เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 2802 ภาษาอเมริกันวันละคำ Go Native
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


 เมื่อ 25 พ.ย. 12, 18:59

Go Native
เข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตาม

บ่ายวันหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้   สาวไทยเดินสวนกับหนุ่มอเมริกันบนทางเดินภายในสถานทูตขณะกำลังจะออกไปทานอาหารกลางวัน   ด้วยความที่คลุกคลีตีโมงกับชาวต่างชาติมานานจนคุ้นเคยกับขนบธรรมเนียมของพวกเขาเป็นอย่างดี   สาวไทยจึงขยับปากส่งยิ้มให้แก่หนุ่มที่เดินสวนไปตามความเคยชิน   แต่แล้วก็ต้องหุบยิ้มทันควันเมื่อพบว่าพ่อหนุ่มคนนั้นกำลังก้มหน้ามองพื้น  ก่อนที่จะเดินผ่านสาวไทยไปโดยมิได้ส่งเสียงทักทายแม้แต่คำเดียว     

“He’s gone native.” สาวไทยนึกในใจ

Go native เป็นวลีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในภาษาอังกฤษทั้งแบบราชอาณาจักรและแบบอเมริกัน  เพื่ออธิบายถึงการที่ชาวต่างชาติบางคนได้โยกย้ายถิ่นฐานไปอยู่นอกประเทศของตนเป็นเวลานานจนเกิดการฝักใฝ่ในวัฒนธรรม  ขนบธรรมเนียม หรือวิถีปฏิบัติของคนในท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่นั้นอย่างเต็มที่   ถึงขนาดที่ละทิ้งขนบธรรมเนียมหรือวิถีปฏิบัติดั้งเดิมของบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองไปเสีย    หนุ่มอเมริกันที่เอ่ยถึงไปข้างต้น  ถ้ายังอยู่ที่อเมริกา  เขาก็คงจะส่งยิ้มทักทายใครต่อใครที่เดินสวนกันไปตามธรรมเนียมอเมริกันไปแล้ว  ไม่ว่าจะรู้จักมักจี่กันมาก่อนหรือเปล่าก็ตามที  แต่เมื่อมาอยู่เมืองไทย  เขาอาจจะคุ้นชินกับการที่คนไทยเดินผ่านเขาไปโดยไม่สบตาหรือส่งยิ้มทักทาย (เพราะการทักทายคนแปลกหน้านั้นหาได้เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยสมัยก่อนไม่)   ทำให้เขารับเอาวิถีปฏิบัติแบบเดียวกันมาใช้กับคนไทยโดยทั่วไปด้วย
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 25 พ.ย. 12, 19:00

ตำราบางเล่มระบุไว้ว่า  วลี “go native”  นี้เริ่มใช้กันครั้งแรกกับชาวยุโรปที่ถูกส่งไปปกครองดินแดนอันเป็นเมืองขึ้นในทวีปแอฟริกา   และได้หล่อหลอมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับวัฒนธรรมท้องถิ่นจนประพฤติปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับคนที่นั่น  (เช่น นุ่งผ้าเตี่ยวแบบชนเผ่า  เดินเท้าเปล่า  เป็นต้น)   บางตำราก็บอกว่า  เริ่มใช้กันครั้งแรกกับชาวอังกฤษที่มาตั้งรกรากใน “New World”  หรือดินแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของประเทศสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน   เพราะมีบางพวกที่หล่อหล่อมตัวเองให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมคนพื้นเมืองอเมริกันอินเดียนได้เป็นอย่างดี   (ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง Dances With Wolves ที่กำกับและนำแสดงโดยเควิน คอสต์เนอร์ ก็น่าจะพอนึกตัวอย่างออก)   

แต่ไม่ว่าจะกรณีไหน  ผู้อ่านที่ทรงคุณวุฒิหลายท่านก็คงจะพอเดาได้ว่านัยที่แฝงอยู่ของวลี “go native” นี้มันค่อนข้างจะดูถูกดูแคลนคนท้องถิ่นอยู่ไม่ใช่น้อย  ทั้งนี้ก็เพราะว่าทั้งชาวยุโรปในแอฟริกาหรือชาวอังกฤษใน “New World” เมื่อหลายร้อยปีก่อนหน้านี้ โดยมากแล้วก็มักจะมีทัศนคติในเชิงลบต่อวัฒนธรรมของคนพื้นเมืองแทบทั้งสิ้น เนื่องจากเขาเอามาตรฐานที่ยึดถือกันอยู่ในสังคมของตัวเองและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ตัวเองคุ้นชินมาใช้ในการตัดสินอีกสังคมหนึ่ง  ซึ่งอาจจะมีมาตรฐานหรือขนบธรรมเนียมที่แตกต่างไปจากบ้านเกิดเมืองนอนของเขา   บางคนถึงกับเรียกคนพื้นเมืองว่าพวก “barbarian” (ออกเสียงแบบอเมริกันว่า “บาร์-แบ๊-เหรี่ยน”) หรืออนารยชนไปโน่น       
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 25 พ.ย. 12, 19:02

สาเหตุหนึ่งที่กระทรวงการต่างประเทศของประเทศต่าง ๆ ต้องกำหนดให้นักการทูตของเขาไปประจำอยู่ในต่างแดนได้ไม่เกินสามปีก็มาจากความกังวลที่ว่านักการทูตเหล่านั้นจะ “go native” นี่แหละ      เพราะโดยหน้าที่แล้ว  เราทำงานให้ประเทศไหนก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศนั้นเป็นหลัก  แต่นักการทูตบางคนพอไปอยู่ประเทศไหนนาน ๆ ก็อาจจะหลงรักผู้คนหรือขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศนั้นจนลืมภาระหน้าที่ที่ตนเองมีต่อบ้านเกิดเมืองนอนเสีย   การกำหนดวาระประจำการไว้ที่สามปีจึงช่วยสร้างปัจจัยทางจิตวิทยาให้แก่นักการทูตเหล่านั้นได้อีกทางหนึ่ง  เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น  ถ้าเรารู้ว่าเราจะต้องไปอยู่ที่ไหนเป็นเวลาไม่นาน  เราก็อาจจะไม่ลงทุนลงแรงมากนักในอันที่จะเรียนรู้ขนบธรรมเนียมหรือวัฒนธรรมของสถานที่ที่เราจะไปอยู่ให้ได้อย่างถ่องแท้    เพราะเดี๋ยวเราก็ต้องย้ายไปประเทศอื่นแล้ว   

ฝรั่งบางคนอยู่บ้านตัวเองก็ทำตัวสุภาพเรียบร้อย ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคมและกฎหมายบ้านเมืองตามปกติ   แต่พอมาอยู่เมืองไทยปั๊บก็กลายเป็น “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้” แบบพี่ไทยไปเสียนี่    ครั้งหนึ่งสาวไทยถูกคนขับรถเก๋งคันหนึ่งขับประชิดท้ายบนถนนสารสินพร้อมเปิดไฟกระพริบไล่หลังถี่ยิบ  ทั้ง ๆ ที่สาวไทยก็ขับตามรถคันหน้าไปด้วยความเร็วปกติสำหรับการขับในเมืองใหญ่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน   พอคนขับรถใจร้อนขับแซงซ้ายแล้วปาดหน้ากลับเข้ามาในเลนถึงได้เห็นว่าเป็นชาวต่างชาติ  ไอ้แบบนี้ถ้าไปทำในบ้านเขาถ้าไม่โดนตำรวจจับฐาน “careless or reckless driving” (ขับขี่ยวดยานพาหนะในลักษณะที่อาจเป็นอันตรายแก่ผู้อื่น)  ก็คงโดนคนอื่น ๆ ในสังคมปฏิเสธที่จะคบค้าสมาคมด้วยไปแล้ว 
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 25 พ.ย. 12, 19:02

แต่มนุษย์บางคน  ต่อให้ไปอยู่ต่างบ้านต่างเมืองนานแค่ไหนก็ยังประพฤติปฏิบัติเหมือนกับอยู่บ้านตัวเอง  ไม่เคย go native ในเรื่องที่ควรจะทำ   โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สุขของสังคมโดยรวม   เมื่อปี 2551 นักเศรษฐศาสตร์สองคนจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียและเบิร์คลี่ย์ของสหรัฐอเมริกาได้ร่วมกันทำการวิจัยขึ้นมาชิ้นหนึ่ง  เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีนักการทูตละเมิดกฎจราจรมากที่สุดกับสถานการณ์ด้านคอร์รัปชั่นหรือการฉ้อราษฎร์บังหลวงในประเทศนั้นๆ เอง   โดยการใช้สถิติการละเมิดกฎจราจรของนักการทูตที่ถูกส่งไปประจำการยังสำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติในนครนิวยอร์คเป็นพื้นฐานของการวิจัย  ผลการศึกษาที่ออกมาทำให้เห็นได้ชัดว่านักการทูตบางประเทศมิได้ “go native”หรือซึมซับเอามาตรฐานหรือค่านิยมในสังคมอเมริกันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันด้วยเลย   

ผู้อ่านหลายท่านคงทราบดีว่า   นักการทูตแต่ละคนนั้นมีเอกสิทธิทางการทูต หรือ diplomatic immunity คุ้มครองอยู่ ทำให้เมื่อไปประจำการที่ไหน  ทางการของประเทศนั้น ๆ ไม่สามารถจับกุมหรือดำเนินคดีกับเขาได้ถ้าเขาเกิดไปทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดอันเป็นการละเมิดกฎหมายท้องถิ่นขึ้นมา      นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ในแต่ละปี    นครนิวยอร์คต้องสูญเสียรายได้ที่จะมาจากการจัดเก็บค่าปรับผู้จอดรถในบริเวณห้ามจอดเป็นจำนวนสูงถึง 17 ล้านเหรียญ เพราะนักการทูตที่ไปประจำการที่นั่นมักจะจอดรถประจำตำแหน่งของพวกเขาที่ไหนก็ได้ที่เขานึกอยากจะจอด  ด้วยเหตุที่มีเอกสิทธิทางการทูตคุ้มครอง ทำให้ไม่ต้องไปเสียค่าปรับนั่นเอง
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 25 พ.ย. 12, 19:03

จะว่าไปแล้ว  นี่คือการ abuse หรือการใช้เอกสิทธิในทางการทูตในทางที่ผิดอย่างหนึ่ง  คนที่มี dignity หรือความนับถือในตนเองก็มักจะไม่ทำกัน  ในวอชิงตันดีซี  ตำรวจที่โน่นเขาหาวิธีมาแก้เผ็ดพวกใช้เอกสิทธิทางการทูตพร่ำเพรื่อแบบนี้ด้วยการลากรถของนักการทูตที่จอดในบริเวณห้ามจอดไปเก็บในสถานที่ที่เขาเช่าไว้สำหรับเก็บรถที่ละเมิดกฎจราจรประเภทนี้โดยเฉพาะ   (ซึ่งโดยมากแล้วก็จะเป็นสถานที่ที่เดินทางไปมาลำบากเพราะอยู่ออกนอกตัวเมืองไปไกลโข)   อีกทั้งบังคับให้ผู้มารับรถคืนต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมในการรับรถสูงลิบลิ่ว  เนื่องจากเขาคิดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการลากรถออกจากบริเวณห้ามจอด  ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ค่ารถลาก  ค่าน้ำมันจิปาถะ  แล้วยังค่าเช่าสถานที่สำหรับเก็บรถเหล่านี้ในระหว่างที่เจ้าของยังไม่มารับคืนอีกด้วย  ต่าง ๆ เหล่านี้เอกสิทธิทางการทูตไม่คุ้มครองให้ นักการทูตต้องควักกระเป๋าเอง   จ่ายค่าปรับอาจจะถูกกว่าด้วยซ้ำ  (เมืองไทยน่าจะมีอย่างนี้บ้าง  พวกจอดรถกีดขวางการจราจรในเวลาเร่งด่วนจะได้เข็ด) 

กลับไปพูดเรื่องการวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันต่อ   ผลการวิจัยพบว่า  นักการทูตที่ละเมิดกฎจราจรในนิวยอร์คมากที่สุดนั้น   โดยมากแล้วจะมาจากประเทศที่อยู่ท้าย ๆ ของดัชนีการจัดอันดับภาพลักษณ์เรื่องคอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนชื่อ Transparency International (TI)  จัดทำขึ้นทุกปี  ไม่ว่าจะเป็น คูเวต อียิปต์ (สมัยก่อนประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารักจะถูกโค่นล้มอำนาจ)  ซูดาน  แชด และบัลกาเรีย  เป็นต้น ส่วนนักการทูตที่ละเมิดกฎจราจรน้อยที่สุดหรือไม่เลยก็มาจากประเทศพัฒนาแล้ว  เช่น อังกฤษ  ญี่ปุ่น แคนาดา  ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ใน 20 อันดับแรกของประเทศที่ TI จัดว่ามีคอร์รัปชั่นน้อยที่สุดจากทั้งหมด 182 ประเทศที่ได้รับการสำรวจในแต่ละปี 
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 25 พ.ย. 12, 19:04

หลังจากได้แสดงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่นักการทูตละเมืดกฎจราจรในนิวยอร์คมากที่สุดกับสถานการณ์ด้านคอร์รัปชั่นในประเทศนั้น ๆ ตามที่ได้รับทราบจากดัชนีวัดภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชั่นของ TI แล้ว  นักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองท่านนี้ก็ขยายการวิจัยออกไปอีก   ด้วยการมองค่านิยมที่ยึดถือกันอย่างแพร่หลายอยู่ในสังคมของแต่ละประเทศที่มีนักการทูตละเมิดกฎจราจรมากที่สุด  และผลกระทบที่ค่านิยมเหล่านั้นจะมีต่อคอร์รัปชั่นในประเทศดังกล่าว 

เหตุผลที่การจอดรถในที่ห้ามจอดกลายเป็นดัชนีที่ดีมากดัชนีหนึ่งสำหรับวัดระดับคอร์รัปชั่นในแต่ละประเทศก็คงมาจากสาเหตุที่ว่า  การจอดรถในที่ห้ามจอดนั้นเป็นการทำผิดแบบเล็ก ๆ น้อย ๆ   ถ้าเป็นในวันหยุดราชการหรือวันนักขัตฤกษ์ที่คนเดินทางออกต่างจังหวัดจนท้องถนนในกรุงเทพฯ โล่ง  การทำเช่นนั้นก็อาจจะไม่ก่อความเสียหายแก่ผู้ใดทั้งสิ้น แต่ถ้าเรายอมให้มันเกิดขึ้นเป็นประจำโดยไม่มีใครทักท้วง  ไม่มีการออกใบสั่งหรือล็อคล้อรถ  คนที่ทำก็อาจจะเกิดความเคยชินจนทำต่อไปเรื่อยๆ  ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมมากขึ้น   และถ้าสังคมใดสังคมหนึ่งยอมรับการทำผิด “เล็ก ๆ น้อยๆ” แบบนี้อยู่เสมอโดยที่ไม่มีมาตรการใด ๆ มาลงโทษผู้กระทผิด    ความเป็นไปได้ที่สังคมนั้น ๆ จะยอมรับอะไรที่แย่กว่านี้ (เช่น คอร์รัปชั่น) ก็อาจมีอยู่สูงตามไปด้วย 

ถ้ามีผู้สนใจ  จะกลับมาคุยเรื่องคอร์รัปชั่นกับค่านิยมในสังคมต่อนะคะ  แต่ถ้าถึงตอนนั้น  อย่าว่ากันก็แล้วกันที่คอลัมน์นี้จะเปลี่ยนจากคอลัมน์สอนภาษาอังกฤษแบบอเมริกันไปเป็นอย่างอื่น   555
บันทึกการเข้า
ประกอบ
สุครีพ
******
ตอบ: 1342


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 25 พ.ย. 12, 21:04

สนุกดีครับ ต่ออีกครับ ดีๆ

เรื่อง Go native ที่รู้อีกเรื่องคือชาวต่างชาติที่มาเมืองไทย จะติดนิสัยข้ามถนนอย่างรวดเร็ว แม้ว่าจะเป็นทางม้าลาย เพราะบ้านเราไม่มีวัฒนธรรมการหยุดรถให้คนข้ามยกเว้นจังหวะรถติด ดังนั้นคนที่มาอยู่เมืองไทยนานๆ จะติดนิสัยต้องรีบข้ามถนน เมื่อกลับมาอยู่เมืองนอก นิสัยนี้ก็จะยังติดตัว ได้รู้จักสาวฝรั่งที่ไปทำงานอาสาสมัครที่เมืองไทยหลายปี กลับมาอังกฤษเวลาเธอข้ามถนนจะรีบข้ามมาก ติดนิสัยจากเมืองไทย

อีกหนนึงไปอิตาลี หลังจากใช้ชีวิตในอิตาลีหลายวัน คนที่โน่นถ้าถนนว่างแม้จะมีไฟแดงคนข้าม เค้าก็จะข้ามถนนกัน ตอนเดินข้ามถนนกับกลุ่มนักเรียนชาวเยอรมันก็เห็นคนเยอรมันข้ามแบบคนอิตาลี เลยลองถามว่าที่บ้านยูถ้าไฟแดงคนข้ามจะข้ามไหม เค้าบอกไม่ แต่พอมาอิตาลี ดันปรับตัวได้เร็วมาก  อ้อ คนอังกฤษก็ไม่รอแบบอิตาลีนะครับ ถ้าถนนว่างเค้าก็ข้าม แม้ไฟเขียวให้ข้ามถนนขนนยังไม่เขียว

ส่วนผมมาอยู่อังกฤษ คนที่นี่ขับรถให้ทางมีน้ำใจกันมาก ไม่เห็นการปาดเบียดแซงหวงเลน  เลยต้องขับตามชาวบ้านที่นี่จนติดนิสัย  พอกลับไปเมืองไทยวันแรก ผมหยุดให้รถที่จะเลี้ยวขวาตัดหน้าเข้าซอยเลี้ยวได้ โดนรถตามหลังบีบแตรยาวด่าทันที เพราะคนไทยไม่คุ้นเคยกับการหยุดรถให้ทางกัน รถคันหลังเลยอารมณ์เสียที่ต้องเบรค
บันทึกการเข้า

วิรุศฑ์ษมาศร์ อัฐน์อังการจณ์
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.071 วินาที กับ 19 คำสั่ง