จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนถึงปรากฎการณ์การดูถูกไทยล้านนาของคนไทยภาคกลาง ในสมัยต้นรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป ต่อไปอีกว่า
ประวัติศาสตร์ของไทยล้านนานับตั้งแต่ต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป เป็นประวัติศาสตร์ของการเป็นเมืองขึ้นของไทยภาคกลางและพม่าสับเปลี่ยนกันหลายร้อยปี. ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕ ขึ้นไป ล้านนาเป็นประเทศราชของกรุงรัตนโกสินทร์ มีเจ้าครองรัฐอยู่หลายนครรัฐ โดยมีเชียงใหม่เป็นรัฐประธานของสหพันธนครรัฐพี่น้อง. ยุคนั้นชาวกรุงเทพมหานครถือชาวล้านนาเป็นเมืองขึ้น เป็นประชาชนชั้นสอง มักเรียกขานอย่างดูถูกเหยียดหยามว่าเป็น "ลาว" เป็นพวก "นุ่งผ้าซิ่น กินกิ้งกือ" หรืออย่างในเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนนางวันทองหึงนางลาวทองซึ่งมาจากเมืองเหนือ มีคำด่าเปรียบเปรยนางลาวทองว่า
"ทุดอีลาวดอนค่อนเจราจา
อีกินกิ้งก่ากบจะตบมัน"
(พระราชนิพนธ์รัชกาลที่๒)
นอกนั้นยังมีการแสดงหรือถ้อยคำที่ดูดถูกเหยียดหยามอีกร้อยสีร้อยอย่าง, ล้วนแล้วแต่สร้างความปวดร้าวเสียดแทงใจให้แก่ชาวไทยล้านนาทั้งสิ้น. ปรากฎการณ์เช่นว่านี้ ยิ่งในวงสังคมชั้นสูงแล้ว ยิ่งเป็นไปอย่างรุนแรงมาก.
พระราชชายาเจ้าดารารัสมี, เจ้าหญิงในราชตระกูลเชียงใหม่ซึ่งต้องลงมารับราชการเป็นพระราชชายาของรัชกาลที่ ๕ อยู่ ณ กรุงเทพฯ เป็นตัวอย่างของผู้ได้รับความขมขื่นจากการเหยียดหยามนี้เป็นอย่างดี.
"บางทีพระองค์ทรงได้ยินเสียงตะโกนลั่นผ่านหน้าห้องบรรทมว่า "เหม็นปลาร้า" บ่อยครั้งที่พระกระยาหารบรรจุวางบนถาดเงินก็ถูกกีดกันมิให้ผ่านเข้าออกทวาร ยิ่งกว่านั้นเครื่องเพชรอันหาค่าบ่มิได้ของในหลวงก็มาปรากฎวางทิ้งอยู่ในพระตำหนักของพระราชชายา ผู้ที่ปรนนิบัติรับใช้พระองค์ก็พลอยถูกจงเกลียดจงชัง มีคนเอาปลาทูใส่กะลามะพร้าวไปวางไว้บนสำรับกับข้าว....."
(ปราณี ศิริธร ณ พัทลุง, เพ็ชรลานนา, เชียงใหม่ ๒๕๐๗, น. ๒๖-๗.)
