่ยนไป กลายเป็นการลอยกระทงเพื่อบูชาพระพุทธเจ้าและเทวดา ซึ่งในส่วนนี้มีพยานหลักฐานเก่าสุด คือ รูปสลักพิธีกรรมทางน้ำคล้ายลอยกระทงที่ปราสาทหินบายนในนครธม ทำขึ้นราวหลัง พ.ศ. ๑๗๐๐

ประเพณีลอยประทีปไหว้พระแข

ภาพสลักที่ปราสาทบายน ราวพ.ศ. ๑๗๕๐

บน   - ภาพสลักลอยประทีป ผนังระเบียงด้านนอกสุดของปราสาทบายน บริเวณมุมผนังด้านทิศใต้มุมตะวันออก ถ่ายภาพโดย วรรณิภา สุเนต์ตา

ลาง  - ลายเส้นลอยประทีป ที่ปราสาทบายน ฝีมือ ธัชชัย ยอดพิชัย

 ยิงฟันยิ้ม


บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 12  เมื่อ 27 พ.ย. 12, 11:32

"ข้าน้อยนพไหว้วันทา พระแม่คงคา ที่ใช้น้ำดื่มกิน ใช้น้ำท่า หุงข้าวหาปลา ข้าน้อยขอขมาพระแม่คงคา กราบไหว้บูชาที่มีน้ำไว้ใช้"

ภาพสลักหินนูนต่ำ ปราสาทบายน สร้างขึ้นก่อนกรุงสุโขทัย  มีสลักประจักษ์ไว้บนแผ่นหินในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ซึ่งตัวปราสาทมีมาก่อนกรุงสุโขทัย เลยอยากทราบว่าเรารับวัฒนธรรมการขอขมาพระแม่คงคาจากเขมร หรือว่า ไทยคิดเองครับ


คำอธิบายของคุณสุจิตต์ข้างบน คงตอบคำถามของคุณหนุ่มได้

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 13  เมื่อ 27 พ.ย. 12, 13:58

แต่สำหรับชุมชนชาวบ้านทั่วไปก็ยังเข้าใจเหมือนเดิม คือ ขอขมาแม่พระคงคาและแม่พระธรณี ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในเอกสารของลาลูแบร์ชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกพิธีชาวบ้านในกรุงศรีอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเอาไว้หลายตอน เช่น “ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน...เราจะได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ......” เป็นต้น

The Siameses also have some Religious Shows. When the Waters begin to retreat, the People returns them Thanks for several Nights together with a great Illumination; not only for that they are retired, but for the Fertility which they render to the Lands. The whole River is then seen cover’d with floating Lanthorns, which pass with it. There are different Sizes, according to the Devotion of every particular Person; the variously painted Paper, whereof they are made, augments the agreeable effect of so many Lights. Moreover, to thank the Earth for the Harvest, they do on the first days of their Year make another magnificent Illumination; and we saw the Walls of the City adorned with lighted Lanthorns at equal distances; but the inside of the Palace was much more pleasant to behold. In the Wall which do make the Inclosures of the Courts, there were contrived three rows of small Niches all round, in every of which burnt a Lamp. The Windows and Doors were likewise all adorn’d with several Fires, and several great and small Lanthorns, of different Figures, garnished with Paper, or Canvas, and differently painted, were hung up with an agreeable Symmetry on the Branches of the Trees, or on Posts.

จาก A NEW HISTORICAL RELATION OF THE KINGDOM OF SIAM โดย Simone de La Loubère
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12599



ความคิดเห็นที่ 14  เมื่อ 27 พ.ย. 12, 14:19

อนึ่ง ชาวสยามมีมหรสพเนื่องในการพระศาสนาด้วย ลุฤดูน้ำเริ่มลด ประชาชนพลเมืองจะแสดงความขอบคุณแม่คงคาด้วยการตามประทีปโคมไฟขนาดใหญ่ (ในแม่น้ำ) อยู่หลายคืน มิชั่วแต่แม่พระคงคาจะลดราถอยไปเท่านั้น ยังอำนวยให้พื้นดินที่จะทำการเพาะปลูกอุดมดีอีกด้วย เราจะได้เห็นทั้งลำแม่น้ำเต็มไปด้วยดวงประทีปลอยน้ำ (กระทง) ไปตามกระแสธาร มีขนาดใหญ่ย่อมต่างกันตามศรัทธาประสาทะของแต่ละคน และมีกระดาษสีต่าง ๆ ซึ่งประดิษฐ์คิดทำกันขึ้นประดับประดาเครื่องลอยประทีปนั้น เพิ่มให้แสงสีงดงามขึ้นอีก.  โดยนัยเดียวกัน เพื่อแสดงความขอบคุณต่อแม่พระธรณีที่อนุเคราะห์ให้เก็บเกี่ยวพืชพรรณธัญญาหารได้อย่างอุดมสมบูรณ์ในวันต้น ๆ ของปีใหม่ ชาวสยามก็จะตามประทีปโคมไฟขึ้นอย่างมโหฬารอีกครั้งหนึ่ง. ครั้งแรกที่เราไปถึงเมืองละโว้นั้นเป็นเวลากลางคืน พอดีกับคราวตามประทีปนั้น และเราได้เห็นกำแพงเมืองตามประทีปโคมไฟสว่างไสวรายเรียงอยู่เป็นระยะ ๆ แต่ภายในพระบรมมหาราชวังนั้นยังงดงามยิ่งขึ้นไปอีก ในกำแพงแก้วที่ล้อมพระราชฐานนั้น มีซุ้มช่องกุฏิ ๓ แถวโดยรอบ แต่ละช่องมีประทีปดวงหนึ่งตามไฟไว้ บัญชรและทวารทั้งนั้นก็ประดับดวงประทีปด้วยเหมือนกัน มีโคมประทีปใหญ่และย่อม ตกแต่งเป็นรูปแปลก ๆ กัน ปิดกระดาษ หรือหุ้มผ้าแก้วโปร่งระบายสีต่าง ๆ  แขวนไว้อย่างเป็นระเบียบตามกิ่งไม้หรือตามเสาโคม.

จากหนังสือ "จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม" แปลโดย สันต์ ท. โกมลบุตร

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
หน้า: [1] 2 3 ... 7
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.076 วินาที กับ 20 คำสั่ง