รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ได้เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องลอยกระทงและการท่องเที่ยว ในวารสารเมืองโบราณ ปี ๒๕๔๗ ฉบับที่ ๓๐.๔
ลอยกระทง: จากประเพณีหลวงสู่ประเพณีราษฎร์ แล้วพินาศด้วยการท่องเที่ยวพระราชพิธีลอยกระทงเป็นสิ่งที่มีอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ นับเป็นประเพณีที่โอ่อ่าและโดดเด่นทางสังคม มีตำนานอ้างการเกิดมาจากการริเริ่มของนางนพมาศ หรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ อันเป็นพระสนมองค์หนึ่งของสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไทย ครั้งกรุงสุโขทัย
ครั้งรัชกาลที่ ๓ พระมหากษัตริย์เสด็จออกประทับ ณ พระที่นั่งริมน้ำหน้าพระบรมมหาราชวัง พร้อมทั้งเจ้านาย ขุนนางฝ่ายหน้าและฝ่ายใน ทอดพระเนตรการประกวดลอยกระทงที่บรรดาเจ้านาย ขุนนาง และข้าราชการตกแต่งเป็นรูปต่างๆ และมีกลไกแสดงเรื่องราวต่าง ๆ แข่งกันลอยประกวด ทำให้เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และโอ่อ่า
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าสิ้นเปลือง จึงให้เลิกรูปแบบนั้นเสีย แต่ทรงสร้างรูปแบบใหม่ขึ้นมาแทน คือโปรดฯ ให้สร้างเป็นเรือลอยพระประทีปขึ้นมาแทน เป็นเรือเล็กๆ จำลองจากขบวนเรือพระที่นั่ง เพื่อจุดประทีปลอยตามลำน้ำในวันลอยกระทงแทน เพราะหลังวันงานแล้วยังเก็บไว้ใช้ลอยในปีต่อ ๆ ไปได้
แต่รูปแบบที่เกิดใหม่นี้ดูไม่เป็นที่นิยม จึงทำให้เลือนหายไป
ครั้งรัชกาลที่ ๕ ก็มีการฟื้นฟูการทำกระทงขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมเช่นครั้งรัชกาลที่ ๓
เข้าใจว่าประเพณีนี้เพียงคลายจากการเป็นพระราชพิธีในราชสำนักมาเป็นพิธีราษฎร์โดยทั่วไปแทน จึงได้มีการสืบเนื่องเรื่อยมา แล้วมาฟื้นฟูกันอีกแต่สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นต้นมา
จนในปัจจุบันนี้ ประเพณีลอยกระทงดูเหมือนได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาให้เกิดมีหลากหลายรูปแบบและความหมายอย่างสุด ๆ จนเรียกได้อย่างเต็มปากว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงให้เป็นสินค้าเพื่อการท่องเที่ยวโดยการชี้แนะและสนับสนุนของ ททท. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐเลยทีเดียว
สังคมในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ตั้งแต่พระนครศรีอยุธยามาจนถึงกรุงเทพฯ คือสังคมที่พัฒนาขึ้นในบริเวณลุ่มน้ำลำคลองของดินดอนสามเหลี่ยมใหม่ (young delta) ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๙ - ๒๐ ลงมา โดยมีอยุธยาและกรุงเทพฯ เป็นราชธานี การดำรงชีวิตของคนส่วนใหญ่ขึ้นกับน้ำในแม่น้ำลำคลองที่มีอิทธิพลทั้งในด้านการคมนาคม การอยู่อาศัย และการทำมาหากิน ทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องน้ำและแสดงออกด้วยการมีประเพณีพิธีกรรมที่เกี่ยวกับน้ำในรอบปีอย่างโดดเด่น
เกิดพระราชพิธีสนามทางน้ำขึ้นในท้องน้ำที่มีการกำหนดขอบเขตไว้อย่างชัดเจน คือพระราชพิธีเสี่ยงน้ำในเดือนสิบเอ็ด พระราชพิธีส่งน้ำในเดือนสิบสอง และพระราชพิธีไล่น้ำในเดือนอ้าย หรือเดือนหนึ่ง
พระราชพิธีในเดือนสิบเอ็ด เป็นการแข่งเรือระหว่างพระมหากษัตริย์และพระมเหสี เป็นการเสี่ยงทาย ถ้าหากว่าเรือพระมหากษัตริย์ชนะ ปีนั้นการเพาะปลูกไม่ได้ผลดี แต่ถ้าเรือพระมเหสีชนะ ก็จะมีความอุดมสมบูรณ์
พระราชพิธีเดือนสิบสอง พระมหากษัตริย์เสด็จลงเรือพระที่นั่งออกไปส่งน้ำเพื่อให้น้ำลดลง
ในขณะที่พระราชพิธีเดือนอ้ายเป็นการเสด็จไปทำพิธีไล่น้ำ เพื่อให้ลดลงไปก่อนที่จะท่วมต้นข้าวให้ตาย
พระราชพิธีเดือนสิบสอง คือพิธีส่งน้ำนั้นแหละคือต้นเค้าของการลอยกระทง เพราะน้ำจะขึ้นเต็มที่ในวันเพ็ญเดือนสิบสอง อันเป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง นับเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเพียงครั้งหนึ่งในรอบปี ทำให้คนโบราณนำไปเกี่ยวพันกับการเป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์
ในเดือนนี้ นอกจากมีพิธีส่งน้ำแล้ว ก็ยังมีพระราชพิธีจองเปรียงลดชุดลอยโคม อันเป็นพิธีพราหมณ์รวมอยู่ด้วย
ดังนั้น ถ้ามองจากรูปแบบที่เป็นพิธีส่งน้ำและจองเปรียงแล้ว ก็แลไม่เห็นว่าจะมีพิธีลอยกระทงกันตรงไหน
พระราชพิธีเดือนสิบสองนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับพิธีเดือนสิบเอ็ดและพิธีเดือนอ้ายแล้วมีภาษีกว่า เพราะมีปรากฏการณ์ธรรมชาติทั้งในเรื่องน้ำและเวลากลางคืน อันสว่างไสวไปด้วยพระจันทร์เต็มดวง ที่กระตุ้นความสุขและความยินดี จึงทำให้เป็นประเพณีที่ต่อเนื่องและแพร่หลายได้ดี ประเพณีเดือนสิบเอ็ดและเดือนอ้าย
อีกทั้งเกิดมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ของรัชกาลที่ ๕ ทรงกล่าวถึงว่ามีหลักฐานการเสด็จลงเรือพระที่นั่งของพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ซึ่งเข้าใจว่าคือสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ ทรงพระภูษาสีขาวเงิน ประทับเรือพระที่นั่งเสด็จไปตามลำน้ำพร้อมด้วยข้าราชบริพารฝ่ายหน้าและฝ่ายใน เพื่อไปทำพระราชพิธีส่งน้ำในวันเพ็ญเดือนสิบสอง
พระราชพิธีในสมัยอยุธยาตอนปลายนี้คงคลายความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ตามคติของศาสนาพราหมณ์ที่มีในสมัยอยุธยาตอนต้นไปมากแล้ว คงให้ความสำคัญกับเรื่องความสนุกรื่นเริงเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการตอบสนองความต้องการในด้านจิตใจมาเป็นกิจกรรมทางสังคม
ครั้นถึงสมัยกรุงเทพฯ ความเชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ก็ยิ่งน้อยลง แต่หันมาเพิ่มความสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมแทน จึงเกิดรูปแบบใหม่ที่เน้นความสนุกสนานทางโลก ในรูปแบบการลอยกระทงที่เป็นศิลปวัฒนธรรมแทน
แต่พอทางราชการในสมัยรัชกาลที่ ๔ เห็นว่าเป็นการฟุ่มเฟือย และโปรดฯ ให้เรือประทีปมาลอยแทน ก็เลยเซ็งเลิกร้างกันไป ทำให้พิธีหลวงเปลี่ยนมาเป็นพิธีราษฎร์ คือผู้คนที่เป็นประชาชนไปเล่นลอยกระทงกันเองตามที่ต่าง ๆ
เทศกาลลอยกระทงในประเพณีราษฎร์อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แต่ก็ยึดปรากฏการณ์ธรรมชาติในช่วงเวลาที่น้ำขึ้นถึงขีดสุดในวันเพ็ญเดือนสิบสองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน เพราะเป็นเวลาที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะอธิษฐานขอพรสิ่งนอกเหนือธรรมชาติให้พาเอาความทุกข์โศกโรคภัยออกไป แล้วนำสิ่งที่เป็นความสุขและความสวัสดิมงคลมาให้ เป็นกิจกรรมทางสังคมที่เชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคมของบรรดาผู้คนที่อยู่ในหมู่เหล่าชุมชนในท้องถิ่นเดียวกัน
ข้าพเจ้าคิดว่าผู้ที่ทำให้ประเพณีหลวงคลายความสำคัญลงก็คือพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะทรงเห็นว่าพระราชพิธีในสมัยรัชกาลที่ ๓ นั้นสิ้นเปลือง เลยทรงคิดรูปแบบพระราชพิธีแบบประหยัดขึ้นมา จึงไม่ทรงตระหนักว่าการลอยกระทงครั้งรัชกาลที่ ๓ นั้นได้กลายเป็นประเพณีที่ยอมรับกันในสังคมแล้ว อีกทั้งทำให้เกิดการทำกระทงลอยกัน ในบรรดาราษฎรตามท้องถิ่นในลุ่มน้ำลำคลองโดยทั่วไป
ประเพณีลอยกระทงครั้งรัชกาลที่ ๓ หาได้มีความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์ในการส่งน้ำอย่างที่มีมาในสมัยอยุธยาไม่ หากเป็นงานนักขัตฤกษ์ที่เน้นความรุ่งเรืองสุขสำราญของผู้คนทั้งหลายในสังคมโดยตรง ดังมีคำกลอนของนางนพมาศจากตำนานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ว่า
เป็นบุญตัวที่ได้ตามเสด็จประพาส
นักขัตฤกษ์ประชาราษฎร์สโมสร
สว่างไสวไปทั่วทั้งนคร
ทิฆัมพรแจ่มแจ้งแสงจันทร์เอย
ครั้งรัชกาลที่ ๔ ประเพณีหลวงหมดไป เพราะไม่เข้าใจความหมายทางสังคม พอรัชกาลที่ ๕ ฟื้นฟูใหม่ก็ไม่ขึ้น แต่ประเพณีราษฎร์เฟื่องฟูและแพร่หลายตามท้องถิ่นต่างฯ จรรโลงทั้งความมั่นคง ทางจิตใจของปัจเจกบุคคล และความสัมพันธ์ของสังคมของผู้คนในท้องถิ่น
เมื่อยังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าได้รับการสั่งสอนจากผู้ใหญ่ว่า การลอยกระทงนั้นคือการขอขมาพระแม่คงคาผู้มีพระคุณ ขอขมาจากการขับถ่ายสิ่งสกปรกลงในน้ำ ขอสะเดาะเคราะห์ให้สิ่งเลวร้ายทั้งหลายลอยพ้นตัวไป แล้วในเวลากลางดึก ตอนน้ำขึ้นสูงสุดและทรงตัวอยู่ชั่วขณะหนึ่งก่อนที่จะลดลงนั้น ก็ให้สวดมนต์ขอพรและตักน้ำนั้นมาล้างหน้าหรือชำระล้างร่างกายให้บริสุทธิ์ (purification rite)
ที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล จะเชื่อจะทำหรือไม่ก็ตามที แต่ลอยกระทงของชาวบ้านนั้นมีความหมายทางสังคมมาก เพราะเป็นเวลาแห่งการรอคอยที่จะได้พบปะผู้คนที่รู้จักและไม่รู้จัก เพื่อสร้างความสัมพันธ์เก่าและใหม่ ทุกคนอยากแต่งตัวสวยงาม ทุกคนอยากไปดูการมหรสพ และมีส่วนรวมในการทำพิธีกรรม โดยเฉพาะหนุ่มสาวนั้นก็พอใจไปกับการเกี้ยวพาราสี อธิษฐานเสี่ยงทายในเรื่องของความรักและอนาคต
รัฐบาลสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีอันเป็นสมัยเชื้อชาตินิยมนั้น ก็มีการฟื้นฟูประเพณีลอยกระทงให้เป็นประเพณีของชาติ มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตมาอธิบายความหมายความสำคัญของประเพณีลอยกระทงต่าง ๆ นานา แต่ที่ผู้คนในสังคมขานรับ ก็แต่เพียงเรื่องเพลงรำวงวันลอยกระทงเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังร้องและรำกันอยู่
ความรุ่งเรืองของประเพณีลอยกระทงอันกลายมาเป็นประเพณีราษฎร์นั้น เริ่มมีอันเปลี่ยนไปจนกลายเป็นประเพณีในการจัดการของรัฐอีกวาระหนึ่งตั้งแต่สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นต้นมา ครั้งนั้นมีการจัดตั้งสำนักงานการท่องเที่ยวขึ้นวางแผนเศรษฐกิจของชาติเพื่อให้มีรายได้จากการท่องเที่ยว ลอยกระทงจึงกลายเป็นงานแสดงแบบนำเอาวัฒนธรรมของผู้คนในสังคมมาขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มาจากภายนอก
และในขณะเดียวกันก็เป็นงานรื่นเริงแก่ผู้คนภายในที่ไม่มีหัวนอนปลายตีน มาปลดปล่อยและระบายสิ่งสารพัดของความหยาบคายอันเป็นอาจมของมนุษย์ชาติ
