เรือนไทย
ยินดีต้อนรับ ท่านผู้มาเยือน
กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
ส่งอีเมล์ยืนยันการใช้งาน?
ข่าว: การแนบไฟล์ กรุณาใช้ชื่อไฟล์ภาษาอังกฤษเท่านั้นครับ
หน้า: [1]
  พิมพ์  
อ่าน: 9421 ภาษาอเมริกันวันละคำ Benefit of the Doubt
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


 เมื่อ 10 พ.ย. 12, 21:49

Benefit of the Doubt
ยกประโยชน์ให้จำเลย

ที่ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดแบบเม็กซิกันร้านหนึ่งทางตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนีย   นักท่องเที่ยวสาวชาวไทยยื่นธนบัตรใบละ 10 เหรียญให้แก่พนักงานประจำเคาน์เตอร์เพื่อจ่ายค่าอาหารกลางวันราคาสี่เหรียญกว่า ๆ     เมื่อพนักงานผู้นั้นรับเงินไปแล้วก็ส่งเงินทอนมาให้สาวไทยเป็นเศษสตางค์   ก่อนจะกล่าวขอบคุณแล้วปิดลิ้นชักเงินโดยที่ไม่ได้ส่งเงินทอนที่เหลืออีกห้าเหรียญมาให้สาวไทยด้วย   พอถูกทักท้วง  พนักงานผู้นั้นก็ยิ้มแหย ๆ ก่อนที่จะเปิดลิ้นชักหยิบธนบัตรใบละห้าเหรียญออกมายื่นให้สาวไทย

“ขอโทษครับ  ผมนึกว่าคุณจ่ายด้วยแบงก์ห้า”  พนักงานหนุ่มแก้ตัวเป็นพัลวัน

ถ้าเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย  สาวไทยคงแอบนึกในใจว่า “โชคดีที่ไหวตัวทันนะเนี่ย  ไม่งั้นโดนคุณพี่โกงเงินทอนห้าเหรียญไปแล้ว”   แต่เพราะผ่านโลกมานานร่วมสี่ทศวรรษ  สาวไทยจึงเข้าใจได้เองว่าสถานการณ์แบบนี้เป็นสถานการณ์ที่สามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทั้งนั้น   เพราะบางครั้ง  การที่มนุษย์เรามีอะไรหลาย ๆ อย่างให้ต้องคิดหรือใส่ใจในเวลาเดียวกันก็อาจทำให้เรามองข้ามรายละเอียดบางอย่างไปได้ง่าย ๆ    เมื่อคิดเช่นนี้แล้ว   แทนที่จะรู้สึกขุ่นข้องหมองใจในข้อผิดพลาดของพนักงานคนดังกล่าว  สาวไทยจึงส่งยิ้มให้เขาได้อย่างสนิทใจในขณะที่รับเงินห้าเหรียญคืนมา
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 1  เมื่อ 10 พ.ย. 12, 21:50

"Giving (someone) the benefit of the doubt" คือสำนวนหนึ่งในภาษาอังกฤษซึ่งชาวตะวันตกมักจะใช้บ่อย ๆ ในสถานการณ์ที่มีข้อสงสัยเกิดขึ้นว่าใครคนใดคนหนึ่งได้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ดีลงไป    แต่ในเมื่อไม่มีหลักฐานซึ่งชัดเจนหรือมีน้ำหนักเพียงพอที่จะใช้ตัดสินความผิดของเขาหรือเธอผู้นั้น   ข้อสงสัยที่ว่าก็ต้องตกไปโดยปริยาย   เพราะมีความจำเป็นที่จะต้องยกประโยชน์ให้แก่ผู้ถูกสงสัยไว้ก่อนว่ามิได้ทำผิดดังที่มีการกล่าวหา   ในสถานการณ์ที่สาวไทยเผชิญข้างต้น  เธอเลือกที่จะ gave the benefit of the doubt แก่พนักงานร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดว่าเขาไม่ได้ตั้งใจที่จะโกงเงินทอนของเธอ  เพราะไม่มีหลักฐานอะไรที่จะไปปรักปรำเขาหรือคิดเป็นอื่นนั่นเอง

ไม่ต้องบอกผู้อ่านที่ทรงคุณวุฒิหลายท่านก็คงจะเดาได้ว่าสำนวนนี้ต้องมีที่มาที่ไปมาจากภาษากฏหมายแน่ ๆ   เพียงแต่ในภาษากฏหมายนั้นเรามักจะเห็นเขาใช้คำว่า "beyond reasonable doubt"  ซึ่งแปลว่า "ปราศจากข้อสงสัย"     วลีนี้จะใช้ในกรณีที่ศาลหรือคณะลูกขุนมีเหตุให้ต้องสงสัยในหลักฐานที่ฝ่ายรัฐนำมาแสดงเพื่อยืนยันว่าจำเลยมีความผิดจริงดังที่กล่าวอ้าง   ทำให้ต้อง “ยกประโยชน์ให้จำเลย” ตามกฏหมายและพิพากษายกฟ้องในท้ายที่สุด   
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 2  เมื่อ 10 พ.ย. 12, 21:51

รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกามีบทบัญญัติข้อหนึ่งว่า  ผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่จนกว่ารัฐจะพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าเขาหรือเธอได้กระทำผิดดังที่มีการกล่าวหาจริงๆ  (All defendants in criminal cases are presumed to be innocent until proven guilty beyond a reasonable doubt)   ซึ่งเท่ากับเป็นการผลักภาระในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยให้แก่ฝ่ายรัฐ  ไม่ใช่สร้างภาระให้ฝ่ายจำเลยต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองดังเช่นในบางประเทศ    การทำเช่นนี้จะช่วยปกป้องสิทธิของพลเมืองได้ในระดับหนึ่ง  เพราะหากผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีฐานะยากจน  ไม่รู้ข้อกฎหมาย  หรือไม่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะจ้างทนายดี ๆ มาแก้ข้อกล่าวหาให้แก่ตัวเองได้   เขาก็อาจตกเป็นเหยื่อของผู้ที่มีอิทธิพลหรือมีอำนาจในมือได้ง่าย ๆ     อีกทั้งยังเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่กระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันในภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แก่สังคมด้วย

คำว่า doubt นั้นเป็นได้ทั้งคำกริยาและคำนาม   ถ้าเป็นคำนามออกเสียงว่า "เด๊าท์" แปลว่าข้อสงสัย เช่น There is no doubt that he is innocent.  ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์    ถ้าเป็นคำกริยา  แปลว่าสงสัย  กังขา หรือรู้สึกไม่มั่นใจ (ว่าสิ่งที่เห็นหรือได้ยินมานั้นจะเป็นเรื่องจริง)  เช่น  She doubted that he was innocent as he claimed.  เธอไม่แน่ใจเลยจริง ๆ ว่าเขาจะเป็นผู้บริสุทธิ์อย่างที่เขากล่าวอ้างว่าเป็น   (และเมื่อ doubt เป็นคำกริยา  การออกเสียงสระ “เอา” ในคำนี้จะยาวกว่าตอนที่เป็นคำนามเล็กน้อยจนเกือบจะเป็น "ด๊าวท์"   แต่ต้องเงี่ยหูฟังดี ๆ ถึงจะสังเกตได้) 
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 3  เมื่อ 10 พ.ย. 12, 21:51

เวลาที่เราใช้สำนวน benefit of the doubt  ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับกฏหมาย  เรามักจะใช้เวลาที่เราเลือกที่จะสันนิษฐานว่า   การกระทำใด ๆ ก็ตามของบุคคลใดบุคคลหนึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำซึ่งมีพื้นฐานมาจากเจตนาดีทั้งสิ้น  (ไม่ว่าผลของการกระทำนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม)  ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยให้ตัวเองไม่รู้สึกแย่เท่าที่ควรจะเป็น  หากสิ่งที่เขาทำนั้นทำให้เราโกรธหรือเสียใจ  หรือเป็นสิ่งที่มีผลกระทบต่อเราโดยตรงและในทางลบ    เมื่อสาวไทยเอ่ยปากชมหนุ่มอเมริกันใกล้ตัวว่าทำแซนด์วิชไข่กับแฮมได้อร่อยกว่าแซนด์วิชประเภทเดียวกันที่แม็คโดนัลด์ขายเป็นอาหารเช้า   หนุ่มอเมริกันก็หัวเราะก่อนที่จะตอบกลับมาว่า  “I’m going to give you the benefit of the doubt and take what you said as a compliment.”   แปลว่า  “ชั้นจะยกประโยชน์ให้เธอด้วยการคิดว่า  เวลาที่เธอเปรียบเปรยว่าอาหารที่ชั้นทำมันอร่อยกว่าอาหารประเภทแหลกหล่วนนั้น  เธอมีเจตนาที่จะชม  ไม่ใช่หลอกด่า)” 


เพราะความรู้สึกนึกคิดของเราไม่เคยอยู่นิ่ง   doubt จึงเป็นสิ่งซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถจะมีได้ในชีวิตประจำวัน  วันละหลาย ๆ หน    เวลาที่เรารักใครสักคน  บางครั้งจิตอันไม่นิ่งของเราก็อาจจะทำให้เรา "doubt" หรือตั้งข้อสงสัยว่าคนที่เรารักนั้นเขารักเราจริงหรือเปล่า  และรักมากแค่ไหน     คนที่เคยเชื่อมั่นว่าใครก็ตามที่ทำดีย่อมได้รับแต่สิ่งดี ๆ ตอบแทน   หากเขาหรือเธอได้พบเจอแต่เรื่องเลวร้ายมาตลอดชีวิตทั้ง ๆ ที่ได้ประกอบกรรมดีมามากต่อมาก  ก็เป็นไปได้ว่าเมื่อถึงจุดจุดหนึ่ง  เขาหรือเธอจะเริ่ม "doubt" หรือตั้งข้อสงสัยว่าควรจะเชื่อในเรื่องผลแห่งกรรมดีนั้นต่อไปหรือไม่   นี่เป็นธรรมชาติของมนุษย์
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 4  เมื่อ 10 พ.ย. 12, 21:53

ในภาพยนตร์เรื่อง Rabbit Hole ซึ่งเกี่ยวกับคู่สมรสคู่หนึ่งที่ต้องสูญเสียลูกชายคนเดียวไปด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนน    ผู้เป็นแม่ในเรื่อง (ซึ่งรับบทโดยนิโคล คิดแมน) รู้สึกทนไม่ได้ขึ้นมาทันที่ที่มีคนพยายามปลอบเธอด้วยคำพูดที่ว่า “ลูกเธอได้ไปอยู่ในพระหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าแล้ว เธอควรจะรู้สึกดีใจนะ”  ในความโกรธเกรี้ยว  สตรีผู้เป็นแม่ได้ตอบ “ผู้หวังดี” เหล่านั้นกลับไปว่า  “พระผู้เป็นเจ้ามีอำนาจมากไม่ใช่หรือ  พระองค์เป็นผู้สร้างโลกสร้างชีวิตให้เกิดขึ้นไม่ใช่หรือ  แล้วทำไมพระองค์ไม่ทรงสร้างสร้างเด็กของพระองค์เองล่ะ  มาเอาลูกชั้นไปทำไม”    การสูญเสียที่บั่นทอนจิตใจของเราอย่างรุนแรงอาจจะมีส่วนสั่นคลอนความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับอะไรที่มองไม่เห็นซึ่งเราเคยยึดถือมาก่อนหน้านี้ก็เป็นได้     

นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมอเมริกันชนหลายร้อยหลายพันคนที่ต้องสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไปในการก่อวินาศกรรม 9/11 ในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2001 นั้นจึงหันมาตั้งคำถามเกี่ยวกับ faith หรือความเชื่อในคำสอนทางศาสนาของตนเองกันยกใหญ่    “ถ้าพระเจ้ามีจริง  ทำไมพระองค์ถึงปล่อยให้เรื่องเลวร้ายแบบนี้เกิดขึ้นได้” (How could God let this happen?) คือประโยคที่เราได้ยินบ่อย ๆ หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไปไม่นาน     สถานการณ์แบบนี้คือสถานการณ์ที่มนุษย์ doubt their faith  หรือเริ่มจะไม่มั่นใจในสิ่งที่เคยเชื่อ
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 5  เมื่อ 10 พ.ย. 12, 21:53

นักจิตวิทยาบางคนบอกว่า doubt มีพื้นฐานมาจากความกลัว  ไม่ว่าจะเป็นกลัวที่จะผิดหวังหรือกลัวในสิ่งที่ไม่สามารถคาดเดาได้อย่างเที่ยงแท้แน่นอน   อันล้วนแล้วแต่เป็นธรรมชาติของมนุษย์  แต่ถ้าเราปล่อยให้ความกลัวที่จะผิดหวังนั้นมามีบทบาทสำคัญในการตัดสินใจของเรา  เราก็คงไม่ต้องลุกจากเตียงออกไปเผชิญโลกในแต่ละวัน    เพราะความผิดหวังนั้นเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์อยู่แล้ว  ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้   

บางคนก็บอกว่า  doubt มีพื้นฐานมาจาก lack of confidence  หรือการที่มนุษย์เราบางคนปราศจากความมั่นใจว่าตัวเองได้ดำเนินมาถูกทางแล้ว  นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมก่อนแต่งงาน หนุ่มสาวหลายคนจึงมักจะตั้งข้อสงสัยกับตัวเองว่า  “เราเลือกคนที่จะมาเป็นคู่ชีวิตได้ถูกหรือเปล่า”  หรือไม่ก็ “เราจะมีความสุขไหมกับการตัดสินใจครั้งนี้”      โอปร่าห์ วินฟรี่ย์ พิธีกรรายการทีวีชื่อดังคนหนึ่งของอเมริกาเคยบอกผู้ชมที่กำลังจะเป็นเจ้าสาวบางคนว่า “Doubt means don’t.”   แปลว่า ถ้าคุณมีข้อสงสัยในสิ่งที่คุณกำลังจะทำ  ก็เป็นไปได้ว่าสัญชาตญาณของคุณเองกำลังบอกให้คุณถอย   (แต่ถ้าเราถอยทุกครั้งที่เรารู้สึกไม่แน่ใจ  เราคงไม่มีโอกาสได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันแน่ในชีวิตนี้  เพราะคงไม่มีมนุษย์คนไหนแน่ใจในทุกสิ่งที่เขาทำอยู่หรอก)     
บันทึกการเข้า
ปัญจมา
อสุรผัด
*
ตอบ: 100


ความคิดเห็นที่ 6  เมื่อ 10 พ.ย. 12, 21:54

การฝึกฝนตัวเองให้ give someone the benefit of the doubt ได้บ่อย ๆ นั้นเท่ากับเป็นการฝึกให้ตัวเราเองคิดแต่ในสิ่งที่เป็นบวก  ซึ่งน่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตอย่างเป็นสุข   การสันนิษฐานว่าเพื่อนมนุษย์ของเราในโลกนี้ล้วนแล้วแต่ทำทุกอย่างที่เขาทำไปด้วยเจตนาที่ดีแทบทั้งสิ้น  จะช่วยให้เราประเมินคุณค่าของการกระทำของเขาจากเจตนามากกว่าจากผลลัพธ์ของการกระทำนั้น ๆ ต่อตัวเราเอง   อาจจะทำให้เราโกรธเขาน้อยลงหรือมองเขาด้วยความเข้าใจมากขึ้นก็เป็นได้

นอกจากนี้ giving someone you love the benefit of the doubt ยังอาจช่วยเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนได้ด้วย     การเตือนตัวเองว่าคนที่เรารักนั้นมีเจตนาดีเสมอในการทำหรือไม่ทำบางสิ่งบางอย่าง   เพียงแต่บางครั้งผลแห่งการกระทำของมนุษย์เรามันก็ไม่ได้ออกมาดีอย่างที่ตั้งใจเท่านั้น    มันอาจช่วยให้เราสามารถให้อภัยเขาได้ง่ายขึ้นในยามที่เขาได้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งลงไปที่ทำร้ายความรู้สึกของเราอย่างรุนแรง
   

แต่ถ้าไม่รักกันแล้วนั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง  ซึ่งอันนี้ไม่อยู่ในขอบเขตที่คอลัมน์สอนภาษาจะช่วยได้เจ้าค่ะ
บันทึกการเข้า
Hanako
อสุรผัด
*
ตอบ: 2


ความคิดเห็นที่ 7  เมื่อ 11 พ.ย. 12, 14:43

บอร์ดนี้ได้ความรู้ลึกซึ้งและกว้างขวางดีจังค่ะ


ยินดีที่ได้รู้จัก  สมาชิกใหม่ฝากตัวด้วยค่ะ   
บันทึกการเข้า
หน้า: [1]
  พิมพ์  
 
กระโดดไป:  

Powered by SMF 1.1.21 | SMF © 2006, Simple Machines
Simple Audio Video Embedder

XHTML | CSS | Aero79 design by Bloc หน้านี้ถูกสร้างขึ้นภายในเวลา 0.042 วินาที กับ 19 คำสั่ง