ผู้ดี-ไพร่ขอให้สังเกตนะครับว่า คู่ตรงข้ามของ "ไพร่" ในกฏหมายตราสามดวงที่ใช้กันมาตั้งแต่อยุธยาจนถึง ร.๕ นั้น คือ "มูลนาย" ทั้งสองฝ่ายนี้ถึงจะร่วมวัฒนธรรมใหญ่กันก็จริง แต่ในรายละเอียดแล้ว ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักความละเอียดซับซ้อนของวัฒนธรรมอีกฝ่ายหนึ่ง ดูละครกันคนละเรื่องและคนละแบบ, ผลิตและใช้วรรณกรรมกันคนละชนิด, ฟังเพลงก็คนละประเภทกัน, แม้แต่เนื้อหาของพระพุทธศาสนาที่ต่างฝ่ายต่างนับถือก็ไม่สู้จะเหมือนกันนัก ฯลฯ
ผมไม่แน่ใจว่า ต่างมีสำนึกเหยียดหยามวัฒนธรรมของกันและกันหรือไม่ เพราะในชีวิตจริงแล้ว ต่างอยู่ในโลกของตน มีความจำเป็นล่วงเข้ามาในโลกของอีกฝ่ายไม่มากนัก แต่แน่นอนว่ามีหลักฐานมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า เมื่อไพร่ล่วงเข้ามาในโลกของมูลนาย วัฒนธรรมของไพร่ก็เป็นสิ่งน่าหัวร่อเยาะ หรือน่าเหยียดหยาม นับตั้งแต่อาหารการกิน, การแต่งเนื้อแต่งตัว, มารยาท, ไปจนถึงคุณค่าที่ยึดถือ
แต่ชีวิตที่ถูกแยกออกเป็นสองโลกนี้เริ่มอันตรธานไปในการปฏิรูปของ ร.๕ ซึ่งยังสืบทอดอำนาจทางการเมือง, เศรษฐกิจและวัฒนธรรมไว้ในหมู่พวก "มูลนาย" (หรือกลุ่มหนึ่งของพวก "มูลนาย") เหมือนเดิม แต่บัดนี้เปลี่ยนคำที่ใช้เรียกจาก "มูลนาย" ให้กลายเป็น "ผู้ดี" แทน
คู่ตรงข้ามของไพร่ในภาษาไทยจึงกลายเป็น "ผู้ดี" ไป
ผมขอยกตัวอย่างการใช้คำว่า "ไพร่" ในพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นตัวอย่าง
สำนวนว่า "ทรงพระราชสมภพภายใต้พระมหาเศวตรฉัตร" นั้นมีความหมายอย่างไร ก.ศ.ร. กุหลาบไปเข้าใจว่า เมื่อพระอัครมเหสีจะประสูติพระราชโอรส-ธิดา ก็โปรดให้ตั้งพระมหาเศวตรฉัตรไว้เหนือที่ซึ่งจะมีพระประสูติกาล ฉะนั้น เมื่อสมเด็จฯ พระองค์นั้นทรงพระนิพนธ์พงศาวดารรัชกาลที่ ๕ จึงได้ทรงอธิบายว่า ที่เข้าใจเช่นนั้นเป็นเพราะ ก.ศ.ร. กุหลาบ (ในพระนิพนธ์ไม่ได้ออกชื่อ) เป็น "ไพร่" ไม่รู้ธรรมเนียมเจ้า เพราะความหมายของสำนวนนี้ก็คือ ทรงพระราชสมภพเมื่อพระราชบิดาได้เสวยราชสมบัติแล้วเท่านั้น
(เช่น ร.๒ ไม่ได้ทรงพระราชสมภพภายใต้พระมหาเศวตรฉัตร เพราะขณะนั้นพระราชบิดายังมิได้ครองราชย์ แต่ ร.๕ ใช่ เพราะพระราชบิดาได้ขึ้นครองราชสมบัติแล้ว)
อย่างที่รู้กันอยู่แล้วนะครับว่า ก.ศ.ร. กุหลาบ ซึ่งเป็นสามัญชน ล่วงเข้ามาในพื้นที่ของ "ผู้ดี" คือพื้นที่ "วิชาการ" ซึ่ง "ผู้ดี" ในสมัยนั้นถือว่าเป็นพื้นที่อันคนซึ่งปราศจากคุณสมบัติของ "ผู้ดี" จะเข้ามาไม่ได้
คุณสมบัตินั้นคือการศึกษา (ในความหมายกว้าง ไม่จำกัดเฉพาะประกาศนียบัตร) อย่างหนึ่ง และความรอบรู้เจนจัดในขนบธรรมเนียมประเพณีของ "ผู้ดี" อีกอย่างหนึ่ง
ความหมายของ "ไพร่" จึงเคลื่อนไปจากประเภทของบุคคลที่ไม่ใช่ "มูลนาย" มาเป็นคนที่ไม่ได้รับการอบรมสั่งสอนมารยาทที่ถือกันว่าเป็นมารยาท "ผู้ดี"
ความหมายนี้ยิ่งมีพลังมากขึ้น เมื่อความหมายของคำว่า "ผู้ดี" เองก็เริ่มเคลื่อนจากกำเนิด มาสู่คุณสมบัติอื่นซึ่งมนุษย์สามารถแสวงหาไขว่คว้ามาเป็นของตนได้ เช่นมารยาท
หนังสือ "สมบัติผู้ดี" พูดชัดเจนไปเลยว่า กำเนิดไม่ใช่เงื่อนไขที่ขาดไม่ได้ของ "ผู้ดี" แต่มารยาทและความประพฤติซึ่งอาจได้มาจากการอบรมสั่งสอนต่างหากที่จะแยก "ผู้ดี" ให้ออกจาก "ไพร่"
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ความทันสมัยของไทย เป็นกระบวนการที่พยายามจะสืบทอดอำนาจของ "มูลนาย" ไว้ให้คงอยู่ในระบบใหม่ด้วย คำว่า "ผู้ดี" ซึ่งแม้จะไม่เน้นในเรื่องกำเนิด แต่ความหมายถึงอภิสิทธิชนอันมาแต่กำเนิดก็ยังแฝงอยู่ในคำนี้ เพราะคนที่จะเป็น "ผู้ดี" ได้ ก็ต้องเติบโตมาในวัฒนธรรมมูลนาย, ได้รับการศึกษาแผนใหม่ซึ่งมีต้นทุนไม่น้อย อีกทั้งต้องมีอิทธิพลที่จะดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานอันเป็นที่นับหน้าถือตาด้วย
"ผู้ดี"จึงหมายถึงคนมีมารยาทอันงามและเป็นอภิสิทธิชน ในขณะที่ "ไพร่" ซึ่งเป็นตรงกันข้าม คือคนที่หยาบคาย, เป็นสามัญชนคนธรรมดา, ไม่มีอภิสิทธิ์ หรือว่ากันที่จริงแม้แต่สิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะพลเมืองก็มีไม่เต็ม
บางส่วนจาก
บทความเรื่อง "ไพร่" โดยอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์
นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ ๒-๘ เมษายน ๒๕๕๓
