ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ เสด็จพระราชดำเนินลงลอยพระประทีปตรงพระตำหนักแพลอย (หน้าท่าราชวรดิฐปัจจุบันนี้) เป็นการเสด็จฯออกนอกกำแพงพระราชวังและนอกกำแพงพระนคร จึงต้องจัดการป้องกันรักษาพระองค์อย่างแข็งแรง พนักงานกรมต่างๆ ทั้งกรมวัง กรมทหาร กรมพระตำรวจ กรมอาสา ฯลฯ ลอยเรือล้อมวงทอดทุ่นเป็นสามสาย สายใน สายกลาง และสายนอก สายละประมาณยี่สิบลำ
หน้าพระตำหนักแพลอยทอดเรือบัลลังก์สองลำขนานกัน เรือบัลลังก์ลำหนึ่งสำหรับเสด็จลงจุดพระทีปและประทับทอดพระเนตร เรือบัลลังก์ลำหลังจัดเป็นที่บรรทม ที่สรงลงพระบังคน และทอดเครื่องเสวย มีพระสุธารสเป็นต้น เพราะมักจะเสด็จลงประทับตั้งแต่หัวค่ำไปจนสิ้นเวลาลอยประทีป
ในรัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ นั้น กระทงหลวงทำเป็นเรือต่าง ๆ ประดิษฐ์รูปสัตว์ต่าง ๆ มีเรือหยวกบริวาร ๕๐๐ ทรงจุดประทีปเรือหลวง แล้วก็เรือสำเภาของพระยาโชฎึกราชเศรษฐี เรือพระบรมวงศานุวงศ์ แล้วจึงโปรดฯให้ปล่อยเรือกระบวนของข้าราชการ จุดประทีปลอยมากลางน้ำระหว่างทุ่นสายในกับเรือบัลลังก์ที่ประทับ
ในรัชกาลที่ ๑ มีเหตุ พระองค์เจ้าจันทบุรีพระชันษา ๕ ปี พลัดตกลงไปในน้ำระหว่างเรือบัลลังก์ก็จอดขนานกันในขณะตามเสด็จฯลงลอยพระประทีปนี้ ซึ่งเคยเล่ามาแล้ว
พระราชพิธีลอยพระประทีปครั้งที่ยิ่งใหญ่มโหฬารที่สุด คือในแผ่นดินรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นเวลาที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองที่สุด ถึงขนาดราษฎรมีเงินมาก พากันเก็บเงินฝังดินไว้ไม่นำออกมาใช้ จนไม่มีเงินหมุนเวียนในบ้านเมือง เป็นระยะที่อาจเรียกได้ว่า ‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ จดหมายเหตุโหรจดไว้ว่าราษฎรพูดจากันไพเราะไม่ด่าทอกัน
“จ.ศ. ๑๑๙๑ (พ.ศ.๒๓๗๒) ครั้งนั้นราษฎรชายหญิงเด็กรุ่นพูดกันต่าง ๆ ว่า พ่อขา แม่ขา ลุง ตายาย”
ผิดจากเมื่อ ๑๒ ปีก่อน เมื่อเพิ่งสถาปนาพระนครได ๓๕ ปี (พ.ศ. ๒๓๖๐) จดว่า “ครั้งนั้นชาวพระนครราษฎรด่ากัน ไอ้ห่ากิน ไอ้ห่าฟัด ไอ้ห่าหักคอ ทุกหญิงชายเด็ก”
ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจดี มั่งคั่งร่ำรวยกันตั้งแต่ขุนนางคหบดีลงไปถึงชาวบ้าน ใน พ.ศ.๒๓๖๘ และ พ.ศ.๒๓๖๙ ทั้งสองปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการ ซึ่งมีกำลังทรัพย์ ทำกระทงใหญ่ถวาย
พระราชพิธีลอยประทีปครั้งนี้ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ พรรณนาไว้ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ดังนี้
“ผู้ต้องเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง ทำเป็นแพหยวกบ้าง กว้าง ๘ ศอกบ้าง ๙ ศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอด ๑๐ ศอก ๑๑ ศอก (๔ ศอก = ๑ วา) ทำประกวดประขันกันต่าง ๆ ทำอย่างเขาพระสุเมรุทวีปทั้ง ๔ บ้าง และทำเป็นกระจาดชั้น ๆ บ้าง วิจิตรไปด้วยเครื่องสด คนทำก็นับร้อย คิดในการลงทุนทำกระทงทั้งค่าเลี้ยงคนเลี้ยงช่างเบ็ดเสร็จก็ถึง ๒๐ ชั่งบ้าง หย่อนกว่า ๒๐ ชั่งบ้าง กระทงนั้นวัน ๑๔ ค่ำ เครื่องเขียว วัน ๑๕ ค่ำเครื่องขาว แรมค่ำ ๑ เครื่องแดง ดอกไม้สดก็เลือกหาตามสีกระทง และมีจักรกลต่างกันทุกกระทง มีมโหรีขับร้องอยู่ในกระทงนั้นก็มีบ้าง เหลือที่จะพรรณนาว่ากระทงท่านผู้นั้นทำอย่างนั้น ๆ คิดดูการประกวดประขันกันจะเอาชนะกัน คงวิเศษต่าง ๆ กัน เรือมาดูกระทงตั้งแต่บ่าย ๔ โมง เรือชักลากกระทงขึ้นไปเข้าที่บ่าย ๕ โมง เรือเบียดเสียดกันแน่นหลีกไม่ใคร่จะไหวดูเป็นอัศจรรย์ เรือข้าราชการและราษฎรมาดูเต็มไปทั้งแม่น้ำที่ทรงขอแรงทำกระทงนั้น ในพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ คือ กรมหมื่นสุรินทรรักษ ๑ กรมหมื่นรักษรณเรศร ๑ กรมหมื่นเดชอดิศร ๑ กรมหมื่นพิพิธภูเบนทร ขุนนาง คือ ท่านเจ้าพระยาอภัยภูธร ๑ ท่านเจ้าพระยาพระคลัง ๑ ท่านพระยาศรีพิพัฒน์ ๑ พระยาพิชัยวารี ๑ พระยาราชมนตรี ๑ พระยาโชฎึกราชเศรษฐี ๑ รวม ๑๐ กระทง เวลาค่ำเสด็จลงพระตำหนักน้ำ ทรงลอยพระประทีป
เจ้าพระยาพระคลัง พระยาศรีพิพัฒน์ ได้ชักชวนขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยที่เข้ามาเฝ้าตามเสด็จลงไปอยู่ที่โรงเรือหลังพระตำหนักน้ำรักษาด้านนอกอยู่ ครั้นเสด็จกลับขึ้นมาทอดพระเนตรเห็น ก็ได้พระราชทานส่วนพระราชกุศล ทรงปราศรัยด้วยทุกคน ด้วยแต่ก่อนเสด็จลงลอยพระประทีปแล้วขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยที่เข้าไปเฝ้าต่างคนต่างไปบ้านก่อนเวลาเสด็จขึ้น การที่เจ้าพระยาพระคลังทำจึงเป็นอย่างเป็นธรรมเนียมติดมาจนทุกวันนี้
ปีรุ่งขึ้น พ.ศ.๒๓๖๙ เมื่อโปรดฯให้ทำอีกยิ่งงดงามวิเศษยิ่งขึ้น ทรงทราบว่าต้องลงทุนมากมาย จึงมีพระราชดำรัสว่า “ไม่รู้เลย ลงทุนรอนมากมายหนักหนา ตั้งแต่นี้ต่อไปอย่าให้ทำอีกเลย”
จาก
เรื่องพระราชพิธีลอยกระทง โดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์
สุขสันต์วันลอยกระทง
