เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
อ่าน: 37214 สมบัติของผู้ดี
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 75  เมื่อ 01 ธ.ค. 12, 10:42

คำเหล่านี้เขาเรียกว่า "สำนวน"
ไม่ได้มีคำว่า "ผู้ดีมีเงิน" อย่างเดียว     เรามีสำนวน "ผู้ดีตกยาก" ด้วย   นอกจากนี้ก็มี "ผู้ดีแปดสาแหรก"  "ผู้ดีตีนแดง" เป็นสำนวนที่ใช้ในความหมายแตกต่างกันไปตามความคิดเห็นของผู้พูด
คำว่า "ผู้ดี" ทั้งหมดนี้เกี่ยวกับอภิสิทธิ์ในสังคมตรงไหน  โปรดอธิบาย

"ผู้ดีตกยาก" ไม่มีอภิสิทธิ์ในสังคมแน่นอนเพราะไม่มีเงิน แต่สำหรับ "ผู้ดีแปดสาแหรก" และ "ผู้ดีตีนแดง" หากมีเงินก็จัดอยู่ในประเภท "ผู้ดีมีเงิน"

แต่ถ้าหมายถึง "ผู้ดีมีเงิน" ความเป็นอภิสิทธิชนก็เป็นความจริงในสังคมไทย

เรื่องอภิสิทธิ์นี้มิได้หมายรวมถึง "ผู้ดีมารยาทงาม" หรือ "ผู้ดีที่เป็นสัตบุรุษ"

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 76  เมื่อ 01 ธ.ค. 12, 11:28

เรื่อง ผู้ดี-ไพร่ ใน #๖๗ ต้องการให้วิจารณ์เฉพาะที่คัดมา ส่วนที่เหลือในบทความโดยเฉพาะตอนท้าย ๆ อย่าไปสนใจเลย

ลองลบชื่อ "นิธิ" ออกจากชื่อคนเขียนบทความ แล้วลองวิจารณ์เนื้อความดูว่ามีข้อความตอนไหนถูกผิดอย่างไร

อย่างน้อยคำที่มีความหมายตรงกันข้ามกับ "ผู้ดี" คือ "ไพร่" น่าจะถูกต้อง

 ยิงฟันยิ้ม



ขึ้นอยู่กับว่าเราเริ่มให้คำนิยามของคำว่า "ผู้ดี" ว่าอย่างไร นิยามนั่นแหละครับที่จะเป็นตัวกำหนด "คำตรงข้าม"

1. สมมุติว่า เรานิยาม "ผู้ดี" คือ "คนรวยเก่าแก่มาอย่างน้อย 3 รุ่น"  คำและกลุ่มคนที่มีความหมายตรงข้ามก็จะได้แก่ คนรวยรุ่นใหม่ (ที่พ่อแม่จนแต่รวยด้วยน้ำพักน้ำแรงหรือความสามารถหรือการคดโกงของตนเอง) และ คนจน    (ทั้งนี้ไม่ต้องไปสนใจว่า กิริยามรรยาทจะป็นอย่างไร   "ผู้ดี" ในข้อนี้แม้จะมรรยาททรามอย่างไร "ผู้ดี" ในข้อนี้ก็จะเป็นผู้ดีตลอดไป ในทางตรงกันข้าม แม้คนรวยรุ่นใหม่ หรือ คนจน จะมีมรรยาทงดงาม มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้อื่น ก็จะยังไม่จัดว่าเป็น "ผู้ดี")

2. ถ้าเรานิยามว่า "ผู้ดี" คือ "คนรวย" คำตรงข้ามก็คือ "คนจน" (ตรงไปตรงมา)

3. ถ้าเรานิยามว่า "ผู้ดี" คือ "ผู้มีมรรยาทและจิตใจงดงาม" คำตรงข้ามก็คือ "ผู้มีมรรยาททางสังคมที่ไม่เหมาะไม่ควร ผู้ไม่มีน้ำใจ" ดังนั้นถ้าเป็นคนจน แต่มีมรรยาทงดงาม ก็นับได้ว่าเป็น "ผู้ดี" ในทางตรงกันข้ามถ้าคนรวยแต่ไม่มีน้ำใจ หรือแสดงกิริยาไม่ดีเช่น เอาเท้าชี้พระพุทธรูป เช่นนี้ก็มิอาจนับได้ว่าเป็น "ผู้ดี"

4. ถ้าเรานิยาม "ผู้ดี" โดยเริ่มจากมองมาที่ "ไพร่" ก่อน โดยมองว่า "ไพร่" มีลักษณะอย่างไร (เป็นทาส ไม่มีวัฒนธรรม ไม่มีโอกาสทางการศึกษาหรือการได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายที่ยุติธรรม และอื่นสุดแต่จะคิด) หลังจากนั้นเราก็มาหาคำที่แสดงลักษณะตรงข้ามกับลักษณะของไพร่ (เป็นเจ้าขุนมูลนาย มีมรรยาททางสังคมที่ดูดีมีสกุล การศึกษาสูง มีเส้นมีสายเมื่อมีคดีความ และอื่นที่ตรงข้าม) และเรียกคนเหล่านี้ว่า "ผู้ดี"  เราก็จะประจักษ์กับความจริง(ของเรา)ว่า "เห็นไหมว่า "ไพร่" ตรงข้ามกับ "ผู้ดี" ชัดๆ"

นักวิชาการที่สังคมต้องการคือ นักวิชาการที่คิดอ่านอย่างรอบคอบ (ไม่อยากใช้คำว่า "ฉลาด" เพราะไม่รู้ว่าจะนิยามว่าอย่างไร) และ ไม่มีผลประโยชน์หรือแรงจูงใจส่วนตัวแอบแฝงอยู่
แต่นักวิชาการในท้องตลาดที่มีอยู่โดยมากในบ้านเรา(รวมทั้งในบ้านเมืองอื่นด้วย) (ต้องขอโทษที่ใช้คำว่า "โดยมาก" เพราะถ้าไม่มาก บ้านเมืองคงไม่ถูกปล่อยให้เป็นเช่นนี้) มักมีวิธีการคิดที่ไม่รอบคอบ (อย่าให้ยกตัวอย่างเลยครับ) หรือถ้าเป็นที่มีความคิดอ่านรอบคอบ(บางครั้งเราเรียกว่า "ฉลาดเป็นกรด") ก็มักจะมีผลประโยชน์หรือแรงจูงใจส่วนตัวแอบแฝงอยู่

บางหน่วยงานหรือสื่อสารมวลชนบางสาขาที่มีเหล่านักวิชาการจอมปลอมเหล่านี้อยู่ ก็มักจะรู้เห็นเป็นใจและเอานักวิชาการจอมปลอมนี้มาเป็นเครื่ิองมือของตนเพราะตนเองก็มีผลประโยชน์แอบแฝงมหาศาลซุกซ่อนอยู่ เช่น ถ้าเป็นสื่ิอมวลชนก็จะมีงบโฆษณาหลายร้อยล้านซึ่งเพียงพอที่จะทำให้เจ้าของกิจการสื่อสารมวลชนดังกล่าวหัวใจวายหรือช๊อคได้เมื่อถูกถอนงบโฆษณา (ซึ่งก็มีตัวอย่างมาแล้ว) จนยอมที่จะกลืนกินอุดมการณ์ของตนลงท้องไปหรือเก็บเข้าลิ้นชัก  คำสุภาษิตที่ว่า "เวลาเปลี่ยนคนเปลี่ยน" จึงเป็นจริงอยู่ตลอดไป

สื่อสารมวลชนที่เป็นสื่อสารมวลชนด้วยจิตวิญญาณด้วยอุดมการณ์ก็คงมีอยู่จริงหรอกครับ เพียงแต่เรายังหาไม่เจอ

ขอโทษด้วยครับที่ "แรง" ไปหน่อย
 รูดซิบปาก
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 77  เมื่อ 01 ธ.ค. 12, 11:44

เพื่อมิให้หลงประเด็น ผมขออนุญาตเรียนว่า ผมมิได้คาดหวังให้คนเลวกลายเป็นคนดี หรือ ทุกคนเป็นคนดีเป็นอริยะสงฆ์ ผมเพียงแต่อยากให้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมได้รู้จักการให้เกียรติผู้อื่น ให้เกียรติสถานที่ ให้เกียรติแก่กาล ช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่า ไม่กระทำกิริยาอะไรที่เป็นการรบกวนผู้อื่นที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน

ดังนั้นสิ่งที่ผมอยากให้เป็นนั้นจึงมิได้ขึ้นกับเงื่อนไขว่าเป็นโลกทุนนิยมหรือโลกในอุดมคติ ไม่ขึ้นกับเงื่อนไขว่าทุกคนต้องเป็นคนดีแท้ก่อนหรือคนดีคนไม่ดีอยู่คละกัน ผมเชื่อว่า ไม่ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรไปในรูปแบบไหนจะมีการปกครองอย่างไร ทุกคนในสังคมก็จะยังคงต้องการให้คนในสังคมและลูกหลานของตน (แต่อาจไม่ได้รวมตนเองหรือมิได้มองตนเอง) "ได้รู้จักการให้เกียรติผู้อื่น ให้เกียรติสถานที่ ให้เกียรติแก่กาล ช่วยเหลือผู้อ่อนแอกว่า ไม่กระทำกิริยาอะไรที่เป็นการรบกวนผู้อื่นที่อยู่ในบริเวณเดียวกัน"

นี่จึงเป็น "ผู้ดี" ในนิยามเบื้องต้นของผม โดยมิได้ข้องเกี่ยวหรือข้องแวะกับ "ความรวยจน" "ความมีโอกาสหรือไม่มีโอกาส" "ความมีอภิสิทธิ์หรือไม่มีอภิสิทธิ์"

ดังนั้นจึงขอสรุปว่า "ผู้ดี" ของผมนั้นมิได้ขึ้นกับว่า "ตนเองได้รับอะไรหรือตนเองอยู่ในสถานะอะไร" แต่ขึ้นกับว่า "ตนเองกระทำอะไรหรือมิได้กระทำอะไรแก่ผู้อื่น"

 ยิ้ม
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 78  เมื่อ 01 ธ.ค. 12, 11:57

ต้องขอบคุณท่านเพ็ญชมพูด้วยใจจริงครับที่กรุณาหยิบประเด็นนิยาม "ผู้ดี" มาพูดคุยทำความกระจ่างกันเพราะในตอนแรกผมเองก็ไม่กล้าหยิบมาพูดคุย (ทั้งที่ตัวผมเองก็อยากถกในประเด็นนี้)
 ยิ้มเท่ห์
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 79  เมื่อ 01 ธ.ค. 12, 14:02

"ผู้ดีตกยาก" ไม่มีอภิสิทธิ์ในสังคมแน่นอนเพราะไม่มีเงิน แต่สำหรับ "ผู้ดีแปดสาแหรก" และ "ผู้ดีตีนแดง" หากมีเงินก็จัดอยู่ในประเภท "ผู้ดีมีเงิน"

แต่ถ้าหมายถึง "ผู้ดีมีเงิน" ความเป็นอภิสิทธิชนก็เป็นความจริงในสังคมไทย

เรื่องอภิสิทธิ์นี้มิได้หมายรวมถึง "ผู้ดีมารยาทงาม" หรือ "ผู้ดีที่เป็นสัตบุรุษ"

 ยิงฟันยิ้ม

ถ้างั้นก็ไม่ใช่อภิสิทธิ์ของผู้ดีแล้วละค่ะ      เพราะสิ่งที่คุณเพ็ญชมพูให้เหตุผลมา คืออภิสิทธิ์เกิดจาก "คนมีเงิน" ต่างหากล่ะคะ
คนไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ดีก็มีอภิสิทธิ์ในสังคมได้  ถ้ามีเงินเสียอย่าง   ส่วนคนที่มีคุณสมบัติผู้ดีครบถ้วน แต่ถ้าไม่มีเงิน คุณเพ็ญชมพูก็บอกว่าไม่มีอภิสิทธิ์   เช่นผู้ดีตกยากไม่มีอภิสิทธิ์   ผู้ดีตีนแดง ผู้ดีแปดสาแหรก มีอภิสิทธิ์เมื่อมีเงินประกอบ
แสดงว่า คุณเห็นว่า ในเมื่อเงินเป็นตัววัดให้เกิดอภิสิทธิ์   ความเป็นผู้ดีก็ย่อมไม่สำคัญพอจะก่อให้เกิดอภิสิทธิ์ในตัวเอง หากขาดเงินเสียอย่าง
สรุปว่า ญัตติตกไปนะจ๊ะ
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 80  เมื่อ 01 ธ.ค. 12, 14:45

สืบเนื่องจากบทความของดร.นิธิ   ดิฉันเห็นดังนี้
๑   คำว่า ไพร่ ในสมัยอยุธยา เป็นคำที่ตรงข้ามกับ เจ้าขุนมูลนาย   ในความหมายของการกำหนดบทบาทหน้าที่ในสังคม    ไพร่เป็นแรงงานในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมที่เติบโตด้วยแรงงานมากกว่าแรงเงิน     คำนี้มีคำอื่นเข้ามาประกอบหลายอย่าง เพื่อจำแนกบทบาทราษฎรในหน้าที่ที่มีต่อรัฐ
    ในสมัยอยุธยา ไทยไม่มีกองทัพประจำการอย่างใหญ่โตเหมือนสมัยนี้    ต้องมีการเกณฑ์ราษฎรเข้ามาเป็น"ไพร่สม"เมื่ออายุครบ ๑๘ ปี   เข้ามาฝึกหัดเป็นทหาร ๒ ปีแล้วย้ายมาเป็น"ไพร่หลวง"   เมื่อเข้าประจำการในกองทัพเวลามีศึกสงคราม ก็เรียกกันว่า "ไพร่พล"
    คนที่ีรับราชการอยู่แล้ว คือขุนนาง  จึงไม่อยู่ในข่ายของ "ไพร่" เพราะประจำการให้ราชการอยู่แล้วแบบเต็มเวลา   อีกพวกหนึ่งคือเจ้านาย   ซึ่งในเมื่อระบอบการปกครองเป็นราชาธิปไตย    ญาติวงศ์พงศาของกษัตริย์ก็ไม่ต้องถูกเกณฑ์เข้ามาฝึกหัดอย่างไพร่  แต่ว่าจะต้องออกรบในยามศึกสงครามเช่นเดียวกับขุนนาง
    สรุปแล้วไพร่หรือมูลนาย  เวลามีศึกสงคราม มีหน้าที่ไปรบเหมือนกันหมด  
๒   
อ้างถึง
 ขอให้สังเกตนะครับว่า คู่ตรงข้ามของ "ไพร่" ในกฏหมายตราสามดวงที่ใช้กันมาตั้งแต่อยุธยาจนถึง ร.๕ นั้น คือ "มูลนาย" ทั้งสองฝ่ายนี้ถึงจะร่วมวัฒนธรรมใหญ่กันก็จริง แต่ในรายละเอียดแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักความละเอียดซับซ้อนของวัฒนธรรมอีกฝ่ายหนึ่ง ดูละครกันคนละเรื่องและคนละแบบ, ผลิตและใช้วรรณกรรมกันคนละชนิด, ฟังเพลงก็คนละประเภทกัน, แม้แต่เนื้อหาของพระพุทธศาสนาที่ต่างฝ่ายต่างนับถือก็ไม่สู้จะเหมือนกันนัก ฯลฯ

ผมไม่แน่ใจว่า ต่างมีสำนึกเหยียดหยามวัฒนธรรมของกันและกันหรือไม่ เพราะในชีวิตจริงแล้ว ต่างอยู่ในโลกของตน มีความจำเป็นล่วงเข้ามาในโลกของอีกฝ่ายไม่มากนัก แต่แน่นอนว่ามีหลักฐานมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า เมื่อไพร่ล่วงเข้ามาในโลกของมูลนาย วัฒนธรรมของไพร่ก็เป็นสิ่งน่าหัวร่อเยาะ หรือน่าเหยียดหยาม นับตั้งแต่อาหารการกิน, การแต่งเนื้อแต่งตัว, มารยาท, ไปจนถึงคุณค่าที่ยึดถือ
   ข้างบนนี้เป็นความเห็นของดร.นิธิ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง     ในเมื่อท่านไม่ได้ยกตัวอย่าง ดิฉันก็เลยไม่รู้ว่ามีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน  เช่นเรื่องเนื้อหาพุทธศาสนาที่นับถือไม่สู้จะเหมือนกันนั้น ท่านก็ไม่ได้บอกว่าไม่เหมือนกันอย่างไร     ไม่เหมือนกันเพราะฝ่ายหนึ่งนับถือพระปริยัติ อีกฝ่ายนับถือทางปฏิบัติ   หรือว่าฝ่ายหนึ่งหนักไปทางปาฏิหาริย์ อีกฝ่ายไม่...อย่างไรกันแน่ก็ไม่ทราบ
    การเขียนแบบกว้างๆอย่างนี้  อ่านง่ายแต่ตีความยาก  เช่นเดียวกับคำที่ว่า
   " เมื่อไพร่ล่วงเข้ามาในโลกของมูลนาย วัฒนธรรมของไพร่ก็เป็นสิ่งน่าหัวร่อเยาะ หรือน่าเหยียดหยาม นับตั้งแต่อาหารการกิน, การแต่งเนื้อแต่งตัว, มารยาท, ไปจนถึงคุณค่าที่ยึดถือ"
   อ่านแล้วก็งงๆ ว่าสิทธิ์ในการหัวเราะเยาะเหยียดหยาม ถ้ามีจริงนั้น ทำได้ฝ่ายเดียวหรือเปล่า  จะย้อนถามว่าวัฒนธรรมของมูลนาย ไพร่มีสิทธิ์หัวเราะเยาะบ้างไหม  ท่านก็ไม่ได้ให้คำตอบไว้ในบทความ      ส่วนดิฉันคิดว่าน่าจะหาคำตอบได้ในนิทานพื้นบ้านอย่างศรีธนนไชยว่า ชาวบ้านทั้งหลายเขาก็หัวเราะกันงอหายกับปฏิภาณของพระเอกที่เป็นไพร่ ว่าเหนือชั้นกว่าพระราชาที่เป็นเจ้าขุนมูลนายเหมือนกัน  
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 81  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 11:50

^
ชอบวิธีการให้เหตุผลของท่านเทาชมพู  ยิ้ม

ขออนุญาต "แยกเข้าซอย" ไปหน่อยหนึ่ง

พอดีอ่านเจอบทความนี้ เลย์เอามาให้เพื่อนเรือนไทยได้เข้าใจในเหตุผลที่ผมพูดถึงนักวิชาการ ทั้งประเภทที่ "คิดไม่รอบคอบ" (บางคนถึงกับมาพูดในเรื่องที่ตัวเงมิได้มีความเชี่ยวชาญแม้แต่น้อย) และประเภทที่อาจมี conflict of interest (ซึ่งอาจรวมอยู่ในคนๆเดียวกันได้) นักวิชาการที่ผมว่านั้นหมายถึงใครก็เชิญชวนทุกท่านพิจารณากันเองจากบทความนี้ครับ

ต้องขออภัยที่บทความอาจค่อนข้างยาว แต่มิอยากตัดทอนมาเกงว่าจะเสียอรรถรสและเกิดคำถามขึ้นได้ อีกประการหนึ่งแม้นจะดูไม่เกี่ยวกับ หัวข้อกระทู้โดยตรง แต่ก็เป็น evidence base ทางวิชาการเพื่อให้ผู้อ่านได้มีสติก่อนที่จะ "เชื่อ" นักวิชาการได้มากขึ้น


"นิธิ: เศษเหล็กในซาเล้ง

โดย ASTVผู้จัดการรายวัน   1 ธันวาคม 2555 06:45 น.

ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -บทความของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง “เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว” ในมติชนออนไลน์ เมื่อวันทื่ 5 พฤศจิกายน 2555 สร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับอุตสาหกรรมข้าวไทยมาก
      
       นักประวัติศาสตร์อย่างอาจารย์นิธิ กำลังบิดเบือนข้อเท็จจริงอุตสาหกรรมข้าวไทยอย่างรุนแรง ชนิดที่นักเศรษฐศาสตร์หลายคนพากันส่ายหัว
      
       ไม่รู้แล้วยัง (เสือก) อวดรู้ว่า โครงการจำนำข้าวกำลังเป็นโครงการปฏิรูปสังคม
      
  คงมัวแต่กินกาแฟ อัดกรองทิพย์มากไปหน่อย จึงจินตนาการคล้ายๆกับคุณปรสิต
      
       นั่นจึงทำให้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกรและดร.อัมมาร สยามวาลา เขียนบทความบ่งบอกข้อเท็จจริงจากการวิจัยให้นักประวัติศาสตร์ฟัง
      
       บทความของอาจารย์ทั้งสองใช้ชื่อว่า "เปลี่ยนประเทศไทยด้วยการรับจำนำข้าว : ข้อเท็จจริงสำหรับ อ.นิธิ และประชาชน" ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555
      
       เนื้อหาในบทความของดร.นิพนธ์ และดร.อัมมารระบุว่า “บทความของ อ.นิธิ มีหลายประเด็น แต่เราขอตอบเพียง 3 ประเด็น คือ เรื่องแรกเป็นเรื่องข้อมูลอาจารย์นิธิ ข้องใจฝ่ายคัดค้านโครงการจำนำข้าว ที่ระบุว่าเงินจากโครงการจำนำข้าว ไม่ตกถึงมือชาวนาเล็กที่ยากจน”
      
       โดยอาจารย์นิธิเขียนไว้ว่า “ปัญหาในด้านเชิงปฏิบัติ ผู้คัดค้านเห็นว่าโครงการนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์คือชาวนากลางขึ้นไป กับโรงสี ส่วนชาวนาเล็กที่ "ยากจน" (คำนี้มีปัญหาในตัวของมันเองมากนะครับ) เงินไม่ตกถึงมือ เท่าที่ผมทราบ ความเห็นนี้ไม่ได้มาจากการวิจัย แต่เป็นการประมาณเท่านั้น เพราะในขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับในตัวเลขว่าทั้งมอเตอร์ไซค์, รถปิกอัพ และวัสดุก่อสร้างขายดีขึ้นในเขตชนบท ซึ่งตลาดของชาวนากลางอย่างเดียวไม่เพียงพอจะอธิบายได้ อีกทั้งความกระตือรือร้นของชาวนาที่จะขยายการเพาะปลูก ก็แสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า ชาวนาจำนวนมาก (ทั้งกลางและเล็ก) ตอบสนองต่อโครงการด้วยความยินดี”
      
       “เรื่องที่สองเกี่ยวข้องกับการให้รัฐเข้ามาแทรกแซงตลาดข้าวแทนกลไกตลาด อาจารย์นิธิ เห็นว่าการขาดทุนจากโครงการจำนำเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะรัฐบาลตั้งใจขาดทุน เพื่อปฏิรูปสังคมอ.นิธิจึงเสนอให้รัฐบาลต้องวางแผนระบายข้าวให้ดี โดยการระบายข้าวตามจังหวะเพื่อรักษาตลาดข้าวไทย และจำกัดการขาดทุนให้น้อยที่สุด รวมทั้งการเสนอให้รัฐบาลลงทุนเพิ่มมูลค่า เช่น การแพคเกจจิ๊ง เป็นต้น”
      
       โดยอาจารย์นิธิเขียนไว้ว่า “ผมคิดว่ารัฐบาลต้องชัด (กว่านี้) ว่าโครงการรับจำนำข้าวด้วยราคาสูงคือการปฏิรูปสังคม ไม่ใช่โครงการรับจำนำข้าวอย่างที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพียงช่วยพยุงราคาข้าวของชาวนาให้ใกล้เคียงกับราคาตลาดโลกมากขึ้น และต้องไม่ขาดทุน”
      
       “เรื่องสุดท้ายซึ่งเป็นประเด็นหลัก คือ อาจารย์นิธิเชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าว มีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้ชาวนาเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทย”
      
       โดยอาจารย์นิธิเขียนไว้ว่า “จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม โครงการรับจำนำข้าวในราคาสูงของรัฐบาล ย่อมมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้แก่ชาวนาด้วย หากทำต่อเนื่องไปอีกสักสองสามปี จะไม่มีรัฐบาลใดกล้าเลิกโครงการนี้เป็นอันขาด”
      
       “เพราะรัฐบาลกำลังทำอะไรที่มีความสำคัญสุดยอดในการเปลี่ยนประเทศไทย หนทางย่อมไม่ราบรื่นเป็นธรรมดา”
      
       ประการที่หนึ่ง บทความของดร.นิพนธ์ และดร.อัมมารระบุว่า ข้อมูลที่เราสองคนนำเสนอต่อสาธารณชนว่าผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่ เป็นชาวนาปานกลางขึ้นไปกับโรงสี มาจากข้อมูลจริงที่ได้จากหน่วยงานของรัฐและจากการวิจัย ไม่ใช่การประมาณการอย่างเลื่อนลอยอันที่จริงการวิจัยก็ต้องอาศัยการประมาณการจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่
      
       อาจารย์ยังเข้าใจผิดว่าโรงสีไม่ได้กำไรอะไร เพราะรัฐบาลจ่ายค่าจ้างสี 500 บาทค่ากระสอบและค่ารถซึ่งเป็นอัตราที่เท่าทุน หรือบางโรงอาจจะบอกว่าขาดทุน แต่อาจารย์คงไม่ทราบว่ารัฐบาลกำหนดอัตราสีแปรสภาพที่ใจดีกับโรงสีมาก ปรกติการสีข้าวเปลือกเจ้า 1 ตันจะได้ต้นข้าว 500 กิโลกรัม และผลผลิตอื่น(ปลายข้าว+รำข้าว) อีก 160 กิโลกรัม แต่รัฐบาลกำหนดอัตราส่งมอบต้นข้าวขาว 5% เพียง 450 กิโลกรัม โรงสีจึงได้รับแจกข้าวสาร (หรือกำไรพิเศษ) จากการร่วมโครงการเกือบ 50 กิโลกรัมต่อข้าวเปลือก 1 ตัน หรือประมาณ 15,750 ล้านบาท (หรือ 825 บาทต่อตันข้าวเปลือก) กำไรนี้ผู้เขียนยังไม่ได้ไปรวมถึงส่วนค่าจ้างของโรงสี 21,382 ล้านบาท
      
       ประการที่สอง สำหรับประเด็นที่สองของอาจารย์นิธิ ที่ว่าการขาดทุนจากโครงการจำนำข้าว เป็นเงินเล็กน้อย และเป็นการขาดทุนโดยตั้งใจ เพราะฉะนั้นจึงสามารถบริหารจัดการได้ อาจารย์ทั้งสองได้ขอแยกความเห็นของอาจารย์ในประเด็นที่สองออกเป็น 3 เรื่อง คือ
      
       (ก) อาจารย์นิธิ เห็นว่าการขาดทุนหนึ่งแสนล้านบาทจากโครงการจำนำข้าว เป็น “เรื่องเล็กน้อย”เมื่อเทียบกับงบประมาณจำนวนนับล้านล้านบาทต่อปี
      
       ดร.นิพนธ์ และดร.อัมมารเห็นว่า “ประเด็นสำคัญกว่า คือ เงินขาดทุนจำนวน 1 แสนล้านบาทไม่ใช่เป็นเรื่องเล็กน้อย อย่างที่อาจารย์คิด เพราะเงินก้อนนี้มีต้นทุนเสียโอกาสที่กระทบต่อการทำนโยบายอื่นที่สำคัญของรัฐบาลชุดนี้ ขณะนี้ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าการใช้เงินจำนวนมากในโครงการจำนำข้าว เริ่มเกิดผลกระทบทางการคลังต่อโครงการสำคัญอื่นๆ เช่นงบประมาณของโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคถูกจำกัดไว้เท่าเดิมใน 3 ปีข้างหน้า เม็ดเงินงบประมาณแท้จริงที่ใช้รักษาพยาบาล จะลดลงตามภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งปริมาณและคุณภาพของบริการรักษาโรคของประชาชนทั้งประเทศ
      
       (ข) เพราะโครงการจำนำด้วยราคาสูง เป็นการปฏิรูปสังคม ชาวนาจะนำเงินขาดทุนไปลงทุนสร้างเนื้อสร้างตัว
      
       ดร.นิพนธ์และดร.อัมมารเห็นว่า การกำหนดราคาจำนข้าว 15,000บาท กำลังดึงดูดแรงงานที่อยู่นอกภาคเกษตรให้กลับเข้ามาทำนา รวมทั้งการเปลี่ยนพื้นที่เกษตรที่ใช้ปลูกพืชชนิดอื่น มาปลูกข้าวแทนเพราะปลูกข้าวได้รายรับมากกว่า ถ้าเช่นนั้นเงินสงเคราะห์ชาวนาก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย กลุ่มชาวนาที่มีฐานะก็จะกดดันไม่ให้รัฐบาลเลิกโครงการรับจำนำ (จนกว่าจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แล้วเราต้องไปกู้เงินไอเอ็มเอฟ และถูกบังคับให้ตัดรายจ่ายแบบที่เคยเกิดขึ้นในปี 2540-41 และเพิ่งเกิดขึ้นในกรีก)
      
       (ค) อาจารย์นิธิ เสนอให้รัฐบาลต้องวางแผนระบายข้าวให้ดีเพื่อให้ขาดทุนน้อยที่สุด เราจะเปรียบเทียบผลงานการระบายข้าวของรัฐบาลกับกระบวนการผลิตและการค้าข้าวที่ควบคุมด้วยกลไกตลาด
      
       ดร.นิพนธ์และดร.อัมมาร เห็นว่า การจำนำข้าวกำลังทำลายกระบวนการเหล่านี้(กลไกตลาด) บัดนี้ชาวนาพยายามเพิ่มผลผลิตข้าวให้มากที่สุดโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพข้าว มีการเพิ่มรอบการผลิตโดยการหาเมล็ดพันธุ์อายุสั้น (เป็นข้าวคุณภาพต่ำ) มีการใช้ปุ๋ยใช้ยาฆ่าแมลงเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิตกำลังพุ่งขึ้นตามราคาจำนำ 15,000 บาท ราคาจำนำจึงเป็นตัวกำหนดต้นทุนการผลิต และต้นทุนคงไม่ลดลงเมื่ออุปสงค์สมดุลกับอุปทานอย่างที่อาจารย์นิธิให้ความเห็น
      
       “อันที่จริงประวัติความพยายามผูกขาดการส่งออกข้าวล้มเหลวมาตั้งแต่สมัยคุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี บริษัทเพรสซิเด้นท์อะกริ สามารถประมูลข้าวของรัฐ 2 ครั้ง รวมกว่า 2 ล้านตัน แต่บริษัทกลับประสบปัญหาไม่สามารถส่งออกได้ทั้งๆที่มีการขอแก้สัญญาหลังการประมูลจนทำให้วุฒิสภาต้องตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนและตีพิมพ์รายงานออกมา ต่อมาบริษัทนี้ประสบปัญหาไม่สามารถชำระหนี้แก่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง ในเวลาต่อมาผู้บริหารของบริษัทนี้หันมาตั้งบริษัทใหม่และได้สัญญาขายข้าวให้อินโดนีเซีย แต่หนังสือพิมพ์รายงานว่ารัฐบาลอินโดนีเซียไม่ยอมรับข้าวบางส่วน เพราะปัญหาด้านคุณภาพ นี่คือ เหตุผลที่เวลานี้ เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มเปลี่ยนท่าทีหันมาขอความร่วมมือจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยในการส่งออกข้าวหอมมะลิ”บทความของดร.นิพนธ์และดร.อัมมารระบุ
      
       ประการที่สาม ประเด็นที่สามซึ่งเป็นประเด็นหลักในบทความของอาจารย์นิธิ คือ อาจารย์เชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าว จะมีส่วนช่วยสร้างความเข้มแข็งทางการเมืองให้ชาวนาเพื่อการเปลี่ยนประเทศไทย
      
       ดร.นิพนธ์ และดร.อัมมารเห็นว่า “ความเข้มแข็งทางการเมืองของชาวนา” ที่เราเห็นในบทส่งท้ายของอาจารย์นิธิ นั้น เราก็เห็นว่าเกิดจากการที่ชาวนาใช้อำนาจหย่อนบัตรในการเลือกตั้ง เลือกพรรคการเมืองที่สัญญาว่าจะให้ผลทันทีต่อตน ข้อนี้เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบประชานิยมที่กำลังเป็นชุดนโยบายมาตรฐานของทุกพรรคการเมืองในปัจจุบัน เสน่ห์ของประชาธิปไตยแบบนี้ คือทำให้เกิดนโยบายที่บรรลุผลทันตาเห็น เราไม่ปฏิเสธว่าชาวนาเกือบทุกคนได้ราคาข้าวตามที่รัฐบาลสัญญาไว้ แต่ที่เราวิตกมากก็คือ ผลเสียต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากนโยบายนี้ทั้งแก่อุตสาหกรรมข้าวและสภาพการเงินการคลังของรัฐบาล จะมิได้รับการกล่าวถึง
      
       อาจารย์นิธิยังเขียนในบทความว่า
      
       “อีกข้อหนึ่งที่พูดกันมากคือการทุจริตทั้งของชาวนาเอง (ขายส่วนต่างของสิทธิการจำนำข้าว), นายทุนผู้รับซื้อส่วนต่างนี้, ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ทั้งขององค์กรของรัฐและบริษัทเซอร์เวย์เยอร์ เรื่องนี้จริงแน่นอนโดยไม่ต้องทำวิจัยเลยก็ได้ โครงการใช้เงินเป็นแสนล้านโดยไม่มีการโกงเลย จะเกิดขึ้นได้ที่ไหนในโลกล่ะครับ แต่ที่น่าสนใจกว่าก็คือ โกงมากกว่าโครงการจำนำข้าวที่ผ่านมาหรือโครงการประกันราคามากน้อยแค่ไหน และโกงได้อย่างไรหรือมีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง และควรอุดอย่างไร น่าเสียดายที่ไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการคัดค้าน”
      
       นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ได้ให้คำตอบในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า “การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลไทย เป็นสิ่งที่รัฐบาลโกหก เนื่องจากการตรวจสอบจากเอกสารแล้วพบว่า ในจำนวนข้าวที่รัฐบาลว่าจะขาย ในจำนวน 7.32 ล้านตันนั้นเป็นการซื้อขายให้กับบริษัทผี ของคนไทย และของบริษัทจีน ซึ่งเป็นบริษัทผี ซื้อแค่ชื่อบริษัทเพื่อมาทำสัญญาเท่านั้น โดยบริษัทจีนที่ว่านั้นชื่อ GSSG IMP AND EXP.CORP ตั้งอยู่ที่นครกวางเจา ประเทศจีน”
      
       บริษัท GSSG IMP AND EXP.CORP มี นายรัฐนิธ โสจิรกุล เป็นผู้มีอำนาจของบริษัท ลงนามมอบอำนาจให้กับนายนิมล รักดี มีที่อยู่ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ให้เป็นผู้มีอำนาจในการลงนามแทน ในการซื้อขายข้าวตามสัญญารัฐต่อรัฐ จำนวน 5 ล้านกิโลกรัม
      
       นายรัฐนิธ มีชื่อเล่นว่า “ปาล์ม” อายุ 32 ปี ผู้ช่วยลำดับที่ 3 ของ นางระพีพรรณ พงษ์เรืองรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และเมื่อตรวจสอบบัญชีธนาคารกรุงไทย พบว่ามียอดเงินค้างในบัญชี จำนวน 64.63 บาทเท่านั้น
      
       นายนิมล ที่เป็นผู้มีอำนาจของบริษัทจีนนั้น ตรวจสอบพบว่า คนในพื้นที่ จ.พิจิตร เรียกว่า “เสี่ยโจ” เป็นมือขวาให้กับ นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือ“เสี่ยเปี๋ยง”
      
       ตามเอกสารของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พบว่า นายนิมล เป็นคนของบริษัทเพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง และถูก ป.ป.ช.ตรวจสอบพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตรับจำนำข้าว ในปี 46 - 47 สมัยรัฐบาลของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในประเด็นนำข้าวเก่ามาเวียนเทียนเข้าโครงการรับจำนำ
      
       บริษัทเพรซิเดนท์ มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด เพราะเมื่อปี 47 “เสี่ยเปี๋ยง” ได้ไปจดทะเบียนบริษัทสยามอินดิก้า จำกัด ทั้งนี้นายนิมล มีชื่อเรียกในวงการว่า “โจ เพรซิเดนท์ พิจิตร” เป็นคนของบริษัทสยามอินดิก้า ซึ่งเคยร่วมทุจริตค้าข้าวตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ
      
       “ประเด็นที่รัฐบาล ยอมนำหัวของบริษัทจีนมาทำสัญญาแบบจีทูจี เป็นเพราะว่าต้องการเลี่ยงการประมูลซึ่งมีราคาสูง และเมื่อทำเช่นนี้ จะค้าข้าวกระสอบละ 300 บาท ทั้งที่ราคาข้าวในตลาดจะอยู่ที่กระสอบละ 1,500 - 1,555 บาท ดังนั้นเมื่อค้าข้าวกระสอบละ 300 บาท จำนวนที่รัฐบาลว่าจะขายทั้งหมด 7.32 ล้านตัน จะมีค่าส่วนต่างถึง 20,000 ล้านบาท”น.พ.วรงค์อภิปราย
      
       ข้าวที่มีการซื้อขายนั้นพบว่า ถูกนำไปไว้ที่โกดัง จ.พิจิตร ซึ่งเป็นโกดังเก็บข้าวของบริษัทสยามเพรซิเดนท์ โดยใช้วิธีการเทข้าวเก็บไว้ในโกดัง แทนเก็บไว้ในกระสอบ โดยทราบว่าเมื่อช่วง 5 พ.ค. - 16 ก.ค. มีการนำข้าวไปไว้ถึง 4.1 แสนกระสอบ
      
       แหล่งที่มาของเงินที่นำมาใช้ในการซื้อข้าว ก็มาจากในประเทศไทย โดยปรากฏชื่อ นายสมคิด เรือนสุภา เป็นผู้ดำเนินการออกแคชเชียร์เช็ค โดยมีเงินจ่ายให้กรมการค้าต่างประเทศ 4,960 ล้านบาท และมีการถอนเงินออกจากบัญชีกรมการค้าต่างประเทศ 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 4,200 ล้านบาท
      
       เมื่อไม่มีการค้าข้าวแบบจีทูจีจริง แต่รัฐบาลกลับเปิดโอกาสให้สยามอินดิก้าเอาข้าวของรัฐบาลไปเร่ขายให้กับโรงสี ในลักษณะของไปเงินมา
      
       มีการพบแคชเชียร์เช็ค ออกในนามของนายสมคิด เรือนสุภา หรือไอ้คิด ที่ซื้อแคชเชียร์เช็คจำนวนกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งเมื่อสอบที่อยู่ของนายสมคิด ตามที่แจ้งที่อยู่เลขที่ 191 ซอยดำเนินกลาง เขตพระนคร พบว่าไม่มีสภาพเป็นบ้านของพ่อค้าข้าวรายใหญ่ และจากการสอบถามประชาชนพบว่านายสมคิดได้ย้ายไปอยู่บ้านภรรยา ที่เขตบางแคที่เป็นเพียงบ้านไม้ 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมคลองเท่านั้น
      
       ที่สำคัญยังพบว่า นายสมคิดเป็นคนของบริษัท สยามอินดิก้า เพราะนายสมคิดได้รับมอบอำนาจจากเสี่ยเปี๋ยงไปจดทะเบียนตั้งบริษัท สยามอินดิก้า เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2547
      
       นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมการฟอกเงิน โดยโอนเงินมาตอนเช้า ตกบ่ายถอนเงินออกเป็นเงินสด...แก๊งบ้านเอื้ออาทรฟื้นชีพอีกครั้ง
      
       ดังนั้นดร.นิพนธ์ และดร.อัมมารจึงสรุปว่า “โครงการรับจำนำข้าวจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย จากระบบการค้าขายที่อาศัยการแข่งขันบนความสามารถ ไปเป็นตลาดของพรรคพวก
      
       นี่หรือครับ การเปลี่ยนประเทศไทย…พ่อค้าข้าว 5 ล้านกิโลกรัมมีเงินอยู่ในบัญชีแค่ 64 บาท"
      
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000145976
      


บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 82  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 12:36

๓ 

อ้างถึง
แต่ชีวิตที่ถูกแยกออกเป็นสองโลกนี้เริ่มอันตรธานไปในการปฏิรูปของ ร.๕ ซึ่งยังสืบทอดอำนาจทางการเมือง, เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไว้ในหมู่พวก "มูลนาย" (หรือกลุ่มหนึ่งของพวก "มูลนาย") เหมือนเดิม แต่บัดนี้เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกจาก "มูลนาย" ให้กลายเป็น "ผู้ดี" แทน

คู่ตรงข้ามของไพร่ในภาษาไทยจึงกลายเป็น "ผู้ดี" ไป

ผมขอยกตัวอย่างการใช้คำว่า "ไพร่" ในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นตัวอย่าง

สำนวนว่า "ทรงพระราชสมภพภายใต้พระมหาเศวตรฉัตร" นั้นมีความหมายอย่างไร ก.ศ.ร. กุหลาบไปเข้าใจว่า เมื่อพระอัครมเหสีจะประสูติพระราชโอรส-ธิดา ก็โปรดให้ตั้งพระมหาเศวตรฉัตรไว้เหนือที่ซึ่งจะมีพระประสูติกาล ฉะนั้น เมื่อสมเด็จฯ พระองค์นั้นทรงพระนิพนธ์พงศาวดารรัชกาลที่ ๕ จึงได้ทรงอธิบายว่า ที่เข้าใจเช่นนั้นเป็นเพราะ ก.ศ.ร. กุหลาบ (ในพระนิพนธ์ไม่ได้ออกชื่อ) เป็น "ไพร่" ไม่รู้ธรรมเนียมเจ้า เพราะความหมายของสำนวนนี้ก็คือ ทรงพระราชสมภพเมื่อพระราชบิดาได้เสวยราชสมบัติแล้วเท่านั้น

(เช่น ร.๒ ไม่ได้ทรงพระราชสมภพภายใต้พระมหาเศวตรฉัตร เพราะขณะนั้นพระราชบิดายังมิได้ครองราชย์ แต่ ร.๕ ใช่ เพราะพระราชบิดาได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว)

อย่างที่รู้กันอยู่แล้วนะครับว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งเป็นสามัญชน ล่วงเข้ามาในพื้นที่ของ "ผู้ดี" คือพื้นที่ "วิชาการ" ซึ่ง "ผู้ดี" ในสมัยนั้นถือว่าเป็นพื้นที่อันคนซึ่งปราศจากคุณสมบัติของ "ผู้ดี" จะเข้ามาไม่ได้

คนที่เปลี่ยนบทบาทจาก "มูลนาย" เป็น "ผู้ดี" โดยพลการน่าจะเป็นดร.นิธิ เอง ซึ่งเกิดจากความเห็นส่วนตัวของท่าน   มากกว่าเป็นข้อเท็จจริง  เพราะตัวอย่างข้างบนนี้ไม่เห็นมีตรงไหนกล่าวถึง "ผู้ดี"  เลยสักนิด
ถ้าจะอิงพระวิจารณ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  ก็เห็นได้ชัดๆว่า ท่านพูดถึง "ไพร่" กับ "เจ้า"  ไม่ใช่ "ไพร่" กับ "ผู้ดี" คำว่าผู้ดีถูกสอดไส้เข้ามาเฉยๆ โดยสรุปรวมเอาง่ายๆว่าเป็นคำเดียวกับ "เจ้า"      ซึ่งไม่ใช่    อย่างน้อยก็ไม่ใช่ในความหมายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ  เพราะไม่งั้นท่านคงใช้คำว่า "ผู้ดี" แทน "เจ้า"ไปแล้ว   จะไปอ้อมค้อมใช้ "เจ้า" อยู่ทำไม

ความหมายของสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ คือ นายกุหลาบผู้ไม่ใช่เจ้า  ย่อมไม่รู้ธรรมเนียมของเจ้า   ตัวอย่างคือไปตีความสำนวน "ประสูติใต้พระมหาเศวตฉัตร" ออกมาเป็นการกระทำตรงตามตัวว่า เจ้านายพระองค์นั้นพระองค์นี้ประสูติบนพระแท่นโดยมีพระมหาเศวตฉัตรกั้นกางอยู่เหนือพระเศียรขณะคลอดจริงๆ     พูดอีกทีคือท่านเห็นว่านายกุหลาบนั้นไม่รู้จริง    แถมยังอวดรู้ให้ประชาชนพลอยเข้าใจผิดไปด้วย
การไม่รู้จริงเป็นเรื่องไม่เกี่ยวกับผู้ดีหรือไพร่    ความไม่รู้ก็คือความไม่รู้    เมื่อนายกุหลาบไม่รู้แทนที่จะยอมรับว่าไม่รู้   จะเดาก็ไม่บอกว่าเดา  สมเด็จฯจึงทรงตำหนิเอา      แต่ดร.นิธิจับเข้ามาเป็นประเด็นผู้ดีไพร่  แล้วตีความไปเสียไกลว่านายกุหลาบถูกตำหนิว่าล่วงเข้าไปในพื้นที่ผู้ดี    ดิฉันจึงไม่เห็นด้วย       
สมมุติว่านายกุหลาบตอบได้ถูกต้องว่า ประสูติใต้พระมหาเศวตฉัตรแปลว่าประสูติเมื่อสมเด็จพระราชบิดาครองราชย์แล้ว   สมเด็จฯท่านจะทรงตำหนิไหม    ก็ไม่   แต่ถ้าทรงตำหนินายกุหลาบว่าถึงตอบถูกก็ยังเรียกว่าล้ำเส้น ล้ำแดนผู้ดีอยู่ดี เป็นไพร่ไม่มีหน้าที่มาตอบเรื่องผู้ดี   ยังงั้นจึงจะเรียกว่าเหยียดหยามแบ่งเส้นขีดคั่นกันจริง   แต่นี่ก็ไม่ใช่เช่นนั้น
บันทึกการเข้า
เพ็ญชมพู
หนุมาน
********
ตอบ: 12600



ความคิดเห็นที่ 83  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 13:52

สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน                 ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม      อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม
แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม      ดังดูดดื่มบอระเพ็ดต้องเข็ดขม
ผู้ดีไพร่ ไม่ประกอบชอบอารมณ์           ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ

 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 84  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 14:34

กระโดดไกลจากดร.นิธิไปถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณแล้วหรือคะ?

เอ้า ก็ได้

กลอนตัวอย่างที่ยกมา  แสดงว่า เจ้านายท่านทรงเห็นว่า ผู้ดีไพร่อยู่ในพื้นที่เดียวกันอย่างน้อยก็ในวัฒนธรรมเดียวกัน คือต่างก็ไม่ชอบความหยาบคาย
มิใช่ว่า สามัญชนล่วงเข้ามาในพื้นที่ของ "ผู้ดี" ไม่ได้  และมิใช่ว่า ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักความละเอียดซับซ้อนของวัฒนธรรมอีกฝ่ายหนึ่ง
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 85  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 15:24

สักวาหวานอื่นมีหมื่นแสน                 ไม่เหมือนแม้นพจมานที่หวานหอม
กลิ่นประเทียบเปรียบดวงพวงพะยอม      อาจจะน้อมจิตโน้มด้วยโลมลม
แม้นล้อลามหยามหยาบไม่ปลาบปลื้ม      ดังดูดดื่มบอระเพ็ดต้องเข็ดขม
ผู้ดีไพร่ ไม่ประกอบชอบอารมณ์           ใครฟังลมเมินหน้าระอาเอย

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงบดินทร์ไพศาลโสภณ

 ยิงฟันยิ้ม

ผมคิดว่า ที่ท่านเพ็ญชมพูยกกลอน (โคลง? ขอโทษด้วยครับที่ผมก็ยังแยกความแตกต่างระหว่าง โคลงและกลอน ไม่ได้อยู่ดี) บทนี้มาก็เพื่อแสดงให้เห็นว่า "ผู้ดี" และ "ไพร่" นี้เป็นของ "คู่" กัน คือเป็นคู่ที่ตรงกันข้าม (เหมือน ขาว-ดำ)

ส่วนวิธีการโต้แย้งโดยการยกตัวอย่างในลักษณะเช่นนี้จะเหมาะสมหรือไม่ ผมเชื่อว่า ท่านผู้อ่านคงพิจารณาเองได้
 
ถ้าผู้ดีคู่กับไพร่จริง คนในสังคมก็มีทางเลือกของสถานะเพียงสองทางคือ ไม่เป็นผู้ดีก็เป็นไพร่
จำเป็นหรือครับที่คนในสังคมจะมีเพียงสองทางเลือกที่ว่านั้น แม่ค้าที่ตะโกนโหวกเหวกขายของข้างทางก็คงไม่มีใครไปเรียกเป็น "ผู้ดี"แต่จะเรียกเขาว่าเป็น "ไพร่" หรือครับ

มาถึงตรงนี้ก็ต้องยอมรับว่า "งง" กับการนำเสนอความคิดของท่านเพ็ญชมพูโดยอาศัยความคิดคนอื่นที่โดดไปโดดมา ทำให้ไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของตัวท่าน

อยากฟังความเห็นของท่านเพ็ญชมพูโดยตรงมากกว่าครับ

อย่างไรเสียขอความกรุณาได้โปรดอ่านความเห็นที่ 76 และ 77 เพื่อทำความเข้าใจกับวัตถุประสงค์ของผมในฐานะเจ้าของกระทู้ด้วยครับ
 ยิงฟันยิ้ม
บันทึกการเข้า
เทาชมพู
เจ้าเรือน
หนุมาน
*****
ตอบ: 33584

ดูแลเรือนไทย วิชาการ.คอม


เว็บไซต์
ความคิดเห็นที่ 86  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 18:22

เข้าใจว่าคุณเพ็ญชมพูคงเห็นด้วยกับดร.นิธิ  โดยเฉพาะเรื่องว่าด้วยอภิสิทธิ์ของผู้ดีในสังคมไทย     ส่วนดิฉันไม่เห็นด้วย ก็เท่านั้นละค่ะ
เมื่อไม่เห็นด้วย คุณเพ็ญชมพูก็ค้านออกมาตามคำขอของดิฉันที่อยากฟังความเห็น   แต่ออกมาความเห็นเดียวก็คงไม่อยากออกความเห็นอีก  เลยไปเอาพระนิพนธ์กรมหมื่นบดินทรฯ มาแทนความเห็น

ส่วนดิฉันเห็นว่า   อภิสิทธิ์ชนของไทยมี 2 ประเภทคือคนมีเงิน   และคนมีอำนาจทางการเมือง ประเด็นหลังนี้ยังไม่ได้พูดเพราะมันจะห่างไกลเรื่องผู้ดีออกไปจนหาฝั่งไม่เจอ

ตอนนี้ขอกลับเข้าฝั่งว่าด้วย "สมบัติผู้ดี"  อ่านแล้วก็ยังไม่เห็นว่าผู้ดีในหนังสือเล่มนี้มีอภิสิทธิ์อะไรในสังคม   ผู้เขียนเขียนสอนให้คนมีคุณสมบัติงามทั้งกาย วาจา ใจ เท่านั้นเอง      ต่อให้ทำได้ครบทุกข้อตั้งแต่หน้าแรกจนหน้าสุดท้าย ก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายหรือระเบียบราชการหรือข้อห้ามใดๆของรัฐ
บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 87  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 18:33

^
ชอบคำอธิบายของท่านเทาชมพู

ไม่มีอารมณ์เจือปนแต่มีจุดยืนที่ชัดเจนและกล้าที่จะ "ลุกยืนขึ้น"
ผู้ใหญ่เช่นนี้หาได้น้อยลงเรื่อยๆ

ผมนึกว่าแค่แยกออกซอย เพิ่งทราบจากท่านเจ้าเรือนว่า เรากำลังออกนอกทะเลและต้องกลับเข้าฝั่งได้แล้ว

บันทึกการเข้า
Sujittra
พาลี
****
ตอบ: 326


ความคิดเห็นที่ 88  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 18:40

ผมขึ้นฝั่งแล้ว งั้นไปต่อนะครับ

ผนวก ๖ ผู้ดีย่อมปฏิบัติการงานดี
หมายความว่า การปฏิบัติการงานดีคือการทำการงานทุกอย่างอันเป็นหน้าที่ของตนไม่บกพร่อง ไม่คั่งค้าง ทำเสร็จเรียบร้อยด้วยดีตามส่วนของงาน

กายจริยา หมายความว่า การปฏิบัติการงาน ซึ่งต้องใช้กายเป็นสาคัญ

(๑) ผู้ดีย่อมทำการอยู่ในระเบียบแบบแผน หมายความว่าในการกระทำต่างๆ ผู้ดีย่อมรักษา ระเบียบแบบแผนถือเอาหลักของเหตุผลเป็นสาคัญ ไม่ทำตามอาเภอใจโดยไม่มีหลักอันจะเป็นช่องทางให้เกิดความผิดหรือถูกตาหนิได้
(๒) ผู้ดีย่อมไม่ถ่วงเวลาให้ผู้อื่นคอย หมายความว่า ในการนัดหมายเพื่อทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องทำตนให้เป็นคนตรงต่อเวลา ถ้าทำตนให้เป็นคนผิดเวลาแล้ว ย่อมทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน ราคาญด้วย และอาจเสียงานนั้น ๆ ได้ในบางกรณี พลาดเวลาเพียงนาทีเดียว ก็อาจต้องเสียงานหรือ เสียเวลาไปหลายวันก็ได้ ดังนั้นจึงควรเป็นคนตรงเวลาเสมอ
(๓) ผู้ดีย่อมไม่ละเลยที่จะตอบจดหมาย หมายความว่าการตอบจดหมายนั้นเป็นมรรยาทอันดีงาม เพราะถ้าเป็นธุระก็ควรตอบไปให้เสร็จได้ไม่ลืม ถ้าเป็นจดหมายเยี่ยมเยือนแสดงมิตรภาพก็ควร รีบตอบแสดงน้าใจอันดีไป เพื่อให้เขาเห็นว่าเรามิได้ละเลยที่จะรักษามิตรภาพนั้น
(๔) ผู้ดีย่อมไม่ทำการแต่ต่อหน้า หมายความว่า การงานอันใดที่เป็นของหมู่คณะ ผู้รับทำงานต้องทำงานนั้นให้สาเร็จลุล่วงไปตามที่ได้รับมอบหมายและการทำงานนั้นต้องไม่ทำเฉพาะต่อหน้าคน เท่านั้น ต้องทำทั้งต่อหน้าและลับหลัง หรือการอย่างอื่น เช่น ไปช่วยงานเขา เมื่อมีความรู้ ความสามารถจะทำงานอย่างใดได้ก็ต้องทางานนั้นทีเดียว เจ้าของจะเห็นหรือไม่ก็ตาม ควรทำจนสุด ความสามารถของเราจึงเป็นการชอบแท้

วจีจริยา หมายความว่า การปฏิบัติการงานด้วยคำพูดเป็นสาคัญ

(๑) ผู้ดีพูดสิ่งใดย่อมให้เป็นที่เชื่อถือได้ หมายความว่า เมื่อจะพูดคำใดคำนั้นต้องเป็นคำที่ออกจากหัวใจจริงคือ พูดตามที่ได้เห็นได้ฟังได้ทำหรือได้รู้สึกมิใช่เสแสร้งแกล้งกล่าวให้คลาดจากความจริง พูดอย่างใดต้องเป็นอย่างนั้น เช่นนี้คำพูดคำนั้นจึงเป็นที่เชื่อถือได้
(๒) ผู้ดีต้องไม่รับวาจาคล่อง ๆ โดยมิได้เห็นว่าควรจะเป็นได้หรือไม่ หมายความว่า เมื่อจะรับคำเพื่อทำการใดการหนึ่งหรือจะสัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเมื่อจะปฏิญาณอย่างใดอย่างหนึ่งกับ บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งใดแห่งหนึ่ง ต้องใครครวญให้แน่แก่ใจก่อนจึงรับคำหรือ จึงปฏิญาณ มิใช่ทำแต่สักว่าทำ พูดโพล่ง ๆ ไปโดยไม่ได้คานึงให้แน่ชัดว่าจะทำได้หรือไม่ เมื่อรับคำแล้วแม้ว่าจะต้องเสียอย่างใดก็ต้องยอมเสีย ต้องถือหลักว่า "เสียชีพอย่าเสียสัตย์"
บันทึกการเข้า
naitang
หนุมาน
********
ตอบ: 5823


ความคิดเห็นที่ 89  เมื่อ 02 ธ.ค. 12, 18:54

ในมุมมองของผม  คำว่าผู้ดีนั้น แต่เดิมน่าจะใช้ในความหมายของคำว่าสุภาพชน ซึ่งเป็นภาพของคนในลักษณะทางนามธรรม เป็นภาพในองค์รวมของคนดี คนสุภาพ คนที่น่านับถือ และคนที่น่าให้การเคารพ ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นคนที่ยึดถือหรือเคร่งครัดในการประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในกรอบของจารีตประเพณีซึ่งที่เป็นที่ยอมรับของสังคมว่าดีงามในช่วงเวลาใดๆ  ซึ่งหมายความว่าคนเหล่านั้นมี etiquette ที่ยึดถือสำหรับการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน   แต่เมื่อจะแปลสภาพของลักษณะนามธรรมนั้นๆให้ออกมาเป็นการบรรยายในลักษณะของรูปธรรมเพื่อการสอนหรือถ่ายทอดและเผยแพร่ จึงต้องมีการขยายความเพื่อความเข้าใจ ซึ่งสามารถจะเขียนหรือบรรยายไปได้ทั้งในเชิงของกฏ ระเบียบ กติกา แบบแผน หรือในมุมความคิดและความเห็นอื่นๆ ฯลฯ   ผมเห็นว่าตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการต่อต้าน การไม่ยอมรับ และการแบ่งแยก (ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือความไม่สบอารมภ์ใดๆก็ตาม) แต่เดิมก็เป็นเพียงการแยกแบบแยกเขาออกไปจากเรา มิใช่การแยกแบบแยกเราออกจากเขาในลักษณะของการประชด  จนกระทั่ง เมื่อเกิดแนวคิดและวาทกรรมในเรื่องของชนชั้น จึงได้มีการพยายามสาธยายขยายความเพื่อเน้นให้เห็นถึงความต่างเพื่อให้สอดคล้องกับปรัชญาความคิดของตน
บันทึกการเข้า
หน้า: 1 ... 4 5 [6] 7 8
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.104 วินาที กับ 19 คำสั่ง